วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วันสำคัญทางพุทธศาสนา khaosod


วันสำคัญทางพุทธศาสนา

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร/www.watdevaraj.com


ในปีหนึ่งๆ จะมีวันพระที่จัดเป็นวันสำคัญอยู่ 3 วัน คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และ วันอาสาฬหบูชา



ทั้ง 3 วันนี้ ได้มีผู้เปรียบเทียบว่า วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ถือได้ว่าเป็นวันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกเป็นวันพระธรรม และวันมาฆบูชา วันที่พระสงฆ์มาประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อรับหลักการ อุดมการณ์ ตลอดจนวิธีปฏิบัติในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นวันพระสงฆ์



มาฆบูชา แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน 3 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันสำคัญวันหนึ่งทางพระพุทธศาสนา คือวันที่มีการประชุมครั้งใหญ่ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" และเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหาร เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป



คำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" หมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ 4" กล่าวคือ มีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ



1. เป็นวันที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหาร โดยมิได้นัดหมาย



2. พระสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น



3. พระสงฆ์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุกๆ องค์



4. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ์



สำหรับการแสดงโอวาทปาติโมกข์ ถือเป็นคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว หลักธรรมดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 อันได้แก่



หลักการ 3 ได้แก่ 1.การไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ใจ 2.การทำความดีทุกอย่าง 3.การทำจิตใจให้ผ่องใส ด้วยการละบาป ถือศีล และบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติ อันเป็นความผ่องใสที่แท้จริง



อุดมการณ์ 4 ได้แก่ 1.อดทนอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ 2.งดเว้นจากการทำร้าย ไม่เบียดเบียนผู้อื่น 3.ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย วาจา ใจ 4.นิพพาน คือการดับทุกข์ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา



วิธีการ 6 ได้แก่ 1.ไม่ว่าร้ายผู้อื่น 2.ไม่เบียดเบียนผู้อื่น 3.เคารพระเบียบวินัย กติกา ประเพณีที่ดีงามของสังคม 4.รู้จักประมาณ พอดี พออยู่ 5.อยู่ในสถานที่ที่สงบ มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม 6.ฝึกหัดจิตใจให้สงบ หมั่นทำสมาธิภาวนา



ในปีนี้ วันมาฆบูชาตรงกับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ การปฏิบัติตนสำหรับพุทธศาสนิกชนในวันนี้คือ ตอนเช้าทำบุญตักบาตร ตอนบ่ายฟังพระแสดงธรรมเทศนา ปฏิบัติธรรม ตอนกลางคืนนำดอกไม้ธูปเทียนไปที่วัดเพื่อร่วมกันทำพิธีเวียนเทียน เดินเวียนขวารอบพระอุโบสถพร้อมกับพระสงฆ์ ตลอดเวลาให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ 3 รอบ แล้วนำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัดเตรียมไว้ เป็นอันเสร็จพิธี



จึงขอเชิญให้พุทธศาสนิกชนเข้าวัดบำเพ็ญกุศลด้วยการให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรมเวียนเทียน มุ่งทำความดีให้สมกับเราเป็นพุทธศาสนิกชน

วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สุขเลือกได้ khaosod


สุขเลือกได้

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ขึ้นชื่อว่า "ความสุข" ใครๆ ก็ปรารถนาจะมี ปรารถนาจะได้ และปรารถนาจะดำรงอยู่ในความสุขตลอดไปด้วยกันทั้งนั้น "ความสุข" มีทั้ง "ความสุขกาย" จากการได้กินอิ่ม ได้ พักผ่อนนอนหลับหรือกล่าวรวมๆ ว่ามีความอยู่ดีกินดีและมีสุขภาพอนามัยดี มีทั้ง "ความสุขใจ หรือ ความสบายใจ" จากการที่ได้สมหวัง หรือ การได้ตามปรารถนา



"ความสุข" ดังที่กล่าวมานั้น จัดเป็นความสุขที่มีวัตถุเครื่อง ล่อใจ ชื่อว่า "สามิสสุข" ซึ่งมีลักษณะที่เป็นโทษโดยส่วนเดียว



เปรียบด้วยยาพิษ ก็มี เช่น สิ่งเสพติดมึนเมา ที่เป็นโทษ เมื่อเกินพอดี



เปรียบด้วยของมึนเมา ก็มี เช่น สุรา เมรัย การติดการละเล่น ติดเที่ยวกลางคืน การหมกมุ่นในกาม การติดการพนัน เป็นต้น



ที่เป็นอุปการะ เปรียบด้วยอาหาร และยาบำบัดโรค แต่ถ้าถูกใช้ในทางที่ผิดก็อาจให้โทษได้ ก็มี



อำนาจราชศักดิ์ อำนาจเงิน อำนาจพวกพ้อง ก็ช่วยให้เกิดความสุขความเจริญในทางโลกได้ แต่ถ้าใช้อำนาจเหล่านั้นผิดศีล ผิดธรรม ผิดกฎหมายของบ้านเมือง ก็มีโทษได้ เป็นต้น



"พาลชน" คือ คนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่พิจารณาให้เห็นคุณและโทษที่แท้จริงของสามิสสุข คือ ความสุขที่มีวัตถุเครื่องล่อใจเหล่านี้ บางคนจึงหลงเพลิดเพลินในสิ่งที่ให้โทษ บางคนหลงระเริงจนเกินพอดีในสิ่งที่อาจให้โทษ บางคนหลงติดอยู่ในสิ่งอันเป็นอุปการะ



บุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นคุณและโทษของสามิสสุขตามที่เป็นจริงเหล่านี้ จึงได้เสวยความสุขบ้าง ทุกข์บ้าง



ส่วน "บัณฑิต" ผู้มีปัญญาอันเห็นชอบ พิจารณาเห็นคุณและโทษของสามิสสุขโดยถ่องแท้ ย่อมรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความสุขความเจริญ คือ สามารถถือเอาประโยชน์สุขในปัจจุบัน ประโยชน์สุขในกาลข้างหน้า ทั้งสามารถถือเอาประโยชน์สุขอย่างยิ่งด้วย



ย่อมรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความเสื่อม เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน อันควรละเว้นด้วย และย่อมรู้โทษของการติดอยู่ใน สามิสสุข คือ ความสุขด้วยเครื่องล่อใจเหล่านั้นด้วย จึงเป็นผู้ถึงความสันติสุข คือ ความสุขด้วยความสงบอันถาวร



ผู้มีปัญญาอันเห็นชอบ ย่อมสามารถถือเอาประโยชน์สุขในปัจจุบันได้ ด้วยการปฏิบัติธรรม 4 ประการ คือ



1.ความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร



2.ความถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์



3.การเลือกคบแต่คนดี มีสติปัญญาอันเห็นชอบเป็นมิตร



4.และรู้จักใช้สอยทรัพย์ที่ทำมาหาได้โดยสุจริต