วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

มนุษย์ 5 จำพวก

มนุษย์ 5 จำพวก
1. มนุสสเนรยิโก มนุษย์สัตว์นรก ได้แก่ มนุษย์ผู้ดุร้าย หยาบคาย ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตจี้ปล้นเอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยฆ่าเจ้าทรัพย์ตายบ้าง ทุบตีจนบาดเจ็บสาหัสบ้าง ข่มขืนแล้วฆ่าบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่นทรมานผู้อื่นสัตว์อื่น เป็นคนไร้ศีลธรรม ไม่มีมนุษยธรรมคือศีล 5 ประจำตัวเลย นามว่า มนุสสเนรยิโก แปลว่า มนุษย์สตว์นรกคือเป็นมนุษย์แต่ชื่อ ส่วนความประพฤติทางกาย วาจา ใจนั้นเลวทราม ดุร้ายหยาบคายเหมือนสัตว์นรกฉะนั้น
2. มนุสสเปโต มนุษย์เปรต ได้แก่ มนุษย์ผู้มากไปด้วยความโลภ มากไปด้วยตัณหา ชอบลักเล็กขโมยน้อยโลภเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน แย่งชิงวิ่งราวเป็นต้น แม้พวกที่เที่ยวขอทาน ก็สงเคราะห์เข้าในประเภทนี้ด้วย
3. มนุสสติรัจฉาโน มนุษย์สัตว์เดรัจฉาน ได้แก่มนุษย์ทีขวางศีลขวางธรรม มีโมหะคือความหลงมาก ไม่รู้จักบาป ไม่รู้จักบุญ ไม่รู้จักคุณ ไม่รู้จักโทษ ไม่รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณ เช่น บิดามารดา ครูบาอาจารย์ เป็นต้น เป็นมนุษย์ผู้ไรศีลธรรม ดืมสุรา เสพยาบ้า กินกัญชา ทำอะไรทางกาย วาจา ใจ ก็ขวางๆผิดทำนองคลองธรรม นามว่า มนุสสติรัจฉาโน แปลว่ามนุษย์สัตว์เดรัจฉาน เดรัจฉาน แปลว่า ผู้ไปขวาง
คือเดินทอดตัว ไม่ได้เดินตั้งตัวเหมือนคน คนเดรัจฉานก็ฉันนั้น ทำอะไรก็ขวางธรรม ขวางวินัย คือขาดศีลธรรมเสมอๆ
3. มนุสสภูโต มนุษย์แท้ๆ คือเป็นคนเต็มตัว ได้แก่คนรักษาศีล 5 มั่นเป็นนิตย์ไม่ขาด ไม่ประมาทต่อศีลเพราะศีลเป็นมนุษยธรรม คือเป็นธรรมประจำมนุษย์ ธรรมที่ทำให้คนเป็นคน มนุสสภูโต แปลว่ามนุษย์แท้ๆ เพราะมีคุณธรรมของคนคือศีล ศีล ท่านแปลว่า เศียร คือ หัว ถ้าคนขาดศีล ก็คือคนหัวขาดนันเอง เพราะขาดจากคุณธรรมของความเป็นคน
5. มนุสสเทโว มนุษย์เทวดา ได้แก่มนุษย์ผู้มีศีล 5 มั่นเป็นนิตย์ แล้วยังได้พยายามบำเพ็ญกุศลเพิ่มพูนบารมีอยู่เรื่อยๆ เช่น ให้ทาน ฟังธรรม เรียนธรรม ปฏิบัติธรรม ไหว้พระสวดมนต์ มีหิริคือความละอายต่อบาป มีโอตตัปปะ คือความสดุ้งกลัวต่อผลแห่งบาปอยู่เสมอ เรียกว่าเป็นผู้มีใจสูงดุจเทวดา เพราะประกอบด้วยเทวธรรม 7 ประการคือ
-บำรงเลี้ยงมารดาบิดา
-ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อบุคคลผู้เจริญ
-พูดจาไพเราะเสนาะหู อ่อนหวาน นุ่มนวล
- ไม่พูดส่อเสียดผู้อื่น
- ละความตระหนี่เหนียวแน่น
- รักษาคำสัตย์
- ไม่โกรธ
มนุษย์ที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ ท่านขนานนามว่า มนุสสเทโว แปลว่า มนุษย์เทวดา

วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ภูมิธรรมชาวพุทธ (11) from khaosod

ภูมิธรรมชาวพุทธ (11)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ค.สมบัติ (ความสมบูรณ์หรือความสัมฤทธิผล) และวิบัติ (ความล้มเหลว หรือการปฏิบัติผิดพลาด ไม่สำเร็จผล)

มตตา : สมบัติ = สงบหายไร้ขัดเคือง

วิบัติ = เกิดเสน่หา

กรุณา : สมบัติ = สงบหายไร้วิหิงสา

วิบัติ = เกิดโศกเศร้า

มุทิตา : สมบัติ = สงบหายไร้ริษยา

วิบัติ = เกิดสนุกสนาน

อุเบกขา : สมบัติ = สงบหายไร้ชอบชัง

วิบัติ = เกิดความเฉยด้วยไม่รู้ (เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยโง่ เฉยเมย)

ง.ข้าศึก คือ อกุศลคู่ปรับ ที่จะทำลายให้ธรรมข้อนั้นๆ เสียไป

เมตตา : ข้าศึกใกล้ = เกิดเสน่หา ราคะ

ข้าศึกไกล = พยาบาทคือความขัดเคือง ไม่พอใจ

กรุณา : ข้าศึกใกล้ โทมนัส คือความเศร้าโศกเสียใจ

ข้าศึกไกล = วิหิงสา

มุทิตา : ข้าศึกใกล้ = โสมนัส (เช่นดีใจว่าตนจะได้รับผลประโยชน์)

ข้าศึกใกล้ = อรติ คือความไม่ยินดี ไม่ไยดี ริษยา

อุเบกขา : ข้าศึกใกล้ = อัญญานุเบกขา (เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยโง่ เฉยเมย)

ข้าศึกไกล = ราคะ (ความใคร่) ปฏิฆะ (ความเคือง) หรือชอบใจขัดใจ

จ.ตัวอย่างมาตรฐาน ที่คัมภีร์ทั้งหลายมักอ้าง เพื่อให้เห็นความหมายชัด

1.เมื่อลูกยังเล็กเป็นเด็กเยาว์วัย

แม่-เมตตา คือ รักใคร่เอาใจใส่ ถนอมเลี้ยงให้เจริญเติบโต

2.เมื่อลูกเจ็บไข้เกิดมีทุกข์ภัย

แม่-กรุณา คือ ห่วงใยปกปักรักษา หาทางบำบัดแก้ไข

3.เมื่อลูกเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวสวยสง่า

แม่-มุทิตา คือ พลอยปลาบปลื้มใจ หวังให้ลูกงามสดใสอยู่นานเท่านาน

4.เมื่อลูกรับผิดชอบกิจหน้าที่ของตนขวนขวายอยู่ด้วยดี

แม่-อุเบกขา คือ มีใจนิ่งสงบเป็นกลาง วางเฉยคอยดู

ทั้งนี้ พึงทราบว่า

ฉันทะ คือ กัตตุกัมยตาฉันทะ (ความอยากทำให้ดี หรือความต้องการที่จะทำให้คนสัตว์ทั้งหลายดีงามสมบูรณ์ปราศจากโทษข้อบกพร่อง เช่น อยากให้เขาประสบประโยชน์สุข พ้นจากทุกข์เป็นต้น) เป็นจุดเริ่ม (อาทิ) ของพรหมวิหารทั้ง 4

การข่มระงับกิเลส (เช่น นิวรณ์) ได้ เป็นท่ามกลางของพรหมวิหาร ทั้ง 4

สมาธิถึงอัปปนา เป็นที่จบ (สัมฤทธิ์จุดหมาย) ของพรหมวิหารทั้ง 4 นั้น

[2.14] สังคหวัตถุ 4 (ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว คือยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี, หลักการสงเคราะห์

- Sangahavatthu: bases of social solidarity; bases of sympathy; acts of doing favours; principles of service; virtues making for group integration and leadership)

1.ทาน (การให้ คือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยทรัพย์สินสิ่งของ ตลอดถึงให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน

- Dana: giving;generosity; charity)

2.ปิยวา จา หรือ เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มใจ หรือวาจาซาบซึ้งใจ คือกล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ ประกอบด้วยเหตุผล เป็นหลักฐาน ทำให้มั่นใจ และน่าชื่นชมเชื่อถือ

- Piyavaca: kindly speech; convincing speech)

3.อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์ คือ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริย-ธรรม

- Atthacariya: useful conduct; rendering services; life of service; doing good)

4.สมา นัตตตา* (ความมีตนเสมอ** คือ ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย ไม่เลือกรักผลักชัง ไม่ดูถูกเหยียดหยาม ไม่เอารัดเอาเปรียบ ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย และเสมอในสุขทุกข์ คือร่วมสุขร่วมทุกข์ โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไขปัญหา ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี

- Samanattata: even and equal treatment; equality consisting in impartiality, participation and behaving oneself properly in all circumstances)

[2.15] ระงับ นิวรณ์ 5 พัฒนา ธรรมสมาธิ ขึ้นมาแทน

ก.นิวรณ์ 5 (ธรรมที่ขวางกั้นการเจริญจิตเจริญปัญญา, ธรรมที่ครอบงำจิตปิดบังปัญญา ทำให้ไม่ก้าวหน้าในคุณความดี ไม่ให้บรรลุคุณพิเศษทางจิต และทำให้มองสิ่งทั้งหลายเคลือบคลุมพร่ามัวเอนเอียง ไม่อาจรู้เห็นตามเป็นจริง, อกุศลธรรมที่ทำจิตให้เศร้าหมองและทำปัญญาให้อ่อนกำลัง

- Nivarana: hindrances.)

1.กามฉันทะ (ความพอใจติดใคร่กาม, ความอยากได้สิ่งเสพบำเรอผัสสะ, โดยขอบเขต หมายถึงโลภะทั้งหมด เว้นแต่รูปราคะและอรูปราคะ

- Kamachanda: sensual desire)

2.พยาบาท (ความคิดร้าย, ความขัดเคืองแค้นใจ, โดยขอบเขต หมายรวมโทสะทั้งหมด

- Byapada: illwill)

3.ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม, ความท้อแท้และเฉาซึม, ความห่อเหี่ยวและตื้อมึน

- Thina-middha: sloth and torpor)

4.อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ, ความกระวนกระวายกลุ้มกังวล

- Uddhacca-kukkucca: distraction and remorse; flurry andworry; restlessness and anxiety)

5.วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย, ความเคลือบแคลง

- Vicikiccha: doubt; uncertainty)

เมื่อ จิตปลอดจากนิวรณ์ 5 แล้ว ธรรมสมาธิ มีปราโมทย์ เป็นต้น ก็จะเกิดขึ้นแทนที่ และจิตก็จะเป็นสมาธิแน่วสนิทถึงขั้นอัปปนา คือได้ฌาน และสามารถเจริญปัญญาให้มองเห็นตามเป็นจริง

ภูมิธรรมชาวพุทธ (10) from khaosod

ภูมิธรรมชาวพุทธ (10)

คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์


[2.13] พรหมวิหาร 4 (ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ - Brahma vihara: holy abidings; sublime states of mind)

1.เมตตา (ความรัก ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตใจแผ่ไมตรี และคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า

- Metta: loving-kindness; friendliness; goodwill)

2.กรุณา (ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้ประสบทุกข์

- Karuna : compassion)

3.มุทิตา (ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง เบิกบาน ชื่นชม ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ประสบความสุข ความสำเร็จ พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

- Mudita: sympathetic joy; altruistic joy)

4.อุเบกขา (ความมีใจเป็นกลาง ที่จะดำรงอยู่ในธรรมตามที่ได้พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชู ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน

- Upekkha: equanimity; neutrality; poise)

ผู้ ดำรงในพรหมวิหาร ย่อมช่วยเหลือมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตากรุณา และย่อมรักษาธรรมไว้ได้ด้วยอุเบกขา ดังนั้น แม้จะมีกรุณาที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์ แต่ก็ต้องมีอุเบกขาด้วยที่จะมิให้เสียธรรม

พรหมวิหารนี้ บางทีแปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมเครื่องอยู่อย่างพรหม, ธรรมประจำใจที่ทำให้เป็นพรหมหรือให้เสมอด้วยพรหม, หรือธรรมเครื่องอยู่ของท่านผู้มีคุณยิ่งใหญ่

- (abidings of the Great Ones)

พรหมวิหาร 4 เรียกอีกอย่างว่า อัปปมัญญา 4 (Appamanya: unbounded states of mind; illimitables) เพราะแผ่ไปสม่ำเสมอแก่มนุษย์สัตว์ทั่วทั้งหมด ไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต

พรหมวิหารมีในผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่นด้วย สังคหวัตถุ 4 เป็นต้น

อนึ่ง เพื่อให้เข้าใจและปฏิบัติพรหมวิหาร 4 ได้ถูกต้อง พึงทราบรายละเอียดบางอย่าง โดยเฉพาะสมบัติ และวิบัติ ของธรรมทั้ง 4 นั้น ดังนี้

ก.ความหมายโดยวิเคราะห์ศัพท์

1. เมตตา = (มีน้ำใจ) เยื่อใยใฝ่ประโยชน์สุขแก่คนสัตว์ทั้งหลาย หรือน้ำใจปรารถนาประโยชน์สุขที่เป็นไปต่อมิตร

2. กรุณา = เกิดความสะเทือนใจเมื่อคนอื่นประสบทุกข์, จะไถ่ถอนทำทุกข์ของผู้อื่นให้หมดไป หรือแผ่ใจไปรับรู้ต่อคนสัตว์ทั้งหลายที่ประสบทุกข์

3. มุทิตา = โมทนายินดีต่อผู้ประกอบด้วยสมบัติหรือผลดีนั้นๆ

4. อุเบกขา = คอยมองดูอยู่ โดยละความขวนขวาย และเข้าถึงความเป็นกลาง

ข.ลักษณะ (เครื่องกำหนด) รส (หน้าที่/กิจ)

ปัจจุปัฏฐาน (ผลปรากฏ) และ ปทัสถาน (เหตุใกล้)

1.เมตตา (ในสถานการณ์ที่คนอื่นอยู่เป็นปกติ)

ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเกื้อกูลแก่คนสัตว์ทั้งหลาย

หน้าที่ = น้อมนำประโยชน์เข้าไปให้แก่เขา

ผลปรากฏ = กำจัดความอาฆาตแค้นเคืองให้ปราศไป

ปทัสถาน = เห็นภาวะที่น่าเจริญใจของคนสัตว์ทั้งหลาย

2.กรุณา (ในสถานการณ์ที่คนอื่นตกทุกข์เดือดร้อน)

ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการปลดเปลื้องทุกข์แก่คนสัตว์ทั้งหลาย

หน้าที่ = ไม่นิ่งดูดาย/ทนนิ่งอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์ของคนสัตว์ทั้งหลาย

ผลปรากฏ = ไม่เบียดเบียน/อวิหิงสา

ปทัสถาน = เห็นภาวะไร้ที่พึ่ง/สภาพอนาถาของคนสัตว์ที่ถูกทุกข์ครอบงำ

3.มุทิตา (ในสถานการณ์ที่คนอื่นมีสุขสำเร็จ หรือทำอะไรก้าวไป ด้วยดี)

ลักษณะ = พลอยยินดี/ยินดีด้วย

หน้าที่ = ไม่ริษยา/เป็นปฏิปักษ์ต่อความริษยา

ผลปรากฏ = ขจัดความริษยา

ปทัสถาน = เห็นสมบัติ/ความสำเร็จของคนสัตว์ทั้งหลาย

4.อุเบกขา (ในสถานการณ์รักษาธรรม ตามความรับผิดชอบต่อกรรมที่เขาทำ)

ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเป็นกลางต่อคนสัตว์ทั้งหลาย

หน้าที่ = มองเห็นความเสมอภาคกันในสัตว์ทั้งหลาย

ผลปรากฏ = ระงับความขัดเคืองเสียใจและความคล้อยตามดีใจ

ปทัสถาน = มองเห็นภาวะที่ทุกคนเป็นเจ้าของกรรมของตน ไม่อาจได้สุขพ้นทุกข์ตามใจชอบของตน

ภูมิธรรมชาวพุทธ (9) from khaosod

ภูมิธรรมชาวพุทธ (9)

คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


คําอาราธนาศีล 8 :

(เหมือนกับคำอาราธนาศีล 5 เปลี่ยนแต่ ปญฺจ เป็น อฏฺฐ)

มยํ ภนฺเต, ติสรเณน สห, อฏฺฐ สีลานิ ยาจาม;

ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต, . . .

ตติยมฺปิ มยํ ภนฺเต, . . .

แปลว่า : ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอศีล 8 พร้อมทั้งไตรสรณะ

แม้ครั้งที่ 2 ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย . . .

แม้ครั้งที่ 3 ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย . . .

คำอาราธนาอุโบสถศีล

มยํ ภนฺเต, ติสรเณน สห, อฏฺฐงฺคสมนฺนาคตํ, อุโปสถํ ยาจาม (ว่า 3 จบ)

แปลว่า : ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขออุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ 8 พร้อมทั้งไตรสรณะ

พึงสังเกตว่า ผู้อาราธนา ขอศีล แต่พระเพียงบอกสิกขาบท ให้คฤหัสถ์ตกลงรับข้อฝึกไปปฏิบัติ เพื่อทำตัวให้มีศีลด้วยตนเอง

[2.11] หลีกเว้น อบายมุข 6 ดำเนินใน วัฒนมุข 6

ก. อบายมุข 6 (ช่องทางของความเสื่อม, ทางแห่งความพินาศ, เหตุย่อยยับแห่งโภคทรัพย์ - Apayamukha: causes of ruin; ways of squandering wealth)

1.เสพติดสุรายาเมา (addiction to intoxicants; drug addiction)

2.เอาแต่เที่ยวไม่รู้เวลา (roaming the streets at unseemly hours)

3.จ้องหาแต่การบันเทิง (frequenting shows)

4.ระเริงเล่นติดการพนัน (indulgence in gambling)

5.พัวพันมั่วสุมมิตรชั่ว (association with bad companions)

6.มัวจมอยู่ในความเกียจคร้าน (habit of idleness)

ข. วัฒนมุข 6 (ธรรมที่เป็นปากทางแห่งความเจริญ, ธรรมที่เป็นดุจประตูชัยอันจะเปิดออกไปให้ก้าวหน้าสู่ความเจริญงอกงามของ ชีวิต - Vaddhana-mukha: channels of growth; gateway to progress)

1.อาโรคยะ (ความไม่มีโรค, ความมีสุขภาพดี - Arogya : good health)

2.ศีล (ความประพฤติดี มีวินัย ไม่ก่อเวรภัย ได้ฝึกในมรรยาทอันงาม - Sila : moral conduct and discipline)

3.พุทธานุมัติ (ศึกษาแนวทาง มองดูแบบอย่าง เข้าถึงความคิดของพุทธชนเหล่าคนผู้เป็นบัณฑิต - Buddhanumata : conformity or access to the ways of great, enlightened beings)

4.สุตะ (ใฝ่เล่าเรียนหาความรู้ ฝึกตนให้เชี่ยวชาญและทันต่อเหตุการณ์ - Suta : much learning)

5.ธรรมานุวัติ (ดำเนินชีวิตและกิจการงานโดยทางชอบธรรม - Dhammanuvatti : practice in accord with the Dhamma; following the law of righteousness)

6.อลีนตา (เพียรพยายามไม่ระย่อ, มีกำลังใจแข็งกล้า ไม่ท้อถอยเฉื่อยชา เพียรก้าวหน้าเรื่อยไป - Alinata : unshrinking perseverance)

สำหรับเด็กๆ พึงจำง่ายๆ ว่า

1.รักษาสุขภาพดี 2.มีระเบียบวินัย 3.ได้คนดีเป็นแบบอย่าง 4.ตั้งใจเรียนให้รู้จริง 5.ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม 6.มีความขยันหมั่นเพียร

ธรรม 6 ประการชุดนี้ ในบาลีเดิมเรียกว่า อัตถทวาร (ประตูแห่งประโยชน์, ประตูสู่จุดหมาย) หรือ อัตถประมุข (ปากทางสู่ประโยชน์, ต้นทางสู่จุดหมาย) และอรรถกถาอธิบายคำ อัตถะ ว่า หมายถึง "วุฒิ" คือความเจริญ ซึ่งได้แก่ วัฒนะ ดังนั้นจึงอาจเรียกว่า วุฒิมุข หรือที่คนไทยรู้สึกคุ้นมากกว่าว่า วัฒนมุข

อนึ่ง ในฝ่ายอกุศล มีหมวดธรรมรู้จักกันดีที่เรียกว่า อบายมุข 6 ซึ่งแปลว่า ปากทางแห่งความเสื่อม จึงอาจเรียกธรรมหมวดนี้ด้วยคำที่เป็นคู่ตรงข้ามว่า อบายมุข 6 (ปากทางแห่งความเจริญ)

[2.12] อคติ 4 (ฐานะอันไม่พึงถึง, ทางความประพฤติที่ผิด, ความไม่เที่ยงธรรม, ความลำเอียง - Agati : wrong course of behaviour; prejudice; bias; injustice)

1.ฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะชอบ - Chandagati : prejudice caused by love or desire; partiality)

2.โทสาคติ (ลำเอียงเพราะชัง - Dosagati : prejudice caused by hatred or enmity)

3.โมหาคติ (ลำเอียงเพราะหลง, พลาดผิดเพราะเขลา - Mohagati: prejudice caused by delusion or stupidity)

4.ภยาคติ (ลำเอียงเพราะกลัว, เสียธรรมเพราะความขลาด - Bhaya-gati : prejudice caused by fear)

พึงเว้น อคติ 4 นี้ แต่พึงเจริญ พรหมวิหาร 4 และใช้สังคหวัตถุ 4

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มองแต่แง่ดีเถิด


มองแต่แง่ดีเถิด-คำสอนท่านพุทธทาสภิกขุ


.
มองแต่แง่ดีเถิด
.
เขามีส่วน  เลวบ้าง  ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์  โลกบ้าง  ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว  อย่างไปรู้  ของเขาเลย
.
จะหาคน  มีดี  โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว  ค้นหา  สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา  หนวดเต่า  ตายเปล่าเอย
ฝึกให้เคย  มองแต่ดี  มีคุณจริง
.
ท่านพุทธทาสภิกขุ

from http://www.oknation.net/blog/print.php?id=177187

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เมื่อสุขแท้ก็ถึงธรรม khaosod

ธรรมะฉบับเรียนลัด (1) เมื่อสุขแท้ก็ถึงธรรม

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


มนุษย์ ทุกคนต้องการชีวิตที่ดีและมีความสุขที่แท้จริง และเราก็ดำเนินชีวิต เพียรพยายามทำทุกอย่างเพื่อหาสิ่งนี้ แต่แล้วมนุษย์ก็ประสบปัญหากันอยู่อย่างนี้แหละ เพราะเพียรพยายามไป โดยไม่รู้ไม่เข้าใจว่าชีวิตที่ดีและความสุขที่แท้จริงนั้นคืออะไร

ขอ รวบรัดว่า หลักในการสร้างชีวิตที่ดีและมีความสุขนี้ ไม่มีอะไรมาก ก็คือ การเข้าถึงธรรม นั่นเอง เป็นอันเดียวกัน เมื่อใดเราเข้าถึงชีวิตที่ดีมีความสุขที่แท้จริง ก็คือเข้าถึงธรรม พูดสั้นๆ ว่า เมื่อสุขแท้ ก็ถึงธรรม เมื่อพูดอย่างนี้แล้วทุกท่านจะได้ไม่หนักใจ คือจะได้เห็นการก้าวเข้าไปหาธรรมเป็นเรื่องที่ตรงกับจุดหมายของชีวิตของเรา อยู่แล้ว

ถ้าหากท่านใดยืนยันกับตัวเองได้ว่า ฉันเข้าถึงชีวิตที่ดีมีความสุขแท้จริงแล้ว ถ้าท่านยืนยันได้อย่างนั้น ท่านก็บอกกับตนเองได้เลยว่า ข้าพเจ้าเข้าถึงธรรมแล้ว แต่ท่านจะยืนยันได้หรือเปล่า ถ้าท่านยืนยันไม่ได้ก็ต้องบอกว่า ฉันยังต้องพยายามเข้าถึงชีวิตที่ดีมีความสุขต่อไป นั่นก็คือ ฉันจะต้องเข้าถึงธรรมต่อไป สองอย่างนี้เป็นอันเดียวกัน คือ เมื่อสุขแท้ ก็ถึงธรรม และเมื่อถึงธรรม ก็สุขแท้

พระพุทธศาสนาก็ได้บอกแล้วว่า การเข้าถึงชีวิตที่ดีมีความสุข หรือการเข้าถึงธรรมนั้น มีให้เราเข้าถึงได้อยู่แล้วเป็นขั้นๆ หลายขั้น ซึ่งจัดรวมได้เป็น 3 ขั้น คือ

1. ขั้นกามอามิส ได้แก่ชีวิตที่วุ่นวายหรือวนเวียนอยู่กับการหารูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัสกาย ที่สวยงาม ไพเราะ หอมหวาน ซู่ซ่า เอร็ดอร่อย มาเสพบริโภคบำรุงบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น และร่างกาย เป็นสุขสนุกสนานเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งเหล่านั้น

ชีวิตและความสุขขั้นนี้แบ่งซอยออกไปได้เป็น 2 ระดับ คือ

ก) ระดับที่ไร้การศึกษา หรือยังไม่พัฒนา การบำรุงบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสเนื้อหนังนั้นเป็นเรื่องที่แต่ละคนทำให้แก่ตัวเอง และเมื่อหาไปเสพไปก็ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ จึงต้องหามาเสพให้มากที่สุด และหามาเติมเรื่อยไป

สิ่งเสพนั้นอยู่นอกตัว ซึ่งจะต้องหาเอามา ความสุขขั้นกาม จึงเป็นความสุขจากการได้การเอา เมื่อทุกคนต่างก็หาให้แก่ตัวให้ได้มากที่สุดและให้ยิ่งขึ้นไป ก็ต้องแย่งชิงเบียดเบียนข่มเหงเอารัดเอาเปรียบตลอดจนทำลายกัน จนกลายเป็นว่า ทุกคนแย่งกันเอา จนอดไปด้วยกัน หรือคนที่แข็งแรงกว่าได้เต็มที่เพียงสองสามคน แต่คนอื่นอดแย่ไปทั้งหมด รวมแล้วมนุษย์ก็อยู่กันอย่างไม่มีความสงบสุข

ชีวิตและความสุขของคนใน ขั้นกามระดับที่ยังไม่พัฒนานี้ ว่าโดยคุณภาพไม่แตกต่างจากสัตว์ทั้งหลายที่คนดูถูกว่าเป็นชั้นต่ำ และยิ่งเลวร้ายกว่าด้วยซ้ำ โดยอัตราของความรุนแรง เพราะมนุษย์มีมือ สมอง และอุปกรณ์ที่จะใช้แย่งชิงและทำลายกันได้หนักหนากว่า

ข) ระดับที่เข้าสู่การศึกษา หรือเริ่มมีการพัฒนา ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง และยศศักดิ์ฐานะตำแหน่งกันไป เพื่อจะได้มีสิ่งเสพสิ่งบริโภค และมีโอกาสเสพบริโภคได้มากๆ ท่านก็ไม่ว่า แต่ขอให้มีเครื่องยับยั้งหรืออยู่ในขอบเขตที่จะไม่ก่อปัญหาแก่ชีวิตและ สังคมมากเกินไป และให้รู้จักพัฒนาชีวิตขึ้นสู่ขั้นที่สูงขึ้นไปอีก เพื่อจะได้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมให้มากขึ้น

ความสุข 5 ขั้น (จบ) khaosod

ความสุข 5 ขั้น (จบ)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


โดย เฉพาะท่านผู้สูงอายุนั้นก็เป็นธรรมดาว่าจะต้องมีเวลาพัก และเวลาที่ว่างจากกิจกรรม มากกว่าคนหนุ่มสาวและคนวัยทำงานที่เขายังมีกำลังร่างกายแข็งแรงดี ว่างจากงานเขาก็ไปเล่นไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้มาก แต่ท่านที่สูงอายุ นอกจากออกกำลังบริหารร่างกายบ้างแล้ว ก็ต้องการเวลาพักผ่อนมากหน่อย จึงมีเวลาว่าง ซึ่งไม่ควรปล่อยให้กายว่างแต่ใจวุ่น

เพราะฉะนั้นใน เวลาที่ว่าง ไม่มีอะไรจะทำ และก็ยังไม่พักผ่อนนอนหลับ หรือนอนแล้วก่อนจะหลับ ก็พักผ่อนจิตให้ใจสบาย ขอเสนอวิธีปฏิบัติง่ายๆ ไว้อย่างหนึ่งว่า ในเวลาที่ว่างอย่างนั้นให้สูดลมหายใจเข้าและหายใจออกอย่างสบายๆ สม่ำเสมอ ให้ใจอยู่กับลมหายใจที่เข้าและออกนั้น พร้อมกันนั้นก็พูดในใจไปด้วย ตามจังหวะลมหายใจเข้าและออกว่า

จิตเบิกบานหายใจเข้า

จิตโล่งเบาหายใจออก

ในเวลาที่พูดในใจอย่างไร ก็ทำใจให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วย หรืออาจจะเปลี่ยนเป็นสำนวนใหม่ก็ได้ว่า

หายใจเข้า สูดเอาความสดชื่น

หายใจออก ฟอกจิตให้สดใส

ถูก กับตัวแบบไหนก็เลือกเอาแบบนั้น หายใจพร้อมกับทำใจไปด้วยอย่างนี้ ตามแต่จะมีเวลาหรือพอใจ ก็จะได้การพักผ่อนที่เสริมพลังทั้งร่างกายและจิตใจ ชีวิตจะมีความหมาย มีคุณค่า และมีความสุขอยู่เรื่อยไป

ขั้นที่ 5 สุดท้าย ความสุขเหนือการปรุงแต่ง คราวนี้ไม่ต้องปรุงแต่ง คืออยู่ด้วยปัญญา ที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต การเข้าถึงความจริงด้วยปัญญาเห็นแจ้ง ทำให้วางจิตวางใจลงตัวสนิทสบายกับทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่อย่างผู้เจนจบชีวิต

สภาพ จิตนี้จะเปรียบเทียบได้เหมือนสารถีที่เจนจบการขับรถ สารถีผู้ชำนาญในการขับรถนั้น จะขับม้าให้นำรถเข้าถนน และวิ่งด้วยความเร็วพอดี ตอนแรกต้องใช้ความพยายาม ใช้แส้ ดึงบังเหียนอยู่พักหนึ่ง แต่พอรถม้านั้นวิ่งเข้าที่เข้าทางดี ความเร็วพอดี อยู่ตัวแล้ว สารถีผู้เจนจบ ผู้ชำนาญแล้วนั้นจะนั่งสงบสบายเลย แต่ตลอดเวลานั้นเขามีปัญญารู้พร้อมอยู่เต็มที่ ถ้ามีอะไรผิดพลาดเขาจะแก้ไขได้ทันที และตลอดเวลานั้นเขาไม่มีความประหวั่น ไม่มีความหวาด จิตเรียบสนิท ไม่เหมือนคนที่ยังไม่ชำนาญ จะขับรถนี่ใจคอไม่ดี หวาดหวั่น ใจคอยกังวลโน่นนี่ ไม่ลงตัว แต่พอรู้เข้าใจความจริงเจนจบดี ด้วยความรู้นี่แหละจะปรับความรู้สึกให้ลงตัว เป็นสภาพจิตที่เรียบสงบสบายที่สุด

คนที่อยู่ในโลกด้วยความรู้เข้าใจ โลกและชีวิตตามเป็นจริง จิตเจนจบกับโลกและชีวิต วางจิตลงตัวพอดี ทุกอย่างเข้าที่อยู่ตัวสนิทอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็นจิตอุเบกขา เป็นจิตที่สบาย ไม่มีอะไรกวนเลย เรียบสนิท เป็นตัวของตัวเอง ลงตัว เมื่อทุกสิ่งเข้าที่ของมันแล้ว คนที่จิตลงตัวถึงขั้นนี้จะมีความสุขอยู่ประจำตัวตลอดเวลา เป็นสุขเต็มอิ่มอยู่ข้างใน ไม่ต้องหาจากข้างนอก และเป็นผู้มีชีวิตที่พร้อมที่จะทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ เพราะไม่ต้องห่วงกังวลถึงความสุขของตน และไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป จะมองโลกด้วยปัญญาที่รู้ความจริง และด้วยใจที่กว้างขวางรู้สึกเกื้อกูล

คน ที่พัฒนาความสุขมาถึงขั้นสุดท้ายแล้วนี้เป็นผู้พร้อมที่จะเสวยความสุข ทุกอย่างใน 4 ข้อแรก ไม่เหมือนคนที่ไม่พัฒนา ได้แต่หาความสุขประเภทแรกอย่างเดียว เมื่อหาไม่ได้ก็มีแต่ความทุกข์เต็มที่ และในเวลาที่เสพความสุขนั้นจิตใจก็ไม่โปร่งไม่โล่ง มีความหวั่นใจ หวาด ระแวง ขุ่นมัว มีอะไรรบกวนอยู่ในใจ สุขไม่เต็มที่ แต่พอพัฒนาความสุขขึ้นมา ยิ่งพัฒนาถึงขั้นสูงขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสได้ความสุขเพิ่มขึ้นหลายทาง กลายเป็นว่าความสุขมีให้เลือกได้มากมาย และจิตที่พัฒนาดีแล้วช่วยให้เสวยความสุขทุกอย่างได้เต็มที่ โดยที่ในขณะนั้นๆ ไม่มีอะไรรบกวนจิตใจให้ขุ่นข้องหมองมัว

เป็น อันว่าธรรมะช่วยให้เรารู้จักความสุขในการดำเนินชีวิตมากยิ่งๆ ขึ้นไป สู่ความเป็นผู้เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ จนกระทั่งความสุขเป็นคุณสมบัติของชีวิตอยู่ภายในตัวเองตลอดทุกเวลา ไม่ต้องหา ไม่ต้องรออีกต่อไป

ความสุข 5 ขั้นนี่ความจริงแต่ละข้อต้องอธิบายกันมาก แต่วันนี้พูดไว้พอให้ได้หัวข้อก่อน คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์พอสมควร

ขอ อนุโมทนาท่านผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ขอตั้งจิตส่งเสริมกำลังใจ ขอให้ทุกท่านประสบจตุรพิธพรชัย มีปีติอิ่มใจ อย่างน้อยว่าชีวิตส่วนที่ผ่านมาได้ทำประโยชน์ ได้ทำสิ่งที่มีค่าไปแล้ว ถือว่าได้บรรลุจุดหมายของชีวิตไปแล้วส่วนหนึ่ง

เพราะฉะนั้นจึงควร จะตั้งใจว่า เราจะเดินหน้าต่อไปอีกสู่จุดหมายชีวิตที่ควรจะได้ต่อไป เพราะยังมีสิ่งที่จะทำชีวิตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ใช่แค่นี้ ชีวิตนั้นยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ ที่จะทำให้เต็มเปี่ยมได้ยิ่งกว่านี้ จึงขอให้ทุกท่านเข้าถึงความสมบูรณ์ของชีวิตนั้นสืบต่อไป และขอให้ทุกท่านมีความร่มเย็นเป็นสุขในพระธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกัน ตลอดกาลทุกเมื่อ

วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความสุข 5 ขั้น (3) khaosod

ความสุข 5 ขั้น (3)

คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ขั้น ที่ 3 ความสุขเกิดจากการดำเนินชีวิตถูกต้อง สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ไม่หลงอยู่ในโลกของสมมติ ที่ผ่านมานั้นเราอยู่ในโลกของสมมติมาก และบางทีเราก็หลงไปกับความสุขในโลกของสมมตินั้น แล้วก็ถูกสมมติล่อหลอกเอา อยู่ด้วยความหวังสุขจากสมมติที่ไม่จริงจังยั่งยืน และพาให้ตัวแปลกแยกจากความจริงของธรรมชาติ และขาดความสุขที่พึงได้จากความเป็นจริงในธรรมชาติ เหมือนคนทำสวนที่มัวหวังความสุขจากเงินเดือน เลยมองข้ามผลที่แท้จริงตามธรรมชาติจากการทำงานของตัว คือความเจริญงอกงามของต้นไม้ ทำให้ทำงานด้วยความฝืนใจเป็นทุกข์ ความสุขอยู่ที่การได้เงินเดือนอย่างเดียว ได้แต่รอความสุขที่อยู่ข้างหน้า แต่พอใจมาอยู่กับความเป็นจริงของธรรมชาติ อยากเห็นผลที่แท้จริงตามธรรมชาติของการทำงานของตน คืออยากเห็นต้นไม้เจริญงอกงาม หายหลงสมมติ ก็มีความสุขในการทำสวน และได้ความสุขจากการชื่นชมความเจริญงอกงามของต้นไม้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น คนที่ปรับชีวิตได้ เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ จึงสามารถหาความสุขจากการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ได้เสมอ

พอปัญญามาบรรจบให้วางใจถูก ชีวิตและความสุขก็ถึงความสมบูรณ์

ขั้น ที่ 4 ความสุขจากความสามารถปรุงแต่ง คนเรานี้มีความสามารถในการปรุงแต่ง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของมนุษย์ ปรุงแต่งทุกข์ก็ได้ ปรุงแต่งสุขก็ได้ โดยเฉพาะที่เห็นเด่นชัดก็คือปรุงแต่งความคิดมาสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ จนมีเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย

ที่สำคัญก็คือในใจของเราเอง เรามักจะใช้ความสามารถในทางที่เป็นผลร้ายแก่ตนเอง แทนที่จะปรุงแต่งความสุข เรามักจะปรุงแต่งทุกข์ คือเก็บเอาอารมณ์ที่ไม่ดี ที่ขัดใจ ขัดหู ขัดตา เอามาครุ่นคิดให้ไม่สบายใจ ขุ่นมัว เศร้าหมอง โดยเฉพาะท่านที่สูงอายุนี่ต้องระวังมาก ใจคอยจะเก็บอารมณ์ที่กระทบกระเทือน ไม่สบาย แล้วก็มาปรุงแต่ง ให้เกิดความกลุ้มใจ ว้าเหว่ เหงา เรียกว่าใช้ความสามารถไม่เป็น

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารู้จักใช้ ความสามารถในการปรุงแต่ง แทนที่จะปรุงทุกข์ ก็ปรุงแต่งสุข เก็บเอาแต่อารมณ์ที่ดีมาปรุงแต่งใจให้สบาย แม้แต่หายใจ ท่านยังให้ปรุงแต่งความสุขไปด้วย ลองฝึกดูก็ได้ เวลาหายใจเข้า ก็ทำใจให้เบิกบาน เวลาหายใจออก ก็ทำใจให้โปร่งเบา ท่านสอนไว้ว่าสภาพจิต 5 อย่างนี่ ควรปรุงแต่งให้มีในใจอยู่เสมอ คือ

1.ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ

2.ปีติ ความอิ่มใจ

3.ปัสสัทธิ ความสงบเย็น ผ่อนคลายกายใจ ไม่เครียด

4.ความสุข ความโปร่งโล่งใจ คล่องใจ สะดวกใจ ไม่มีอะไรมาบีบคั้น หรือติดขัดคับข้อง และ

5.สมาธิ ภาวะที่จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ ไม่มีอะไรมารบกวน จิตอยู่ตัวของมัน

ขอย้ำว่า 5 ตัวนี่สร้างไว้ประจำใจให้ได้ เป็นสภาพจิตที่ดีมาก ผู้ที่เจริญในธรรมจะมีคุณสมบัติของจิตใจ 5 ประการนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ตโต ปาโมชฺชพหุโล ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ

แปลว่า ภิกษุผู้ปฏิบัติถูกต้องแล้ว มากด้วยปราโมทย์ มีจิตใจร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอ จักทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป ท่านพูดไว้ถึงอย่างนี้

ฉะนั้น ท่านผู้จะเกษียณอายุนั้น ถึงเวลาแล้ว ควรจะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ถือเป็นโอกาสดี มาปรุงแต่งใจ แต่ก่อนนี้ปรุงแต่งแต่ทุกข์ ทำให้ใจเครียด ขุ่นมัว เศร้าหมอง ตอนนี้ปรุงแต่งใจให้มีธรรม 5 อย่างนี่ คือ ปราโมทย์ มีความร่าเริงเบิกบานใจ ปีติ ความอิ่มใจ ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย สงบเย็นกายใจ สุข โล่งโปร่งใจ สมาธิ สงบใจตั้งมั่น ไม่มีอะไรมารบกวน อยู่ตัว สบายเลย ทำใจให้ได้อย่างนี้อยู่เสมอ ท่องไว้เลย 5 ตัวนี่ คือ ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ พระพุทธเจ้าประทานไว้แล้ว ทำไมเราไม่เอามาใช้ นี่แหละความสามารถในการปรุงแต่งจิต เอามาใช้ สบายแน่ และก็เจริญงอกงามในธรรมด้วย

ความสุข 5 ขั้น (2) khaosod

ความสุข 5 ขั้น (2)

คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ศีล 8 เป็นตัวอย่างของวิธีฝึกไม่ให้เราสูญเสียอิสรภาพ โดยไม่เอาความสุขไปขึ้นต่อวัตถุมากเกินไป แปดวันก็รักษาศีล 8 ครั้งหนึ่ง ลองหัดดูซิว่าให้ความสุขของเราไม่ต้องขึ้นกับการบำรุงบำเรอทางกายด้วยวัตถุ เริ่มด้วยข้อวิกาลโภชนาฯ ไม่ต้องบำเรอลิ้นด้วยอาหารอร่อยอยู่เรื่อย ไม่คอยตามใจลิ้น กินแค่เที่ยง เพียงเท่าที่ร่างกายต้องการเพื่อให้มีสุขภาพดี แข็งแรง ตลอดจนข้ออุจจาสยนะฯ ไม่บำเรอตัวด้วยการนอน ไม่ต้องนอนบนฟูก ลองนอนง่ายๆ บนพื้น บนเสื่อธรรมดา ลองไม่ดูการบันเทิงซิ ทุก 8 วัน เอาครั้งเดียว จะเป็นการรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ และฝึกให้เรามีชีวิตอยู่ดีได้ โดยไม่ต้องขึ้นกับวัตถุมากเกินไป

พอฝึกได้แล้วต่อมาเราจะพูดถึง วัตถุหรือสิ่งบำรุงความสุขเหล่านั้นว่า "มีก็ดี ไม่มีก็ได้" ต่างจากคนที่ไม่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ซึ่งจะเอาความสุขไปขึ้นต่อวัตถุ ถ้าไม่มีวัตถุเหล่านั้นเสพแล้ว อยู่ไม่ได้ ทุรนทุราย ต้องพูดถึงวัตถุหรือสิ่งเสพเหล่านั้นว่า "ต้องมีจึงจะอยู่ได้ ไม่มีอยู่ไม่ได้" คนที่เป็นอย่างนี้จะแย่ ชีวิตนี้สูญเสียอิสรภาพ คนยิ่งอายุมากขึ้นสถานการณ์ก็ไม่แน่นอน ถึงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายเสพความสุขจากสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ เช่น ลิ้นไม่รับรู้รส กินอาหารก็ไม่อร่อย ถ้าไม่ฝึกไว้ ความสุขของตัว ไปอยู่ที่วัตถุเหล่านั้นเสียหมดแล้ว และตัวก็เสพมันไม่ได้ จิตใจก็ไม่มีความสามารถที่จะมีความสุขด้วยตนเอง ก็จะลำบากมาก ทุกข์มาก เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้ฝึกไว้ รักษาศีล 8 นี้ แปดวันครั้งหนึ่ง จะได้ไม่สูญเสียอิสรภาพนี้ไป

เพราะฉะนั้น เอาคำว่า "มีก็ดี ไม่มีก็ได้" นี้ไว้ถามตัวเอง เป็นการตรวจสอบอยู่เสมอว่า เราถึงขั้นนี้หรือยัง หรือต้องมีจึงจะอยู่ได้ ถ้ายังพูดได้ว่า มีก็ดี ไม่มีก็ได้ ก็เบาใจได้ว่า เรายังมีอิสรภาพอยู่ ต่อไปถ้าเราฝึกเก่งขึ้นไปอีก อาจจะมาถึงขั้นที่พูดได้ในบางเรื่องว่า "มีก็ได้ ไม่มีก็ดี" ถ้าได้อย่างนี้ ก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก

คนที่พูดได้อย่างนี้ จะมีความรู้สึกว่าของพวกนี้เกะกะ เราอยู่ของเราง่ายๆ ดีแล้ว มีก็ได้ ไม่มีก็ดี ไม่มีเราก็สบาย ชีวิตเป็นอิสระ โปร่งเบา ความสุขเริ่มไม่ขึ้นต่อวัตถุอามิสสิ่งเสพภายนอก ความสุขเริ่มไม่ต้องหา

ความ สุขที่ต้องหา แสดงว่าเราขาด คือยังไม่มีความสุขนั้น เราหาได้ที เสพทีก็มีสุขที แต่ระหว่างนั้นต้องอยู่ด้วยการรอ อยู่ด้วยความหวัง บางทีก็ถึงกับทุรนทุราย กระวนกระวาย เพราะฉะนั้น จะต้องทำตัวให้มีความสุขด้วยตนเองสำรองไว้ให้ได้ ด้วยวิธีฝึกรักษาอิสรภาพของชีวิต และรักษาความสามารถที่จะมีความสุขไว้

ขั้น ที่ 2 พอเจริญคุณธรรม เช่น มีเมตตากรุณา มีศรัทธา เราก็มีความสุขเพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง แต่ก่อนนี้ชีวิตเคยต้องได้วัตถุมาเสพ ต้องได้ ต้องเอา เมื่อได้จึงจะมีความสุข ถ้าให้คือเสียก็ไม่มีความสุข แต่คราวนี้ คุณธรรมทำให้ใจเราเปลี่ยนไป เหมือนพ่อแม่ที่มีความสุขเมื่อให้แก่ลูก เพราะรักลูก ความรักคือเมตตา ทำให้อยากให้ลูกมีความสุข พอให้แก่ลูกแล้วเห็นลูกมีความสุข ตัวเองก็มีความสุข เมื่อพัฒนาเมตตากรุณาขยายออกไปถึงใคร ให้แก่คนนั้น ก็ทำให้ตัวเองมีความสุข ศรัทธาในพระศาสนา ในการทำความดี และในการบำเพ็ญประโยชน์เป็นต้น ก็เช่นเดียวกัน เมื่อให้ด้วยศรัทธา ก็มีความสุขจากการให้นั้น ดังนั้น คุณธรรมที่พัฒนาขึ้นมาในใจ เช่น เมตตา กรุณา ศรัทธา จึงทำให้เรามีความสุขจากการให้ การให้กลายเป็นความสุข

ความสุข 5 ขั้น (1) khaosod

ความสุข 5 ขั้น (1) ฝึกตนยิ่งขึ้นไป ดำเนินชีวิตให้ถูก ความสุขยิ่งเพิ่มพูน

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


เมื่อ ทำตัวเป็นพระพรหมได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ก็มาทำชีวิตให้เข้าถึงความสุข ในที่นี้ขอพูดคร่าวๆ ถึงความสุข 5 ขั้น ขอพูดอย่างย่อ ในเวลาที่เหลืออันจำกัดดังนี้

ขั้นที่ 1 คือ ความสุขจากการเสพวัตถุ หรือสิ่งบำรุงบำเรอภายนอกที่นำมาปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรา ข้อนี้เป็นความสุขสามัญที่ทุกคนในโลกปรารถนากันมาก

ความสุขประเภทนี้ขึ้นต่อสิ่งภายนอก เพราะว่าเป็นวัตถุหรืออามิสภายนอก เมื่อเป็นสิ่งภายนอก อยู่นอกตัว ก็ต้องหา ต้องเอา เพราะฉะนั้นสภาพจิตของคนที่หาความสุขประเภทนี้ จึงเต็มไปด้วยความคิดที่จะได้จะเอา แล้วก็ต้องหาและดิ้นรนทะยานไป เมื่อได้มาก ก็มีความสุขมาก แล้วก็เพลิดเพลินไปกับความสุขเหล่านั้น พอได้มากๆ เข้า ต่อมาก็นึกว่าตัวเองเก่งมาก ไปๆ มาๆ โดยไม่รู้ตัวก็มีภาวะอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือ ชีวิตและความสุขของตัวเองต้องไปขึ้นกับวัตถุเหล่านั้น อยู่ลำพังง่ายๆ อย่างเก่า ไม่สุขเสียแล้ว ตอนที่เกิดมาใหม่ๆ นี้ ไม่ต้องมีอะไรมาก ก็พอจะมีความสุขได้ ต่อมามีวัตถุมาก เสพมาก ทีนี้ขาดวัตถุเหล่านั้นไม่ได้เสียแล้ว กลายเป็นว่าสูญเสียอิสรภาพ ชีวิตและความสุขต้องไปขึ้นกับวัตถุภายนอก แต่เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเก่ง อันนี้เป็นข้อสำคัญที่คนเราหลงลืมไป ทางธรรมจึงเตือนไว้เสมอว่าเรา อย่าสูญเสียอิสรภาพนี้ไป พร้อมทั้งอย่าสูญเสียความสามารถที่จะเป็นสุข

สิ่งที่คนเราจะพัฒนากันมากก็คือ การพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพมาบำเรอความสุข แม้แต่การศึกษา ทำไปทำมาก็ไม่รู้ตัวว่ากลายเป็นการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความ สุข แต่อีกด้านหนึ่งของชีวิตที่ลืมไป คือ การพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ถ้าเราไม่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข หรือแม้แต่ไม่รักษามันไว้ เราก็สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข

อาการของคนที่สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข ก็คือ ยิ่งอยู่ในโลกนานไปก็ยิ่งกลายเป็นคนที่สุขยากขึ้น คนจำนวนมากสมัยนี้มีลักษณะอย่างนี้ คืออยู่ในโลกนานไป เติบโตขึ้น กลายเป็นคนที่สุขได้ยากขึ้น ต่างจากคนที่รักษาดุลยภาพของชีวิตไว้ได้ โดยพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขควบคู่ไปด้วย จะเป็นคนที่มีลักษณะตรงข้าม คือยิ่งอยู่ในโลกนานไป ก็ยิ่งเป็นคนที่สุขได้ง่ายขึ้น

ถ้าเป็น คนที่สุขได้ง่ายขึ้น ก็ดี 2 ชั้น คือ เราพัฒนาสองด้านไปพร้อมกัน ทั้งพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุขด้วย และพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย ผลก็คือ เราหาสิ่งมาบำเรอความสุขได้เก่งได้มากด้วย และพร้อมกันนั้นเราก็เป็นคนที่สุขได้ง่ายด้วย เราก็เลยสุขซ้อนทวีคูณ

ส่วนคนที่สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข แม้จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุขได้มาก แต่ความสุขก็เท่าเดิมเรื่อยไป เพราะข้างนอกได้มา 1 แต่ข้างในก็ลดลงไป 1 เลย

เหลือ 0 เท่าเดิม กระบวนการวิ่งหาความสุขจึงดำเนินไปไม่รู้จักจบสิ้น เพราะความสุขวิ่งหนีเราไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น จะต้องพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขไว้ด้วยคู่กัน ถ้าเป็นคนที่สุขได้ง่ายก็เป็นอันว่าสบาย อย่างน้อยก็ฝึกตัวเองไว้

อย่าให้ความสุขต้องขึ้นกับวัตถุมากเกินไป

วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มายาคติของน้ำท่วม สิ่งที่อยากให้ลองกลับมาทบทวนใหม่อีกครั้ง matichon

โดย Siam Intelligence Unit

(ที่มา http://www.siamintelligence.com/myths-flood/)


ปัญหาต่างๆ ที่มาพร้อมกับม่านหมอกน้ำ อาจบังตาสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่จริง ลองใช้เวลาสั้นเท่าที่ยังพอมีตั้งสตินิดหนึ่งและมองปัญหา หนทางแก้ไข และทางเลือกที่เกิดขึ้น มองข้ามวาทกรรมต่างๆทั้งหลาย บางทีพอเราฉุกคิด เราอาจพบว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญนั้นเป็นปัญหาแท้จริงส่วนหนึ่ง และปัญหาที่มากับมายาคติส่วนหนึ่ง เริ่มมองไปด้วยกัน


1. น้ำท่วมเป็นความผิดของรัฐบาลทั้งหมด


ต้องทำความเข้าใจว่าการบริหารที่ไม่สามารถจัดการกับน้ำอาจเป็นความผิดส่วนหนึ่งของรัฐบาล แต่ปริมาณน้ำที่มากกว่าเดิมถึง 30-40% จากน้ำท่วมในปีก่อนนั้น มันเกินจะรับมือเหมือนกัน ซึ่งอะไรที่มันเกินรับมือจากปรกติเช่นน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า "ภัยพิบัติ" และเมื่อเกิดภัยพิบัติย่อมแปลว่ากลไกของรัฐบาลและราชการไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะเกิด "ความไม่สะดวก" (inconvenience) ในการปฏิบัติงาน จากปัจจัยต่างๆ เช่น การร้องขอความช่วยเหลือจำนวนมากที่ไม่สามารถจัดการได้พร้อมกันหมด หรือ การเกิดปัญหาในหลายๆ พื้นที่พร้อมกัน ถ้าเข้าไปแก้สถานการณ์ที่หนึ่งอีกที่ ที่ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ก็มักจะได้รับเสียงเรียกร้องที่ไม่พอใจ


ดังนั้นกลไกชุมชน เอกชน และภาคประชาสังคมต้องหนุนเสริม สิ่งสำคัญก็คือการสืบสวนและหาบทเรียนหลังจากที่สถานการณ์ผ่านไปแล้วและปรับแก้ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดซ้ำๆ ส่วนรัฐบาลเองก็ต้องเปิดโอกาสให้กับภาคส่วนต่างๆ เข้ามาทำงานมากขึ้น เช่น สมมุติจะตั้งศูนย์อพยพหลายพันแห่ง แต่มีข้อจำกัดที่จะต้องเลือกสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ราชการ เช่น วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัยซึ่งบางครั้งชัยภูมิในการตั้งนั้นไม่เหมาะ (แถวบ้านผมเลือกวัดที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นศูนย์พักพิง!!) อาจจะขอความร่วมมือในการใช้พื้นที่เอกชน เป็นศูนย์อพยพ และดึงภาคประชาสังคมเข้าไปบริหารจัดการ เป็นต้น


2. สถานการณ์สร้างวีรบุรุษไม่มีจริง


จากข้อที่ผ่านมาทำให้เราเห็นขนาดของปัญหาที่แท้จริงว่ามันใหญ่โตเกินกลไกรัฐ ดังนั้นคำพูดประเภท "ถ้าเรื่องกรุงเทพฯให้ฟังผมคนเดียว" หรือ "ศปภ. มั่นใจว่าสามารถเอาอยู่" นั้นสะท้อนว่าทัศนคติในการทำงานของฝ่ายรัฐยังคงต้องการ "รบ" กับสิ่งที่มีขนาดมหึมาอยู่ เพื่อหวังว่าการปราบศัตรูนั้นจะสร้างความเป็นวีรบุรุษให้กับตน แต่แท้ที่จริงแล้วสถานการณ์เช่นนี้มันใหญ่เกินกว่าที่จะทำได้โดยลำพัง เดิมพันมันสูงมากกว่าตำแหน่งและอนาคตทางการเมืองของทั้งสองพรรคใหญ่ เพราะมีเรื่องของประชาชนเป็นเดิมพันดังนั้นอย่าให้ภาพความร่วมมือทุกอย่างจบเพียงแค่วันที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบปะกับอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ที่ดอนเมือง แต่เรากลับพบว่าสิ่งที่เป็นกลไกให้แต่ละพื้นที่ผ่านวิกฤตไปได้ กลับเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในชุมชนต่างๆ ที่บางครั้งไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง (ในหลายกรณีผู้ใหญ่บ้านทิ้งหมู่บ้านไปแล้ว) แต่คนเหล่านี้เป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานกับภาคส่วนต่างๆ ในการช่วยเหลือ


3. การมีชีวิตในช่วงภัยพิบัติคือการ "อยู่รอด" ไม่ใช่ "อยู่สบาย"


จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับผู้ประสบภัยหลายๆ ท่าน สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ก็คือเรื่องของการยึดติดกับรูปแบบชีวิตเดิมๆ ที่เคยชิน เช่น เวลาจะขับถ่ายต้องขอเป็นส้วมที่สะอาดถูกสุขลักษณะ แต่เวลาภัยพิบัติมามันไม่สามารถทำแบบนั้นได้แต่ละบ้านก็เรียกขอสุขาลอยน้ำกันทุกบ้าน ซึ่งถ้าหากคิดดูว่ามีผู้ประสบภัย 6 ล้านคนเท่ากับเราต้องผลิตสุขาลอยน้ำถึง 6 ล้านถัง แล้วเมื่อเวลาน้ำลดสิ่งเหล่านี้จะนำไปไว้ไหน? จากการพูดคุยสิ่งที่น่าคิดก็คือชาวบ้านที่ได้รับน้ำท่วมบ่อยๆ จะมีประสบการณ์มากกว่าในเขตเทศบาลและเขตเมือง เขาจะปรับตัวได้การถ่ายลงน้ำและดูแลคุณภาพน้ำไปด้วยก็สามารถดูแลจัดการได้ดีกว่า เราเพียงแต่จะหาความต้องการที่แท้จริงว่าเขาต้องการส้วม หรือ แค่ระบบขับถ่าย เพื่อจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด บางทีจากสุขาลอยน้ำอาจเป็นแค่เก้าอี้และถุงดำที่ประดิษฐ์เป็นส้วม พร้อมน้ำยา EM เพื่อปรับสภาพน้ำแทน จดจำว่าภัยพิบัตินั้นคือสภาวะไม่ปรกติ คุณไม่สามารถนอนกระดิกเท้ากินป๊อปคอร์นและดูละครหลังข่าวได้


4. น้ำมาค่อยอพยพดีกว่าไหม?


เรื่องนี้สำคัญมากและขอตอบว่าไม่จริง!! ถ้าหากว่าเราอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงน้ำท่วม สิ่งที่ควรทำก็คืออพยพออกมาแต่เนิ่นๆ จะสามารถทำได้ง่ายกว่า หากรอถึงการประกาศอพยพรับรองว่าจะต้องเกิดเหตุการณ์โกลาหลวุ่นวายมาก ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่บ้านอยู่หลังคันกั้นน้ำหลายๆ คนที่ไม่ยอมอพยพ ก็เพราะคิดว่าสามารถรับมือได้ไม่มีปัญหาและไม่ย้ายออก (คนที่คุยด้วยวันก่อนหน้านั้นยังดู ผีอีเม้ยอยู่เลย ตอนนี้หนีไปอยู่ชลบุรีแล้ว) ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นคันกั้นน้ำแตก ทีนี้เรื่องร้องเรียนถูกส่งมายังหน่วยช่วยชีวิตและอพยพของทีมมูลนิธิกระจกเงาจำนวนมาก ในสถานการณ์ที่เอาคนออกมายากเพราะน้ำสูง ทางที่ดีล็อกบ้าน สับสะพานไฟ และออกจากบ้านแต่เนิ่นๆ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สาเหตุยอดนิยมของคนที่ไม่อพยพก็คือ ไม่มีญาติที่ไหน หรือมีภาระ เช่น ห่วงสัตว์เลี้ยงและทรัพย์สิน อยากให้ลองคิดว่าความปลอดภัยของชีวิตต้องมาก่อน และรัฐก็ควรจะทำให้รู้สึกว่าศูนย์อพยพนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดไว้ และผู้อพยพก็ต้องเข้าใจว่ามันไม่สะดวกสบายเหมือนที่บ้าน แต่นี่คือภาวะจำเป็น


5. ใครๆ ก็อยากทำความดีงั้นทุกคนมาทำงานอาสากัน


แน่นอน! การลงมือทำย่อมเป็นสิ่งที่ดีและจะก่อให้เกิดสิ่งดีๆตามมา แต่การทำแบบต่างคนต่างทำนั้นก็เป็นปัญหาหนึ่ง จากวงประชุมของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งได้ข้อเสนอที่น่าสนใจว่าทุกคนอยากทำความดี แต่ทุกคนก็เต้นไปตามกระแสที่มันเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น หากสื่อนำเสนอความเดือดร้อนในอยุธยา ความช่วยเหลือก็หลั่งไหลไปอยุธยาทั้งกำลังเงิน กำลังคน และกำลังทรัพย์ พอสื่อบอกว่าปทุมธานีเดือดร้อนทุกคนก็แห่ไปปทุมธานี และทิ้งชาวอยุธยาไว้ สิ่งสำคัญก็คือเราจะรักษาสมดุลได้อย่างไรให้ความช่วยเหลือไม่ไหลไปตามสายน้ำ ดังนั้นควรจะมีการวางแผนประสานงานกันและกัน ไม่ใช่ความช่วยเหลือไปกระจุกตัวเป็นที่เดียว ส่วนงานอาสาสมัครนั้นแท้จริงมีความหลากหลายลองค้นหาสิ่งที่จะเอาศักยภาพมาใช้ให้ได้มากที่สุด เช่น เด็กอาชีวะ ตอนเฟสฟื้นฟูต้องอาศัยทักษะในงานช่างเป็นอย่างมาก


มันน่าจะดีกว่าการขับรถฝืนไปกับน้ำร่วม 400 กิโลเมตรเพื่อบริจาคน้ำสองแพ็กและถ่ายรูปลง Facebook เพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเอง แต่รถไปจมน้ำแล้วเสียหรือลำบากหน่วยงานที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ เรื่องแบบนี้อาจจะส่งมอบของให้หน่วยงานที่มีศักยภาพในการเข้าไปส่งมอบ เพราะเวลาการที่เราจะช่วยเหลือกัน บางครั้งอาจจะไม่ต้องการการที่คนอื่นจะต้องมายอมรับและสำนึกในสิ่งที่เราทำ แต่เป็นการกระทำโดยมนุษยธรรมและไม่เลือกกรณี


6. ฉันเลือกรัฐบาลมาแล้ว รัฐบาลต้องช่วยฉันทุกเรื่อง


คำพระท่านบอกว่า "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" ในสถานการณ์แบบนี้ประชาชนจำเป็นต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด (และรัฐเองก็ต้องให้ข้อมูลมากที่สุดเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจได้) การรอความช่วยเหลือเพียงฝ่ายเดียว สุดท้ายย่อมกลายเป็นปัญหา ในยามวิกฤตเรามักจะเห็นแต่จุดอ่อนของตัวเอง จากการสอบถามข้อมูลในการทำงาน ศปภ.ตำบล บางทีเราค้นพบจุดเด่นที่น่าสนใจในแต่ละหมู่บ้านเช่น หมู่บ้านหนึ่งที่อยุธยามีนางพยาบาล อีกหมู่บ้านหนึ่งมีเรือแต่มีคนป่วย แทนที่เขาจะรอหมอจากภาครัฐเข้าไปช่วย พอเราให้ข้อมูลเขาไปเขาก็เอาเรือไปรับนางพยาบาลมาดูแลคนป่วยแทน แต่ถ้าหากขาดแคลนยาตรงนี้คือส่วนงานที่รัฐต้องเข้าไปหนุนเสริม


7. การประเมินตนเป็นเรื่องสำคัญ อย่าประมาณตนสูง และอย่าดูถูกตนเองต่ำไป


ศูนย์พักพิงหลายแห่งที่รับคนเกินจำนวนที่สามารถรองรับได้ และอยู่ในจุดเสี่ยงที่ใกล้น้ำท่วมอาจจะประเมินศักยภาพตัวเองสูงไป (ด้วยความมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วม หรือด้วยศักดิ์ศรีของผู้มีอำนาจรับผิดชอบ) ปัญหาที่ตามมาก็คือสุดท้ายเมื่อรับมือไม่ไหว (และไม่ยอมอพยพตอนแรก) ก็จะต้องมาช่วยเหลือกันตอนที่ปัญหามันโคม่าแล้ว กลับกันผู้ประสบภัยบางคนประเมินศักยภาพตนเองต่ำไป พบเคสที่ผู้ประสบภัยพบน้ำในระดับข้อเท้า มีอาหารสำรองแล้ว แต่เรียกขอถุงยังชีพจากหลายๆ หน่วยงานเข้าไปเพิ่มอีกแทนที่จะได้กระจายไปให้ผู้อื่น บางทีอาจต้องทำความเข้าใจว่าหน่วยงานที่ช่วยเหลือไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนร้านพิซซ่าที่ต้องส่งเดลิเวรี่ให้ลูกค้าทุกรายตามต้องการ เราต้องการให้ทุกคนอยู่รอดไปด้วยกัน ดีกว่ามีคนกลุ่มหนึ่งอยู่สบายและอีกกลุ่มลำบากเจียนตาย


8. น้ำแห้งแล้ว ทุกอย่างจบสิ้นลง


ตอนนี้หลายคนคงเริ่มฝันถึงว่าเมื่อไหร่น้ำจะแห้ง (มีรายงานว่าอาจจะต้องอยู่กับน้ำ 3-4 สัปดาห์) แต่หลังน้ำแห้งปัญหามากมายยังรอการแก้ไขอยู่มาก ทั้งเรื่องการปรับโครงสร้างทางผังเมืองและกลไกราชการ การเข้าสู่เฟสฟื้นฟูที่อาจกินเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี กระแสต่างๆ ทั้งความช่วยเหลือ ความร่วมมือ และสื่อมวลชนต้องมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลไกในการฟื้นฟูสามารถเดินหน้าได้เต็มที่ไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้นที่ทำหน้าที่ฟื้นฟู เคล็ดลับความสำเร็จหลายๆ ครั้งมาจากการที่คนในชุมชนมาร่วมวางแผนกันเอง เช่น ที่นครสวรรค์ บางพื้นที่ที่น้ำแห้งแล้วเริ่มวางแผนจะฟื้นฟู เพราะนอกจาก "แก้ไขไม่แก้แค้น" แล้ว รัฐบาลจะต้อง "แก้ไขอย่าแก้ขัด" เหมือนรัฐบาลที่ผ่านๆ มาที่เวลาน้ำท่วมทีไรก็ได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแก้ขัด รอบนี้จะต้องแก้กันทั้งระบบทั้งการป้องกัน รับมือ และแก้ไขในอนาคตด้วย


สุดท้ายนี้สิ่งที่อยากจะย้ำเตือนก็คือ ในวาระแบบนี้การประสานความร่วมมือและการพึ่งพาตนเองให้เต็มศักยภาพจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด ที่เราจะต้องทำให้ชินเป็นนิสัยและทัศนคติใหม่ๆ ของคนไทย เราจะต้องเปลี่ยนสถานะจาก "ผู้ประสบภัย" ให้กลายเป็น "ผู้ช่วยเหลือ" ให้ได้ ผมยังจำป้ายที่เขียนที่โรงอาหารกลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (ที่วันนี้น้ำท่วมไปแล้ว) ตอนสึนามิได้ บนกระดานเขียนว่า "เราจะผ่านเรื่องร้ายไปด้วยกัน" ขอให้คนไทยทุกคนผ่านไปให้ได้ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ค่อยสะดวกนัก


ป.ล. กลั่นกรองจากที่เป็นตัวแทน Siam Intelligence Unit เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ ศปภ.ภาคประชาชน ที่นำโดยมูลนิธิกระจกเงา ตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา


คู่มือจิตอาสา น่ารู้

คู่มือจิตอาสา: 6 ขั้นงานอาสาที่ต้องรู้ ตั้งแต่ต้นจนจบ (สำหรับทุกคนที่มีจิคอาสา)




ใช้สมาร์ทโฟนอย่างไรให้มีประโยชน์ในช่วงน้ำท่วม Matichon

เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมกระทบหลายจังหวัดของประเทศ รวมไปถึงกรุงเทพมหานครที่จะต้องเตรียมรับมือหรือรับผลกระทบจากน้ำท่วมในไม่ช้า เชื่อว่ามีหลายท่านโดยเฉพาะวัยทำงาน หรือวัยรุ่นนักเรียน นักศึกษา ส่วนใหญ่จะมีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนกันหมดไว้ใช้คุยกับเพื่อนๆกัน แต่เชื่อหรือไม่ว่าสมาร์ทโฟนจะสามารถมาใช้ในการขอความช่วยเหลือ เตือนภัยน้ำท่วม และรายงานสถานการณ์น้ำท่วมได้


*ติดตามข่าวสารน้ำท่วม ตอนนี้มีแอพพลิเคชั่นมากมาย ที่เป็นแอพรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝีมือคนไทย โดยจะแบ่งเป็นแอพบน Android กับแอพบน iOS

*สำหรับ Android มีแอพพลิเคชั่นรายงานน้ำท่วม เช่น Fightflood , ThaiFloodHelper , Thai Flood Reporter Thaiflood Report , THDiaster , ThaiFlood , ThaiFloods , Bangkok Canal Status

*สำหรับ iOS มีแอพพลิเคชั่นรายงานน้ำท่วมด้วยเช่นกัน เช่น Thai flood Reporter View , Thai Flood Reporter , Floodfeed , Thai Flood Help List , Thai Flood Situation Reports เป็นต้น

*ใช้สมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์แบบมีเสาทีวียาวๆไว้ชมฟรีทีวีหรือฟังวิทยุติดตามสถานการณ์น้ำท่วมได้

*ใช้สมาร์ทโฟนหรือมือถือใช้เป็นไฟฉายส่องทางหาของได้

*ใช้สมาร์ทโฟนติดตามข่าวสารจากอินเตอร์เน็ตและเว็บไซต์ต่างๆทั้งในและต่างประเทศ

*ใช้สมาร์ทโฟนถ่ายภาพ หรือวีดีโอไว้ในการรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ขอความช่วยเหลือ โดยใช้ช่องทางผ่านทาง SMS , Foursquare , Geo Tag , Twitter , Facebook , Line , Whatsapp , Google+ และแอพพลิเคชั่นต่างๆเกี่ยวกับรายงานและขอความช่วยเหลือในสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งจะสามารถส่งข้อความพร้อมภาพและวีดีโอได้ด้วย

*ใช้ในการกระจายสัญญาณ Wi-FI (Wifi-Hotspot)ให้อุปกรณ์มือถือหรือ Notebook ต่างๆ ใช้งานอินเตอร์เน็ตในการรายงานสถานการณ์น้ำท่วมได้ทุกที่ผ่านทาง EDGE และ 3G ในยามที่อินเตอร์เน็ตแบบ ADSL จมน้ำ

*หากใช้ Tablet ก็ขอแนะนำ iPad ที่สามารถใช้งานได้นาน 10 ชั่วโมงหากไม่ใช้งานควร Standby ปิดเครื่องชั่วคราวได้ เพราะจะช่วยให้มีพลังงานในการใช้งานในยามฉุกเฉินได้หลายวัน

*ควรชาร์ทมือถือให้เต็มทั้งโทรศัพท์มือถือที่คุณใช้อยู่ พกแบตสำรองที่มีพลังงานมือถือเต็ม และ Mobile Charger ในการชาร์ทมือถือในยามที่บ้านยังไม่มีไฟฟ้า และเด็ดสุดแนะนำซื้อ Mobile Charger พลังงานแสงอาทิตย์ไว้ชาร์ทตอนมีแสงสว่าง

*ควรใช้มือถือโดยยามจำเป็นเท่านั้น เช่นหากเลิกท่องเน็ต ก็ควรปิดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ปิดGPS ลดความสว่างหน้าจอ ปิดTask ที่ไม่ใช้งาน จะช่วยประหยัดแบตเตอร์รี่ และสามารถใช้มือถือได้นานขึ้น

*ใช้สมาร์ทโฟนในการติดต่อสื่อสาร ตามหาญาติ โดยใช้ Find My iPhone หรือ Google Latitude , Foursquare , Lookout หรือโทรศัพท์ติดต่อญาติ หรือหน่วยงานอาสาต่างๆเพื่อขอความช่วยเหลือได้

*ใช้ในการส่งให้กำลังใจผู้ประสพอุทกภัย ทั้งส่งข้อความให้กำลังใจ และบริจาคเงินโดยผ่านทางช่องทาง SMS

*ใช้สมาร์ทโฟนที่มีกล้องหน้าไว้เป็นกระจกดูสภาพตัวเราเองได้

*ใช้สมาร์ทโฟนในการวินิจฉัยโรคระบาดต่างๆ ซึ่งยุคปัจจุบันแพทย์ไทยตลอดจนนักศึกษาแพทย์ก็เริ่มใช้สมาร์ทโฟนมาใช้อ่านคู่มือทางการแพทย์เพื่อรักษาชีวิตคนได้

*ใช้สมาร์ทโฟนไว้หนุนใจ เช่นพระคัมภีร์ , พระไตรปิฎก หรืออ่านธรรมมะออนไลน์

*สมาร์ทโฟนช่วยคลายเครียดได้ เช่น ดูหนังฟังเพลงและเล่นเกมเล็กๆน้อยๆ เป็นต้น หากไม่มีอะไรทำจริงๆ ซึ่งบน Android Market และ App Store มีแอพพลิเคชันสนุกๆตลกๆมากมาย ก็ช่วยให้คุณให้เครียดได้ระดับหนึ่ง

ความจริงสมาร์ทโฟนมีความสามารถอื่นๆที่มากมาย คอมพิวเตอร์ทำอะไรได้บ้าง? สมาร์ทโฟนทำได้หมด รวมไปถึง แท๊บเล็ต ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ช่วยคุณได้ในยามน้ำท่วมด้วย ด้วยแบตที่อึดกว่า Notebook ทั่วไป ในช่วงนี้ก็ขอให้ใช้สมาร์ทโฟนและแท๊บเล็ตให้คุ้มค่าและใช้อย่างประหยัดพลังงานให้มากที่สุด ไม่แน่สมาร์ทโฟนของคุณอาจช่วยชีวิตคุณให้รอดพ้นจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ครั้งนี้ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก It24hrs.com

น้ำท่วม - ภัยจากการจัดการแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ (ท่วม) มติชน

โดย เพจเฟซบุ๊ก "A Journey through Science and Art"

ภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นขณะนี้ หลายคนบอกเป็นภัยธรรมชาติ แต่ทางศูนย์นิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ ขอมองอย่างแตกต่างว่า ไม่ใช่ภัยธรรมชาติ แต่เป็นภัยจากการจัดการที่ผิดพลาด อย่างไรก็ดีเราไม่ควรมุ่งหาผู้ผิดชอบเพราะไม่มีประโยชน์อันใดและไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่ควรมุ่งหาสาเหตุเพื่อแก้ไข ด้วยเหตุการณ์น้ำท่วมนี้จะเกิดอีกแน่นอน


งบประมาณมากมายที่ลงไปแบบผิดทิศผิดทาง บริหารจัดการแบบคลาสสิก ด้วยความไม่รู้ของนักวิชาการ (อาจจะคิดว่าตนรู้ แต่ความรู้นั้นไม่ทันสมัย ไม่ทันกาละ) กับปี 2554 ที่น้ำท่วมรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา (และไม่ได้พยากรณ์ได้อย่างเหมาะสม ทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยนักวิชาการทั้งภาครัฐ และภาคมหาวิทยาลัยที่รับงบประมาณไปดูแลศึกษาเรื่องนี้)

เริ่มต้นที่ฤดูร้อน ที่ภาคใต้บริเวณเทือกเขาหลวง กรุงชิง รับปริมาณฝนแบบไม่คาดถึง โดยที่ไม่ได้มีไต้ฝุ่นเข้าประเทศไทย และน้ำท่วมในภาคเหนือ และภาคกลาง ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ (ตุลาคม 2554) นักวิชาการภาครัฐและดูแลเรื่องนี้หาได้ตระหนักและค้นหาถึงสาเหตุอันแปลกประหลาดไม่ ไม่เว้นแม้แต่ศูนย์ต่างๆ ที่อุปโลกขึ้นเพื่อดึงงบประมาณจากกระแสเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จนนักวิจัยที่ดำเนินการเรื่องนี้จริงๆ งุนงง


[20111012 (12 ตุลาคม 2554 - มติชนออนไลน์) มีนักวิชาการของไทย ออกมาบอกสื่อว่ามีนักวิชาการของเนเธอร์แลนด์ มาดูระบบจัดการน้ำของไทย แล้วบอกว่าไทยมีหน่วยจัดการน้ำที่ไม่บูรณาการ นักวิชาการไม่ชำนาญ ต่างจากต่างประเทศที่ให้จัดตั้งหน่วยงานกลางเรื่องนี้ ไม่ต้องบอกว่านักวิชาการท่านนั้นเป็นใคร จริงๆ พอมีเรื่องภัยพิบัติ เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศท่านต้องออกสื่อตลอด ยกเว้น เที่ยวนี้ ท่านนั้นเป็นหนึ่ง (ในเรื่องได้งบประมาณสนับสนุนวิจัย) ที่ตั้งหน่วยงานในลักษณะหน่วยกลางของประเทศ ดูแลเรื่องการจัดการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นตัวแทนประเทศตลอดในเรื่องนี้ แต่ปัญหาเรื่องน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ ท่านและหน่วยงานของท่านน่าจะเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย]


ทางศูนย์ฯ ไม่เห็นด้วยในเรื่องตั้งองค์กรกลางที่จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง หมดเวลาที่จะทุ่มงบประมาณลงส่วนกลาง หรือหน่วยงานที่ว่าแล้ว งบประมาณน่าจะทุ่มลงไปสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนจัดการเรื่องน้ำของตนเอง ถึงเวลากระจายอำนาจ เรื่องน้ำเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งในแง่พื้นที่ เวลา และพลังงาน ชุมชนต้องมีองค์ความรู้ ต้องสร้างคน สร้างความเข้มแข็ง เพราะท้ายที่สุดแล้ว ต้องพึ่งตนเอง ดังประสบการณ์ที่คนจำนวนมากประสบอยู่ในเวลานี้


[20111009 (9 ตุลาคม 2554 - มติชนออนไลน์) ก๊วนข่าว ช่อง 3 รายงานว่าสถานการณ์น้ำท่วมตอนนนี้ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง บอกว่าเอาไม่อยู่แล้ว พื้นที่เศรษฐกิจ นิคมอุตสาหกรรม จมหาย โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนดา โรจนะ เห็นแต่หลังคารถโผล่ เคลื่อนย้ายไม่ทัน ความเสียหายมหาศาล ด้วยคันดินที่กั้นน้ำไว้พังทลายลง]

สาเหตุที่ทำให้การทำนายหรือพยากรณ์ไม่มีทางถูกต้องและทันกาล เนื่องจาก ปัญหาที่เป็น Open Boundary Flow (การไหลท่วมอย่างไม่จำกัดขอบเขต - มติชนออนไลน์) และเป็น Dynamic Flow (การไหลท่วมอย่างมีพลวัต - มติชนออนไลน์) กล่าวคือ น้ำนั้นไม่ได้ไหลเฉพาะในคูคลอง น้ำสามารถเอ่อบ่าเข้าไปในพื้นที่ชุ่มน้ำได้ น้ำสามารถไหลใต้ดินได้ ระดับน้ำไม่ได้คงที่ ขณะไหลสามารถหนุนกันได้สูงกว่าปกติมาก ในหลายกรณี สามารถไหลบ่ากันสูงกว่าความลึกของคูคลองอีก นอกจากนั้นคันกั้นน้ำเองก็พังทะลาย และถูกสร้างใหม่ได้ ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้การคำนวณปริมาณน้ำและความเร็วในการไหลทำได้ไม่ถูกต้องแน่นอน ความคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยเหล่านี้ สำคัญมากในระบบซับซ้อน


แผนที่น้ำท่วม มีคนสงสัยมาก เพราะเป็นความจำเป็นที่ต้องรู้ แต่พอถึงเวลาก็ไม่สามารถบอกได้ เหตุเพราะ แผนที่น้ำท่วมที่ทำๆ กัน ทำผิด ทำโดยการใช้ระดับความสูงเพียงอย่างเดียว แผนที่น้ำท่วมที่ดี ต้องเป็นแผนที่แบบไดนามิก มีพลวัต ต้องมีการจำลองน้ำที่ไหลบ่า ซึ่งทำได้ยากมาก เพราะระดับน้ำนั้น ไม่สามารถบอกได้แน่ชัด เพราะเป็นปริมาณที่แปรผันกับเวลาอย่างมาก ความเร็วของการไหลที่เปลี่ยนไป ระดับน้ำก็เปลี่ยนไป บางจุดนั้นน้ำอาจจะท่วม แต่ท่วมนานเท่าใด ท่วมในช่วงเวลาเล็กน้อย เช่น 10 นาที เราจะถือว่าน้ำท่วมหรือไม่ 5 นาทีล่ะ 1 นาทีล่ะ ให้ไปสังเกตแอ่งน้ำต่างๆ ของน้ำตก โดยเฉพาะน้ำตกที่มีระดับการไหลไม่คงที่

นักวิชาการที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องนี้ มักคิดแต่เพียงมิติการบูรณาการ คิดว่าเมื่อบูรณาการข้อมูลมาทั้งหมด อย่างทันกาล (Real Time) แล้ว ก็จะสามารถจัดการปัญหานี้ได้ วิธีคิดแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วกับการจราจร โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบัน เรียนรู้ (ด้วยราคาแสนแพง) แล้วว่า ระบบจราจรในเมืองใหญ่เป็นระบบซับซ้อน (Complex System) ซึ่งไม่มีทางที่จะพยากรณ์เพื่อจัดการได้แม้ว่าได้ข้อมูลทั้งหมด (Initial Conditions) แล้ว ผู้อ่านที่สนใจเรื่องนี้ จะเห็นการปรับตัวในเรื่อง จากการพยากรณ์ ไปเป็นการจัดการ ให้รถวิ่งทางโน้น ทางนี้แทน ดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่จะจัดการอย่างไรล่ะ จึงจะดีที่สุด แน่นอน คำตอบในเรื่องน่าจะใช้ได้กับการจัดการน้ำ (ท่วม) ที่ความซับซ้อนมีมากกว่า โดยเฉพาะสเกลของพื้นที่

ทิศทางการบริหารจัดการที่ป้องกันเขตเศรษฐกิจ โดยการกั้นเขื่อน คือสาเหตุหลักของการจัดการที่ผิดพลาด แทนที่จะปล่อยให้น้ำไหลไปกระจายตัวบนพื้นที่ แต่กลับปิดกั้นไว้ ไม่ให้ลงกรุงเทพฯ เสมือนกับการอั้นไว้ด้านล่าง บีบทางน้ำไว้ ทำให้พื้นที่นครสวรรค์และอยุธยารับน้ำเต็มๆ หากมีการจัดการที่ดี ให้น้ำท่วมกระจายตัว พูดง่ายๆ คือ ให้น้ำหลากไปยังลุ่มน้ำต่างๆ ก็จะลงพละกำลังของมวลน้ำ (ศัพท์ใหม่) กระจายพลังอำนาจให้เป็นเพียงน้ำหลาก แต่ไม่ใช่น้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจ ก็จะช่วยแบ่งเบาไปได้เยอะ อย่างไรก็ดี การจัดการแบบใหม่นี้ต้องอาศัยพลังกำลังของชุมชมที่เข้มแข็ง และองค์ความรู้ใหม่ในการบริหารลุ่มน้ำ ที่มอง "ฮวงจุ้ย" และ "เห็น" เส้นทางน้ำใหม่ที่ชัดเจนกว่า

ปัญหาที่ตามมาก็คือ น้ำท่วมทำให้น้ำเข้าขังอยู่ที่ลุ่มเฉพาะจุด (Local Minima) น้ำจะนิ่ง ค่อยๆ ซึมเข้าน้ำใต้ดิน และระเหย มักจะเน่าและก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุขตามมา

ท้ายๆ แล้ว น้ำก็จะเคลื่อนตัวลงมายังกรุงเทพฯ ซึ่งมาตรการการดันน้ำของกทม. ก็จะส่งผลให้น้ำไหลออกทางตะวันออก และตะวันตก กทม. ก็จะถูกน้ำล้อมไว้ทุกด้าน และ แม่น้ำเจ้าพระยาก็ไม่ได้ทำหน้าที่ส่งน้ำละทะเล แต่เป็นแม่น้ำบางปะกง (ฝั่งตะวันออก) และแม่น้ำท่าจีน (ฝั่งตะวันตก) กทม. กังวลกับน้ำจากแหล่ง 3 แหล่ง แหล่งน้ำจากด้านบน (นครสวรรค์ อยุธยา) น้ำฝน และ น้ำทะเลหนุน แต่ มวลน้ำก้อนหนึ่งที่มักถูกละเลยคิอ น้ำใต้ดิน จากอัตราเคลื่อนตัวของพื้นที่น้ำท่วม จะเห็นว่าเป็นระดับสัปดาห์ ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับการเคลื่อนตัวของมวลน้ำก้อนนี้

ผลของมวลน้ำก้อนนี้จะส่งแบบประหลาด กล่าวคือ จะส่งผลให้แนวป้องกันต่างๆ อ่อนตัวลง เขื่อนและกำแพงน้ำเปราะบางต่อการพังทะลาย และส่งผลต่อให้น้ำผิวดินเอ่อสูงกว่าควร เมื่อเขื่อนพังทลายด้วยน้ำใต้ดิน ผสมกับ กระแสน้ำของน้ำที่ไหลบ่า จะซ่อมแซมได้ยากมากๆ มีความพยายามใช้เฮลิคอปเตอร์วางตู้คอนเทนเนอร์เหนือทางน้ำเพื่ออุดรอยรั่ว (นวนคร 17 ต.ค. 2545) ซึ่งไม่มีทางทำได้ เพราะ 1. เฮลิคอปเตอร์ยกของที่มีน้ำหนักมากไม่ได้อยู่แล้ว 2. กระแสน้ำสามารถยกเคลื่อนย้ายหินขนาดใหญ่ๆ ได้อย่างสบาย 3. แรงน้ำผลักตู้บวกกับหล่อลื่น ทำให้ตู้สามารถไหลพ้นเขื่อนไปได้อย่างสบาย วิธีการนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงคือ จะทำให้กระสอบทรายพังมากขึ้น


แล้วจะอุดรูรั่วอย่างไร ทางศูนย์ฯ แนะนำให้ใช้วิธีเดียวกับที่ร่างกายเราหยุดเลือดเมื่อเราเกิดแผล กล่าวคือ ให้ใช้ระบบตาข่ายกางขึ้นเหนือน้ำก่อน จากนั้นค่อยปล่อยถุงทรายให้ไหลไปติดตาข่าย ค่อยๆ ทำเพื่อช่วยกันหยุดยึด จนน้ำไหลน้อยลง

การบริหารจัดการเรื่องนี้ต้องคิดในลักษณะนิเวศ กรุงเทพฯ อยุธยา อยู่บน Delta หรือดินแดนปากแม่น้ำ ซึ่งปกติจะประกอบด้วยสายน้ำคดเคี้ยวเลี้ยวไปมาเพราะ น้ำไม่ได้ไหลตามแรงโน้มถ่วง แต่ไหลบ่าเป็นหลัก เนื่องจากระดับความสูงไม่แตกต่างกันมาก เป็นดินแดนแบนราบ การพัฒนา Landuse หรือการใช้พื้นที่ในกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมาได้ทำลายความสามารถในการระบายน้ำของระบบนิเวศนี้ การถมดินอย่างมากมายทำลายทางน้ำ ทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำไปจนเกือบหมด เมื่อมีปริมาณน้ำมากมายที่ตกในปีนี้ (ซึ่งธรรมชาติได้เตือนแล้วด้วยน้ำท่วมในฤดูร้อนของภาคใต้ที่ผ่านมา แต่ผู้รับผิดชอบก็เพิกเฉย) ภัยน้ำนี้จึงมาจากการจัดการที่ผิดพลาดของน้ำมือมนุษย์ตั้งแต่เริ่มต้น จนไปถึงการบริหารจัดการน้ำต่อมา ดังที่เจอกันอยู่ในขณะนี้

[20111018 (18 ตุลาคม 2554 - มติชนออนไลน์) ในที่สุดก็เริ่มมีนักวิชาการมาบอกแนวทางที่เหมาะสมแล้วคือ ต้องยอมให้ "น้ำ" ผ่าน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทันหรือเปล่า การยอมให้น้ำผ่านนั้นสำคัญอย่างไร ปรัชญานิเวศบอกเราว่า ทุกองค์ประกอบในระบบนิเวศมีฟังก์ชันหรือหน้าที่ของมัน ทางน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหลายมีหน้าที่ให้น้ำเข้า การยอมให้น้ำผ่านเป็นการคืนหน้าที่ของมันให้ทำงาน]

(กรุณาติดตามตอนต่อไป)

หมายเหตุ Note (บันทึก - มติชนออนไลน์) นี้เป็นสะท้อนความเห็นหนึ่งของศูนย์นิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ ซึ่งดำเนินการทำงานในแนวปรัชญานิเวศวิทยา เพื่อสะท้อนให้เห็นมุมมองที่แตกต่างจากแนวคิดกระแสหลัก