วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ธรรมขันธ์ khaosod


ธรรมขันธ์

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร watdevaraj@hotmail.com โทร. 0-2281-2430


คําว่า ธรรมขันธ์ แปลว่า กองธรรม หรือ หมวดธรรม ท่านจำแนกไว้ 5 ประการคือ

1. สีลขันธ์ หมวดศีล ได้แก่ การที่บุคคลทำกายวาจาให้เรียบ ร้อย ปราศจากวีติกมโทษ คือ โทษที่จะก้าวล่วงได้ทางกาย และทางวาจา เพื่อกำจัดเสียซึ่งความโหดร้ายหยาบคายทางกายและทางวาจา ปิดทางที่ตนเองจะทำชั่วอย่างหยาบเสียได้ ทำให้เป็นคนสะอาดกาย สะอาดวาจา ไม่มีมลทินโทษ ตัดเวรภัยเสียได้ และทำให้เป็นคนมีระเบียบวินัย พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าในการดำเนินชีวิตต่อไป

2. สมาธิขันธ์ หมวดสมาธิ ได้แก่ บุคคลผู้รักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ย่อมไม่หวาดหวั่นครั่นคร้าม สะทกสะท้านต่อภัยอันตรายต่างๆ มีจิตดิ่งแน่วแน่เป็นหนึ่งเพื่อกำจัดปริยุฏฐานกิเลส คือ กิเลสภายนอกที่กลุ้มรุมจิตอยู่ มีความตั้งใจมั่นไม่ปล่อยใจให้ตกอยู่ในอำนาจของนิวรณ์ทั้ง 5 คือ

กามฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจ มี รูป เป็นต้น

พยาบาท ความคิดปองร้ายผู้อื่น

ถีนมิทธะ ความที่จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม

อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

วิจิกิจฉา ความลังเลไม่ตกลงใจได้

ซึ่งทั้ง 5 นี้ ล้วนเป็นสิ่งที่บั่นทอนกำลังใจให้หย่อนสมรรถภาพ ไม่สามารถรวมกำลังใจให้เด็ดเดี่ยวได้ เพราะเหตุนั้น ต้องละอารมณ์เช่นนั้นให้ได้ ด้วยอำนาจสมาธิ คือความตั้งใจมั่น

3. ปัญญาขันธ์ หมวดปัญญา ได้แก่ เมื่อบุคคลกำจัดกิเลสภายนอกที่กลุ้มรุมจิตได้แล้วพิจารณาไปก็จะเกิดปัญญากำจัดอนุสัย คือกิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานให้หมดสิ้นไป และปัญญานั้นนั่นแหละ ช่วยให้มองเห็นทางถูกทางผิดได้ด้วย

4. วิมุตติขันธ์ หมวดวิมุตติ ได้แก่ ความทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสาสวะ คือ อุดหนุนจิตให้พ้นจากกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง หลุดพ้นได้โดยประการทั้งปวง

5. วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ หมวดวิมุตติญาณทัสสนะ ได้แก่ เมื่อบุคคลรู้เห็นว่า จิตหลุดพ้นแล้ว สืบเนื่องมาจากวิมุตติ ชื่อว่า ญาณทัสสนะ

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กามคุณ khaosod


กามคุณ

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


คําว่า กามคุณ แปลว่า อารมณ์เป็นเหตุใคร่ ได้แก่ อารมณ์อันเป็นที่น่ารักใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ น่าพึงใจ ซึ่งรวมเรียกว่าว่า กามคุณ ท่านจำแนกไว้ 5 ประการ คือ

1. รูป ได้แก่ สิ่งที่เป็นวิสัย อันตาจะพึงแลเห็นได้ จะเป็นรูปคนก็ตาม รูปสัตว์ต่างๆ ก็ตาม รูปภาพ รูปปั้น รูปแกะสลัก หรือรูปพัสดุต่างๆ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เมื่อตาได้ประสบ มองเห็น แลเห็น เหลียวเห็น พบเห็นเข้าแล้ว ก็ทำใจให้เกิดความรู้สึกรักใคร่ ยินดี พอใจ อยากเป็นเจ้าของ อยากได้ อยากมี อยากอยู่ใกล้ชิด และที่เป็นเจ้าของอยู่แล้ว ที่มีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องการจะให้พลัดพรากจากไป ห่วงอาลัย หวงแหน ในรูปนั้นๆ เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นกามคุณ ประการหนึ่ง

2. เสียง ได้แก่ สิ่งที่เป็นวิสัยอันหูจะพึงได้ยินได้ฟัง จะเป็นเสียงคนก็ตาม เสียงสัตว์ก็ตาม หรือเสียงวัตถุชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม เมื่อหูได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ทำใจให้เพลิดเพลินติดใจ พัวพัน หมกมุ่น อยู่ในเสียงนั้นๆ และไม่อยากให้พลัดพรากจากไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นกามคุณประการหนึ่ง

3. กลิ่น ได้แก่ สิ่งที่เป็นวิสัยอันจมูกจะพึงสูดดมได้ จะเป็น กลิ่นหอมของดอกไม้นานาพันธุ์ก็ตาม หรือกลิ่นหอมจากเครื่องปรุงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เมื่อจมูกได้สูดดมกลิ่นแล้วก็เป็นที่น่ารักใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ น่าพึงใจ น่าชอบใจ ทำใจให้เพลิดเพลิน ติดใจพัวพัน หมกมุ่นในกลิ่นนั้นๆ และไม่อยากให้พลัดพรากจากไปเช่นกัน เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นกามคุณประการหนึ่ง

4. รส ได้แก่ สิ่งที่เป็นวิสัยอันจะพึงลิ้มรสได้ จะเป็นรสอาหารก็ตาม รสสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตาม เมื่อลิ้นได้ลิ้มเข้าแล้ว ก็เป็นที่น่าติดใจ น่าปรารถนา น่าพึงใจ น่าชอบใจ ก็ทำใจให้ติดข้อง พัวพัน หมกมุ่นอยู่ในรสนั้นๆ และไม่อยากพลัดพรากจากไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นกามคุณประการหนึ่ง

5. โผฏฐัพพะ ได้แก่ สิ่งที่เป็นวิสัย อันกายจะพึงถูกต้องสัมผัสได้ จะเป็นคนก็ตาม เป็นสัตว์ก็ตาม หรือพัสดุชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม เมื่อกายได้ถูกต้องสัมผัสเข้าแล้ว ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน ยินดี พอใจ ติดใจ หมกมุ่นอยู่ในสิ่งเหล่านั้น และไม่อยากให้พลัดพรากจากไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นกามคุณประการหนึ่ง

กามคุณทั้ง 5 ประการดังกล่าวมานี้ รวมเรียกว่า วัตถุกาม ซึ่งเป็นที่เกิดแห่งกิเลสกาม มีราคะ โลภะ เป็นข้อต้น มีอิสสา จริต เป็นข้อสุด เมื่อบุคคลใดปล่อยใจให้ลุ่มหลงติดอยู่ หมกมุ่นอยู่ในสิ่งเหล่านั้น จนเกินพอดี บุคคลนั้น ย่อมได้รับทุกข์เดือดร้อนมีประการต่างๆ ในกาลภายหลัง

วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คนมีทรัพย์ khaosod


คนมีทรัพย์

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ชื่อว่าทรัพย์ ใครก็อยากได้ ใครก็ปรารถนา เพราะทรัพย์นั้นจะกล่าวไปก็คล้ายกับแก้วสารพัดนึก สามารถจะดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างให้กับเจ้าของได้ คนมีทรัพย์จะได้รับการยกย่องเชิดชู



คนมีทรัพย์ ใครๆ ก็นับเป็นญาติ ไปไหนมาไหนทุกคนก็เกรงใจให้เกียรติ ทุกคนจึงแสวงหาแต่ทรัพย์กัน วันๆ หนึ่งคนเราจะสาละวนยุ่งอยู่กับหน้าที่การงาน ก็เพื่อทรัพย์ทั้งนั้น คนไม่ขยันก็ไม่สามารถจะหาทรัพย์ได้



คนเช่นไรได้ชื่อว่าเป็นคนขยัน คนขยันมีลักษณะ คือ จะก้มหน้าก้มตาทำงานโดยไม่เกี่ยงว่าอากาศมันหนาวเกินไป อากาศมันร้อนเกินไป ทำงานได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสภาพดินฟ้าอากาศอย่างไร ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง



คนขยันเท่านั้นจึงจะหาทรัพย์ได้ คนขี้เกียจไม่ต้องพูดถึง ความสำคัญของการที่ได้ทรัพย์มาแล้วจะทำอย่างไร จึงจะรักษาทรัพย์นั้นไว้ได้ ถ้าหากหามาได้แล้วเก็บไว้ไม่อยู่มันก็ไม่มีประโยชน์



ประโยชน์ของการมีทรัพย์อยู่ที่การรู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้นั้นไว้ให้ได้ พระพุทธเจ้าได้แนะวิธีรักษาทรัพย์ที่หามาได้ว่า "ผู้ขยันในหน้าที่การงาน ไม่ประมาท เข้าใจจัดการเลี้ยงชีวิตพอสมควร จึงรักษาทรัพย์ที่หามาได้"



ทำอย่างไรจึงได้ชื่อว่า ประมาทในทรัพย์ คนบางคนแสวงหาทรัพย์มาได้โดยง่าย เมื่อได้มาแล้วก็ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบเอาไว้ใช้ในยามคับขันจำเป็น ด้วยคิดว่าเงินทองจะเอาเท่าไรก็ได้ บางรายใช้จ่ายเกินตัว อย่างนี้จะมีเงินที่ไหนไปเก็บ การที่จะรักษาทรัพย์ไว้ได้อยู่ที่การรู้จักประหยัด โดยนิสัยเราเป็นคนใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไปตามกระแส ไม่ค่อยรู้จักประหยัด อะไรใหม่ๆ ก็พากันนิยมชมชอบ แม้ราคาจะแพง ก็พยายามแข่งกันมีให้ได้



เข้าใจจัดการเลี้ยงชีวิตพอสมควร หมายความว่า ให้จับจ่ายใช้สอยเลี้ยงชีวิตให้พอเหมาะพอควรแก่ทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองจนเกินไป และก็ไม่ให้ฟุ่มเฟือยจนเกินไป บางคนทำมาหาได้ แทนที่จะนำทรัพย์นั้นมาใช้จ่ายให้มีความสุขบ้าง ก็เก็บไว้หมด แต่ตัวเองกลับอดอยาก อย่างนี้ก็ไม่ถูก หรือฟุ่มเฟือยเกินไป พอทำมาหาได้ก็กินแต่อาหารดีๆ แพงๆ ไม่พอเหมาะพอควร ต้องควบคุมให้อยู่ในความพอเหมาะพอควรแก่ทรัพย์ที่หามาได้



การที่จะใช้จ่ายทรัพย์ที่หามาได้นั้น จะใช้จ่ายอย่างไรจึงจะถูกต้อง จึงจะดี ก็ต้องใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ประโยชน์ที่เกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ที่มีอยู่ ท่านกล่าวไว้ 5 อย่าง คือ



1. ใช้เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงพ่อแม่ เลี้ยงบุตรภรรยาให้เป็นสุข

2. ใช้เลี้ยงเพื่อนให้เป็นสุข

3. ใช้บำบัดอันตรายที่เกิดจากเหตุต่างๆ

4. ใช้สงเคราะห์ญาติ ต้อนรับแขก ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย ทำบุญอุทิศให้เทวดา เสียภาษีอากร

5. บริจาคทานแก่สมณะผู้ประพฤติชอบ



เมื่อทุกคนนำเอาหลักธรรมดังกล่าวนี้ไปปฏิบัติแล้วก็จะทำให้ครอบครัว มีหลักฐานมั่นคง อยู่กันอย่างมีความสุข เมื่อครอบครัวมั่นคงเป็นสุขแล้ว ประเทศชาติก็จะมีหลักฐานมั่นคงไปด้วย

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ยศ khaosod


ยศ

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


"ยศย่อมเจริญยิ่งแก่บุคคลผู้มีความขยันหมั่นเพียร มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วจึงทำ มีความสำรวมระวัง มีความเป็นอยู่โดยธรรมและมีความไม่ประมาท"

ยศ เป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไป เป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์ในหน้าที่การงานของตน เป็นที่ยกย่องนับถือของบุคคลในสังคม ช่วยส่งเสริมให้ชีวิตสูงขึ้นกว่าพื้นฐานเดิมตามลำดับ จำแนกไว้ 3 ประการ ได้แก่

1. อิสริยยศ ยศ คือ ความเป็นใหญ่ ได้รับการยกย่องให้มียศศักดิ์ มีตำแหน่ง

2. ปริวารยศ ยศ คือ ความเป็นผู้มีบริวาร มีบริวารสำหรับช่วยเหลือ

3. เกียรติยศ ยศ คือ ความเป็นผู้มีชื่อเสียง มีคุณความดีแผ่ไปทั่วทุกทิศ

ยศ 3 ประการที่กล่าวมานี้ จะเกิดมีขึ้นได้ต้องประกอบด้วยคุณธรรม 7 ประการ คือ

1. ความขยันหมั่นเพียร คือจะต้องมีความขยันหมั่นเพียรในกิจการงานต่างๆ เพราะจะทำให้เกิดความรู้ความสามารถ ทำให้มีงาน มีทรัพย์สมบัติ

2. มีสติ คือ ต้องรู้ตัวระวังอยู่เสมอในเรื่องที่คิด ในกิจที่ทำ และในคำที่พูด

3. มีการงานสะอาด คือ การงานทุกชนิด จะต้องวางอยู่บนรากฐานของศีลธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นตัวนำหน้า เพื่อความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าทั้งแก่ตนและสังคมส่วนรวม

4. ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ คือ การทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องรู้ก่อนที่จะลงมือทำ ไม่ใช่ทำก่อนแล้วค่อยรู้ทีหลัง ซึ่งมักจะสร้างปัญหาอยู่เสมอๆ งานทุกอย่างจึงต้องใคร่ครวญ วางแผนก่อนทำ
5. สำรวมระวังดี คือ จะต้องระวังกาย วาจา และใจ ให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลและคุณธรรม

6. มีความเป็นอยู่โดยธรรม คือ มีชีวิต ความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ด้วยการทำความดี ละเว้นความชั่วทุกชนิด และทำจิตใจให้ผ่องใส

7. มีความไม่ประมาท คือ ต้องไม่เลินเล่อ ไม่เผอเรอปล่อยสติ รู้เท่าทันเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อได้ลาภ ได้ยศ ได้ความสรรเสริญ ได้ความสุขแล้วไม่ควรมัวเมา ไม่ควรหลงใหล เพราะสิ่งที่ได้รับนั้นสามารถที่จะเกิดได้ ดับได้ เจริญได้ และเสื่อมได้เหมือนกัน

คุณธรรม 7 ประการนี้มีอยู่ในบุคคลใดย่อมเป็นเหตุให้เกิดยศ คือ ความยกย่องนับถือแก่บุคคลนั้น ส่วนผู้ที่ไม่ประพฤติตามคุณธรรมดังกล่าวมา ยศที่ยังไม่มีก็เกิดขึ้นไม่ได้ แม้ที่มีอยู่แล้วย่อมเสื่อมหายไป เพราะยศเป็นโลกธรรมประการหนึ่ง มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมไป ไม่เที่ยงแท้แน่นอน

ยศจึงนับว่าเป็นเครื่องประดับชีวิตที่สำคัญ และไม่ได้เกิดขึ้นเองแก่ใครๆ ตามใจปรารถนา ไม่ได้เกิดจากการซื้อขาย ไม่ได้เกิดจากการแสวงหาที่ทุจริตผิดศีลธรรม แต่จะเกิดมีได้เพราะความขยันหมั่นเพียร ในการศึกษาและประกอบธุรกิจการงานที่ดี มีความไม่ประมาทในการดำรงชีวิต

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ความสุขระดับชาวบ้าน khaosod


ความสุขระดับชาวบ้าน

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


พระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องของความสุขไว้ 4 ประการคือ

ประการที่ 1 สุขเกิดแต่การมีทรัพย์ เพราะทรัพย์เป็นเหตุให้ปลื้มใจ คือความสมบูรณ์ในปัจจัย 4 คนมีทรัพย์ย่อมได้รับความสุข ปรารถนาในปัจจัย 4 ย่อมได้ การมีทรัพย์คือความมั่งคั่ง ความสมบูรณ์พูนสุขด้วยปัจจัย 4 แต่ต้องรู้จักการใช้สอยทรัพย์สมบัตินั้น กล่าวคือการใช้จ่ายในทรัพย์สินเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์

ถ้ามีทรัพย์ แต่ไม่รู้ในการที่จะใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ก็หาความสุขมิได้ มีแต่ความเดือดร้อน กังวลใจในการรักษาทรัพย์สมบัติที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น อีกทั้งไม่รู้วิธีการบริหารทรัพย์ ให้เป็นประโยชน์ในทางที่ชอบ ทรัพย์นอกจากไม่เพิ่มพูนขึ้นแล้ว ยังจะไม่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ อีกด้วย

ประการที่ 2 สุขเกิดแต่การใช้จ่ายทรัพย์บริโภค ผู้ที่ไม่มีปัญญา ย่อมจับจ่ายใช้สอยทรัพย์โดยไม่คำนึงถึงความหมดเปลือง กล่าวคือการไม่รู้จักประมาณการใช้จ่ายทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัติก็มีแต่อันจะต้องสิ้นไปหมดไป ถูกทำลายไปโดยปราศจากประโยชน์

ส่วนผู้มีปัญญาย่อมใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ รู้จักประมาณในการใช้จ่าย รู้จักการบริหารในทรัพย์สมบัติของตนให้เกิดประโยชน์ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่าย ให้เป็นไปแต่พอเหมาะพอควร ให้เกิดความพอดีกับกำลังทรัพย์ที่มีอยู่ ให้พอเหมาะกับรายได้กับที่ตนได้รับ และให้เหลือพอที่จะอดออม เป็นทุนสะสมสำหรับชีวิตครอบครัว

ประการที่ 3 สุขเกิดแต่การไม่ต้องเป็นหนี้ หนี้คือสิ่งที่ตกค้าง จะต้องชำระเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้เกิดความทุกข์อีกด้วย คนมีหนี้จะเกิดอาการหวาดผวา นอนไม่หลับ ฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ คนมีหนี้สินมากๆ สังคมจะขาดความเชื่อถือ ไม่เป็นที่ยอมรับ ยิ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญาหรือตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะกลายเป็นคนล้มละลาย เพราะฉะนั้น การไม่เป็นหนี้ใคร จึงเป็นความสุข

ประการที่ 4 สุขเกิดแต่การทำงานที่ปราศจากโทษ ผู้ที่ทำงานปราศจากโทษย่อมจะมีความสุข เพราะเป็นงานที่สุจริต ไม่ผิดต่อกฎหมาย ไม่ผิดต่อศีลธรรม ไม่เป็นที่เดือดร้อนแก่ใครๆ คนที่ทำงานที่ปราศจากโทษนั้น ย่อมได้รับความสุข ความอิ่มใจ ปลาบปลื้มใจ เพราะไม่ต้องหวาดผวา ไม่เหมือนกับคนที่ทำงานทุจริต ผิดกฎหมาย ประกอบไปด้วยโทษ เขาย่อมหวาดกลัวในขณะที่ทำและเดือดร้อนในขณะที่ทำเสร็จแล้ว ความสุขดังกล่าวมา จะเกิดมีขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันเพื่อช่วยกันสร้างประเทศชาติบ้านเมือง ให้เจริญรุ่งเรือง อย่าเอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนกันและกัน ให้คำนึงถึงส่วนรวมคือประเทศชาติเป็นสำคัญ เพราะเมื่อประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองแล้ว เราก็มีความสุข อยู่เย็นเป็นสุขโดยถ้วนหน้า