วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การตักบาตร จากข่าวสด

การตักบาตร

คอลัมน์หน้าต่างศาสนา

ปราณสุวีร์ อาวอร่ามรัศมิ์ กองพุทธสารนิเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนแห่งชาติ



"การ ตักบาตร" หรือการใส่บาตร ถือเป็นกิจวัตรประจำวันประการหนึ่งของชาวพุทธ ที่มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่โบราณกาล และถือเป็นการสืบต่ออายุของศาสนาอีกด้วย เพราะพระภิกษุผู้เป็นศาสนทายาท ต้องอาศัยอาหารบิณฑบาตของพุทธศาสนิกชนในแต่ละวันเพื่อดำรงชีพ ศึกษาพระธรรมวินัย รวมทั้งเผยแผ่คำสอนของพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายมาจนทุกวันนี้

การใส่ บาตร แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากเหมือนศาสนพิธีอื่นๆ แต่ก็มีข้อปฏิบัติที่ควรทราบ เป็นต้นว่า ข้าวและอาหารที่จะนำมาใส่บาตร นิยมเป็นข้าวปากหม้อและกับข้าวปากหม้อ คือ เป็นสิ่งที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ ยังไม่ได้ตักออกไปเพื่อบริโภคหรือใช้อย่างอื่น

ส่วนกับข้าวที่ปรุง หากเป็นเนื้อสัตว์ไม่ควรฆ่าเพื่อถวายพระโดยเฉพาะ และจะต้องไม่เป็นเนื้อสัตว์ 10 ชนิด ที่ห้ามพระภิกษุฉัน คือ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อเสือดาว

สิ่งของที่ใส่บาตรถวายพระ ทุกอย่างควรเป็นสิ่งของที่ได้มาหรือใช้ทรัพย์ที่บริสุทธิ์ ปกติสิ่งที่จะนำมาใส่บาตรก็มี ข้าว กับข้าว และของหวาน แต่ในบางกรณีอาจถวายดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าที่สมควรแก่สมณะ หรือสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อันสมควรแก่สมณบริโภค

การใส่บาตรไม่ควร เจาะจงถวายรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ นิยมใส่โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นพระภิกษุสูงอายุ ภิกษุหนุ่ม หรือสามเณร เพื่อให้การใส่บาตรเป็นสังฆทาน ซึ่งมีผลมากกว่าการใส่โดยเจาะจง

ส่วน วิธีปฏิบัติในการใส่บาตร มีดังนี้ จัดเตรียมสิ่งของที่จะใส่บาตรให้พร้อม ก่อนจะใส่บาตรนิยมตั้งจิตอธิษฐานโดยนั่งกระหย่งหรือยืนแล้วยกขันข้าวขึ้น เสมอหน้าผาก

กล่าวคำอธิษฐานดังนี้ "สุทินุนัง วต เม ทานัง อาสวักขยาวหัง โหตุ" แปลว่า ทานของเราให้ดีแล้วหนอ ขอจงเป็นเครื่องนำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลสเถิด

หรือจะตั้ง จิตอธิษฐานเป็นภาษาไทยดังนี้ "ข้าวขาวเหมือนดอกบัว ยกขึ้นทูนหัว ตั้งใจจำนง ตักบาตรพระสงฆ์ ขอให้ทันพระศรีอาริย์ ขอให้พบดวงแก้ว ขอให้แคล้วบ่วงมาร ขอให้บรรลุพระนิพพาน ในอนาคตกาลเทอญ"

การอธิษฐานพระ อธิษฐานในบ้านหรือก่อนตักบาตรก็ได้ ขณะใส่บาตร ควรถอดรองเท้า หากพื้นที่เดินเฉอะแฉะอาจยืนบนรองเท้าก็ได้

ตัก ข้าวใส่บาตรให้เต็มทัพพี ใส่ด้วยอาการเคารพ ถ้ามีข้าวติดทัพพี ห้ามใช้ทัพพีเคาะกับบาตรพระ หากกับข้าวเป็นถุงก็ใส่บาตรไปด้วย แต่ถ้าใส่ถ้วยให้วางไว้บนฝาบาตร หรือส่งให้ลูกศิษย์ถ่ายใส่ปิ่นโต

หาก มีดอกไม้ธูปเทียนก็ให้ถวายท่านหลังจากใส่ข้าว และกับข้าวแล้ว โดยผู้ชายส่งถวายให้กับมือพระได้ ส่วนผู้หญิงให้วางบนฝาบาตร เมื่อใส่บาตรแต่ละรูปให้น้อมไหว้ทุกครั้ง ไม่ควรชวนพระคุยหรือถามว่าชอบอาหารชนิดใด ชอบอาหารที่ถวายหรือไม่

หลังจากใส่บาตรเสร็จ ควรกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว

การ ใส่บาตรเป็นประเพณีที่ได้ใช้ทุกเหตุการณ์ เช่น วันเกิด วันธรรมสวนะ วันสำคัญของศาสนา วันที่มีความหมายบางอย่าง ได้แก่ วันครบรอบแต่งงาน วันครบรอบมรณกรรม เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น