วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

มีศิลปะ มีวินัยดี khaosod

มีศิลปะ มีวินัยดี

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ศิลปะ คือ สิ่งที่แสดงออกถึงความงดงาม และมีสุนทรียภาพ



อยากเป็นคนมีศิลปะ ควรฝึกให้มีคุณสมบัติ เช่น มีความรักและศรัทธาในความงดงามของสิ่งต่างๆ หมั่นสังเกตพิจารณา มีความประณีต มีอารมณ์ละเอียดอ่อน มีความคิดสร้างสรรค์



งานที่ทำแล้วจัดว่าเป็นศิลปะ ต้องเป็นงานที่ทำด้วยความประณีต ทำให้สิ่งของต่างๆ มีคุณค่าสูงขึ้น ทำแล้วส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ทำแล้วให้เกิดความน่าเลื่อมใสศรัทธา ไม่ทำให้เกิดกิเลสเกิดกามราคะ ไม่ทำให้เกิดความคิดพยาบาททำลายล้างผลาญ



คุณสมบัติของผู้มีศิลปะ ต้องมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่จะทำ ว่าเป็นสิ่งดี มีประโยชน์จริง มีใจรักที่จะทำและตั้งใจว่า จะต้องทำให้สำเร็จ อย่าเป็นคนโอ้อวด เพราะไม่มีใครอยากสอน ไม่มีใครอยากแนะนำ อย่าเป็นคนเกียจคร้าน ให้มีความเพียรพยายาม อดทน รู้จักสังเกตและพิจารณา



การมีศิลปะ ย่อมทำให้มีความสามารถมากกว่าผู้อื่น สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เป็นคนฉลาด ช่างสังเกต มีปฏิภาณไหวพริบดี ทำให้เป็นคนมั่งคั่งสมบูรณ์ ได้รับความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า ทำให้โลกเจริญทั้งด้านวัตถุและทางด้านจิตใจ



วินัย คือ ข้อกำหนด ข้อบังคับ กฎเกณฑ์เพื่อควบคุมให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยนั่นเอง มีทั้งวินัยของพระภิกษุสงฆ์และ ของฆราวาสคนทั่วไป



สำหรับของพระภิกษุสงฆ์ มีการรักษาสิกขาบทอย่างเคร่งครัดตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ในพระปาฏิโมกข์



มีการสำรวมอายตนะทั้ง 6 ระมัดระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไว้ ไม่ให้หลงเพลิดเพลินติดกับอารมณ์ที่มาสัมผัส กับอายตนะเหล่านั้น จนก่อให้เกิดกิเลสขึ้น



มีการหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ ที่ทรงอนุญาต คือการเที่ยวบิณฑบาต แสดงธรรม เที่ยวไปโดยอาการสำรวม ไม่หาเลี้ยงชีพโดยทางที่ไม่ชอบ ไม่เหมาะสมแก่สมณเพศ



มีการพิจารณาในสิ่งของ ให้รู้ถึงคุณประโยชน์ของสิ่งของ เหล่านั้นอย่างแท้จริง โดยใช้เพื่อบริโภค เพื่อประโยชน์ความอยู่รอด และความเป็นไปของชีวิตเท่านั้น



ส่วนวินัยของบุคคลทั่วไป มีการละเว้นจากอกุศลกรรมบถ 10 ประการ คือ ไม่ฆ่าชีวิตคน หรือสัตว์ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ไม่ลักทรัพย์ สิ่งของผู้อื่นมาเป็นของตัว ไม่ประพฤติผิดในกาม ข่มขืนกระทำชำเรา ไม่พูดโกหกหลอกลวงให้หลงเชื่อ ไม่พูดส่อเสียดนินทาว่าร้าย ไม่พูดจาหยาบคายให้เป็นที่แสลงหูคนอื่น ไม่พูดจาเพ้อเจ้อไร้สารประโยชน์ ไม่คิดอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตนเอง ไม่คิดร้ายผูกใจเจ็บแค้น คนอื่น ไม่เห็นผิดเป็นชอบ เช่น เห็นว่าบาปหรือบุญ ไม่มีจริง



การมีวินัย เป็นบ่อเกิดแห่งโภคสมบัติและทำให้สามารถ ใช้ทรัพย์ได้เต็มที่ ไม่ต้องระแวงว่าจะมีใครมาทวงคืน มีชีวิตอยู่เป็นสุข เกียรติคุณย่อมฟุ้งขจรไป เป็นคนเชื่อได้ แกล้วกล้าอาจหาญในท่ามกลางชุมชน เป็นคนไม่หลงลืมสติ ตายแล้วย่อมไปเกิดในสวรรค์ มีสุคติเป็นที่ไป



ถ้าเราต้องการก้าวไปสู่ความดีความก้าวหน้า ต้องการความบริสุทธิ์กระจ่างแจ้ง ต้องการยกฐานะให้สูงขึ้น จึงควรรักษาวินัย ผู้มีวินัยดี คือ ผู้ที่รักษาวินัยอย่างถูกต้องและเคร่งครัดนั่นเอง

วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2556

อยู่ในถิ่นที่สมควร khaosod

อยู่ในถิ่นที่สมควร

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร www.watdevaraj.com


การอยู่ในถิ่นที่สมควร ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมเป็นที่สบาย คือ อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึง อยู่แล้วสบาย เช่น การเดินทางไปมาสะดวก ไม่มีภัยอันตราย สะอาด อากาศดี

อาหารเป็นที่สบาย หมายถึง อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เช่น มีแหล่งอาหารที่แสวงหามาได้ง่าย และสามารถจัดซื้อหามาได้ง่าย เป็นแหล่งชุมชน ไม่มีแหล่งอบายมุข

บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึง ถิ่นที่มีคนดี จิตใจโอบอ้อมอารี พึ่งพาอาศัยกันได้ มีศีลธรรมไม่มีโจรผู้ร้าย นักเลงอันธพาล หรือใกล้แหล่งอิทธิพลผู้มีความเห็นผิดคิดผิด

ธรรมะเป็นที่สบาย หมายถึง มีที่พึงทางใจคือธรรมะ มีวัด สถานที่ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม มีโรงเรียน หรือแหล่งศึกษาหาความรู้ อยู่ในละแวกนั้น

วิธีทำบ้านให้น่าอยู่ ดูแลบ้านให้สะอาด เป็นระเบียบ มีทางถ่ายเทอากาศได้สะดวก เลือกซื้อเลือกทำอาหารให้ถูกหลักอนามัย จูงใจคนในบ้านให้มีความเคารพเชื่อฟังซึ่งกันและกัน ละเว้นอบายมุข มีความขยันหมั่นเพียร มีน้ำใจต่อกัน โดยเริ่มปรับปรุงที่ตัวเราเองให้ดีก่อน แล้วจึงชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม

ชักนำกันไปวัดทำบุญ รักษาศีล ฟังเทศน์ ฝึกสมาธิจิต เป็นประจำ จัดบ้านให้มีอุปกรณ์เครื่องส่งเสริมทางใจ เช่น มีห้องพระหรือหิ้งพระ มีหนังสือธรรมะ เป็นต้น แล้วชักชวนกันให้ไหว้พระสวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนาที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ

การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม ได้รับความสุขกายสุขใจเต็มที่ มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม มีโอกาสบำเพ็ญบุญเต็มที่ ทั้งทาน ศีล ภาวนา

ได้ลาภอันประเสริฐ คือ ได้ความศรัทธาในพระรัตนตรัย

ได้ฟังพระธรรมอันประเสริฐ คือ ได้ฟังคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้า

ได้เห็นอย่างประเสริฐ คือ ได้เห็นพระรัตนตรัย

ได้รู้พระสัทธรรมอันประเสริฐ คือ ได้ศึกษาธรรมะ

ได้การศึกษาอย่างประเสริฐ คือ ได้ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา

ได้การบำรุงอันประเสริฐ คือ ได้บำรุงพระพุทธศาสนา

ได้ระลึกถึงอย่างประเสริฐ คือ มีใจระลึกถึงพระรัตนตรัย ไม่ประมาทด้วยการปฏิบัติธรรม

ได้ที่พึ่งอันประเสริฐสูงสุด คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ได้อริยทรัพย์อันประเสริฐ เป็นหนทางดำเนินไปสู่พระนิพพาน

ผู้ที่อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมเหมาะสม เพื่อประกอบสัมมาชีพตามความถนัดของแต่ละบุคคลได้อย่างสะดวกสบาย เป็นบ้านเมืองที่สงบเรียบร้อย ปราศจากภัยพิบัติอันตราย เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน การคมนาคมไปมาสะดวก เป็นประเทศเป็นที่ประดิษฐานมั่นคงแห่งคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผู้มีความมุ่งหมายจะประกอบอาชีพทางใด ก็สามารถดำเนินชีวิตให้เป็นไปทางนั้นตามความประสงค์

คนที่ควรบูชา khaosod

คนที่ควรบูชา

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


การบูชา คือ การแสดงความเคารพต่อบุคคลที่เรานับถือ ยกย่อง เลื่อมใสศรัทธา

การบูชา มี 2 ประเภท คือ

1.อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยสิ่งของ เช่น การให้เงินหรือมอบวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่สมควรให้แก่มารดาบิดา เป็นต้น หรือนำดอกไม้ ธูปเทียนของหอมไปบูชาพระรัตนตรัย

2.ปฏิบัติบูชา คือ การบูชาด้วยการปฏิบัติดูแลมารดาบิดาผู้มีพระคุณทั้งหลาย รักษาศีล ปฏิบัติพระกรรมฐาน เจริญสมาธิภาวนา ฝึกจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน มีปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรมตามสภาพความเป็นจริง ละความโลภ โกรธ หลงได้อย่างสิ้นเชิง

บุคคลที่ควรเคารพบูชา มีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า (พระอรหันต์ที่ตรัสรู้เฉพาะตนเอง สั่งสอนธรรมให้แก่ผู้อื่นไม่ได้ เกิดขึ้นในสมัยที่ว่างจากพระพุทธศาสนา) พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า พระมหากษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม มารดาบิดา ครูอาจารย์ ที่มีความรู้ดี มีความสามารถ หรือผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติดี ตั้งอยู่ในคุณธรรม

วิธีการบูชาที่ใช้กันมากคือการกราบไหว้ ซึ่งผู้ที่กราบนั้นต้องศึกษามีความรู้ความเข้าใจเสียก่อน ไม่ใช่เห็นเขากราบก็กราบตาม เห็นเขาไหว้ก็ไหว้ตาม โดยที่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริง การกราบอย่างนี้ได้ประโยชน์น้อย เมื่อยมือเปล่าๆ เช่น กราบพระแล้วขอในสิ่งไม่สมควรจะขอ อย่างนี้เรียกว่ากราบอย่างงมงาย

การกราบพระต้องยึดถือเอาหลักพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์มาเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตาม เช่น

กราบครั้งที่ 1 ระลึกถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้าที่ทรงมีปัญญามาก สามารถพิจารณาเห็นทุกข์ และคิดค้นหาวิธีการดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้เพราะพระองค์ได้ทรงศึกษาพระธรรมและฝึกฝนอบรมจิตมาอย่างดี จึงมีใจใสสว่าง สามารถตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณได้ ไม่มีอาสวะกิเลส

กราบครั้งที่ 2 ระลึกถึงพระบริสุทธิคุณของพระองค์ ที่ทรงมีความบริสุทธิ์ทั้งทางกาย วาจา และใจ เพราะพระองค์ทรงรักษาศีลมาอย่างบริบูรณ์ ไม่เคยให้ร้ายแก่ใคร เป็นตัวอย่างในการรักษาศีลได้เป็นอย่างดี

กราบครั้งที่ 3 ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงเทศนาสั่งสอนผู้คนทั้งหลาย โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก เพราะพระองค์ทรงบำเพ็ญทาน และช่วยเหลือสัตว์โลกมานับภพไม่ถ้วนจึงมีความเมตตากรุณาเป็นเลิศ

การบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นการทำความเห็นถูกที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และทำความเห็นถูกที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น ทำให้มีกิริยามารยาทสุภาพอ่อนโยน น่ารักน่านับถือ ทำให้จิตใจผ่องใส เพราะระลึกถึงกุศลธรรมอยู่เสมอ

ทำให้สติปัญญาบริบูรณ์ขึ้น เพราะมีความสำรวมระวัง เป็นการป้องกันความประมาท ช่วยป้องกันความลืมตัวความหลงผิดได้ เพราะระลึกอยู่เสมอว่า ผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่าตนยังมีอยู่ ทำให้เกิดมีกำลังใจมีศรัทธามากขึ้น สามารถคุ้มครองป้องกันตนให้พ้นจากอุปสรรคและภัยต่างๆ จากเหล่าคนพาลได้