โลกวัชชะ
คอลัมน์ ศาลาวัด
เรื่องโทษที่ไม่ร้ายแรงในทางพระธรรมวินัยสงฆ์ เราเรียกว่า โลกวัชชะ ทำให้โลกติเตียนพระ ชาวโลกตำหนิติเตียน
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำว่า โลกวัชชะ (อ่านว่า โล-กะ-วัด-ชะ) ว่า โทษทางโลก, อาบัติที่เป็นโทษทางโลก, ข้อเสียหายที่ชาวโลกติเตียนว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ
โลกวัชชะ ใช้เรียกอาบัติหรือความผิดของพระภิกษุที่ชาวโลกตำหนิติเตียนว่าไม่เหมาะไม่ควรแก่สมณะ
ความ ผิดที่เป็นโลกวัชชะนั้น เช่น การทะเลาะวิวาท ทำโจรกรรม ฆ่าคนตาย ความผิดอย่างนี้ แม้คนทั่วไปทำ ก็ถูกตำหนิติเตียนเหมือนกับพระภิกษุไปทำ แต่พระภิกษุที่ได้ชื่อเป็นผู้วางตัวเหมาะสม ยิ่งต้องถูกตำหนิมากขึ้น
อีก ประการ การกระทำบางอย่าง แม้ไม่เป็นความผิดตามพระวินัย แต่ก็เป็นโลกวัชชะ คือ ถูกตำหนิติเตียนได้ เช่น สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ส่งเสียงดังในที่ชุมนุมชน ไม่เอื้อเฟื้อแก่สตรีและเด็ก เป็นต้น
สำหรับ หลักเกณฑ์การพิจารณาความผิด ได้มีบัญญัติไว้ในพ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 เป็นกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยความผิดและวิธีลงโทษทางการปกครอง
โดยเจ้าสังกัด เจ้าของเขต มีอำนาจพิจารณาลงโทษแก่พระภิกษุหรือสามเณร เมื่อปรากฏว่าประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(1) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พระพุทธศาสนา ด้วยการ
(ก) ละเมิดพระวินัยอันเป็นโลกวัชชะ
(ข) บิดเบือนพระธรรมวินัยให้วิปริต หรือกล่าวตู่พระธรรมวินัย หรือตีความพระธรรมวินัยตามความคิดเห็นของตนเอง โดยไม่ยึดหลักคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา
หรือ (ค) ประพฤติอื่นใดที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหาย แก่พระพุทธศาสนา หรือให้เกิดการดูหมิ่นเหยียดหยามพระพุทธศาสนา
(2) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การปกครองคณะสงฆ์ด้วยการ
(ก) ฝ่าฝืน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎ มส. ข้อบังคับระเบียบ คำสั่ง มติ หรือประกาศของ มส.
(ข) ฝ่าฝืนพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช หรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตนที่สั่งโดยชอบ
(ค) ประพฤติอื่นใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารงานของคณะสงฆ์
ใน กรณีพระภิกษุผู้กระทำผิดตาม (1) หรือ (2) เป็นพระสังฆาธิการ ให้เจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขตใกล้ชิดที่ความผิดเกิดขึ้น เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยการลงโทษ
ทั้งนี้ โทษที่จะลงแก่พระภิกษุหรือสามเณรที่กระทำความผิดมี 4 สถาน คือ (1) ให้สละสมณเพศ (2) ตำหนิโทษ (3) ภาคทัณฑ์ (4) ว่ากล่าวตักเตือน
แต่ หากเป็นโทษที่พระรูปนั้นประพฤติไม่เหมาะสมกับสมณสารูป หรือโลกวัชชะ โทษที่จะลงแก่พระภิกษุหรือสามเณรที่กระทำความผิด คือ การว่ากล่าวตักเตือนเท่านั้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น