วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

GoodMan

คุณสมบัติของคนดี (1)

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร www.watdevaraj.com


ธรรมดาของทุกๆ คนในโลกนี้ ย่อมแตกต่างกันโดยฐานะ หน้าที่ เพศ วัย และชนชั้น แต่ในทางพระพุทธศาสนาแบ่งเป็น 2 พวกด้วยกัน คือ คนดี และ คนไม่ดี



คนดีมีความสงบเสงี่ยมเรียบร้อย มีสติปัญญาความคิดเฉลียวฉลาด มีอัธยาศัยจิตใจดีงาม ส่วนคนไม่ดี ไม่มีความสงบเสงี่ยมเจียมตน โง่เขลาเบาปัญญา มีอัธยาศัยเลวทราม



คน 2 ประเภทนี้ย่อมมีปะปนอยู่ในกลุ่มชนทั่วไป พระพุทธองค์ไม่ทรงถือชาติ ตระกูล ยศศักดิ์ และทรัพย์สมบัติ เป็นหลักเกณฑ์ในการวัดคน แต่ทรงวัดด้วยคุณธรรม ผู้ที่มีความประพฤติไม่ดีด้วยกาย วาจา ใจ ทำตนให้เป็นคนก่อโทษเวรภัยต่อตนเองและผู้อื่น เรียกว่า คนไม่ดี ส่วนผู้ที่มีความประพฤติดีด้วยกาย วาจา ใจ บำเพ็ญประโยชน์ตนและผู้อื่น เรียกว่าเป็นคนดี



การถือความประพฤติของบุคคล เป็นเครื่องจัดสรรบุคคลว่า ดี หรือไม่ดี นั้น นับว่าเป็นการยุติธรรมอย่างยิ่ง เพราะไม่มีใครสามารถท้วงติงหรือคัดค้านได้ โลกนิยมยกย่องผู้ที่ประพฤติดีงาม ติเตียนผู้ประพฤติชั่วช้าเลวทราม



ดังนั้น บุคคลจะเกิดในตระกูลสูงหรือต่ำก็ตาม มียศศักดิ์หรือไม่มีก็ตาม มีทรัพย์สมบัติหรือไม่มีก็ตาม มิใช่เครื่องวัดความดี ดังบทประพันธ์ที่ว่า อันคนดีมิใช่ดีด้วยที่ทรัพย์ มิใช่นับพงศ์พันธ์ชันษา คนดีนั้นดีด้วยการงานนานา อีกวิชาศีลธรรมนำให้ดี



สำหรับคุณสมบัติของคนดี พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้มีมากมาย สุดแต่ใครจะมีอัธยาศัยน้อมไปในธรรมะข้อใด ก็เลือกปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมตามอัธยาศัยในธรรมะข้อนั้น ในที่นี้ได้ยกคุณสมบัติของคนดี 7 ประการ คือ 1.ความเป็นผู้รู้จักเหตุ 2.ความเป็นผู้รู้จักผล 3.ความเป็นผู้รู้จักตน 4.ความเป็นผู้รู้จักประมาณ 5.ความเป็นผู้รู้จักกาล 6.ความเป็นผู้รู้จักบริษัท และ 7.ความเป็นผู้รู้จักบุคคล



1.ความเป็นผู้รู้จักเหตุ คือ เป็นผู้มีหลักการที่ดี รู้เหตุแห่งความสุขและความทุกข์ รู้เหตุแห่งความเจริญและความเสื่อม พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนเรื่องเหตุผล ไม่ได้สอนให้เชื่ออย่างงมงาย สอนให้ตรึกตรองให้ดีก่อนแล้วจึงเชื่อ ให้เชื่อภายหลังที่เข้าใจเหตุผลดีแล้ว เหตุดีผลก็ดี เหตุชั่วผลก็ชั่ว พระพุทธองค์ตรัสรับรองความต่างของเหตุผลไว้ 2 ประการ คือ อธรรม หมายถึงเหตุชั่วนำไปสู่ความเดือดร้อน และธรรมะ หมายถึง เหตุดีนำไปสู่ความเจริญ



ดังนั้น ความเป็นผู้รู้จักเหตุ จึงเป็นคุณสมบัติของคนดี ทำให้เป็นคนรอบคอบ คิดก่อนแล้วจึงทำ หรือพูด ดังนั้น ควรคำนึงถึงพฤติกรรมที่แสดงออกทางกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในแนวทางสร้างเหตุที่ดี อันจะก่อให้เกิดผลที่ดีตามมา ผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้รู้จักเหตุ จัดเป็นคนดี น่ายกย่องนับถือ และน่าคบหาสมาคมด้วย



2.ความเป็นผู้รู้จักผล คือ รู้จักผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ รู้ถึงจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติอย่างชัดเจนว่า ปฏิบัติเช่นนี้จะได้รับผล อย่างนี้ เว้นจากธรรมะข้อนี้ จะได้รับผล อย่างนี้ รู้ว่าผลที่ตนหรือคนอื่นได้รับอยู่ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เกิดมาจากเหตุที่เรากระทำด้วยกาย วาจา ใจ พระพุทธองค์ทรงแสดง ความเป็นผู้มีบุญที่ได้ทำไว้แล้วในกาลก่อน ว่าเป็นอุดมมงคล ก็เพื่อให้ทราบผลที่ประสบอยู่นั้น ว่าสำเร็จมาแต่บุญที่ได้ทำไว้ ส่งผลให้มาเกิดเป็นมนุษย์ มีรูปร่างกายสมบูรณ์ มีความสะดวกสบายเรื่องที่อยู่อาศัย มีทรัพย์สมบัติมากมายไม่ฝืดเคือง เป็นต้น ล้วนเป็นผลดีซึ่งได้ทำเหตุไว้ในอดีตทั้งสิ้น



ความเป็นผู้รู้จักผลด้วยอาการอย่างนี้ เป็นทางให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในการสร้างเหตุที่ดี มีประโยชน์ต่อตนและผู้อื่น ให้ไพบูลย์ในปัจจุบัน เพื่อเป้าหมายที่ชัดเจน ในการได้รับผลดีอันจะมีต่อไป



(อ่านต่อฉบับหน้า)
คุณสมบัติของคนดี 2 (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร /www.watdevaraj.com


3.ความเป็นผู้รู้จักตน คือ รู้จักประมาณตน โดยฐานะ ภาวะ หน้าที่การงาน แล้วประพฤติให้เหมาะสมกับที่ตนเป็นอยู่ เช่น ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ ต้องมีเมตตากรุณา และเห็นอกเห็นใจผู้น้อย ในฐานะเป็นผู้น้อย ก็อย่าอวดเก่งเกินกำลังความสามารถ ต้องมีสัมมาคารวะ อ่อนน้อมถ่อมตน



ในฐานะเป็นผู้นำ ต้องไม่ลำเอียง มีความเที่ยงธรรมประจำใจ ประกอบด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ในฐานะเป็นผู้ตาม ต้องเคารพเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา มีความจงรักภักดี ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ในฐานะเป็นพุทธศาสนิกชน ต้องประกอบด้วยศรัทธามั่นคง ดำรงตนอยู่ในศีลธรรม เชื่อมั่นในการกระทำความดี



ผู้รู้จักตนและปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับภาวะหน้าที่โดยไม่บกพร่อง นับได้ว่าเป็น การเชิดชูความดีงาม



4.ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ รู้จักประมาณในการแสวงหา การบริโภค และการรักษา ความจริง ปัจจัย 4 ที่หล่อเลี้ยงชีวิต จะเกิดมีขึ้นเองไม่ได้ ต้องอาศัยการประกอบการงาน และการแสวงหา ในการแสวงหานั้น ก็ต้องให้เป็นไปโดยประมาณด้วย จึงจะช่วยให้สำเร็จประโยชน์และปราศจากโทษ เช่น ไม่แสวงหาในทางที่ผิดศีลธรรม หรือผิดกฎหมายบ้านเมือง



การรู้จักประมาณในการบริโภค คือ รู้จักจับจ่ายใช้สอยทรัพย์สมบัติ ตามฐานะที่ตนมี ต้องกำหนดรู้รายรับ รายจ่ายของตน ไม่ใช้จ่ายเกินพอดี จะเป็นทางช่วยลดการใช้จ่ายเป็นอย่างดี



การเก็บออมรักษาทรัพย์ไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า การรักษาทรัพย์นับว่ามีความสำคัญมาก หากไม่รู้จักรักษา ทรัพย์ที่หาได้มาก็ไม่คงอยู่ และเพิ่มพูนขึ้นได้ ดังนั้น การรู้จักประมาณในการแสวงหา การบริโภค และการรักษา จึงมีคุณประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตอย่างมหาศาล



5.ความเป็นผู้รู้จักกาล คือ รู้เวลาที่เหมาะสม รู้คุณค่าของกาลเวลา ในทุกสิ่งที่ทำ ทุกคำที่พูด เวลาใดควรทำงาน เวลาใดควรหยุดงาน รู้ว่างานแต่ละอย่างที่ทำ ควรใช้เวลาเท่าไร รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ รีบเร่งทำให้เสร็จทันเวลา ก็จะไม่พลาดจากประโยชน์ ที่ควรมีควรได้ ประโยชน์ซึ่งจะได้อยู่แล้ว ก็ไม่สูญเสียไป ในเรื่องคำพูดก็เช่นเดียวกัน ควรรู้เวลาที่เหมาะสม เวลาใดควรพูด เวลาใดไม่ควรพูด



ความเป็นผู้รู้จักกาลดังกล่าวมานี้ ก็จะทำให้เป็นคนตรงต่อเวลา รู้คุณค่าของเวลา มีแต่ความเจริญก้าวหน้าโดยส่วนเดียว



6.ความเป็นผู้รู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน ผู้อยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ รู้จักวางตัวและประพฤติต่อกันอย่างเหมาะสม แก่ชุมชนและหมู่คณะที่ควรเกี่ยวข้อง สงเคราะห์ รับใช้ บำเพ็ญประโยชน์ให้ และควรรักษากิริยา วาจา ระเบียบวินัย ประเพณีอันดีงาม ตามควรแก่สถานะของตน เช่น การเข้าไปในสถานที่ประชุม ควรวางตัวให้เหมาะสม ก็จะทำให้เกิดความงดงาม องอาจ ไม่เก้อเขินในสังคม และเป็นเหตุให้วางตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม



7.ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือ รู้จักเลือกว่าบุคคลใดควรคบ ไม่ควรคบ รู้จักแต่ละคนว่ามีอุปนิสัยใจคออย่างไร มีความประพฤติส่วนตัวอย่างไร หน้าที่การงานเป็นอย่างไร เป็นเหตุให้รู้จักโดยละเอียดถี่ถ้วน รู้ลักษณะของคนที่คบว่า เป็นเพื่อนที่ดี



การรู้จักเลือกคบบุคคลดี หลีกหนีคนชั่ว จัดว่ามีคุณค่ามหาศาล เป็นปัจจัยสำคัญที่เกิดความเปลี่ยนแปลงจิตใจบุคคลให้คล้อยตามได้ นับเนื่องในคุณสมบัติของคนดีประการสุดท้าย



ผู้ที่ประกอบด้วยหลักธรรม 7 ประการ คือ ความเป็นผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน รู้จักบุคคล จัดเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติของคนดีที่สมบูรณ์

วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม (5) khaosod

วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม (5)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ข) กระบวนการของการศึกษา



ได้กล่าวแล้วว่า แกนนำแห่งกระบวนการของการศึกษา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ เมื่อมีสัมมาทิฏฐิเป็นแกนนำ และเป็นฐานแล้ว กระบวนการแห่งการศึกษาภายในตัวบุคคลก็ดำเนินไปได้



กระบวนการนี้แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ เรียกว่า ไตรสิกขา (สิกขา หรือหลักการศึกษา 3 ประการ) คือ



1.การฝึกฝนพัฒนาในด้านความประพฤติ ระเบียบวินัย ความสุจริตทางกาย วาจา และอาชีวะ เรียกว่า อธิสีลสิกขา (เรียกง่ายๆ ว่า ศีล)



2.การฝึกฝนพัฒนาทางจิตใจ การปลูกฝังคุณธรรม สร้างเสริมคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพจิต เรียกว่า อธิจิตตสิกขา (เรียกง่ายๆ ว่า สมาธิ)



3.การฝึกฝนพัฒนาทางปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่ทำให้แก้ไขปัญหาไปตามแนวทางเหตุผล รู้เท่าทันโลกและชีวิต จนสามารถทำจิตใจให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่นในสิ่งต่างๆ ดับกิเลส ดับทุกข์ได้ เป็นอยู่ด้วยจิตใจอิสระผ่องใสเบิกบาน เรียกว่า อธิปัญญาสิกขา (เรียกง่ายๆ ว่า ปัญญา)



หลักการศึกษา 3 ประการนี้ จัดวางขึ้นไว้โดยอาศัยหลักปฏิบัติที่เรียกว่า วิธีแก้ปัญหาของอารยชนเป็นพื้นฐาน วิธีแก้ปัญหาแบบอารยชนนี้ เรียกตามคำบาลีว่า อริยมรรค แปลว่า ทางดำเนินสู่ความดับทุกข์ ที่ทำให้เป็นอริยชน หรือวิธีดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ



อริยมรรค นี้ มีองค์ประกอบที่เป็นเนื้อหา หรือรายละเอียดของการปฏิบัติ 8 ประการ คือ



1.ทัศนะ ความคิดเห็น แนวคิด ความเชื่อถือ ทัศนคติ ค่านิยมต่างๆ ที่ดีงามถูกต้อง มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือตรงตามสภาวะ เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)



2.ความคิด ความดำริตริตรอง หรือคิดการต่างๆ ที่ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่เศร้าหมองขุ่นมัว เป็นไปในทางสร้างสรรค์ประโยชน์สุข เช่น คิดในทางเสียสละ หวังดี มีไมตรี ช่วยเหลือเกื้อกูล และความคิดที่บริสุทธิ์ อิงสัจจะ อิงธรรม ไม่เอนเอียงด้วยความเห็นแก่ตัว ความคิดจะได้จะเอา หรือความเคียดแค้นชิงชัง มุ่งร้ายคิดทำลาย เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)



3.การพูด หรือการแสดงออกทางวาจาที่สุจริต ไม่ทำร้ายผู้อื่น ตรงความจริง ไม่โกหกหลอกลวง ไม่ส่อเสียด ไม่ให้ร้ายป้ายสี ไม่หยาบคาย ไม่เหลวไหล ไม่เพ้อเจ้อเลื่อนลอย แต่สุภาพ นิ่มนวล ชวนให้เกิดไมตรีสามัคคีกัน ถ้อยคำที่มีเหตุผล เป็นไปในทางสร้างสรรค์ ก่อประโยชน์ เรียกว่า สัมมาวาจา (วาจาชอบ)



4.การกระทำที่ดีงามสุจริต เป็นไปในทางสร้างสรรค์ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีงาม ทำให้อยู่ร่วมกันด้วยดี ทำให้สังคมสงบสุข คือ การกระทำหรือทำการต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่เป็นไปเพื่อการทำลายชีวิตร่างกาย การทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น การล่วงละเมิดสิทธิในคู่ครอง หรือของรักของหวงแหนของผู้อื่น เรียกว่า สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)



5.การประกอบอาชีพที่สุจริต ไม่ก่อความเดือดร้อนเสียหายแก่ ผู้อื่น เรียกว่า สัมมาอาชีวะ (อาชีพชอบ)



6.การเพียรพยายามในทางที่ดีงามชอบธรรม คือ เพียรหลีกเว้นป้องกันสิ่งชั่วร้ายอกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้น เพียรละเลิก กำจัดสิ่งชั่วร้ายอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรสร้างสรรค์สิ่งดีงาม หรือกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรส่งเสริมพัฒนาสิ่งดีงาม หรือกุศลธรรมที่เกิดมีแล้ว ให้เพิ่มพูนเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปจนเพียบพร้อมไพบูลย์ เรียกว่า สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)



7.การมีสติกำกับตัว คุมใจไว้ให้อยู่กับสิ่งที่เกี่ยวข้องต้องทำในเวลานั้นๆ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับงาน ระลึกได้ถึงสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์ หรือธรรมที่ต้องใช้ในเรื่องนั้นๆ เวลานั้นๆ ไม่หลงใหลเลื่อนลอย ไม่ละเลยหรือปล่อยตัวเผอเรอ โดยเฉพาะสติที่กำกับทันต่อพฤติกรรมของร่างกาย ความรู้สึก สภาพจิตใจ และความนึกคิดของตน ไม่ปล่อยให้อารมณ์ที่เย้ายวนหรือยั่วยุ มาฉุดกระชากให้หลุดหลงเลื่อนลอยไปเสีย เรียกว่า สัมมาสติ (ระลึกชอบ)



8.ความมีจิตตั้งมั่น จิตใจดำเนินอยู่ในกิจในงาน หรือในสิ่งที่กำหนด (อารมณ์) ได้สม่ำเสมอ แน่วแน่เป็นหนึ่งเดียว สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวกหวั่นไหว บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว นุ่มนวล ผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่กระด้าง เข้มแข็ง เอางาน ไม่หดหู่ท้อแท้ พร้อมที่จะใช้งานทางปัญญาอย่างได้ผลดี เรียกว่า สัมมาสมาธิ (จิตมั่นชอบ)

วิธีคิดตามหลัก พุทธธรรม (4) khaosod

วิธีคิดตามหลัก พุทธธรรม (4)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ฐานะของความคิด



ในกระบวนการของการศึกษา หรือการพัฒนาปัญญา



ก่อนจะพูดกันต่อไปในเรื่องวิธีคิด ขอทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับฐานะของความคิดในกระบวนการของการศึกษา โดยเฉพาะ ในการพัฒนาปัญญา ที่เป็นแกนกลางของการศึกษานั้นก่อน



ก) จุดเริ่มของการศึกษา และความไร้การศึกษา



ตัวแท้ของการศึกษา คือการพัฒนาตนโดยมีการพัฒนาปัญญาเป็นแกนกลางนั้น เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปภายในตัวบุคคล แกนนำของกระบวนการแห่งการศึกษา ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจ ความคิดเห็น แนวความคิด ทัศนคติ ค่านิยมที่ถูกต้องดีงาม เกื้อกูลแก่ชีวิตและสังคม สอดคล้องกับความเป็นจริง เรียกสั้นๆ ว่า สัมมาทิฏฐิ



เมื่อรู้เข้าใจ คิดเห็นดีงาม ถูกต้องตรงตามความจริงแล้ว การคิด การพูด การกระทำ และการแสดงออกหรือปฏิบัติการต่างๆ ก็ถูกต้องดีงาม เกื้อกูล นำไปสู่การดับทุกข์ แก้ไขปัญหาได้



ในทางตรงกันข้าม ถ้ารู้เข้าใจคิดเห็นผิด มีค่านิยม ทัศนคติ แนวความคิดที่ผิด ที่เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ แล้ว การคิด การพูด การกระทำ การแสดงออก และปฏิบัติการต่างๆ ก็พลอยดำเนินไปในทางที่ผิดพลาดด้วย แทนที่จะแก้ปัญหาดับทุกข์ได้ ก็กลายเป็นก่อทุกข์ สั่งสมปัญหา ให้เพิ่มพูนร้ายแรงยิ่งขึ้น



สัมมาทิฏฐิ นั้น แยกได้เป็น 2 ระดับ คือ



1.ทัศนะ ความคิดเห็น แนวความคิด ทฤษฎี ความเชื่อถือ ความนิยม ค่านิยม จำพวกที่เชื่อหรือยอมรับรู้การกระทำ และผลการ กระทำของตน หรือสร้างความสำนึกในความรับผิดชอบต่อการ กระทำของตน พูดอย่างชาวบ้านว่า เห็นชอบตามคลองธรรม เรียกสั้นๆ ว่า กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ เป็น สัมมาทิฏฐิระดับโลกีย์ เป็นขั้นจริยธรรม



2.ทัศนะ แนวความคิด ที่มองเห็นความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย ความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามสภาวะของมัน หรือตามที่มันเป็น ไม่เอนเอียงไปตามความชอบความชังของตน หรือตามที่อยากให้มันเป็นอยากไม่ให้มันเป็น ความรู้ความเข้าใจสอดคล้องกับความเป็นจริงแห่งธรรมดา เรียกสั้นๆ ว่า สัจจานุโลมิกญาณ เป็น สัมมาทิฏฐิแนวโลกุตระ เป็นขั้นสัจธรรม



มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด หลงผิด ก็มี 2 ระดับ เช่นเดียวกัน คือ ทัศนะ แนวความคิด ค่านิยม ที่ปฏิเสธความรับผิดชอบ ไม่ยอมรับการกระทำของตน กับความไม่รู้ไม่เข้าใจโลกและชีวิตตามสภาวะ หลงมองสร้างภาพไปตามความอยากให้เป็น และอยากไม่ให้เป็นของตนเอง



อย่างไรก็ดี กระบวนการของการศึกษาภายในตัวบุคคล จะเริ่มต้นและดำเนินไปได้ ต้องอาศัยการติดต่อเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม และอิทธิพลจากภายนอกเป็นแรงผลักดัน หรือเป็นปัจจัยก่อตัว ถ้าได้รับการถ่ายทอดแนะนำชักจูง เรียนรู้จากแหล่งความรู้ความคิดที่ถูกต้อง หรือรู้จักเลือก รู้จักมอง รู้จักเกี่ยวข้อง พิจารณาโลกและชีวิตในทางที่ถูกต้อง ก็จะทำให้เกิด สัมมาทิฏฐิ นำไปสู่การศึกษาที่ถูกต้อง หรือมีการศึกษา



แต่ตรงข้าม ถ้าได้รับถ่ายทอดแนะนำชักจูง ได้รับอิทธิพลภายนอกที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักพิจารณา ไม่รู้เท่าทันประสบการณ์ต่างๆ ก็จะทำให้เกิด มิจฉาทิฏฐิ นำไปสู่การศึกษาที่ผิด หรือความไร้การศึกษา



โดยสรุป แหล่งที่มาเบื้องต้นของการศึกษา เรียกว่า ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ มี 2 อย่าง คือ



1.ปัจจัยภายนอก เรียกว่า ปรโตโฆสะ แปลว่า เสียงจากผู้อื่น หรือเสียงบอกจากผู้อื่น ได้แก่ การรับถ่ายทอด หรืออิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ เพื่อนที่คบหา หนังสือ สื่อมวลชน และวัฒนธรรม ซึ่งให้ข่าวสารที่ถูกต้อง สั่งสอนอบรม แนะนำชักจูงไปในทางที่ดีงาม



2.ปัจจัยภายใน เรียกว่า โยนิโสมนสิการ แปลว่า การทำในใจโดยแยบคาย หมายถึง การคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด หรือคิดเป็น



ในทำนองเดียวกัน แหล่งที่มาของการศึกษาที่ผิด หรือความไร้การศึกษา ที่เรียกว่า ปัจจัยแห่งมิจฉาทิฏฐิ ก็มี 2 อย่างเหมือนกัน คือ ปรโตโฆสะ เสียงบอกจากภายนอกที่ไม่ดีงาม ไม่ถูกต้อง และ อโยนิโสมนสิการ การทำในใจไม่แยบคาย การไม่รู้จักคิด คิดไม่เป็น หรือการขาดโยนิโสมนสิการนั่นเอง

วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม (2) khaosod

วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม (2)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

คัดย่อตัดมา

การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องได้ผลดีนั้น ครอบคลุมถึงการปฏิบัติถูกต้องที่เป็นส่วนย่อยของการดำเนินชีวิตนั้น มากมายหลายแง่หลายด้านด้วยกัน กล่าวโดยสรุป คือ



ก) ในแง่ของการล่วงพ้นปัญหา ได้แก่ แก้ปัญหาเป็น



ข) ในแง่ของการทำกรรม ได้แก่ คิดเป็น พูดเป็น/สื่อสารเป็น ทำเป็น



ค) ในแง่ของการรับรู้ ได้แก่ ดูเป็น ฟังเป็น ดมเป็น ลิ้มเป็น สัมผัสเป็น คิดเป็น



ง) ในแง่ของการเสพหรือบริโภค ได้แก่ กินเป็น ใช้เป็น บริโภคเป็น เสวนา-คบหาเป็น

วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

บำเพ็ญตบะ khaosod

บำเพ็ญตบะ ประพฤติพรหมจรรย์

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ตบะ แปลว่า ทำให้ร้อน การบำเพ็ญตบะ หมายความถึง การทำให้กิเลสความรุ่มร้อนต่างๆ หมดไปหรือเบาบาง



ลักษณะการบำเพ็ญตบะ ได้แก่



การมีใจสำรวมในอินทรีย์ทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้หลง ติดอยู่กับสัมผัสภายนอกมากเกินไป ไม่ให้กิเลสครอบงำใจเวลาที่รับรู้อารมณ์ผ่านอินทรีย์ทั้ง 6



การประพฤติรักษาพรหมจรรย์ เว้นจากร่วมประเวณีหรือกามกิจทั้งปวง



การปฏิบัติธรรม คือ การรู้และเข้าใจในหลักธรรม เช่นอริยสัจ เป็นต้น ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีล และถึงพร้อมด้วยสมาธิ และปัญญา โดยมีจุดหมายสูงสุดที่พระนิพพาน กำจัดกิเลส ละวางทุกสิ่งได้หมดสิ้นด้วยปัญญา



อานิสงส์การบำเพ็ญตบะนั้น จะทำให้เลิกเป็นคนเอาแต่ใจตัวได้ในเร็ววัน ทำให้คุณธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นในตัว ทำให้มงคลข้อต้นๆ ทั้งหมดเกิดขึ้นกับเรา ทำให้เข้าถึงนิพพานได้เร็ว ดังพุทธภาษิตว่า ความอดทนคือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยอดเยี่ยม



พรหมจรรย์ หมายถึง การประพฤติธรรมอันประเสริฐ คือการละเว้นเมถุน การครองชีวิตที่ปราศจากเมถุน



ลักษณะของธรรมที่ถือว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ คือ



ให้ทานบริจาคทาน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ สิ่งของเงินทองของมีค่า หรือมีปัญญาช่วยชี้แนะช่วยเหลือผู้อื่นในกิจการงานที่ชอบ ที่ถูกที่ควร



รักษาศีล 5 ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา หรือเสพสิ่งเสพติดให้โทษ มีพรหมวิหาร มีเมตตากับคนที่เราต้องพบปะด้วยทุกคน งดเว้นจากการเสพกาม เสพเมถุน ยินดีในคู่ครองของตน คือการมีสามีหรือภรรยาคนเดียว เพียรพยายามละความชั่ว ไม่ท้อถอยในความบากบั่น



รักษาศีล 8 ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมาหรือเสพติดสิ่งเสพให้โทษ ไม่บริโภคอาหารตั้งแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป ไม่ฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น ใช้ของหอมหรือเครื่องประดับ ไม่นอนบนที่นอนสูงที่นอนใหญ่ หรูหรา



มีปัญญาเห็นแจ้งในอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค



ศึกษาปฏิบัติในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริง



อานิสงส์การประพฤติพรหมจรรย์ ทำให้ปลอดโปร่งโล่งใจ ไม่มีกังวลหรือระแวง เป็นอิสระ มีเวลามากในการทำความดี เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิตทั้งหลาย ศีล สมาธิ ปัญญา เจริญรุดหน้าไม่ถอยกลับ บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ได้โดยง่าย



กามทั้งหลายมีโทษมากมีทุกข์มาก มีความพอใจน้อย เป็นบ่อเกิดแห่งความทะเลาะวิวาทกัน ความชั่วเป็นอันมาก เกิดขึ้นเพราะกามเป็นเหตุ ควรเร่งประพฤติพรหมจรรย์เพื่อให้เกิดสุขสมบูรณ์ดีและมั่นคง

วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

อดทน khaosod

อดทน

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ความอดทน หมายถึง ความอดทนเพื่อบรรลุความดีงามและความมุ่งหมายอันชอบ เมื่อถูกกระทบด้วยสิ่งอันไม่พึงปรารถนา เป็นลักษณะของกายและใจที่พร้อมจะเผชิญกับเหตุการณ์ที่พึงทำหรือที่จะเกิดขึ้นในทุกรูปแบบ โดยไม่มีความย่อท้อหรืออ่อนแอ เมื่อประสบกับสิ่งที่ลำบากหรือสิ่งที่ไม่ต้องการ จำแนกเป็น 3 ประการ คือ



ประการแรก อดทนต่อความยากลำบาก ในการดำเนินชีวิต ในบางครั้งมีปัญหาอุปสรรคและภัยต่างๆ เช่น ในปัจจุบันประชาชนส่วนมากประสบภัยน้ำท่วมเป็นเวลานาน ได้รับความเดือดร้อนในหลายจังหวัด ที่เคยอยู่อย่างสุขสบายกลายเป็นความทุกข์ยากลำบาก บางครอบครัวต้องสูญเสียญาติพี่น้อง บางครอบครัวต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง ธุรกิจที่ทำได้รับความเสียหาย ขาดรายได้มาจุนเจือครอบครัว บางครอบครัวไม่มีที่อยู่อาศัย ภัยธรรมชาติเช่นนี้ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถยับยั้งได้ ให้ยอมรับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น พยายามดูแลรักษาสุขภาพกายสุขภาพใจให้ดี โดยใช้หลักธรรมคือความอดทน



อดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งโรคที่มากับน้ำท่วมและพบมาก เช่น โรคน้ำกัดเท้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไข้หวัด ผื่นคันตามตัว เมื่อเกิดทุกขเวทนา ไม่แสดงอาการทุรนทุราย ควรสร้างกำลังใจให้เข้มแข็งโดยการพิจารณาถึงธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ในอภิณหปัจจเวกขณะข้อหนึ่งว่า บรรพชิตหรือคฤหัสถ์ควรพิจารณาเนืองๆ ว่าเรามีความเจ็บไข้เป็นของธรรมดา ไม่มีใครสามารถล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้



ประการที่ 2 อดทนต่อความตรากตรำ หมายความว่า อดทนต่อความทุกข์ยากจากการทำงาน เพราะคนทุกคนจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ต้องอาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งผู้ที่จะได้สิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตจะต้องขยันประกอบอาชีพการงาน



บางคนมีจิตใจท้อแท้ ไม่สู้งาน ไม่อดทนต่อความหนาว ร้อน ไม่สามารถประกอบการงานให้เป็นชิ้นเป็นอันได้ คนเช่นนั้นนับว่าไม่อดทน เป็นคนเกียจคร้าน จัดเข้าในลักษณะที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในสิงคาลกสูตรว่า คนเกียจคร้าน มักอ้างว่าหนาวนัก แล้วไม่ทำงาน มักอ้างว่าร้อนนัก แล้วไม่ทำงาน มักอ้างว่าเวลาเย็นนัก แล้วไม่ทำงาน มักอ้างว่ายังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำงาน มักอ้างว่าหิวนัก กระหายนัก แล้วไม่ทำการงาน เป็นต้น



การประกอบอาชีพการงานนั้นย่อมประสบกับปัญหาและอุปสรรค ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ความยากลำบากเป็นธรรมดา ควรเป็นคนสู้งาน หนักเอาเบาสู้ไม่ทอดทิ้งหรือท้อถอย ควรใช้ความอดทนเป็นสำคัญ การงานที่ได้มุ่งหวังตั้งใจไว้จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี



ประการที่ 3 อดทนต่อความเจ็บใจ หมายความว่า อดทนต่อความโกรธที่มากระทบกระทั่ง เพราะทุกคนจะอยู่ลำพังเพียงผู้เดียวไม่ได้ ต้องอาศัยการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ



การอยู่ร่วมกันบางครั้งอาจมีความกระทบกระทั่งกัน ทะเลาะวิวาทกันบ้าง เพราะต่างมีกิเลสด้วยกันทั้งนั้น ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดความอดทนแล้ว ความทะเลาะวิวาทจะแผ่ขยายกว้างออกไป เกิดความแตกแยก ทำให้เสียหน้าที่การงาน



ความอดทนนี้เป็นคุณธรรมที่ทำให้ผู้ปฏิบัติมีความงดงาม สามารถผ่านปัญหาอุปสรรคได้โดยไม่ยาก ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต

วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557

บำเพ็ญทาน khaosod

บำเพ็ญทาน

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร www.watdevaraj.com


การแสดงออกซึ่งน้ำจิตน้ำใจอันดีงาม โดยมีวัตถุสิ่งของเป็นสิ่งประกอบ ท่านเรียกว่า ทาน หมายถึง การให้ หรือเจตนาเป็นเครื่องให้ ให้ปันสิ่งของอันได้แก่ ปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ



การให้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งความสุข เป็นรากเหง้าแห่งสมบัติทุกอย่าง เป็นที่ตั้งแห่งโภคทรัพย์ทั้งหมด เป็นเครื่องป้องกันภัยต่างๆ และเป็นที่พึ่งพิงอาศัยของเหล่าสัตว์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า



การบำเพ็ญทาน นับเป็นกิจเบื้องต้นที่ควรทำ แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงบำเพ็ญบารมีในสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ทรงบำเพ็ญทานคือการให้เป็นทีแรก



สำหรับการให้นั้น ไม่ควรให้ของเลว หรือของที่ไม่ดี ควรเลือกของที่ตนชอบใจให้ ให้ของที่ดีประณีต ดีกว่าที่ตนมีตนใช้



ผลที่เกิดจากการให้สิ่งของที่ดีนั้น ย่อมเป็นไปตามเหตุคือของที่ให้ เมื่อให้ของที่ถูกใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ย่อมจะได้รับของที่ถูกใจตอบแทน เมื่อให้ของชั้นยอด ได้แก่ ของที่ยังไม่ได้ใช้สอยหรือบริโภคมาก่อน เช่น ข้าวปากหม้อ แกงปากหม้อ เป็นต้น ก็ย่อมได้รับของเช่นนั้นตอบแทน



สมดังพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้ว่า "ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้รับผลที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้รับผลที่เลิศตอบ ผู้ให้ของที่ดี ย่อมได้รับผลที่ดี และผู้ให้ของที่ดีที่สุด ย่อมเข้าถึงฐานะที่ดีที่สุด"



การให้ทาน แบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่



1.การให้วัตถุสิ่งของ หรือทรัพย์สินเงินทองเป็นทาน



2.การให้ธรรมะ ความรู้เป็นทาน



3.การให้อภัยในบุคคลอื่นที่ทำไม่ดีกับเรา ไม่พยาบาทมาดร้ายหรือจองเวร



การบำเพ็ญทานให้ได้บุญมาก ต้องพร้อมด้วยองค์ 3 คือ



1.วัตถุบริสุทธิ์ ของที่จะให้ทานต้องเป็นของที่ได้มาด้วยความชอบธรรม ด้วยการทำงานบริสุทธิ์ ไม่ใช่ได้มาด้วยการปล้น การลักขโมย หรือเบียดเบียนใครมา



2.เจตนาบริสุทธิ์ มีเจตนาเพื่อกำจัดความตระหนี่ออกจากใจของตน ทำเพื่อเอาบุญ ไม่ใช่เอาหน้าเอาชื่อเสียง ไม่ใช่เอาความเด่นความดัง จะต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ ในขณะก่อนให้ ก็มีใจเลื่อมใสเป็นทุนเดิม เต็มใจที่จะทำบุญนั้น ขณะให้ ก็ตั้งใจให้ด้วยใจที่เบิกบาน หลังให้ ก็มีใจแช่มชื่น ไม่นึกเสียดายสิ่งของที่ให้ไปแล้ว



3.บุคคลบริสุทธิ์ คือเลือกให้แก่ผู้รับที่เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีความสงบเรียบร้อย ตั้งใจประพฤติธรรม สำหรับผู้ให้ทานคือตัวเราเอง ก็ต้องมีศีลบริสุทธิ์ จึงจะได้บุญมาก



อานิสงส์การบำเพ็ญทาน เป็นที่มาของสมบัติทั้งหลาย ผู้ให้ย่อมได้รับความสุข ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้ เป็นที่น่าคบหาของคนดี เข้าสังคมได้คล่องแคล่ว แกล้วกล้าอาจหาญในทุกชุมชน มีชื่อเสียงเกียรติคุณดี แม้ตายก็ไปเกิดในสวรรค์



คนผู้ให้ทาน ย่อมได้ชื่อว่าสั่งสมความดีแก่ตน แม้ว่าทรัพย์สมบัติจะหมดไปบ้าง ก็หมดไปในทางที่ชอบที่ควร บุญกุศลคุณงามความดีต่างๆ ย่อมเพิ่มมากขึ้นทวีคูณทุกๆ ครั้งที่ได้ให้