วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ข้อเสียของการดื่มสุรา khaosod


ข้อเสียของการดื่มสุรา

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


คนที่ชอบดื่มสุราเป็นประจำ ทำให้ไม่สามารถครองเรือนได้ เพราะการดื่มสุราเป็นเหตุให้เกิดทุกข์มากมาย ในทางพระพุทธศาสนากล่าวโทษการดื่มสุราไว้ 6 ประการ คือ

1. เป็นเหตุให้เสียทรัพย์ทันตาเห็น เรียกว่า หมดทรัพย์ไปโดยไม่จำเป็น คนที่ดื่มสุราโดยมากจะดื่มเพียงคนเดียว ไม่ได้ดื่มทั้งครอบครัว แต่คนที่เดือดร้อนไปด้วยก็คือครอบครัว ส่วนทรัพย์ที่หามาได้ก็ร่วมกันหาทั้งครอบครัว แต่พอนำไปใช้ในการดื่มสุรา ย่อมนำไปใช้เพียงคนเดียว ทำให้ครอบครัวต้องอดอยากไปด้วย และบางรายก็ทำให้เสียทรัพย์มากขึ้น คือ ดื่มสุราอย่างไม่รู้ประมาณ



2. เป็นเหตุให้ก่อการทะเลาะวิวาทกัน คือ สุราเป็นของย้อมใจของผู้ดื่มให้กล้าและหน้าด้าน ไม่ให้กลัวในสิ่งที่ควรกลัว แม้แต่สิ่งที่ตนเคยกลัว พอเมาแล้วกลับไม่กลัว ความไม่กลัวนี่แหละเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาท เพราะต่างคนต่างก็ไม่กลัวกัน เมื่อเริ่มทะเลาะกันทางวาจา แล้วก็จะลุกลามถึงกับทำร้ายร่างกายกัน แล้วแต่ว่าในขณะนั้นใครมีอาวุธอะไร สุดท้ายก็บาดเจ็บล้มตาย หรือไม่ก็พิการติดคุกติดตะรางและที่สุดก็เดือดร้อนครอบครัว



3. เป็นบ่อเกิดแห่งโรคต่างๆ คือ สุราทำให้เกิดโรคมากมาย ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยตรงก็คือโรคตับแข็ง โรคพิษสุราเรื้อรังทำให้เสียชีวิตเร็วกว่าที่ควรจะเป็น และโรคโดยอ้อม ก็คือ โรคที่เกิดจากเมื่อเมาสุราแล้วก็เกิดความประมาท ไม่ได้ระวังป้องกัน ทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย



4. เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียงหรือถูกติเตียน คือผู้ที่ดื่มสุราจนเมาแล้วควบคุมตัวเองไม่ได้ จะทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น ทำร้ายคนอื่น ทำร้ายลูกเมีย หรือหนักมากถึงกับทำร้ายพ่อแม่ของตน หรือทำ พูด คิดในสิ่งที่ตนเองไม่ควรทำ ไม่ควรพูด ไม่ควรคิด ชื่อเสียงที่ตนเองเคยทำ หรือพ่อแม่ทำไว้ ก็จะเสียหายไปหมด



5. เป็นเหตุให้หมดความอาย คือ ผู้ที่เมาเพราะการดื่มสุราไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง จะเป็นเหมือนกันก็คือไม่รู้จักอาย กล้าแม้กระทั่งเปิดอวัยวะที่ควรปกปิดของตนเองให้ผู้อื่นดู หรือเปิดเผยความลับที่น่าอับอายของตนเองให้คนอื่นรู้ ยิ่งเป็นหญิง ยิ่งน่าอับอายยิ่งนัก



6. เป็นเหตุให้บั่นทอนปัญญา คือ ปัญญาของคนเราจะใช้ได้ดีก็ต่อเมื่อทั้งกายและใจเป็นปกติ เมื่อดื่มสุราเข้าไปจนเมาแล้วก็ควบคุมตัวไม่ได้ ปัญญาก็จะไม่ได้ถูกใช้ จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็หมดปัญญา ให้เก่งแค่ไหนเมื่อเจอพิษสุราเข้าไปแล้วก็เอาตัวไม่รอด



เพราะฉะนั้น โทษของการดื่มสุรามีมากมายขนาดไหน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า น้ำเปลี่ยนนิสัยคน คือ ทำคนปกติให้เป็นคนผิดปกติ ทำคนนิสัยดีให้เป็นคนนิสัยเสีย จากคนดีเป็นคนใจดำ จากคนใจสูง เป็นคนใจต่ำ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาเหล่านั้นจึงไม่สามารถครองเรือนครองชีพตนเองได้



ผู้หวังความเจริญจึงไม่ควรดื่มสุราอันเป็นเหตุแห่งความเสื่อม จนทำให้ตนเสื่อมและเสียในสิ่งที่ควรได้ และในที่สุดก็ไม่อาจที่จะครองเรือนครองชีพให้เป็นสุขได้

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ข้อไม่ควรประพฤติ khaosod

ข้อที่ไม่ควรประพฤติ

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร/ www.watdevaraj.com


ผู้หวังความเจริญ ควรประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปในทางที่ชอบ มีปัญญาพิจารณาว่า อะไรเป็นทางเสื่อมก็พึงละเว้น มุ่งหาแต่ทางที่เจริญ ทางที่ชอบประกอบด้วยประโยชน์ มีสติสัมปชัญญะ ตรวจตราให้รอบคอบประกอบด้วยเหตุผล ทำความเห็นให้เที่ยงตรง ทำความประพฤติปฏิบัติให้เป็นเครื่องนำประโยชน์มาให้แก่ตนและผู้อื่น ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใดกล่าวล่วงเกินว่า เป็นผู้บกพร่องในความประพฤติ



พระพุทธเจ้าทรงแสดงข้อที่ไม่ควรประพฤติ 2 ประการ คือ



ประการที่ 1 ไม่พึงเสพธรรมอันเลว ธรรมที่เลวในปัจจุบันนี้มีมากมาย เช่น ทุจริต 3 ประการ คือ ประพฤติชั่วทางกาย ประพฤติชั่วทางวาจา และประพฤติชั่วทางใจ



ประพฤติชั่วทางกาย แบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ เบียดเบียนชีวิตและความสุขของผู้อื่น เบียด เบียนเอาทรัพย์สมบัติ เบียดเบียนเชื้อสาย สกุลวงศ์



ประพฤติชั่วทางวาจา แบ่งออกเป็น 4 ประการ คือ กล่าวเท็จหักราญประโยชน์ผู้อื่น พูดทำลายความสามัคคี กล่าวคำเสียดสีให้ช้ำใจ กล่าวคำเหลวไหลไม่เป็นประโยชน์



ประพฤติชั่วทางใจ แบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ อยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ผูกใจเจ็บอาฆาตพยาบาทจองล้างจองผลาญ เห็นทางที่ผิดคิดว่าชอบว่าถูกต้อง



ประการที่ 2 ธรรมของคนพาล จัดว่าเป็นธรรมที่เลว เพราะเป็นธรรมของคนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่ประกอบด้วยปัญญาวิจารณญาณที่หยั่งรู้ถึงความผิดชอบชั่วดี เช่น



ความไม่รู้จักเหตุ ว่าเหตุนี้เป็นทางนำไปสู่สุข เหตุนี้เป็นทางนำไปสู่ทุกข์



ความไม่รู้จักผล เห็นตนว่ามีค่ากว่าฐานะที่เป็นอยู่



ความไม่รู้จักตน ไม่รู้จักสถานภาพของตนเองในด้านความรู้ความสามารถและคุณธรรม



ความไม่รู้จักประมาณในการแสวงหาหรือบริโภคใช้สอยทรัพย์สมบัติ



ความไม่รู้จักกาละที่จะประกอบกิจให้เหมาะสมกับกาลสมัย



ความไม่รู้จักประชุมชนซึ่งตนเองจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง



ความไม่รู้จักเลือกคบหาสมาคมแต่คนดี



เมื่อรู้ข้อที่ไม่รู้ควรประพฤติ 2 ประการนี้แล้ว จึงทรงแสดงข้อที่ควรประพฤติ 2 ประการ คือ



ประการที่ 1 ควรประพฤติธรรมที่ดี ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุขทั้งแก่ตนและผู้อื่น ได้แก่ สุจริต คือ ความประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ



ประการที่ 2 ควรประพฤติธรรมที่คนดีประพฤติกัน เรียกว่า สัปปุริสธรรม ได้แก่ ความเป็นผู้รู้จักเหตุ ความเป็นผู้รู้จักผล ความเป็นผู้รู้จักตน ความเป็นผู้รู้จักประมาณ ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชนบริษัทที่เกี่ยวข้อง ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบหาสมาคมแต่คนดี



ด้วยเหตุนี้ ผู้หวังความสุขความเจริญก้าว หน้าในชีวิต พึงหลีกเลี่ยงข้อที่ไม่ควรประพฤติ เลือกปฏิบัติแต่ข้อที่ควรประพฤติ

คุณสมบัติของคนดี ( สัปปุริสธรรม 7 )



คุณสมบัติของคนดี ( สัปปุริสธรรม 7 )


ธรรมของสัตบุรุษ , ธรรมที่ทำให้เกิดสัตบุรุษ , คุณสมบัติของคนดี , ธรรมของผู้ดี
ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ ( ธัมมัญญุตา) คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฏเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการหรือบรรลุจุดหมายอันนั้นๆ เป็นต้น
ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือรู้จักผล (อัตถัญญุตา) คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำ หรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้าง ดังนี้เป็นต้น
ความรู้จักตน (อัตตัญญุตา) คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสมและรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป
ความรู้จักประมาณ ( มัตตัญญุตา) คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น
ความรู้จักกาล ( กาลัญญุตา) คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่ควรหรือจะต้องใช้ในการประกอบกิจ ทำหน้าที่การงาน หรือ ปฏิบัติการต่างๆ เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลาให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น
ความรู้จักบริษัท (ปริสัญญุตา) คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น
ความรู้จักบุคคล ( ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา) คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้จักจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่คบ จะใช้ จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น

ภิกษุผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ข้อนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสังฆคุณครบ 9 แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระเจ้าพรรดิ ก็ทรงประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ (ท่านแสดงไว้เฉพาะข้อหลัก 5 ข้อ คือ ข้อ 1 , 2 , 4 , 5 , 6) จึงทรงยังธรรมจักรและอาณาจักรให้เป็นไปด้วยดี

ธรรมของสัตบุรุษ , ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ , คุณสมบัติของคนดี ( สัปปุริสธรรม 8)

ประกอบด้วยสัทธรรม 7 ประการ ( สทฺธมฺมสมนฺนาคโต)
ก. มีศรัทธา
ข. มีหิริ
ค. มีโอตตัปปะ
ง. เป็นพหูสูต
จ. มีความเพียรอันปรารภแล้ว
ฉ. มีสติมั่นคง
ช. มีปัญญา
ภักดีสัตบุรษ (สปฺปุริสภตฺตี ) คือ คบหาสมณพราหมณ์ ท่านผู้ประกอบด้วยสัทธรรม 7 ประการข้างต้น เป็นมิตรสหาย
คิดอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสจินฺตี) คือ จะคิดสิ่งใด ก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสมนฺตี ) คือ จะปรึกษาการใด ก็ไม่ปรึกษาเพื่อเบียดเบียดตนและผู้อื่น
พูดอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสวาโจ) คือ พูดแต่คำที่ถูกต้องตามวจีสุจริต 4
ทำอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสกมฺมนฺโต) คือ ทำการที่ถูกต้องตามกายสุจริต 3
มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสทิฏฺฐี ) คือ มีสัมมาทิฏฐิ เช่นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
ให้ทานอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสทานํ เทติ ) คือ ให้ตามหลักสัปปุริสทาน เช่นให้โดยอื้อเฟื้อทั้งแก่ของที่ตัวให้ ทั้งแก่ผู้รับทาน ให้ของบริสุทธิ์ ให้โดยเข้าใจถึงผลที่จะมีตามมา เป็นต้น

บางที่เรียกว่า สปฺปุริสธรรม 7 เพราะนับเฉพาะสัทธรรม 7 ในข้อ 1


ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ผู้แต่ง พระธรรมปิฎก สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2546 หน้า 210-219

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กำลังความเชื่อ khaosod


กำลังความเชื่อ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


กําลังความเชื่อในเรื่องใด สิ่งใด หรือการกระทำใดๆ ถ้าเกิดขาดความเชื่อมั่น หรือไม่มั่นใจแล้ว ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ยากที่จะทำสิ่งนั้นๆ งานนั้นๆ ให้ลุล่วงไปได้



ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างหลักให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวของใจ ให้ใจมั่นคง ให้เกิดความเชื่อมั่น เชื่อถือในสิ่งนั้นๆ ในงานนั้นๆ ที่จะทำ เช่น นักเรียนเชื่อมั่นในสถาบันการศึกษาของตนว่ามีคุณภาพดี สามารถให้การศึกษาที่เหมาะสม ทัดเทียม หรือดีกว่าสถาบันอื่นๆ ก็ทำให้นักเรียนมีกำลังผลักดันให้ตั้งใจเรียนและเรียนจบได้ง่าย



หรือข้าราชการเชื่อมั่นว่า หน่วยงานของตนมั่นคง และเปิดโอกาสให้ตนมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ก็ทำให้เขามีกำลังที่จะทำงานให้สำเร็จโดยเรียบร้อย



หรือศาสนิกชน เชื่อในศาสดา และคำสอนว่า สามารถช่วยให้พ้นทุกข์ มีความสุขได้จริง ก็ทำให้มีกำลังที่จะปฏิบัติตามอย่างเต็มที่



กำลังความเชื่อเช่นนี้ เกิดจากการมองเห็นคุณค่าบุคคล หรือสิ่งที่ตนเชื่อถือ ถ้าเรามองเห็นคุณค่าของใคร หรือสิ่งใด เราก็เชื่อมั่นในบุคคลนั้น ในสิ่งนั้น เช่น พุทธศาสนิกชนพิจารณาเห็นพระคุณของพระพุทธเจ้า ว่าทรงเพียบพร้อมด้วยพระคุณ 3 ประการ คือ



1. พระปัญญาคุณ คือ พระองค์ตรัสรู้อริยสัจธรรมอย่างถูกต้องด้วยพระองค์เอง ทรงสมบูรณ์ด้วยความรู้ ความประพฤติที่ดีงาม ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง คือ ทรงรู้ทั้งภูมิประเทศอย่างทะลุปรุโปร่ง ทรงรู้ถึงหมู่สัตว์ทุกจำพวก และทรงรู้เหตุผลที่ปรุงแต่งให้หมู่สัตว์มีอัธยาศัยแตกต่างกัน



2. พระบริสุทธิคุณ คือ พระองค์ทรงบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสความเศร้าหมองทุกประการ ไม่มีทุจริตทางกาย วาจา ใจ ที่จะต้องปิดบังซ่อนเร้น แม้เพียงเล็กน้อย ทำให้พระองค์เป็นผู้ควรแก่การบูชาของเทวดาและมนุษย์อย่างแท้จริง



3. พระมหากรุณาคุณ คือ พระองค์ เมื่อทรงบรรลุธรรม เป็นเหตุให้ทรงหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง สามารถที่จะเสวยวิมุตติสุขตามลำพังได้ แต่ทรงอาศัยพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงลำบากพระวรกาย เสด็จเที่ยวไปในถิ่นต่างๆ เพื่อทรงแสดงธรรมอันงดงามแก่หมู่สัตว์ ให้ได้ดื่มรสแห่งอมตธรรม หรือให้ได้ประโยชน์ในปัจจุบันบ้าง อนาคตบ้าง ตามสมควร พระองค์ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนา ให้เป็นมรดกล้ำค่าของมวลมนุษย์สืบมาจนทุกวันนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ผู้เป็นพระบรมครูของเราทั้งหลาย



เมื่อเราเชื่อมั่นในพระองค์และการตรัสรู้ของพระองค์ ก็ทำให้เราเชื่อถือในสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์ทรงสอนในเรื่องการกระทำ ทางกาย วาจา ใจ ที่เรียกว่ากรรม เมื่อบุคคลกระทำกรรมใด จะดีหรือชั่วก็ตาม เขาจะต้องได้รับผลการกระทำนั้นอย่างแน่นอน และกรรมนี้ ย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวทราม หรือประณีตดีงาม ผู้กระทำกรรมดีย่อมได้รับผลดีที่น่าปรารถนา น่าพอใจ ส่วนผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลร้าย ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ



เมื่อมีความเห็นถูกต้องเช่นนี้ ย่อมจะทำให้เกิดความเชื่อมั่น มีกำลังในการประกอบกรรมดี หลีกหนีกรรมชั่ว นำตัวให้ได้รับความสุข สงบร่มเย็น ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยไม่ท้อถอย

วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หลักทำให้เกิดความสามัคคี khaosod

หลักทำให้เกิดความสามัคคี

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


สามัคคีเป็นคุณธรรมสำคัญที่ผู้อยู่ร่วมหมู่คณะกัน จะพึงใส่ใจในการที่จะช่วยกันรักษาไว้ให้มั่นคง ด้วยมองเห็นประโยชน์ของหมู่คณะนั้นยิ่งใหญ่กว่าประโยชน์เฉพาะตน

เมื่อสามัคคีมั่นคงในที่ใด ที่นั้นย่อมมีความเจริญ ทั้งเป็นที่เกรงขามแห่งศัตรูหมู่คนที่คิดร้าย ยกตัวอย่างต้นไม้ที่ไม่มีวิญญาณครอง ถ้าขึ้นอยู่โดดๆ ถึงจะลำต้นใหญ่ มีกิ่งก้านกว้างใหญ่แผ่ไพศาล เมื่อถูกพายุใหญ่พัดมา ย่อมทนทานไม่ไหว ต้องหักโค่นลงด้วยลมพายุ เพราะไม่มีที่ต้านทานอิงอาศัย ส่วนต้นไม้ที่ขึ้นอยู่เป็นหมู่ แผ่สาขาออกอิงอาศัยกันและกัน เมื่อพายุใหญ่พัดมา ก็หาได้หักโค่นไม่ เพราะอาศัยค้ำจุนกันอยู่ในตัว เมื่อต้นนี้เอน ต้นนั้นคอยค้ำยันไว้ สามัคคีมีพลังดังที่กล่าวมานี้ ควรที่หมู่ชนจะปลูกฝังให้มีขึ้นในใจและรักษาไว้เป็นอย่างดีไม่ให้เสื่อม หลักที่ทำให้เกิดความสามัคคีนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ 6 ประการ คือ

1. มีไมตรีจิต คิดช่วยเหลือกันด้วยกาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ช่วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้ เมื่อบ้านเมืองมีภัยพิบัติ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย ก็สามัคคีช่วยกันด้วยกำลังกาย กำลังทรัพย์ จนผู้ประสบภัยดังกล่าวพ้นจากความทุกข์ ได้รับความสุข

2. มีไมตรีจิต คิดช่วยเหลือกันด้วยวาจา เช่น เตือนสติในคราวพลั้งเผลอ อันจะเป็นทางเสื่อมเสีย ช่วยแนะนำในข้อที่ยังไม่เข้าใจ ช่วยว่ากล่าวตักเตือนในคราวที่ประพฤติเหลวไหล เพื่อให้กลับตัวเป็นคนดี

3. ตั้งไมตรีจิตหวังความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนต่อกัน หวังความสุขความเจริญแก่กันด้วยใจ แม้ไม่มีเหตุที่จะต้องช่วยด้วยกายหรือวาจา แต่ถ้ามีใจหวังดีอยู่แล้ว อาการกายวาจาที่แสดงให้ปรากฏออกมา ก็จะเป็นที่ต้องอารมณ์ของกัน เพราะอาการที่แสดงออกมาทางกายและวาจานั้น ย่อมส่อถึงน้ำใจอันดี

4. เป็นผู้ไม่หวงเอาไว้แต่ผู้เดียว มีน้ำใจเผื่อแผ่ เฉลี่ยแบ่งปันลาภของตนที่ได้มาโดยชอบธรรมให้แก่ผู้สมควรให้ เช่น พี่น้องตลอดถึงเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง ในโอกาสที่ควรให้ ไม่เห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว ย่อมเหลียวแลถึงผู้ที่สมควรจะได้ ยอมให้มีส่วนร่วมในผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อเป็นเครื่องอนุเคราะห์ยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน

5. เป็นผู้มีความประพฤติทางกายวาจา สุภาพเรียบร้อยเสมอกัน ไม่ทำตนให้เป็นที่เกลียดชังของใครๆ ความประพฤติดีด้วยกายวาจานี้ เรียกว่าศีล เป็นเครื่องปรับปรุงคนให้มีระเบียบเสมอกัน ท่านเปรียบเหมือนด้ายที่ร้อยดอกไม้ต่างสีต่างพันธุ์ ให้เข้ากันเป็นระเบียบ แลดูงามฉะนั้น

6. เป็นผู้มีความเห็นร่วมกันในทางที่ชอบตามคลองธรรม ธรรมดาบุคคลย่อมมีความเห็นต่างกันได้ตามความคิดของตน แต่ถ้าในสิ่งเดียวกันเกิดมีความเห็นแย้งกันขึ้น ย่อมเป็นไปเพื่อความทะเลาะวิวาทกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างยืนยันว่าของตนถูก ก็ไม่มีทางที่จะกลมเกลียวเข้ากันได้ เพราะฉะนั้น ความเห็นจึงมีคลองธรรมคือความถูกต้องเป็นหลักเท่านั้น จึงจะรักษาสามัคคีไว้ได้

หลัก 6 ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ทำผู้ประพฤติให้เป็นที่รักเป็นที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นบุคคลผู้หวังความสุขความเจริญแก่ตนและหมู่คณะของตน พึงตั้งใจปลูกสามัคคีให้เกิดขึ้น