วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (6) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (6)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ความจริง ข้อที่ 5 เป็นความหมายหลัก ตรงกับคำอธิบายในมหานิทเทสที่ว่า



"กุสลาภิสังขารในไตรธาตุ (คือกามธาตุ รูปธาตุ และอรูปธาตุ) อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม เรียกว่าบุญ; อกุศลทั้งหมด เรียกว่า อบุญ (คือบาป)"



พูดด้วยคำที่เข้าใจง่ายว่า บุญ ได้แก่กุศลที่เป็นโลกีย์ บาป ได้แก่อกุศลทั้งหมด (กุศล มีทั้งโลกิยะ และโลกุตระ แต่ อกุศล มีเฉพาะโลกิยะอย่างเดียว, บุญ และบาป เป็นโลกิยะด้วยกันทั้งหมด; พูดยักย้ายอีกอย่างหนึ่งว่า บุญ มีแต่โลกิยะอย่างเดียว กุศล มีทั้งโลกิยะและโลกุตระ, บาปและอกุศล เป็นโลกิยะทั้งสิ้น)



ทั้งนี้ ได้ในคำว่า ไม่ติดในบุญและในบาป หรือละบุญละบาป ลอยบุญลอยบาปได้แล้ว ซึ่งเป็นลักษณะจิตของพระอรหันต์



พึงสังเกตด้วยว่า ตามคำอธิบายในมหานิทเทสนั้น คำกล่าวที่ว่า พระอรหันต์ละทั้งบุญและบาป ลอยบุญ ลอยบาปหมดแล้ว หรืออยู่เหนือความดีและความชั่วนั้น มีความหมายว่า ละบาป และละบุญคือโลกิยกุศลเท่านั้น หาได้ละโลกุตรกุศลด้วยไม่



ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า เมื่อคำว่าบุญกับกุศลมาด้วยกัน กุศลมักมีความหมายเท่ากับบุญ จึงหมายความว่า ในกรณีเช่นนี้ คำว่ากุศลถูกใช้ในความหมายแคบลงเท่ากับบุญ คือเป็นเพียงโลกิยกุศลเท่านั้น



ลักษณะสำคัญของโลกิยกุศลหรือบุญนี้ก็คือ การที่ยังเกี่ยวข้องกับผลที่เป็นอามิส ไม่ใช่เรื่องของความหลุดพ้นเป็นอิสระ หรือการทำลายกิเลสโดยสิ้นเชิง



ตัวอย่างเสริมความที่กล่าวแล้วมีเป็นอันมาก เช่น ในบาลี เมื่อกล่าวถึงภิกษุคิดจะลาสิกขามักกล่าวว่า จะสึกไปกินใช้โภคทรัพย์และทำบุญทั้งหลาย และชีวิตชาวบ้านที่ดีก็ถือกันว่าได้แก่ชีวิตเช่นนั้น คำว่าบุญในกรณีเช่นนี้ ก็หมายถึงการทำความดีต่างๆ เช่น เผื่อแผ่แบ่งปัน ให้ทาน ประพฤติดี มีศีล เป็นต้น ตรงกับคำว่ากุศลกรรม หรือในข้อความว่า บุญมีอุปการะแม้แก่ผู้เป็นเทพ แม้แก่ผู้เป็นมนุษย์ แม้แก่บรรพชิต ก็มีความหมายทำนองเดียวกัน ส่วนในพุทธพจน์ว่า บุญเป็นชื่อของความสุข บุญก็หมายถึงผลหรือวิบากที่น่าปรารถนาของกุศลกรรมคือการทำความดี หรือในคำว่าตายเพราะสิ้นบุญ (บุญขัยมรณะ) ก็หมายถึงหมดผลบุญหรือสิ้นวิบากของกุศลกรรมที่ปรุงแต่งกำเนิดนั้นนั่นเอง



ความหมายของคำว่า "ธรรม" ที่เท่ากับบุญ ก็คือความหมายในแง่ที่สัมพันธ์กับการไปสวรรค์ เช่นเดียวกับที่อธรรมเท่ากับบาป ในความหมายที่สัมพันธ์กับการไปนรก



เป็นอันสรุปได้ว่า แม้ว่า บุญ กับกุศล และบาป กับอกุศล จะเป็นไวพจน์กัน แต่ในการใช้จริงโดยทั่วไป กุศลมีความหมายครอบคลุมที่สุด กว้างกว่าบุญ คำทั้งสองจึงใช้แทนกันได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ส่วนบาปกับอกุศลมีความหมายใกล้เคียงกันมากกว่า จึงใช้แทนกันได้บ่อยกว่า แต่กระนั้นก็มักใช้ในกรณีที่ให้ความรู้สึกที่ตรงข้ามกับความหมายแง่ต่างๆ ของบุญ โดยนัยนี้



- กุศล ใช้ในแง่การกระทำคือกรรมก็ได้ มองลึกลงไปถึงตัวสภาวธรรมก็ได้ ส่วนบุญมักเล็งแต่ในแง่กรรมคือการ กระทำ ดังนั้น คำว่า กุศลกรรมก็ดี กุศลธรรมก็ดี จึงเป็นคำสามัญ แต่สำหรับบุญ เราพูดได้ว่า บุญกรรม (กรรมที่เป็นบุญ ไม่ใช่ บุญและกรรม) ถ้าพูดว่าบุญธรรม จะแปลกหู และไม่รู้สึกเป็นคำศัพท์ทางธรรม ส่วนบาปกับอกุศลจะพบทั้งอกุศลกรรม อกุศลธรรม บาปกรรม บาปธรรม



- ในแง่ที่พิเศษ บุญหมายถึงผลของบุญ หรือวิบากของกุศลกรรม แม้ในกรณีที่มิได้หมายถึงผลหรือวิบากโดยตรง บุญก็ใช้ในลักษณะที่สัมพันธ์กับผล หรือให้เกิดความรู้สึกเพ่งเล็งถึงผลตอบสนองภายนอก หรือผลที่เป็นอามิส เฉพาะอย่างยิ่งความสุขและการไปเกิดในที่ดีๆ



- ด้วยเหตุที่กล่าวมานั้น การใช้คำว่า "บุญ" จึงมักจำกัดอยู่เฉพาะในระดับโลกิยะ เป็นโอปธิกบุญ คือ เป็นโลกิย กุศลเท่านั้น กรณีที่กินความถึงโลกุตร กุศล หาได้ยากอย่างยิ่ง



นอกจากนี้ มีข้อสังเกตสำหรับผู้สนใจทางวิชาการอาจศึกษาค้นคว้าต่อไป คือ



- บุญและบาป เป็นคำที่มีใช้แพร่หลายอยู่ก่อนแล้วในพุทธกาล และมีความหมายในทางโชคและความศักดิ์สิทธิ์ปนอยู่ด้วย พระพุทธศาสนารับเข้ามาใช้ในความหมายเท่าที่ปรับเข้ากับหลักการของตนได้ ส่วนกุศลและอกุศล เดิมใช้ในความหมายอย่างอื่น เช่น ฉลาด ชำนาญ คล่องแคล่ว สบายดี มีสุขภาพ เป็นต้น พระพุทธศาสนานำเอามาบัญญัติใช้สำหรับความหมายที่ต้องการของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ



- และโดยนัยนี้ กุศลและอกุศลจึงเป็นศัพท์วิชาการทางธรรมอย่างแท้จริง ส่วนบุญและบาป ท่านมักใช้อยู่ในวงแห่งคำสอนสำหรับชาวบ้าน หรือชีวิตของชาวโลก

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (5) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (5)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


"บุญ" มีความหมายตามรูปศัพท์ที่ท่านนิยมแสดงกันไว้ 2 อย่าง คือ เครื่องชำระสันดาน คือชำระพื้นจิตใจให้สะอาด และว่า สิ่งที่ทำให้เกิดผลคือภพที่น่าชื่นชม นอกจากนี้ บางแห่งยังแสดงความหมายอื่นไว้อีกว่า สิ่งที่นำมาซึ่งความน่าบูชา และว่า สิ่งที่ยังอัธยาศัย (ความประสงค์) ของผู้กระทำให้บริบูรณ์



ส่วน "บาป" มักแปลตามรูปศัพท์ว่า สิ่งที่ทำให้ถึงวัฏฏทุกข์ หรือสิ่งที่ทำให้ถึงทุคติ (=สิ่งที่ทำให้ตกไปในที่ชั่ว) คำแปลสามัญของบาป คือ ลามก (ต่ำทราม หรือเลว) บางครั้งใช้เป็นคำวิเศษณ์ของวิบาก แปลว่า ทุกข์ หรือ อนิฏฐ์ (ไม่น่าปรารถนา) ก็ได้



ที่กล่าวมานั้น เป็นความหมายที่นัก ศัพทศาสตร์คือนักภาษาแสดงไว้ ซึ่งเป็นเพียงด้านหนึ่งเท่านั้น จึงควรทราบความหมายในแง่ของหลักธรรมแท้ๆ ด้วย



เมื่อว่าโดยความหมายอย่างกว้างที่สุด บุญมีความหมายเท่ากับกุศล บาปก็มีความหมายเท่ากับอกุศล แต่ในการใช้จริง บุญและบาป มักปรากฏในความหมายที่จำกัดแคบและจำเพาะแง่มากกว่ากุศลและอกุศล



กล่าวได้ว่า บาป ใช้ในความหมายเท่ากับอกุศล มากกว่าที่บุญใช้ในความหมายเท่ากับกุศล แต่ที่ปรากฏบ่อยก็คือ กุศลใช้ในความหมายเท่ากับบุญ ความที่ว่านี้เป็นอย่างไร พึงพิจารณาต่อไป



บาปที่ท่านใช้ในความหมายเท่ากับอกุศล แห่งสำคัญคือ ในสัมมัปปธาน 4 ข้อ 1 และข้อ 2 ซึ่งบาปมากับอกุศลธรรม ดังที่ว่า เพียรป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด และเพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดแล้ว แต่ในข้อ 3 และข้อ 4 บุญไม่ได้มากับกุศลธรรมด้วย กล่าวถึงแต่กุศลธรรม ดังที่ว่า เพียรเจริญกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมหายหากให้เพิ่มขึ้นไปจนไพบูลย์



พูดอย่างสรุปความสั้นๆ ว่า บุญมีความหมายไม่เท่ากับกุศล ถ้าแบ่งกุศลเป็น 2 ระดับ คือ โลกิยกุศล และ โลกุตรกุศล โดยทั่วไปบุญใช้กับโลกิยกุศล หรือมิฉะนั้น ถ้าจะหมายถึงระดับโลกุตระ ก็ใส่คำขยายกำกับไว้ด้วย เช่นว่า "โลกุตรบุญ" ซึ่งมิได้เป็นคำที่นิยมใช้แต่ประการใด (พบในอรรถกถาแห่งหนึ่ง และในฎีกาที่อธิบายต่อจากอรรถกถานั้น เท่านั้น)



มีบาลีหลายแห่งที่พระพุทธเจ้าตรัสถึง โอปธิกบุญ คือบุญที่อำนวยผลแก่เบญจขันธ์ ซึ่งได้แก่บุญที่เป็นโลกิยะ ส่อความว่าน่าจะมีอโนปธิกบุญ หรือนิรูปธิบุญ ที่เป็นโลกุตระ เป็นคู่กัน แต่ก็มิได้ปรากฏมีชื่อ อโนปธิก- บุญ หรือนิรูปธิบุญ ในที่ใดเลย



ตรงกันข้าม แทนที่จะมีอโนปธิกบุญหรือนิรูปธิบุญ มาเข้าคู่เข้าชุดกับโอปธิกบุญ กลับกลายเป็นว่า ในพระบาลีแห่งหนึ่งของพระสูตรเดียวกัน มี นิรูปธิกุศล (กุศลที่เป็นโลกุตระ) มากับ โอปธิกบุญ (บุญที่เป็นโลกิยะ) ขอยกมาให้ดู ดังนี้



"ท่านจงทำให้มาก ทั้งด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ซึ่งนิรูปธิกุศล อันประมาณมิได้ แต่นั้น ครั้นทำโอปธิกบุญให้มากด้วยทานแล้ว ท่านจง [บำเพ็ญธรรมทาน] ชักจูงแม้คนอื่นๆ ให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม ในพรหมจริยะ"



เป็นอันว่า เมื่อมองดูโดยทั่วไปแล้ว ก็จะเห็นว่า คำว่า "บุญ" นั้น ท่านใช้ในความหมายของโอปธิกบุญนั่นเอง คือ ถึงจะไม่ได้เขียนคำว่า "โอปธิกะ" กำกับไว้ แต่ก็มีความหมายเท่ากับเขียนโอปธิกะอยู่ด้วย หมายความว่าตรงกับโลกิยกุศลนั่นเอง ข้อนี้เท่ากับพูดว่า คำว่าบุญที่ใช้ทั่วไป มีความหมายอยู่เพียงขั้นโลกิยะ เท่ากับโลกิย-กุศล หรือกุศลขั้นโลกีย์ บุญจึงเท่ากับเป็นความหมายส่วนหนึ่งของกุศล ไม่ครอบคลุมเท่ากับกุศล ซึ่งมีโลกุตร-กุศลด้วย และอรรถกถาน้อยแห่งเหลือเกินจะไขความบุญว่าเท่ากับกุศลทั้งหมด



พระอรรถกถาจารย์ท่านสังเกตการใช้คำว่าบุญ แล้วแสดงความหมายไว้ให้เห็นแง่ด้านที่ละเอียดลงไปอีก ดังในคัมภีร์ปรมัตถทีปนี อรรถกถาอิติวุตตกะ แสดงความหมายของคำว่า "บุญ" ไว้ 5 อย่าง คือ



1.หมายถึงผลบุญ คือผลของกุศล หรือผลของความดี เช่นในข้อความว่า เพราะการสมาทานกุศลธรรมทั้งหลายเป็นเหตุ บุญย่อมเจริญเพิ่มพูน



2.หมายถึงความประพฤติสุจริตในระดับกามาวจรและรูปาวจร เช่นในคำว่า คนตกอยู่ในอวิชชา หากปรุงแต่งสังขารที่เป็นบุญ (= ปุญญาภิสังขาร)



3.หมายถึงภพที่เกิดซึ่งเป็นสุคติพิเศษ เช่นในคำว่า วิญญาณที่เข้าถึงบุญ



4.หมายถึงกุศลเจตนา เช่นในคำว่า บุญกิริยาวัตถุ (คือเท่ากับกุศลกรรม)



5.หมายถึงกุศลกรรมในภูมิสาม เช่นในคำว่า "ภิกษุ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย" ข้อนี้ตรงกับคำว่าโลกิยกุศลนั่นเอง

โลกธรรม khaosod

โลกธรรม

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


คําว่า โลกธรรม หมายถึง ธรรมที่มีอยู่ประจำโลก ผู้ที่เกิดมาในโลกทุกคนจะต้องมีธรรมประจำโลกนี้เข้าครอบงำให้เป็นไป ซึ่งโลกธรรมนี้มีอยู่ 8 ประการ ได้แก่ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ ได้รับสรรเสริญ ถูกนินทา มีสุข ได้รับทุกข์



โลกธรรมทั้ง 8 ประการนี้ ดูกันตามปกติแล้ว จะเห็นว่าไม่มีความสำคัญอะไร แต่ถ้าพิจารณากันด้วยปัญญาให้ถ่องแท้แล้ว จะรู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นเหตุแห่งความเจริญอย่างสูงสุดและความเสื่อมอย่างมากมายมหาศาล สามารถเปลี่ยนชีวิตของบุคคลให้ประพฤติดีและประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจได้ง่าย



โลกธรรมแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายอารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าพอใจ เช่น มีลาภ มียศ ได้รับสรรเสริญ และมีสุข อีกฝ่ายหนึ่งคือ อารมณ์ที่ไม่ปรารถนา ไม่น่าพอใจ เช่น เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ได้รับทุกข์



โลกธรรมทั้ง 2 ฝ่ายนี้ เป็นบ่อเกิดแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลงลืมตัว และเป็นแนวทางให้ผู้ที่ขาดคุณธรรมกระทำความชั่วต่อไปได้



ในส่วนของอารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ ให้พิจารณาด้วยปัญญาว่า เมื่อมีลาภ ความเสื่อมลาภก็จะตามมา ยศก็เหมือนกัน เมื่อได้รับเกียรติยศ ชื่อเสียงแล้ว ความเสื่อมยศก็จะติดตามมาด้วย จึงไม่ควรปล่อยใจให้หวั่นไหวไปตามโลกธรรมนั้นๆ



การสรรเสริญยกย่อง ก็ไม่ควรหลงลืมตัว เมื่อได้รับคำสรรเสริญแล้ว ย่อมจะมีคำนินทาว่าร้ายตามมาก็ได้ ส่วนความสุขทั้ง 2 อย่าง ได้แก่ ความสุขทางกาย และทางใจ เมื่อได้ รับความสุขนี้แล้ว ก็ไม่ให้ดีใจจนลืมตัว ให้พิจารณาว่า เมื่อได้รับความสุขแล้ว ความทุกข์ย่อมอาจติดตามมาภายหลังได้เช่นเดียวกัน



ในส่วนของอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ ก็ให้พิจารณาด้วยปัญญาว่า ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย และได้รับความทุกข์ เมื่อเกิดขึ้นกับเราแล้ว ไม่ควรปล่อยใจให้หวั่นไหวไปด้วยความเสียใจ เคียดแค้น เพราะการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย ได้รับทุกข์โทมนัส อันเกิดจากคนอื่นทำให้เกิดขึ้นแก่เรา ก็พยายามทำใจไม่ให้ตกไปในอำนาจความยินดียินร้าย แค้นเคือง ให้พิจารณาด้วยปัญญาให้เห็นถึงผลได้ผลเสียตามที่เป็นจริง



สำหรับคนที่ยังมีกิเลสอยู่ หากถูกโลกธรรมครอบงำเป็นไปแล้ว จะไม่ให้หวั่นไหวก็คงจะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเพียงทำให้เบาบางลงบ้าง ก็คงพอเป็นไปได้ ด้วยการใช้หลักธรรมเข้ามาควบคุมจิตใจไว้ เช่น ใช้สติ ความระลึกได้ไตร่ตรองถึงความเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกขณะ ใช้สัมปชัญญะ ความรู้ตัวอยู่เสมอ มีความอดทน ความสงบเสงี่ยมเจียมตัว เข้าควบคุมจิตใจไว้



พระพุทธองค์ ทรงวางหลักไว้ว่า โลกธรรม คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เมื่อเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ก็ย่อมไม่พิจารณา ไม่รู้ทั่วตามที่เป็นจริงว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ครั้นเกิดขึ้นแก่เราแล้ว มีแต่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาเท่านั้น ถึงความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทา ทุกข์ อันเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจก็เหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ก็ย่อมไม่พิจารณา ไม่รู้ทั่วตามที่เป็นจริงว่า ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทา ทุกข์นั้น เมื่อเกิดขึ้นแก่เราแล้ว มีแต่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา



ผู้ที่ยินดีแต่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่เกิดขึ้น และไม่พอใจในความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ที่เกิดขึ้น ย่อมไม่พ้นไปจากความทุกข์ได้



มีแต่พระอรหันต์ผู้หลุดพ้นแล้วเท่านั้น ที่ไม่หวั่นไปด้วยโลกธรรม

วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความอยาก khaosod

ความอยาก

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


มนุษย์ที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ได้ เพราะอาศัยเหตุปัจจัยกล่าวคือ ตัณหา ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ตัณหาย่อมยังบุคคลให้เกิดได้ และนอกจากจะทำบุคคลให้เกิดขึ้นมาแล้ว ยังปกคลุมหุ้มห่อมนุษย์โลก ทำให้วุ่นวาย คิดประกอบกรรมทั้งดีและชั่ว



ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยากดิ้นรน ทำบุคคลให้สะดุ้งหวั่นไหว ทำชั่วบ้างทำดีบ้าง คนที่มีทุกข์มากมาย ประสบแต่ความเดือดร้อน ก็เพราะตัณหานี้เอง ซึ่งมีอยู่ 3 ประการ คือ



1.กามตัณหา หมายถึง ความทะยานอยากดิ้นรนค้นหา รูป เสียง เป็นต้น อันเป็นทั้งวัตถุกามและกิเลสกาม



2.ภวตัณหา หมายถึง ความอยากมีอยากเป็น คือ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้อันเป็นเรื่องดีและชั่ว



3.วิภวตัณหา หมายถึง ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เพราะมองเห็นทุกข์โทษ



บรรดาตัณหาทั้ง 3 นั้น ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น นับว่าเป็นตัวสำคัญ ทำให้เกิดกามตัณหาและวิภวตัณหา ก่อกรรมทั้งดีและชั่วไม่มีที่สิ้นสุด คนที่ถูกตัณหาเข้าควบคุมครอบงำแล้ว เปรียบเสมือนคนตาบอด มองไม่เห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นโทษ



ตัณหาความอยากนี้ ถ้าอยากจะทำดี ทำประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดทุกข์แก่ใคร นับได้ว่าเป็นความทะยานอยากในฝ่ายดี เช่นอยากจะทำตนให้เป็นประโยชน์เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้รับความสุข พ้นจากความทุกข์ ก็เป็นที่น่าสรรเสริญ ยกย่องบูชาได้



ทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งทรงเป็นสุเมธดาบสโพธิสัตว์ ได้พบพระทีปังกรพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เลื่อมใสพอใจในความเป็นพระพุทธเจ้า จึงปรารถนาอยากจะเป็นบ้าง ก็ริเริ่มประกอบกรรมดี มีบำเพ็ญทานบารมี เป็นต้น ในที่สุดก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า สมความปรารถนาที่ตั้งไว้ อย่างนี้นับว่าเป็นตัณหาเหมือนกัน แต่เป็นตัณหาในทางดี



ถ้าเป็นตัณหา ความทะยานอยากในทางประกอบกรรมทำความชั่ว ก่อทุกข์ให้เกิดทั้งแก่ตนและคนอื่น ก็จัดเป็นตัณหาในทางชั่ว เช่น โลภอยากได้สมบัติสิ่งของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยการคดโกงหลอกลวง และการประพฤติผิดในสามีภรรยาผู้อื่น เป็นต้น จัดเป็นตัณหาในทางชั่วที่ร้ายแรง บุคคลจะละหรือบรรเทาให้เบาบางลงได้ ก็ต้องใช้คุณธรรมกล่าวคือ ศีล สมาธิ และปัญญา



บุคคลจะละตัณหาหรือบรรเทาตัณหาให้เบาบางจางลงไปได้ ก็ต้องพยายามรักษาศีล ฝึกสมาธิทำจิตใจให้สงบระงับและทำปัญญา ความรอบรู้ให้เข้าใจถูกต้องอย่างแท้จริง



คนที่มีศีลดี มีสมาธิดี และมีปัญญาดี จะไม่ประกอบกรรมทำชั่วโดยเด็ดขาด จะทำแต่ความดี ทำสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดทุกข์โทษทั้งแก่ตนและคนอื่น



ส่วนคนที่มีแต่ความยุ่งเหยิง เดือดร้อน เพราะขาดศีล สมาธิ และปัญญานั่นเอง จึงถูกตัณหาเข้าครอบงำ สร้างแต่บาปกรรมความชั่วไม่สิ้นสุด ผลสุดท้ายก็ได้รับทุกข์โทษทั้งในชาติปัจจุบันนี้และภพต่อไป



คนที่มีปัญญาดี ควรพยายามบรรเทาตัณหาที่มีอยู่ให้ลดน้อยลง แล้วประกอบแต่คุณงามความดี ก็ย่อมจะทำประโยชน์ให้เกิดแก่ตนและคนอื่นได้ ถ้าแม้ยังมีชีวิตอยู่ ก็มีคนเคารพบูชา



ละจากโลกนี้ไปแล้ว ก็มีคนยกย่องสรรเสริญ

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (4) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (4)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


มีข้อสังเกตว่า ความหดหู่ หงอยเหงา เฉาซึม และความฟุ้งซ่าน เป็นต้น แม้จะเป็นอกุศล แต่ในภาษาไทยจะเรียกว่าเป็นความชั่ว ก็คงไม่สู้ถนัดปากนัก ในทำนองเดียวกัน กุศลธรรมบางอย่าง เช่น ความสงบผ่อนคลายภายในกายในใจ จะเรียกในภาษาไทยว่าความดี ก็อาจจะไม่สนิททีเดียวนัก นี้เป็นตัวอย่างแง่หนึ่งให้เห็นว่า กุศลและอกุศล กับความดีและความชั่ว มิใช่มีความหมายตรงกันแท้ทีเดียว



เมื่อเข้าใจความหมายของกุศลและอกุศลอย่างนี้แล้ว ก็ย่อมเข้าใจความหมายของกรรมดี และกรรมชั่ว คือ กุศลกรรม และอกุศลกรรมด้วย



ดังได้กล่าวแล้วว่า เจตนาเป็นตัวกรรม ดังนั้น เจตนาที่ประกอบด้วยกุศล ก็เป็นกุศลเจตนา และเป็นกุศลกรรม เจตนาที่ประกอบด้วยอกุศล ก็เป็นอกุศลเจตนา และเป็นอกุศลกรรม



เมื่อกุศลเจตนา และอกุศลเจตนานั้น เป็นไปหรือแสดงออก โดยทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็เรียกว่า เป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรม ทางกาย ทางวาจา และทางใจ หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่เป็นกุศล และเป็นอกุศล ตามลำดับ



ค) ข้อควรทราบพิเศษบางอย่างเกี่ยวกับกุศลและอกุศล



1) กุศลและอกุศล เป็นปัจจัยแก่กันได้



คนบางคนหรือบางคราวมีศรัทธา หรือได้บำเพ็ญทาน หรือรักษาศีล หรือเป็นผู้มีปัญญา เป็นต้น อันเป็นกุศล แล้วเกิดความลำพองในความดีเหล่านั้น ถือเป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่น ความลำพองก็ดี ยกตนข่มผู้อื่นก็ดี เป็นอกุศล อย่างนี้เรียกว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล



บางคนบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานแล้ว เกิดราคะคือติดใจในฌานนั้น บางคนเจริญเมตตาเพียรตั้งความปรารถนาดี มองคนในแง่ดี บางทีประสบอารมณ์ที่น่าปรารถนา เมตตานั้นเลยให้ช่องช่วยให้ราคะเกิดขึ้นโดยง่าย แล้วอาจตามมาด้วยอกุศลธรรมอื่นอีก เช่น ฉันทาคติ เป็นต้น อย่างนี้ก็เรียกว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล



ศรัทธาเป็นกุศลธรรม ทำให้จิตใจผ่องใสและมีกำลังพุ่งแล่นแน่วไป แต่เมื่อปฏิบัติต่อศรัทธานั้นไม่แยบคาย ก็อาจกลายเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิและมานะ ยึดถือว่าของตนเท่านั้นจริงแท้ ของคนอื่นมีแต่เท็จ อาจถึงกับก่อความวิวาทบาดหมางเบียดเบียนกัน นี้ก็เรียกว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล



บางคนมีราคะอยากไปเกิดในสวรรค์ จึงตั้งใจประพฤติปฏิบัติเป็นผู้มีศีล บางคนมีราคะอยากได้ความสุขสงบทางจิตใจ จึงบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานสมาบัติ เด็กบางคนมีราคะอยากให้ผู้ใหญ่ชมว่าเป็นคนดี จึงพยายามประพฤติตัวให้ดีมีศีลมีวินัย นักเรียนบางคนมีราคะอยากสอบได้ดี จึงเกิดฉันทะและขยันเล่าเรียนแสวงหาความรู้ บางคนเกิดความโกรธเผาลนตัวขึ้นแล้ว บางคราวจึงเกิดปัญญาเข้าใจชัดถึงโทษของความโกรธนั้น บางคนโกรธแค้นศัตรู จึงเกิดความเห็นใจคิดช่วยเหลือผู้อื่น บางคนเกิดความกลัวตายขึ้นแล้ว สำนึกได้หายตระหนี่ มีจิตใจเผื่อแผ่เสียสละ ตั้งใจช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป คนอีกบางคนมีความกลุ้มใจ เป็นเหตุให้เกิดความศรัทธาในธรรม อย่างนี้เรียกว่า อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล



เด็กชายวัยรุ่นคนหนึ่ง พ่อแม่เตือนไม่ให้ไปมั่วสุมกับหมู่เพื่อนอย่างไม่ระวัง แต่ไม่เชื่อฟัง ต่อมาถูกเพื่อนร้ายคนหนึ่งหลอกทำให้ติดยาเสพติด พอรู้ตัว ทั้งโกรธแค้น ทั้งเศร้าเสียใจขุ่นหมอง เกิดความเข้าใจในคำเตือนของพ่อแม่ และซาบซึ้งต่อความปรารถนาดีของท่าน (อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล) เป็นเหตุให้ยิ่งเสียใจประดังโกรธเกลียดชังตัวเอง (กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล)



เมื่อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล หรืออกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลนั้น ขณะที่กุศลเกิด จิตมีสุขภาพดี ขณะที่อกุศลเกิด จิตใจเสียหายขุ่นข้อง สภาพจิตดีไม่ดีเช่นนี้อาจเกิดสลับกันไปมาอย่างรวดเร็ว จึงต้องรู้จักแยกออกเป็นแต่ละขณะๆ



อย่างไรก็ตาม เรื่องกุศลและอกุศลเป็นปัจจัยแก่กันนี้ ได้กล่าวในที่อื่นบ้างแล้ว จึงแสดงเป็นตัวอย่างแต่เพียงเท่านี้



2) บุญและบาป กับ กุศลและอกุศล



บุญและบาป กับกุศลและอกุศล บางทีใช้แทนกันได้ บางทีใช้แทนกันไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความสับสน ว่าความหมายของธรรม 2 คู่นี้ เหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร ในที่นี้ มิใช่โอกาสที่จะอธิบายเรื่องนี้โดยตรง จึงจะกล่าวไว้พอเป็นแนวทางความเข้าใจ

วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตัดสินความดี-ความชั่ว (3) khaosod

เกณฑ์ตัดสินความดี-ความชั่ว (3)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ลักษณะต่อไปนี้ โดยมากเป็นภาวะจิตและบุคลิกภาพของพระอรหันต์ นำมาลงไว้สำหรับประกอบการพิจารณาด้วย เช่น อกิญจนะ - ไม่มีอะไรค้างใจ ไม่มีสิ่งคั่งค้างกังวล สันตะ - สงบ ซึ้ง อโศก - ไร้โศก วิรชะ - ไม่มีธุลี เขมะ - เกษม ปลอดโปร่ง มั่นคง ไม่มีภัย นิจฉาตะ - ใจไม่โหยหิว ใจอิ่ม สีติภูตะ - เย็น หรือเย็นซึ้ง นิพพุตะ - หมดร้อน เสรี - เที่ยวไปได้ตามสบาย ไม่มีอะไรเกาะเกี่ยว สยังวสี - มีอำนาจในตัวเอง เป็นตัวของตัวเองแท้จริง สุขี - มีความสุข หรือเป็นสุข



อีกชุดหนึ่ง โดยมากเป็นลักษณะจิตและบุคลิกภาพของพระอรหันต์เหมือนกัน แต่เน้นเฉพาะแง่ที่เป็นอิสระ เช่น อนัลลีนะ-ไม่ติด หรือไม่หมกมุ่น อนัชโฌสิต-ไม่สยบ อนูปลิตต์-ไม่ถูกฉาบติด หรือไม่แปดเปื้อน อนิสสิต-ไม่พึ่งพิง ไม่ขึ้นต่อสิ่งใด วิสัญญุต-ไม่พัวพัน วิปปมุตต์-หลุดพ้น วิมริยาทิกตจิต-มีจิตไร้ขอบคั่น หรือมีใจไร้เขตแดน



เพื่อให้กำหนดได้ง่ายขึ้น อาจรวมลักษณะเหล่านี้เข้าเป็นกลุ่มได้ ดังนี้



1.ตั้งมั่น เช่น แน่วแน่ อยู่ตัว ทรงตัวเรียบสม่ำเสมอ ไม่หวั่นไหว ไม่วอกแวก ไม่พล่าน ไม่ส่าย



2.บริสุทธิ์ผ่องใส เช่น ปราศสิ่งมัวหมอง ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง ไร้ไฝฝ้า เกลี้ยงเกลา ผุดผ่อง แจ่มจ้า สว่างไสว



3.โปร่งโล่งเป็นอิสระ เช่น ไม่ติดข้อง ไม่คับแคบ ไม่ถูกจำกัดขัดขวาง ไม่ถูกกดทับหรือบีบคั้น ไม่อึดอัด กว้างขวาง ไร้เขตแดน



4.เหมาะแก่การใช้งาน เช่น นุ่มนวล อ่อนละมุน เบาสบาย ไม่หนัก คล่องแคล่ว ทนทาน ไม่เปราะเสาะ ไม่กระด้าง ซื่อตรง ไม่เอนเอียง ไม่คดงอ ไม่บิดเบือน ไม่เฉไฉ



5.สงบสุข เช่น ผ่อนคลาย เรียบสงบ ไม่เครียด ไม่คับแค้น ไม่เดือดร้อน ไม่กระสับกระส่าย หรือทุรนทุราย ไม่ขาดแคลน ไม่หิวโหย เอิบอิ่ม



เมื่อทราบลักษณะของจิตใจที่สมบูรณ์ มีสุขภาพดี ไร้มลทินโทษเช่นนี้แล้ว ก็พึงนำเอาธรรมที่ได้ชื่อว่าเป็นกุศลและอกุศลมาพิจารณาตรวจสอบดูว่า ธรรมที่เป็นกุศล ส่งเสริมคุณภาพและสมรรถภาพของจิตใจ จริงหรือไม่ อย่างไร และธรรมที่เป็นอกุศล ทำให้จิตมีโรค เกิดความเน่าเสีย ผุโทรม เสียหายบกพร่อง ไม่สบาย เป็นทุกข์ เสื่อมเสียคุณภาพและสมรรถภาพจิต จริงหรือไม่ อย่างไร



ตัวอย่างกุศลธรรม เช่น สติ-ความระลึกได้ ความสามารถคุมจิตอยู่กับสิ่งที่พึงเกี่ยวข้อง หรือกิจที่ต้องทำ เมตตา-ความรัก ความปรารถนาดี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข อโลภะ-ความไม่โลภ ว่างจากความอยากใคร่ติดใจ ตลอดจนมีความคิดเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น ปัญญา-ความรู้ชัด ความเข้าใจ ความรู้เท่าทันตามความเป็นจริง ปัสสัทธิ-ความผ่อนคลายสงบ เย็นกายเย็นใจ ไม่เครียด ไม่กระสับกระส่าย กุศลฉันทะ-ความพอใจใฝ่รักสิ่งดีงาม อยากรู้อยากทำให้เป็นจริง มีจิตพุ่งแล่นไปในแนวทางแห่งเหตุปัจจัย มุทิตา-ความพลอยเบิกบานยินดี บันเทิงใจ เมื่อผู้อื่นประสบความเจริญหรือเป็นสุข เป็นต้น



ตัวอย่างอกุศลธรรม เช่น กามฉันท์-ความอยากได้ใคร่เอา พยาบาท-ความคิดร้าย ขัดเคือง หรือแค้นใจ ถีนมิทธะ-ความหดหู่ ท้อแท้ หงอยเหงา เซื่อมซึม และโงกง่วง อุทธัจจกุกกุจจะ-ความฟุ้งซ่าน คิดพล่าน หงุดหงิด กลัดกลุ้ม รำคาญ และเดือดร้อนใจ วิจิกิจฉา-ความลังเล ไม่อาจตัดสินใจ โกธ-ความโกรธ อิสสา-ความริษยา เห็นคนอื่นได้ดีทนไม่ได้ มัจฉริยะ-ความตระหนี่ ความหึงหวง ความคิดเกียดกัน เป็นต้น



เมื่อมีเมตตา จิตใจย่อมสุขสบาย แช่มชื่นผ่องใส ปลอดโปร่งและกว้างขวาง เป็นสภาพเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ ส่งเสริมคุณภาพและสมรรถภาพของจิต เมตตาจึงเป็นกุศล สติ ทำให้ใจอยู่กับสิ่งที่กำลังเกี่ยวข้องหรือต้องทำ ระลึกได้ถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมในกรณีนั้นๆ และป้องกันไม่ให้อกุศลธรรมทั้งหลายได้โอกาส ทำให้จิตใจอยู่ในสภาพพร้อมที่จะทำงานได้อย่างดี สติจึงเป็นกุศล



ความริษยา ทำให้จิตใจแคบ ถูกกดทับ บีบคั้น ไม่สบาย ไม่ปลอดโปร่ง บั่นทอนคุณภาพและสุขภาพจิตอย่างเห็นได้ชัด ความริษยาจึงเป็นอกุศล ความโกรธ ก็แผดเผาใจของตนเอง บีบคั้นกระทบใจให้ไม่สบาย และส่งผลกระทบกระเทือนออกมาถึงสุขภาพกายได้อย่างรวดเร็ว



จึงเห็นได้ชัดเช่นกันว่าเป็นอกุศล กามฉันท์ หรือแม้ความโลภ อย่างกว้างๆ ก็ทำให้จิตใจวกวนพัวพัน ติดข้อง กลัดกลุ้ม หรือเอนเอียงไป เดินไม่ตรง และมัวหมอง ไม่โล่ง ไม่โปร่ง ไม่ผ่องใส



จึงเป็นอกุศล ดังนี้เป็นต้น

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (1) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (1)

พระพรหมคุณาภร์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ก) ปัญหาเกี่ยวกับความดี-ความชั่ว



กรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความดีและความชั่วโดยตรง เมื่อพูดถึงกรรม จึงควรพูดถึงเรื่องความดีและความชั่วไว้ด้วย เพื่อช่วยให้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมชัดเจนยิ่งขึ้น



เรื่องความดีและความชั่ว มักมีปัญหาเกี่ยวกับความหมายและหลักเกณฑ์ที่จะวินิจฉัย เช่นว่า อะไรและอย่างไร จึงจะเรียกว่าดี อะไรและอย่างไร จึงจะเรียกว่าชั่ว



อย่างไรก็ตาม ปัญหาเช่นนี้มีมากเฉพาะในภาษาไทยเท่านั้น ส่วนในทางธรรม ที่ใช้คำบัญญัติจากภาษาบาลี ความหมายและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้นับได้ว่าชัดเจน ดังจะได้กล่าวต่อไป



คำว่า "ดี" และ "ชั่ว" ในภาษาไทย มีความหมายกว้างขวางมาก โดยเฉพาะคำว่าดี มีความหมายกว้างยิ่งกว่าคำว่าชั่ว คนประพฤติดีมีศีลธรรม ก็เรียกว่าคนดี อาหารอร่อยถูกใจผู้ที่กิน ก็อาจพูดว่า อาหารมื้อนี้ดี หรืออาหารร้านนี้ดี เครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพหรือทำงานเรียบร้อย คนก็เรียกว่าเครื่องยนต์ดี ไม้ค้อนที่ใช้ได้สำเร็จประโยชน์สมประสงค์ คนก็ว่าค้อนนี้ดี ภาพยนตร์ที่สนุกสนานถูกใจ คนที่ชอบก็ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ดี ภาพเขียนสวยงาม คนก็ว่าภาพนี้ดี หรือถ้าภาพนั้นอาจขายได้ราคาสูง คนก็ว่าภาพนั้นดีเช่นเดียวกัน โรงเรียนที่บริหารงานและมีการสอนได้ผล นักเรียนเก่ง ก็เรียกกันว่าโรงเรียนดี โต๊ะตัวเดียวกัน คนสามคนบอกว่าดี



แต่ความหมายที่ว่าดีนั้นอาจไม่เหมือนกันเลย คนหนึ่งว่าดีเพราะสวยงามถูกใจเขา อีกคนหนึ่งว่าดีเพราะเหมาะแก่การใช้งานของเขา อีกคนหนึ่งว่าดีเพราะเขาจะขายได้กำไรมาก



ในทำนองเดียวกัน ของที่คนหนึ่งว่าดี อีกหลายคนอาจบอกว่าไม่ดี ของบางอย่างมองในแง่หนึ่งว่าดี มองในแง่อื่นอาจว่าไม่ดี ความประพฤติหรือการแสดงออกบางอย่าง ในถิ่นหนึ่งหรือสังคมหนึ่งว่าดี อีกถิ่นหนึ่งหรืออีกสังคมหนึ่งว่าไม่ดี ดังนี้เป็นต้น หาที่ยุติไม่ได้ หรืออย่างน้อยไม่ชัดเจน อาจต้องจำแนกเป็นดีทางจริยธรรม ดีในแง่สุนทรียภาพ ดีในแง่เศรษฐกิจ เป็นต้น



เหตุที่มีความยุ่งยากสับสนเช่นนี้ ก็เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่า และคำว่า "ดี" หรือ "ไม่ดี" ในภาษาไทย ใช้กับเรื่องที่เกี่ยวกับคุณค่าได้ทั่วไปหมด ความหมายจึงกว้างขวางและผันแปรได้มากเกินไป



เพื่อตัดปัญหาเกี่ยวกับความยุ่งยากสับสนนี้ จึงจะไม่ใช้คำว่าดี ไม่ดี หรือชั่ว ในภาษาไทย และเป็นอันไม่ต้องพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับคุณค่าด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด



ในการศึกษาเรื่องความดีความชั่วที่เกี่ยวกับกรรมนี้ มีข้อควรทราบดังนี้



ก.ความดีความชั่ว ณ ที่นี้ เป็นการศึกษาในแง่ของกรรมนิยาม และมีคำเรียกโดยเฉพาะว่า "กุศล" และ "อกุศล" ตามลำดับ คำทั้งสองคำนี้ มีความหมายและหลักเกณฑ์วินิจฉัยที่นับได้ว่าชัดเจน



ข.การศึกษาเรื่องกุศลและอกุศลนั้น มองในแง่จริยธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของกรรม-นิยาม จึงเป็นการศึกษาในแง่สภาวะ หาใช่เป็นการศึกษาในแง่คุณค่าอย่างที่มักเข้าใจกันไม่ การศึกษาในแง่คุณค่าเป็นเรื่องในระดับสมมตินิยามหรือสังคมบัญญัติ ซึ่งมีขอบเขตที่แยกจากกรรมนิยามได้ชัดเจน



ค.ความเป็นไปของกรรมนิยาม ย่อมสัมพันธ์กับนิยามอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะที่พึงใส่ใจพิเศษ คือ ในด้านภายในบุคคล กรรมนิยามอิงอยู่กับจิตนิยาม ในด้านภายนอก กรรมนิยามสัมพันธ์กับสมมตินิยามหรือสังคมบัญญัติ ข้อที่พึงเน้นก็คือ ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างกรรมนิยาม กับสมมตินิยาม จะต้องแยกขอบเขตระหว่างกันให้ชัด และจุดเชื่อมต่อ ซึ่งเป็นทั้งที่แยก และที่สัมพันธ์ระหว่างขอบเขตทั้งสองนั้น ก็มีอยู่



ข) ความหมายของกุศลและอกุศล



กุศล และอกุศล แปลกันโดยทั่วไปว่าดี และชั่วหรือไม่ดี ก็จริง แต่แท้จริงแล้ว หาตรงกันทีเดียวไม่ สภาวะบางอย่างเป็นกุศล แต่อาจจะไม่เรียกว่าดีในภาษาไทย สภาวะบางอย่างอาจเป็นอกุศล แต่ในภาษาไทยก็ไม่เรียกว่าชั่ว ดังจะเห็นต่อไป



กุศล และอกุศล เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นในจิตใจ และมีผลต่อจิตใจก่อน แล้วจึงมีผลต่อบุคลิกภาพ และแสดงผลนั้นออกมาภายนอก ความหมายของกุศลและอกุศลจึงเพ่งไปที่พื้นฐาน คือเนื้อหาสาระและความเป็นไปภายในจิตใจเป็นหลัก

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (2) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (2)

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


"กุศล" แปลตามศัพท์ว่า ฉลาด ชำนาญ สบาย เอื้อ หรือเกื้อกูล เหมาะ ดีงาม เป็นบุญ คล่องแคล่ว ตัดโรคหรือตัดสิ่งชั่วร้ายที่น่ารังเกียจ



ส่วน "อกุศล" ก็แปลว่า สภาวะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล หรือตรงข้ามกับกุศล เช่นว่า ไม่ฉลาด ไม่สบาย เป็นต้น



ความหมายเชิงอธิบายในทางธรรมของกุศล ที่ถือได้ว่าเป็นหลัก มี 4 อย่าง คือ



1.อาโรคยะ ความไม่มีโรค คือสภาพจิตที่ไม่มีโรค อย่างที่นิยมเรียกกันบัดนี้ว่า สุขภาพจิต หมายถึง สภาวะหรือองค์ประกอบที่เกื้อกูลแก่สุขภาพจิต ทำให้จิตไม่ป่วยไข้ ไม่ถูกบีบคั้น ไม่กระสับกระส่าย ไม่โทรม ไม่อ่อนแอ เป็นจิตแข็งแรง คล่องแคล่ว สบาย ใช้งานได้ดี เป็นต้น 2.อนวัชชะ ไม่มีโทษ หรือไร้ตำหนิ แสดงถึงภาวะที่จิตสมบูรณ์ ไม่บกพร่อง ไม่เสียหาย หรือไม่มีของเสีย ไม่มัวหมอง ไม่ขุ่นมัว สะอาด เกลี้ยงเกลา เอี่ยมอ่อง ผ่องแผ้ว เป็นต้น



3.โกศลสัมภูต เกิดจากปัญญา หรือเกิดจากความฉลาด หมายถึง ภาวะที่จิตประกอบอยู่ด้วยปัญญาหรือมีคุณสมบัติต่างๆ ซึ่งเกิดจากความรู้ความเข้าใจ สว่าง มองเห็นหรือรู้เท่าทันความเป็นจริง สอดคล้องกับหลักที่ว่า กุศลธรรมมีโยนิโสมนสิการ คือความรู้จักคิดแยบคายหรือรู้จักทำใจอย่างฉลาด เป็นปทัฏฐาน



4.สุขวิบาก มีสุขเป็นวิบาก คือ เป็นสภาพที่ทำให้มีความสุข เมื่อกุศลธรรมเกิดขึ้นในใจ ย่อมเกิดความสุขสบายคล่องใจในทันทีนั้นเอง ไม่ต้องรอว่าจะมีผลตอบแทนภายนอกหรือไม่ เหมือนกับว่า เมื่อร่างกายแข็งแรงไม่มีโรคเบียดเบียน (อโรค) ไม่มีสิ่งสกปรกเสียหาย ปราศจากมลทินหรือของที่เป็นพิษภัยมาพ้องพาน (อนวัชชะ) และรู้ตัวว่าอยู่ในที่มั่นคงปลอดภัยถูกต้องเหมาะสม (โกศลสัมภูต) ถึงจะไม่ได้เสพเสวยสิ่งใดพิเศษออกไป ก็ย่อมมีความสบาย ได้เสวยความสุขอยู่แล้วในตัว



นอกจากความหมายทั้ง 4 นี้แล้ว คัมภีร์บางแห่งกล่าวถึงความหมายอื่นอีก 3 อย่าง คือ เฉกะ แปลว่า ฉลาด และ เขมะ แปลว่า เกษม คือปลอดโปร่ง มั่นคง ปลอดภัย และ นิททรถะ แปลว่า ไม่มีความกระวนกระวาย แต่พอจะเห็นได้ว่า ความหมาย 3 อย่างนี้ รวมลงได้ในความหมาย 4 อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างบน และในบรรดาความหมาย 4 อย่างนั้น ความหมายที่ 3 คือ โกศลสัมภูต เป็นความหมายแกน ความหมายของอกุศล ก็พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามจากที่กล่าวมานี้ คือ เป็นสภาพจิตที่มีโรค ไร้สุขภาพ มีโทษ มีตำหนิ มีข้อเสียหาย เกิดจากอวิชชา และมีทุกข์เป็นวิบาก พูดสั้นๆ อีกนัยหนึ่งว่า เป็นสภาพที่ทำให้จิตเสียคุณภาพและเสื่อมสมรรถภาพ ตรงข้ามกับกุศล ที่ส่งเสริมคุณภาพและสมรรถภาพของจิต



เพื่อให้เห็นความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น อาจบรรยายลักษณะของจิตที่ดีงาม ไร้โรค ไม่มีโทษ เป็นต้น ให้ดูก่อน แล้วพิจารณาว่า กุศลธรรมคือสิ่งที่ทำให้จิตมีลักษณะเช่นนั้น หรือกุศลธรรมทำให้เกิดสภาพจิตเช่นนั้นอย่างไร อกุศลธรรมคือสิ่งที่ทำให้จิตขาดคุณลักษณะเช่นนั้น หรือทำให้จิตเสื่อมเสียสภาพเช่นนั้นอย่างไร



ลักษณะที่จะกล่าวต่อไปนี้ นำมาจากบาลีในที่ต่างๆ หลายแห่ง เป็นลักษณะของจิตที่ดีงาม ตั้งแต่ระดับสามัญ จนถึงขั้นสูงสุด คือจิตของพระอรหันต์ ขอให้ถือว่าเป็นการวางภาวะที่สมบูรณ์ไว้เป็นมาตรฐาน



ชุดหนึ่งว่า ปัสสัทธะ-ผ่อนคลาย หรือเรียบสงบ หรือเย็นสบาย ลหุ-เบา มุทุ-นุ่มนวล หรืออ่อนโยน หรือละมุน กัมมัญญะ-ควรแก่งาน หรือพร้อมที่จะใช้งาน ปคุณ-คล่องแคล่ว อุชุ-ซื่อตรง ไม่คดโค้งโกงงอบิดเบือนเชือนแช



ชุดหนึ่งว่า มุทุ-นุ่มนวล ละมุน กัมมนียะ-ควรแก่งาน เหมาะแก่การใช้งาน ปภัสสร-ผ่องใส แจ่มจ้า อปภังคุ-ไม่เปราะเสาะ แข็งแรงทนทาน สมาหิต-ตั้งมั่น อนาวรณ์-ไม่มีสิ่งกีดกั้น ไม่ถูกจำกัด อนิวรณ์-ไม่มีสิ่งขัดขวาง ไม่ติดขัดหรือคับข้อง อนุปักกิลิฏฐ-ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นมัว อนัชฌารุฬห์-ไม่ถูกกดทับ ไม่ถูกกดถูกบีบ อวิฆาต-ไม่คับแค้น ไม่คับเครียดอึดอัด



อีกชุดหนึ่งว่า สมาหิตะ-ตั้งมั่น ทรงตัวเรียบสม่ำเสมอ ปริสุทธะ-สะอาด หมดจด ปริโยทาตะ-ผุดผ่องกระจ่าง สว่างไสว อนังคณะ-ไร้ไฝฝ้า โปร่งโล่งเกลี้ยงเกลา วิคตูปกิเลสะ-ปราศสิ่งมัวหมอง มุทุภูตะ-นุ่มนวล ละมุนละไม กัมมนียะ-ควรแก่งาน ฐิตะและอาเนญชัปปัตตะ-ทรงตัวอยู่ ตั้งอยู่ได้ เข้าที่ อยู่ตัว ไม่หวั่นไหว แน่วแน่ ไม่วอกแวก