วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

มัจฉริยะ khaosod


มัจฉริยะ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด


คําว่า มัจฉริยะ แปลว่า ความตระหนี่ หมายความว่า หวงแหน เหนียวแน่น ท่านจำแนกไว้ 5 ประเภท คือ

1. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ ได้แก่ ความหวงแหนที่อยู่อาศัยอันเป็นของตน ไม่พอใจให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นคนต่างด้าว ต่างชาติ ต่างนิกาย ต่างหมู่ ต่างคณะ ต่างพรรค ต่างพวก ต่างประเพณี กับฝ่ายตน เข้ามาอยู่อาศัยปะปนแทรกแซง จัดเป็นอาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่

2. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่สกุล ได้แก่ ความหวงแหนสกุลของตนเอง ไม่มีความประสงค์ คือไม่ต้องการให้สกุลอื่นภายนอกมาเกี่ยวดองผูกพันด้วย จัดเป็นกุลมัจฉริยะ ในฝ่ายคฤหัสถ์

อนึ่ง ความหวงแหนสกุลอุปัฏฐากของภิกษุ ไม่พอใจ คือไม่ยินดีให้บำรุงอุปถัมภ์ภิกษุอื่นๆ คอยกีดกันตัดรอนเสียโดยประการต่างๆ จัดเป็นกุลมัจฉริยะในฝ่ายบรรพชิต

3. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ ได้แก่ ความหวงแหน เหนียวแน่น ทรัพย์สมบัติพัสดุสิ่งของต่างๆ ซึ่งเป็นของตน ไม่ต้องการจะแบ่งปันให้บุคคลอื่น มีลาภมาก ก็มีความโลภมาก คำว่า พอละ หามีแก่คนตระหนี่ไม่ มีทรัพย์สมบัติเท่าใด ก็เก็บไว้เป็นทรัพย์สมบัติส่วนตนเท่านั้น จัดเป็นลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ

4. วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ ได้แก่ หวงแหนคุณงามความดี ไม่มีความปรารถนาให้บุคคลอื่นทัดเทียมตน หรือเสมอกับตนในคุณงามความดีนั้นๆ หมายความว่า ไม่ต้องการให้ผู้อื่นสู้ได้นั่นเอง จัดเป็น วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ

อีกอย่างหนึ่ง คำว่า วัณณะ แปลว่า สีกาย ได้แก่ ความหวงสวย หวงงาม อันเป็นกิเลสของสตรีสาว ไม่มีความปรารถนาให้หญิงสาวอื่นๆ สวยงามไปกว่าตน ก็นับเข้าในวัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะเหมือนกัน

5. ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรมะ ได้แก่ ความหวงแหนธรรมะ หวงศิลปวิทยาการต่างที่ตนเคยศึกษาเล่าเรียนมา ไม่มีความปรารถนาจะแสดง จะบอก จะกล่าวสั่งสอนให้แก่บุคคลอื่นๆ ด้วยเกรงว่า เขาจะรู้ทัดเทียมตน เพราะต้องการรู้เฉพาะตัวแต่ผู้เดียวเท่านั้น จัดเป็นธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรมะ



พระเทพคุณาภรณ์

(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

www.watdevaraj.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น