วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หลักทำให้เกิดความสามัคคี khaosod

หลักทำให้เกิดความสามัคคี

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


สามัคคีเป็นคุณธรรมสำคัญที่ผู้อยู่ร่วมหมู่คณะกัน จะพึงใส่ใจในการที่จะช่วยกันรักษาไว้ให้มั่นคง ด้วยมองเห็นประโยชน์ของหมู่คณะนั้นยิ่งใหญ่กว่าประโยชน์เฉพาะตน

เมื่อสามัคคีมั่นคงในที่ใด ที่นั้นย่อมมีความเจริญ ทั้งเป็นที่เกรงขามแห่งศัตรูหมู่คนที่คิดร้าย ยกตัวอย่างต้นไม้ที่ไม่มีวิญญาณครอง ถ้าขึ้นอยู่โดดๆ ถึงจะลำต้นใหญ่ มีกิ่งก้านกว้างใหญ่แผ่ไพศาล เมื่อถูกพายุใหญ่พัดมา ย่อมทนทานไม่ไหว ต้องหักโค่นลงด้วยลมพายุ เพราะไม่มีที่ต้านทานอิงอาศัย ส่วนต้นไม้ที่ขึ้นอยู่เป็นหมู่ แผ่สาขาออกอิงอาศัยกันและกัน เมื่อพายุใหญ่พัดมา ก็หาได้หักโค่นไม่ เพราะอาศัยค้ำจุนกันอยู่ในตัว เมื่อต้นนี้เอน ต้นนั้นคอยค้ำยันไว้ สามัคคีมีพลังดังที่กล่าวมานี้ ควรที่หมู่ชนจะปลูกฝังให้มีขึ้นในใจและรักษาไว้เป็นอย่างดีไม่ให้เสื่อม หลักที่ทำให้เกิดความสามัคคีนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ 6 ประการ คือ

1. มีไมตรีจิต คิดช่วยเหลือกันด้วยกาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ช่วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้ เมื่อบ้านเมืองมีภัยพิบัติ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย ก็สามัคคีช่วยกันด้วยกำลังกาย กำลังทรัพย์ จนผู้ประสบภัยดังกล่าวพ้นจากความทุกข์ ได้รับความสุข

2. มีไมตรีจิต คิดช่วยเหลือกันด้วยวาจา เช่น เตือนสติในคราวพลั้งเผลอ อันจะเป็นทางเสื่อมเสีย ช่วยแนะนำในข้อที่ยังไม่เข้าใจ ช่วยว่ากล่าวตักเตือนในคราวที่ประพฤติเหลวไหล เพื่อให้กลับตัวเป็นคนดี

3. ตั้งไมตรีจิตหวังความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนต่อกัน หวังความสุขความเจริญแก่กันด้วยใจ แม้ไม่มีเหตุที่จะต้องช่วยด้วยกายหรือวาจา แต่ถ้ามีใจหวังดีอยู่แล้ว อาการกายวาจาที่แสดงให้ปรากฏออกมา ก็จะเป็นที่ต้องอารมณ์ของกัน เพราะอาการที่แสดงออกมาทางกายและวาจานั้น ย่อมส่อถึงน้ำใจอันดี

4. เป็นผู้ไม่หวงเอาไว้แต่ผู้เดียว มีน้ำใจเผื่อแผ่ เฉลี่ยแบ่งปันลาภของตนที่ได้มาโดยชอบธรรมให้แก่ผู้สมควรให้ เช่น พี่น้องตลอดถึงเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง ในโอกาสที่ควรให้ ไม่เห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว ย่อมเหลียวแลถึงผู้ที่สมควรจะได้ ยอมให้มีส่วนร่วมในผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อเป็นเครื่องอนุเคราะห์ยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน

5. เป็นผู้มีความประพฤติทางกายวาจา สุภาพเรียบร้อยเสมอกัน ไม่ทำตนให้เป็นที่เกลียดชังของใครๆ ความประพฤติดีด้วยกายวาจานี้ เรียกว่าศีล เป็นเครื่องปรับปรุงคนให้มีระเบียบเสมอกัน ท่านเปรียบเหมือนด้ายที่ร้อยดอกไม้ต่างสีต่างพันธุ์ ให้เข้ากันเป็นระเบียบ แลดูงามฉะนั้น

6. เป็นผู้มีความเห็นร่วมกันในทางที่ชอบตามคลองธรรม ธรรมดาบุคคลย่อมมีความเห็นต่างกันได้ตามความคิดของตน แต่ถ้าในสิ่งเดียวกันเกิดมีความเห็นแย้งกันขึ้น ย่อมเป็นไปเพื่อความทะเลาะวิวาทกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างยืนยันว่าของตนถูก ก็ไม่มีทางที่จะกลมเกลียวเข้ากันได้ เพราะฉะนั้น ความเห็นจึงมีคลองธรรมคือความถูกต้องเป็นหลักเท่านั้น จึงจะรักษาสามัคคีไว้ได้

หลัก 6 ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ทำผู้ประพฤติให้เป็นที่รักเป็นที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นบุคคลผู้หวังความสุขความเจริญแก่ตนและหมู่คณะของตน พึงตั้งใจปลูกสามัคคีให้เกิดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น