ความสุข 5 ขั้น (จบ)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
โดย เฉพาะท่านผู้สูงอายุนั้นก็เป็นธรรมดาว่าจะต้องมีเวลาพัก และเวลาที่ว่างจากกิจกรรม มากกว่าคนหนุ่มสาวและคนวัยทำงานที่เขายังมีกำลังร่างกายแข็งแรงดี ว่างจากงานเขาก็ไปเล่นไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้มาก แต่ท่านที่สูงอายุ นอกจากออกกำลังบริหารร่างกายบ้างแล้ว ก็ต้องการเวลาพักผ่อนมากหน่อย จึงมีเวลาว่าง ซึ่งไม่ควรปล่อยให้กายว่างแต่ใจวุ่น
เพราะฉะนั้นใน เวลาที่ว่าง ไม่มีอะไรจะทำ และก็ยังไม่พักผ่อนนอนหลับ หรือนอนแล้วก่อนจะหลับ ก็พักผ่อนจิตให้ใจสบาย ขอเสนอวิธีปฏิบัติง่ายๆ ไว้อย่างหนึ่งว่า ในเวลาที่ว่างอย่างนั้นให้สูดลมหายใจเข้าและหายใจออกอย่างสบายๆ สม่ำเสมอ ให้ใจอยู่กับลมหายใจที่เข้าและออกนั้น พร้อมกันนั้นก็พูดในใจไปด้วย ตามจังหวะลมหายใจเข้าและออกว่า
จิตเบิกบานหายใจเข้า
จิตโล่งเบาหายใจออก
ในเวลาที่พูดในใจอย่างไร ก็ทำใจให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วย หรืออาจจะเปลี่ยนเป็นสำนวนใหม่ก็ได้ว่า
หายใจเข้า สูดเอาความสดชื่น
หายใจออก ฟอกจิตให้สดใส
ถูก กับตัวแบบไหนก็เลือกเอาแบบนั้น หายใจพร้อมกับทำใจไปด้วยอย่างนี้ ตามแต่จะมีเวลาหรือพอใจ ก็จะได้การพักผ่อนที่เสริมพลังทั้งร่างกายและจิตใจ ชีวิตจะมีความหมาย มีคุณค่า และมีความสุขอยู่เรื่อยไป
ขั้นที่ 5 สุดท้าย ความสุขเหนือการปรุงแต่ง คราวนี้ไม่ต้องปรุงแต่ง คืออยู่ด้วยปัญญา ที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต การเข้าถึงความจริงด้วยปัญญาเห็นแจ้ง ทำให้วางจิตวางใจลงตัวสนิทสบายกับทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่อย่างผู้เจนจบชีวิต
สภาพ จิตนี้จะเปรียบเทียบได้เหมือนสารถีที่เจนจบการขับรถ สารถีผู้ชำนาญในการขับรถนั้น จะขับม้าให้นำรถเข้าถนน และวิ่งด้วยความเร็วพอดี ตอนแรกต้องใช้ความพยายาม ใช้แส้ ดึงบังเหียนอยู่พักหนึ่ง แต่พอรถม้านั้นวิ่งเข้าที่เข้าทางดี ความเร็วพอดี อยู่ตัวแล้ว สารถีผู้เจนจบ ผู้ชำนาญแล้วนั้นจะนั่งสงบสบายเลย แต่ตลอดเวลานั้นเขามีปัญญารู้พร้อมอยู่เต็มที่ ถ้ามีอะไรผิดพลาดเขาจะแก้ไขได้ทันที และตลอดเวลานั้นเขาไม่มีความประหวั่น ไม่มีความหวาด จิตเรียบสนิท ไม่เหมือนคนที่ยังไม่ชำนาญ จะขับรถนี่ใจคอไม่ดี หวาดหวั่น ใจคอยกังวลโน่นนี่ ไม่ลงตัว แต่พอรู้เข้าใจความจริงเจนจบดี ด้วยความรู้นี่แหละจะปรับความรู้สึกให้ลงตัว เป็นสภาพจิตที่เรียบสงบสบายที่สุด
คนที่อยู่ในโลกด้วยความรู้เข้าใจ โลกและชีวิตตามเป็นจริง จิตเจนจบกับโลกและชีวิต วางจิตลงตัวพอดี ทุกอย่างเข้าที่อยู่ตัวสนิทอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็นจิตอุเบกขา เป็นจิตที่สบาย ไม่มีอะไรกวนเลย เรียบสนิท เป็นตัวของตัวเอง ลงตัว เมื่อทุกสิ่งเข้าที่ของมันแล้ว คนที่จิตลงตัวถึงขั้นนี้จะมีความสุขอยู่ประจำตัวตลอดเวลา เป็นสุขเต็มอิ่มอยู่ข้างใน ไม่ต้องหาจากข้างนอก และเป็นผู้มีชีวิตที่พร้อมที่จะทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ เพราะไม่ต้องห่วงกังวลถึงความสุขของตน และไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป จะมองโลกด้วยปัญญาที่รู้ความจริง และด้วยใจที่กว้างขวางรู้สึกเกื้อกูล
คน ที่พัฒนาความสุขมาถึงขั้นสุดท้ายแล้วนี้เป็นผู้พร้อมที่จะเสวยความสุข ทุกอย่างใน 4 ข้อแรก ไม่เหมือนคนที่ไม่พัฒนา ได้แต่หาความสุขประเภทแรกอย่างเดียว เมื่อหาไม่ได้ก็มีแต่ความทุกข์เต็มที่ และในเวลาที่เสพความสุขนั้นจิตใจก็ไม่โปร่งไม่โล่ง มีความหวั่นใจ หวาด ระแวง ขุ่นมัว มีอะไรรบกวนอยู่ในใจ สุขไม่เต็มที่ แต่พอพัฒนาความสุขขึ้นมา ยิ่งพัฒนาถึงขั้นสูงขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสได้ความสุขเพิ่มขึ้นหลายทาง กลายเป็นว่าความสุขมีให้เลือกได้มากมาย และจิตที่พัฒนาดีแล้วช่วยให้เสวยความสุขทุกอย่างได้เต็มที่ โดยที่ในขณะนั้นๆ ไม่มีอะไรรบกวนจิตใจให้ขุ่นข้องหมองมัว
เป็น อันว่าธรรมะช่วยให้เรารู้จักความสุขในการดำเนินชีวิตมากยิ่งๆ ขึ้นไป สู่ความเป็นผู้เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ จนกระทั่งความสุขเป็นคุณสมบัติของชีวิตอยู่ภายในตัวเองตลอดทุกเวลา ไม่ต้องหา ไม่ต้องรออีกต่อไป
ความสุข 5 ขั้นนี่ความจริงแต่ละข้อต้องอธิบายกันมาก แต่วันนี้พูดไว้พอให้ได้หัวข้อก่อน คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์พอสมควร
ขอ อนุโมทนาท่านผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ขอตั้งจิตส่งเสริมกำลังใจ ขอให้ทุกท่านประสบจตุรพิธพรชัย มีปีติอิ่มใจ อย่างน้อยว่าชีวิตส่วนที่ผ่านมาได้ทำประโยชน์ ได้ทำสิ่งที่มีค่าไปแล้ว ถือว่าได้บรรลุจุดหมายของชีวิตไปแล้วส่วนหนึ่ง
เพราะฉะนั้นจึงควร จะตั้งใจว่า เราจะเดินหน้าต่อไปอีกสู่จุดหมายชีวิตที่ควรจะได้ต่อไป เพราะยังมีสิ่งที่จะทำชีวิตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ใช่แค่นี้ ชีวิตนั้นยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ ที่จะทำให้เต็มเปี่ยมได้ยิ่งกว่านี้ จึงขอให้ทุกท่านเข้าถึงความสมบูรณ์ของชีวิตนั้นสืบต่อไป และขอให้ทุกท่านมีความร่มเย็นเป็นสุขในพระธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกัน ตลอดกาลทุกเมื่อ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น