วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทรัพย์อันประเสริฐ (ข่าวสด)

ทรัพย์อันประเสริฐ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พูดถึงทรัพย์ หลายคนก็ต้องการอยากจะได้ อยากจะมีกันทุกๆ คน แต่ทรัพย์ที่ยั่งยืน ทรัพย์ที่ถาวร เป็นอย่างไร?

ใน ทางพระพุทธศาสนาท่านกล่าวว่า ทรัพย์ที่ประเสริฐ หรืออริยทรัพย์ มีอยู่ 7 ประการ คือ 1.ทรัพย์คือศรัทธา 2.ทรัพย์คือศีล 3.ทรัพย์คือหิริ 4.ทรัพย์คือโอตตัปปะ 5.ทรัพย์คือสุตตะ 6.ทรัพย์คือ จาคะ และ 7.ทรัพย์คือปัญญา

1.ทรัพย์คือศรัทธา ศรัทธาหมายถึงความเชื่อ คนเราเกิดมาก็ได้รับการอบรมให้มีความเชื่อที่ต่างกัน สุดแต่ว่าคนนั้นจะเกิดอยู่ในชุมชนหรือครอบครัวที่มีความเชื่ออย่างไรก็อาจจะ เชื่อไปตามนั้น แต่ความเชื่อที่เรียกว่าศรัทธาในทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ความเชื่อในเหตุ-ผล ในกฎแห่งกรรม ไม่ใช่ความเชื่อทั่วๆ ไป

องค์ประกอบของศรัทธาคือความเชื่อนั้นท่านให้หลักไว้ 4 ประการ คือ

1.1 กมฺมสทฺธา เชื่อกรรมคือการกระทำดี-ชั่ว ว่ามีจริง

1.2 วิปากสทฺธา เชื่อผลของกรรม คือ เชื่อว่าผลของกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง

1.3 กมฺมวิปากตาสทฺธา เชื่อว่าทุกคนต้องเป็นไปตามกรรมและผลของกรรมที่ตนเองกระทำไว้

1.4 ตถาคตโพธิสทฺธา เชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือเชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อริยสัจธรรม 4 ประการและกฎแห่งกรรมจริง

2.ทรัพย์ คือศีล ศีล แปลว่าปกติ หรือเย็น คำว่าปกติหมายความว่ามีความปกติทางกาย วาจา ใจ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งการกระทำและ คำพูด คนมีศรัทธารักษาศีลทำให้บุคคลนั้นเป็นคนที่น่านับถือ เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของผู้คน

3.ทรัพย์คือหิริ ความละอายแก่ใจ เมื่อตนเองทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้องตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา

4.ทรัพย์ คือความกลัวผลของบาป ความทุกข์ความเดือดร้อนอุปสรรคต่างๆ อันเป็นผลของบาปกรรมที่ตนเองหากกระทำลงไปจะได้รับผล การกลัวผลของบาปแล้วเป็นเหตุให้ไม่ทำบาปหรือทำผิดศีลนั่นเอง

5.ทรัพย์ คือสุตตะ ได้แก่การสดับตรับฟังหรือการศึกษา การเล่าเรียนศึกษามากเป็นเหตุให้เกิดปัญญา การเรียนนั้นก็ต้องอาศัยการฟังเป็นหลัก ผู้เรียนมากฟังมากหรือมีประสบการณ์มากย่อมเป็นผู้มีความรู้

6.ทรัพย์ คือจาคะ ความสละแบ่งปัน การแบ่งปันนั้นก็จัดอยู่ในทานมัยกุศล คนตระหนี่ย่อมไม่มีจาคะ คนที่มีศรัทธาย่อมเสียสละแบ่งปัน ทานมัยกุศลจึงเป็นเหตุให้เกิดการบริจาค คนที่มีจาคะชื่อว่ามีอริยทรัพย์ เพราะเป็นการฝังทรัพย์ไว้เป็นบุญส่วนตัวที่ใครๆ จะแย่งชิงเอาไปไม่ได้

7.ทรัพย์ คือปัญญา ปัญญาถือว่าเป็นทรัพย์อันสำคัญที่สุด พระพุทธองค์ทรงยกย่องปัญญาว่าเป็นแสงสว่าง ปัญญาเป็นเครื่องควบคุมตนเอง และยิ่งกว่านั้นปัญญายังทำให้มีความเห็นที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ

อริยทรัพย์ ทั้ง 7 ประการนี้ถือว่าเป็นทรัพย์ภายใน เป็นทรัพย์ ที่ประเสริฐที่จะทำให้บุคคลเป็นอริยชนได้ ท่านทั้งหลายจึงควรขวนขวายสั่งสมอริยทรัพย์ทั้ง 7 ประการนี้ให้เกิดมีขึ้นในตน จะได้เป็นคนมีทรัพย์ทั้งภายนอกภายในอันเป็นเหตุได้รับความสุขทั้งทางกายและ ทางใจ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า



พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

หลักการแก้จน จากข่าวสด

หลักการแก้จน ตามแนวพุทธศาสนา

คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา
ขบวน การแก้จน ตามแนวทางพระพุทธศาสนา มีจุดมุ่งหมายให้เกิดประโยชน์สูงและประหยัดสุด โดยมุ่งเน้นประโยชน์สุข ปัจจุบัน อันเป็นที่ต้องการของบุคคลทั่วไป

ทั้งนี้ บุคคลใดต้องการร่ำรวยมีทรัพย์สินเงินทองและเกียรติยศชื่อเสียง จะต้องปฏิบัติตามหลักธรรม 4 ประการ หรือเรียกว่า หัวใจเศรษฐี อุ อา กะ สะ โดยจะต้องประพฤติดีปฏิบัติชอบ ดังต่อไปนี้

1.อุ ย่อมาจากคำว่า อุฏฐานสัมปทา แปลว่า ให้ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาความ รู้ หนักเอาเบาสู้ในหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย กิจการทั้งหลายต้องรู้จักรับผิดชอบ โบราณกล่าวว่า ทรัพย์นี้มิไกล ใครปัญญาไว หาได้บ่นาน ทั่วแคว้นแดนดิน มีสิ้นทุกสถาน ผู้ใดเกียจคร้าน บ่พานพบนา ซึ่งหมายถึง ทรัพย์สินเงินทองมีอยู่ทุกหนแห่ง ขออย่างเดียวอย่าเกียจคร้าน ให้ลงมือทำงานทุกชนิดอย่างจริงจังตั้งใจ

2.อา ย่อมาจากคำว่า อารักขสัมปทา แปลว่า ให้ถึงพร้อมด้วยการรักษาคุ้มครองทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ด้วยความขยัน หมั่นเพียร ไม่ให้เงินทองรั่วไหลมีอันตราย ระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมิให้เปลืองเงินทองโดยใช่เหตุ ตลอดจนรักษาหน้าที่การงานของตัวเองไม่ให้เสื่อมเสีย ขอให้ยึดหลักการเก็บเล็กผสมน้อย หรือการเก็บหอมรอมริบ ซึ่งล้วนเป็นขบวนการเก็บรักษาทรัพย์สินเงินทองที่ได้ผลเป็นอย่างยิ่ง

3.กะ ย่อมาจากคำว่า กัลยาณมิตตตา แปลว่า การมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว เพราะคบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล คบคนจึงต้องดูหน้าว่าเพื่อนเป็นคนดีที่มีลักษณะไม่เป็นคนปอกลอก ไม่ดีแต่พูด ไม่หัวประจบ และไม่เป็นคนชักชวนไปในทางฉิบหาย มีการดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน มัวเมาในการเล่นและผีการพนันเข้าสิงจิตใจ

4.สะ ย่อมาจากคำว่า สมชีวิตา แปลว่า การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ รู้จักกำหนดรายรับและรายจ่าย อย่าให้สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือยหรืออัตคัดขัดสนจนเกินไป ให้รู้จักออมเงินเอาไว้ ฉุกเฉินเมื่อไรจะได้ใช้เงินออม และขอให้ถือคติว่า

ความ ปรารถนาที่จะเห็นเมืองไทยปราศจากความยากจนนั้นเป็นไปได้ เพียงขอให้คนไทยได้ประพฤติปฏิบัติตามหลักหัวใจเศรษฐี 4 ประการ คือ ขยันหา รู้จักเก็บรักษา คบคนดี มีชีวิตพอเพียง

เพียงพอที่จะเยียวยาแก้ไขปัญหาความยากจนของคนไทย
สาโรจน์ กาลศิริศิลป์

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา (ข่าวสด)

ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

คอลัมน์ ศาลาวัด
พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นพิธีสาบานตนในการรับราชการ จะซื่อตรงต่อแผ่นดินและปกป้องชาติบ้านเมืองให้เกิดความสงบสุข

โดยข้าราชการทั้งหลายจะต้องดื่มน้ำสาบานตน จำเพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง พราหมณ์จะทำพิธีเสกน้ำสาบานนี้ แล้วนำพระแสง (อาวุธ) ต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ลงชุบในน้ำที่เสกนั้น

เพื่อหมายให้ผู้ที่ไม่ซื่อตรงต่อแผ่นดินจะต้องได้รับโทษต่างๆ นานา

ประเพณีการถือน้ำพิพัฒน์สัตยานั้นมาจากแนวความคิดที่ว่ากษัตริย์เป็นสมมติ เทพ คือ มาจากอินเดียโดยตรง เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ปกครองประเทศแต่ก่อนล้วนทรงเป็นนักรบ

ดังนั้น จึงได้ยึดถือเอาการกระทำสัตย์ปฏิญาณตนด้วยวิธีดื่มน้ำชำระล้างอาวุธ หรืออีกนัยหนึ่งที่เรียกกันว่า พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นพิธีสำคัญของบ้านเมืองมาแต่โบราณ ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยามาตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอู่ทองเริ่มสร้างกรุง ศรีอยุธยา

ถือว่าการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นพิธีสำคัญ ซึ่งบรรดาข้าราชการผู้มีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับความยุติธรรมแห่งบ้านเมืองจะ ขาดเสียมิได้ ถึงกับตราเป็นตัวบทไว้ในกฎมณเฑียรบาลไว้ว่า ...

1.ผู้ที่ขาดการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยามีโทษถึงตาย เว้นแต่ป่วยหนัก

2.ห้ามสวมแหวนนากแหวนทองมมาถือน้ำ

3.ห้ามบริโภคอาหารหรือน้ำก่อนดื่มน้ำพิพัฒน์

4.ดื่มน้ำแล้วห้ามยื่นน้ำให้แก่กัน

5.ดื่มแล้วต้องราดน้ำที่เหลือลงบนผมของตน

ข้อปฏิบัติดังกล่าว เป็นการระวางโทษไว้เหมือนหนึ่งว่า เป็นกบฏ คือ โทษใกล้ความตายทั้งนี้ เพื่อประสงค์จะให้น้ำพิพัฒน์สัตยาที่ทำขึ้นนั้นเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์และดื่ม ในโอกาสแรกของวันนั้น

ต่อมาภายหลังปรากฏว่าพิธีการเช่นนั้น ทำความลำบากให้แก่ผู้เข้าร่วมพิธี โดยเฉพาะผู้สูงอายุทนหิวไม่ไหว จนอาจถึงกับมีอันเป็นไปก่อนได้ดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงอนุญาตให้บริโภคอาหารมาก่อนได้และไม่ถือว่าเป็นกบฏ

สำหรับการถือน้ำที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ มี 5 อย่าง จำแนกเป็น 2 ประเภท

การถือน้ำประจำ ได้แก่ การถือน้ำปกติ ปีละ 2 ครั้ง ในพิธีตรุษเดือน 5 พิธีสารทเดือน 10 เป็นการถือน้ำของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดจนบรรดาข้าราชการในกรมของพระราชวงศ์ และการถือน้ำประจำเดือนของทหารที่ผลัดเปลี่ยนเวรเข้าประจำการทุกวันขึ้น 3 ค่ำ

การถือน้ำจร คือ การถือน้ำเป็นกรณีพิเศษ ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน ได้แก่ การถือน้ำเมื่อแรกพระเจ้าแผ่นดินได้รับราชสมบัติ เป็นต้น

ความเป็นผู้ซื่อตรง จากข่าวสด

ความเป็นผู้ซื่อตรง

คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา

สาโรจน์ กาลศิริศิลป์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
"ความ เป็นผู้ซื่อตรง" หรือคำว่า อาชชวะ มีความหมายถึง การสุจริตต่อหน้าที่การงานของตน ต่อมิตรสหาย ต่อองค์กรหรือหลักการของตน อาทิ เป็นคนไทยก็ต้องซื่อตรงต่อชาติ พระศาสนาและพระมหากษัตริย์

ความซื่อตรง แบ่งออกเป็น 6 ประการ อธิบายได้ ดังนี้

1.ตรง ต่อบุคคล คือ มีความซื่อสัตย์สุจริต ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตน โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่เนรคุณผู้มีพระคุณ และไม่เป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก

2.ตรงต่อเวลา คือ จะนัดหมายกับใคร หรือจะทำงานสิ่งใดก็ให้ตรงเวลาที่กำหนดไว้ และไม่เอาเวลาราชการไปเป็นประโยชน์ส่วนตน

3.ตรงต่อวาจา คือ เมื่อได้รับปากกับใครว่าจะทำสิ่งที่ดีและสุจริต จะไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีและทุจริต ก็ให้กระทำตามที่ได้ลั่นวาจาไว้

4.ตรงต่อหน้าที่ คือ ซื่อสัตย์สุจริตและจริงใจต่อหน้าที่การงานของตน ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่ละทิ้งหน้าที่และปัดความรับผิดชอบ

5.ตรงต่อธรรมะ คือ การยึดมั่นในหลักคุณธรรม และบูชาความถูกต้อง ความยุติธรรม ความชอบธรรมไว้เหนือสิ่งอื่นใด

6.ตรงต่อตนเอง คือ การไม่โกหกตนเอง ซื่อสัตย์สุจริตต่ออุดมการณ์ของตน ไม่ฝืนใจทำในสิ่งที่ไม่ใช่ปณิธานของตนเอง

อา ชชวธรรม จึงเป็นหลักธรรมสำคัญในการปกครอง เพราะคนอยู่รวมกันเป็นหมวดหมู่ ถ้าผู้นำปฏิบัติตนไม่ซื่อตรงไม่ซื่อสัตย์ จะเป็นบ่อเกิดแห่งความประพฤติทุจริตคิดมิชอบและก่อให้เกิดความหวาดระแวง ถ้าประพฤติตรงและปฏิบัติตรงต่อกัน มีความจริงใจต่อกันและกันแล้ว ก็จะก่อให้เกิดความไว้วางใจ ยอมรับนับถือและสมัครสมานสามัคคี ก็จะอยู่เย็น เป็นสุข ไม่ต้องอยู่ร้อน นอนทุกข์ เพราะประพฤติผิดปฏิบัติผิด

สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแสดงอรรถาธิบายขยายความคำว่าอาชชวะในพระราชนิพนธ์เรื่อง "ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท" ตอนหนึ่งว่า "พระมหากษัตริย์ จะต้องมีพระอัธยาศัยประกอบด้วยความเที่ยงตรงต่อประชาชนโดยทั่วไป ไม่ทรงคิดลวงหรือประทุษร้ายผู้ใด"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยความซื่อตรง ทรงยึดมั่นอยู่ในหลักแห่งอาชชวธรรม โดยไม่ทรงเอนเอียงเปลี่ยนแปลงไป พระองค์ทรงโดดเด่นเป็นสง่าประทับอยู่ในดวงหทัยของพสกนิกรชาวไทยตลอดมา ก็เพราะทรงมีพระราชอัธยาศัยซื่อตรงทรงสัตย์ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเสมอกันหมดไม่ทรงเอนเอียงหรือหนักไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดใด ภาคไหนหรือนับถือศาสนาอะไรก็ตาม

พรของพระ จากข่าวสด

พรของพระ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
ความ สุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา สิ่งที่ทุกคนปรารถนาอาจจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละเรื่องแต่ละอย่าง แต่สิ่งที่ทุกคนปรารถนาอยากจะมี อยากจะเป็นเหมือนๆ กัน มี 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ เรียกว่าพรสี่ประการ

คำว่า พร แปลว่า ประเสริฐ ถ้าเป็นสิ่งของก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ถ้าเป็นคำพูดก็เป็นคำพูดที่ดีที่ประเสริฐ ถ้าพรอยู่ที่ใจ ใจก็เป็นใจที่ประเสริฐ ถ้าเป็นธรรมก็จะเป็นธรรมที่ประเสริฐ

อายุ คือ ความเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง หมายถึง เปลี่ยนแปลงสู่ความสลายและเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน บางคนแม้จะมีอายุยืนยาว แต่เป็นอยู่ด้วยความประมาท หลงติดยาเสพติด หลงในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จนทำให้หลงผิดละเว้นหน้าที่ที่ตนพึงกระทำ ชื่อว่า มีอายุความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความสลาย แม้จะมีชีวิตอยู่ก็เท่ากับว่าเป็นผู้ตายแล้ว บางคนแม้จะมีอายุน้อย แต่เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท ตั้งใจทำหน้าที่ของตนให้บริบูรณ์ และเว้นทางที่จะนำไปสู่ความเสื่อม ชื่อว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน คือ แม้จะตายไปแล้ว ก็เป็นเหมือนมีชีวิตอยู่

วรรณะ มีความหมาย 4 ประการ คือ 1.หมายถึงผิวพรรณ หน้าตาอิ่มเอมผ่องใส 2.หมายถึงการยกย่องสรรเสริญ ได้รับการยอมรับจากสังคม 3.หมายถึง ยศชั้น ฐานันดร ตำแหน่งหน้าที่การงานต่างๆ ให้เจริญก้าวหน้ามั่นคงถาวร 4.หมายถึง เพศ เป็นเพศชายเพศหญิงที่สมบูรณ์

สุขะ หมายถึง สภาพที่ทนได้ง่าย ความสบาย ความสะดวกราบรื่น

ความสุขมีสองทาง คือ ทางกายและทางใจ

สุขทางกาย คือมีสุขภาพดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย การทำงานสะดวกราบรื่น ไม่มีอุปสรรคด้านร่างกาย

สุขทางใจ คือ มีจิตใจที่ดีงาม ปลอดโปร่งสดชื่น ไม่ว้าวุ่นวิตกกังวล แม้จะมีปัจจัยภายนอกเข้ามาเบียดเบียนก็ตาม

ความ สุขนั้นมีหลายรูปแบบ เช่น สุขเกิดจากการมีทรัพย์ สุขเกิดจากการได้ใช้จ่ายทรัพย์ สุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้ สุขเกิดจากการสมปรารถนา เป็นต้น

พละ หมายถึง กำลัง อันได้แก่ กำลังสี่ประการ คือ 1.กำลังกาย คือ มีสุภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ประกอบกิจต่างๆ โดยไม่เหน็ดเหนื่อย 2.กำลังใจ คือ มีสุขภาพจิตที่ดี เข้มแข็ง ประสบอุปสรรคต่างๆ ก็มีผู้คอยช่วยเหลือให้กำลังใจตลอดเวลา 3.กำลังทรัพย์ คือ มีทรัพย์สมบัติที่สามารถใช้เป็นเครื่องประคองชีวิตให้อยู่ในสังคมได้อย่างมี ความสุข 4.กำลังสติปัญญา คือ มีการศึกษาที่ดี มีความรู้จักบาปบุญคุณโทษ มีความสามารถในกิจการต่างๆ โดยเฉพาะรู้จักวิถีทางที่จะอยู่ในสภาพสังคมปัจจุบันได้อย่างมีความสุข

พร พระทั้งสี่ประการนี้ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ เป็นพรที่พระภิกษุผู้ทรงศีลได้ให้แก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายอยู่ทุกวัน แต่ก็ใช่ว่าท่านจะได้รับพรทั้งสี่ประการนั้นหมดทุกคนไม่ พรนั้นย่อมเกิดแก่ผู้ที่สมควร เหมือนของมีค่าย่อมควรแก่คนที่มีค่าและ รู้จักค่า

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / watdevaraj@hotmail.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

"ชาย-หญิง"ที่พึงหลีกเลี่ยง (ข่าวสด)

"ชาย-หญิง"ที่พึงหลีกเลี่ยง

คอลัมน์ ศาลาวัด
ลักษณะ หญิงชายที่พึงหลีกเลี่ยงในการคบหาเป็นสหายหรือนำมาเป็นคู่ครอง ทั้ง 9 ประการ ตามหลักพระพุทธศาสนา มีดังนี้ 1.หญิงชายใด มีนิสัยโหดร้าย ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน หญิงชายประเภทนี้มีจิตใจเร่าร้อน กระวน กระวายคล้ายไฟสุ่มขอน เพราะจิตใจขาดความเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์และขาดน้ำจิตน้ำใจ

2.หญิง ชายใด ลบหลู่ดูหมิ่นญาติสนิทมิตรสหายและเพื่อนร่วมงาน มีนิสัยชอบยกตนข่มท่านเหนือกว่าผู้อื่นอยู่เสมอ และชอบดูถูกดูแคลนให้ผู้อื่นเจ็บช้ำน้ำใจอยู่เป็นประจำ หญิงชายประเภทนี้มีจิตใจเย่อหยิ่งจองหองพองขน เพราะจิตใจขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน

3.หญิงชายใด อิจฉาริษยา เห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน มีนิสัยอิจฉาตาร้อน หญิงชายประเภทนี้มีจิตใจบกพร่องไม่อยากให้ใครได้ดีเกินหน้า เพราะจิตใจขาดความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

4.หญิงชายใด ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เคยแม้จะบริจาคทรัพย์สินเงินทองช่วยเหลือผู้อื่น หญิงชายประเภทนี้มีจิตใจคับแคบ ชอบเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว เข้าตำราขี้ไม่ให้หมากิน เพราะจิตใจขาดการทำบุญสุนทานและขาดสงเคราะห์อนุเคราะห์ต่อบุคคลอื่น

5.หญิง ชายใด เจ้าเล่ห์มายา หน้าไหว้หลังหลอก หญิงชายประเภทนี้จิตใจมีเล่ห์เพทุบาย เพราะจิตใจขาดสัจจะความจริงใจต่อตนเองและต่อบุคคลอื่น

6.หญิงชายใด มักอวด ชอบคุยโม้ คุยโตว่าตัวเองเป็นผู้ที่วิเศษกว่าผู้อื่น และชอบโอ้อวดว่าเส้นใหญ่สามารถจะทำกิจการใดๆ ให้สำเร็จทุกอย่าง จะทำได้หรือไม่ได้ก็ขอคุยโม้โอ้อวดไว้ก่อน หญิงชายประเภทนี้ มีจิตใจจองหองพองขน เพราะจิตใจขาดความพอดี

7.หญิงชายใด โกหกหลอกลวง ยุยงส่งเสริมให้เกิดความบาดหมางกัน ชอบพูดเยาะเย้ย เสียดสี หญิงชายประเภทนี้ มีจิตใจชอบเห็นผู้อื่นทะเลาะกัน พูดจาในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์มีแต่โทษ เพราะจิตใจขาดสัจวาจาและความจริงใจต่อตนเองและบุคคลอื่นที่คบหาสมาคม

8.หญิง ชายใด ปรารถนาลามก มักมาก จิตใจหมกหมุ่นงุ่นง่านอยู่แต่ในเรื่องความรักความใคร่ หลงใหลอยู่ในกามารมณ์ หญิงชายประเภทนี้ มีจิตใจเร่าร้อน กระวนกระวาย เพราะจิตใจขาดความสำรวมระวังและเข้าใจผิดเกี่ยวกับสรีระร่างกายของตนเอง

9.หญิง ชายใด เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เห็นว่าทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ จึงไม่ต้องตอบ แทนพระคุณ หญิงชายประเภทนี้ มีจิตใจที่บอดสนิท เห็นชั่วเป็นดี เพราะจิตใจขาดความเห็นที่ถูกต้องตามหลักธรรม

หากเราหลีกเลี่ยงคบหากับคนประเภทนี้ได้ ชีวิตจะมีความสุขเจริญรุ่งเรืองตลอดไป

คนผู้สมบูรณ์แบบ (ข่าวสด)

คนผู้สมบูรณ์แบบ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
คน ทุกคนเมื่อเกิดมาบนโลกใบนี้ ถ้าใครที่ปฏิบัติตามหลักของการทำบุญ 3 ประการ อันได้แก่ ทาน การให้ ศีล การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ภาวนา การอบรมฝึกฝนจิตใจ แล้ว คงไม่มีใครกล้าที่จะปฏิเสธ หรือ พูดว่าไม่ยินดี ไม่ต้องการความสุข ความเพียบพร้อมในทุกด้าน อันเป็นผลที่จักได้รับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการศึกษา หน้าที่การงาน หรือแม้แต่การดำเนินชีวิตในประจำวัน ก็ล้วนแล้วแต่ต้องการให้ตนเอง มีพร้อมในทุกสิ่งทุกอย่างด้วยกันทั้งสิ้น

ธรรมะหมวดหนึ่ง ที่กล่าวถึงความพรั่งพร้อม หรือความสมบูรณ์แบบไว้ เมื่อเราทำบุญครบทั้งสามประการ คือ ทาน ศีล ภาวนา อยู่บ่อยๆ บุญเหล่านี้ ก็จะติดตามตัวเราไปตลอด ไม่สูญหาย และสามารถทำให้ได้เสวยผลแห่งบุญนี้ตลอด ตามความปรารถนา อีกทั้งยังสามารถที่จะอำนวยให้เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยสมบัติอีกด้วย

สมบัติ แปลว่า ความถึงพร้อม ความสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ เป็นการอำนวยผลประโยชน์ของบุญ คือ ความดีที่ได้กระทำมา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ช่วยเสริมความดีนั่นเอง มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ คือ

1.คติสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยคติ ได้แก่ การเกิด การอยู่อาศัย การดำเนินชีวิตในถิ่นที่มีแต่ความเจริญ รุ่งเรือง มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ ไม่มีความลำบากในเรื่องของปัจจัยต่างๆ อันจักเอื้อประโยชน์ หรือเหมาะสมในการสร้างบุญกุศล คุณงามความดี อบรมวาสนาบารมีธรรม

2.อุปธิสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยรูปกาย ได้แก่ การมีรูปกายที่สวยงาม มีอาการครบ 32 ประการ มีราศีดี มีบุคลิกลักษณะสง่างาม มีร่างกายที่แข็งแรง มีสุขภาพดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน

3.กาลสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยกาล ได้แก่ การเกิดอยู่ในสมัยที่บ้านเมืองมีแต่ความสุข ความสงบร่มเย็น มีผู้นำที่ดี มีการปกครองที่ดี ผู้ใหญ่ไม่ข่มเหงรังแกผู้น้อย หรือผู้ที่อ่อนแอกว่า และคนในสังคมที่อยู่ร่วมกัน เป็นหมู่ เป็นคณะ ก็เป็นคนมีศีล มีธรรม รักใคร่สามัคคีปรองดองกัน ยกย่องคนที่ทำความดี ไม่ส่งเสริมคนที่ทำผิดคิดชั่ว

4.ประโยคสมบัติ ถึงพร้อมด้วยการประกอบความเพียร ได้แก่ การนำความเพียรไปขวนขวายประกอบกิจการ ทำหน้าที่การงานในทางที่ถูก ที่ควร ประกอบกิจการงานด้วยความถูกต้อง ดีงาม ซื่อสัตย์สุจริต

สมบัติ หรือ ความถึงพร้อมทั้ง 4 ประการนี้ จะเกิดมีขึ้นได้ ก็จากการประกอบบุญกุศล คุณงามความดีเป็นเบื้องต้น เป็นสมบัติที่ติดตามและติดตัวไปทุกที่ ไม่มีใครสามารถที่จะลักขโมยเอาไปได้

ใครที่อยากจะทำให้ชีวิตในชาตินี้และชาติหน้ามีแต่ความสงบร่มเย็น เป็นสุข เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ ก็อย่าลืมประกอบบุญกุศลเป็นประจำ จักประสบผลสำเร็จเป็นแน่

พระเทพคุณาภรณ์

(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เมตตาธรรม (ข่าวสด)

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา
สาโรจน์ กาลศิริศิลป์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

"สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย

จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด"

การ แผ่เมตตานี้ พุทธบริษัทได้ประพฤติปฏิบัติหลังจากการไหว้พระสวดมนต์ เจริญจิตตภาวนาแล้ว เพื่อเป็นการแสดงความรักความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสงบสุขร่มเย็น

โดย ระลึกไว้อยู่ในใจเสมอว่า ถ้าบุคคลใดประสบความทุกข์โศกโรคภัยพิบัติอัตคัดด้วยประการใดก็ตาม ก็ขอให้บุคคลเหล่านั้นผ่านพ้นทุกข์ภัยนั้นๆ โดยเร็วพลัน หรือถ้ามีความสุขความเจริญอยู่เป็นปกติแล้วก็ขอให้มีความสุขความสมหวังมาก ยิ่ง ขึ้นไป

เมตตาธรรมจึงเป็นคุณธรรมของผู้มีจิตใจสูงยิ่งด้วย ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ปราศจากความมุ่งร้ายทำลายชีวิตซึ่งกันและกัน งดเว้นการเบียดเบียนทั้งทางร่างกายและจิตใจหรือทรัพย์สิน ไม่ข่มเหงน้ำใจ ไม่แบ่งชนชั้น ตลอดจนละเว้นความอาฆาตพยาบาท หรือความอิจฉาริษยาด้วยประการทั้งปวง

พระพุทธวรญาณ อดีตเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กล่าวไว้ว่า คนที่มีพื้นฐานความเมตตากรุณาอยู่ในใจ กับคนที่มีความโหดร้ายริษยาเป็นพื้นอยู่ในใจ จะสังเกตดูได้จากใบหน้าจะมีความแตกต่างกันได้อย่างชัดเจนทีเดียว เพราะความริษยาพยาบาทนั้นจะทำให้บุคคลมีใบหน้าบูดบึ้ง ไม่มีเสน่ห์ เฉยเมย ไม่ยิ้มแย้ม

ในทำนองเดียวกัน คนที่มีคุณธรรมจะมีใบหน้าแตกต่างออกไป ใบหน้านั้นจะยิ้มแย้มแจ่มใส แสดงให้เห็นถึงความหนักแน่นน่านับถือน่าสมาคม มีแววตาเมตตากรุณาฉายออกมาให้เห็นอย่างงดงาม สำหรับผู้ที่จะเจริญเมตตาธรรมควรปฏิบัติตามหลักการ ดังนี้

1.เจริญเมตตาให้ตนเองก่อน คือ ปรารถนาความสุขแก่ตนเองแล้วจึงเจริญถึงบิดามารดา ญาติพี่น้องและเพื่อนๆ

2.เจริญเมตตาให้คนที่เคยโกรธเคืองกันด้วยเรื่องเล็กน้อยแล้วค่อยถึงคนที่เป็นศัตรูกันจริงๆ

3.เจริญเมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

ผู้ เจริญเมตตาอยู่เป็นประจำจนมีจิตใจมั่นในเมตตาธรรม มีเมตตาเป็นคุณธรรมประจำใจ ย่อมได้รับอานิสงส์หรือผลดี คือ หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาย่อมคุ้มครองรักษา ไม่ต้องภัยจากไฟ ยาพิษ หรือศัสตราวุธ จิตเป็นสมาธิง่าย สีหน้า ผ่องใส เมื่อจะตายใจก็สงบไม่หลงใหลไร้สติ

มาบัดนี้โลกกำลังขาดแคลนน้ำใจ คือ ความเมตตากรุณา จึงได้ใช้อาวุธประหัตประหารกันและกัน สร้างความวุ่นวายทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นยากที่จะหลีกเลี่ยง

หากเราได้ใช้เมตตาเป็นที่ตั้งแล้ว ย่อมจะมองมนุษย์เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข

เมตตาธรรม สามารถค้ำจุนโลกใบนี้ให้มีแต่สันติสุขตามที่ปรารถนาอย่างแน่นอน

งามด้วยธรรม จากข่าวสด(เช่นเคย)

งามด้วยธรรม
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
ความ งดงาม เป็นเรื่องที่คนจำนวนมากสนใจและแสวงหาวิธีเพื่อทำให้ตัวเองดูดีมีความมั่นใจ มีบุคลิกภาพที่ดี ต้องตาต้องใจสำหรับคนที่พบเห็น คำว่าไก่งามเพราะขนคนงามเพราะแต่ง ยังทันสมัยอยู่เสมอ "อาภรณ์เครื่องประดับต่างๆ แต่งกายให้งาม แต่ไม่คงทนถาวร ส่วนธรรมแต่งใจให้งามแบบยั่งยืนเหมาะสมทุกเพศวัย" คุณธรรมอันทำบุคคลให้งามด้วยกิริยา วาจา และใจ ประดับให้มีความงาม มีอัธยาศัยเรียบร้อย จิตใจมีความเยือกเย็น สามารถยิ้มรับการหยามหมิ่น และอดกลั้นสิ่งยั่วยุได้โดยมีความสงบเสงี่ยมอยู่ภายในจิตใจ

ธรรมดังกล่าวนี้มี 2 อย่าง คือ 1. ขันติ ความอดทน 2. โสรัจจะ ความเสงี่ยม

1. ขันติ ความอดทน เมื่อถูกกระทบกับสิ่งอันไม่พึงปรารถนา เป็นลักษณะของกายและใจที่พร้อมจะเผชิญกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในทุกรูปแบบ โดยไม่มีความย่อท้อ ลักษณะของความอดทน มีสามประการ คือ

1. อดทนต่อความตรากตรำ หมายถึงอดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย ปัญหาอุปสรรค ที่เกิดขึ้นจากการทำงานหรือการดำเนินชีวิต

2. อดทนต่อความลำบาก หมายถึงความสามารถอดทนต่อทุกขเวทนาอันเกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ความทุกข์ทรมาน จะมีอาการแรงกล้าอย่างไรก็ตาม ไม่แสดงอาการกระสับกระส่ายจนเกินเหตุ มีความอดทนอดกลั้นอยู่เสมอ ใจไม่หวั่นไหวอ่อนแอเกินไป เพราะตระหนักในความจริงว่า ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดาของคนเรา

3. อดทนต่อความเจ็บใจ หมายถึงสามารถอดทนต่ออาการหมิ่นประมาทที่ผู้อื่นกระทำแก่ตน คำด่า คำกระทบเสียดสี โดยควบคุมความโกรธไว้ได้ ไม่ทำร้ายโต้ตอบผู้นั้น

2. โสรัจจะ ความเสงี่ยม หมายถึงความสงบเสงี่ยมเจียมตัว มีอัธยาศัยงาม เรียบร้อย เป็นคุณธรรมสนับสนุนขันติ เมื่อสามารถอดทนได้แล้วพยายามสงบใจ ทำใจให้เย็น ให้ปลอดโปร่ง ไม่เก็บเอาความลำบาก ความเจ็บปวด ความเจ็บใจนั้นมาคิดอีก เมื่อใจสงบเย็นได้แล้ว กิริยาทางกายและคำพูดที่แสดงออกจะสงบเสงี่ยมเรียบร้อยเหมือนไม่มีอะไรเกิด ขึ้น เป็นลักษณะของบุคคลผู้มีจิตองอาจ สู้ทน ไม่วู่วาม ไม่หวั่นไหวเพราะรักหรือเพราะชัง หากแต่มีใจคอหนักแน่นมั่นคงอยู่เสมอ

ฉะนั้น ความงามที่เกิดขึ้นจากการตกแต่ง เกิดจากการประดับอาภรณ์ต่างๆ แต่งกายให้งาม นั้นเป็นความงามภายนอก ไม่คงทนถาวร แต่ความงามที่เกิดจากธรรม ผู้ใดประพฤติตามหลักธรรมทั้งสองประการ คือ ขันติ ความอดทน โสรัจจะ ความเสงี่ยมเจียมตัว ก็ขึ้นชื่อได้ว่า เป็นบุคคล ผู้งามไปด้วยธรรม และแต่งใจให้งามแบบยั่งยืนและมั่นคง
พระเทพคุณาภรณ์
( โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9 )
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อิทธิปาฏิหาริย์ จากข่าวสด

อิทธิปาฏิหาริย์-เทวดา (6) อิทธิฤทธิ์ ชนิดอริยะ และชนิดอนารยะ
คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
บาลีอีกแห่งหนึ่งชี้แจงเรื่องอิทธิวิธี (การแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ) ว่ามี 2 ประเภท คือ

1.ฤทธิ์ ที่มิใช่อริยะ คือฤทธิ์ที่ประกอบด้วยอาสวะ ยังมีอุปธิ (มีกิเลสและทำให้เกิดทุกข์ได้) ได้แก่ฤทธิ์อย่างที่เข้าใจกันทั่วๆ ไป ดังได้บรรยายมาข้างต้น คือ การที่สมณะหรือพราหมณ์

(นักบวช) ผู้ใดผู้หนึ่งบำเพ็ญเพียรจนได้เจโตสมาธิ แล้วแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ เช่น แปลงตัวเป็นคนหลายคน ไปไหนก็แหวกทะลุฝาทะลุกำแพงไป เหินฟ้า ดำดิน เดินบนน้ำ เป็นต้น

2.ฤทธิ์ที่เป็นอริยะ คือฤทธิ์ที่ไม่ประกอบด้วยอาสวะ ไม่มีอุปธิ (ไม่มีกิเลส ไม่ทำให้เกิดทุกข์) ได้แก่ การที่ภิกษุสามารถทำใจกำหนดหมายได้ตามต้องการ บังคับความรู้สึกของตนได้ จะให้มองเห็นสิ่งที่น่าเกลียดเป็นไม่น่าเกลียดก็ได้ เช่น เห็นคนหน้าตาน่าเกลียดชัง ก็วางจิตเมตตาทำใจให้รักใคร่มีไมตรีได้ เห็นสิ่งไม่น่าเกลียดเป็นน่าเกลียดก็ได้ เช่น เห็นคนรูปร่างน่ารักยั่วยวนให้เกิดราคะ จะมองเป็นอสุภะไปก็ได้ หรือจะวางใจเป็นกลางเฉยเสียปล่อยวางทั้งสิ่งที่น่าเกลียดและไม่น่าเกลียดก็ ได้ เช่น ในกรณีที่จะใช้ความคิดพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมให้เห็นสิ่งทั้งหลายตามความ เป็นจริง เป็นต้น

เรื่องฤทธิ์ 2 ประเภทนี้ ย่อมย้ำความที่กล่าวไว้ข้างต้น ให้เห็นว่า อิทธิปาฏิหาริย์จำพวกฤทธิ์ที่เข้าใจกันทั่วไป ซึ่งทำอะไรได้ผาดแผลงพิสดารเป็นที่น่าอัศจรรย์นั้น ไม่ได้รับความยกย่องในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่หลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนา

ฤทธิ์ ที่สูงส่งดีงามตามหลักพระพุทธศาสนา คือฤทธิ์ที่ไม่มีพิษมีภัยแก่ใคร ได้แก่การบังคับความรู้สึกของตนเองได้ หรือบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจของตนได้ ซึ่งผู้ได้ฤทธิ์อย่างต้นอาจทำไม่ได้ บางครั้งจึงหันไปใช้ฤทธิ์นั้นเป็นเครื่องมือสนองกิเลสของตน ตรงข้ามกับฤทธิ์อย่างที่สอง ที่เป็นเครื่องมือสร้างคุณธรรม กำจัดกิเลส มิให้จิตใจถูกล่อไปในอำนาจของราคะ โทสะหรือโมหะ

การที่พระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่ชาวบ้าน ก็เป็นหลักฐานยืนยันถึงการที่ไม่ทรงสนับสนุนการใช้อิทธิปาฏิหาริย์

เมื่อว่าตามรูปศัพท์

คำว่า ปาฏิหาริย์ แปลว่า การกระทำที่ตีกลับ ขับไล่ หรือกำจัดเสียได้ซึ่งปฏิปักษ์

อิทธิ หรือฤทธิ์ แปลว่า ความสำเร็จ

อาเทศนา แปลว่า ระบุ อ้าง สำแดง ชี้บ่ง จะแปลว่าปรากฏชัด ก็พอได้

อนุสาสนี แปลว่า คำพร่ำสอน

โดย ถือความหมายอย่างนี้ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ได้แปลความหมายปาฏิหาริย์ทั้งสามนั้นออกไปให้เห็น เพิ่มขึ้นอีกแนวหนึ่ง คือกล่าวว่า คุณธรรมต่างๆ เช่น เนกขัมมะ เมตตา ฌาน อนัตตานุปัสสนา ตลอดจนถึงอรหัตตมรรค เรียกว่าเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ได้ทั้งนั้น โดยความหมายว่า สำเร็จผลตามหน้าที่ และกำจัดธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ของมัน เช่น กามฉันท์ พยาบาท ตลอดจนกิเลสทั้งปวงได้ เรียกว่าเป็นอาเทศนาปาฏิหาริย์ได้ โดยความหมายว่า ผู้ที่ประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ทุกคนย่อมมีจิตบริสุทธิ์ มีความคิดไม่ขุ่นมัว เรียกว่าเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ได้ โดยความหมายของการสั่งสอนว่า ธรรมข้อนั้นๆ ควรปฏิบัติ ควรฝึกอบรม ควรเพิ่มพูน ควรตั้งสติให้เหมาะอย่างไร เป็นต้น คำอธิบายอย่างนี้ แม้จะไม่ใช่ความหมายอย่างที่ใช้ทั่วไป แต่ก็เป็นความรู้ประกอบที่น่าสนใจ

ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า อิทธิปาฏิหาริย์เป็นโลกียอภิญญาอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนเสริมคุณสมบัติของผู้ที่ได้โลกุตรอภิญญาเป็นหลักอยู่แล้ว ให้พร้อมบริบูรณ์ยิ่งขึ้นสำหรับการบำเพ็ญกิจเกื้อกูลแก่ชาวโลก จึงมีพุทธพจน์บางแห่งเรียกภิกษุผู้ประกอบด้วยปาฏิหาริย์ครบทั้ง 3 ประการ คือ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทศนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ว่าเป็นผู้สำเร็จสิ้นเชิง จบหรือถึงจุดหมายสิ้นเชิง เป็นต้น และเป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

แต่ทั้งนี้ ย้ำว่า ต้องมีอนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นหลัก หรือเป็นข้อยืนตัวแน่นอน และมีปาฏิหาริย์ 2 ข้อต้นเป็นเครื่องเสริม

วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สิ่งที่ควรปรารถนา (ข่าวสด)

สิ่งที่ควรปรารถนา
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / watdevaraj@hotmail.com
สมัย หนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน มีเศรษฐีท่านหนึ่งซึ่งถูกลูกชายสอบถามว่า "อะไรเป็นประตูชัยแห่งประโยชน์ หรือสิ่งใดที่ควรปรารถนาเป็นอันดับแรก" ท่านเศรษฐี ไม่อาจตอบข้อสงสัยนี้ได้ จึงพาบุตรชายไปเฝ้าพระพุทธองค์และทูลถามเรื่องดังกล่าว

หากถามว่า คนเราปรารถนาสิ่งใดก่อนในชีวิต ถ้าคิดอย่างปุถุชนคนทั่วไปก็คงจะตอบคล้ายๆ กัน นั้นก็คือ ต้องการความมั่งคั่ง ความร่ำรวย และความสุขสบายด้วยกันทุกคน ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อมีความมั่งคั่ง ร่ำรวยแล้ว ก็ต้องมีความสุขความสบายตามมา แต่ความมั่งคั่ง ร่ำรวยไม่ได้ช่วยให้เรามีความสุขตลอดไป เพราะความสุขที่สมบูรณ์จริงแท้นั้นต้องเป็นความสุขทั้งทางกายและทางใจไป พร้อมๆ กัน

พระพุทธองค์ทรงเฉลยข้อทูลถามของเศรษฐีและบุตรชายว่า สิ่งที่คนเราควรปรารถนาก่อนสิ่งใดทั้งปวงนั้นมี 6 ประการ ตามลำดับ ดังนี้

ประการที่ 1 ความไม่มีโรค

ความไม่มีโรคมี 2 อย่างด้วย คือ

1.ความ ไม่มีโรคทางกาย ได้แก่ความไม่พิกลพิการทางกาย มีอาการครบ 32 ประการ ตั้งแต่กำเนิดเกิดมา รวมไปถึงความไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียน อย่างนี้เรียกว่า ความไม่มีโรคทางกาย 2.ความไม่มีโรคทางใจ ได้แก่ ไม่ถูกกิเลสแห่งความทุกข์ใจ คือ ราคะ โทสะ โมหะทั้งหลายเบียดเบียนให้เร่าร้อนดั่งไฟสุมอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้เรียกว่า ความไม่มีโรคทางใจ คนเรานั้นอาจไม่เป็นโรคทางกายได้บ้าง เป็นบางครั้งบางคราว หรือเป็นปี แต่ไม่มีสักคนที่จะไม่เป็นโรคทางใจ

ประการ ที่ 2 ศีล ได้แก่การสำรวมกายและวาจา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น วาจาไม่กล่าวเท็จทำลายประโยชน์ผู้อื่น ไม่กล่าวร้ายป้ายสีให้ผู้อื่นเสียหาย ไม่กล่าววาจาหยาบคาย ไม่กล่าวเพ้อเจ้อ

ประการที่ 3 เชื่อฟังท่านผู้รู้ ได้แก่ พระพุทธเจ้า พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นต้น ผู้รู้กาลนาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อน ย่อมมีประสบ การณ์มากกว่าผู้ที่เกิดในภายหลัง

ประการที่ 4 การศึกษาเล่าเรียน ได้แก่ เรียนรู้ศิลปะในทางโลก และเรียนรู้ศิลปะในทางธรรม ศิลปะในทางโลกก็เอาไว้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัว ศิลปะทางธรรมก็เอาไว้ขจัดขัดเกลากิเลสต่างๆ

ประการที่ 5 ประพฤติถูกธรรม ได้แก่ การประพฤติสุจริต 3 อย่างคือ 1.ประพฤติสุจริตทางกาย เช่น ไม่เบียดเบียนทำลายผู้อื่น เป็นต้น 2.ประพฤติสุจริตทางวาจา เช่น ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ เป็นต้น 3.ประพฤติสุจริตทางใจ เช่น ไม่คิดอยากได้สิ่งของของผู้อื่นโดยผิดศีลธรรม ไม่คิดพยาบาท ป้องร้อย อาฆาต เบียดเบียนกัน

ประการที่ 6 ความไม่ท้อถอย ความพากเพียร ได้แก่ อดทนอดกลั้นต่อความลำบาก ความเหน็ดเหนื่อยกายในการประกอบสัมมาอาชีพ หนักเอาเบาสู้ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง เป็นต้น

ฉะนั้นคุณธรรมทั้ง 6 ประการนี้เป็นสิ่งที่คนเราควรปรารถนาเป็นอันดับแรก เพระเป็นทางแห่งประโยชน์ เป็นทางนำไปสู่ความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา อันได้แก่ความมั่งคั่งและความสุขกายสุขใจ

จุดยืนของชีวิต (ข่าวสด)

จุดยืนของชีวิต
คอลัมน์ ศาลาวัด
คน ทุกคนเป็นคนเหมือนกัน แต่ดำรงชีวิตไม่เหมือนกัน เรียกว่าจำแนกเป็นไปตามกรรมของแต่ละคน เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ตามสมควรแก่การณ์และเข้ากันได้กับสังคม

เหตุ บางอย่างทำคนให้ดำเนินชีวิตอย่างผิดพลาด บางอย่างทำให้ลังเลสงสัยไม่เป็นตัวของตัว ไม่มีจุดยืนเป็นของตนเองทำให้เป็นคนโลเลจับจด ยิ่งถ้าขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ยิ่งทำให้หย่อนสมรรถภาพลง

ดังนั้น คนเราจะดำรงชีวิต ดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้ามั่นคงได้ จึงต้องตั้งจุดยืนของชีวิตไว้ในใจ สำหรับเป็นเครื่องมือกำหนดทิศทางการดำเนินชีวิตให้แน่วแน่

คนทุกคนมี สิทธิ์กำหนดจุดยืนของตนเอง บางคนบอกว่าจุดยืนของตนอยู่ที่เท้า เพราะคนเราต้องใช้เท้ายืน ซึ่งคงไม่มีใครเถียง และถ้ามีจุดยืนเช่นนี้ก็ต้องดูแลสุขภาพของเท้าให้ดีอยู่เสมอ เช่นก่อนนอนต้องล้างเท้าให้สะอาดเพื่อความเป็นสง่าราศี บางตำรายังกล่าวไว้ว่าฝ่าเท้าของคนเราเป็นจุดสำคัญในการประสานการทำงานของ ตับ ไต กระเพาะ ลำไส้ ให้ทำงานเป็นปกติอีกด้วย

จุดยืนที่คนเรากำหนด เป็นแนวทางดำเนินชีวิตนั้น เป็นเสมือนเข็มทิศที่นำชีวิตไปตามต้องการ เรียกว่ากรรมลิขิต คือ ตัวเรากำหนดเอง คนอื่นจะมากำหนดให้เราไม่ได้ ถ้าทำได้ก็เพียงให้คำแนะนำชี้แนะเท่านั้น

หลักธรรมทางศาสนาก็เป็น อีกแนวทางหนึ่งที่ทุกคนมีสิทธิ์นำมาเป็นจุดยืนของชีวิตได้โดยเท่าเทียมกัน หมดทุกชนชั้น ตัวอย่างเช่นข้ออุปมาพรหมจรรย์กับแก่นไม้ ในมหาสาโรปมสูตร กล่าวว่า เมื่อบวชแล้วกลับติดยินดีอยู่ในลาภ สักการะ ยศ และสรรเสริญที่เกิดขึ้นในพระศาสนา มัวเมาอยู่กับสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเย่อหยิ่งทะนงตน กลายเป็นคนยกตนข่มผู้อื่น ดูถูกภิกษุเหล่าอื่น ย่อมอยู่เป็นทุกข์

เปรียบ เหมือนบุรุษต้องการแก่นไม้ แต่กลับตัดเอาเฉพาะกิ่งและใบไปประกอบกิจย่อมไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะไม่รู้ว่าอะไรคือแก่น อะไรคือกระพี้ ดังเช่นที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า ถ้าบวชแล้วยังยินดีพอใจอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ ถึงที่สุดแล้วก็ได้เพียงกิ่งและใบของพรหมจรรย์เท่านั้น

จะเห็นได้ว่าคนเราต้องมีจุดยืน เช่น จุดยืนของนักบวชก็คือ การประพฤติพรหมจรรย์ให้หลุดพ้น ให้เข้าถึงวิมุติ ถ้าบวชในพระพุทธศาสนาแล้วตั้งจุดยืนไว้ต่างกัน ก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีความประพฤติแตกต่างกันออกไป หรือตั้งจุดยืนของชีวิตไว้ผิดก็ไม่สามารถพบจุดยืนที่แท้จริงของชีวิตได้

จุดยืนจึงนับว่ามีความสำคัญ ที่จะนำพาการดำเนินชีวิตไปสู่ความสำเร็จสมปรารถนา

วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การตักบาตร จากข่าวสด

การตักบาตร

คอลัมน์หน้าต่างศาสนา

ปราณสุวีร์ อาวอร่ามรัศมิ์ กองพุทธสารนิเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนแห่งชาติ



"การ ตักบาตร" หรือการใส่บาตร ถือเป็นกิจวัตรประจำวันประการหนึ่งของชาวพุทธ ที่มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่โบราณกาล และถือเป็นการสืบต่ออายุของศาสนาอีกด้วย เพราะพระภิกษุผู้เป็นศาสนทายาท ต้องอาศัยอาหารบิณฑบาตของพุทธศาสนิกชนในแต่ละวันเพื่อดำรงชีพ ศึกษาพระธรรมวินัย รวมทั้งเผยแผ่คำสอนของพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายมาจนทุกวันนี้

การใส่ บาตร แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากเหมือนศาสนพิธีอื่นๆ แต่ก็มีข้อปฏิบัติที่ควรทราบ เป็นต้นว่า ข้าวและอาหารที่จะนำมาใส่บาตร นิยมเป็นข้าวปากหม้อและกับข้าวปากหม้อ คือ เป็นสิ่งที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ ยังไม่ได้ตักออกไปเพื่อบริโภคหรือใช้อย่างอื่น

ส่วนกับข้าวที่ปรุง หากเป็นเนื้อสัตว์ไม่ควรฆ่าเพื่อถวายพระโดยเฉพาะ และจะต้องไม่เป็นเนื้อสัตว์ 10 ชนิด ที่ห้ามพระภิกษุฉัน คือ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อเสือดาว

สิ่งของที่ใส่บาตรถวายพระ ทุกอย่างควรเป็นสิ่งของที่ได้มาหรือใช้ทรัพย์ที่บริสุทธิ์ ปกติสิ่งที่จะนำมาใส่บาตรก็มี ข้าว กับข้าว และของหวาน แต่ในบางกรณีอาจถวายดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าที่สมควรแก่สมณะ หรือสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อันสมควรแก่สมณบริโภค

การใส่บาตรไม่ควร เจาะจงถวายรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ นิยมใส่โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นพระภิกษุสูงอายุ ภิกษุหนุ่ม หรือสามเณร เพื่อให้การใส่บาตรเป็นสังฆทาน ซึ่งมีผลมากกว่าการใส่โดยเจาะจง

ส่วน วิธีปฏิบัติในการใส่บาตร มีดังนี้ จัดเตรียมสิ่งของที่จะใส่บาตรให้พร้อม ก่อนจะใส่บาตรนิยมตั้งจิตอธิษฐานโดยนั่งกระหย่งหรือยืนแล้วยกขันข้าวขึ้น เสมอหน้าผาก

กล่าวคำอธิษฐานดังนี้ "สุทินุนัง วต เม ทานัง อาสวักขยาวหัง โหตุ" แปลว่า ทานของเราให้ดีแล้วหนอ ขอจงเป็นเครื่องนำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลสเถิด

หรือจะตั้ง จิตอธิษฐานเป็นภาษาไทยดังนี้ "ข้าวขาวเหมือนดอกบัว ยกขึ้นทูนหัว ตั้งใจจำนง ตักบาตรพระสงฆ์ ขอให้ทันพระศรีอาริย์ ขอให้พบดวงแก้ว ขอให้แคล้วบ่วงมาร ขอให้บรรลุพระนิพพาน ในอนาคตกาลเทอญ"

การอธิษฐานพระ อธิษฐานในบ้านหรือก่อนตักบาตรก็ได้ ขณะใส่บาตร ควรถอดรองเท้า หากพื้นที่เดินเฉอะแฉะอาจยืนบนรองเท้าก็ได้

ตัก ข้าวใส่บาตรให้เต็มทัพพี ใส่ด้วยอาการเคารพ ถ้ามีข้าวติดทัพพี ห้ามใช้ทัพพีเคาะกับบาตรพระ หากกับข้าวเป็นถุงก็ใส่บาตรไปด้วย แต่ถ้าใส่ถ้วยให้วางไว้บนฝาบาตร หรือส่งให้ลูกศิษย์ถ่ายใส่ปิ่นโต

หาก มีดอกไม้ธูปเทียนก็ให้ถวายท่านหลังจากใส่ข้าว และกับข้าวแล้ว โดยผู้ชายส่งถวายให้กับมือพระได้ ส่วนผู้หญิงให้วางบนฝาบาตร เมื่อใส่บาตรแต่ละรูปให้น้อมไหว้ทุกครั้ง ไม่ควรชวนพระคุยหรือถามว่าชอบอาหารชนิดใด ชอบอาหารที่ถวายหรือไม่

หลังจากใส่บาตรเสร็จ ควรกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว

การ ใส่บาตรเป็นประเพณีที่ได้ใช้ทุกเหตุการณ์ เช่น วันเกิด วันธรรมสวนะ วันสำคัญของศาสนา วันที่มีความหมายบางอย่าง ได้แก่ วันครบรอบแต่งงาน วันครบรอบมรณกรรม เป็นต้น

การสื่อสารกับพระ จากข่าวสด

การสื่อสารกับพระ

คอลัมน์ศาลาวัด



การ เขียนหนังสือหรือจดหมายถึงพระภิกษุ จะเป็นแบบทางการหรือจดหมายส่วนตัว มีคำเฉพาะแตกต่างจากหนังสือทั่วไป คือเมื่อเขียนที่อยู่ วันที่ เรื่องที่หัวหนังสือแล้ว

คำขึ้นต้นใช้ "นมัสการ" เช่น นมัสการเจ้าอาวาสวัดที่เขียนไปหา ถ้าพระผู้รับจดหมายเป็นพระภิกษุธรรมดาทั่วไป ใช้สรรพนามว่า "ท่าน" ส่วนผู้เขียนจดหมายใช้สรรพนามแทนตนว่า ดิฉัน, ผม, กระผม หรือ ชื่อหน่วยงาน คำลงท้ายใช้ "ขอนมัสการด้วยความเคารพ"

ถ้าเขียนจดหมายถึงพระภิกษุ ผู้ทรงสมณศักดิ์ หรือเป็นพระสังฆาธิการ เช่น ท่านพระครู หรือท่านเจ้าคุณ ใช้สรรพนามแทนท่านว่า "พระคุณท่าน"

ผู้เขียนจดหมายใช้ ดิฉัน, กระผม หรือชื่อหน่วยงาน ตัวอย่างเช่น "ดิฉันขอกราบหารือกับพระคุณท่านในเรื่อง..." เป็นต้น จบแล้วลงท้ายว่า "ขอนมัสการด้วยความเคารพอย่างสูง"

หนังสือถึงพระภิกษุตั้งแต่รอง สมเด็จขึ้นไป ยกเว้นพระสังฆราช ใช้สรรพนามแทนท่านว่า "พระคุณเจ้า" ส่วนผู้เขียนใช้สรรพนามแทนว่า "ดิฉัน, กระผม หรือชื่อหน่วยงาน คำลงท้ายใช้ "ขอนมัสการด้วยความเคารพอย่างยิ่ง"

หนังสือถึงสมเด็จพระสังฆราช ขึ้นต้นด้วย "กราบทูลฝ่าพระบาท" เรียกพระองค์ท่านว่า "ฝ่าพระบาท" ผู้เขียนเองใช้สรรพนาม "เกล้ากระหม่อม" จบหนังสือแล้วลงท้ายว่า "ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด"

นอกจากการเขียนหนังสือติดต่อกับพระภิกษุ แล้ว ปัจจุบันการเรียกคำนำหน้าชื่อพระสงฆ์ ยังเรียกกันสับสนไม่เป็นที่ยุติแน่นอน อย่างเดียวกัน โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ยังไม่มีสมณศักดิ์ ยังใช้คำนำหน้าเรียกชื่อว่า "พระภิกษุ..." ก็มี "พระ..." ก็มี เพื่อเป็นข้อยุติ ขอให้ถือหลักการดังนี้

คำ นำหน้าชื่อพระภิกษุธรรมดาทั่วไปใช้ "พระ" เช่น พระสวัสดิ์ ต่อท้ายด้วยฉายา เป็น พระสวัสดิ์ สิริปัญโญ แต่ถ้าเป็นเปรียญตั้งแต่ 3 ประโยคขึ้นไป ใช้คำนำหน้าชื่อว่า "พระมหา" ต่อท้ายด้วยฉายา เป็น พระมหาสวัสดิ์ สิริปัญโญ

ถ้าเป็นเจ้าอาวาส ใช้คำนำหน้าชื่อว่า "พระอธิการ" ต่อท้ายด้วยฉายา เป็น พระอธิการสวัสดิ์ สิริปัญโญ

ถ้าเป็นเจ้าคณะตำบล หรือเป็นพระอุปัชฌาย์ ใช้คำนำหน้าชื่อว่า "เจ้าอธิการ" ต่อท้ายด้วยฉายา เป็น เจ้าอธิการสวัสดิ์ สิริปัญโญ

หนังสือ ที่ชาวบ้านเขียนถึงพระภิกษุควรมีลักษณะสุภาพ นอบน้อม ส่วนหนังสือหรือลิขิตที่พระมีถึงญาติโยมควรเป็นไปด้วยความเมตตาและสุภาพเช่น เดียวกัน

ที่พึ่งของคน 5 ประการ (ข่าวสด)

ที่พึ่งของคน 5 ประการ

คอลัมน์ธรรมะวันหยุด

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / watdevaraj@hotmail.com



สังคม ในปัจจุบัน ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ต้องดิ้นรนต่อ สู้เพื่อความอยู่รอดของตนเอง เหมือนกับหมู่มนุษย์ที่ลอยคออยู่ในทะเลที่ยังมองไม่เห็นฝั่ง มองไม่เห็นจุดหมายปลายทาง ในท่ามกลางแห่งอันตรายรอบตัว ต่างคนต่างแหวกว่ายอยู่บนเกลียวคลื่นแห่งชีวิต เพื่อหาที่พึ่งให้ตัวเอง บางคนก็ไปยึดเอาที่พึ่งผิดๆ คือ ไปยึดเอาอบายมุข หรือยาเสพติด ชีวิตที่เคยเป็นสุขต้องมาเป็นทุกข์ เพราะขาดที่พึ่งในทางที่ถูกต้อง การดำรงชีวิตอยู่อย่างมีที่พึ่งอย่างถูกต้อง ท่านได้สรุปย่อไว้ 5 ประการด้วยกัน คือ

1.พึ่งตน

2.พึ่งคน

3.พึ่งคุณ

4.พึ่งบุญ

5.พึ่งพระ

ประการ ที่ 1 พึ่งตนได้แก่ คนเราทุกคนเกิดมาในเบื้องต้น ก็จะต้องพึ่งพ่อแม่คอยเลี้ยงดูประคับประคองกว่าจะเติบโตขึ้นมา แต่พ่อแม่ท่านไม่ได้อยู่กับเราตลอด ต่อไปเราก็จะต้องพึ่งตนเอง การที่เราพึ่งตนเองจะต้องมีจุดยืนของชีวิตที่ถูกต้องและแน่นอน ไม่หวั่นไหวไปตามกระแสสังคมที่นิยมผิดๆ การที่เราพึ่งตนเองได้นั้น ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ไม่ประมาทในวัยและในชีวิต

ประการ ที่ 2 พึ่งคน หมายถึง พึ่งบุคคล เช่น ยามเด็กก็พึ่งพ่อแม่ ยามเรียนหนังสือก็ต้องพึ่งครูอาจารย์ ยามขัดสนเงินทองอาจจะขอหยิบยืมญาติสนิทมิตรสหาย

ประการที่ 3 พึ่งคุณ หมายถึง คุณธรรมหรือคุณงามความดีของตัวเรา บุคคลที่พึ่งพาอาศัยคุณธรรมมักจะประสบความสำเร็จในชีวิต และนำพาชีวิตไปได้ตลอดรอดฝั่ง เช่น บุคคลที่มีคุณธรรมคือ ความไม่ประมาท จะทำอะไรก็มีสติอยู่ทุกเมื่อ ความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นก็มีน้อย หรือไม่มีเลย

ประการที่ 4 พึ่งบุญ หมายถึง บุญที่เราสร้างสมมา ไม่ว่าจะเป็นบุญที่เกิดจากการให้ บุญที่เกิดจากการรักษาศีล บุญที่เกิดจากการเจริญเมตตาภาวนา บุญนี้จะคอยหนุนนำเรา ในเมื่อเราประสบเหตุต่างๆ

ประการที่ 5 พึ่งพระ หมายถึง พระสงฆ์ และพระธรรมคำสอน พระสงฆ์ เช่น ยามจะแต่งงาน ให้พระดูฤกษ์แต่งงาน พอลูกคลอดออกมาก็พึ่งพระให้ตั้งชื่อให้เพื่อความเป็นสิริมงคล โตขึ้นมาก็พึ่งพระฝากให้บวชเณร บวชพระ ให้พระคอยอบรมสั่งสอน และสุดท้ายเมื่อถึงยามตาย ก็พึ่งพระจัดงานเรื่องต่างๆ ส่วนพึ่งพระธรรม คือ หลักธรรมคำสั่งสอนในทางพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้น คนเราควรหาที่พึ่ง 5 ประการนี้ เพราะผู้ใดไม่มีที่พึ่ง ไม่มีคุณธรรมประจำใจ พึ่งตนเองก็ไม่ได้ พึ่งคนอื่นก็ไม่ได้ พึ่งคุณธรรมก็ไม่ได้ พึ่งบุญก็ไม่ได้ พึ่งพระก็ไม่ได้ จะอยู่ในโลกนี้อย่างมีทุกข์ ละโลกนี้ไปแล้ว ก็เป็นทุกข์ในปรโลก

คำพระ ข่าวสด

ที่พึ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ
คอลัมน์คำพระ
ป.อ.ปยุตโต

"ศาสนา ถ้าจะเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวนั่นก็มีสองแบบ คือยึดเหนี่ยวแล้วดึงลงอยู่กับความลุ่มหลง กับยึดเหนี่ยวแล้วดึงขึ้นคือให้พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา ให้เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้น"