วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

เหตุที่ทำให้เกิดความสุข khaosod


เหตุที่ทำให้เกิดความสุข

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


คนเราแม้จะมีความแตกต่างกันทั้งเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและวิถีชีวิต แต่ส่วนใหญ่มีความปรารถนาอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ ต้องการความสุข ซึ่งเป็นความจริงที่ใครก็คงไม่ปฏิเสธ ความสุขเป็นยอดปรารถนาของคนทุกคน ส่วนความทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเจอ แม้เพียงชื่อก็ไม่ต้องการได้ยิน เป็นที่รังเกียจของคนทั้งหลาย แต่เราก็ไม่สามารถจะหนีจากความทุกข์ไปได้

แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่งสาวกไปประกาศพระศาสนาก็มุ่งเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขเป็นสำคัญ ดังพระพุทธดำรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก และเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก

ดังนั้นการที่ทุกคนจำเป็นต้องทำทุกอย่างในชีวิต ทั้งการเรียน การงาน การทำบุญ เป็นต้น จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ได้รับความสุข ป้องกันทุกข์ทั้งนั้น

กล่าวถึงเหตุที่ทำให้เกิดความสุขแล้ว ตามความรู้สึกของคนทั่วไปย่อมมีมากมาย แตกต่างกันไปตามอัธยาศัยของแต่ละคน แต่สรุปแล้ว เกิดจากเหตุที่สำคัญ 3 ประการ คือ ทรัพย์สมบัติ เกียรติ ไมตรี

ทรัพย์สมบัติ เกียรติ ไมตรี จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา เพราะคิดว่าเมื่อมีแล้ว จะทำให้ชีวิตมีความสุข เป็นเหตุให้พยายามทุกทางที่จะหาทรัพย์สมบัติ มาเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต พยายามหาเกียรติยศชื่อเสียงให้แก่ตนเอง และพยายามสร้างไมตรีเพื่อจะได้เป็นที่นิยมชมชอบของคนทั้งหลาย โดยใช้วิธีการที่ถูกบ้าง ผิดบ้าง ตามอุปนิสัยของแต่ละคน คนดีก็แสวงหาในทางที่ชอบ คนไม่ดีก็แสวงหาในทางที่ไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและคนอื่น

ในสิ่งที่ปรารถนาทั้ง 3 อย่างนั้น แต่ละอย่างก็มีเหตุเกิดเฉพาะแตกต่างกันไป ในเรื่องนี้มีเรื่องอาฬวกยักษ์ เป็นอุทาหรณ์

อาฬวกยักษ์ ที่ปรากฏในบทถวายพรพระคือ ข้อความที่แสดงถึงชัยชนะที่สำคัญ 8 ครั้งของพระพุทธเจ้า ในคาถาที่ 2 พูดถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงได้รับชัยชนะต่ออาฬวกยักษ์ ทรงใช้พุทธานุภาพปราบยักษ์ตนนี้ให้หมดพยศ แล้วทรงตอบปัญหาที่ยักษ์ทูลถาม เมื่อได้รับฟังพระพุทธดำรัสตรัสตอบแล้ว ก็ทำให้ยักษ์เกิดศรัทธา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เปลี่ยนจากยักษ์ที่ดุร้าย กลายเป็นยักษ์ที่นับถือพระพุทธศาสนา รักษาศีลอย่างมั่นคง

ปัญหาที่อาฬวกยักษ์ทูลถาม เป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์ เกียรติ และไมตรีนี่เอง คือถามว่า จะหาทรัพย์ได้อย่างไร จะได้รับการยกย่องให้มีเกียรติอย่างไร จะผูกไมตรีไว้ได้อย่างไร นั่นแสดงว่า ทรัพย์สมบัติ เกียรติ ไมตรีจิต เป็นที่ปรารถนาของคนทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้กระทำการงานที่เหมาะสม เอาธุระ ขยันหมั่นเพียร ย่อมหาทรัพย์ได้ ผู้มีสัจจะ ย่อมได้รับยกย่องให้มีเกียรติ ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้

สรุปได้ว่า สิ่งที่เราปรารถนาทั้ง 3 ประการคือ ทรัพย์ เกียรติ ไมตรี มีเหตุเกิดที่แตกต่างกัน ทรัพย์สมบัติ เกิดจากการทำงานที่เหมาะสม ไม่ทอดธุระ ขยันหมั่นเพียร เกียรติชื่อเสียง การยกย่องนับถือ ก็เกิดจากการมีสัจจะ ไมตรี หรือความเป็นมิตร จะมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงก็เกิดจากความมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบแบ่งปัน ไม่ตระหนี่ นั่นเอง

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

ศีลธรรม khaosod


ศีลธรรม

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ศีลเป็นสิ่งที่ดีงาม ศีลต้องอยู่ที่กาย ที่วาจา ธรรมอยู่ที่ใจ เมื่อเรามีกาย มีวาจาที่มีศีลมีธรรมแล้ว นั่นแหละเป็นเครื่องนำชีวิตของเราให้ไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้

ศีล แปลว่า สมบัติ ทุกคนต้องการสมบัติ ก็เอาศีลมาเป็นเครื่องประดับ

เครื่องประดับคือศีลนี้ ท่านบอกว่า งามทุกเพศทุกวัย เด็กเอาไปประดับก็งาม หนุ่มสาวเอาไปประดับก็งาม คนแก่เอาไปประดับก็งาม มันไม่เหมือนกับเครื่องประดับ คือเสื้อผ้า เสื้อผ้านั้น งามเฉพาะเพศ เฉพาะวัย เสื้อผ้าของเด็ก ผู้ใหญ่เอาไปใส่ก็ไม่งาม เสื้อผ้าของหนุ่มสาว คนแก่เอาไปใส่ก็ไม่งาม เสื้อผ้าของคนแก่ หนุ่มสาวเอาไปใส่ก็ไม่งาม งามเฉพาะเพศเฉพาะวัย แต่เครื่องประดับคือศีลนี้ งามทุกเพศทุกวัย

ดังนั้น ศีล จึงแปลว่า สมบัติ และสมบัติที่เราจะได้นั้น จำเป็นต้องมีศีลก่อน ถ้าขาดศีล ก็ขาดสมบัติ จะรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ก็ต้องมีศีล ซึ่งตามปกติกายวาจามักจะเรียบร้อยยาก แต่ถ้ามีศีลเข้าไปกำกับ มันก็จะเรียบร้อยดี

ส่วน ธรรมะ หมายถึง ทรงไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ต้องมีธรรมะ 4 ข้อไว้ประจำใจ นั่นก็คือ

1. ความจริงใจ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ พูดจริง ทำจริง จะอยู่ที่ไหน อยู่ในฐานะเช่นใด ก็ขอให้เป็นคนซื่อสัตย์ ทั้งต่อตนเองและคนอื่นรอบข้าง

2. การฝึกฝนข่มใจ เมื่อมีความซื่อสัตย์ จริงใจแล้วยังไม่พอ ต้องมีการข่มใจ ฝึกฝน ฝึกนิสัยและปรับตัว รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุงตนเองให้เจริญก้าวหน้า ด้วยปัญญาความรู้

3. ความอดทน เมื่อมีความซื่อสัตย์ จริงใจแล้ว ฝึกฝนข่มใจแล้ว ก็ยังไม่พอ จำต้องมีความอดทน ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง ทนทาน ไม่หวั่นไหวในจุดมุ่งหมาย บางคนซื่อสัตย์จริง ข่มใจจริง แต่ไม่อดทน เจอเรื่องหนักใจก็ยอมแพ้ สู้ไม่ไหว ต้องอดทนด้วย จึงจะถึงจุดหมาย

4. ความเสียสละ เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ต้องมีความเสียสละ เสียสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง ผู้มีน้ำใจเสียสละ มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทุกคนในสังคม ช่วยเหลือเท่าที่เห็นว่าสมควรจะช่วยเหลือได้ เห็นใครควรแก่การช่วยเหลือก็ช่วยเหลือตามกำลังมากบ้างน้อยบ้าง หรือบางครั้งก็ช่วยเหลือด้วยกำลังกาย บางครั้งก็ช่วยเหลือด้วยกำลังทรัพย์ บางครั้งก็ช่วยเหลือด้วยกำลังสติปัญญา ทุกๆ ครั้งที่ช่วยเหลือ ก็มีความกรุณาสงสารเป็นเบื้องหน้า มุ่งที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ของผู้อื่นด้วยความเต็มใจ

การอยู่ร่วมกันในสังคมหมู่มาก จำต้องมีความจริงใจต่อกัน เมื่อกระทบกระทั่งกันด้วยเรื่องเล็กน้อยก็พยายามอดทนข่มใจ ไม่ให้เรื่องเล็กน้อยกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต อีกทั้งควรพยายามเสียสละแบ่งปันให้แก่คนรอบข้าง ชีวิตจึงจะประสบแต่ความสุขตลอดไป

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555

ความเพียร khaosod


ความเพียรดีกว่า

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com


ความเพียร เป็นคุณธรรมพยุงจิต ไม่ให้คิดย่อท้อในการประกอบการงาน มีหน้าที่เป็นกลาง ไม่ดีและไม่ชั่ว แต่เมื่อเข้าไปสนับสนุนในกิจการใดๆ ย่อมทำกิจการนั้นๆ ให้แรงขึ้น ทั้งทางถูกและทางผิด



เหตุนั้น พึงพิจารณาใช้ความเพียรแต่ในทางที่ชอบ เพราะเหตุว่าความเพียรนี้ ถ้าคนไม่ดีนำไปใช้ในทางที่ผิด ไม่ชอบไม่ควรแล้ว ก็จะก่อให้เกิดโทษภัยอย่างใหญ่หลวง เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและคนอื่นเป็นอันมาก



พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสความเพียรไว้ 4 ประการ คือ



1. เพียรระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นในใจ คือระวังป้องกันความชั่ว ไม่ให้เกิดขึ้นแก่ใจเป็นอันดับแรก เพราะถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะก่อให้เกิดทุกข์ภัยอย่างใหญ่หลวงในภายหลัง และความชั่วนี้ ไม่ควรดูหมิ่นว่ามีประมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะไม่ให้ผล ความชั่วเพียงเล็กน้อยนั่นแหละ จะพอกพูนมากขึ้นทุกที แล้วจะทำความพินาศให้แก่ตนและคนอื่นอย่างมากมาย



2. เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว คือ เมื่อรู้ตัวว่าได้กระทำความชั่วขึ้นแล้ว ด้วยความพลั้งเผลอหรือด้วยความเข้าใจผิด เช่นนี้แล้วก็ต้องเพียรละความชั่วนั้นเสีย ตั้งใจว่าจะไม่กระทำความชั่วนั้นอีกอย่างเด็ดขาด



3. เพียรให้ความดีเกิดขึ้นในใจ คือ เมื่อระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นและเพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นด้วยความพลั้งเผลอได้แล้ว ก็ต้องรีบทำความดีแทนที่ความชั่วด้วย เพราะถ้าไม่รีบทำความดีแทนที่ความชั่วแล้ว ก็จะเกิดช่องว่าง เปิดโอกาสให้ทำความชั่วได้อีก



4. เพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อมไป คือ เมื่อได้สร้างสมคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้นในใจแล้ว ก็ต้องเพียรรักษาคุณงามความดีนั้นไว้ ไม่ให้เสื่อมสิ้นไป ให้มีอยู่ตลอดไป เพราะว่าความดีกับความชั่วคอยฉวยโอกาสที่จะเข้าครอบครองจิตกันอยู่เสมอ ฝ่ายใดเผลอ เป็นถูกอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งคอยฉวยโอกาสอยู่แล้ว เข้าครอบครองจิตทันที เหตุนั้น ความดี ที่ได้ทำให้เกิดขึ้นแล้ว จึงต้องพยายามรักษาไว้ มีมากเท่าใดก็เป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เกิดความสุขใจเท่านั้น



คนเกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน มักอ้างเหตุต่างๆ แล้วไม่ทำงาน ปล่อยให้งานคั่งค้างจนทำไม่ไหว ทำไม่สำเร็จ เมื่อทำงานอะไรๆ ไม่สำเร็จ ก็ไม่มีคุณงามความดีอะไร ที่จะเป็นที่พึ่งของตนและคนอื่นได้เลย



พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า คนที่เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ไม่ประเสริฐเลย เพราะคนที่เกียจคร้าน ไร้คุณงามความดีอันจะเป็นที่พึ่งของตนและคนอื่น



ส่วนคนที่ไม่ยอมอ้างเหตุแห่งความเกียจคร้าน ปรารภความเพียรอยู่เป็นนิตย์ เป็นต้นว่าเราต้องทำงาน และต้องทำงานนั้นให้ดีถึงที่สุด ทำให้สำเร็จ ไม่ยอมอ้างเหตุขัดข้องต่างๆ มีแต่ความเพียร จึงก้าวล่วงความทุกข์ยากนานาประการได้



เพราะเหตุนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ชีวิตของคนที่ปรารภความเพียรอย่างมั่นคง แม้จะเป็นอยู่ได้เพียงวันเดียว ก็ยังประเสริฐกว่า เพราะว่า ชีวิตของคนที่ปรารภความเพียร มีคุณงามความดีเป็นที่พึ่งของตนและคนอื่นมากมาย

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

บุญคือความสุข khaosod


บุญคือความสุข

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com


บุญ หมายถึง ความดี เป็นชื่อของความสุข ผู้ที่ปรารถนาจำต้องรู้ว่าอะไรเป็นบุญ จะได้ทำให้สำเร็จผลสมความมุ่งหมาย ผู้ที่ทำตามๆ กันมาไม่รู้ว่าอะไรเป็นบุญ จะทำให้ถูกต้องไม่ได้ แม้จะทำด้วยความงมงาย ก็ไม่นำให้สำเร็จประโยชน์



เพราะฉะนั้น ผู้ปรารถนาจะทำบุญจึงต้องรู้ว่า บุญมีลักษณะเป็นอย่างไร ถ้าทำแล้วไม่อาจชำระจิตให้ผ่องใส หรือไม่นำให้เกิดความฉลาดว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี ก็ไม่จัดว่า เป็นบุญ แต่เมื่อสามารถจะชำระจิตให้บริสุทธิ์และนำให้เกิดความฉลาด รู้จักผิดชอบ จึงจัดว่า เป็นบุญ



สิ่งที่จะชำระจิตของคนให้บริสุทธิ์ อันเสมอด้วยความดีย่อมไม่มี สิ่งอื่นชำระได้เพียงภายนอกเท่านั้น แต่ความดีเป็นสิ่งชำระใจ เมื่อใจบริสุทธิ์แล้ว อาการภายนอก คือ กิริยาวาจา ก็บริสุทธิ์ตามไปด้วย



เมื่อได้พิจารณาแล้วรู้ว่า บุญ เป็นสิ่งที่ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ พึงสร้างความดีตามความรู้ ความสามารถที่ตนเองจะกระทำได้ จึงจะชื่อว่าได้บุญอย่างแท้จริง



การทำบุญในทางพระพุทธศาสนาอย่างย่อ มีอยู่ 3 อย่าง คือ



ทาน ได้แก่ การบริจาค แบ่งปันเสียสละ เมื่อได้ทำให้เต็มที่แล้ว สามารถกำจัดความโลภให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุขใจได้



ศีล ได้แก่ การปฏิบัติกาย วาจาให้ตั้งอยู่ในความสงบเรียบร้อย ตามกฎระเบียบ ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม เมื่อได้ทำให้เต็มที่แล้ว สามารถกำจัดความโกรธให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุขใจได้



ภาวนา ได้แก่ การทำใจให้ตั้งมั่นอยู่ในธรรม เป็นการเจริญปัญญา พัฒนาจิตให้รู้จักการดำเนินชีวิต ตลอดถึงปฏิบัติต่อตนและคนอื่นด้วยความถูกต้อง เมื่อได้ทำให้เต็มที่แล้ว สามารถกำจัดความหลงให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุขใจได้



การฟังธรรม นอกจากจะเป็นการส่งเสริมคุณธรรมในส่วนแห่งทานและศีล อันเป็นบุญขั้นพื้นฐานและขั้นกลาง ที่ได้ทำมาแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนบุญในส่วนแห่งภาวนา อันเป็นบุญขั้นสูง ทำให้มีผลไพบูลย์ยิ่งขึ้น เพราะการฟังธรรมนั้น เป็นการพัฒนาปัญญา เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในชีวิต



พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอานิสงส์แห่งการฟังธรรมไว้ คือ



- ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ฟัง



- ได้ความรู้แปลกใหม่



- บรรเทาความสงสัย



- มีจิตใจมั่นคง



- ไม่หลงผิดในการดำเนินชีวิต



ดังนั้น การฟังธรรม จึงเป็นการทำบุญในส่วนของภาวนา มีอุปการะแก่ผู้ที่มุ่งทำบุญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาความเป็นอยู่ของตน ครอบครัว ตลอดถึงสังคม ไม่ให้หลงทาง แต่ให้ดำเนินไปถูกทางอย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพและทรงไว้ซึ่งคุณธรรม

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

ก้าวพ้นผ่านความสิ้นหวัง khaosod


ก้าวพ้นผ่านความสิ้นหวัง

หน้าต่างศาสนา
พระมหาจักรกฤษ จักกญาโณ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมฯ วัดสระเกศ


มีผู้คนมากมายที่เคยท้อแท้สิ้นหวังกับความล้มเหลว อะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาเหล่านั้นยังคงอยู่และเดินหน้าต่อไปจนประสบความสำเร็จ...



"แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์" อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐ อเมริกา อาจเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เพราะเขาเริ่มต้นกับชีวิตนี้ได้ไม่ดีนัก เมื่อเกิดมาพร้อมกับโรคไขกระดูกอักเสบ ทำให้ต้องกลายเป็นคนขาพิการ



ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่ค่อยไปเล่นกับเพื่อนๆ เวลาคุณครูเรียกให้ตอบคำถามก็มักจะนั่งนิ่งก้มหน้าและไม่พูดอะไรเลย กลายเป็นเด็กที่เก็บกดและมีทัศนคติเชิงลบมาโดยตลอด



ต่อมา พ่อของเขาได้ขอต้นกล้าจากเพื่อนบ้านมา เพื่อจะนำมาปลูกไว้หน้าบ้าน จึงเรียกลูกทั้งสามคนมาแล้วพูดขึ้น "ถ้าใครปลูกต้นไม้นี้ได้เจริญเติบโตที่สุด พ่อจะให้รางวัล" ทั้งพี่ชายและพี่สาวพอรู้ว่ามีรางวัลก็ตั้งใจดูแลรดน้ำต้นไม้อยู่ไม่ขาด จนต้นไม้ค่อยๆ เติบโตขึ้น



ขณะที่เขาได้แต่ท้อแท้สิ้นหวัง เช่นเดียวกับชีวิตของเขาที่เป็นมาโดยตลอด จึงไม่ได้สนใจอยากต่อสู้กับใคร ตั้งใจจะปล่อยให้ต้นไม้นั้นตายๆ ไปเสีย จึงไม่ได้สนใจดูแล ต่อมาเขาอยากรู้ว่าต้นไม้นั้นตายหรือยัง จึงเดินไปดูก็ต้องพบกับความแปลกใจ เพราะแทนที่ต้นไม้จะแห้งเหี่ยวตาย กลับงอกงามเติบโตมากกว่าของพี่ชายและพี่สาวอีกด้วย พอถึงวันตัดสิน พ่อก็ซื้อของรางวัลมาให้เขาตามสัญญา พร้อมคำชื่นชม "ดูจากต้นไม้ที่ลูกปลูกแล้ว โตขึ้นลูกคงได้เป็นนักพฤกษศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างแน่นอน" เขารับของรางวัลด้วยความงุนงง แต่ก็สู้เก็บงำความสงสัยนี้ไว้



จนคืนหนึ่งเขานอนไม่หลับ ขณะมองดูพระจันทร์ทางหน้าต่าง ทำให้หวนคิดถึงคำสอนของคุณครูชีววิทยาที่บอกว่า "ส่วนใหญ่ ต้นไม้จะเจริญเติบโตได้ดีใน ตอนกลางคืน" เลยคิดถึงต้นไม้ของตนขึ้นมาได้ จึงค่อยๆ พาตัวเองออกจาก ห้องนอนไปดูต้นไม้ว่าเติบโตได้อย่างไร แต่ภาพที่เห็น กลับเป็นเงาของพ่อกำลังตักอะไรบางสิ่งบางอย่างซึ่งคงเป็นปุ๋ยลงไป ตรงโคนต้นไม้ เขายืนนิ่งสงบมองพ่อที่พยายามดูแลต้นไม้ของเขาต้นนี้อย่างดีจนงอกงาม ขึ้นมา



รอยยิ้มผสมกับน้ำตาที่ค่อยๆ ไหลอาบแก้ม เป็นทั้งความปลื้มปีติยินดีกับสิ่งที่พ่อทำให้ แต่เสียใจที่ตนเองมัวแต่ท้อแท้สิ้นหวัง จนไม่รู้ว่ามีคนห่วงใยตนเองมากมายเพียงใด



นับจากวันนั้นเป็นต้นมา เด็กน้อยที่เคยคิดน้อยใจในชีวิตของตนเอง ก็กลับมามีทรรศนะ มองโลกในแง่ดีขึ้น มีความเชื่อมั่น มีความหวังและกำลังใจ ทำให้สามารถต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคด้านร่างกาย จนสามารถยืนหยัดท่ามกลางสังคมได้อย่างสง่างาม



และถึงแม้ว่าแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ จะไม่ได้ประสบความสำเร็จเป็นนักพฤกษศาสตร์ ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกตามที่พ่อเคยพูดเอาไว้ แต่ก็ประสบความสำเร็จได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ อเมริกาในที่สุด



จากต้นไม้ที่เคยคิดว่าจะตายเพราะไม่มีคนใส่ใจดูแล กลับเติบใหญ่เป็นต้นไม้ใหญ่ที่ผู้คนพึ่งพิงได้ ก็เพราะมีความหวังจากคนข้างกายที่หมั่นคอยเอาใจใส่ดูแล เหมือนชีวิตนี้อาจเพียงต้องการความหวังเล็กๆ ที่ใครสักคนอาจไม่ต้องทำอะไรหรือให้อะไรมากมายนักก็ได้



ขอแค่คำพูดดีๆ มีให้แก่กันทุกวันเวลาเท่านั้นก็คงเพียงพอ

บุญนำให้ดี khaosod


บุญนำให้ดี

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร www.watdevaraj.com


คําว่า บุญ หมายถึง ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ใจ ธรรมชาติที่ชำระจิตใจให้สะอาดให้ผ่องใส มีผลได้แก่ความสุขที่เกิดทางใจ



บุญเกิดได้หลายทาง เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 ดังนี้



1. ทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน ได้แก่ วัตถุสิ่งของให้ธรรมะเป็นทาน เรียกธรรมทาน ให้อภัย เรียกอภัยทาน



2. ศีลมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ได้แก่ การปฏิบัติตามข้อห้ามตามที่ทรงบัญญัติในพระปาฏิโมกข์เพื่อกำจัดกิเลส



3. ภาวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา ได้แก่ การปฏิบัติใจเพื่อกำจัดกิเลส แบ่งเป็น สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา



4. ไวยาวัจจมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือกิจการสงฆ์และภาระพระศาสนา



5. อปจายนะมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการมีกิริยาอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณและคนทั่วไป



6. ปัตติทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว



7. ปัตตานุโมทนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงอนุโมทนาในส่วนบุญร่วมกับผู้อื่น



8. ธัมมเทศนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม ได้แก่ การอธิบายบรรยายธรรมะ ให้แก่ผู้ร่วมโลกที่ร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย



9. ธัมมัสสวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม ได้แก่ การฟังธรรมและนำ ข้อธรรมมาประพฤติปฏิบัติให้พ้นทุกข์



10. ทิฏฐชุกัมม์ คือ การทำความเห็นให้ตรงเป็นสัมมาทิฏฐิเชื่อในธรรมและการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย



ในบรรดาสิ่งที่อาจช่วยเราได้ในโลก ไม่มีอะไรจะวิเศษเท่ากับบุญเลย คนบางคนช่วยเราได้อย่างมากก็เพียงช่วงระยะเวลาจากเปลไปสู่หลุมฝังศพเท่านั้น แต่บุญที่เราทำไว้มากๆ นี้ จะช่วยเราได้ตั้งแต่ก่อนเกิด เกิดแล้วยังตามช่วย ตายแล้วยังตามช่วย แม้การบรรลุจุดหมายสูงสุดทางพระพุทธศาสนา คือการบรรลุพระนิพพาน บุญนี้เท่านั้นที่ช่วยเรา



บุญกิริยาวัตถุทั้ง 10 ประการนี้ เป็นวิธีทำ บุญในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งพุทธศาสนิกชนสามารถประพฤติปฏิบัติในข้อใดข้อหนึ่งได้ตามอัธยาศัย ซึ่งล้วนแต่เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ เป็นทางแห่งการสั่งสมบุญทั้งนั้น ขอให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติเท่านั้นก็จะเป็นบุญกุศลทั้งสิ้น



เมื่อทราบชัดบ่อเกิดแห่งบุญ คือ บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ เช่นนี้แล้ว ควรที่จะเร่งรีบทำบุญทำความดีบ่อยๆ ตามอัธยาศัย ตามโอกาสอำนวย ที่สามารถจะทำได้ และเมื่อบุญหรือความดีที่ทำไว้นั้นมากพอสมควร บุญนั้นก็จักบันดาลให้ประสบความสุขความเจริญทั้งในภพนี้ และภพหน้า

วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

การให้ khaosod


การให้

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


คนที่เกิดมาในโลกนี้ทุกคน ย่อมมีความเกี่ยวเนื่องกับคนอื่นรอบข้างไม่มากก็น้อย เริ่มต้นตั้งแต่พ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ญาติสนิทมิตรสหายตลอดถึงคนที่ห่างไกล ถึงแม้ไม่ใช่ญาติมิตรก็มีกิจที่จะพึงทำเกี่ยวเนื่องกันอยู่ เพราะในสังคมที่อยู่รวมกันนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการช่วยเหลือเกื้อกูล เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือกันและกัน

การแสดงออกซึ่งน้ำจิตน้ำใจอันดีงาม โดยมีวัตถุสิ่งของเป็นสิ่งประกอบ ท่านเรียกว่า ทาน หมายถึง การให้ หรือเจตนาเป็นเครื่องให้ ให้ปันสิ่งของอันได้แก่ ปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ

การให้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นมงคล เพราะ

1.เป็นเหตุแห่งความสุข

2.เป็นรากเหง้าแห่งสมบัติทุกอย่าง

3.เป็นที่ตั้งแห่งโภคทรัพย์ทั้งหมด

4.เป็นเครื่องป้องกันภัยต่างๆ

5.เป็นที่พึ่งพิงอาศัยของเหล่าสัตว์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

การให้ปันสิ่งของ นับเป็นกิจเบื้องต้นที่ควรทำ แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงบำเพ็ญบารมีในสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ทรงบำเพ็ญทานคือการให้เป็นทีแรก

สำหรับการให้นั้น ไม่ควรให้ของเลว หรือของที่ไม่ดี ควรเลือกของที่ตนชอบใจให้ ให้ของที่ดีประณีต ดีกว่าที่ตนมีตนใช้

ผลหรืออานิสงส์ที่เกิดจากการให้สิ่งของที่ดี ย่อมเป็นไปตามเหตุคือของที่ให้ เมื่อให้ของที่ถูกใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ย่อมจะได้รับของที่ถูกใจตอบแทน เมื่อให้ของชั้นยอด ได้แก่ ของที่ยังไม่ได้ใช้สอยหรือบริโภคมาก่อน เช่น ข้าวปากหม้อ แกงปากหม้อ เป็นต้น ก็ย่อมได้รับของเช่นนั้นตอบแทน

สมดังพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้ว่า "ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้รับผลที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้รับผลที่เลิศตอบ ผู้ให้ของที่ดี ย่อมได้รับผลที่ดี และผู้ให้ของที่ดีที่สุด ย่อมเข้าถึงฐานะที่ดีที่สุด"

ประเภทของการให้ เมื่อจำแนกออกก็มีอยู่ 2 ประการ คือ

1.อามิสทาน การให้สิ่งของที่ทำให้เกิดความสุขแก่ผู้รับ เช่น ให้สิ่งของบริโภคใช้สอย

2.ธรรมทาน การให้วิชาความรู้อันไม่มีโทษ ด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์ เช่น ให้ศิลปวิทยา

ให้คุณธรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งจิตใจให้บริสุทธิ์และความประพฤติให้เรียบร้อยดีงาม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงอานิสงส์ของการให้ไว้ 5 ประการด้วยกัน คือ

1.ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ที่ชอบใจของหมู่ชน

2.สัตบุรุษคนดีย่อมคบหาสมาคมผู้ให้นั้น

3.ชื่อเสียงอันดีงามของผู้ให้ย่อมขจรกระจายไป

4.ผู้ให้ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้าอาจหาญในที่ชุมชน

5.ผู้ให้ย่อมเป็นผู้มีสติ ไม่หลง เมื่อสิ้นชีวิตแล้วย่อมเป็นผู้ไปสู่ สุคติภูมิ

คนผู้ให้ทาน ย่อมได้ชื่อว่าสั่งสมความดีแก่ตน แม้ว่าทรัพย์สมบัติจะหมดไปบ้าง ก็หมดไปในทางที่ชอบที่ควร บุญกุศลคุณงามความดีต่างๆ ย่อมเพิ่มมากขึ้นทวีคูณทุกๆ ครั้งที่ได้ให้