วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ราศีกรกฎ 21 มิ.ย.-22 ก.ค. khaosod


ราศีกรกฎ 21 มิ.ย.-22 ก.ค.

ปี 2013 (2556) เป็นปีแห่งความรุ่งโรจน์โชติช่วงในดวงชะตาของท่านชาวราศีกรกฎ คือผู้ที่เกิดวันที่ 21 มิถุนายน ถึง 22 กรกฎาคมไม่ว่าปีใดๆ เป็นชาวราศีกรกฎตามระบบสุริยะของโหรา ศาสตร์สากล ชาวราศีอื่นๆ ของโหราศาสตร์สากล (อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ) นับเช่นนี้ทั้งนั้นโปรดอย่าดัดแปลงแก้ไขให้เป็นแบบอื่น เพราะจะคลาดเคลื่อนไปกันใหญ่ ของฝรั่ง (สากล) เขาก็แม่นพอสมควรเหมือนกัน



ชาวราศีกรกฎ ดวงจันทร์เป็นตัวแทนแห่งความคิดและชีวิตความเป็นอยู่ของท่าน ยามใดที่ดาวที่เป็นกาลกิณีและ คู่ศัตรูเข้ามาโคจรในราศีของท่าน ย่อมงอมพระรามมากหรือน้อยแล้วแต่ดวงกำเนิดของท่านว่าจะอ่อนแอหรือแข็งแกร่งเพียงใด แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง คนแข็งแรงไม่ค่อยเจ็บป่วย กว่าจะรู้ตัวว่าป่วยก็ร่อแร่ ส่วนคนอ่อนแอนั้นแม้จามสองสามครั้งก็รีบพบแพทย์จึงรักษาง่ายหายเร็ว



25 เมษายน 2013 แม้จะเกิดจันทรคราสก็คงไม่เห็นในบ้านเมืองของเรา ความยุ่งยากใดๆ ที่เกิดขึ้น คงมีขอบเขตอยู่เพียงภาคพื้นธรณีใหญ่ของยุโรปเท่านั้น หาได้แผ่ขยายมาถึงประเทศไทยไม่ ส่วนวันที่ 10 พฤษภาคม 2013 โปรดฟังประกาศท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ว่าจะเกิดสุริยคราสที่มองเห็นในเมืองเราหรือไม่ เพราะวันขึ้นแรม 15 ค่ำไม่ว่าจะเป็นวันจันทร์ดับหรือจันทร์เพ็ญ ย่อมมีผลกระทบถึงท่านชาวราศีกรกฎเสมอ บางครั้งก็เป็นไปในทางที่ดี บางทีแย่ เช่น สตรีที่อายุ 40 ปีแล้วได้แต่งงานก็ถูกนินทาต่างๆ นานา แต่คนที่ถูกนินทากลับคิดว่าเธอโชคดีกว่าใครๆ ซึ่งต้องอยู่บนคานทองไปตราบกัลปาวสาน ชาวราศีกรกฎดาวประจำราศีของท่านโคจรรวดเร็วที่สุดในระบบสุริยะนี้ ผ่านราศีที่ไม่ดี ผ่านดาวร้ายๆ แต่ท่านก็ไม่เป็นอะไร เพราะดาวคู่มิตรของท่านคือพุธ ซึ่งหมายถึงการมีปากเป็นเอก มีวาทศิลป์ มีจิตวิทยาในการเจรจาเกลี้ยกล่อมผู้อื่น ถ้าพุธในดวงกำเนิดอยู่ในภพ 8 อาจพูดให้ลิงหลับสนิทได้จริงๆ



นอกจากนี้ดาวที่เป็นศรีกับจันทร์คือ เสาร์ตามหลักกาลโยค พระเสาร์นี้เป็นบาปเคราะห์ (ดาวร้าย) เหมือนมีเพื่อนเป็นนักยกน้ำหนักซึ่งสามารถจับศัตรูของท่านทุ่มกระเด็นไปไกล กระดูกหักทั้งตัว หรือเป็นคนขับรถบดถนน ใครทำร้ายท่านเขาขับลุยเข้าไปในบ้านผู้นั้น บ้านก็พังซ่อมไม่ได้ แม้ท่านเองจะผอมแห้งแรงน้อย ลมพัดก็แทบจะปลิวไปตามลม แต่ไปไหนมีคนยกมือไหว้สลอน ใครเล่าจะกล้าข่มเหงรังแกท่าน การที่ท่านได้รับความเคารพนับถือจากผู้อื่น ทั้งพลเมืองดีและพลเมืองร้ายเพราะท่านมีเมตตาจิตสูงแบบที่กล่าวกันทั่วไปว่า



"แสงสว่างอันเยือกเย็นของดวงจันทร์ ย่อมสาดส่องเข้าไปได้หมดไม่ว่าเป็นกระท่อมยาจกหรือคฤหาสน์ของมหาเศรษฐี ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง จันทร์ไม่ถูกกับพระราหูถูกพระราหูตามจับกินอยู่เสมอ แต่จันทร์มีพระพุทธมนต์บทหนึ่ง ซึ่งพระราหูจับจันทร์กลืนเข้าไปแล้วต้องรีบคาย ไม่เช่นนั้นศีรษะจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ คือ



"นะโม เต พุทธะวีรัตถุ วิปปะมุตโตสิสัพพะธิ สัมพาธะปะฏิปันโนสะมิ ตัสสะเมสะระณังภะวะ" ท่านผู้รู้แปลว่า "ข้าแต่พุทธเจ้าผู้กล้าหาญและพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง บัดนี้ข้าพเจ้าตกอยู่ในความคับขันแล้ว ขอพระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าด้วยเถิด"



อาทิตย์ก็มีคาถาบทนี้และใช้ป้องกันภัยจากพระราหูทุกครั้ง ข้าพเจ้าเคยเรียนถามครูอาจารย์แล้วว่าคนเราจะใช้พระคาถาบทนี้ในเวลาใด ท่านว่าใช้ในเวลา "บงอับ-บงรา" คือ ในยามจวนตัวที่สุด

วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ผู้ฉลาดครองเรือน khaosod


ผู้ฉลาดครองเรือน

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ผู้ที่เกิดมาแล้ว ดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยปัญญาที่มีติดตัวตั้งแต่เกิดก็ดี ด้วยการศึกษากำหนดจดจำจากบิดามารดา ครูอาจารย์ก็ดี ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองด้วยอุบายที่แยบคายแล้ว มองเห็นเหตุที่เป็นข้อเปรียบเทียบพอเป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิต 3 ประการ คือ



ประการที่ 1 มองเห็นความหมดสิ้นไปแห่งยาสำหรับหยอดตา อันธรรมดาน้ำยาสำหรับใช้หยอดบำบัดโรคตา ที่บรรจุไว้ในหลอดหรือขวดขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม ถ้านำมาหยอดทีละหยดๆ นานไปน้ำยานั้นก็หมดสิ้นไป เพราะไม่มีน้ำยาใหม่มาเพิ่มเติม ข้อนี้ฉันใด ทรัพย์สินสิ่งของเงินทองเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีอยู่ หากบริโภคใช้สอยไปอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ทำการแสวงหามาเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็ย่อมถึงความหมดสิ้นไปได้เหมือนกัน ดังนั้นเมื่อจะใช้จ่ายทรัพย์สินสิ่งของเงินทอง ก็ให้สำนึกถึงยาสำหรับหยอดเป็นเครื่องเตือนใจ



ประการที่ 2 มองเห็นการก่อขึ้นแห่งปลวกทั้งหลาย ปลวกนั้นเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ อาศัยความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน คาบเอาดินมาทำที่อยู่อาศัยให้ใหญ่โตมั่นคงแข็งแรงได้ ฉันใด บุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ทุกคน จะอยู่โดดเดี่ยวคนเดียวไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความสมานสามัคคีพร้อมเพียงกัน แต่ละคนต่างก็มุ่งหน้าประกอบกิจทำการงานตามหน้าที่ของตนด้วยความหมั่นขยันในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีวิตแล้ว ทรัพย์สิน เงินทอง วิชาความรู้ที่ยังไม่เกิด ก็จะเกิดมีขึ้น ที่เกิดมีอยู่แล้ว ก็จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น หน้าที่การงานก็จะถึงความงอกงามไพบูลย์ ด้วยการรักษาความหมั่นขยันให้คงที่ ไม่ให้ย่อหย่อน รักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ป้องกันไม่ให้เป็นอันตราย รักษาหน้าที่การงานไม่ให้เสื่อมเสียไป แต่ละคนต่างก็มีเพื่อนร่วมคิดร่วมใจเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริต ดำรงชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่ายพอเหมาะพอควร เมื่อพื้นฐานชีวิตของตนมีความมั่นคงแล้ว ก็เป็นเหตุอุดหนุนให้สังคมรวมถึงประเทศชาติ มีความมั่นคงไปด้วยเหมือนกัน



ประการที่ 3 มองเห็นการประมวลมาแห่งผึ้งทั้งหลาย ผึ้งเป็นสัตว์ปีกตัวเล็กๆ อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่มีความสมานสามัคคีพร้อมเพรียงกัน มีความสามารถในการทำรัง ทำน้ำหวาน ผึ้งแต่ละตัวโผบินไปคาบเอา เกสรและละอองดอกไม้มาทำรังและน้ำหวาน เมื่อมีอันตรายก็พร้อมใจกันต่อสู้ป้องกัน เพราะความสามัคคีนั่นเอง



ทุกคนที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าแต่ละคนมุ่งประกอบกิจทำการงานตามหน้าที่ของตน ตามกำลังความสามารถ ด้วยความพอใจรักการงาน มีความเพียรพยายามอย่างอาจหาญไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มีใจจดจ่อต่องานที่ทำนั้น ไม่ทอดทิ้งหน้าที่ หมั่นพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งที่ทำนั้น สามารถทำสิ่งเล็กให้ใหญ่ ทำสิ่งที่ใหญ่ให้เล็ก ทำสิ่งที่ยากให้ง่าย ทำสิ่งที่ง่ายให้เรียบร้อยยิ่งขึ้นได้



ผู้ฉลาดอาศัยเหตุข้อเปรียบเทียบดังกล่าวมาเป็นแนวทางอยู่ปกครองเรือน แสวงหาทรัพย์ได้มาแล้ว ก็มีความดีใจว่าทรัพย์ของเรามี เมื่อได้จับจ่ายใช้สอยทรัพย์นั้นบริโภคพอเหมาะพอควรแก่ฐานะและรายได้ก็ให้เกิดสุข ใช้จ่ายทรัพย์นั้นจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่ผลิตได้ในประเทศ ก็เป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตมีทุนหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ ทรัพย์ไม่รั่วไหลออกไปนอกประเทศ ประเทศชาติก็จะได้พัฒนาให้เจริญรุ่งเรือง ประชาชนก็จะมีรายได้เพิ่มพูนมีความมั่งคั่งสมบูรณ์

วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประโยชน์ที่บัณฑิตพึงได้ khaosod


ประโยชน์ที่บัณฑิตพึงได้

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


นักปราชญ์ท่านเรียกว่า บัณฑิต เพราะได้รับประโยชน์ทั้ง 2 คือ ประโยชน์ในชาติปัจจุบันและประโยชน์ในชาติหน้า

ประโยชน์ในปัจจุบัน หมายถึง ประโยชน์ในชาตินี้ เป็นประโยชน์ตราบเท่าที่เป็นอยู่หรือมีชีวิตอยู่ ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ

1. ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ มีความขยันในการศึกษาเล่าเรียน ในการประกอบอาชีพการงาน ที่สำคัญจะเป็นงานอะไรก็ตาม ถ้าไม่ผิดกฎหมายบ้านเมืองและศีลธรรมอันดีงาม และช่วยให้ดำรงชีพอยู่ได้แล้ว ก็น่าจะพอใจ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า "คนหมั่นย่อมหาทรัพย์ได้" และในการสร้างกุศล ความดี ก็ควรหมั่นสร้างความดีอันจะติดตามตนไปในภพหน้า เปรียบเหมือนผู้จะเดินทางไกลเตรียมเสบียงไปด้วย ฉะนั้น ผู้ขยันหมั่นเพียรในประการดังกล่าวมา จึงชื่อว่า ถึงพร้อมด้วยความหมั่น

2. ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รักษาทรัพย์ที่หามาได้จากน้ำพัก น้ำแรง ทำทรัพย์ให้มีความปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ มีน้ำ ไฟ และโจรผู้ร้ายเป็นต้น ผู้ที่รักษาทรัพย์ที่หามาได้ไม่ให้เป็นอันตรายก็ดี รักษาการงานของตนไม่ให้เสื่อมเสียไปก็ดี ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยการรักษา

3. ความมีเพื่อนเป็นคนดี สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงลักษณะของเพื่อนที่ดี ว่ามี 4 ประการ คือ 1. เพื่อนมีอุปการะ 2. เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ 3. เพื่อนแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ 4. เพื่อนมีความรักใคร่ ว่าเป็นมิตรแท้ ควรคบ เพื่อนดังกล่าวมานี้ ย่อมนำไปสู่ความเจริญ

4. เป็นอยู่สมฐานะ หมายความว่า ดำรงชีวิตให้พอดีกับฐานะ ใช้ทรัพย์อย่างประหยัดพอเหมาะพอควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองหรือใช้ฟุ่มเฟือยเกินไป ดังคำกลอนที่ท่านสุนทรภู่ ได้แต่งเป็นคติสอนใจว่า "มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าได้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน"

ส่วนประโยชน์ในชาติหน้า หมายถึง ประโยชน์ในภพหน้าอันจะติดตามผู้ทำไป ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ

1. ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เช่นเชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น

2. ถึงพร้อมด้วยศีล คือ การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย ไม่มีโทษ

3. ถึงพร้อมด้วยการบริจาค คือ สละทรัพย์หรือสิ่งของให้เป็นสาธารณกุศลต่างๆ เช่น สร้างวัด โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น

4. ถึงพร้อมด้วยปัญญา คือ รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น

ท่านผู้มีปัญญา เมื่อได้ทราบประโยชน์ 2 อย่าง คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน นับได้ว่าไม่ขัดสนอับจนในชีวิต และประโยชน์ในชาติหน้า นับได้ว่า ได้ตระเตรียมเสบียงในการเดินทางคือกุศล ความดีไว้ก่อนที่ จะเดินทางไป ย่อมทำชีวิตเป็นชีวิตที่ดี เป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า

วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ธรรมของสัตบุรุษ


ธรรมของสัตบุรุษ

ธรรมของสัตบุรุษเรียกว่า สัปปุริสธรรม มี ๗ อย่าง คือ

๑. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่น รู้จักว่าสิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์
๒. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล เช่น รู้จักว่าสุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้
๓. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตนว่า เราว่าโดยชาติ ตระกูล ยศ ศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้และคุณธรรมเพียงเท่านี้ ๆ แล้วประพฤติตนให้สมควรแก่ที่เป็นอยู่อย่างไร
๔. มัตตัญญุตาความเป็นผู้รู้ประมาณ ในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิตแต่โดยทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอควร

๕. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควร ในอันประกอบกิจนั้น ๆ
๖. ปริสัญญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน และกริยาที่จะต้องประพฤติต่อประชุมชนนั้นๆ ว่า หมู่นี้เมื่อเข้าไปหาจะต้องทำกริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ เป็นต้น

๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคลว่า ผู้นี้เป็นคนดีควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น


สัปปุริสธรรมอีก ๗ อย่าง

๑. สัตบุรุษประกอบด้วยธรรม ๗ อย่าง คือ มีศัรทธา มีความละอายต่อบาป มีความกลัวต่อบาป เป็นคนได้ยินได้ฟังมาก เป็นคนมีความเพียร เป็นคนมีสติมั่นคง เป็นคนมีปัญญา
๒. จะปรึกษาสิ่งใดกับใคร ๆ ก็ไม่ปรึกษาเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๓. จะคิดสิ่งใดก็ไม่คิดเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๔. จะพูดสิ่งใดก็ไม่พูดเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๕. จะทำสิ่งใดก็ไม่ทำเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๖. มีความเห็นชอบ มีเห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น
๗. ให้ทานโดยเคารพ คือเอื้อเฟื้อแก่ของที่ตัวให้ และผู้รับทานนั้นไม่ทำอาการดุจทิ้งเสีย

ที่มาเว็บพลังจิต http://board.palungjit.com/showthread.php?t=167292

สัปปุริสธรรม ๘


สัปปุริสธรรม ๘ ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ, คุณสมบัติของคนดี

๑. สัทธัมมสมันนาคโต ประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการ คือ

          ก. มีศรัทธา

            ข. มีหิริ

  ค. มีโอตตัปปะ

  ง. เป็นพหูสูต

  จ. มีความเพียรอันปรารภแล้ว

  ฉ. มีสติมั่นคง

  ช. มีปัญญา

๒. สัปปุริสภัตตี ภักดีสัตบุรุษ คือ คบหาสมณพราหมณ์ ท่านผู้ประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการข้างต้น เป็นมิตรสหาย

๓. สัปปริสจินตี  คิดอย่างสัตบุรุษ คือ จะคิดสิ่งใด ก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น

๔. สัปปุริสมันตี ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ คือ จะปรึกษาการใด ก็ไม่ปรึกษาเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น

๕. สัปปุริสวาโจ พูดอย่างสัตบุรุษ คือ พูดแต่คำที่ถูกต้องตามวจีสุจริต ๔

๖. สัปปุริสกัมมันโต ทำอย่างสัตบุรุษ คือ ทำการที่ถูกต้องตามกายสุจริต ๔

๗. สัปปุริสทิฏฐิ มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ คือ มีสัมมาทิฏฐิ เช่นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น

๘. สัปปุริสทานัง เทติ ให้ทานอย่างสัตบุรุษ คือ ให้ตามหลักสัปปุริสทาน เช่น ให้โดยเอื้อเฟื้อทั้งแต่ของที่ตัวให้ทั้งแก่ผู้รับทาน ให้ของบริสุทธิ์ ให้โดยเข้าใจถึงผลที่จะมีตามมา เป็นต้น

บางทีเรียกว่า สัปปุริสธรรม ๗ เพราะนับเฉพาะสัทธรรม ๗ ในข้อ ๑

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประโยชน์ของการหมุนงาน : by เอกกมลเอี่ยมศรี


บทความมีประโยฃน์ ขอเก็บในบล๊อกไว้ช่วยกันอ่านนะครับ
ประโยชน์ของการหมุนงาน : Benefit of Job Rotation
Posted by เอกกมลเอี่ยมศรี , ผู้อ่าน : 26 , 02:54:19 น.  
หมวด : เศรษฐกิจ


สวัสดี ครับ

วันนี้อยากจะคุยกันเรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กรอีกสักครั้ง เพราะหลายท่านอยากให้เขียนเรื่องนี้เยอะหน่อย เพราะจะเกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก และส่งเสริมให้องค์กรพัฒนาขึ้นกว่าเดิม เราก็เลยอาสาจะดำเนินการตามที่ขอครับ

การหมุเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่การทำงาน (Job Rotation) เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพมากตัวหนึ่งของการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลเลยครับ เพราะการที่องค์กรจะทราบว่าใครเก่งไม่เก่งในด้านใด จากการวิเคราะห์ Job Analysis รายบุคคลและตำแหน่งแล้วก็ตาม แต่ก็มีความจำเป็นจะต้องนำคนเก่งและไม่เก่ง หมุนเปลี่ยนงานกันไปในหลายหน้าที่ เพื่อให้เกิดทักษะขั้นสูง และนำคนเก่งๆ ไปพัฒนาจุดที่มีปัญหาหรือส่งเสริมจุดที่อ่อนแอให้มีความแข็งแกร่งขึ้น การที่องค์กรจะประสบความสำเร็จขั้นสูงเหนือกว่าคู่แข่งได้นั้นจำเป็นที่จะต้องมีจุดอ่อนน้อยกว่าคู่แข่ง ดังนั้น กลยุทธ์ของ HR เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการกำหนดขุนพล  แม่ทัพ นายกอง ที่เหมาะสมกับงานและสถานการณ์ ในโลกแห่งการแข่งขันในปัจจุบันนี้สามารถพิสูจน์ได้ว่า "การที่จะหาพนักงานเก่งๆ มาทดแทนกันในบางตำแหน่งนั้นหายากมาก" นอกจากนี้อาจจะต้องใช้งบประมาณที่สูงมากในการสร้างคนเก่งขึ้นมาสักคน หรือ หาคนที่เหมาะสมที่สุดและขยับพวกเขาให้มีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วยงานที่ยากขึ้น กระบวนการ Job Rotation จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการค้นหาคนเก่งที่เก่งจริงๆ หรือ เก่งหนือเก่ง (มาเหนือเมฆ)

กระบวนการวางแผนการทำงานที่ถูกต้องของการหมุนพนักงานไปยังตำแหน่งต่างๆ ในองค์กร จึงมีบทบาทที่สำคัญและเสริมสร้างตำแหน่งที่อ่อนแอให้ได้รับการปรับปรุง และช่วยให้การจัดการสภาพแวดล้อมที่เกิดจากการรวมกลุ่มของพนักงานบางกลุ่ม (ที่ไม่ดีต่อองค์กร) ถ้าจะแยกประโยชน์ของการหมุนเวียนพนักงานไปตามตำแหน่งต่างๆ ภายในองค์กรนั้น มีประโยชน์ดังนี้

ประโยชน์ของการหมุนงาน

จะช่วยให้ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลสามารถค้นพบความเก่งของพนักงานเพิ่มขึ้น : การหมุนพนักงานไปตำแหน่งต่างๆ ถูกออกแบบมาเพื่อแสดงให้พนักงานเข้าใจกระบวนการทำงานแบบทั่วทั้งองค์กร  และทำให้ผู้จัดการ HR ได้ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวพนักงานบางคน  เพราะการที่พวกเขาถูกย้ายไปยังหน่วยงานที่แตกต่างไปจากเดิม ทำให้พวกเขาจำเป็นจะต้องพัฒนาทักษะการเรียนรู้ เกี่ยวกับรูปแบบการทำงานที่เกิดขึ้นใหม่ และเข้าใจปัญหาของหน่วยงานใหม่ที่เข้าไปทำงาน รวมทั้งอาจจะสามารถเข้าไปเสนอแนะ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานในกระบวนการนั้นได้
จะช่วยให้ทราบความสนใจของบุคคลเหล่านั้น : บางครั้งพนักงานไม่ได้ตระหนักถึงความต้องการของตนอง จนกระทั้งจำเป็นจะต้องดำเนินการเองหรือจะต้องเข้าไปทำงานบางอย่างแบบเฉพาะเจาะจง  ถ้าการหมุนงานของพนักงานต้องเผชิญกับการทำงานที่แตกต่างกัน พวกเขาจะสามารถระบุสิ่งที่ดี สิ่งที่ควรปรับปรุง และการปรับตัวให้สนุกกับการทำงาน  หากพวกเขาได้รับโอกาส และมีการสำรวจความสนใจที่ถูกต้องเหมาะสม และมีการนำศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวพนักงานออกมาใช้
ระบุความรู้ทักษะและทัศนคติ : การหมุนงานของพนักงาน จะช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ทราบ และระบุ Knowledge, Skills and Attitudes : KSA (ความรู้ ทักษะ และทัศนคติ) ซึ่งสามารถกำหนดตัวผู้ที่ต้องการปรับปรุง หรือ ยกระดับทักษะของพวกเขาเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่ดีขึ้นกับองค์กร  ซึ่งจะไปเชื่อมต่อกับการวิเคราะห์ความต้องการด้านการฝึกอบรมและการพัฒนาพนักงานเพื่อให้พวกเขาสามารถผลิตผลงานที่ดีออกมาได้
กระตุ้นให้พนักงานจัดการกับความท้าทายใหม่ๆ : เมื่อพนักงานมีการสัมผัสกับงานที่มีความแตกต่าง หรือมอบหมายงานใหม่ที่พวกเขาต้องพยามทำให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีที่สุด  ในขณะเดียวกันก็จำเป็นจะต้องรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นของพวกเขาในลักษณะงานที่แตกต่างไปจากเดิม  เพราะความท้าทายจะทำให้พวกเขามีความพยามที่จะทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมในทุกขั้นตอน  นอกจากนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่าพวกเขามีความสามารถไม่น้อยกว่าคนอื่นๆ  สิ่งนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันในทางทีดีขึ้นภายในองค์กร  เพราะทุกคนอยากจะทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม ดีกว่าบุคคลอื่นๆ
ความพึงพอใจและลดอัตราการขัดแย้ง : การหมุนงานของพนักงานจะสร้างความแตกต่าง และการสร้างฟังก์ชั่นการทำงานที่เพิ่มระดับความพึงพอใจของพวกเขา เพราะการเปลี่ยนงานจะช่วยลดความเบื่อหน่ายในการทำงานเดียวเป็นเวลานานๆ  นอกจากนี้ยังลดอัตรการเสียดสีระหว่างพนักงานภายในแผนก หรือ องค์กร ที่อยู่ในตำแหน่งใดๆ นานเกินไป


ข้อพึงระวังจากการหมุนเวียนพนักงานที่ไม่เหมาะสม

การหมุนเวียนหน้าที่การทำงานของพนักงานต้องทำอย่างเหมาะสม :  ทีมงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลจำเป็นจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในภาระงานต่างๆ ของหน่วยงานภายในองค์กรอย่างถ่องแท้  เข้าใจคุณสมบัติของตำแหน่งงานนั้นๆ  และได้ทำการวิเคราะห์ค่างาน Job Analysis มาอย่างดีของพนักงานทุกคนในองค์กร  เพราะถ้า ทีมงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล ไม่เข้าใจข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นอย่างดี (ขอย้ำอย่างดี) จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาทันที และจะทำให้กระบวนการทำงานผิดพลาดได้ง่าย หรืออาจจะทำให้องค์กรสูญเสียตำแหน่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งได้
ฝ่ายงานบางอย่าง หรือ ตำแหน่งงานบางตำแหน่ง : จำเป็นจะต้องใช้พนักงานที่มีทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ และอื่นๆ ที่สะสมมาเป็นเวลานาน ทำให้ยากแก่การหาบุคคลอื่นๆ มาทดแทน ถ้าเป็นลักษณะนี้ (ห้ามหมุนเวียนพนักงานเด็ดขาด) แต่ให้ใช้วิธีการสร้างทายาทผู้สืบทอดตำแหน่ง อย่างน้อย 2 คน เพราะคุณไม่รู้ว่าพวกเขาเก่งแล้วจะลาออก หรือไม่
ทีมงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล จะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติของพนักงาน : การที่ทีมงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะทำแผน Job Rotation จำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจก่อนว่า พวกเขามีทัศนคติอย่างใด  สนใจเรื่องอะไร  ห้ามนำพวกหัวรุนแรง ไปรวมตัวกัน  หรือพวกที่ มาสาย บ่ายนอน  เย็นเมา มาทำงานในตำแหน่งที่สำคัญๆ หรือหน่วยงานที่มีความสำคัญๆ และจะต้องทำงานแบบหมุน 360 องศา (เด็ดขาด)
อย่าได้นำระบบอุปถัมภ์ มาใช้จนมากเกินไป : องค์กรทุกแห่งจะต้องมี เด็กนายฝากมา  หน่วยงานที่ใกล้ชิดลูกค้าหาเงินง่าย  หน่วยงานที่มีผลประโยชน์สูง ให้ส่งเด็กของฉันไปคุม หรือไปหาผลประโยชน์  หรือ น้องคนนี้กิ๊กฉัน ให้ทำงานสบายๆ เป็นคุณนายสวยตลอดเวลา  ก็ต้องพยามลดลงนิ๊ดหนึ่งนะครับ


สุดท้ายนี้ก็ขอเล่าเรื่องเบาๆ แบบไม่ต้องเครียดมากเพียงเท่านี้ก่อน แล้วเราจะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการ HR ให้ทราบเรื่อยๆ เพื่อจะได้เป็นแนวคิด หรือข้อเสนอแนะบางประการครับ และหวังเป็นอย่างสูงว่าจะเป็นประเโยชน์สำหรับทุกๆ ท่าน



ขอให้ทุกๆ ท่านโชคดี

เอกกมล  เอี่ยมศรี

ผู้เรียบเรียง

http://www.interfinn.com

http://eiamsri.wordpress.com


วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สงเคราะห์เพื่อนบ้าน khaosod


สงเคราะห์เพื่อนบ้าน

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com


คําว่า สงเคราะห์ หมายความว่า การช่วยเหลือกัน มี 2 อย่าง คือ



1.สงเคราะห์ด้วยอามิส



2.สงเคราะห์ด้วยธรรม



ประการที่ 1 การสงเคราะห์ด้วยอามิส ได้แก่ การช่วยเหลือด้วยอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค หรือทรัพย์สินเงินทองในเมื่อเพื่อนบ้านขัดสน อันเกิดแต่ข้าวยากหมากแพง บ้านถูกไฟไหม้ ประสบภัยน้ำท่วม หรือถูกโรคภัยเบียดเบียน ไม่สามารถทำการงานได้ ซึ่งบ่ายหน้ามาหา ไม่ทำนิ่งเฉยหรือดูถูกเหยียดหยาม แต่ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลตามฐานะ เพื่อให้เขาคลายทุกข์มีความสุขได้บ้าง



ประการที่ 2 การสงเคราะห์ด้วยธรรม ได้แก่ การแนะนำพร่ำสอนให้เขารู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ พยายามป้องกันมิให้เพื่อนบ้านประพฤติผิด เมื่อเพื่อนบ้านถลำตัวเข้าไปอยู่ในทางแห่งความผิดก็พยายามแก้ไข ถ้าสามารถจะทำได้ก็นำเขาออกจากทางแห่งความผิดนั้นเสีย เมื่อเพื่อนบ้านเดินอยู่ในทางที่เรียบร้อยคือถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ก็ยินดีส่งเสริมให้กำลังใจ



การสงเคราะห์ผู้อื่นก็เพื่อผูกใจของผู้ได้รับการช่วยเหลือให้คิดถึง นึกถึง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะไว้ให้ยึดธรรมะ 4 ข้อ คือ



ข้อที่ 1 ทาน ได้แก่ การอุดหนุนจุนเจือ สงเคราะห์ ช่วยเหลือด้วยทรัพย์หรือวัตถุสิ่งของ เช่น อาหาร เสื้อผ้า เป็นต้น บุคคลผู้มีอัธยาศัยกว้างขวาง ไม่คับแคบ สงเคราะห์อนุเคราะห์แก่ผู้ควรสงเคราะห์ มีใจประกอบด้วยเมตตาเช่นนี้ หรือผู้ที่เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ มีจิตใจเอื้อเฟื้อแก่มหาชน เช่น สร้างถนน ขุดคลอง ทำสะพาน เป็นสาธารณะแก่หมู่ชนเช่นนี้ ย่อมได้รับความรักเคารพนับถือ สมานไมตรีไว้ทุกชั้น ดังคำว่า ?ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้?



ข้อที่ 2 ปิยวาจา ได้แก่ การเจรจาวาจาที่ไพเราะอ่อนหวาน ย่อมเป็นที่พอใจของชนทุกชั้น เพราะเป็นคำพูดจับใจ ชวนให้ฟัง ให้เกิดอุตสาหะ พยายามทำการงานและสมานไมตรี แม้ผู้เป็นนายจ้าง ถ้าเป็นผู้รู้จักพูดเอาใจลูกน้องให้ทำการงานหนักๆ หรือยากลำบาก ก็ประสบความสำเร็จได้ด้วยความชื่นบานของเขาและสมความประสงค์ของตน ดังคำว่า ?เปล่งวาจางามยังประโยชน์ให้สำเร็จ?



ข้อที่ 3 อัตถจริยา ได้แก่ ประพฤติสิ่งเป็นประโยชน์แก่กัน งดเว้นสิ่งที่เป็นโทษ อันทำให้เกิดความเสียหายแก่กัน ไม่ทำเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผู้อื่นต้องเสียหาย เช่น ในเรื่องของชื่อเสียง หรือทรัพย์สมบัติ ผู้ที่ไม่ทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนเสียหาย จะโดยทางตรงหรือทางอ้อมเช่นนี้ ย่อมได้รับความเคารพนับถือจากผู้อื่น เป็นเหตุให้ผู้อื่นเห็นอกเห็นใจ



ข้อที่ 4 สมานัตตตา ได้แก่ ความเป็นผู้ประพฤติตนเสมอต้นเสมอปลาย เคยเคารพนับถือกันมาอย่างใดก็ดำรงตนให้เป็นปกติอย่างนั้น เคยช่วยเหลือกันมาอย่างใดก็ช่วยเหลือกันอย่างนั้น ไม่ดูถูก เหยียดหยามในเมื่อฝ่ายหนึ่งต่ำต้อยกว่าตน ไม่ว่าจะด้วยตำแหน่งหน้าที่ หรือทรัพย์สินเงินทอง



ผู้มีคุณธรรม 4 ประการดังกล่าวมานี้ ชื่อว่าสามารถผูกใจผู้อื่นไว้ได้และได้อานิสงส์ดังต่อไปนี้



1.มีเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจผู้อื่น ไว้ได้

วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ความสุขในการทำงาน khaosod


ความสุขในการทำงาน

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com


งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข หน้าที่การงานเป็นสิ่งสำคัญ ที่เกื้อกูลต่อชีวิตของมนุษย์ทุกคน หน้าที่การงานของแต่ละคนแสดงถึงความรับผิดชอบ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเจริญรุ่งเรืองพร้อม มีความสุข



ความสุขในการทำงาน จะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบหลายประการ เช่น ทำงานตรงกับความรู้ความสามารถของตน ทำงานที่ไม่ผิดศีลธรรมและผิดกฎหมายบ้านเมือง ทำงานโดยมีหลักธรรมประจำใจ



ความมั่นใจ คนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีพื้นฐานจากความมั่นใจในความดีที่ทำ ซึ่งเป็นแรงเสริมสำคัญให้กล้าตัดสินใจ ไม่ท้อถอยเบื่อหน่ายและหวั่นไหวต่อปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น



ปัญหาที่คู่กัน เช่น ปัญหาเจ้านายกับลูกน้อง ปัญหาเพื่อนร่วมงาน ปัญหาคนล้นงาน หรืองานล้นคน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของผู้ทำงานและผู้รับผิดชอบโดยตรง



มีระเบียบวินัย นอกจากความเก่ง กล้า สามารถในการทำงานแล้ว ความมีระเบียบวินัยในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญ ควรจัดระบบตนเองให้ดี เรียงลำดับความสำคัญของงาน งานใดควรเสร็จก่อนหรือหลัง



ไม่เอาเปรียบองค์กรหรือที่ทำงาน เช่น ตรงต่อเวลา มีพฤติกรรม ที่ดีกับบุคลากรที่ร่วมงานทุกระดับ จึงสามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ อุปกรณ์เสริมที่แบ่งเบาภาระ ต้องจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อมีความต้องการก็หาง่าย หายก็รู้ ดูก็งามตา



ด้วยใจรัก เมื่อใจรักก็มักทุ่มเททั้งกายใจ ยอมปรับตัวปรับใจให้เข้ากับงาน งานที่ยากกลายเป็นงานที่ง่าย ต้องการทำงานนั้นๆ อยู่เสมอ ตื่นตัวและแสวงหาความรู้เพื่อเสริมวิสัยทัศน์ในการพัฒนางานที่ทำอยู่ให้ดียิ่งขึ้น



ห่วงใยองค์กรหรือที่ทำงานตลอดเวลา คิดว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่ง ในความรับผิดชอบ ไม่นิ่งดูดายเมื่อมีเหตุทำให้เกิดความเสียหาย เมื่อองค์กรหรือที่ทำงานมีความมั่นคงยั่งยืนมากเพียงไร ตนเองจะมีความเจริญก้าวหน้าเช่นเดียวกัน กล่าวได้ว่างานได้ผล คนก็เป็นสุข



ความตั้งใจ มีความขยันหมั่นเพียร รีบทำงานที่ตั้งใจไว้ ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายโดยไม่รอช้า ทำงานให้เสร็จทันเวลาที่กำหนดโดย ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง



ไม่ปล่อยให้งานคั่งค้าง ไม่มีข้ออ้างว่าหนาวเกินไป ร้อนเกินไป หิวกระหาย ยังเช้าอยู่ หรือสายแล้ว อุทิศตัว อุทิศใจทำงานด้วยความมุ่งมั่นฝันใฝ่ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย ทำให้มีความสุขในการทำงาน



ผู้ทำงานด้วยความมั่นใจ มีระเบียบวินัย ด้วยใจรัก และตั้งใจจริง เมื่องานสำเร็จแล้วย่อมได้ชื่อเสียง เกียรติยศ ทรัพย์สมบัติ และได้รับการยกย่องสรรเสริญ เป็นผลตอบแทน

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กตัญญู khaosod


กตัญญู

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


"ความกตัญญู" หมายถึง ผู้รู้จักคุณท่านผู้มีอุปการคุณ การรู้พระคุณท่านที่เคยมีอุปการคุณ หรือที่เคยมีบุญคุณต่อเราก่อนแล้วตอบแทนคุณท่าน ชื่อว่า "กตัญญูกตเวที" ส่วนท่านผู้เคยให้ความอุปการะหรือมีบุญคุณนั้น เรียกว่า "บุพการี"

ความกตัญญูนั้น จัดเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นอุดมมงคล เป็นเครื่องหมายของคนดี มีคุณธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะให้ผลเป็นความเจริญและสันติสุขแก่ชีวิตแต่ฝ่ายเดียว

คุณธรรมข้อ "กตัญญูกตเวทิตาธรรม" นี้ จึงเป็นคุณธรรม หรือข้อปฏิบัติที่คู่กับบุญคุณ หรืออุปการคุณที่ท่านได้ทำอุปการคุณให้แล้วก่อน ไม่ว่าท่านผู้กระทำอุปการคุณนั้น จะมีความประพฤติปฏิบัติเช่นไรก็ตาม ก็ชื่อว่า "บุพการี" ของผู้ได้รับอุปการคุณนั้น

ผู้เคยได้รับอุปการคุณนั้นพึงรู้คุณ พึงระลึกถึงและตอบแทนพระคุณท่านผู้มีอุปการคุณนั้น ตามกำลังและโอกาสจะอำนวยให้ ก็จะเป็นอุดมมงคลแก่ตน ให้ถึงความเจริญและสันติสุขในชีวิตได้เสมอ ดังเช่น พ่อแม่ เป็น บุพการี คือ ผู้มีพระคุณอย่างยิ่งใหญ่ของลูกๆ ด้วยว่า ท่านเป็นผู้ให้กำเนิด ทะนุถนอมกล่อมเลี้ยงลูกด้วยความรัก ด้วยเมตตาและกรุณาธรรม มีแต่ความปรารถนาจะให้ลูกรักมีความสุขและความเจริญ ลูกมีทุกข์ก็ปรารถนาจะให้ลูกพ้นทุกข์ พ่อแม่จึงชื่อว่าเป็น "พรหม" คือ ผู้ประเสริฐของลูก

ลูกๆ ทั้งหลาย เมื่อรู้และระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่แล้ว พึงปฏิบัติดีตอบแทนพระคุณท่าน โดยประการต่างๆ เป็นต้นว่า

1. ช่วยทำกิจของท่านด้วยความเต็มใจ ไม่บิดพลิ้ว หรือคอยหลีกเลี่ยง

2. ดำรงวงศ์สกุลของท่านไว้ให้ดี ไม่ทำให้เสื่อมเสีย

3. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาทของท่าน

4. ปรนนิบัติและรักษาน้ำใจท่าน ไม่ทำให้ท่านต้องเสียน้ำตา เสียน้ำใจ เพราะความประพฤติไม่ดีของตน

5. ท่านเลี้ยงดูเรามาแล้ว เมื่อเรามีกำลังพอก็เลี้ยงดูท่านตอบ

6. ท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศให้

นอกจากลูกๆ จะพึงรู้คุณและตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ดังกล่าวแล้ว สัทธิวิหาริกหรืออันเตวาสิก ก็พึงรู้คุณและตอบแทนพระคุณของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และศิษยานุศิษย์ ก็พึงรู้คุณและตอบแทนคุณครู อาจารย์ และแม้ชนทั้งหลาย ก็พึงรู้คุณและหาโอกาสตอบแทนพระคุณผู้เคยมีอุปการคุณแก่ตน ด้วยเช่นกัน

ผู้ทรงคุณธรรมข้อ "กตัญญูกตเวทิตาธรรม" นั้น ย่อมจะเป็นผู้เจริญในทุกที่ เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสมงคลข้อ "ความกตัญญู" นี้ว่า เป็น "อุดมมงคล" คือ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความเจริญและสันติสุขในชีวิตได้เป็นอย่างดีที่สุด ข้อหนึ่ง

วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กฐินบุญพิเศษ khaosod


กฐินบุญพิเศษ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


กฐินเป็นบุญพิเศษ เป็นการถวายทานตามกาล เป็นสังฆทานคือการถวายทานเพื่อพระสงฆ์

การถวายทานที่บุคคลมีศรัทธามั่นคงแล้วถวายในท่ามกลางสงฆ์ สามารถทำได้เฉพาะบุคคลที่น้อมใจเลื่อมใสในสงฆ์เท่านั้น แต่การน้อมใจให้เลื่อมใสในสงฆ์เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะผู้ที่จัดเตรียมไทยธรรมคิดว่า เราจะถวายเพื่อสงฆ์ จึงเข้าไปวัดแล้วนิมนต์ว่า ข้าพเจ้าขอนิมนต์พระรูปใดรูปหนึ่งเพื่อมารับสังฆทาน

เมื่อมีสามเณรรูปหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนจากสงฆ์มารับสังฆทาน ไม่แสดงอาการน้อยใจ หรือตัดพ้อต่อว่าอย่างไม่พอใจ แต่ตั้งใจถวายทานเพื่อสงฆ์ ด้วยความศรัทธาเลื่อมใส



เมื่อมีพระเถระรูปหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนจากสงฆ์มารับสังฆทาน ไม่แสดงอาการชื่นชมยินดี ตั้งใจแน่วแน่ว่าเราถวายทานเพื่อสงฆ์ การปฏิบัติเช่นนี้ เป็นการน้อมใจถวายทานเพื่อสงฆ์

หลักการให้ทานของผู้ฉลาด 5 ประการคือ



1.ให้ทานด้วยศรัทธา คือความเชื่ออย่างมีเหตุผล เชื่อในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ผลของการให้ทานด้วยศรัทธานี้ จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ และมีรูปร่างงดงามสมส่วน น่ารัก ชวนมอง ผิวพรรณผ่องใสงามยิ่งนัก



2.ให้ทานด้วยความเคารพ ด้วยกาย วาจา และใจ ผลของการให้ทานด้วยความเคารพนี้ จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ มีบุตร ภรรยา สามีทาสคนใช้หรือบริวาร เป็นคนเชื่อฟังคำสั่งสอน ว่านอนสอนง่าย ไม่ขัดใจในการงานที่ดีทุกอย่าง



3.ให้ทานตามกาล คือ ให้ทานตามที่กำหนดเวลาเช่นการทอดกฐิน หรือให้ทานในฤดูกาลแห่งพืชผักผลไม้ ผลของการให้ตามกาลนี้ จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ และมีความเจริญรุ่งเรืองไปตามวัย



4.ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ ไม่ยึดติดหรือเสียดายหลังจากให้แล้ว ผลของการให้ด้วยจิตอนุเคราะห์นี้ จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ



5.ให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น เมื่อให้ทานแล้วตนเองไม่เดือดร้อน และไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนเช่นกัน ผลของการให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่นนี้ จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ และสมบัติทุกอย่างที่มีอยู่ จะไม่เสียหายวิบัติไปด้วยภัย คือ ไฟไหม้ น้ำท่วม โจรปล้น ถูกยึดทรัพย์เข้าพระคลัง หรือภัยจากญาติที่เป็นศัตรูกันแย่งชิงไป



การทอดกฐินนี้ ผู้เข้าใจจึงจะปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง จะได้รับผลคือสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ และบริวารสมบัติ พระพุทธองค์ตรัสอนุโมทนาว่า อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ในโลกนี้บางคนคิดว่า เราควรให้ทานเฉพาะตนเท่านั้น ไม่มีประโยชน์ในการชักชวนผู้อื่น แล้วให้ทานเฉพาะตน ไม่ชักชวนผู้อื่น เขาเกิดมาจะมีโภคสมบัติเท่านั้น แต่ไม่มีบริวารสมบัติ บางคนชักชวนผู้อื่น ตนเองไม่เคยให้ทาน เขาเกิดมาจะมีบริวารสมบัติเท่านั้น แต่ไม่มีโภคสมบัติ บางคนไม่เคยให้ทาน และไม่เคยชักชวนผู้อื่น เขาเกิดมาไม่มีโภคสมบัติและไม่มีบริวารสมบัติ บางคนให้ทานเองด้วย ชักชวนผู้อื่นด้วย เขาเกิดมาจะมีโภคสมบัติและบริวารสมบัติ



พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะการทอดกฐินมีอานิสงส์มาก ทำให้พระสงฆ์ได้ปฏิบัติตามพระวินัยอย่างถูกต้อง และได้ถวายทานเพื่อสงฆ์ ถวายทานตามกาล นับเป็นมงคลสำหรับชีวิต

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กฐินทาน khaosod


กฐินทาน

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


การถวายผ้ากฐิน พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พุทธศาสนิกชนถวายแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาครบ 3 เดือนเท่านั้น มีระยะเวลาที่จะกระทำทานชนิดนี้ได้เพียง 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ในปี พ.ศ. 2555 นี้ เริ่มวันที่ 31 ตุลาคม ถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน

การทอดกฐิน เป็นประเพณีสำหรับชาวพุทธที่มีศรัทธาเลื่อมใส ประสงค์จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และส่งเสริมให้พระภิกษุได้ปฏิบัติตามพระวินัย ซึ่งถือปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลถึงปัจจุบัน เป็นการเพิ่มพูนบุญกุศล นำความสุขมาให้

กฐิน มี 2 ประเภท คือ

1. มหากฐิน การทอดกฐินที่มีการจัดเตรียมกันระยะเวลานานเป็นเดือนจนถึงวันทอด เพื่อเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญ เพื่อพัฒนาถาวรวัตถุภายในวัดตามความจำเป็นและให้เจริญรุ่งเรือง

2. จุลกฐิน การทอดกฐินที่มีเวลาเร่งด่วน เหลือเวลาเพียงวันเดียวจะหมดเขตกฐินแล้ว ต้องรีบจัดของที่เป็นอุปกรณ์องค์กฐินและบริวารกฐินให้ทันเวลา โดยส่วนมากจุลกฐินจะมีสำหรับวัดที่มีกฐินตกค้างซึ่งไม่มีใครมาทอด สาธุชนเกรงว่าพระภิกษุที่อยู่จำพรรษาไม่ได้ปฏิบัติตามพระวินัย จึงรีบจัดการทอดกฐินในวันสุดท้าย

การทอดกฐิน แบ่งตามประเภทของวัด คือ พระอารามหลวง (วัดหลวง) ผ้าพระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์น้อมนำไปพระราชทาน เรียกว่า กฐินหลวง

นอกจากกฐินหลวงโดยตรงแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่วนราชการ องค์กรเอกชน น้อมนำไปถวายตามพระอารามหลวงต่างๆ เรียกว่า กฐินพระราชทาน

วัดราษฎร์ทั่วไป จะมีข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน หรือผู้มีจิตศรัทธานำไปถวายตามวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ บ้าง ต่างจังหวัดบ้าง เรียกว่า กฐินราษฎร์ หรือกฐินสามัคคี

การทอดกฐินเป็นบุญพิเศษ เพราะเป็นสังฆทาน มิได้เฉพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เพราะเป็นการถวายทานตามกาล มีกำหนดเวลาถวายที่จำกัด และเพราะมีอานิสงส์ทั้งสองฝ่าย คือพระภิกษุผู้รับกฐิน และอานิสงส์สำหรับผู้ถวาย

พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบ 3 เดือนรับกฐินได้ เมื่อรับแล้วต้องสามัคคีกันปฏิบัติตามพระวินัยให้ถูกต้องจะได้รับอานิสงส์ 5 ประการ คือ

1. เที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลา คือ รับนิมนต์ไว้ในที่แห่งหนึ่งสามารถไปที่อื่นได้อีกโดยมิต้องบอกลาภิกษุอื่น

2. เที่ยวไปโดยไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบ

3. ฉันคณโภชน์ได้ คือ ทายกทายิกานิมนต์รับอาหาร ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปรับแล้วนำมาฉันรวมกันได้

4. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ คือ ภิกษุสามารถเก็บผ้าจีวรนอกจากผ้าไตรได้

5. จีวรเกิดขึ้นในวัดนั้น เธอมีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง

พระภิกษุผู้ได้รับกฐินแล้วจะได้รับอานิสงส์นี้ เป็นเวลา 4 เดือน

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

มัจฉริยะ khaosod


มัจฉริยะ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด


คําว่า มัจฉริยะ แปลว่า ความตระหนี่ หมายความว่า หวงแหน เหนียวแน่น ท่านจำแนกไว้ 5 ประเภท คือ

1. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ ได้แก่ ความหวงแหนที่อยู่อาศัยอันเป็นของตน ไม่พอใจให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นคนต่างด้าว ต่างชาติ ต่างนิกาย ต่างหมู่ ต่างคณะ ต่างพรรค ต่างพวก ต่างประเพณี กับฝ่ายตน เข้ามาอยู่อาศัยปะปนแทรกแซง จัดเป็นอาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่

2. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่สกุล ได้แก่ ความหวงแหนสกุลของตนเอง ไม่มีความประสงค์ คือไม่ต้องการให้สกุลอื่นภายนอกมาเกี่ยวดองผูกพันด้วย จัดเป็นกุลมัจฉริยะ ในฝ่ายคฤหัสถ์

อนึ่ง ความหวงแหนสกุลอุปัฏฐากของภิกษุ ไม่พอใจ คือไม่ยินดีให้บำรุงอุปถัมภ์ภิกษุอื่นๆ คอยกีดกันตัดรอนเสียโดยประการต่างๆ จัดเป็นกุลมัจฉริยะในฝ่ายบรรพชิต

3. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ ได้แก่ ความหวงแหน เหนียวแน่น ทรัพย์สมบัติพัสดุสิ่งของต่างๆ ซึ่งเป็นของตน ไม่ต้องการจะแบ่งปันให้บุคคลอื่น มีลาภมาก ก็มีความโลภมาก คำว่า พอละ หามีแก่คนตระหนี่ไม่ มีทรัพย์สมบัติเท่าใด ก็เก็บไว้เป็นทรัพย์สมบัติส่วนตนเท่านั้น จัดเป็นลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ

4. วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ ได้แก่ หวงแหนคุณงามความดี ไม่มีความปรารถนาให้บุคคลอื่นทัดเทียมตน หรือเสมอกับตนในคุณงามความดีนั้นๆ หมายความว่า ไม่ต้องการให้ผู้อื่นสู้ได้นั่นเอง จัดเป็น วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ

อีกอย่างหนึ่ง คำว่า วัณณะ แปลว่า สีกาย ได้แก่ ความหวงสวย หวงงาม อันเป็นกิเลสของสตรีสาว ไม่มีความปรารถนาให้หญิงสาวอื่นๆ สวยงามไปกว่าตน ก็นับเข้าในวัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะเหมือนกัน

5. ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรมะ ได้แก่ ความหวงแหนธรรมะ หวงศิลปวิทยาการต่างที่ตนเคยศึกษาเล่าเรียนมา ไม่มีความปรารถนาจะแสดง จะบอก จะกล่าวสั่งสอนให้แก่บุคคลอื่นๆ ด้วยเกรงว่า เขาจะรู้ทัดเทียมตน เพราะต้องการรู้เฉพาะตัวแต่ผู้เดียวเท่านั้น จัดเป็นธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรมะ



พระเทพคุณาภรณ์

(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

www.watdevaraj.com

วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ธรรมขันธ์ khaosod


ธรรมขันธ์

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร watdevaraj@hotmail.com โทร. 0-2281-2430


คําว่า ธรรมขันธ์ แปลว่า กองธรรม หรือ หมวดธรรม ท่านจำแนกไว้ 5 ประการคือ

1. สีลขันธ์ หมวดศีล ได้แก่ การที่บุคคลทำกายวาจาให้เรียบ ร้อย ปราศจากวีติกมโทษ คือ โทษที่จะก้าวล่วงได้ทางกาย และทางวาจา เพื่อกำจัดเสียซึ่งความโหดร้ายหยาบคายทางกายและทางวาจา ปิดทางที่ตนเองจะทำชั่วอย่างหยาบเสียได้ ทำให้เป็นคนสะอาดกาย สะอาดวาจา ไม่มีมลทินโทษ ตัดเวรภัยเสียได้ และทำให้เป็นคนมีระเบียบวินัย พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าในการดำเนินชีวิตต่อไป

2. สมาธิขันธ์ หมวดสมาธิ ได้แก่ บุคคลผู้รักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ย่อมไม่หวาดหวั่นครั่นคร้าม สะทกสะท้านต่อภัยอันตรายต่างๆ มีจิตดิ่งแน่วแน่เป็นหนึ่งเพื่อกำจัดปริยุฏฐานกิเลส คือ กิเลสภายนอกที่กลุ้มรุมจิตอยู่ มีความตั้งใจมั่นไม่ปล่อยใจให้ตกอยู่ในอำนาจของนิวรณ์ทั้ง 5 คือ

กามฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจ มี รูป เป็นต้น

พยาบาท ความคิดปองร้ายผู้อื่น

ถีนมิทธะ ความที่จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม

อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

วิจิกิจฉา ความลังเลไม่ตกลงใจได้

ซึ่งทั้ง 5 นี้ ล้วนเป็นสิ่งที่บั่นทอนกำลังใจให้หย่อนสมรรถภาพ ไม่สามารถรวมกำลังใจให้เด็ดเดี่ยวได้ เพราะเหตุนั้น ต้องละอารมณ์เช่นนั้นให้ได้ ด้วยอำนาจสมาธิ คือความตั้งใจมั่น

3. ปัญญาขันธ์ หมวดปัญญา ได้แก่ เมื่อบุคคลกำจัดกิเลสภายนอกที่กลุ้มรุมจิตได้แล้วพิจารณาไปก็จะเกิดปัญญากำจัดอนุสัย คือกิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานให้หมดสิ้นไป และปัญญานั้นนั่นแหละ ช่วยให้มองเห็นทางถูกทางผิดได้ด้วย

4. วิมุตติขันธ์ หมวดวิมุตติ ได้แก่ ความทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสาสวะ คือ อุดหนุนจิตให้พ้นจากกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง หลุดพ้นได้โดยประการทั้งปวง

5. วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ หมวดวิมุตติญาณทัสสนะ ได้แก่ เมื่อบุคคลรู้เห็นว่า จิตหลุดพ้นแล้ว สืบเนื่องมาจากวิมุตติ ชื่อว่า ญาณทัสสนะ

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กามคุณ khaosod


กามคุณ

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


คําว่า กามคุณ แปลว่า อารมณ์เป็นเหตุใคร่ ได้แก่ อารมณ์อันเป็นที่น่ารักใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ น่าพึงใจ ซึ่งรวมเรียกว่าว่า กามคุณ ท่านจำแนกไว้ 5 ประการ คือ

1. รูป ได้แก่ สิ่งที่เป็นวิสัย อันตาจะพึงแลเห็นได้ จะเป็นรูปคนก็ตาม รูปสัตว์ต่างๆ ก็ตาม รูปภาพ รูปปั้น รูปแกะสลัก หรือรูปพัสดุต่างๆ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เมื่อตาได้ประสบ มองเห็น แลเห็น เหลียวเห็น พบเห็นเข้าแล้ว ก็ทำใจให้เกิดความรู้สึกรักใคร่ ยินดี พอใจ อยากเป็นเจ้าของ อยากได้ อยากมี อยากอยู่ใกล้ชิด และที่เป็นเจ้าของอยู่แล้ว ที่มีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องการจะให้พลัดพรากจากไป ห่วงอาลัย หวงแหน ในรูปนั้นๆ เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นกามคุณ ประการหนึ่ง

2. เสียง ได้แก่ สิ่งที่เป็นวิสัยอันหูจะพึงได้ยินได้ฟัง จะเป็นเสียงคนก็ตาม เสียงสัตว์ก็ตาม หรือเสียงวัตถุชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม เมื่อหูได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ทำใจให้เพลิดเพลินติดใจ พัวพัน หมกมุ่น อยู่ในเสียงนั้นๆ และไม่อยากให้พลัดพรากจากไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นกามคุณประการหนึ่ง

3. กลิ่น ได้แก่ สิ่งที่เป็นวิสัยอันจมูกจะพึงสูดดมได้ จะเป็น กลิ่นหอมของดอกไม้นานาพันธุ์ก็ตาม หรือกลิ่นหอมจากเครื่องปรุงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เมื่อจมูกได้สูดดมกลิ่นแล้วก็เป็นที่น่ารักใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ น่าพึงใจ น่าชอบใจ ทำใจให้เพลิดเพลิน ติดใจพัวพัน หมกมุ่นในกลิ่นนั้นๆ และไม่อยากให้พลัดพรากจากไปเช่นกัน เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นกามคุณประการหนึ่ง

4. รส ได้แก่ สิ่งที่เป็นวิสัยอันจะพึงลิ้มรสได้ จะเป็นรสอาหารก็ตาม รสสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตาม เมื่อลิ้นได้ลิ้มเข้าแล้ว ก็เป็นที่น่าติดใจ น่าปรารถนา น่าพึงใจ น่าชอบใจ ก็ทำใจให้ติดข้อง พัวพัน หมกมุ่นอยู่ในรสนั้นๆ และไม่อยากพลัดพรากจากไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นกามคุณประการหนึ่ง

5. โผฏฐัพพะ ได้แก่ สิ่งที่เป็นวิสัย อันกายจะพึงถูกต้องสัมผัสได้ จะเป็นคนก็ตาม เป็นสัตว์ก็ตาม หรือพัสดุชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม เมื่อกายได้ถูกต้องสัมผัสเข้าแล้ว ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน ยินดี พอใจ ติดใจ หมกมุ่นอยู่ในสิ่งเหล่านั้น และไม่อยากให้พลัดพรากจากไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นกามคุณประการหนึ่ง

กามคุณทั้ง 5 ประการดังกล่าวมานี้ รวมเรียกว่า วัตถุกาม ซึ่งเป็นที่เกิดแห่งกิเลสกาม มีราคะ โลภะ เป็นข้อต้น มีอิสสา จริต เป็นข้อสุด เมื่อบุคคลใดปล่อยใจให้ลุ่มหลงติดอยู่ หมกมุ่นอยู่ในสิ่งเหล่านั้น จนเกินพอดี บุคคลนั้น ย่อมได้รับทุกข์เดือดร้อนมีประการต่างๆ ในกาลภายหลัง

วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คนมีทรัพย์ khaosod


คนมีทรัพย์

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ชื่อว่าทรัพย์ ใครก็อยากได้ ใครก็ปรารถนา เพราะทรัพย์นั้นจะกล่าวไปก็คล้ายกับแก้วสารพัดนึก สามารถจะดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างให้กับเจ้าของได้ คนมีทรัพย์จะได้รับการยกย่องเชิดชู



คนมีทรัพย์ ใครๆ ก็นับเป็นญาติ ไปไหนมาไหนทุกคนก็เกรงใจให้เกียรติ ทุกคนจึงแสวงหาแต่ทรัพย์กัน วันๆ หนึ่งคนเราจะสาละวนยุ่งอยู่กับหน้าที่การงาน ก็เพื่อทรัพย์ทั้งนั้น คนไม่ขยันก็ไม่สามารถจะหาทรัพย์ได้



คนเช่นไรได้ชื่อว่าเป็นคนขยัน คนขยันมีลักษณะ คือ จะก้มหน้าก้มตาทำงานโดยไม่เกี่ยงว่าอากาศมันหนาวเกินไป อากาศมันร้อนเกินไป ทำงานได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสภาพดินฟ้าอากาศอย่างไร ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง



คนขยันเท่านั้นจึงจะหาทรัพย์ได้ คนขี้เกียจไม่ต้องพูดถึง ความสำคัญของการที่ได้ทรัพย์มาแล้วจะทำอย่างไร จึงจะรักษาทรัพย์นั้นไว้ได้ ถ้าหากหามาได้แล้วเก็บไว้ไม่อยู่มันก็ไม่มีประโยชน์



ประโยชน์ของการมีทรัพย์อยู่ที่การรู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้นั้นไว้ให้ได้ พระพุทธเจ้าได้แนะวิธีรักษาทรัพย์ที่หามาได้ว่า "ผู้ขยันในหน้าที่การงาน ไม่ประมาท เข้าใจจัดการเลี้ยงชีวิตพอสมควร จึงรักษาทรัพย์ที่หามาได้"



ทำอย่างไรจึงได้ชื่อว่า ประมาทในทรัพย์ คนบางคนแสวงหาทรัพย์มาได้โดยง่าย เมื่อได้มาแล้วก็ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบเอาไว้ใช้ในยามคับขันจำเป็น ด้วยคิดว่าเงินทองจะเอาเท่าไรก็ได้ บางรายใช้จ่ายเกินตัว อย่างนี้จะมีเงินที่ไหนไปเก็บ การที่จะรักษาทรัพย์ไว้ได้อยู่ที่การรู้จักประหยัด โดยนิสัยเราเป็นคนใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไปตามกระแส ไม่ค่อยรู้จักประหยัด อะไรใหม่ๆ ก็พากันนิยมชมชอบ แม้ราคาจะแพง ก็พยายามแข่งกันมีให้ได้



เข้าใจจัดการเลี้ยงชีวิตพอสมควร หมายความว่า ให้จับจ่ายใช้สอยเลี้ยงชีวิตให้พอเหมาะพอควรแก่ทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองจนเกินไป และก็ไม่ให้ฟุ่มเฟือยจนเกินไป บางคนทำมาหาได้ แทนที่จะนำทรัพย์นั้นมาใช้จ่ายให้มีความสุขบ้าง ก็เก็บไว้หมด แต่ตัวเองกลับอดอยาก อย่างนี้ก็ไม่ถูก หรือฟุ่มเฟือยเกินไป พอทำมาหาได้ก็กินแต่อาหารดีๆ แพงๆ ไม่พอเหมาะพอควร ต้องควบคุมให้อยู่ในความพอเหมาะพอควรแก่ทรัพย์ที่หามาได้



การที่จะใช้จ่ายทรัพย์ที่หามาได้นั้น จะใช้จ่ายอย่างไรจึงจะถูกต้อง จึงจะดี ก็ต้องใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ประโยชน์ที่เกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ที่มีอยู่ ท่านกล่าวไว้ 5 อย่าง คือ



1. ใช้เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงพ่อแม่ เลี้ยงบุตรภรรยาให้เป็นสุข

2. ใช้เลี้ยงเพื่อนให้เป็นสุข

3. ใช้บำบัดอันตรายที่เกิดจากเหตุต่างๆ

4. ใช้สงเคราะห์ญาติ ต้อนรับแขก ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย ทำบุญอุทิศให้เทวดา เสียภาษีอากร

5. บริจาคทานแก่สมณะผู้ประพฤติชอบ



เมื่อทุกคนนำเอาหลักธรรมดังกล่าวนี้ไปปฏิบัติแล้วก็จะทำให้ครอบครัว มีหลักฐานมั่นคง อยู่กันอย่างมีความสุข เมื่อครอบครัวมั่นคงเป็นสุขแล้ว ประเทศชาติก็จะมีหลักฐานมั่นคงไปด้วย

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ยศ khaosod


ยศ

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


"ยศย่อมเจริญยิ่งแก่บุคคลผู้มีความขยันหมั่นเพียร มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วจึงทำ มีความสำรวมระวัง มีความเป็นอยู่โดยธรรมและมีความไม่ประมาท"

ยศ เป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไป เป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์ในหน้าที่การงานของตน เป็นที่ยกย่องนับถือของบุคคลในสังคม ช่วยส่งเสริมให้ชีวิตสูงขึ้นกว่าพื้นฐานเดิมตามลำดับ จำแนกไว้ 3 ประการ ได้แก่

1. อิสริยยศ ยศ คือ ความเป็นใหญ่ ได้รับการยกย่องให้มียศศักดิ์ มีตำแหน่ง

2. ปริวารยศ ยศ คือ ความเป็นผู้มีบริวาร มีบริวารสำหรับช่วยเหลือ

3. เกียรติยศ ยศ คือ ความเป็นผู้มีชื่อเสียง มีคุณความดีแผ่ไปทั่วทุกทิศ

ยศ 3 ประการที่กล่าวมานี้ จะเกิดมีขึ้นได้ต้องประกอบด้วยคุณธรรม 7 ประการ คือ

1. ความขยันหมั่นเพียร คือจะต้องมีความขยันหมั่นเพียรในกิจการงานต่างๆ เพราะจะทำให้เกิดความรู้ความสามารถ ทำให้มีงาน มีทรัพย์สมบัติ

2. มีสติ คือ ต้องรู้ตัวระวังอยู่เสมอในเรื่องที่คิด ในกิจที่ทำ และในคำที่พูด

3. มีการงานสะอาด คือ การงานทุกชนิด จะต้องวางอยู่บนรากฐานของศีลธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นตัวนำหน้า เพื่อความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าทั้งแก่ตนและสังคมส่วนรวม

4. ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ คือ การทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องรู้ก่อนที่จะลงมือทำ ไม่ใช่ทำก่อนแล้วค่อยรู้ทีหลัง ซึ่งมักจะสร้างปัญหาอยู่เสมอๆ งานทุกอย่างจึงต้องใคร่ครวญ วางแผนก่อนทำ
5. สำรวมระวังดี คือ จะต้องระวังกาย วาจา และใจ ให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลและคุณธรรม

6. มีความเป็นอยู่โดยธรรม คือ มีชีวิต ความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ด้วยการทำความดี ละเว้นความชั่วทุกชนิด และทำจิตใจให้ผ่องใส

7. มีความไม่ประมาท คือ ต้องไม่เลินเล่อ ไม่เผอเรอปล่อยสติ รู้เท่าทันเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อได้ลาภ ได้ยศ ได้ความสรรเสริญ ได้ความสุขแล้วไม่ควรมัวเมา ไม่ควรหลงใหล เพราะสิ่งที่ได้รับนั้นสามารถที่จะเกิดได้ ดับได้ เจริญได้ และเสื่อมได้เหมือนกัน

คุณธรรม 7 ประการนี้มีอยู่ในบุคคลใดย่อมเป็นเหตุให้เกิดยศ คือ ความยกย่องนับถือแก่บุคคลนั้น ส่วนผู้ที่ไม่ประพฤติตามคุณธรรมดังกล่าวมา ยศที่ยังไม่มีก็เกิดขึ้นไม่ได้ แม้ที่มีอยู่แล้วย่อมเสื่อมหายไป เพราะยศเป็นโลกธรรมประการหนึ่ง มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมไป ไม่เที่ยงแท้แน่นอน

ยศจึงนับว่าเป็นเครื่องประดับชีวิตที่สำคัญ และไม่ได้เกิดขึ้นเองแก่ใครๆ ตามใจปรารถนา ไม่ได้เกิดจากการซื้อขาย ไม่ได้เกิดจากการแสวงหาที่ทุจริตผิดศีลธรรม แต่จะเกิดมีได้เพราะความขยันหมั่นเพียร ในการศึกษาและประกอบธุรกิจการงานที่ดี มีความไม่ประมาทในการดำรงชีวิต

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ความสุขระดับชาวบ้าน khaosod


ความสุขระดับชาวบ้าน

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


พระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องของความสุขไว้ 4 ประการคือ

ประการที่ 1 สุขเกิดแต่การมีทรัพย์ เพราะทรัพย์เป็นเหตุให้ปลื้มใจ คือความสมบูรณ์ในปัจจัย 4 คนมีทรัพย์ย่อมได้รับความสุข ปรารถนาในปัจจัย 4 ย่อมได้ การมีทรัพย์คือความมั่งคั่ง ความสมบูรณ์พูนสุขด้วยปัจจัย 4 แต่ต้องรู้จักการใช้สอยทรัพย์สมบัตินั้น กล่าวคือการใช้จ่ายในทรัพย์สินเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์

ถ้ามีทรัพย์ แต่ไม่รู้ในการที่จะใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ก็หาความสุขมิได้ มีแต่ความเดือดร้อน กังวลใจในการรักษาทรัพย์สมบัติที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น อีกทั้งไม่รู้วิธีการบริหารทรัพย์ ให้เป็นประโยชน์ในทางที่ชอบ ทรัพย์นอกจากไม่เพิ่มพูนขึ้นแล้ว ยังจะไม่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ อีกด้วย

ประการที่ 2 สุขเกิดแต่การใช้จ่ายทรัพย์บริโภค ผู้ที่ไม่มีปัญญา ย่อมจับจ่ายใช้สอยทรัพย์โดยไม่คำนึงถึงความหมดเปลือง กล่าวคือการไม่รู้จักประมาณการใช้จ่ายทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัติก็มีแต่อันจะต้องสิ้นไปหมดไป ถูกทำลายไปโดยปราศจากประโยชน์

ส่วนผู้มีปัญญาย่อมใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ รู้จักประมาณในการใช้จ่าย รู้จักการบริหารในทรัพย์สมบัติของตนให้เกิดประโยชน์ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่าย ให้เป็นไปแต่พอเหมาะพอควร ให้เกิดความพอดีกับกำลังทรัพย์ที่มีอยู่ ให้พอเหมาะกับรายได้กับที่ตนได้รับ และให้เหลือพอที่จะอดออม เป็นทุนสะสมสำหรับชีวิตครอบครัว

ประการที่ 3 สุขเกิดแต่การไม่ต้องเป็นหนี้ หนี้คือสิ่งที่ตกค้าง จะต้องชำระเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้เกิดความทุกข์อีกด้วย คนมีหนี้จะเกิดอาการหวาดผวา นอนไม่หลับ ฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ คนมีหนี้สินมากๆ สังคมจะขาดความเชื่อถือ ไม่เป็นที่ยอมรับ ยิ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญาหรือตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะกลายเป็นคนล้มละลาย เพราะฉะนั้น การไม่เป็นหนี้ใคร จึงเป็นความสุข

ประการที่ 4 สุขเกิดแต่การทำงานที่ปราศจากโทษ ผู้ที่ทำงานปราศจากโทษย่อมจะมีความสุข เพราะเป็นงานที่สุจริต ไม่ผิดต่อกฎหมาย ไม่ผิดต่อศีลธรรม ไม่เป็นที่เดือดร้อนแก่ใครๆ คนที่ทำงานที่ปราศจากโทษนั้น ย่อมได้รับความสุข ความอิ่มใจ ปลาบปลื้มใจ เพราะไม่ต้องหวาดผวา ไม่เหมือนกับคนที่ทำงานทุจริต ผิดกฎหมาย ประกอบไปด้วยโทษ เขาย่อมหวาดกลัวในขณะที่ทำและเดือดร้อนในขณะที่ทำเสร็จแล้ว ความสุขดังกล่าวมา จะเกิดมีขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันเพื่อช่วยกันสร้างประเทศชาติบ้านเมือง ให้เจริญรุ่งเรือง อย่าเอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนกันและกัน ให้คำนึงถึงส่วนรวมคือประเทศชาติเป็นสำคัญ เพราะเมื่อประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองแล้ว เราก็มีความสุข อยู่เย็นเป็นสุขโดยถ้วนหน้า

วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

เหตุที่ทำให้เกิดความสุข khaosod


เหตุที่ทำให้เกิดความสุข

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


คนเราแม้จะมีความแตกต่างกันทั้งเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและวิถีชีวิต แต่ส่วนใหญ่มีความปรารถนาอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ ต้องการความสุข ซึ่งเป็นความจริงที่ใครก็คงไม่ปฏิเสธ ความสุขเป็นยอดปรารถนาของคนทุกคน ส่วนความทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเจอ แม้เพียงชื่อก็ไม่ต้องการได้ยิน เป็นที่รังเกียจของคนทั้งหลาย แต่เราก็ไม่สามารถจะหนีจากความทุกข์ไปได้

แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่งสาวกไปประกาศพระศาสนาก็มุ่งเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขเป็นสำคัญ ดังพระพุทธดำรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก และเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก

ดังนั้นการที่ทุกคนจำเป็นต้องทำทุกอย่างในชีวิต ทั้งการเรียน การงาน การทำบุญ เป็นต้น จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ได้รับความสุข ป้องกันทุกข์ทั้งนั้น

กล่าวถึงเหตุที่ทำให้เกิดความสุขแล้ว ตามความรู้สึกของคนทั่วไปย่อมมีมากมาย แตกต่างกันไปตามอัธยาศัยของแต่ละคน แต่สรุปแล้ว เกิดจากเหตุที่สำคัญ 3 ประการ คือ ทรัพย์สมบัติ เกียรติ ไมตรี

ทรัพย์สมบัติ เกียรติ ไมตรี จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา เพราะคิดว่าเมื่อมีแล้ว จะทำให้ชีวิตมีความสุข เป็นเหตุให้พยายามทุกทางที่จะหาทรัพย์สมบัติ มาเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต พยายามหาเกียรติยศชื่อเสียงให้แก่ตนเอง และพยายามสร้างไมตรีเพื่อจะได้เป็นที่นิยมชมชอบของคนทั้งหลาย โดยใช้วิธีการที่ถูกบ้าง ผิดบ้าง ตามอุปนิสัยของแต่ละคน คนดีก็แสวงหาในทางที่ชอบ คนไม่ดีก็แสวงหาในทางที่ไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและคนอื่น

ในสิ่งที่ปรารถนาทั้ง 3 อย่างนั้น แต่ละอย่างก็มีเหตุเกิดเฉพาะแตกต่างกันไป ในเรื่องนี้มีเรื่องอาฬวกยักษ์ เป็นอุทาหรณ์

อาฬวกยักษ์ ที่ปรากฏในบทถวายพรพระคือ ข้อความที่แสดงถึงชัยชนะที่สำคัญ 8 ครั้งของพระพุทธเจ้า ในคาถาที่ 2 พูดถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงได้รับชัยชนะต่ออาฬวกยักษ์ ทรงใช้พุทธานุภาพปราบยักษ์ตนนี้ให้หมดพยศ แล้วทรงตอบปัญหาที่ยักษ์ทูลถาม เมื่อได้รับฟังพระพุทธดำรัสตรัสตอบแล้ว ก็ทำให้ยักษ์เกิดศรัทธา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เปลี่ยนจากยักษ์ที่ดุร้าย กลายเป็นยักษ์ที่นับถือพระพุทธศาสนา รักษาศีลอย่างมั่นคง

ปัญหาที่อาฬวกยักษ์ทูลถาม เป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์ เกียรติ และไมตรีนี่เอง คือถามว่า จะหาทรัพย์ได้อย่างไร จะได้รับการยกย่องให้มีเกียรติอย่างไร จะผูกไมตรีไว้ได้อย่างไร นั่นแสดงว่า ทรัพย์สมบัติ เกียรติ ไมตรีจิต เป็นที่ปรารถนาของคนทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้กระทำการงานที่เหมาะสม เอาธุระ ขยันหมั่นเพียร ย่อมหาทรัพย์ได้ ผู้มีสัจจะ ย่อมได้รับยกย่องให้มีเกียรติ ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้

สรุปได้ว่า สิ่งที่เราปรารถนาทั้ง 3 ประการคือ ทรัพย์ เกียรติ ไมตรี มีเหตุเกิดที่แตกต่างกัน ทรัพย์สมบัติ เกิดจากการทำงานที่เหมาะสม ไม่ทอดธุระ ขยันหมั่นเพียร เกียรติชื่อเสียง การยกย่องนับถือ ก็เกิดจากการมีสัจจะ ไมตรี หรือความเป็นมิตร จะมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงก็เกิดจากความมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบแบ่งปัน ไม่ตระหนี่ นั่นเอง

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

ศีลธรรม khaosod


ศีลธรรม

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ศีลเป็นสิ่งที่ดีงาม ศีลต้องอยู่ที่กาย ที่วาจา ธรรมอยู่ที่ใจ เมื่อเรามีกาย มีวาจาที่มีศีลมีธรรมแล้ว นั่นแหละเป็นเครื่องนำชีวิตของเราให้ไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้

ศีล แปลว่า สมบัติ ทุกคนต้องการสมบัติ ก็เอาศีลมาเป็นเครื่องประดับ

เครื่องประดับคือศีลนี้ ท่านบอกว่า งามทุกเพศทุกวัย เด็กเอาไปประดับก็งาม หนุ่มสาวเอาไปประดับก็งาม คนแก่เอาไปประดับก็งาม มันไม่เหมือนกับเครื่องประดับ คือเสื้อผ้า เสื้อผ้านั้น งามเฉพาะเพศ เฉพาะวัย เสื้อผ้าของเด็ก ผู้ใหญ่เอาไปใส่ก็ไม่งาม เสื้อผ้าของหนุ่มสาว คนแก่เอาไปใส่ก็ไม่งาม เสื้อผ้าของคนแก่ หนุ่มสาวเอาไปใส่ก็ไม่งาม งามเฉพาะเพศเฉพาะวัย แต่เครื่องประดับคือศีลนี้ งามทุกเพศทุกวัย

ดังนั้น ศีล จึงแปลว่า สมบัติ และสมบัติที่เราจะได้นั้น จำเป็นต้องมีศีลก่อน ถ้าขาดศีล ก็ขาดสมบัติ จะรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ก็ต้องมีศีล ซึ่งตามปกติกายวาจามักจะเรียบร้อยยาก แต่ถ้ามีศีลเข้าไปกำกับ มันก็จะเรียบร้อยดี

ส่วน ธรรมะ หมายถึง ทรงไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ต้องมีธรรมะ 4 ข้อไว้ประจำใจ นั่นก็คือ

1. ความจริงใจ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ พูดจริง ทำจริง จะอยู่ที่ไหน อยู่ในฐานะเช่นใด ก็ขอให้เป็นคนซื่อสัตย์ ทั้งต่อตนเองและคนอื่นรอบข้าง

2. การฝึกฝนข่มใจ เมื่อมีความซื่อสัตย์ จริงใจแล้วยังไม่พอ ต้องมีการข่มใจ ฝึกฝน ฝึกนิสัยและปรับตัว รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุงตนเองให้เจริญก้าวหน้า ด้วยปัญญาความรู้

3. ความอดทน เมื่อมีความซื่อสัตย์ จริงใจแล้ว ฝึกฝนข่มใจแล้ว ก็ยังไม่พอ จำต้องมีความอดทน ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง ทนทาน ไม่หวั่นไหวในจุดมุ่งหมาย บางคนซื่อสัตย์จริง ข่มใจจริง แต่ไม่อดทน เจอเรื่องหนักใจก็ยอมแพ้ สู้ไม่ไหว ต้องอดทนด้วย จึงจะถึงจุดหมาย

4. ความเสียสละ เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ต้องมีความเสียสละ เสียสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง ผู้มีน้ำใจเสียสละ มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทุกคนในสังคม ช่วยเหลือเท่าที่เห็นว่าสมควรจะช่วยเหลือได้ เห็นใครควรแก่การช่วยเหลือก็ช่วยเหลือตามกำลังมากบ้างน้อยบ้าง หรือบางครั้งก็ช่วยเหลือด้วยกำลังกาย บางครั้งก็ช่วยเหลือด้วยกำลังทรัพย์ บางครั้งก็ช่วยเหลือด้วยกำลังสติปัญญา ทุกๆ ครั้งที่ช่วยเหลือ ก็มีความกรุณาสงสารเป็นเบื้องหน้า มุ่งที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ของผู้อื่นด้วยความเต็มใจ

การอยู่ร่วมกันในสังคมหมู่มาก จำต้องมีความจริงใจต่อกัน เมื่อกระทบกระทั่งกันด้วยเรื่องเล็กน้อยก็พยายามอดทนข่มใจ ไม่ให้เรื่องเล็กน้อยกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต อีกทั้งควรพยายามเสียสละแบ่งปันให้แก่คนรอบข้าง ชีวิตจึงจะประสบแต่ความสุขตลอดไป

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555

ความเพียร khaosod


ความเพียรดีกว่า

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com


ความเพียร เป็นคุณธรรมพยุงจิต ไม่ให้คิดย่อท้อในการประกอบการงาน มีหน้าที่เป็นกลาง ไม่ดีและไม่ชั่ว แต่เมื่อเข้าไปสนับสนุนในกิจการใดๆ ย่อมทำกิจการนั้นๆ ให้แรงขึ้น ทั้งทางถูกและทางผิด



เหตุนั้น พึงพิจารณาใช้ความเพียรแต่ในทางที่ชอบ เพราะเหตุว่าความเพียรนี้ ถ้าคนไม่ดีนำไปใช้ในทางที่ผิด ไม่ชอบไม่ควรแล้ว ก็จะก่อให้เกิดโทษภัยอย่างใหญ่หลวง เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและคนอื่นเป็นอันมาก



พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสความเพียรไว้ 4 ประการ คือ



1. เพียรระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นในใจ คือระวังป้องกันความชั่ว ไม่ให้เกิดขึ้นแก่ใจเป็นอันดับแรก เพราะถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะก่อให้เกิดทุกข์ภัยอย่างใหญ่หลวงในภายหลัง และความชั่วนี้ ไม่ควรดูหมิ่นว่ามีประมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะไม่ให้ผล ความชั่วเพียงเล็กน้อยนั่นแหละ จะพอกพูนมากขึ้นทุกที แล้วจะทำความพินาศให้แก่ตนและคนอื่นอย่างมากมาย



2. เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว คือ เมื่อรู้ตัวว่าได้กระทำความชั่วขึ้นแล้ว ด้วยความพลั้งเผลอหรือด้วยความเข้าใจผิด เช่นนี้แล้วก็ต้องเพียรละความชั่วนั้นเสีย ตั้งใจว่าจะไม่กระทำความชั่วนั้นอีกอย่างเด็ดขาด



3. เพียรให้ความดีเกิดขึ้นในใจ คือ เมื่อระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นและเพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นด้วยความพลั้งเผลอได้แล้ว ก็ต้องรีบทำความดีแทนที่ความชั่วด้วย เพราะถ้าไม่รีบทำความดีแทนที่ความชั่วแล้ว ก็จะเกิดช่องว่าง เปิดโอกาสให้ทำความชั่วได้อีก



4. เพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อมไป คือ เมื่อได้สร้างสมคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้นในใจแล้ว ก็ต้องเพียรรักษาคุณงามความดีนั้นไว้ ไม่ให้เสื่อมสิ้นไป ให้มีอยู่ตลอดไป เพราะว่าความดีกับความชั่วคอยฉวยโอกาสที่จะเข้าครอบครองจิตกันอยู่เสมอ ฝ่ายใดเผลอ เป็นถูกอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งคอยฉวยโอกาสอยู่แล้ว เข้าครอบครองจิตทันที เหตุนั้น ความดี ที่ได้ทำให้เกิดขึ้นแล้ว จึงต้องพยายามรักษาไว้ มีมากเท่าใดก็เป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เกิดความสุขใจเท่านั้น



คนเกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน มักอ้างเหตุต่างๆ แล้วไม่ทำงาน ปล่อยให้งานคั่งค้างจนทำไม่ไหว ทำไม่สำเร็จ เมื่อทำงานอะไรๆ ไม่สำเร็จ ก็ไม่มีคุณงามความดีอะไร ที่จะเป็นที่พึ่งของตนและคนอื่นได้เลย



พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า คนที่เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ไม่ประเสริฐเลย เพราะคนที่เกียจคร้าน ไร้คุณงามความดีอันจะเป็นที่พึ่งของตนและคนอื่น



ส่วนคนที่ไม่ยอมอ้างเหตุแห่งความเกียจคร้าน ปรารภความเพียรอยู่เป็นนิตย์ เป็นต้นว่าเราต้องทำงาน และต้องทำงานนั้นให้ดีถึงที่สุด ทำให้สำเร็จ ไม่ยอมอ้างเหตุขัดข้องต่างๆ มีแต่ความเพียร จึงก้าวล่วงความทุกข์ยากนานาประการได้



เพราะเหตุนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ชีวิตของคนที่ปรารภความเพียรอย่างมั่นคง แม้จะเป็นอยู่ได้เพียงวันเดียว ก็ยังประเสริฐกว่า เพราะว่า ชีวิตของคนที่ปรารภความเพียร มีคุณงามความดีเป็นที่พึ่งของตนและคนอื่นมากมาย

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

บุญคือความสุข khaosod


บุญคือความสุข

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com


บุญ หมายถึง ความดี เป็นชื่อของความสุข ผู้ที่ปรารถนาจำต้องรู้ว่าอะไรเป็นบุญ จะได้ทำให้สำเร็จผลสมความมุ่งหมาย ผู้ที่ทำตามๆ กันมาไม่รู้ว่าอะไรเป็นบุญ จะทำให้ถูกต้องไม่ได้ แม้จะทำด้วยความงมงาย ก็ไม่นำให้สำเร็จประโยชน์



เพราะฉะนั้น ผู้ปรารถนาจะทำบุญจึงต้องรู้ว่า บุญมีลักษณะเป็นอย่างไร ถ้าทำแล้วไม่อาจชำระจิตให้ผ่องใส หรือไม่นำให้เกิดความฉลาดว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี ก็ไม่จัดว่า เป็นบุญ แต่เมื่อสามารถจะชำระจิตให้บริสุทธิ์และนำให้เกิดความฉลาด รู้จักผิดชอบ จึงจัดว่า เป็นบุญ



สิ่งที่จะชำระจิตของคนให้บริสุทธิ์ อันเสมอด้วยความดีย่อมไม่มี สิ่งอื่นชำระได้เพียงภายนอกเท่านั้น แต่ความดีเป็นสิ่งชำระใจ เมื่อใจบริสุทธิ์แล้ว อาการภายนอก คือ กิริยาวาจา ก็บริสุทธิ์ตามไปด้วย



เมื่อได้พิจารณาแล้วรู้ว่า บุญ เป็นสิ่งที่ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ พึงสร้างความดีตามความรู้ ความสามารถที่ตนเองจะกระทำได้ จึงจะชื่อว่าได้บุญอย่างแท้จริง



การทำบุญในทางพระพุทธศาสนาอย่างย่อ มีอยู่ 3 อย่าง คือ



ทาน ได้แก่ การบริจาค แบ่งปันเสียสละ เมื่อได้ทำให้เต็มที่แล้ว สามารถกำจัดความโลภให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุขใจได้



ศีล ได้แก่ การปฏิบัติกาย วาจาให้ตั้งอยู่ในความสงบเรียบร้อย ตามกฎระเบียบ ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม เมื่อได้ทำให้เต็มที่แล้ว สามารถกำจัดความโกรธให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุขใจได้



ภาวนา ได้แก่ การทำใจให้ตั้งมั่นอยู่ในธรรม เป็นการเจริญปัญญา พัฒนาจิตให้รู้จักการดำเนินชีวิต ตลอดถึงปฏิบัติต่อตนและคนอื่นด้วยความถูกต้อง เมื่อได้ทำให้เต็มที่แล้ว สามารถกำจัดความหลงให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุขใจได้



การฟังธรรม นอกจากจะเป็นการส่งเสริมคุณธรรมในส่วนแห่งทานและศีล อันเป็นบุญขั้นพื้นฐานและขั้นกลาง ที่ได้ทำมาแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนบุญในส่วนแห่งภาวนา อันเป็นบุญขั้นสูง ทำให้มีผลไพบูลย์ยิ่งขึ้น เพราะการฟังธรรมนั้น เป็นการพัฒนาปัญญา เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในชีวิต



พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอานิสงส์แห่งการฟังธรรมไว้ คือ



- ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ฟัง



- ได้ความรู้แปลกใหม่



- บรรเทาความสงสัย



- มีจิตใจมั่นคง



- ไม่หลงผิดในการดำเนินชีวิต



ดังนั้น การฟังธรรม จึงเป็นการทำบุญในส่วนของภาวนา มีอุปการะแก่ผู้ที่มุ่งทำบุญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาความเป็นอยู่ของตน ครอบครัว ตลอดถึงสังคม ไม่ให้หลงทาง แต่ให้ดำเนินไปถูกทางอย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพและทรงไว้ซึ่งคุณธรรม

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

ก้าวพ้นผ่านความสิ้นหวัง khaosod


ก้าวพ้นผ่านความสิ้นหวัง

หน้าต่างศาสนา
พระมหาจักรกฤษ จักกญาโณ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมฯ วัดสระเกศ


มีผู้คนมากมายที่เคยท้อแท้สิ้นหวังกับความล้มเหลว อะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาเหล่านั้นยังคงอยู่และเดินหน้าต่อไปจนประสบความสำเร็จ...



"แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์" อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐ อเมริกา อาจเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เพราะเขาเริ่มต้นกับชีวิตนี้ได้ไม่ดีนัก เมื่อเกิดมาพร้อมกับโรคไขกระดูกอักเสบ ทำให้ต้องกลายเป็นคนขาพิการ



ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่ค่อยไปเล่นกับเพื่อนๆ เวลาคุณครูเรียกให้ตอบคำถามก็มักจะนั่งนิ่งก้มหน้าและไม่พูดอะไรเลย กลายเป็นเด็กที่เก็บกดและมีทัศนคติเชิงลบมาโดยตลอด



ต่อมา พ่อของเขาได้ขอต้นกล้าจากเพื่อนบ้านมา เพื่อจะนำมาปลูกไว้หน้าบ้าน จึงเรียกลูกทั้งสามคนมาแล้วพูดขึ้น "ถ้าใครปลูกต้นไม้นี้ได้เจริญเติบโตที่สุด พ่อจะให้รางวัล" ทั้งพี่ชายและพี่สาวพอรู้ว่ามีรางวัลก็ตั้งใจดูแลรดน้ำต้นไม้อยู่ไม่ขาด จนต้นไม้ค่อยๆ เติบโตขึ้น



ขณะที่เขาได้แต่ท้อแท้สิ้นหวัง เช่นเดียวกับชีวิตของเขาที่เป็นมาโดยตลอด จึงไม่ได้สนใจอยากต่อสู้กับใคร ตั้งใจจะปล่อยให้ต้นไม้นั้นตายๆ ไปเสีย จึงไม่ได้สนใจดูแล ต่อมาเขาอยากรู้ว่าต้นไม้นั้นตายหรือยัง จึงเดินไปดูก็ต้องพบกับความแปลกใจ เพราะแทนที่ต้นไม้จะแห้งเหี่ยวตาย กลับงอกงามเติบโตมากกว่าของพี่ชายและพี่สาวอีกด้วย พอถึงวันตัดสิน พ่อก็ซื้อของรางวัลมาให้เขาตามสัญญา พร้อมคำชื่นชม "ดูจากต้นไม้ที่ลูกปลูกแล้ว โตขึ้นลูกคงได้เป็นนักพฤกษศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างแน่นอน" เขารับของรางวัลด้วยความงุนงง แต่ก็สู้เก็บงำความสงสัยนี้ไว้



จนคืนหนึ่งเขานอนไม่หลับ ขณะมองดูพระจันทร์ทางหน้าต่าง ทำให้หวนคิดถึงคำสอนของคุณครูชีววิทยาที่บอกว่า "ส่วนใหญ่ ต้นไม้จะเจริญเติบโตได้ดีใน ตอนกลางคืน" เลยคิดถึงต้นไม้ของตนขึ้นมาได้ จึงค่อยๆ พาตัวเองออกจาก ห้องนอนไปดูต้นไม้ว่าเติบโตได้อย่างไร แต่ภาพที่เห็น กลับเป็นเงาของพ่อกำลังตักอะไรบางสิ่งบางอย่างซึ่งคงเป็นปุ๋ยลงไป ตรงโคนต้นไม้ เขายืนนิ่งสงบมองพ่อที่พยายามดูแลต้นไม้ของเขาต้นนี้อย่างดีจนงอกงาม ขึ้นมา



รอยยิ้มผสมกับน้ำตาที่ค่อยๆ ไหลอาบแก้ม เป็นทั้งความปลื้มปีติยินดีกับสิ่งที่พ่อทำให้ แต่เสียใจที่ตนเองมัวแต่ท้อแท้สิ้นหวัง จนไม่รู้ว่ามีคนห่วงใยตนเองมากมายเพียงใด



นับจากวันนั้นเป็นต้นมา เด็กน้อยที่เคยคิดน้อยใจในชีวิตของตนเอง ก็กลับมามีทรรศนะ มองโลกในแง่ดีขึ้น มีความเชื่อมั่น มีความหวังและกำลังใจ ทำให้สามารถต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคด้านร่างกาย จนสามารถยืนหยัดท่ามกลางสังคมได้อย่างสง่างาม



และถึงแม้ว่าแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ จะไม่ได้ประสบความสำเร็จเป็นนักพฤกษศาสตร์ ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกตามที่พ่อเคยพูดเอาไว้ แต่ก็ประสบความสำเร็จได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ อเมริกาในที่สุด



จากต้นไม้ที่เคยคิดว่าจะตายเพราะไม่มีคนใส่ใจดูแล กลับเติบใหญ่เป็นต้นไม้ใหญ่ที่ผู้คนพึ่งพิงได้ ก็เพราะมีความหวังจากคนข้างกายที่หมั่นคอยเอาใจใส่ดูแล เหมือนชีวิตนี้อาจเพียงต้องการความหวังเล็กๆ ที่ใครสักคนอาจไม่ต้องทำอะไรหรือให้อะไรมากมายนักก็ได้



ขอแค่คำพูดดีๆ มีให้แก่กันทุกวันเวลาเท่านั้นก็คงเพียงพอ

บุญนำให้ดี khaosod


บุญนำให้ดี

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร www.watdevaraj.com


คําว่า บุญ หมายถึง ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ใจ ธรรมชาติที่ชำระจิตใจให้สะอาดให้ผ่องใส มีผลได้แก่ความสุขที่เกิดทางใจ



บุญเกิดได้หลายทาง เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 ดังนี้



1. ทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน ได้แก่ วัตถุสิ่งของให้ธรรมะเป็นทาน เรียกธรรมทาน ให้อภัย เรียกอภัยทาน



2. ศีลมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ได้แก่ การปฏิบัติตามข้อห้ามตามที่ทรงบัญญัติในพระปาฏิโมกข์เพื่อกำจัดกิเลส



3. ภาวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา ได้แก่ การปฏิบัติใจเพื่อกำจัดกิเลส แบ่งเป็น สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา



4. ไวยาวัจจมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือกิจการสงฆ์และภาระพระศาสนา



5. อปจายนะมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการมีกิริยาอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณและคนทั่วไป



6. ปัตติทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว



7. ปัตตานุโมทนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงอนุโมทนาในส่วนบุญร่วมกับผู้อื่น



8. ธัมมเทศนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม ได้แก่ การอธิบายบรรยายธรรมะ ให้แก่ผู้ร่วมโลกที่ร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย



9. ธัมมัสสวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม ได้แก่ การฟังธรรมและนำ ข้อธรรมมาประพฤติปฏิบัติให้พ้นทุกข์



10. ทิฏฐชุกัมม์ คือ การทำความเห็นให้ตรงเป็นสัมมาทิฏฐิเชื่อในธรรมและการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย



ในบรรดาสิ่งที่อาจช่วยเราได้ในโลก ไม่มีอะไรจะวิเศษเท่ากับบุญเลย คนบางคนช่วยเราได้อย่างมากก็เพียงช่วงระยะเวลาจากเปลไปสู่หลุมฝังศพเท่านั้น แต่บุญที่เราทำไว้มากๆ นี้ จะช่วยเราได้ตั้งแต่ก่อนเกิด เกิดแล้วยังตามช่วย ตายแล้วยังตามช่วย แม้การบรรลุจุดหมายสูงสุดทางพระพุทธศาสนา คือการบรรลุพระนิพพาน บุญนี้เท่านั้นที่ช่วยเรา



บุญกิริยาวัตถุทั้ง 10 ประการนี้ เป็นวิธีทำ บุญในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งพุทธศาสนิกชนสามารถประพฤติปฏิบัติในข้อใดข้อหนึ่งได้ตามอัธยาศัย ซึ่งล้วนแต่เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ เป็นทางแห่งการสั่งสมบุญทั้งนั้น ขอให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติเท่านั้นก็จะเป็นบุญกุศลทั้งสิ้น



เมื่อทราบชัดบ่อเกิดแห่งบุญ คือ บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ เช่นนี้แล้ว ควรที่จะเร่งรีบทำบุญทำความดีบ่อยๆ ตามอัธยาศัย ตามโอกาสอำนวย ที่สามารถจะทำได้ และเมื่อบุญหรือความดีที่ทำไว้นั้นมากพอสมควร บุญนั้นก็จักบันดาลให้ประสบความสุขความเจริญทั้งในภพนี้ และภพหน้า

วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

การให้ khaosod


การให้

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


คนที่เกิดมาในโลกนี้ทุกคน ย่อมมีความเกี่ยวเนื่องกับคนอื่นรอบข้างไม่มากก็น้อย เริ่มต้นตั้งแต่พ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ญาติสนิทมิตรสหายตลอดถึงคนที่ห่างไกล ถึงแม้ไม่ใช่ญาติมิตรก็มีกิจที่จะพึงทำเกี่ยวเนื่องกันอยู่ เพราะในสังคมที่อยู่รวมกันนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการช่วยเหลือเกื้อกูล เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือกันและกัน

การแสดงออกซึ่งน้ำจิตน้ำใจอันดีงาม โดยมีวัตถุสิ่งของเป็นสิ่งประกอบ ท่านเรียกว่า ทาน หมายถึง การให้ หรือเจตนาเป็นเครื่องให้ ให้ปันสิ่งของอันได้แก่ ปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ

การให้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นมงคล เพราะ

1.เป็นเหตุแห่งความสุข

2.เป็นรากเหง้าแห่งสมบัติทุกอย่าง

3.เป็นที่ตั้งแห่งโภคทรัพย์ทั้งหมด

4.เป็นเครื่องป้องกันภัยต่างๆ

5.เป็นที่พึ่งพิงอาศัยของเหล่าสัตว์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

การให้ปันสิ่งของ นับเป็นกิจเบื้องต้นที่ควรทำ แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงบำเพ็ญบารมีในสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ทรงบำเพ็ญทานคือการให้เป็นทีแรก

สำหรับการให้นั้น ไม่ควรให้ของเลว หรือของที่ไม่ดี ควรเลือกของที่ตนชอบใจให้ ให้ของที่ดีประณีต ดีกว่าที่ตนมีตนใช้

ผลหรืออานิสงส์ที่เกิดจากการให้สิ่งของที่ดี ย่อมเป็นไปตามเหตุคือของที่ให้ เมื่อให้ของที่ถูกใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ย่อมจะได้รับของที่ถูกใจตอบแทน เมื่อให้ของชั้นยอด ได้แก่ ของที่ยังไม่ได้ใช้สอยหรือบริโภคมาก่อน เช่น ข้าวปากหม้อ แกงปากหม้อ เป็นต้น ก็ย่อมได้รับของเช่นนั้นตอบแทน

สมดังพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้ว่า "ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้รับผลที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้รับผลที่เลิศตอบ ผู้ให้ของที่ดี ย่อมได้รับผลที่ดี และผู้ให้ของที่ดีที่สุด ย่อมเข้าถึงฐานะที่ดีที่สุด"

ประเภทของการให้ เมื่อจำแนกออกก็มีอยู่ 2 ประการ คือ

1.อามิสทาน การให้สิ่งของที่ทำให้เกิดความสุขแก่ผู้รับ เช่น ให้สิ่งของบริโภคใช้สอย

2.ธรรมทาน การให้วิชาความรู้อันไม่มีโทษ ด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์ เช่น ให้ศิลปวิทยา

ให้คุณธรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งจิตใจให้บริสุทธิ์และความประพฤติให้เรียบร้อยดีงาม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงอานิสงส์ของการให้ไว้ 5 ประการด้วยกัน คือ

1.ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ที่ชอบใจของหมู่ชน

2.สัตบุรุษคนดีย่อมคบหาสมาคมผู้ให้นั้น

3.ชื่อเสียงอันดีงามของผู้ให้ย่อมขจรกระจายไป

4.ผู้ให้ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้าอาจหาญในที่ชุมชน

5.ผู้ให้ย่อมเป็นผู้มีสติ ไม่หลง เมื่อสิ้นชีวิตแล้วย่อมเป็นผู้ไปสู่ สุคติภูมิ

คนผู้ให้ทาน ย่อมได้ชื่อว่าสั่งสมความดีแก่ตน แม้ว่าทรัพย์สมบัติจะหมดไปบ้าง ก็หมดไปในทางที่ชอบที่ควร บุญกุศลคุณงามความดีต่างๆ ย่อมเพิ่มมากขึ้นทวีคูณทุกๆ ครั้งที่ได้ให้

วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พอสมควร khaosod


พอสมควร

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ความรู้จักพอเป็นเหตุให้คนเรามีความคิดที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้เสียสละได้ เป็นเหตุให้คิดถึงตัวเองเพียงเพื่อเป็นอยู่แบบพอดีๆ แต่คิดถึงผู้อื่นมากกว่า

ความรู้จักพอ จึงเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นในใจของแต่ละคนก่อนเป็นประการสำคัญ

ในทางพระพุทธศาสนา มีหลักธรรมสำหรับปลูกฝังให้เกิดความรู้จักพอหรือพอสมควรไว้ ตามพุทธภาษิตว่า ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

คนที่พิจารณาอย่างผิวเผิน มักเข้าใจว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนเกียจคร้าน ไม่ขยันทำมาหากิน มีเท่าไรกินเท่านั้น ทำให้คนงอมืองอเท้า ไม่คิดก้าวหน้า

แท้จริงแล้ว สันโดษมีความหมายที่กว้างมาก ท่านแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

1.ยินดีพอใจในสิ่งที่ตนได้ สิ่งที่ตนมี คือ มีแค่ไหนก็ยินดีเท่านั้น มีอย่างไรก็กินใช้อย่างนั้น แต่ไม่ได้ให้หยุดขวนขวาย ไม่ต้องคิดก้าวหน้าหรือหามาเพิ่มเติม แต่สันโดษข้อนี้เพียงฝึกหัดใจให้เกิดความพอใจในฐานะที่ตนกำลังมี กำลังเป็นเท่านั้น

เพราะหากไม่สามารถหยุดยั้งความพอใจของตัวเองได้ เมื่อได้รับอะไร ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือยศตำแหน่ง ก็จะแสดงความไม่พอใจว่าตนได้สิ่งที่ไม่ดี ไม่สมควรหรือต้องได้มากกว่านี้ เมื่อความผิดหวังเกิดขึ้นแล้ว ความไม่ไว้วางใจ ความไม่ชอบใจก็เกิดขึ้นตามมา การฝึกใจให้มีความพอ มีความยินดีตามมีตามได้ จึงเป็นเหตุป้องกันใจจากความผิดหวังได้



2.ยินดีพอใจในกำลังของตนที่มีอยู่ รวมไปถึงการใช้กำลังให้พอดีด้วย รู้จักประมาณในความรู้ความสามารถของตน

ข้อนี้เป็นการกระตุ้นให้บุคคลรู้จักใช้ความสามารถเต็มที่ ไม่ให้เป็นคนเกียจคร้าน เป็นสันโดษที่ต่อเนื่องจากข้อแรกคือ เมื่อพอใจยินดีในส่วนที่ตนได้ ตนมีแล้ว หากยังมีกำลังขวนขวาย และสามารถหามาเพิ่มตามความจำเป็นโดยชอบธรรมก็ย่อมได้ เมื่อได้เพิ่มแล้วก็ยินดีพอใจเท่านั้น รวมถึงรู้จักปรับปรุงแก้ไขวิธีการทำงานของตนให้ดีขึ้น ให้มีประสิทธิภาพ

สันโดษข้อนี้ เป็นการฝึกใจ ให้รู้จักประมาณกำลังตัวเอง ฝึกหัดไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ฝึกให้เกิดความขยันหมั่นเพียร ใช้กำลังในทางที่ถูกที่ควรให้พอดีพอเหมาะ



3.ยินดีพอใจในสิ่งที่สมควร คือ ใช้กำลังเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุต่างๆ ต้องเป็นสิ่งที่เหมาะสม ไม่ผิดธรรม ไม่เกิดโทษ วิธีการหาก็เป็นวิธีที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่หาโดยวิธีทุจริต ข้อนี้เรียกว่า ยินดีพอใจในสิ่งที่สมควร เมื่อใช้เรี่ยวแรงได้สิ่งที่สมควรมาแล้วก็ยินดี พอใจในสิ่งนั้น เพื่อจำกัดขอบเขตของความต้องการที่ไม่สิ้นสุดให้แคบลง

สันโดษข้อนี้เป็นการฝึกให้รู้จักคำว่า อิ่มตัว ป้องกันไม่ให้ทุกข์เพราะดิ้นรนแสวงหา และทุกข์เพราะผิดหวังที่ติดตามมาพร้อมกับการดิ้นรนแสวงหานั้น

ความสันโดษ จึงเป็นหลักธรรมที่พัฒนาคนให้มีความขยัน เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาในเรื่องความอยากได้ ควบคุมความอยากให้อยู่ในวงจำกัด ไม่ให้ประกอบการงานโดยขาดความพอเหมาะพอควร

ผู้หวังความสุขในชีวิต ควรใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นหลักธรรมที่พัฒนาบุคคลให้รู้จัก คำว่า พอ โดยพอใจในสิ่งที่ตนมียินดีในสิ่งที่ตนได้ ยินดีพอใจในกำลังของตนที่มีอยู่ ยินดีพอใจในสิ่งที่สมควร ก็จะเป็นเหตุให้ได้รับความสุขที่มั่นคงเป็นแน่

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ระงับเวร khaosod


ระงับเวร

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com


พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการแสวงหาความสุขด้วยการเบียดเบียนว่า ไม่มีใครได้รับความสุขที่แท้จริง เพราะการที่คนเราจะทำอะไรให้แก่คนอื่น ไม่ว่าจะยื่นอาวุธ หรือดอกไม้ให้แก่ใครๆ สิ่งนั้นย่อมมีผลสะท้อนกลับมาหาตนเอง ท่านว่า ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว เช่น ฆ่าคนตาย อาจจะภูมิใจสักครู่หนึ่ง แต่ผลที่ตามมาจะกลายเป็นความทุกข์ร้อน การลักทรัพย์ของผู้อื่น ได้มาก็เป็นสุข เพราะการมีทรัพย์และการจ่ายทรัพย์ชั่วครู่ชั่วยาม แต่ผลบาปทำให้เกิดความทุกข์ ที่สุดก็จะถึงความเสื่อมทั้งตัวเองและทรัพย์นั้นๆ เหมือนคลื่นในมหาสมุทร ย่อมซัดกลับเข้าหาฝั่ง



การสร้างทุกข์ให้แก่คนอื่นด้วยการตั้งใจเบียด เบียน ชื่อว่า ก่อเวร ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ฆ่าคน ลักทรัพย์ เป็นต้น ผูกพยาบาทเมื่อถูกเขาทำร้าย อย่างนี้คือจองเวรผลัดกันแก้แค้น โต้ตอบกันไปมา



เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร การไม่จองเวรจะประสบผลคือ ความสงบสุข คนผู้จองเวรผูกอาฆาตพยาบาท ถูกโมหะครอบงำ ไม่เห็นเหตุผลที่ถูกต้องที่ชอบธรรม คิดขวนขวายแต่ให้ได้แก้แค้นเท่านั้น จะดีจะชั่ว ไม่รับฟังทั้งนั้น



พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนโกรธเป็นคนเลว แต่คนโกรธตอบเป็นคนเลวกว่า หมายความว่า คนทำร้ายเขาก่อนนั้นเป็นคนร้าย แต่คนที่ร้ายตอบกลับเขานั้นเป็นคนร้ายยิ่งกว่า ส่วนคนที่ถูกประทุษร้ายแล้วไม่ประทุษร้ายตอบ พระองค์ตรัสว่า เป็นผู้ชนะที่ควรแก่การสรรเสริญ เพราะได้ทำความสงบสุขให้เกิดขึ้นแก่ตนและคนอื่น



ความคิดแก้แค้นกัน นอกจากจะไม่เป็นที่สรรเสริญของคนดีทั่วไปแล้ว ชาวโลกยังตราหน้าว่าป่าเถื่อน ความคิดที่ว่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ชีวิตต่อชีวิต ทำร้ายมาก็ต้องทำร้ายไป เมื่อมีคนนั้น ก็ต้องไม่มีคนโน้น เมื่อมีคนโน้น ก็ต้องไม่มีคนนี้ การอโหสิกรรมเป็นความอ่อนแอ ดังนี้ เหตุแห่งการล้างแค้นถึงชาติหน้าก็เกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด



ความไม่จองเวรนั้น ย่อมทำสำเร็จได้ด้วยวิธีต่างๆ คือ แผ่เมตตา อดทน ใช้ปัญญาพิจารณาโดยชอบ และมีความเสียสละ



การแผ่เมตตา หากเราแผ่เมตตากะทันหันเมื่อความโกรธเกิดขึ้นเป็นการทำได้ยาก ท่านจึงให้ฝึกหัดแผ่เมตตาเป็นประจำไว้ก่อนจนเป็นนิสัย เมื่อถูกประทุษร้ายก็ไม่โกรธ



ความอดทน อดทนต่อการทำร้ายของคนอื่น ย่อมตัดเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทได้ รู้จักอดทนต่อคำกล่าวร้ายล่วงเกิน เหมือนช้างศึกอดทนต่อลูกศรที่พุ่งมาจากแล่งในสงคราม ไม่สะดุ้งสะเทือน ฉะนั้น



การใช้ปัญญาพิจารณาโดยชอบ พิจารณาให้เห็นโทษแห่งการจองเวร โดยพิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เราถูกทำเพราะเคยทำเขามาก่อนแล้ว ไม่ชาตินี้ก็ชาติที่ผ่านมา ถ้าเราแก้แค้นเขา เราจะต้องประสบทุกข์ยิ่งขึ้นอีก



ความเสียสละ เมื่อถูกเขาประทุษร้ายและเกิดความเสียหาย ก็ยอมเสียสละทิฏฐิมานะที่จะเอาชนะเสียได้



ทั้ง 4 ประการนี้ แต่ละอย่างเป็นวิธีที่ระงับเวรได้

วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ข้อเสียของการดื่มสุรา khaosod


ข้อเสียของการดื่มสุรา

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


คนที่ชอบดื่มสุราเป็นประจำ ทำให้ไม่สามารถครองเรือนได้ เพราะการดื่มสุราเป็นเหตุให้เกิดทุกข์มากมาย ในทางพระพุทธศาสนากล่าวโทษการดื่มสุราไว้ 6 ประการ คือ

1. เป็นเหตุให้เสียทรัพย์ทันตาเห็น เรียกว่า หมดทรัพย์ไปโดยไม่จำเป็น คนที่ดื่มสุราโดยมากจะดื่มเพียงคนเดียว ไม่ได้ดื่มทั้งครอบครัว แต่คนที่เดือดร้อนไปด้วยก็คือครอบครัว ส่วนทรัพย์ที่หามาได้ก็ร่วมกันหาทั้งครอบครัว แต่พอนำไปใช้ในการดื่มสุรา ย่อมนำไปใช้เพียงคนเดียว ทำให้ครอบครัวต้องอดอยากไปด้วย และบางรายก็ทำให้เสียทรัพย์มากขึ้น คือ ดื่มสุราอย่างไม่รู้ประมาณ



2. เป็นเหตุให้ก่อการทะเลาะวิวาทกัน คือ สุราเป็นของย้อมใจของผู้ดื่มให้กล้าและหน้าด้าน ไม่ให้กลัวในสิ่งที่ควรกลัว แม้แต่สิ่งที่ตนเคยกลัว พอเมาแล้วกลับไม่กลัว ความไม่กลัวนี่แหละเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาท เพราะต่างคนต่างก็ไม่กลัวกัน เมื่อเริ่มทะเลาะกันทางวาจา แล้วก็จะลุกลามถึงกับทำร้ายร่างกายกัน แล้วแต่ว่าในขณะนั้นใครมีอาวุธอะไร สุดท้ายก็บาดเจ็บล้มตาย หรือไม่ก็พิการติดคุกติดตะรางและที่สุดก็เดือดร้อนครอบครัว



3. เป็นบ่อเกิดแห่งโรคต่างๆ คือ สุราทำให้เกิดโรคมากมาย ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยตรงก็คือโรคตับแข็ง โรคพิษสุราเรื้อรังทำให้เสียชีวิตเร็วกว่าที่ควรจะเป็น และโรคโดยอ้อม ก็คือ โรคที่เกิดจากเมื่อเมาสุราแล้วก็เกิดความประมาท ไม่ได้ระวังป้องกัน ทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย



4. เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียงหรือถูกติเตียน คือผู้ที่ดื่มสุราจนเมาแล้วควบคุมตัวเองไม่ได้ จะทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น ทำร้ายคนอื่น ทำร้ายลูกเมีย หรือหนักมากถึงกับทำร้ายพ่อแม่ของตน หรือทำ พูด คิดในสิ่งที่ตนเองไม่ควรทำ ไม่ควรพูด ไม่ควรคิด ชื่อเสียงที่ตนเองเคยทำ หรือพ่อแม่ทำไว้ ก็จะเสียหายไปหมด



5. เป็นเหตุให้หมดความอาย คือ ผู้ที่เมาเพราะการดื่มสุราไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง จะเป็นเหมือนกันก็คือไม่รู้จักอาย กล้าแม้กระทั่งเปิดอวัยวะที่ควรปกปิดของตนเองให้ผู้อื่นดู หรือเปิดเผยความลับที่น่าอับอายของตนเองให้คนอื่นรู้ ยิ่งเป็นหญิง ยิ่งน่าอับอายยิ่งนัก



6. เป็นเหตุให้บั่นทอนปัญญา คือ ปัญญาของคนเราจะใช้ได้ดีก็ต่อเมื่อทั้งกายและใจเป็นปกติ เมื่อดื่มสุราเข้าไปจนเมาแล้วก็ควบคุมตัวไม่ได้ ปัญญาก็จะไม่ได้ถูกใช้ จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็หมดปัญญา ให้เก่งแค่ไหนเมื่อเจอพิษสุราเข้าไปแล้วก็เอาตัวไม่รอด



เพราะฉะนั้น โทษของการดื่มสุรามีมากมายขนาดไหน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า น้ำเปลี่ยนนิสัยคน คือ ทำคนปกติให้เป็นคนผิดปกติ ทำคนนิสัยดีให้เป็นคนนิสัยเสีย จากคนดีเป็นคนใจดำ จากคนใจสูง เป็นคนใจต่ำ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาเหล่านั้นจึงไม่สามารถครองเรือนครองชีพตนเองได้



ผู้หวังความเจริญจึงไม่ควรดื่มสุราอันเป็นเหตุแห่งความเสื่อม จนทำให้ตนเสื่อมและเสียในสิ่งที่ควรได้ และในที่สุดก็ไม่อาจที่จะครองเรือนครองชีพให้เป็นสุขได้

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ข้อไม่ควรประพฤติ khaosod

ข้อที่ไม่ควรประพฤติ

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร/ www.watdevaraj.com


ผู้หวังความเจริญ ควรประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปในทางที่ชอบ มีปัญญาพิจารณาว่า อะไรเป็นทางเสื่อมก็พึงละเว้น มุ่งหาแต่ทางที่เจริญ ทางที่ชอบประกอบด้วยประโยชน์ มีสติสัมปชัญญะ ตรวจตราให้รอบคอบประกอบด้วยเหตุผล ทำความเห็นให้เที่ยงตรง ทำความประพฤติปฏิบัติให้เป็นเครื่องนำประโยชน์มาให้แก่ตนและผู้อื่น ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใดกล่าวล่วงเกินว่า เป็นผู้บกพร่องในความประพฤติ



พระพุทธเจ้าทรงแสดงข้อที่ไม่ควรประพฤติ 2 ประการ คือ



ประการที่ 1 ไม่พึงเสพธรรมอันเลว ธรรมที่เลวในปัจจุบันนี้มีมากมาย เช่น ทุจริต 3 ประการ คือ ประพฤติชั่วทางกาย ประพฤติชั่วทางวาจา และประพฤติชั่วทางใจ



ประพฤติชั่วทางกาย แบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ เบียดเบียนชีวิตและความสุขของผู้อื่น เบียด เบียนเอาทรัพย์สมบัติ เบียดเบียนเชื้อสาย สกุลวงศ์



ประพฤติชั่วทางวาจา แบ่งออกเป็น 4 ประการ คือ กล่าวเท็จหักราญประโยชน์ผู้อื่น พูดทำลายความสามัคคี กล่าวคำเสียดสีให้ช้ำใจ กล่าวคำเหลวไหลไม่เป็นประโยชน์



ประพฤติชั่วทางใจ แบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ อยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ผูกใจเจ็บอาฆาตพยาบาทจองล้างจองผลาญ เห็นทางที่ผิดคิดว่าชอบว่าถูกต้อง



ประการที่ 2 ธรรมของคนพาล จัดว่าเป็นธรรมที่เลว เพราะเป็นธรรมของคนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่ประกอบด้วยปัญญาวิจารณญาณที่หยั่งรู้ถึงความผิดชอบชั่วดี เช่น



ความไม่รู้จักเหตุ ว่าเหตุนี้เป็นทางนำไปสู่สุข เหตุนี้เป็นทางนำไปสู่ทุกข์



ความไม่รู้จักผล เห็นตนว่ามีค่ากว่าฐานะที่เป็นอยู่



ความไม่รู้จักตน ไม่รู้จักสถานภาพของตนเองในด้านความรู้ความสามารถและคุณธรรม



ความไม่รู้จักประมาณในการแสวงหาหรือบริโภคใช้สอยทรัพย์สมบัติ



ความไม่รู้จักกาละที่จะประกอบกิจให้เหมาะสมกับกาลสมัย



ความไม่รู้จักประชุมชนซึ่งตนเองจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง



ความไม่รู้จักเลือกคบหาสมาคมแต่คนดี



เมื่อรู้ข้อที่ไม่รู้ควรประพฤติ 2 ประการนี้แล้ว จึงทรงแสดงข้อที่ควรประพฤติ 2 ประการ คือ



ประการที่ 1 ควรประพฤติธรรมที่ดี ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุขทั้งแก่ตนและผู้อื่น ได้แก่ สุจริต คือ ความประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ



ประการที่ 2 ควรประพฤติธรรมที่คนดีประพฤติกัน เรียกว่า สัปปุริสธรรม ได้แก่ ความเป็นผู้รู้จักเหตุ ความเป็นผู้รู้จักผล ความเป็นผู้รู้จักตน ความเป็นผู้รู้จักประมาณ ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชนบริษัทที่เกี่ยวข้อง ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบหาสมาคมแต่คนดี



ด้วยเหตุนี้ ผู้หวังความสุขความเจริญก้าว หน้าในชีวิต พึงหลีกเลี่ยงข้อที่ไม่ควรประพฤติ เลือกปฏิบัติแต่ข้อที่ควรประพฤติ

คุณสมบัติของคนดี ( สัปปุริสธรรม 7 )



คุณสมบัติของคนดี ( สัปปุริสธรรม 7 )


ธรรมของสัตบุรุษ , ธรรมที่ทำให้เกิดสัตบุรุษ , คุณสมบัติของคนดี , ธรรมของผู้ดี
ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ ( ธัมมัญญุตา) คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฏเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการหรือบรรลุจุดหมายอันนั้นๆ เป็นต้น
ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือรู้จักผล (อัตถัญญุตา) คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำ หรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้าง ดังนี้เป็นต้น
ความรู้จักตน (อัตตัญญุตา) คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสมและรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป
ความรู้จักประมาณ ( มัตตัญญุตา) คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น
ความรู้จักกาล ( กาลัญญุตา) คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่ควรหรือจะต้องใช้ในการประกอบกิจ ทำหน้าที่การงาน หรือ ปฏิบัติการต่างๆ เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลาให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น
ความรู้จักบริษัท (ปริสัญญุตา) คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น
ความรู้จักบุคคล ( ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา) คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้จักจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่คบ จะใช้ จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น

ภิกษุผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ข้อนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสังฆคุณครบ 9 แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระเจ้าพรรดิ ก็ทรงประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ (ท่านแสดงไว้เฉพาะข้อหลัก 5 ข้อ คือ ข้อ 1 , 2 , 4 , 5 , 6) จึงทรงยังธรรมจักรและอาณาจักรให้เป็นไปด้วยดี

ธรรมของสัตบุรุษ , ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ , คุณสมบัติของคนดี ( สัปปุริสธรรม 8)

ประกอบด้วยสัทธรรม 7 ประการ ( สทฺธมฺมสมนฺนาคโต)
ก. มีศรัทธา
ข. มีหิริ
ค. มีโอตตัปปะ
ง. เป็นพหูสูต
จ. มีความเพียรอันปรารภแล้ว
ฉ. มีสติมั่นคง
ช. มีปัญญา
ภักดีสัตบุรษ (สปฺปุริสภตฺตี ) คือ คบหาสมณพราหมณ์ ท่านผู้ประกอบด้วยสัทธรรม 7 ประการข้างต้น เป็นมิตรสหาย
คิดอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสจินฺตี) คือ จะคิดสิ่งใด ก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสมนฺตี ) คือ จะปรึกษาการใด ก็ไม่ปรึกษาเพื่อเบียดเบียดตนและผู้อื่น
พูดอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสวาโจ) คือ พูดแต่คำที่ถูกต้องตามวจีสุจริต 4
ทำอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสกมฺมนฺโต) คือ ทำการที่ถูกต้องตามกายสุจริต 3
มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสทิฏฺฐี ) คือ มีสัมมาทิฏฐิ เช่นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
ให้ทานอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสทานํ เทติ ) คือ ให้ตามหลักสัปปุริสทาน เช่นให้โดยอื้อเฟื้อทั้งแก่ของที่ตัวให้ ทั้งแก่ผู้รับทาน ให้ของบริสุทธิ์ ให้โดยเข้าใจถึงผลที่จะมีตามมา เป็นต้น

บางที่เรียกว่า สปฺปุริสธรรม 7 เพราะนับเฉพาะสัทธรรม 7 ในข้อ 1


ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ผู้แต่ง พระธรรมปิฎก สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2546 หน้า 210-219

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กำลังความเชื่อ khaosod


กำลังความเชื่อ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


กําลังความเชื่อในเรื่องใด สิ่งใด หรือการกระทำใดๆ ถ้าเกิดขาดความเชื่อมั่น หรือไม่มั่นใจแล้ว ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ยากที่จะทำสิ่งนั้นๆ งานนั้นๆ ให้ลุล่วงไปได้



ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างหลักให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวของใจ ให้ใจมั่นคง ให้เกิดความเชื่อมั่น เชื่อถือในสิ่งนั้นๆ ในงานนั้นๆ ที่จะทำ เช่น นักเรียนเชื่อมั่นในสถาบันการศึกษาของตนว่ามีคุณภาพดี สามารถให้การศึกษาที่เหมาะสม ทัดเทียม หรือดีกว่าสถาบันอื่นๆ ก็ทำให้นักเรียนมีกำลังผลักดันให้ตั้งใจเรียนและเรียนจบได้ง่าย



หรือข้าราชการเชื่อมั่นว่า หน่วยงานของตนมั่นคง และเปิดโอกาสให้ตนมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ก็ทำให้เขามีกำลังที่จะทำงานให้สำเร็จโดยเรียบร้อย



หรือศาสนิกชน เชื่อในศาสดา และคำสอนว่า สามารถช่วยให้พ้นทุกข์ มีความสุขได้จริง ก็ทำให้มีกำลังที่จะปฏิบัติตามอย่างเต็มที่



กำลังความเชื่อเช่นนี้ เกิดจากการมองเห็นคุณค่าบุคคล หรือสิ่งที่ตนเชื่อถือ ถ้าเรามองเห็นคุณค่าของใคร หรือสิ่งใด เราก็เชื่อมั่นในบุคคลนั้น ในสิ่งนั้น เช่น พุทธศาสนิกชนพิจารณาเห็นพระคุณของพระพุทธเจ้า ว่าทรงเพียบพร้อมด้วยพระคุณ 3 ประการ คือ



1. พระปัญญาคุณ คือ พระองค์ตรัสรู้อริยสัจธรรมอย่างถูกต้องด้วยพระองค์เอง ทรงสมบูรณ์ด้วยความรู้ ความประพฤติที่ดีงาม ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง คือ ทรงรู้ทั้งภูมิประเทศอย่างทะลุปรุโปร่ง ทรงรู้ถึงหมู่สัตว์ทุกจำพวก และทรงรู้เหตุผลที่ปรุงแต่งให้หมู่สัตว์มีอัธยาศัยแตกต่างกัน



2. พระบริสุทธิคุณ คือ พระองค์ทรงบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสความเศร้าหมองทุกประการ ไม่มีทุจริตทางกาย วาจา ใจ ที่จะต้องปิดบังซ่อนเร้น แม้เพียงเล็กน้อย ทำให้พระองค์เป็นผู้ควรแก่การบูชาของเทวดาและมนุษย์อย่างแท้จริง



3. พระมหากรุณาคุณ คือ พระองค์ เมื่อทรงบรรลุธรรม เป็นเหตุให้ทรงหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง สามารถที่จะเสวยวิมุตติสุขตามลำพังได้ แต่ทรงอาศัยพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงลำบากพระวรกาย เสด็จเที่ยวไปในถิ่นต่างๆ เพื่อทรงแสดงธรรมอันงดงามแก่หมู่สัตว์ ให้ได้ดื่มรสแห่งอมตธรรม หรือให้ได้ประโยชน์ในปัจจุบันบ้าง อนาคตบ้าง ตามสมควร พระองค์ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนา ให้เป็นมรดกล้ำค่าของมวลมนุษย์สืบมาจนทุกวันนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ผู้เป็นพระบรมครูของเราทั้งหลาย



เมื่อเราเชื่อมั่นในพระองค์และการตรัสรู้ของพระองค์ ก็ทำให้เราเชื่อถือในสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์ทรงสอนในเรื่องการกระทำ ทางกาย วาจา ใจ ที่เรียกว่ากรรม เมื่อบุคคลกระทำกรรมใด จะดีหรือชั่วก็ตาม เขาจะต้องได้รับผลการกระทำนั้นอย่างแน่นอน และกรรมนี้ ย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวทราม หรือประณีตดีงาม ผู้กระทำกรรมดีย่อมได้รับผลดีที่น่าปรารถนา น่าพอใจ ส่วนผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลร้าย ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ



เมื่อมีความเห็นถูกต้องเช่นนี้ ย่อมจะทำให้เกิดความเชื่อมั่น มีกำลังในการประกอบกรรมดี หลีกหนีกรรมชั่ว นำตัวให้ได้รับความสุข สงบร่มเย็น ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยไม่ท้อถอย

วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หลักทำให้เกิดความสามัคคี khaosod

หลักทำให้เกิดความสามัคคี

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


สามัคคีเป็นคุณธรรมสำคัญที่ผู้อยู่ร่วมหมู่คณะกัน จะพึงใส่ใจในการที่จะช่วยกันรักษาไว้ให้มั่นคง ด้วยมองเห็นประโยชน์ของหมู่คณะนั้นยิ่งใหญ่กว่าประโยชน์เฉพาะตน

เมื่อสามัคคีมั่นคงในที่ใด ที่นั้นย่อมมีความเจริญ ทั้งเป็นที่เกรงขามแห่งศัตรูหมู่คนที่คิดร้าย ยกตัวอย่างต้นไม้ที่ไม่มีวิญญาณครอง ถ้าขึ้นอยู่โดดๆ ถึงจะลำต้นใหญ่ มีกิ่งก้านกว้างใหญ่แผ่ไพศาล เมื่อถูกพายุใหญ่พัดมา ย่อมทนทานไม่ไหว ต้องหักโค่นลงด้วยลมพายุ เพราะไม่มีที่ต้านทานอิงอาศัย ส่วนต้นไม้ที่ขึ้นอยู่เป็นหมู่ แผ่สาขาออกอิงอาศัยกันและกัน เมื่อพายุใหญ่พัดมา ก็หาได้หักโค่นไม่ เพราะอาศัยค้ำจุนกันอยู่ในตัว เมื่อต้นนี้เอน ต้นนั้นคอยค้ำยันไว้ สามัคคีมีพลังดังที่กล่าวมานี้ ควรที่หมู่ชนจะปลูกฝังให้มีขึ้นในใจและรักษาไว้เป็นอย่างดีไม่ให้เสื่อม หลักที่ทำให้เกิดความสามัคคีนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ 6 ประการ คือ

1. มีไมตรีจิต คิดช่วยเหลือกันด้วยกาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ช่วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้ เมื่อบ้านเมืองมีภัยพิบัติ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย ก็สามัคคีช่วยกันด้วยกำลังกาย กำลังทรัพย์ จนผู้ประสบภัยดังกล่าวพ้นจากความทุกข์ ได้รับความสุข

2. มีไมตรีจิต คิดช่วยเหลือกันด้วยวาจา เช่น เตือนสติในคราวพลั้งเผลอ อันจะเป็นทางเสื่อมเสีย ช่วยแนะนำในข้อที่ยังไม่เข้าใจ ช่วยว่ากล่าวตักเตือนในคราวที่ประพฤติเหลวไหล เพื่อให้กลับตัวเป็นคนดี

3. ตั้งไมตรีจิตหวังความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนต่อกัน หวังความสุขความเจริญแก่กันด้วยใจ แม้ไม่มีเหตุที่จะต้องช่วยด้วยกายหรือวาจา แต่ถ้ามีใจหวังดีอยู่แล้ว อาการกายวาจาที่แสดงให้ปรากฏออกมา ก็จะเป็นที่ต้องอารมณ์ของกัน เพราะอาการที่แสดงออกมาทางกายและวาจานั้น ย่อมส่อถึงน้ำใจอันดี

4. เป็นผู้ไม่หวงเอาไว้แต่ผู้เดียว มีน้ำใจเผื่อแผ่ เฉลี่ยแบ่งปันลาภของตนที่ได้มาโดยชอบธรรมให้แก่ผู้สมควรให้ เช่น พี่น้องตลอดถึงเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง ในโอกาสที่ควรให้ ไม่เห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว ย่อมเหลียวแลถึงผู้ที่สมควรจะได้ ยอมให้มีส่วนร่วมในผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อเป็นเครื่องอนุเคราะห์ยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน

5. เป็นผู้มีความประพฤติทางกายวาจา สุภาพเรียบร้อยเสมอกัน ไม่ทำตนให้เป็นที่เกลียดชังของใครๆ ความประพฤติดีด้วยกายวาจานี้ เรียกว่าศีล เป็นเครื่องปรับปรุงคนให้มีระเบียบเสมอกัน ท่านเปรียบเหมือนด้ายที่ร้อยดอกไม้ต่างสีต่างพันธุ์ ให้เข้ากันเป็นระเบียบ แลดูงามฉะนั้น

6. เป็นผู้มีความเห็นร่วมกันในทางที่ชอบตามคลองธรรม ธรรมดาบุคคลย่อมมีความเห็นต่างกันได้ตามความคิดของตน แต่ถ้าในสิ่งเดียวกันเกิดมีความเห็นแย้งกันขึ้น ย่อมเป็นไปเพื่อความทะเลาะวิวาทกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างยืนยันว่าของตนถูก ก็ไม่มีทางที่จะกลมเกลียวเข้ากันได้ เพราะฉะนั้น ความเห็นจึงมีคลองธรรมคือความถูกต้องเป็นหลักเท่านั้น จึงจะรักษาสามัคคีไว้ได้

หลัก 6 ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ทำผู้ประพฤติให้เป็นที่รักเป็นที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นบุคคลผู้หวังความสุขความเจริญแก่ตนและหมู่คณะของตน พึงตั้งใจปลูกสามัคคีให้เกิดขึ้น

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สำนึกพลเมือง from khaosod


สำนึกพลเมือง

แยกประชาชื่น
ล็อกล้อ


ปัญหาน่ารำคาญอย่างเพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง ติดเครื่องรถยนต์ทิ้งไว้หน้าบ้านคนอื่น ปลูกต้นไม้วางข้าวของล้ำออกจากเขตบ้านของตัวเอง ฯลฯ



หรืออย่างจอดรถในที่ห้ามจอด หยุดรถขวางอยู่บนสัญลักษณ์ตารางสีเหลืองบนพื้นถนน พวกขับรถช้าอยู่ช่องทางขวา แซงขวาเบียดซ้ายแซงซ้ายเบียดขวา ฯลฯ



แม้จะเป็นปัญหาเล็กๆ น้อย แต่ก็สร้างความรำคาญใจให้คนที่ต้องเผชิญกับคนที่ไม่เคารพกติกา คนที่เห็นแก่ตัวไม่รับผิดชอบต่อผู้อื่น



ปัญหาเหล่านี้มีมายาวนาน แต่ไม่มีผู้รับผิดชอบ หรือรัฐบาลที่สนใจจะแก้ไขอย่างจริงใจ



แต่ก็น่ายินดีที่สภาการศึกษาพยายามผลักดัน ?ยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง พ.ศ.2553-2561? ออกมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม



แม้ว่ายุทธศาสตร์นี้จะมีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาทางการเมือง และเริ่มต้นมาในสมัยรัฐบาลชุดก่อน



เลยกำหนดยุทธศาสตร์มาสร้างสำนึกพลเมือง ซึ่งจะมีคุณสมบัติสำคัญ 6 ประการ คือ



1. มีอิสรภาพ (liberty) และพึ่งตนเองได้ (independent) ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของระบบอุปถัมภ์



2. เคารพสิทธิผู้อื่น ไม่ใช้สิทธิเสรีภาพของตนไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น (ทั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 ที่บัญญัติว่า ?บุคคลย่อมใช้...สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น?)



3. เคารพความแตกต่าง มีทักษะในการฟัง และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเอง



4. เคารพหลักความเสมอภาค เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น และเห็นคนเท่าเทียมกันมองคนเป็นแนวระนาบ ไม่ใช่แนวดิ่ง



5. เคารพกติกา เคารพกฎหมาย ใช้กติกาในการแก้ปัญหา ไม่ใช้กำลัง และยอมรับผลของการละเมิดกฎหมาย



6. รับผิดชอบต่อสังคม ตระหนักว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม กระตือรือร้นที่จะรับผิดชอบและร่วมแก้ไขปัญหาสังคมโดยเริ่มต้นที่ตนเอง



ถ้าประชาชนต่างมีคุณสมบัติทั้ง 6 ข้อ ที่ว่าปัญหาจุกจิกกวนใจก็ลดน้อยลงไป



การขยับขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไปข้างหน้าก็จะมีพลังจากประชาชนเหล่านี้สนับสนุน



น่าเสียดายฝ่ายการเมืองที่ผลักดันสำนึกพลเมืองนี้



ยังไม่ได้โชว์สำนึกพลเมืองให้ประชาชนเห็นเสียที

วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สัจจะ khaosod


สัจจะ

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร/watdevaraj@hotmail.com 0-2281-2430


สัจจะนั้นได้แก่ความจริง ความซื่อสัตย์หรือความซื่อตรง ซึ่งตรงกันข้ามกับความไม่จริงหรือความเท็จ ความคดโกง



ผู้ที่เกิดมาในโลกนี้ทุกคน ต่างก็ต้องการความจริง ความซื่อสัตย์หรือความซื่อตรงด้วยกัน ทุกเพศทุกวัย ไม่มีใครต้องการความเท็จ ความไม่จริง ความคดโกงเลย แต่ความจริงหรือความซื่อตรงนี้ เป็นของจริงซื่อตรงอยู่อย่างนั้นตามธรรมชาติ ไม่เปลี่ยนแปลงแปรผันเป็นอื่นไปได้ จะปรากฏความจริงหรือความซื่อตรงออกมาให้รู้ให้เห็น ก็ต้องอาศัยคนหรือวัตถุเป็นเครื่องแสดงออกมาให้ปรากฏ



ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะเนื่องด้วยคนเท่านั้น เพราะคนมีจิตหรือวิญญาณคอยสั่งงานให้เคลื่อนไหวแสดงอาการต่างๆ ออกมาให้ปรากฏ สัจจะความจริงหรือความซื่อตรงจึงเนื่องอยู่เฉพาะกับคน จัดเป็นธรรมเครื่องผูกพันสามัคคีในระหว่างกันและกันให้สนิทสนมมั่นคง



ถ้าคนขาดสัจจะแล้ว สามัคคีย่อมเป็นไปไม่ได้ สามีกับภรรยา ขาดความซื่อตรงต่อกัน ก็วางใจกันลงไปไม่ได้ ยากเพื่อจะปรองดองกัน จะมีแต่ระหองระแหงกัน ต่างก็อยู่กันไม่เป็นสุข หรือหย่าร้างกันไปก็ได้ ต่อเมื่อได้เห็นความซื่อตรงของกันและกัน จึงถูกใจกัน และอยู่ร่วมกันด้วยสามัคคี ญาติกับญาติ มิตรกับมิตร ถ้าคิดระแวงกัน ต่างก็ย่อมไม่คบหากันจริง เพราะไม่ไว้วางใจกัน ต่อเมื่อเกิดความ เชื่อถือกัน จึงไว้วางใจกัน ความมั่นใจไมตรีสามัคคีก็เกิดขึ้น แม้ที่สุด คนที่ซื้อขายด้วยกัน ถ้าขาดความซื่อตรงคิดแต่จะเอารัดเอาเปรียบกัน ย่อมทำการด้วยกันไม่ยืด



สัจจะ ความซื่อตรงนี้ ย่อมมีประโยชน์และเป็นธรรม บัณฑิตทั้งหลาย จึงจัดเป็นองค์อันหนึ่งในศีล 5 ศีล 8 หรืออุโบสถศีล ศีล 10 คือ ศีลข้อที่ 4 จัดเป็นธรรมจริยาฝ่ายสุจริตเรียกว่า วจีสุจริต จัดเป็นพุทธการกธรรม คือธรรมะที่เป็นคุณทำให้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่าสัจจ บารมี ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญ เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงตั้งสัจจะเป็นหลักคือพระโพธิ ญาณ ทรงบำเพ็ญมุ่งตรงต่อพระโพธิญาณนั้นอย่างเดียว ไม่ทรงเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นทรงได้รับการพยากรณ์จากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็นหน่อเนื้อเชื้อสายพระพุทธเจ้า จักได้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต และได้รับการพยากรณ์เช่นเดียวกันนี้ จากพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อๆ มาอีก 23 พระองค์ ใช้เวลายาวนานถึง 4 อสงไขยกับแสนกัปป์ เพราะความซื่อตรงต่อพระโพธิญาณนี้เอง จึงส่งผลให้ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัจจะจึงมีประโยชน์และเป็นธรรมอย่างนี้



สัจจะ ความซื่อตรงนี้ ต้องฝึกปฏิบัติให้เป็นไปโดยลักษณะคือ สัจจะต่อตนเอง สัจจะต่อวาจาของตน สัจจะต่อหน้าที่ สัจจะต่อการงาน สัจจะต่อบุคคล และสัจจะต่อสังคม



สัจจะต่อตนเองนั้น ได้แก่ ความซื่อตรงต่อตนเอง คือไม่เบียดเบียนตนเอง ด้วยความประพฤติในทางเสื่อมเสียหาย ไม่ประพฤติตนเป็นคนมัวเมาคลุกคลีทำเพศสัมพันธ์กับหญิงหรือชายจนเกินพอดี ไม่ดื่มเครื่องดองของมึนเมาและเสพสิ่งเสพติดทุกอย่าง วางตนให้ห่างไกลจากการพนันทุกชนิด คุ้มครองรักษาสุขภาพพลา นามัยของตนให้ดี ด้วยการไม่เที่ยวกลางคืน สมาคมคบ หากับกัลยาณมิตรเป็นเพื่อนร่วมคิดเป็นมิตรร่วมใจร่วมการงานใฝ่ใจแสวงหาความเจริญมั่งคั่ง ด้วยความอดทนขยันหมั่นเพียรประกอบกิจทำการงาน ไม่เกียจคร้าน



สัจจะต่อวาจาของตน ได้แก่ ความซื่อตรงต่อวาจา คือรู้จักรักษาคำพูด พูดอย่างใดต้องทำอย่างนั้น พูดจริงทำจริงไม่คลาดเคลื่อน พูดให้คำมั่นสัญญาหรือบนบานอย่างใดไว้ ต้องรักษาและปฏิบัติคำมั่นสัญญาหรือคำบนบานอย่างนั้น ไม่ทำให้เสียสัตย์



สัจจะต่อหน้าที่ ได้แก่ ความซื่อตรงต่อหน้าที่ที่ตนมีที่ตนเป็น ไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกัน ไม่หลบหลีกละทิ้งหน้าที่ที่ตนต้องทำ ไม่ทำในสิ่งที่มิใช่หน้าที่ของตน



สัจจะต่อการงานนั้น ได้แก่ ความซื่อตรงต่อการงาน มีความพอใจสนใจจดจ่อมุ่งหน้าทำการงานให้สำเร็จเป็นคนสู้งาน ไม่ละทิ้งปล่อยงานให้คั่งค้าง ไม่ผัดวันเวลาเป็นเครื่องกำหนด งานส่วนใดควรทำให้เสร็จในวันเวลานี้ ก็รีบจัดรีบทำให้เสร็จเรียบร้อย ด้วยอาจหาญร่าเริง ไม่ว่างานจะยากหรือง่ายหนักหรือเบา



สัจจะต่อบุคคล ได้แก่ความซื่อตรงต่อกันและกัน ระหว่างสามีกับภรรยา บิดามารดากับบุตรธิดา ญาติกับญาติ ผู้ใหญ่กับผู้น้อย เป็นต้น



สัจจะต่อสังคมนั้น ได้แก่ความซื่อสัตย์ต่อระเบียบ กฎ ข้อบังคับ ข้อกำหนด กฎหมาย ที่สังคมตั้งไว้เป็นหลักทำความประพฤติของคนในสังคมให้อยู่ในขอบเขต ป้องกันคนชั่วรักษาคนดี เพื่อการอยู่ร่วมกันโดยสงบร่มเย็นเป็นสุข ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยตามเสียงส่วนมาก ก็ต้องยอมรับไม่ล่วงละเมิด

วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประพฤติดี khaosod

ประพฤติดี
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
สุจริต แปลว่า การประพฤติชอบ การประพฤติดี หมายถึง การประพฤติที่เป็นเหตุให้บุคคล เป็นคนดี เป็นที่พึงประสงค์ เป็นที่ปรารถนาของอารยชน
คนเราจะมีคุณค่า หรือมีความดีที่คนอื่นเห็นความสำคัญ ให้ความยกย่องนับถือ หรือไว้เนื้อเชื่อใจ ยอมคบหาสมาคมเพราะมีดีอยู่ในตัว เช่น มีรูปร่างหน้าตาดี มีทรัพย์ดี เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด คือ การประพฤติดี เพราะคนที่มีความประพฤติดีเป็นพื้นฐาน แม้ดีอย่างอื่นจะบกพร่องไปบ้าง ก็ยังพอจะเอาตัวรอดเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของคนอื่นได้ หรือยังพอที่จะแสวงหาความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเองได้ 
ผู้มีความประพฤติดีจึงเป็นผู้มีสมบัติติดตัว เรียกว่า มีอาจารสมบัติ ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักสุจริตธรรม เป็นเครื่องกำหนดวัดบุคคลว่าเป็นผู้มีความประพฤติดี คือ มีพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกทางกายและทางวาจาในทางที่ดี รวมถึงความนึกคิดที่ดีอันเป็นเหตุแห่งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านั้น จำแนกตามเป็น 3 ทาง คือ
1. กายสุจริต หมายถึง การประพฤติดีทางกาย ได้แก่ การเว้นคือไม่ใช้กายทำความชั่วเลวทรามต่อผู้อื่นหรือสัตว์อื่น จำแนกเป็น 3 อย่าง คือ
1. เว้นจากการฆ่าสัตว์
2. เว้นจากการลักทรัพย์
3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
2. วจีสุจริต หมายถึง การประพฤติดีทางวาจา ได้แก่ การงดเว้นคือไม่ใช้คำพูดที่ชั่วหยาบต่อผู้อื่น จำแนกเป็น 4 อย่าง คือ
1. เว้นจากการพูดเท็จ
2. เว้นจากการพูดส่อเสียด
3. เว้นจากการพูดคำหยาบ
4. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
3. มโนสุจริต หมายถึง ความประพฤติดีทางใจ ได้แก่ ความรู้จักยั้งคิดไม่ปล่อยจิตให้คิดชั่วร้ายหมายปองทรัพย์สินหรือชีวิตของผู้อื่น แต่ให้คิดดีถูกต้องตามหลักกุศลธรรม จำแนกเป็น 3 คือ
1. ความไม่โลภอยากได้ของเขา
2. ความไม่พยาบาทปองร้ายเขา
3. ความเห็นชอบตามคลองธรรม
สุจริต 3 อย่างนี้ เป็นธรรมที่ควรเจริญ คือ เป็นสิ่งที่ควรทำ ควรประพฤติ ควรเจริญให้เกิดมีขึ้นในตน 
การทำบุญย่อมอำนวยผลให้บุคคลผู้กระทำมีความสบายกาย สบายใจ และเมื่อตายไปแล้ว ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เรียกว่า ไปดี การประพฤติสุจริตนั้นเป็นเหตุให้เกิดความสุข คือ ความสบายกาย ความสบายใจ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุคือการทำความดี 

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

เปรียบความโกรธเช่นงูพิษ khaosod


เปรียบความโกรธเช่นงูพิษ

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


งูพิษเป็นสัตว์มีพิษร้ายแรงและไม่ร้ายแรง เป็นสัตว์ที่น่ากลัวจำพวกหนึ่ง คนเห็นงูจึงต้องวิ่งหนี เพราะกลัวถูกกัด หากถูกกัดแก้ไม่หาย อาจถึงตายได้

งูพิษเราสามารถเอาชนะ หรือพอระวังได้ ส่วนคนที่มีพิษ คือความโกรธน่ากลัวมาก ความโกรธเกิดจากเหตุหลายประการ เช่น ถูกด่า ถูกนินทา ถูกกล่าวร้าย ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทำลายทรัพย์สิน ถูกชนะโดยไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม และถูกรังแก เป็นต้น

ความโกรธเมื่อเกิดแล้ว ย่อมแสดงอาการทำร้ายคนอื่น ด่าว่าคนอื่นด้วยคำหยาบคาย ทำลายสิ่งของ ในขณะโกรธ สติกับปัญญาหายไปหมด ขาดความรอบคอบ ขาดความยับยั้ง

เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ต้องรีบดับด้วยธรรม อย่าให้ความโกรธพ่นพิษออกมาทางปาก ทางมือ ทางเท้า คนอยู่ร่วมกันจะเดือดร้อน ธรรมเครื่องดับความโกรธมีมากมาย ขอยกตัวอย่าง 3 ประการ คือ

ความอดทนได้แก่ การระงับยับยั้งความโกรธ ที่เกิดจากการถูกด่า ถูกนินทา ถูกเขาทำร้าย ถูกเขาชนะ ถูกเขาขโมยสิ่งของไป ระงับยับยั้งกายวาจา ให้ตั้งอยู่ปกติ ไม่ทำร้ายตอบ ไม่กล่าวร้ายตอบ เป็นการห้ามปรามเหตุร้ายไม่ให้เกิดขึ้น

โยนิโสมนสิการได้แก่ การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย เมื่อถูกเขาทำร้าย พูดร้าย พึงทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายว่า เมื่อวันก่อน เดือนก่อน เราเคยทำร้าย พูดร้ายต่อเขาไว้ มาวันนี้ เดือนนี้ จึงต้องประสบบ้าง อย่าโกรธเขาเลย

ทำจิตเหมือนแผ่นดิน ทำจิตเหมือนน้ำ แผ่นดินนั้น ใครๆ เอาสิ่งสกปรกรดลงก็ไม่โกรธ เอาของหอมรดลงก็ไม่ยินดี น้ำก็เช่นเดียวกัน ใครๆ เอาน้ำไปชำระสิ่งสกปรก น้ำก็ไม่โกรธ เอาของหอมประพรมน้ำก็ไม่ยินดี

เมตตาได้แก่ ความรัก ความปรารถนาดี ความเอื้ออารีต่อคนอื่นสัตว์อื่น ผู้มาทำร้ายเรา ผู้มาด่าเรา แผ่เมตตาไปโดยเจาะจงว่า ขอจงมีความสุข อย่ามีความทุกข์ จงประสบสิ่งอันน่าปรารถนา เรียกว่า เมตตาที่แผ่ไปโดยเจาะจง เป็นเมตตาที่แผ่ไปในวงแคบ

ส่วนเมตตาที่แผ่ไปโดยไม่เจาะจงคือ แผ่ไปในคนและสัตว์ทั่วไป ทั้งที่เรารัก ทั้งที่เราเกลียด ทั้งที่เป็นศัตรูต่อเราว่า ขอสัตว์ทั้งหลาย จงอย่ามีเวรต่อกันและกัน จงอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงอย่ามีทุกข์กายทุกข์ใจ จงบริหารให้เป็นสุขเถิด เรียกว่า เมตตาที่แผ่ไปไม่เจาะจง เมตตาที่แผ่ไปในวงกว้าง

ผู้มีเมตตาประจำจิต ความโกรธย่อมเบาบางหมดไป เมตตาจึงเป็นเหมือนน้ำเครื่องชำระพิษคือความโกรธออกจากจิตใจ เมื่อใจปราศจากพิษคือความโกรธแล้ว ย่อมเยือกเย็น

งูเป็นสัตว์มีพิษ แต่ก็มียาแก้ได้ ส่วนคนมีพิษคือความโกรธอันเป็นพิษภายใน ต้องอาศัยธรรมเครื่องขับไล่พิษคือความโกรธ 3 ประการ คือ ความอดทน การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย และแผ่ความรักความปรารถนาดี จะทำให้ให้เป็นผู้มีจิตใจปราศจากพิษคือความโกรธ มีความสุขกาย สบายใจ

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

จิตอาสา : ภาวนาแห่งรักที่ยิ่งใหญ่ khoasod

จิตอาสา : ภาวนาแห่งรักที่ยิ่งใหญ่

หน้าต่างศาสนา
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ


วิกฤตน้ำท่วมผ่านไปแล้ว แม้ว่ายังมีส่วนที่จะต้องซ่อมแซมแก้ไขหลายแห่ง และหลายสิ่งต้องสลายหายไปกับน้ำ 

แต่วันนี้ทุกคนเริ่มที่จะเก็บกู้และสร้างชีวิตใหม่ขึ้นมาด้วยความอุตสาหะ พยายามด้วยแรงกายแรงใจ ค่อยต่อเติมปรับปรุงสิ่งที่เสียไปให้สามารถกลับมาสู่สภาพเดิมให้เร็วที่สุด 

โดยเฉพาะจิตใจ เมื่อทำใจได้บ้างแล้วทุกอย่างก็ค่อยดีขึ้น

มีกระแสหนึ่งซึ่งมาพร้อมน้ำท่วม แต่น้ำลดกระแสนี้ก็ยังไม่หมดไป นั่นคือ กระแสของกลุ่มคนที่มีใจอยากจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในยามวิกฤต ซึ่งคนเหล่านี้นอกจากจะบริจาคทรัพย์แล้วยังเสียสละกำลังกายด้วยแรงใจของตนเอง แสดงออกในแนวทางต่างๆ ที่ตนสามารถทำได้ เพื่อบรรเทาความทุกข์ของพี่น้องผู้ประสบภัย

หลายกลุ่มที่แม้น้ำลดลงแล้ว แต่ยังเคลื่อนไหวในงานอาสาด้านอื่น ด้วยหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น เป็นการเจริญจิตตภาวนา พัฒนาตนด้วยการช่วยคนพัฒนา 

จิตอาสาคนหนึ่งบอกว่า "ดีใจที่ได้มีโอกาสทำอะไรดีๆ ให้กับผู้อื่น ตนเองก็ได้ประสบการณ์ชีวิต ทั้งการทำงานร่วมกับคนอื่น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นการฝึกทักษะชีวิต ฝึกจิตใจให้เป็นคนเข้มแข็ง มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเราไม่ต้องสนใจว่าเขาเหล่านั้นเป็นใคร"

การทำงานจิตอาสามีหลักในการภาวนาอยู่ 4 ประการ เรียกว่า พรหมวิหาร คือ

เมตตา คือ เป็นอยู่ด้วยความรัก ตระหนักในคุณค่าของชีวิตตนเองและผู้อื่น 

กรุณา คือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ เป็นการนำความรักให้โลกได้สัมผัส ภายในจิตใจมีความสว่างที่สามารถส่องแสง ให้ทางและให้โอกาสแก่ผู้อื่นสามารถลุกขึ้นและเดินได้ด้วยตนเอง 

มุทิตา คือ ความร่วมเบิกบานในงานแห่งความสุข เรียนรู้ที่จะแบ่งปันหรือแชร์ความสุขร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช่ช่วยเขาเพื่อสุขเรา แต่เพื่อพ้นทุกข์ร่วมกัน 

อุเบกขา คือ การเรียนรู้ที่จะยอมรับความเป็นจริง ยามเมื่อหลายสิ่งไม่เป็นดั่งใจหมาย เข้าใจและทำใจได้ในการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขที่เป็นไปตามเหตุและผล อดทนและปล่อยวางได้พร้อมทั้งฝึกฝืนใจเพื่อที่จะก้าวเดินต่อไปในภารกิจข้างหน้า 

ในวันนี้กลุ่มคนจิตอาสายังคงทำงานบนพื้นฐานของการเรียนรู้และพัฒนาจิตใจด้วยพรหมวิหารธรรม และการภาวนาแห่งรักที่ไม่มีเงื่อนไข 

มีเพียงหัวใจดวงน้อยๆ ที่ค่อยๆ ต่อเติมความดีที่ยิ่งใหญ่ น่าอนุโมทนา...