วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทรัพย์อันประเสริฐ (ข่าวสด)

ทรัพย์อันประเสริฐ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พูดถึงทรัพย์ หลายคนก็ต้องการอยากจะได้ อยากจะมีกันทุกๆ คน แต่ทรัพย์ที่ยั่งยืน ทรัพย์ที่ถาวร เป็นอย่างไร?

ใน ทางพระพุทธศาสนาท่านกล่าวว่า ทรัพย์ที่ประเสริฐ หรืออริยทรัพย์ มีอยู่ 7 ประการ คือ 1.ทรัพย์คือศรัทธา 2.ทรัพย์คือศีล 3.ทรัพย์คือหิริ 4.ทรัพย์คือโอตตัปปะ 5.ทรัพย์คือสุตตะ 6.ทรัพย์คือ จาคะ และ 7.ทรัพย์คือปัญญา

1.ทรัพย์คือศรัทธา ศรัทธาหมายถึงความเชื่อ คนเราเกิดมาก็ได้รับการอบรมให้มีความเชื่อที่ต่างกัน สุดแต่ว่าคนนั้นจะเกิดอยู่ในชุมชนหรือครอบครัวที่มีความเชื่ออย่างไรก็อาจจะ เชื่อไปตามนั้น แต่ความเชื่อที่เรียกว่าศรัทธาในทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ความเชื่อในเหตุ-ผล ในกฎแห่งกรรม ไม่ใช่ความเชื่อทั่วๆ ไป

องค์ประกอบของศรัทธาคือความเชื่อนั้นท่านให้หลักไว้ 4 ประการ คือ

1.1 กมฺมสทฺธา เชื่อกรรมคือการกระทำดี-ชั่ว ว่ามีจริง

1.2 วิปากสทฺธา เชื่อผลของกรรม คือ เชื่อว่าผลของกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง

1.3 กมฺมวิปากตาสทฺธา เชื่อว่าทุกคนต้องเป็นไปตามกรรมและผลของกรรมที่ตนเองกระทำไว้

1.4 ตถาคตโพธิสทฺธา เชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือเชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อริยสัจธรรม 4 ประการและกฎแห่งกรรมจริง

2.ทรัพย์ คือศีล ศีล แปลว่าปกติ หรือเย็น คำว่าปกติหมายความว่ามีความปกติทางกาย วาจา ใจ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งการกระทำและ คำพูด คนมีศรัทธารักษาศีลทำให้บุคคลนั้นเป็นคนที่น่านับถือ เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของผู้คน

3.ทรัพย์คือหิริ ความละอายแก่ใจ เมื่อตนเองทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้องตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา

4.ทรัพย์ คือความกลัวผลของบาป ความทุกข์ความเดือดร้อนอุปสรรคต่างๆ อันเป็นผลของบาปกรรมที่ตนเองหากกระทำลงไปจะได้รับผล การกลัวผลของบาปแล้วเป็นเหตุให้ไม่ทำบาปหรือทำผิดศีลนั่นเอง

5.ทรัพย์ คือสุตตะ ได้แก่การสดับตรับฟังหรือการศึกษา การเล่าเรียนศึกษามากเป็นเหตุให้เกิดปัญญา การเรียนนั้นก็ต้องอาศัยการฟังเป็นหลัก ผู้เรียนมากฟังมากหรือมีประสบการณ์มากย่อมเป็นผู้มีความรู้

6.ทรัพย์ คือจาคะ ความสละแบ่งปัน การแบ่งปันนั้นก็จัดอยู่ในทานมัยกุศล คนตระหนี่ย่อมไม่มีจาคะ คนที่มีศรัทธาย่อมเสียสละแบ่งปัน ทานมัยกุศลจึงเป็นเหตุให้เกิดการบริจาค คนที่มีจาคะชื่อว่ามีอริยทรัพย์ เพราะเป็นการฝังทรัพย์ไว้เป็นบุญส่วนตัวที่ใครๆ จะแย่งชิงเอาไปไม่ได้

7.ทรัพย์ คือปัญญา ปัญญาถือว่าเป็นทรัพย์อันสำคัญที่สุด พระพุทธองค์ทรงยกย่องปัญญาว่าเป็นแสงสว่าง ปัญญาเป็นเครื่องควบคุมตนเอง และยิ่งกว่านั้นปัญญายังทำให้มีความเห็นที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ

อริยทรัพย์ ทั้ง 7 ประการนี้ถือว่าเป็นทรัพย์ภายใน เป็นทรัพย์ ที่ประเสริฐที่จะทำให้บุคคลเป็นอริยชนได้ ท่านทั้งหลายจึงควรขวนขวายสั่งสมอริยทรัพย์ทั้ง 7 ประการนี้ให้เกิดมีขึ้นในตน จะได้เป็นคนมีทรัพย์ทั้งภายนอกภายในอันเป็นเหตุได้รับความสุขทั้งทางกายและ ทางใจ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า



พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น