วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความยุติธรรม khaosod

ความยุติธรรม

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด


กรรม จำแนกสัตว์ให้เลวทรามและประณีต รูปร่างของสัตว์มีลักษณะต่างกันออกไปโดยที่ไม่ได้จงใจในปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องของกรรมในอดีตตกแต่งมาให้ บางคนต่ำ บางคนสูง บางคนขาว บางคนดำ บางคนสวย บางคนไม่สวย บางคนมีอวัยวะร่างกายแตกต่างกัน กรรมจึงกระทำให้รูปร่างของสัตว์ทั้งหลายมีลักษณะแตกต่างกันมากมายหลายประเภท

ทุกชีวิตต้องอยู่ในลักษณะเป็นผู้รับผลของกรรม และเมื่อสิ่งนั้นเป็นผลของกรรม เราจะไปแก้ไขอย่างไรก็ไม่ได้ เป็นกฎแห่งกรรม

บุคคล ที่ควรได้รับการอนุเคราะห์มีอยู่มากเหมือนกัน เช่น คนที่เกิดมาตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ เป็นบ้า หรืออวัยวะพิกลพิการ บุคคลเหล่านี้เกิดมาเพื่อใช้หนี้กรรม เขาไม่มีความปรารถนาจะเป็นเช่นนั้น

อีกประการหนึ่งที่เราจะต้อง ศึกษาให้เข้าใจเกี่ยวกับความเป็นไปของสัตว์โลกว่า เป็นไปอย่างไม่ยุติธรรม เช่น บางคนเกิดมาพิการ บางคนเกิดมาสมบูรณ์ดีทุกอย่าง บางคนเกิดมาจน บางคนเกิดมาร่ำรวย สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก สัตว์ที่แข็งแรงกว่าเบียดเบียนสัตว์อ่อนแอ คนที่มีอำนาจมากข่มเหงรังแกคนที่มีอำนาจน้อย คนโง่ตกเป็นเหยื่อของคนฉลาด ดูแล้วโลกเรานี้ไม่มีความยุติธรรม

คนที่มีความรู้สึกเช่นนี้ น่าเห็นใจมาก เพราะไม่เข้าใจในกฎแห่งกรรม อันเป็นกฎที่ทุกคนหลีกหนีกันไม่พ้น จึงได้มองเห็นโลกในแง่ของความไม่ยุติธรรม ถ้าเขาเหล่านั้นได้ศึกษาหาสาเหตุเกี่ยวกับเรื่องของกรรมแล้ว จะเห็นความจริงของโลกว่า เต็มไปด้วยความยุติธรรม

หากพิจารณาดูจะเห็น ว่า สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก สัตว์ที่แข็งแรงกว่าเบียดเบียนสัตว์ที่อ่อนแอ คนที่มีอำนาจเบียดเบียนคนที่ไม่มีอำนาจ คนโง่ตกเป็นเหยื่อของคนฉลาด คนที่เกิดมาพิการทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลของกรรม ตามหลักของพระพุทธศาสนานั้นคำว่า ยุติธรรม หมายถึงผลของกรรม ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าความยุติธรรมทางโลก

ความยุติธรรมทางโลก เป็นเพียงสิ่ง สมมติ จึงปรากฏอยู่เสมอว่า ผู้นั้น ผู้นี้ไม่ได้รับความยุติธรรม ตามความเข้าใจของคนที่วัดกันด้วยความรู้สึก ส่วนมากจึงหาข้อยุติกันไม่ได้ว่า อย่างไรจึงเรียกว่ายุติธรรม

บางคน ให้ความเห็นว่า ความยุติ ธรรมคือสิ่งที่เท่ากัน และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย บางคนให้เหตุผลว่าความยุติธรรมนั้นคือความพอใจของผู้ให้ในสิ่งที่เท่ากัน และผู้รับยอมรับว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมแล้ว ซึ่งเหตุผลข้อหลังนี้ยังมีข้อแม้ออกไปอีกว่า ถ้าเป็นผู้รับไม่ยอมรับสิ่งนั้นเป็นธรรม ยังไม่ใช่ความยุติธรรมอย่างแท้จริง ในหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า ยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม ความชอบด้วยเหตุผล

พระเทพคุณาภรณ์

(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

www.watdevaraj.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น