วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โลกธรรม 8 จากข่าวสด

โลกธรรม 8

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



"โลกธรรม 8" หมายถึง เรื่องของโลกซึ่งมีอยู่ประจำกับชีวิต สังคมและโลกของมนุษย์ เป็นความจริงที่ทุกคนต้องประสบด้วยกันทั้งนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม อยู่ที่ว่า ใครจะประสบมาก หรือประสบน้อย ช้าหรือเร็ว กว่ากัน

โลกธรรม แบ่งออกเป็น 8 ชนิด จำแนกออกเป็น 2 ฝ่ายควบคู่กัน ซึ่งมีความหมายตรงข้ามกัน คือ ฝ่ายอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าปรารถนาและฝ่ายอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ดังนี้

โลกธรรมฝ่ายอิฏฐารมณ์ คือ ฝ่ายที่มนุษย์พอใจมี 4 เรื่อง คือ

1.ได้ลาภ หมายความว่า ได้ผลประโยชน์ ได้ทรัพย์สินเงินทอง ได้บ้านเรือนหรือที่สวน ไร่นา

2.ได้ยศ หมายความว่า ได้รับแต่งตั้งให้มีฐานันดรสูงขึ้น ได้ตำแหน่ง ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต

3.ได้รับสรรเสริญ คือ ได้ยิน ได้ฟัง คำสรรเสริญคำชมเชย คำยกยอ

4.ได้สุข คือ ได้ความสบายกาย สบายใจ ได้ความเบิกบาน ร่าเริง ได้ความบันเทิงใจ

โลกธรรมฝ่ายอนิฏฐารมณ์ คือ ฝ่ายที่มนุษย์ไม่พอใจมี 4 เรื่อง คือ

1. เสียลาภ หมายความว่า ลาภที่ได้มาแล้วเสียไป

2. เสื่อมยศ หมายถึง ถูกลดความเป็นใหญ่ ถูกถอดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดอำนาจ

3. ถูกนินทา หมายถึง ถูกตำหนิติเตียนว่าไม่ดี ถูกผู้อื่นพูดถึงความไม่ดีของเราในที่ลับหลังเรียกว่าถูกนินทา

4. ตกทุกข์ คือ ได้รับความทุกข์ทรมานกายทรมานใจ

ทุก สิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรแน่นอน ไม่มีอะไรเป็นตัวของเราเอง ไม่มีใครในโลกนี้จะพบแต่ความสมหวังตลอดชีวิต จะต้องพบกับคำว่าผิดหวังบ้าง

ผู้มีปัญญาได้รับการศึกษาอบรมมาอย่าง ดีแล้ว พึงทำใจเอาไว้กลางๆ ว่า มีคนนินทา ก็ต้องมีคนสรรเสริญ มีสุขก็ต้องมีทุกข์ มีลาภย่อมเสื่อมลาภ มียศก็ย่อมเสื่อมยศ หากเราหวังอะไรเกินเหตุ เมื่อเวลาเราผิดหวัง ไม่สมหวัง ให้ทำใจไว้ว่านั่นคือโลกธรรมทั้ง 8 คือมีได้ก็ต้องเสื่อมได้ เป็นของธรรมดาในโลกนี้ ไม่ว่าสัตว์หรือบุคคลใด ก็ย่อมหนีสิ่งเหล่านี้ไปไม่พ้น เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ย่อมหนีสิ่งเหล่านี้ไปไม่พ้นอย่างแน่นอน เพราะไม่สมปรารถนาที่ตัวเองคิดไว้ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียอกเสียใจ รำพึงรำพันกับตัวเองถึงความไม่สมหวัง จะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์มาก

เพราะ ฉะนั้น จงใช้สติปัญญาหมั่นพิจารณาอยู่เนืองๆ ว่า สิ่งใดมีเกิดขึ้น ก็ต้องมีเสื่อมไปเป็นของธรรมดา เหมือนโลกธรรมทั้ง 8 ประการ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ทุกคนจะต้องตกอยู่ในโลกธรรม 8 กันถ้วนหน้า จะได้ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างเป็นสุข

อนุโมทนา จากข่าวสด

อนุโมทนา

คอลัมน์ คอลัมน์ศาลาวัด
"คำอนุโมทนา" เป็นคำสอนหรือคำให้ศีลให้พรที่พระสงฆ์กล่าวให้แก่ผู้ถวายภัตตาหาร มีหลักฐานเชื่อได้ว่าในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ คำอนุโมทนาอยู่ในระบบคำสอนทั้งสิ้น

ครั้นหลังพุทธปรินิพพาน เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ขยายไปประเทศต่างๆ คำอนุโมทนาจึงค่อยๆ ขยายจากระบบคำสอนออกเป็นคำให้ศีลให้พรเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งในภายหลัง

จากอดีตถึงปัจจุบัน "คำอนุโมทนา" ที่พระสงฆ์ไทยใช้อยู่ล้วนเป็นภาษาบาลี หากผู้ใดแปลคำอนุโมทนาได้หรือรู้คำที่ท่านผู้รู้แปลเป็นคำไทยไว้จะรู้เห็น ได้เองว่า คำอนุโมทนาที่พระภิกษุสงฆ์ใช้อยู่ ท่านจัดรวบรวมไว้ในหมวดอนุโมทนาวิธีในหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง มีทั้งคำสอนและคำให้ศีลให้พร ชื่อว่าเจริญรอยตามพระบรมพุทธานุญาต และตามจารีตที่กำหนดไว้แต่ปางก่อน

การที่พระภิกษุสงฆ์จะหาโอกาสถ่ายเทความรู้ให้แก่ประชาชนหรือทายกทายิกาแห่ง วัดนั้นๆ เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีความสุขความเจริญ ก็กระทำได้ ในโอกาสที่ชุมนุมกันมากๆ เช่น วันพระหรือวันธรรมสวนะ ตอนเวลาที่พระภิกษุฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ก่อนที่จะยถาสัพพีก็อนุโมทนาในโอกาสนั้น อันเป็นการอนุโมทนาในรูปแบบคำสอนตามพุทธานุญาต แต่ถ้าท่านผู้มีหน้าที่อนุโมทนาเห็นสมควรจะอนุโมทนาก่อนฉัน หรือในเวลาที่พระภิกษุรูปอื่นฉันอยู่ก็ย่อมกระทำได้

คำอนุโมทนาเป็นภาษาบาลีที่พรภิกษุสงฆ์เคยอนุโมทนาในวันพระ หรือวันธรรมสวนะในวัดของตนอย่างใดก็ยังคงเป็นไปตามนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ประการใด แต่ถ้าจะเพิ่มคำอนุโมทนาเป็นภาษาไทยให้อยู่ในขอบเขตแห่งหัวข้อ หรือหมวดเรื่องตามที่มหาเถรสมาคมจะได้กำหนดไว้ โดยอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

โดยปกติ การอนุโมทนาเป็นภาษาไทยเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสแห่งวัดนั้นๆ จะถึงอนุโมทนา แต่ถ้าเจ้าอาวาสขัดข้องหรือเห็นเป็นการสมควรจะมอบหมายให้รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส หรือพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งทำหน้าที่อนุโมทนาแทนก็ได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่เจ้าอาวาสมอบหมาย

กำหนดเขตการอนุโมทนาเป็นภาษาไทยนั้น กำหนดในทุกวันพระหรือวันธรรมสวนะในเทศกาลเข้าพรรษา ในเวลาทายกทายิการ่วมประชุมทำบุญตักบาตร แต่ถ้าวัดใดเห็นสมควรจะขยายการอนุโมทนาเป็นภาษาไทยออกไปในทุกวันพระหรือวัน ธรรมสวนะในเวลานอกพรรษาหรือในวันที่ประชาชนมาร่วมบำเพ็ญกุศลในวัดเป็นการ พิเศษก็ย่อมกระทำได้ตามความเหมาะสม

กำหนดเวลาที่จะอนุโมทนาเป็นภาษาไทย ไม่ควรจะต่ำกว่า 10 นาที และไม่เกิน 30 นาที เว้นแต่ทายกทายิกาจะขอให้เพิ่มเวลาออกไปอีก

เมื่อจบการอนุโมทนาเป็นภาษาไทยแล้วจึงอนุโมทนาเป็นภาษาบาลีตามที่เคยปฏิบัติมา

หลักการทำบุญในทางพุทธ (ข่าวสด)

หลักการทำบุญในทางพุทธ
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
บุญ" หมายถึง คุณงามความดี หรือความดี หรือการกระทำดีตามหลักธรรมคำสอนในศาสนา อีกอย่างหนึ่งหมายถึง ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ใจ ธรรมชาติที่ชำระจิตใจให้สะอาดให้ผ่องใสมีผลได้แก่ความสุขที่เกิดทางใจ บุญนั้นเกิดได้หลายทาง ในทางพุทธศาสนา เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ คือ

1. ทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน ได้แก่ การให้วัตถุสิ่งของ ให้ธรรมะเป็นทาน เรียกธรรมทาน, ให้อภัยเรียกอภัยทาน เป็นต้น

2. ศีลมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ได้แก่ การปฏิบัติตามข้อห้ามตามที่ทรงบัญญัติในพระปาฏิโมกข์เพื่อกำจัดกิเลส

3. ภาวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา ได้แก่ การปฏิบัติใจเพื่อกำจัดกิเลส แบ่งเป็นสมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

4. ไวยาวัจจมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือกิจการสงฆ์และภาระพระศาสนา

5. อปจายนะมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการมีกิริยาอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณและคนทั่วไป

6. ปัตติทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว

7. ปัตตานุโมทนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงอนุโมทนาในส่วนบุญร่วมกับผู้อื่น

8. ธัมมเทศนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม ได้แก่ การอธิบายบรรยายธรรมะให้แก่ผู้ร่วมโลกที่ร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย

9. ธัมมัสสวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม ได้แก่ การฟังธรรมและนำข้อธรรมมาประพฤติปฏิบัติให้พ้นทุกข์

10. ทิฏฐชุกัมม์ คือ การทำความเห็นให้ตรงเป็นสัมมาทิฏฐิเชื่อในธรรมและการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ในบรรดาสิ่งที่อาจช่วยเราได้ในโลก ไม่มีอะไรจะวิเศษเท่ากับบุญเลย คนบางคนช่วยเราได้อย่างมากก็เพียงช่วงระยะเวลาจากเปลไปสู่หลุมฝังศพเท่านั้น แต่บุญที่เราทำไว้มากๆ นี้ จะช่วยเราได้ตั้งแต่ก่อนเกิด เกิดแล้วยังตามช่วย ตายแล้วยังตามช่วย แม้การบรรลุจุดหมายสูงสุดทางพระพุทธศาสนา คือการบรรลุพระนิพพาน บุญนี้เท่านั้นที่ช่วยเรา

บุญกิริยาวัตถุทั้ง 10 ประการ นี้ เป็นวิธีทำบุญในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งพุทธศาสนิกชนสามารถประพฤติปฏิบัติในข้อใดข้อหนึ่งได้ตามอัธยาศัย ซึ่งล้วนแต่เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ เป็นทางแห่งการสั่งสมบุญทั้งนั้น ขอให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติเท่านั้นก็จะเป็นบุญกุศลทั้งสิ้น

เมื่อ ทราบเช่นนี้แล้ว ควรที่ท่านทั้งหลายจะเร่งรีบทำบุญทำความดีบ่อยๆ ตามอัธยาศัย ตามโอกาสอำนวย ที่สามารถจะทำได้ และเมื่อบุญ หรือ ความดีที่ทำไว้นั้นมากพอสมควร บุญนั้นก็จักบันดาลให้ประสบความสุขความเจริญ ทั้งในภพนี้ และภพหน้า
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / watdevaraj@hotmail.com

คำคมท่าน ว.วชิรเมธี

พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า “ไม่มีการครอบครองใดๆที่ไม่ก่อให้เกิดความทุกข์”
หรือ “ไม่มีการยึดติดถือมั่นใดที่ไม่ก ่อให้เกิดทุกข์”
สมการแห่งความทุกข์ก็คือ “ความยึดติดถือมั่น = ความทุกข์”

วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ใครปฏิบัติได้เป็นดี ข่าวสด

ใครปฏิบัติได้เป็นดี

ทิ้งหมัดเข้ามุม
จ่าบ้าน


ต้นสัปดาห์นี้เป็นวันแห่งพุทธศาสนา ทั้งวันนี้และวันพรุ่งนี้

วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐม เทศนา คือ อริยสัจ 4 ประกอบด้วย

ทุกข์ คือความจริงที่ว่าด้วยทุกข์ สมุหทัย คือ ความจริงที่ว่าด้วยเหตุแห่งทุกข์ นิโรธ คือ ความจริงที่ว่าด้วยความดับทุกข์ และ มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

แม้ความจริงจะมีอยู่ว่า การเกิดเป็นทุกข์ แต่ใครเล่าจะห้ามการเกิดได้

เมื่อ เกิดแล้ว เป็นทุกข์แล้ว คงต้องหาทางบรรเทาทุกข์ หรือหาเหตุแห่งทุกข์ คือสมุทัยมีตัณหา 3 ประการ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภาวตัณหา

ส่วน การดับทุกข์ ด้วยเหตุที่ทุกข์เมื่อเกิด ย่อมดับได้ การดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ คือ นิโรธ และการหาเหตุเพื่อนำไปสู่การดับทุกข์ย่อมต้องมีทางคือ มรรค

มรรค คือข้อปฏิบัติไปสู่หนทางดับทุกข์ มีองค์ 8 คือ

1. เห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) คือเห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง

2. ดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) คือ ไม่หลงมัวเมากับความสุขทางกาย ไม่พยาบาท ไม่คิดร้ายผู้อื่น

3. เจรจาชอบ (สัมมาวาจา) คือ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ

4. กระทำชอบ (สัมมากัมมันตะ) คือ ไม่ทำลายชีวิต ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดทางกาม

5. เลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ) คือการทำมาหากินที่สุจริต ไม่ทำกิจการซึ่งเป็นผลร้ายต่อคนทั่วไป

6. พยายามชอบ (สัมมาวายา มะ) คือความพยายามที่จะป้องกันมิให้ความชั่วเกิดขึ้น และพยายามขจัดความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป

7. ระลึกชอบ (สัมมาสติ) คือ รู้ตัวเสมอว่ากำลังเห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง

และ 8. ตั้งจิตมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) คือ การที่สามารถตั้งจิตให้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน

มรรค ทั้ง 8 ประการ เพียงแต่ทุกคนตั้งจิตอธิษฐานว่าจะประพฤติปฏิบัติตามก็มีโอกาสบรรลุซึ่ง นิพพานในโอกาสหนึ่งโอกาสใดแน่นอน ขอสาธุชนพึงสดับเทอญ - สาธุ

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Failed State No.79

แผ่นดินไทย รัฐเตือนภัยลำดับ 79



Failed States Index 2009


รัฐที่ล้มเหลว หรือ (ภาษาอังกฤษ:Failed State) หมายถึง รัฐ ที่ไม่สามารถบริหารการปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยภายใน มีความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมอย่างรุนแรง มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย รัฐบาลและกลไกรัฐขาดความมั่นคงและประสิทธิภาพ จนไม่สามารถบริหารประเทศและแก้ปัญหาต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้ [1]

กาลามสูตร จาก Augustman

"กาลามสูตร" แปลว่า พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตติยนิคม
แคว้นโกศล (เรียกว่า เกสปุตสูตร ก็มี[1]) กาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์
ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใด ๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้
เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ มีอยู่ 10 ประการคือ

1. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา

2. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆ กันมา

3. อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ

4. อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา

5. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา

6. อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา

7. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล

8. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน

9. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้

10. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน

เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล
ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ
ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข
เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่
ปัจจุบันแนวคิดและหลักสูตรที่สอนให้คนมีเหตุผลไม่หลงเชื่องมงาย ในทำนองเดียวกับคำสอน
ของพระพุทธองค์เมื่อ 2500 ปีก่อนได้รับการบรรจุเป็นวิชาบังคับว่าด้วยการสร้างทักษะการคิด
หรือที่เรียกว่า "การคิดเชิงวิจารณ์" (Critical thinking) ไว้ในกระบวนการเรียนรู้
ในมหาวิทยาลัยของประเทศพัฒนาแล้ว

มีคนจำนวนไม่น้อย เชื่อถ้อยคำวาจาของผู้พูดที่เคยเชื่อถือมาก่อน พูดอะไรก็เชื่อตามหมด
เพราะฟังแล้วมีเหตุผล-ตรรกะน่าเชื่อ ยิ่งเข้ากันได้กับความคิดของตนเป็นทุนทำให้เชื่อเต็ม
ร้อยโดยมิลังเล สงสัยเคลือบแคลงแต่อย่างใด..อันตราย ครับ

ผู้เขียนอดเป็นห่วงเรื่องราวที่กล่าวตอนต้นไม่ได้ จึงนำเสนอ"กาลามสูตร" เพื่อสกิดเตือน
เพื่อนไทยที่รักชาติทั้งหลาย ก่อนที่บ้านเมืองวุ่นวายเสียหายเกินแก้ไข ครับ

สื่อทีวี นับเป็นสื่อสารมวลชนที่ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย ฝากถึงผู้ใช้สื่อสารทั้งหลายพึงสังวร
ให้จงหนักท่านทำตนเป็นเป็นสื่อแท้.สื่อเทียมหรือสื่อเสี้ยมกันแน่..สงสารผู้เสพสื่อบ้างนะครับ

วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วันอาสาฬหบูชา จากข่าวสด

วันอาสาฬหบูชา

คอลัมน์ธรรมะวันหยุด

พระเทพคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร,รองเจ้าคณะภาค 13



วัน อาสาฬหบูชา คือการบูชาพระรัตน ตรัยในวันเพ็ญเดือน 8 เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ เป็นวันที่พระอริยสงฆ์องค์แรก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ เกิดขึ้นในโลกเป็นวันที่พระ รัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกิดครบบริบูรณ์

พระพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาถึงธรรมที่ลึกซึ้ง ทรงน้อมพระหฤทัยในการแสดงธรรมสั่งสอนมหาชน ทรงดำริหาผู้สมควรรับฟังเทศนาครั้งแรก ระลึกถึงปัญจวัคคีย์ว่ามีอุปการะมาก ทั้งยังมีพื้นฐานทางปัญญาได้เคยปฏิบัติร่วมกันมาก่อน จึงเสด็จไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แล้วแสดงเทศนากัณฑ์แรก ประกาศความตรัสรู้ของพระองค์

สาระสำคัญพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกนี้ ทรงยกข้อปฏิบัติที่สุดโต่ง 2 อย่าง คือ

1.การหมกมุ่นพัวพันด้วยความสุขในกาม

2.การทรมานตนให้ลำบาก

ทั้ง สองทางนี้ ไม่ควรปฏิบัติ เพราะมีโทษมาก ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ซึ่งพระองค์ได้ลองปฏิบัติมาแล้ว แต่ไม่ได้ผลใดๆ ทรงแสดงทางสายกลาง คือ อริยมรรคมีองค์ 8 คือ

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คือเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คือดำริออกจากกาม ดำริไม่พยาบาท ดำริไม่เบียดเบียน

สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ

สัมมากัมมันตะ การงานชอบ คือเว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ และเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากการคดโกง หลอกลวง มีอาชีพที่ไม่ผิดกฎหมาย

สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ คือเพียรละความชั่ว เพียรทำความดี เพียรรักษาความดี

สัมมาสติ ระลึกชอบ คือตั้งสติพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เท่าทันตามที่เป็นจริง

สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ คือจิตตั้งมั่นแน่วแน่ในธรรมความดี

อริยมรรค 8 ประการนี้ เป็นข้อปฏิบัติ ที่ไม่หย่อน และไม่ตึงจนเกินไป เป็นสิ่งที่ควรประพฤติปฏิบัติเพื่อความเป็นอยู่อย่างพอดี พอเพียง และเป็นทางที่จะให้บรรลุธรรมต่อไป

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสายกลาง จะสามารถเจริญก้าวหน้าบรรลุธรรมได้ เปรียบเสมือนกับสายพิณที่ขึงหย่อนเกินไป ก็ดีดไม่ดัง ตึงเกินไป ดีดเข้าก็ขาด ขึงให้พอดีๆ จึงจะดีดดังไพเราะ และไม่ขาด

เมื่อจบพระธรรมเทศนา ท่านโกณฑัญญะได้เห็นธรรม ถึงความเป็นคนแกล้วกล้า ปราศจากความสงสัย มีความรู้เข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอนอย่างถ่องแท้ จึงทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุองค์แรกในพระพุทธศาสนา

สำหรับพุทธศาสนิกชน เมื่อวันสำคัญเช่นนี้มาถึง ควรปฏิบัติละเว้นความชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ทำบุญใส่บาตร ให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา เจริญจิตตภาวนา เวียนเทียนรอบพระอุโบสถ หรือสถานที่สำคัญภายในวัดใกล้บ้านของตน

วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จากข่าวสด

สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

คอลัมน์ คำพระ

พุทธทาส

"การ ดูด้วยตา ฟังด้วยหู ดมด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น สัมผัสทางผิวหนัง การรู้สึกด้วยจิตใจนี่จะต้องมีสติมาทันเวลาที่มีการกระทบ จะได้ไม่ต้องไปหลงรัก หลงเกลียด ให้เป็นทุกข์"

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พยาบาท จากข่าวสด

พยาบาท

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด

พยาบาท ได้แก่ เจตนาเป็นเหตุปองร้าย คือ การคิดกระทำให้ผู้อื่นประสบความพินาศ

พยาบาท หมายความว่า การยังประโยชน์สุขของผู้อื่นให้ถึงความพินาศไป การมุ่งร้ายต่อผู้อื่น คิดที่จะทำลายประโยชน์และความสุขของผู้อื่น หาวิธีการที่ทำให้ผู้อื่นเกิดความพินาศเสียหาย หรือนึกสาปแช่งให้ได้รับอันตรายต่างๆ ด้วยอำนาจของความโกรธแค้นที่เกิดขึ้นในใจ เช่น ให้ทรัพย์สมบัติของเขาเสื่อมเสียไปก็ดี ให้ชีวิตของเขา ทำลายไปก็ดี ชื่อว่าพยาบาท

ความคิดปองร้ายของผู้มุ่งจะทำร้ายชีวิตของสัตว์อื่น ตั้งแต่มดและยุง ไปจนถึงมนุษย์ว่า ขอให้สัตว์เหล่านี้จงพินาศ จงวิบัติ ทำอย่างไรหนอ สัตว์เหล่านี้ พึงพินาศ พึงวิบัติ ไม่พึงเจริญรุ่งเรือง ไม่พึงมีชีวิตอยู่ได้นาน ดังนี้ จัดเป็นกรรมบถ

ส่วนความโกรธที่ไม่ คิดป้องร้ายผู้อื่น เป็นเพียงกรรมเท่านั้น สมกับคำพระอรรถกถาจารย์ว่า แม้ความโกรธที่มีสัตว์อื่นเป็นเหตุเกิดขึ้น ก็ไม่ล่วงกรรมบถ ตราบใดที่ยังไม่คิดปองร้ายเขาว่า ทำอย่างไรหนอ ผู้นี้จะพึงพินาศตายไป

พยาบาท จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้ ต้องประกอบด้วยองค์ 2 คือ

1.มีสัตว์อื่น

2.คิด จะให้สัตว์นั้นถึงความพินาศ

พยาบาท มีโทษมาก เพราะเหตุ 4 ประการ คือ

1.ผู้ที่ถูกปองร้ายมีคุณมาก

2.ผู้ปองร้ายมีกิเลสรุนแรง

3.เพราะถึงความเป็นกรรมบถ

4.เพราะความพยายามรุนแรง

โทษ ของพยาบาท

การทำบาปที่ครบองค์ประกอบ 2 ประการนี้ จัดว่าเป็นอกุศลกรรมที่สมบูรณ์ ถ้าผลของการทำบาป คือ การคิดพยาบาทส่งผล เมื่อสิ้นชีวิตลงจะไปเกิดในอบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย หรือ เดรัจฉาน เรียกว่า บาปให้ผลในปฏิสนธิกาล (นำเกิด)

ถ้าตอนสิ้นชีวิตนึกถึงบุญ บุญนำเกิดเป็นมนุษย์ ผลของบาปที่ทำไว้นี้ก็จะตามมาให้ผลอีก ทำให้ ได้เห็น ได้ยิน ได้ สัมผัส ได้รับอารมณ์ ที่ไม่ดีไม่งาม ทำให้อายุสั้น เกิดโรคภัยเบียดเบียน จะตายด้วยการถูกประหาร มีผิวพรรณที่หยาบกร้าน เรียกว่า บาปให้ผลในปวัตติกาล (ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่)

ความพยาบาท นั้น นอกจากจะทำลายประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้ว ยังทำลายตัวเองอีกด้วย

ความ พยาบาทปองร้าย เป็นเหตุนำทุกข์ภยันตรายมาสู่ตนและคนอื่น ฉะนั้น จึงควรมีเมตตากรุณา รักใคร่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันดีกว่า เพื่อให้โลกของเราอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และพึ่งพาอาศัยกันได้ต่อไป

วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ศึกษา ขั้นตอน-ปฏิบัติธรรม จากข่าวสด

ศึกษา ขั้นตอน-ปฏิบัติธรรม

คอลัมน์ ศาลาวัด

ปัจจุบันมีผู้คน ให้ความสนใจปฏิบัติธรรมเจริญกัมมัฏฐานกันเยอะ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ขั้นตอน หรือวิธีการปฏิบัติตนก่อนที่จะปฏิบัติธรรมเจริญกัมมัฏฐานหรือปฏิบัติธรรมแบบ เข้มข้นเต็มรูปแบบ จะต้องมีขั้นตอนก่อนการปฏิบัติ ดังนี้

1.ขั้น เตรียมการ เริ่มจากการเตรียมหาโอกาส หาเวลาที่เหมาะสม หาสถานที่ที่เหมาะเท่าที่จะหาได้ เกี่ยวกับการหาสถานที่นั้น ถ้าจะปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นจริงจัง พึงหาสถานที่ที่สงบสงัด ไม่ให้มีเสียงและอารมณ์อื่นรบกวน เพื่อให้บรรยากาศแวดล้อมช่วยเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ

สำหรับผู้เริ่ม ปฏิบัติใหม่ๆ ควรมีการเตรียมร่างกาย ด้วยการนั่งสมาธิฝึกปฏิบัติธรรม เกี่ยวข้องกับลมหายใจ ดังนั้น อวัยวะที่เกี่ยวกับลมหายใจ คือ จมูกต้องอยู่ในสภาพที่โล่งโปร่ง หายใจสะดวก

กล่าวง่ายๆ คือ สภาพร่างกายไม่เป็นหวัดคัดจมูก มีน้ำมูกไหล เป็นต้น

2.เตรียมท่านั่ง อิริยาบถใดที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลายสบายที่สุด แม้ปฏิบัติอยู่นานๆ ก็ไม่เมื่อยล้า ทั้งช่วยให้การหายใจคล่องสะดวก ก็ใช้อิริยาบถนั้น อย่างไรก็ตาม อิริยาบถที่ได้ผลดีที่สุดตามหลักการนั้น คือ อิริยาบถนั่งในท่าที่เรียกว่า นั่งขัดสมาธิ

การนั่งขัดสมาธิ คือ ให้ร่างกายท่อนบนตั้งตรง กระดูกสันหลัง 18 ข้อมีปลายจรดกัน

ผู้ที่ ไม่เคยนั่งเช่นนี้ ในช่วงนั่งใหม่ๆ อาจนั่งบนเก้าอี้ให้ตัวตรงสบายก็ได้ หรืออยู่ในอิริยาบถอื่นที่สบายพอดี

3.อาหาร หมายถึงการรับประทานอาหารก่อนเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติ โดยควรเว้นอาหารที่ก่อให้เกิดความกำหนัด ความง่วงนอน ความมึนเมา หรือเป็นอาหารที่ย่อยยาก มีกลิ่นแรง และไม่ควรรับประทานมากเกินไป จนทำให้รู้สึกอึดอัดหรือรับประทานน้อยเกิน จนรู้สึกหิว ควรรับประทานแต่พอดี กะว่าอีกสามคำจะอิ่ม ให้หยุด ซึ่งเมื่อดื่มน้ำแล้ว จะทำให้อิ่มพอดี

4.สมาทาน ศีล หมายถึงการขอรับศีลจากพระภิกษุผู้ทรงศีลหรือตั้งจิตเจตนางดเว้นเอาเองก็ได้ การจะปฏิบัติกัมมัฏฐานได้ดีเห็นผลสำเร็จได้เร็วนั้น ผู้ปฏิบัติต้องสมาทานรักษาศีลหรือชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์ เพราะศีลถือเป็นรากฐานของสมาธิ เป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย

ศีล ที่ควรสมาทานนั้น สำหรับคฤหัสถ์ คือ ศีล 5 แต่ถ้าจะให้เข้มข้นเอาจริง เน้นผลของการปฏิบัติจริงๆ ก็ควรสมาทานศีล 8 (ในปัจจุบัน สำนักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่กำหนดให้สมาทานในพิธีการรับกัมมัฏฐาน)

5.ระลึก ถึงคุณของพระรัตนตรัย คือ ให้ประนมมือขึ้นแล้วตั้งจิตน้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ กำหนดนึกยึดเป็นที่พึ่งที่ระลึก ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและสร้างความผ่องใสให้แก่ใจ

6.แผ่เมตตา หมายถึงการแผ่ความปรารถนาดีไปยังมนุษย์และสัตว์ทุกจำพวก ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากศัตรูและจากการพยาบาทจองเวร การแผ่เมตตานี้ ทำได้ทั้งก่อนและหลังฝึก

วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วัน เข้าพรรษา (ข่าวสด)

วัน เข้าพรรษา

คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา

ใกล้ถึงวันเข้าพรรษา ประจำปีพุทธศักราช 2553 เป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา เป็นพุทธานุญาตที่กำหนด ให้พระภิกษุอธิษฐานอยู่ประจำที่ ไม่จาริกไปค้างแรมตามสถานที่ต่างๆ เป็นเวลา 3 เดือนในฤดูฝน คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เว้นแต่มีกิจจำเป็น

สำหรับในปี พ.ศ.2553 วันเข้าพรรษาจะตรงกับวันอังคารที่ 27 กรกฎาคม 2553

การอยู่จำพรรษา มี 2 ช่วง คือ

จำพรรษาต้น เรียกว่า ปุริมิกาวัสสูปนายิกา เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 รวม 3 เดือน ถ้าปีไหนเป็นอธิกมาส คือ เดือน 8 มี 2 เดือน ให้เลื่อนการจำพรรษาไปเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง

จำพรรษาหลัง เรียกว่า ปัจฉิมิกาวัสสูปนายิกา เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 แต่ประเทศไทยเราไม่นิยมการจำพรรษาหลัง

การ ที่พระภิกษุหยุดการเดินทางไม่ไปค้างแรมในสถานที่อื่น โดยอธิษฐานอยู่จำพรรษาตลอดเวลา 3 เดือน ณ สถานที่ใดที่ หนึ่ง เว้นแต่มีกิจจำเป็น ทำให้เกิดประโยชน์ต่อพุทธศาสนิกชนและสังคม คือ

1.พุทธ ศาสนิกชนได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนได้รับการอบรมสั่งสอนและฝึกกาย วาจา ใจ ตามหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ได้บำเพ็ญบุญกุศลและคุณความดี มากขึ้น

2.การ อยู่จำพรรษาตลอดเวลา 3 เดือน เป็นระยะเวลานานพอสำหรับพุทธศาสนิกชนที่ตั้งใจสร้างคุณงามความดีให้เกิดขึ้น ในตน จึงเป็นโอกาสที่จะได้เริ่มต้น ลด ละ เลิกอบายมุข มีผลทำให้สังคมเกิดความสงบสุขร่มเย็น

กิจจำเป็นที่พระพุทธเจ้าทรง อนุญาตให้พระภิกษุไปค้างคืนที่อื่นได้คราวละไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ถือว่าต้องอาบัติ เรียกว่า สัตตาหกรณียกิจ หรือเหตุพิเศษ 4 ประการ ได้แก่

1.เพื่อสหธรรมิก ทั้ง 5 คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร และสามเณรีป่วย หรือบิดามารดาป่วย ไปเพื่อจะพยาบาลไข้ได้

2.ไปเพื่อ จะยับยั้งเพื่อนสหธรรมิกที่อยากจะสึก มิให้สึกได้

3.ไปเพื่อกิจของ สงฆ์ เช่น หาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิ วิหาร ที่ชำรุดทรุดโทรม

4.ไปเพื่อ ฉลองศรัทธาของทายกที่เขาส่งตัวแทนมานิมนต์ ไปร่วมงานบำเพ็ญบุญหรือด้วยเหตุอื่นๆ ที่อนุโลมเข้ากับข้อใดข้อหนึ่งได้

วัน เข้าพรรษาและช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเช่นนี้ สังคมไทยได้นำมาประยุกต์ให้เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงพฤติกรรม ลด ละ เลิกอบายมุข เช่น การงดเหล้า บุหรี่ จนเกิดโครงการต่างๆ อาทิ โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา

ผู้งดเว้นจากบาปความชั่วและอบายมุขต่างๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็ไม่ควรกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก

มารทั้ง 5(ข่าวสด)

มาร แปลว่า ผู้ฆ่าให้ตาย ในพระพุทธศาสนา หมายถึง ผู้ฆ่าเหล่าสัตว์ให้ตายจากคุณธรรมความดี คือ สิ่งหรือตัวการที่คอยฆ่า คอยล้างผลาญ คอยกำจัดหรือคอยขัดขวางบุคคลมิให้บรรลุคุณธรรมความดีหรือผลสำเร็จอันดีงาม จำแนกมารไว้ 5 ประเภท คือ

1.ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ ได้แก่ร่างกายที่ประกอบด้วยขันธ์ 5 ซึ่งอ่อนแอพ่ายแพ้ต่อการบำเพ็ญความดี

2.มัจจุราช มารคือมัจจุราช ได้แก่มรณะ คือ ความตายที่ทุกคนต้องประสบ ซึ่งเข้ามาตัดรอนการทำความดีของคนเรา

3.กิเลสมาร มารคือกิเลส ได้แก่กิเลส คือ ความเศร้าหมองที่เกิดกับจิต ซึ่งคอยรบกวนขัดขวางจิตไม่ให้กระทำความดีหรือก้าวหน้าในการที่จะบรรลุ คุณธรรมความดีตลอดเวลา

4.อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขารมาร ได้แก่สภาพที่ปรุงแต่งจิตในทางอกุศลให้ยิ่งขึ้นกว่าปกติ และนำให้เกิดชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น ซึ่งขัดขวางมิให้หลุดพ้นไปจากสังสารทุกข์ (ความทุกข์ในการเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ)

5.เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร ได้แก่เทพยิ่งใหญ่ระดับสูงสุดแห่งสวรรค์ชั้นกามาวจรตนหนึ่ง มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น กัณหมาร มารใจดำ อธิปติมาร มารผู้ยิ่งใหญ่วสวัตติมาร มารผู้ครอบงำให้อยู่ในอำนาจ หรือท้าววสวัตตี ผู้คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งเหล่าสัตว์ผู้มุ่งสัมมาปฏิบัติไว้มิให้ล่วงพ้นจาก แดนอำนาจครอบงำของตน โดยชักให้ห่วงพะวงอยู่ในกามสุข ไม่ให้หาญเสียสละออกไปบำเพ็ญคุณความดีที่ยิ่งใหญ่ได้

ความ ดีไม่มีขาย(ข่าวสด)

ความ ดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด

พระพุทธเจ้า ตรัสว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" นี้เป็นกฎความจริงธรรมดาที่จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

มีผู้ คิดอย่างคนพาลว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป คนที่พูดอย่างนี้ เพราะเขาทำความดีไม่เป็น ไม่เข้าใจว่าการทำความดีนั้นจะต้องทำให้ ถูกดี ถึงดี และ พอดี

ถูกดี ก็คือ ทำดีให้ถูกกาลเทศะให้ถูกจังหวะ และพอเหมาะพอสม

ถึงดี ก็คือ ทำดียังไม่ทันถึงดี ก็เบื่อหน่ายเกียจคร้านเลิกทำดีเสียแล้ว

พอดี ก็คือ บางคนทำดีเกินพอดี ล้ำหน้าเพื่อนฝูงเอาเด่นเอาดังเพียงคนเดียว อย่างนี้จะดีได้อย่างไร

การทำความดีนั้น นอกจากจะต้องรู้กาลเทศะ และโอกาสที่เหมาะสมแล้ว ยังจะต้องดูความเกี่ยวข้องกับบุคคลกับกลุ่มคนกับสังคมด้วย การวางตัวดีตามความเหมาะสมต้องไม่มีลักษณะอันใดส่อให้เห็นว่า ออกจะประเจิดประเจ้อมากไป เสนอหน้ามากไปหน่อย เรื่องของการทำความดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถ้าเกินๆ เลยๆ ไปก็ไม่ดี เพราะในสังคมคนธรรมดา มีคนบางพวกพร้อมที่จะทำลาย พร้อมที่จะคอยจับผิดอยู่ อย่างคำที่ท่านว่า

"อัน ที่จริงคนเขาอยากให้เราดี

แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้

จง ทำดีแต่อย่าเด่น จะเป็นภัย

ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน"

เรื่อง กฎของกรรมตามที่กล่าวมาแล้วว่า "ใครทำกรรมอันใด ไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม จะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น" เพราะอะไร ก็เพราะว่าทำความดีมันจะดูดดีเข้ามา ทำความชั่วมันก็จะดูดชั่วเข้ามาเช่นกัน เรียกว่า ดีดูดดี ชั่วดูดชั่ว เราทำแต่ความดีมีความซื่อสัตย์สุจริตขยันขันแข็งในการทำงาน ไปทำงานที่ไหน บริษัทห้างร้านไหนก็ยินดีรับเข้าทำงานทั้งนั้น นี่คือ ดีดูดดี ดูดทั้งงาน ดูดทั้งเงิน ดูดเจ้านายผู้บังคับบัญชาให้มารักใคร่เอ็นดู อันเป็นผลของการทำความดีนั่นเอง

ในทางตรงกันข้าม คนที่สร้างความชั่วไว้มากๆ ก็เป็นแรงดึงดูดเหมือนกัน แต่มันดูดเอาสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาให้มาทำลายตน เช่น ดูดเอาความเกลียดชัง ดูดเอาโทษทัณฑ์ ดูดเอาคุกตะราง เป็นต้น บางคนที่ร้ายมากๆ สามารถดูดเอาตำรวจทั้งโรงพักให้วิ่งตามไปจับ ไปทำลายก็มี นี่คือ ชั่วดูดชั่ว ซึ่งเป็นผลของการทำความชั่ว

ดังนั้น เราทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม จงเชื่อเถิดว่า ถ้าได้กระทำความชั่วแล้วจะไม่ได้รับผลชั่วที่เป็นบาปเป็นทุกข์นั้นเป็นไปไม่ ได้ จะต้องได้รับแน่ๆ เร็วหรือช้าเท่านั้น ถึงแม้ชาตินี้ผลกรรมชั่วยังไม่ให้ผลก็จะต้องได้รับในชาติต่อๆ ไปอย่างแน่นอน

เพราะ ฉะนั้น ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มทำความดี ถ้าได้ประพฤติปฏิบัติโดยสม่ำเสมอจนเป็นปกตินิสัยแล้ว นั่นก็คือเราได้พัฒนาจิตของเราให้สูงขึ้น เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ และจะเป็นคนดีได้ตลอดไปด้วย