วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พอสมควร khaosod


พอสมควร

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ความรู้จักพอเป็นเหตุให้คนเรามีความคิดที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้เสียสละได้ เป็นเหตุให้คิดถึงตัวเองเพียงเพื่อเป็นอยู่แบบพอดีๆ แต่คิดถึงผู้อื่นมากกว่า

ความรู้จักพอ จึงเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นในใจของแต่ละคนก่อนเป็นประการสำคัญ

ในทางพระพุทธศาสนา มีหลักธรรมสำหรับปลูกฝังให้เกิดความรู้จักพอหรือพอสมควรไว้ ตามพุทธภาษิตว่า ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

คนที่พิจารณาอย่างผิวเผิน มักเข้าใจว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนเกียจคร้าน ไม่ขยันทำมาหากิน มีเท่าไรกินเท่านั้น ทำให้คนงอมืองอเท้า ไม่คิดก้าวหน้า

แท้จริงแล้ว สันโดษมีความหมายที่กว้างมาก ท่านแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

1.ยินดีพอใจในสิ่งที่ตนได้ สิ่งที่ตนมี คือ มีแค่ไหนก็ยินดีเท่านั้น มีอย่างไรก็กินใช้อย่างนั้น แต่ไม่ได้ให้หยุดขวนขวาย ไม่ต้องคิดก้าวหน้าหรือหามาเพิ่มเติม แต่สันโดษข้อนี้เพียงฝึกหัดใจให้เกิดความพอใจในฐานะที่ตนกำลังมี กำลังเป็นเท่านั้น

เพราะหากไม่สามารถหยุดยั้งความพอใจของตัวเองได้ เมื่อได้รับอะไร ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือยศตำแหน่ง ก็จะแสดงความไม่พอใจว่าตนได้สิ่งที่ไม่ดี ไม่สมควรหรือต้องได้มากกว่านี้ เมื่อความผิดหวังเกิดขึ้นแล้ว ความไม่ไว้วางใจ ความไม่ชอบใจก็เกิดขึ้นตามมา การฝึกใจให้มีความพอ มีความยินดีตามมีตามได้ จึงเป็นเหตุป้องกันใจจากความผิดหวังได้



2.ยินดีพอใจในกำลังของตนที่มีอยู่ รวมไปถึงการใช้กำลังให้พอดีด้วย รู้จักประมาณในความรู้ความสามารถของตน

ข้อนี้เป็นการกระตุ้นให้บุคคลรู้จักใช้ความสามารถเต็มที่ ไม่ให้เป็นคนเกียจคร้าน เป็นสันโดษที่ต่อเนื่องจากข้อแรกคือ เมื่อพอใจยินดีในส่วนที่ตนได้ ตนมีแล้ว หากยังมีกำลังขวนขวาย และสามารถหามาเพิ่มตามความจำเป็นโดยชอบธรรมก็ย่อมได้ เมื่อได้เพิ่มแล้วก็ยินดีพอใจเท่านั้น รวมถึงรู้จักปรับปรุงแก้ไขวิธีการทำงานของตนให้ดีขึ้น ให้มีประสิทธิภาพ

สันโดษข้อนี้ เป็นการฝึกใจ ให้รู้จักประมาณกำลังตัวเอง ฝึกหัดไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ฝึกให้เกิดความขยันหมั่นเพียร ใช้กำลังในทางที่ถูกที่ควรให้พอดีพอเหมาะ



3.ยินดีพอใจในสิ่งที่สมควร คือ ใช้กำลังเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุต่างๆ ต้องเป็นสิ่งที่เหมาะสม ไม่ผิดธรรม ไม่เกิดโทษ วิธีการหาก็เป็นวิธีที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่หาโดยวิธีทุจริต ข้อนี้เรียกว่า ยินดีพอใจในสิ่งที่สมควร เมื่อใช้เรี่ยวแรงได้สิ่งที่สมควรมาแล้วก็ยินดี พอใจในสิ่งนั้น เพื่อจำกัดขอบเขตของความต้องการที่ไม่สิ้นสุดให้แคบลง

สันโดษข้อนี้เป็นการฝึกให้รู้จักคำว่า อิ่มตัว ป้องกันไม่ให้ทุกข์เพราะดิ้นรนแสวงหา และทุกข์เพราะผิดหวังที่ติดตามมาพร้อมกับการดิ้นรนแสวงหานั้น

ความสันโดษ จึงเป็นหลักธรรมที่พัฒนาคนให้มีความขยัน เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาในเรื่องความอยากได้ ควบคุมความอยากให้อยู่ในวงจำกัด ไม่ให้ประกอบการงานโดยขาดความพอเหมาะพอควร

ผู้หวังความสุขในชีวิต ควรใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นหลักธรรมที่พัฒนาบุคคลให้รู้จัก คำว่า พอ โดยพอใจในสิ่งที่ตนมียินดีในสิ่งที่ตนได้ ยินดีพอใจในกำลังของตนที่มีอยู่ ยินดีพอใจในสิ่งที่สมควร ก็จะเป็นเหตุให้ได้รับความสุขที่มั่นคงเป็นแน่

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ระงับเวร khaosod


ระงับเวร

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com


พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการแสวงหาความสุขด้วยการเบียดเบียนว่า ไม่มีใครได้รับความสุขที่แท้จริง เพราะการที่คนเราจะทำอะไรให้แก่คนอื่น ไม่ว่าจะยื่นอาวุธ หรือดอกไม้ให้แก่ใครๆ สิ่งนั้นย่อมมีผลสะท้อนกลับมาหาตนเอง ท่านว่า ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว เช่น ฆ่าคนตาย อาจจะภูมิใจสักครู่หนึ่ง แต่ผลที่ตามมาจะกลายเป็นความทุกข์ร้อน การลักทรัพย์ของผู้อื่น ได้มาก็เป็นสุข เพราะการมีทรัพย์และการจ่ายทรัพย์ชั่วครู่ชั่วยาม แต่ผลบาปทำให้เกิดความทุกข์ ที่สุดก็จะถึงความเสื่อมทั้งตัวเองและทรัพย์นั้นๆ เหมือนคลื่นในมหาสมุทร ย่อมซัดกลับเข้าหาฝั่ง



การสร้างทุกข์ให้แก่คนอื่นด้วยการตั้งใจเบียด เบียน ชื่อว่า ก่อเวร ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ฆ่าคน ลักทรัพย์ เป็นต้น ผูกพยาบาทเมื่อถูกเขาทำร้าย อย่างนี้คือจองเวรผลัดกันแก้แค้น โต้ตอบกันไปมา



เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร การไม่จองเวรจะประสบผลคือ ความสงบสุข คนผู้จองเวรผูกอาฆาตพยาบาท ถูกโมหะครอบงำ ไม่เห็นเหตุผลที่ถูกต้องที่ชอบธรรม คิดขวนขวายแต่ให้ได้แก้แค้นเท่านั้น จะดีจะชั่ว ไม่รับฟังทั้งนั้น



พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนโกรธเป็นคนเลว แต่คนโกรธตอบเป็นคนเลวกว่า หมายความว่า คนทำร้ายเขาก่อนนั้นเป็นคนร้าย แต่คนที่ร้ายตอบกลับเขานั้นเป็นคนร้ายยิ่งกว่า ส่วนคนที่ถูกประทุษร้ายแล้วไม่ประทุษร้ายตอบ พระองค์ตรัสว่า เป็นผู้ชนะที่ควรแก่การสรรเสริญ เพราะได้ทำความสงบสุขให้เกิดขึ้นแก่ตนและคนอื่น



ความคิดแก้แค้นกัน นอกจากจะไม่เป็นที่สรรเสริญของคนดีทั่วไปแล้ว ชาวโลกยังตราหน้าว่าป่าเถื่อน ความคิดที่ว่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ชีวิตต่อชีวิต ทำร้ายมาก็ต้องทำร้ายไป เมื่อมีคนนั้น ก็ต้องไม่มีคนโน้น เมื่อมีคนโน้น ก็ต้องไม่มีคนนี้ การอโหสิกรรมเป็นความอ่อนแอ ดังนี้ เหตุแห่งการล้างแค้นถึงชาติหน้าก็เกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด



ความไม่จองเวรนั้น ย่อมทำสำเร็จได้ด้วยวิธีต่างๆ คือ แผ่เมตตา อดทน ใช้ปัญญาพิจารณาโดยชอบ และมีความเสียสละ



การแผ่เมตตา หากเราแผ่เมตตากะทันหันเมื่อความโกรธเกิดขึ้นเป็นการทำได้ยาก ท่านจึงให้ฝึกหัดแผ่เมตตาเป็นประจำไว้ก่อนจนเป็นนิสัย เมื่อถูกประทุษร้ายก็ไม่โกรธ



ความอดทน อดทนต่อการทำร้ายของคนอื่น ย่อมตัดเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทได้ รู้จักอดทนต่อคำกล่าวร้ายล่วงเกิน เหมือนช้างศึกอดทนต่อลูกศรที่พุ่งมาจากแล่งในสงคราม ไม่สะดุ้งสะเทือน ฉะนั้น



การใช้ปัญญาพิจารณาโดยชอบ พิจารณาให้เห็นโทษแห่งการจองเวร โดยพิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เราถูกทำเพราะเคยทำเขามาก่อนแล้ว ไม่ชาตินี้ก็ชาติที่ผ่านมา ถ้าเราแก้แค้นเขา เราจะต้องประสบทุกข์ยิ่งขึ้นอีก



ความเสียสละ เมื่อถูกเขาประทุษร้ายและเกิดความเสียหาย ก็ยอมเสียสละทิฏฐิมานะที่จะเอาชนะเสียได้



ทั้ง 4 ประการนี้ แต่ละอย่างเป็นวิธีที่ระงับเวรได้