วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สินบนนำจับ matichononline

นัก กม.กฤษฎีกาชำแหละระบบ"สินบนนำจับ" อธิบดีกินรวบ2ต่อทุกคดี ฐานะ"ผู้สั่งการ-ผู้จับ"กดขี่"ผู้น้อย"

นายอรรถสิทธิ์ กันมล นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเขียนบทความวิชการ เรื่อง"การจ่ายเงินรางวัลตามกฎหมายไทย"ชี้ ให้เห็นข้อบกพร่องในระบบการ"จ่ายเงินรางวัล"(ที่ชาวบ้านมักเรียกสินบนนำจับ) หรือการจ่ายเงินรางวัลหรือเงินที่รัฐบาลจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ ปฏิบัติหน้าที่สืบสวนหรือจับกุมผู้กระทำความผิดที่กฎหมายกำหนดให้มีโทษปรับ ทางอาญาซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายเกือบ 150 ฉบับว่า มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นซึ่งทำให้หัวหน้าหน่วยงานหรือหัวหน้าส่วน ราชการ(ระดับอธิบดี)มีอำนาจในการกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลในระเบียบของ หลายหน่วยงาน


จึงมักปรากฏว่า มีการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัลในฐานะ "ผู้สั่งการให้มีการจับกุม" และยัง มีสิทธิรับเงินรางวัลในทุกคดีซึ่งทำให้เกิดความไม่เสมอภาคต่อเจ้าหน้าที่ ระดับปฏิบัติงานเนื่องจากผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานมีสิทธิรับเงินรางวัล ในสัดส่วนที่สูงกว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยตรงในการจับกุม


ความไม่เป็นธรรมดังกล่าวมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ


หนึ่ง การมีผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้มีอำนาจกำหนดสัดส่วนเงินรางวัล

เนื่องจากการกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลและการกำหนดสัดส่วนการได้รับ เงินรางวัล กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยงานหรือหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ดังนั้น ในการกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลในระเบียบของหลายหน่วยงานจึงมักปรากฏว่า ได้มีการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัลใน ฐานะ "ผู้สั่งการให้มีการจับกุม" และยังมีสิทธิรับเงินรางวัลในทุกคดีด้วย


นอกจากนั้น ในการกำหนดสัดส่วนเงินรางวัลก็ปรากฏว่า ผู้ มีอำนาจได้กำหนดให้ตนเองหรือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานมีสิทธิรับเงิน รางวัลในสัดส่วนที่สูงกว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยตรงในการจับ

การกำหนดเช่นนี้น่าจะไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการกำหนดให้มีเงินรางวัลที่ต้องการส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เพราะผู้มีอำนาจดังกล่าวจะทำหน้าที่ผู้บริหารหน่วยงานมากกว่าที่จะทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายและการที่ผู้มีอำนาจใช้อำนาจออกระเบียบที่ให้ประโยชน์แก่ตนเองเช่นนี้ อาจเข้าข่ายการมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วย


สอง การกำหนดสัดส่วนเงินรางวัลไม่สอดคล้องกับสัดส่วนการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่


เนื่องจากระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ.2546 กำหนดให้การพิจารณาจ่ายเงินรางวัลเป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการโดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปฟ้องร้องมิได้


ดังนั้น ในกรณีที่หัวหน้าส่วนราชการกำหนดสัดส่วนเงินรางวัลไม่สอดคล้องกับสัดส่วนการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การ กำหนดให้ผู้บริหารองค์กรมีสิทธิรับเงินรางวัลในทุกคดีและในสัดส่วนที่สูง กว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวน หรือจับกุมเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้นก็มิอาจคัดค้านหรือโต้แย้งได้


กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินในภาครัฐ ก็มิอาจตรวจสอบและแก้ไขระเบียบที่หัวหน้าส่วนราชการกำหนดให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมได้ เพราะได้กำหนดให้เป็นอำนาจเด็ดขาดของหัวหน้าส่วนราชการไปแล้ว


สาม การกระจายสัดส่วนเงินรางวัลที่มากเกินทำให้การจ่ายเงินรางวัลไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์


จากการตรวจสอบระเบียบของหลายหน่วยงาน พบว่า ผู้มีอำนาจได้กำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลให้ครอบคลุมถึงผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดใน หน่วยงานนั้น และกำหนดสัดส่วนเงินรางวัลให้กระจายไปยังเจ้าหน้าที่กลุ่มต่างๆ ทำให้เจ้าหน้าที่แต่ละกลุ่มได้รับเงินรางวัลในจำนวนน้อยจนไม่อาจสร้างแรงจูง ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายโดยตรงปฏิบัติหน้าที่ อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความซื่อสัตย์สุจริตได้ ซึ่งนั่นย่อมทำให้การจ่ายเงินรางวัลไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์


บทความดังกล่าวระบุว่า การจ่ายเงินรางวัลดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพ โดยเป็นการจายเงินรางวัลเพื่อชดเชยค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีราย ได้น้อย เป็นการสร้างแรงจูงใจแก่เจ้าหน้าที่มิให้ทุจริตจากการรับสินบนหรือประโยชน์ ตอบแทนอื่นที่มิชอบด้วยกฎหมายจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเป็นการจ่าย เงินรางวัลเพื่อตอบแทน ภาระงานที่มีลักษณะพิเศษ เช่น งานที่มีความเสี่ยงอันตราย อย่างไรก็ตาม การที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางตำแหน่งมีสิทธิได้รับเงินรางวัล ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษแตกต่างจากเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยทั่วไป อาจก่อให้เดปัญหาอย่างน้อย 2 ประการ คือ


(1) การเกิดพฤติกรรมบิดเบือนจากสิ่งที่ควรกระทำ (Moral Hazard) เช่น มุ่งเน้นปฏิบัติงานเฉพาะงานที่มีรางวัลสูงๆ หรือชอบที่จะปราบปรามมากกว่าการป้องกันซึ่งไม่มีผลตอบแทนอะไร


(2) การสร้างความไม่เป็นธรรม ในระบบการทำงานของข้าราชการกลุ่มหนึ่งที่ได้ผลตอบแทนจากการปฏิบัตหน้าที่ตาม ปกติสูงกว่าข้าราชการอื่นซึ่งหมายถึงการปฏิบัติที่ไม่เสมอภาคและไม่เท่า เทียมกัน


ปัจจุบันการจ่ายเงินรางวัลมีปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การจ่ายเงินรางวัลตามข้อบังคับกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ. 2546 และ การจ่ายเงินรางวัลตามพระราชบัญญัติต่างๆ ที่บัญญัติให้มีการจ่ายเงินรางวัล สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้


การจ่ายเงินรางวัลตามข้อบังคับกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ. 2546


การหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลังเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลให้แก่เจ้า หน้าที่ของรัฐตามข้อบังคับกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ. 2546 เกิดขึ้นจากนโยบายในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการเพิ่มค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการ ทำงานและเป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติงานที่ยากลำบากและเสี่ยงอันตราย


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 4 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.2491 ออกข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อกำหนดให้หัวหน้า ส่วนราชการ หรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจหักเงินค่าปรับซึ่งได้รับชำระจากผู้กระทำความ ผิดทางอาญาตามฐานความผิดที่บัญญัติไว้ในกฎหมายจำนวน 132 ฉบับ ก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อจ่ายเป็นเงินสินบนรางวัลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน


การจ่ายเงินรางวัลตามกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติให้จ่ายเงินรางวัล


ปัจจุบันมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติจำนวน 15 ฉบับ ที่บัญญัติให้มีการจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับผู้กระทำความผิด และกฎหมายดังกล่าวมิได้อยู่ในบัญชีรายชื่อกฎหมายแนบท้ายประกาศกระทรวงการ คลัง เรื่อง การกำหนดประเภท และอัตราการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง ซึ่งได้แก่ (1) พระราชบัญญัติการไฟฟ้า พ.ศ. 2503 (2) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (3) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 (4) ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2514 (5) พระราชบัญญัติไพ่ พ.ศ.2486


(6) พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (7) พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2529 (8) พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 (9) พระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ. 2522 (10) พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510


(11) พระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 (12) พระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ. 2469 (13) พระราชบัญญัติส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 (14) พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 และ (15) พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489

ปัจจุบันความแตกต่างกันของการกำหนดบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคกันในระบบของการปฏิบัติราชการ 3 ประการ คือ


1.เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน โดยหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายซึ่งกำหนดให้มีเงินรางวัลจะมีสิทธิรับเงิน รางวัลเป็นค่าตอบแทนพิเศษจากการปฏิบัติหน้าที่ ในขณะที่หน่วยงานบางแห่งซึ่งทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ในกฎหมายมิได้กำหนดให้มีการจ่ายเงินรางวัล เจ้าหน้าที่ดังกล่าวก็จะไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าวได้


2.เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่ใน หน่วยงานที่ต่างกัน โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานที่กำหนดผู้มีสิทธิรับ เงินรางวัลอย่างกว้าง จะมีผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจับ เช่น เจ้าหน้าที่ธุรการทั่วไป มีสิทธิรับเงินรางวัล


ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่เดียวกันแต่ปฏิบัติ หน้าที่อยู่ในหน่วยงานอื่นที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่ โดยตรง ในการจับเป็นผู้มีสิทธิรับเงินรางวัล ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นไม่มีสิทธิรับเงินรางวัล


3.เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่ อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน โดยในกรณีที่มีการกำหนดให้ผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลจำกัดเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ จับในความหมายอย่างแคบ แต่ในการดำเนินการเพื่อให้มีการจับนั้นยังมีเจ้าหน้าที่อื่นร่วมดำเนินการ ด้วยแต่มิได้กำหนดให้เป็นผู้มีสิทธิรับเงินรางวัล ทำให้เจ้าหน้าที่ซึ่งดำเนินการร่วมกันเพื่อให้มีการจับในหน่วยงานเดียวกันมี ทั้งที่มีสิทธิรับเงินรางวัลและไม่มีสิทธิรับเงินรางวัล


จากสภาพปัญหาของการจ่ายเงินรางวัลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า บทบัญญัติกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเกี่ยวกับการจ่ายเงินรางวัลที่ใช้บังคับในปัจจุบันยังมีปัญหาหลาย ประการ ทำให้การจ่ายเงินรางวัลไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้การบังคับ ใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ จึงเห็นควรพิจารณาดำเนินการใน 2 แนวทาง ดังต่อไปนี้


1.การทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการจ่ายเงินรางวัลตามกฎหมาย


โดยที่การจ่ายเงินรางวัลเป็นการจ่ายเงินเพื่อ


(1) ชอเชยค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีรายได้น้อย


(2) สร้างแรงจูงใจแก่เจ้าหน้าที่มิให้ทุจริตจากการปฏิบัติหน้าที่


และ(3) ตอบแทนภาระงานที่มีลักษณะพิเศษ เช่น งานที่มีความเสี่ยงอันตราย โดยเป็นการนำเงินซึ่งได้จากการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง หรือแบ่งจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดได้จากการ กระทำผิดกฎหมาย โดยเงินในส่วนนี้จะไม่ตกเป็นเงินในระบบงบประมาณแผ่นดินแต่ให้หน่วยงานของรัฐ บริหารจัดการตามระเบียบที่กำหนดขึ้นโดยกระทรวงการคลังจะกำกับดูแลการใช้จ่าย เงินโดยการวางกรอบในข้อบังคับและประกาศแต่มิได้พิจารณาลงไปในรายละเอียดของ การกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลและอัตราหรือสัดส่วนเงินรางวัล


ดังนั้น จึงทำให้กระทรวงการคลังไม่สามารถควบคุมการใช้จายเงินดังกล่าวให้เป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเดียวกันได้ และการกำหนดให้มีเงินรางวัลยังสร้างปัญหาความไม่เสมอภาคระหว่างหน่วยงานของ รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว


เนื่องจากปัจจุบันการกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ ได้กำหนดให้มีการจ่ายเงินซึ่งมีวัตถุประสงค์ไม่ต่างจากวัตถุประสงค์ของการ จ่ายเงินรางวัลอยู่แล้วเช่น การชดเชยค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีรายได้น้อยหรือการสร้างแรงจูงใจ แก่เจ้าหน้าที่มิให้ทุจริตได้กำหนดให้มีเงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ เงินรางวัลประจำปี หรือเงินเพิ่มค่าครองชีพตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นต้น หรือการกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีความเสี่ยงภัย


ดังนั้น การที่จะส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพจึงสามารถใช้ช่องทางตามระบบการกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐที่มี อยู่พิจารณากำหนดค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้า หน้าที่แทนระบบการจ่ายเงินรางวัลที่ดำเนินการและมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินในภาครัฐให้เกิด ประโยชน์สูงสุดและเกิดความเสมอภาคกันในระบบราชการมากยิ่งขึ้น


2.การปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเกี่ยวกับการจ่ายเงินรางวัล


ในกรณีที่เห็นว่ายังมีเหตุผลความจำเป็นที่ควรให้มีระบบการจ่ายเงิน รางวัลต่อไป เพื่อให้การจ่ายเงินรางวัลมีมาตรฐานและเป็นการส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย ให้มีประสิทธิภาพได้จริง สมควรปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเกี่ยวกับการจ่ายเงินรางวัล ในประเด็นดังนี้


การกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัล

เนื่องจากการกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลตามข้อบังคับกระทรวงการคลังได้ กำหนดให้เป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการโดยไม่มีกรอบการใช้ดุลพินิจ ในทางปฏิบัติจึงมีการกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลที่แตกต่างกัน เพื่อให้การกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลของหน่วยงานต่างๆ มีมาตรฐานยิ่งขึ้น สมควรแก้ไขนิยาม "เจ้าหน้าที่ผู้จับ" ใน 4 แห่งข้อบังคับกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ. 2547 โดยกำหนดให้กระทรวงการคลัง ต้องวางระเบียบเพื่อกำหนดรายละเอียดของลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ว่าการ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหน้าที่ใด หรือการปฏิบัติหน้าที่ลักษณะใดบ้างที่จะถือเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจับกุมผู้ กระทำผิดหรือเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่อันได้มาซึ่งเงินค่า ปรับ


นอกจากนั้น เห็นควรแก้ไขความในข้อ 4 แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัล และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน พ.ศ. 2546 โดยกำหนดให้ระเบียบที่กำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลซึ่งหัวหน้าส่วนราชการ ต่างๆ กำหนดขึ้นต้องเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้กระทรวงการคลังมีโอกาสตรวจสอบความเหมาะสมของการกำหนดผู้มีสิทธิรับ เงินรางวัล


การกำหนดอัตราและสัดส่วนเงินรางวัล


(1) เนื่องจากการกำหนดอัตราการจ่ายเงินรางวัลยังมีทั้งที่กำหนดเพดานขั้นสูงของ เงินรางวัลและที่มิได้กำหนด เพื่อให้เกิดมาตรฐานในการกำหนดอัตราเงินดังกล่าวควรที่จะได้มีการกำหนดเพดาน ขั้นสูงของเงินรางวัลจากการบังคับใช้กฎหมายทั้ง 132 ฉบับท้ายประกาศกระทรวงการคลังฯ ในลักษณะเช่นเดียวกับการกำหนดเพดานอัตราเงินรางวัลตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดประเภทและอัตราการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง (ฉบับที่ 4)


(2) เห็นควรแก้ไขความในข้อ 4 แห่งระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัล และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน พ.ศ. 2546 โดยกำหนดให้ระเบียบที่กำหนดสัดส่วนเงินรางวัลซึ่งหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ กำหนดขึ้น ต้องเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้กระทรวงการคลังมีโอกาสตรวจสอบความเหมาะสมของการกำหนดสัดส่วนเงิน รางวัล

(หมายเหตุ-เป็นการนำลทความมานำเสนอเฉพาะบางส่วน ผู้ที่ต้องการอ่านฉบับเต็มดูได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา http://www.krisdika.go.th/wps/portal/general)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น