วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วินัย (2) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (2) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



กฎของธรรมชาติ คือการขุดดินเป็นเหตุ การเกิดหลุมเป็นผล กฎของธรรมชาตินี้เรียกสั้นๆ ว่า ธรรม

ส่วน ในหมู่มนุษย์ เราให้คนมาขุดดิน เราให้เงินเขา ๓,๐๐๐ บาท ต่อเดือน เรียกว่าเขาได้เงินเดือน ๓,๐๐๐ บาท ก็วางเป็นกฎของมนุษย์ขึ้น คือ การขุดดินเป็นเหตุ การได้เงินเดือนสามพันบาทเป็นผล การวางเป็นกฎในหมู่มนุษย์ขึ้นนี้ เรียกว่า "วินัย" ซึ่งเป็นความจริงขึ้นมาได้เพราะมนุษย์ยอมรับ จึงเป็นสมมติ ไม่ใช่ความจริงแท้

- ความจริงที่แท้คืออะไร?

การขุดดิน เป็นเหตุ อะไรเป็นผลกันแน่ ผลที่แท้จริงคือหลุม หรือโพรง หรืออะไรก็ได้ที่เป็นเรื่องของดินที่ถูกขุด ซึ่งจัดว่าเป็นผลตามธรรมชาติ แน่นอน ไม่มีผิดเพี้ยน หลุมจะเกิดได้ต้องมีการขุด และการขุดก็เป็นเหตุให้เกิดหลุม เป็นเหตุเป็นผลที่แท้จริง

ส่วน การขุดดินแล้วได้เงิน ๓,๐๐๐ บาท เป็นกฎของมนุษย์ ซึ่งก็เป็นเหตุเป็นผล แต่กฎธรรมชาตินั้นแน่นอน ถ้าต้องการผลต้องทำเหตุ ส่วนกฎของมนุษย์นั้นไม่แน่นอน ไม่จริง แต่ดูเหมือนเป็นจริง มองดูก็เป็นเหตุเป็นผล จะได้เงิน ๓,๐๐๐ บาท ก็ต้องขุดดิน แต่ที่จริงไม่ได้มีความจริงนี้อยู่ในธรรมชาติเลย ความจริงอันนี้อยู่ที่คนสมมติ เรียกว่าเป็นความจริงโดยสมมติ คือเกิดจากการยอมรับร่วมกันในเงื่อนไข ถ้าไม่มีการยอมรับร่วมกันเมื่อไร กฎของมนุษย์จะหายไปทันที

ถ้าฝ่ายขุดได้ขุดแล้ว แต่ฝ่ายให้เงินไม่ยอมจ่ายเงิน หรือฝ่ายขุดไม่ได้ขุด แต่ฝ่ายให้เงินเกิดใจดีให้เงินโดยไม่ต้องขุด ความเป็นเหตุเป็นผลก็หมดไป เมื่อขาดสมมติ กฎมนุษย์ก็หายไป

สรุปได้ว่า ๒ กฎนี้แยกได้ในเรื่องเดียวกัน

ใน การขุดดินนั้น กฎธรรมชาติที่เป็นความจริงแท้ คือ ธรรม ได้แก่การขุดดินแล้วทำให้เกิดหลุม และกฎของมนุษย์ที่เป็นความจริงโดยสมมติหรือโดยยอมรับร่วมกัน คือ วินัย ได้แก่การขุดดินทำให้ได้เงินเดือน ๓,๐๐๐ บาท

- สองอย่างนี้สัมพันธ์กันอย่างไร?

กฎ ของมนุษย์ตั้งขึ้นได้และจะมีความหมาย ต้องอิงอาศัยความจริงของกฎธรรมชาติ เราจะต้องมีความมุ่งหมายอย่างหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของธรรม คือตัวความจริงของธรรมชาติ

เราต้องการให้มีการขุดดิน เพื่อว่าเราจะได้หลุม แสดงว่าความประสงค์ที่แท้นั้นมีอยู่ในธรรมชาติ เป็นตัวธรรม แต่ที่เราตั้งเป็นเงื่อนไข เป็นกฎ เป็นข้อสมมติ ในหมู่มนุษย์ขึ้นมา ก็เพื่อประโยชน์ในสังคมของเรา กล่าวคือ ในสังคมนั้น การที่มนุษย์จะอยู่ได้ จะต้องมีปัจจัยเลี้ยงชีพ

แม้ว่าที่จริงเราจะต้องการหลุม แต่หลุมจะเกิดขึ้นได้ ถ้าเราไม่ยอมรอให้มีเหตุที่เป็นไปในธรรมชาติเอง ก็ต้องเอาคนมาขุด

ที นี้คนที่มาขุดหลุม ก็ต้องการเงินเลี้ยงชีพ จึงต้องตั้งกฎของมนุษย์อย่างที่กล่าวแล้วขึ้นมา และเราก็ยอมรับกัน โดยยอมปฏิบัติตาม ก็เกิดเป็นวินัยขึ้นมา

โดยนัยนี้ วินัยจึงตั้งอยู่บนฐานของธรรม และมันจะมีผลจริงต่อเมื่อคนมีธรรม ถ้าคนไม่มีธรรม เช่น คนที่ขุดดินไม่อยากขุดดิน แต่อยากได้เงิน การขุดดินเป็นเพียงเงื่อนไขที่ทำให้เขาได้เงิน เขาก็จะฝืนใจขุด ถ้าเขาเลี่ยงได้ เขาจะเลี่ยง โดยไม่ขุดดิน แต่จะเอาเงิน

ปัญหาจะ เกิดตามมามากมาย เช่น เขาขุดดินโดยไม่เต็มใจและไม่ตั้งใจ ขาดความสุข ขาดความพึงพอใจในการปฏิบัติตามวินัย ไม่สนใจ ไม่จริงจัง ไม่ได้ผล ตลอดจนอาจทำการทุจริต เพื่อให้ได้เงินโดยไม่ต้องขุดดิน ฉะนั้น งานก็ไม่ได้ผล คนก็ไม่มีความสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น