วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (6) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (6)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ความจริง ข้อที่ 5 เป็นความหมายหลัก ตรงกับคำอธิบายในมหานิทเทสที่ว่า



"กุสลาภิสังขารในไตรธาตุ (คือกามธาตุ รูปธาตุ และอรูปธาตุ) อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม เรียกว่าบุญ; อกุศลทั้งหมด เรียกว่า อบุญ (คือบาป)"



พูดด้วยคำที่เข้าใจง่ายว่า บุญ ได้แก่กุศลที่เป็นโลกีย์ บาป ได้แก่อกุศลทั้งหมด (กุศล มีทั้งโลกิยะ และโลกุตระ แต่ อกุศล มีเฉพาะโลกิยะอย่างเดียว, บุญ และบาป เป็นโลกิยะด้วยกันทั้งหมด; พูดยักย้ายอีกอย่างหนึ่งว่า บุญ มีแต่โลกิยะอย่างเดียว กุศล มีทั้งโลกิยะและโลกุตระ, บาปและอกุศล เป็นโลกิยะทั้งสิ้น)



ทั้งนี้ ได้ในคำว่า ไม่ติดในบุญและในบาป หรือละบุญละบาป ลอยบุญลอยบาปได้แล้ว ซึ่งเป็นลักษณะจิตของพระอรหันต์



พึงสังเกตด้วยว่า ตามคำอธิบายในมหานิทเทสนั้น คำกล่าวที่ว่า พระอรหันต์ละทั้งบุญและบาป ลอยบุญ ลอยบาปหมดแล้ว หรืออยู่เหนือความดีและความชั่วนั้น มีความหมายว่า ละบาป และละบุญคือโลกิยกุศลเท่านั้น หาได้ละโลกุตรกุศลด้วยไม่



ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า เมื่อคำว่าบุญกับกุศลมาด้วยกัน กุศลมักมีความหมายเท่ากับบุญ จึงหมายความว่า ในกรณีเช่นนี้ คำว่ากุศลถูกใช้ในความหมายแคบลงเท่ากับบุญ คือเป็นเพียงโลกิยกุศลเท่านั้น



ลักษณะสำคัญของโลกิยกุศลหรือบุญนี้ก็คือ การที่ยังเกี่ยวข้องกับผลที่เป็นอามิส ไม่ใช่เรื่องของความหลุดพ้นเป็นอิสระ หรือการทำลายกิเลสโดยสิ้นเชิง



ตัวอย่างเสริมความที่กล่าวแล้วมีเป็นอันมาก เช่น ในบาลี เมื่อกล่าวถึงภิกษุคิดจะลาสิกขามักกล่าวว่า จะสึกไปกินใช้โภคทรัพย์และทำบุญทั้งหลาย และชีวิตชาวบ้านที่ดีก็ถือกันว่าได้แก่ชีวิตเช่นนั้น คำว่าบุญในกรณีเช่นนี้ ก็หมายถึงการทำความดีต่างๆ เช่น เผื่อแผ่แบ่งปัน ให้ทาน ประพฤติดี มีศีล เป็นต้น ตรงกับคำว่ากุศลกรรม หรือในข้อความว่า บุญมีอุปการะแม้แก่ผู้เป็นเทพ แม้แก่ผู้เป็นมนุษย์ แม้แก่บรรพชิต ก็มีความหมายทำนองเดียวกัน ส่วนในพุทธพจน์ว่า บุญเป็นชื่อของความสุข บุญก็หมายถึงผลหรือวิบากที่น่าปรารถนาของกุศลกรรมคือการทำความดี หรือในคำว่าตายเพราะสิ้นบุญ (บุญขัยมรณะ) ก็หมายถึงหมดผลบุญหรือสิ้นวิบากของกุศลกรรมที่ปรุงแต่งกำเนิดนั้นนั่นเอง



ความหมายของคำว่า "ธรรม" ที่เท่ากับบุญ ก็คือความหมายในแง่ที่สัมพันธ์กับการไปสวรรค์ เช่นเดียวกับที่อธรรมเท่ากับบาป ในความหมายที่สัมพันธ์กับการไปนรก



เป็นอันสรุปได้ว่า แม้ว่า บุญ กับกุศล และบาป กับอกุศล จะเป็นไวพจน์กัน แต่ในการใช้จริงโดยทั่วไป กุศลมีความหมายครอบคลุมที่สุด กว้างกว่าบุญ คำทั้งสองจึงใช้แทนกันได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ส่วนบาปกับอกุศลมีความหมายใกล้เคียงกันมากกว่า จึงใช้แทนกันได้บ่อยกว่า แต่กระนั้นก็มักใช้ในกรณีที่ให้ความรู้สึกที่ตรงข้ามกับความหมายแง่ต่างๆ ของบุญ โดยนัยนี้



- กุศล ใช้ในแง่การกระทำคือกรรมก็ได้ มองลึกลงไปถึงตัวสภาวธรรมก็ได้ ส่วนบุญมักเล็งแต่ในแง่กรรมคือการ กระทำ ดังนั้น คำว่า กุศลกรรมก็ดี กุศลธรรมก็ดี จึงเป็นคำสามัญ แต่สำหรับบุญ เราพูดได้ว่า บุญกรรม (กรรมที่เป็นบุญ ไม่ใช่ บุญและกรรม) ถ้าพูดว่าบุญธรรม จะแปลกหู และไม่รู้สึกเป็นคำศัพท์ทางธรรม ส่วนบาปกับอกุศลจะพบทั้งอกุศลกรรม อกุศลธรรม บาปกรรม บาปธรรม



- ในแง่ที่พิเศษ บุญหมายถึงผลของบุญ หรือวิบากของกุศลกรรม แม้ในกรณีที่มิได้หมายถึงผลหรือวิบากโดยตรง บุญก็ใช้ในลักษณะที่สัมพันธ์กับผล หรือให้เกิดความรู้สึกเพ่งเล็งถึงผลตอบสนองภายนอก หรือผลที่เป็นอามิส เฉพาะอย่างยิ่งความสุขและการไปเกิดในที่ดีๆ



- ด้วยเหตุที่กล่าวมานั้น การใช้คำว่า "บุญ" จึงมักจำกัดอยู่เฉพาะในระดับโลกิยะ เป็นโอปธิกบุญ คือ เป็นโลกิย กุศลเท่านั้น กรณีที่กินความถึงโลกุตร กุศล หาได้ยากอย่างยิ่ง



นอกจากนี้ มีข้อสังเกตสำหรับผู้สนใจทางวิชาการอาจศึกษาค้นคว้าต่อไป คือ



- บุญและบาป เป็นคำที่มีใช้แพร่หลายอยู่ก่อนแล้วในพุทธกาล และมีความหมายในทางโชคและความศักดิ์สิทธิ์ปนอยู่ด้วย พระพุทธศาสนารับเข้ามาใช้ในความหมายเท่าที่ปรับเข้ากับหลักการของตนได้ ส่วนกุศลและอกุศล เดิมใช้ในความหมายอย่างอื่น เช่น ฉลาด ชำนาญ คล่องแคล่ว สบายดี มีสุขภาพ เป็นต้น พระพุทธศาสนานำเอามาบัญญัติใช้สำหรับความหมายที่ต้องการของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ



- และโดยนัยนี้ กุศลและอกุศลจึงเป็นศัพท์วิชาการทางธรรมอย่างแท้จริง ส่วนบุญและบาป ท่านมักใช้อยู่ในวงแห่งคำสอนสำหรับชาวบ้าน หรือชีวิตของชาวโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น