วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ราศีกรกฎ 21 มิ.ย.-22 ก.ค. khaosod


ราศีกรกฎ 21 มิ.ย.-22 ก.ค.

ปี 2013 (2556) เป็นปีแห่งความรุ่งโรจน์โชติช่วงในดวงชะตาของท่านชาวราศีกรกฎ คือผู้ที่เกิดวันที่ 21 มิถุนายน ถึง 22 กรกฎาคมไม่ว่าปีใดๆ เป็นชาวราศีกรกฎตามระบบสุริยะของโหรา ศาสตร์สากล ชาวราศีอื่นๆ ของโหราศาสตร์สากล (อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ) นับเช่นนี้ทั้งนั้นโปรดอย่าดัดแปลงแก้ไขให้เป็นแบบอื่น เพราะจะคลาดเคลื่อนไปกันใหญ่ ของฝรั่ง (สากล) เขาก็แม่นพอสมควรเหมือนกัน



ชาวราศีกรกฎ ดวงจันทร์เป็นตัวแทนแห่งความคิดและชีวิตความเป็นอยู่ของท่าน ยามใดที่ดาวที่เป็นกาลกิณีและ คู่ศัตรูเข้ามาโคจรในราศีของท่าน ย่อมงอมพระรามมากหรือน้อยแล้วแต่ดวงกำเนิดของท่านว่าจะอ่อนแอหรือแข็งแกร่งเพียงใด แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง คนแข็งแรงไม่ค่อยเจ็บป่วย กว่าจะรู้ตัวว่าป่วยก็ร่อแร่ ส่วนคนอ่อนแอนั้นแม้จามสองสามครั้งก็รีบพบแพทย์จึงรักษาง่ายหายเร็ว



25 เมษายน 2013 แม้จะเกิดจันทรคราสก็คงไม่เห็นในบ้านเมืองของเรา ความยุ่งยากใดๆ ที่เกิดขึ้น คงมีขอบเขตอยู่เพียงภาคพื้นธรณีใหญ่ของยุโรปเท่านั้น หาได้แผ่ขยายมาถึงประเทศไทยไม่ ส่วนวันที่ 10 พฤษภาคม 2013 โปรดฟังประกาศท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ว่าจะเกิดสุริยคราสที่มองเห็นในเมืองเราหรือไม่ เพราะวันขึ้นแรม 15 ค่ำไม่ว่าจะเป็นวันจันทร์ดับหรือจันทร์เพ็ญ ย่อมมีผลกระทบถึงท่านชาวราศีกรกฎเสมอ บางครั้งก็เป็นไปในทางที่ดี บางทีแย่ เช่น สตรีที่อายุ 40 ปีแล้วได้แต่งงานก็ถูกนินทาต่างๆ นานา แต่คนที่ถูกนินทากลับคิดว่าเธอโชคดีกว่าใครๆ ซึ่งต้องอยู่บนคานทองไปตราบกัลปาวสาน ชาวราศีกรกฎดาวประจำราศีของท่านโคจรรวดเร็วที่สุดในระบบสุริยะนี้ ผ่านราศีที่ไม่ดี ผ่านดาวร้ายๆ แต่ท่านก็ไม่เป็นอะไร เพราะดาวคู่มิตรของท่านคือพุธ ซึ่งหมายถึงการมีปากเป็นเอก มีวาทศิลป์ มีจิตวิทยาในการเจรจาเกลี้ยกล่อมผู้อื่น ถ้าพุธในดวงกำเนิดอยู่ในภพ 8 อาจพูดให้ลิงหลับสนิทได้จริงๆ



นอกจากนี้ดาวที่เป็นศรีกับจันทร์คือ เสาร์ตามหลักกาลโยค พระเสาร์นี้เป็นบาปเคราะห์ (ดาวร้าย) เหมือนมีเพื่อนเป็นนักยกน้ำหนักซึ่งสามารถจับศัตรูของท่านทุ่มกระเด็นไปไกล กระดูกหักทั้งตัว หรือเป็นคนขับรถบดถนน ใครทำร้ายท่านเขาขับลุยเข้าไปในบ้านผู้นั้น บ้านก็พังซ่อมไม่ได้ แม้ท่านเองจะผอมแห้งแรงน้อย ลมพัดก็แทบจะปลิวไปตามลม แต่ไปไหนมีคนยกมือไหว้สลอน ใครเล่าจะกล้าข่มเหงรังแกท่าน การที่ท่านได้รับความเคารพนับถือจากผู้อื่น ทั้งพลเมืองดีและพลเมืองร้ายเพราะท่านมีเมตตาจิตสูงแบบที่กล่าวกันทั่วไปว่า



"แสงสว่างอันเยือกเย็นของดวงจันทร์ ย่อมสาดส่องเข้าไปได้หมดไม่ว่าเป็นกระท่อมยาจกหรือคฤหาสน์ของมหาเศรษฐี ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง จันทร์ไม่ถูกกับพระราหูถูกพระราหูตามจับกินอยู่เสมอ แต่จันทร์มีพระพุทธมนต์บทหนึ่ง ซึ่งพระราหูจับจันทร์กลืนเข้าไปแล้วต้องรีบคาย ไม่เช่นนั้นศีรษะจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ คือ



"นะโม เต พุทธะวีรัตถุ วิปปะมุตโตสิสัพพะธิ สัมพาธะปะฏิปันโนสะมิ ตัสสะเมสะระณังภะวะ" ท่านผู้รู้แปลว่า "ข้าแต่พุทธเจ้าผู้กล้าหาญและพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง บัดนี้ข้าพเจ้าตกอยู่ในความคับขันแล้ว ขอพระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าด้วยเถิด"



อาทิตย์ก็มีคาถาบทนี้และใช้ป้องกันภัยจากพระราหูทุกครั้ง ข้าพเจ้าเคยเรียนถามครูอาจารย์แล้วว่าคนเราจะใช้พระคาถาบทนี้ในเวลาใด ท่านว่าใช้ในเวลา "บงอับ-บงรา" คือ ในยามจวนตัวที่สุด

วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ผู้ฉลาดครองเรือน khaosod


ผู้ฉลาดครองเรือน

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ผู้ที่เกิดมาแล้ว ดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยปัญญาที่มีติดตัวตั้งแต่เกิดก็ดี ด้วยการศึกษากำหนดจดจำจากบิดามารดา ครูอาจารย์ก็ดี ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองด้วยอุบายที่แยบคายแล้ว มองเห็นเหตุที่เป็นข้อเปรียบเทียบพอเป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิต 3 ประการ คือ



ประการที่ 1 มองเห็นความหมดสิ้นไปแห่งยาสำหรับหยอดตา อันธรรมดาน้ำยาสำหรับใช้หยอดบำบัดโรคตา ที่บรรจุไว้ในหลอดหรือขวดขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม ถ้านำมาหยอดทีละหยดๆ นานไปน้ำยานั้นก็หมดสิ้นไป เพราะไม่มีน้ำยาใหม่มาเพิ่มเติม ข้อนี้ฉันใด ทรัพย์สินสิ่งของเงินทองเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีอยู่ หากบริโภคใช้สอยไปอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ทำการแสวงหามาเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็ย่อมถึงความหมดสิ้นไปได้เหมือนกัน ดังนั้นเมื่อจะใช้จ่ายทรัพย์สินสิ่งของเงินทอง ก็ให้สำนึกถึงยาสำหรับหยอดเป็นเครื่องเตือนใจ



ประการที่ 2 มองเห็นการก่อขึ้นแห่งปลวกทั้งหลาย ปลวกนั้นเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ อาศัยความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน คาบเอาดินมาทำที่อยู่อาศัยให้ใหญ่โตมั่นคงแข็งแรงได้ ฉันใด บุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ทุกคน จะอยู่โดดเดี่ยวคนเดียวไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความสมานสามัคคีพร้อมเพียงกัน แต่ละคนต่างก็มุ่งหน้าประกอบกิจทำการงานตามหน้าที่ของตนด้วยความหมั่นขยันในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีวิตแล้ว ทรัพย์สิน เงินทอง วิชาความรู้ที่ยังไม่เกิด ก็จะเกิดมีขึ้น ที่เกิดมีอยู่แล้ว ก็จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น หน้าที่การงานก็จะถึงความงอกงามไพบูลย์ ด้วยการรักษาความหมั่นขยันให้คงที่ ไม่ให้ย่อหย่อน รักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ป้องกันไม่ให้เป็นอันตราย รักษาหน้าที่การงานไม่ให้เสื่อมเสียไป แต่ละคนต่างก็มีเพื่อนร่วมคิดร่วมใจเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริต ดำรงชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่ายพอเหมาะพอควร เมื่อพื้นฐานชีวิตของตนมีความมั่นคงแล้ว ก็เป็นเหตุอุดหนุนให้สังคมรวมถึงประเทศชาติ มีความมั่นคงไปด้วยเหมือนกัน



ประการที่ 3 มองเห็นการประมวลมาแห่งผึ้งทั้งหลาย ผึ้งเป็นสัตว์ปีกตัวเล็กๆ อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่มีความสมานสามัคคีพร้อมเพรียงกัน มีความสามารถในการทำรัง ทำน้ำหวาน ผึ้งแต่ละตัวโผบินไปคาบเอา เกสรและละอองดอกไม้มาทำรังและน้ำหวาน เมื่อมีอันตรายก็พร้อมใจกันต่อสู้ป้องกัน เพราะความสามัคคีนั่นเอง



ทุกคนที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าแต่ละคนมุ่งประกอบกิจทำการงานตามหน้าที่ของตน ตามกำลังความสามารถ ด้วยความพอใจรักการงาน มีความเพียรพยายามอย่างอาจหาญไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มีใจจดจ่อต่องานที่ทำนั้น ไม่ทอดทิ้งหน้าที่ หมั่นพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งที่ทำนั้น สามารถทำสิ่งเล็กให้ใหญ่ ทำสิ่งที่ใหญ่ให้เล็ก ทำสิ่งที่ยากให้ง่าย ทำสิ่งที่ง่ายให้เรียบร้อยยิ่งขึ้นได้



ผู้ฉลาดอาศัยเหตุข้อเปรียบเทียบดังกล่าวมาเป็นแนวทางอยู่ปกครองเรือน แสวงหาทรัพย์ได้มาแล้ว ก็มีความดีใจว่าทรัพย์ของเรามี เมื่อได้จับจ่ายใช้สอยทรัพย์นั้นบริโภคพอเหมาะพอควรแก่ฐานะและรายได้ก็ให้เกิดสุข ใช้จ่ายทรัพย์นั้นจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่ผลิตได้ในประเทศ ก็เป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตมีทุนหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ ทรัพย์ไม่รั่วไหลออกไปนอกประเทศ ประเทศชาติก็จะได้พัฒนาให้เจริญรุ่งเรือง ประชาชนก็จะมีรายได้เพิ่มพูนมีความมั่งคั่งสมบูรณ์

วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประโยชน์ที่บัณฑิตพึงได้ khaosod


ประโยชน์ที่บัณฑิตพึงได้

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


นักปราชญ์ท่านเรียกว่า บัณฑิต เพราะได้รับประโยชน์ทั้ง 2 คือ ประโยชน์ในชาติปัจจุบันและประโยชน์ในชาติหน้า

ประโยชน์ในปัจจุบัน หมายถึง ประโยชน์ในชาตินี้ เป็นประโยชน์ตราบเท่าที่เป็นอยู่หรือมีชีวิตอยู่ ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ

1. ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ มีความขยันในการศึกษาเล่าเรียน ในการประกอบอาชีพการงาน ที่สำคัญจะเป็นงานอะไรก็ตาม ถ้าไม่ผิดกฎหมายบ้านเมืองและศีลธรรมอันดีงาม และช่วยให้ดำรงชีพอยู่ได้แล้ว ก็น่าจะพอใจ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า "คนหมั่นย่อมหาทรัพย์ได้" และในการสร้างกุศล ความดี ก็ควรหมั่นสร้างความดีอันจะติดตามตนไปในภพหน้า เปรียบเหมือนผู้จะเดินทางไกลเตรียมเสบียงไปด้วย ฉะนั้น ผู้ขยันหมั่นเพียรในประการดังกล่าวมา จึงชื่อว่า ถึงพร้อมด้วยความหมั่น

2. ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รักษาทรัพย์ที่หามาได้จากน้ำพัก น้ำแรง ทำทรัพย์ให้มีความปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ มีน้ำ ไฟ และโจรผู้ร้ายเป็นต้น ผู้ที่รักษาทรัพย์ที่หามาได้ไม่ให้เป็นอันตรายก็ดี รักษาการงานของตนไม่ให้เสื่อมเสียไปก็ดี ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยการรักษา

3. ความมีเพื่อนเป็นคนดี สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงลักษณะของเพื่อนที่ดี ว่ามี 4 ประการ คือ 1. เพื่อนมีอุปการะ 2. เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ 3. เพื่อนแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ 4. เพื่อนมีความรักใคร่ ว่าเป็นมิตรแท้ ควรคบ เพื่อนดังกล่าวมานี้ ย่อมนำไปสู่ความเจริญ

4. เป็นอยู่สมฐานะ หมายความว่า ดำรงชีวิตให้พอดีกับฐานะ ใช้ทรัพย์อย่างประหยัดพอเหมาะพอควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองหรือใช้ฟุ่มเฟือยเกินไป ดังคำกลอนที่ท่านสุนทรภู่ ได้แต่งเป็นคติสอนใจว่า "มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าได้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน"

ส่วนประโยชน์ในชาติหน้า หมายถึง ประโยชน์ในภพหน้าอันจะติดตามผู้ทำไป ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ

1. ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เช่นเชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น

2. ถึงพร้อมด้วยศีล คือ การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย ไม่มีโทษ

3. ถึงพร้อมด้วยการบริจาค คือ สละทรัพย์หรือสิ่งของให้เป็นสาธารณกุศลต่างๆ เช่น สร้างวัด โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น

4. ถึงพร้อมด้วยปัญญา คือ รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น

ท่านผู้มีปัญญา เมื่อได้ทราบประโยชน์ 2 อย่าง คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน นับได้ว่าไม่ขัดสนอับจนในชีวิต และประโยชน์ในชาติหน้า นับได้ว่า ได้ตระเตรียมเสบียงในการเดินทางคือกุศล ความดีไว้ก่อนที่ จะเดินทางไป ย่อมทำชีวิตเป็นชีวิตที่ดี เป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า

วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ธรรมของสัตบุรุษ


ธรรมของสัตบุรุษ

ธรรมของสัตบุรุษเรียกว่า สัปปุริสธรรม มี ๗ อย่าง คือ

๑. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่น รู้จักว่าสิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์
๒. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล เช่น รู้จักว่าสุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้
๓. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตนว่า เราว่าโดยชาติ ตระกูล ยศ ศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้และคุณธรรมเพียงเท่านี้ ๆ แล้วประพฤติตนให้สมควรแก่ที่เป็นอยู่อย่างไร
๔. มัตตัญญุตาความเป็นผู้รู้ประมาณ ในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิตแต่โดยทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอควร

๕. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควร ในอันประกอบกิจนั้น ๆ
๖. ปริสัญญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน และกริยาที่จะต้องประพฤติต่อประชุมชนนั้นๆ ว่า หมู่นี้เมื่อเข้าไปหาจะต้องทำกริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ เป็นต้น

๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคลว่า ผู้นี้เป็นคนดีควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น


สัปปุริสธรรมอีก ๗ อย่าง

๑. สัตบุรุษประกอบด้วยธรรม ๗ อย่าง คือ มีศัรทธา มีความละอายต่อบาป มีความกลัวต่อบาป เป็นคนได้ยินได้ฟังมาก เป็นคนมีความเพียร เป็นคนมีสติมั่นคง เป็นคนมีปัญญา
๒. จะปรึกษาสิ่งใดกับใคร ๆ ก็ไม่ปรึกษาเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๓. จะคิดสิ่งใดก็ไม่คิดเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๔. จะพูดสิ่งใดก็ไม่พูดเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๕. จะทำสิ่งใดก็ไม่ทำเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๖. มีความเห็นชอบ มีเห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น
๗. ให้ทานโดยเคารพ คือเอื้อเฟื้อแก่ของที่ตัวให้ และผู้รับทานนั้นไม่ทำอาการดุจทิ้งเสีย

ที่มาเว็บพลังจิต http://board.palungjit.com/showthread.php?t=167292

สัปปุริสธรรม ๘


สัปปุริสธรรม ๘ ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ, คุณสมบัติของคนดี

๑. สัทธัมมสมันนาคโต ประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการ คือ

          ก. มีศรัทธา

            ข. มีหิริ

  ค. มีโอตตัปปะ

  ง. เป็นพหูสูต

  จ. มีความเพียรอันปรารภแล้ว

  ฉ. มีสติมั่นคง

  ช. มีปัญญา

๒. สัปปุริสภัตตี ภักดีสัตบุรุษ คือ คบหาสมณพราหมณ์ ท่านผู้ประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการข้างต้น เป็นมิตรสหาย

๓. สัปปริสจินตี  คิดอย่างสัตบุรุษ คือ จะคิดสิ่งใด ก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น

๔. สัปปุริสมันตี ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ คือ จะปรึกษาการใด ก็ไม่ปรึกษาเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น

๕. สัปปุริสวาโจ พูดอย่างสัตบุรุษ คือ พูดแต่คำที่ถูกต้องตามวจีสุจริต ๔

๖. สัปปุริสกัมมันโต ทำอย่างสัตบุรุษ คือ ทำการที่ถูกต้องตามกายสุจริต ๔

๗. สัปปุริสทิฏฐิ มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ คือ มีสัมมาทิฏฐิ เช่นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น

๘. สัปปุริสทานัง เทติ ให้ทานอย่างสัตบุรุษ คือ ให้ตามหลักสัปปุริสทาน เช่น ให้โดยเอื้อเฟื้อทั้งแต่ของที่ตัวให้ทั้งแก่ผู้รับทาน ให้ของบริสุทธิ์ ให้โดยเข้าใจถึงผลที่จะมีตามมา เป็นต้น

บางทีเรียกว่า สัปปุริสธรรม ๗ เพราะนับเฉพาะสัทธรรม ๗ ในข้อ ๑

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประโยชน์ของการหมุนงาน : by เอกกมลเอี่ยมศรี


บทความมีประโยฃน์ ขอเก็บในบล๊อกไว้ช่วยกันอ่านนะครับ
ประโยชน์ของการหมุนงาน : Benefit of Job Rotation
Posted by เอกกมลเอี่ยมศรี , ผู้อ่าน : 26 , 02:54:19 น.  
หมวด : เศรษฐกิจ


สวัสดี ครับ

วันนี้อยากจะคุยกันเรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กรอีกสักครั้ง เพราะหลายท่านอยากให้เขียนเรื่องนี้เยอะหน่อย เพราะจะเกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก และส่งเสริมให้องค์กรพัฒนาขึ้นกว่าเดิม เราก็เลยอาสาจะดำเนินการตามที่ขอครับ

การหมุเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่การทำงาน (Job Rotation) เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพมากตัวหนึ่งของการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลเลยครับ เพราะการที่องค์กรจะทราบว่าใครเก่งไม่เก่งในด้านใด จากการวิเคราะห์ Job Analysis รายบุคคลและตำแหน่งแล้วก็ตาม แต่ก็มีความจำเป็นจะต้องนำคนเก่งและไม่เก่ง หมุนเปลี่ยนงานกันไปในหลายหน้าที่ เพื่อให้เกิดทักษะขั้นสูง และนำคนเก่งๆ ไปพัฒนาจุดที่มีปัญหาหรือส่งเสริมจุดที่อ่อนแอให้มีความแข็งแกร่งขึ้น การที่องค์กรจะประสบความสำเร็จขั้นสูงเหนือกว่าคู่แข่งได้นั้นจำเป็นที่จะต้องมีจุดอ่อนน้อยกว่าคู่แข่ง ดังนั้น กลยุทธ์ของ HR เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการกำหนดขุนพล  แม่ทัพ นายกอง ที่เหมาะสมกับงานและสถานการณ์ ในโลกแห่งการแข่งขันในปัจจุบันนี้สามารถพิสูจน์ได้ว่า "การที่จะหาพนักงานเก่งๆ มาทดแทนกันในบางตำแหน่งนั้นหายากมาก" นอกจากนี้อาจจะต้องใช้งบประมาณที่สูงมากในการสร้างคนเก่งขึ้นมาสักคน หรือ หาคนที่เหมาะสมที่สุดและขยับพวกเขาให้มีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วยงานที่ยากขึ้น กระบวนการ Job Rotation จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการค้นหาคนเก่งที่เก่งจริงๆ หรือ เก่งหนือเก่ง (มาเหนือเมฆ)

กระบวนการวางแผนการทำงานที่ถูกต้องของการหมุนพนักงานไปยังตำแหน่งต่างๆ ในองค์กร จึงมีบทบาทที่สำคัญและเสริมสร้างตำแหน่งที่อ่อนแอให้ได้รับการปรับปรุง และช่วยให้การจัดการสภาพแวดล้อมที่เกิดจากการรวมกลุ่มของพนักงานบางกลุ่ม (ที่ไม่ดีต่อองค์กร) ถ้าจะแยกประโยชน์ของการหมุนเวียนพนักงานไปตามตำแหน่งต่างๆ ภายในองค์กรนั้น มีประโยชน์ดังนี้

ประโยชน์ของการหมุนงาน

จะช่วยให้ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลสามารถค้นพบความเก่งของพนักงานเพิ่มขึ้น : การหมุนพนักงานไปตำแหน่งต่างๆ ถูกออกแบบมาเพื่อแสดงให้พนักงานเข้าใจกระบวนการทำงานแบบทั่วทั้งองค์กร  และทำให้ผู้จัดการ HR ได้ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวพนักงานบางคน  เพราะการที่พวกเขาถูกย้ายไปยังหน่วยงานที่แตกต่างไปจากเดิม ทำให้พวกเขาจำเป็นจะต้องพัฒนาทักษะการเรียนรู้ เกี่ยวกับรูปแบบการทำงานที่เกิดขึ้นใหม่ และเข้าใจปัญหาของหน่วยงานใหม่ที่เข้าไปทำงาน รวมทั้งอาจจะสามารถเข้าไปเสนอแนะ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานในกระบวนการนั้นได้
จะช่วยให้ทราบความสนใจของบุคคลเหล่านั้น : บางครั้งพนักงานไม่ได้ตระหนักถึงความต้องการของตนอง จนกระทั้งจำเป็นจะต้องดำเนินการเองหรือจะต้องเข้าไปทำงานบางอย่างแบบเฉพาะเจาะจง  ถ้าการหมุนงานของพนักงานต้องเผชิญกับการทำงานที่แตกต่างกัน พวกเขาจะสามารถระบุสิ่งที่ดี สิ่งที่ควรปรับปรุง และการปรับตัวให้สนุกกับการทำงาน  หากพวกเขาได้รับโอกาส และมีการสำรวจความสนใจที่ถูกต้องเหมาะสม และมีการนำศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวพนักงานออกมาใช้
ระบุความรู้ทักษะและทัศนคติ : การหมุนงานของพนักงาน จะช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ทราบ และระบุ Knowledge, Skills and Attitudes : KSA (ความรู้ ทักษะ และทัศนคติ) ซึ่งสามารถกำหนดตัวผู้ที่ต้องการปรับปรุง หรือ ยกระดับทักษะของพวกเขาเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่ดีขึ้นกับองค์กร  ซึ่งจะไปเชื่อมต่อกับการวิเคราะห์ความต้องการด้านการฝึกอบรมและการพัฒนาพนักงานเพื่อให้พวกเขาสามารถผลิตผลงานที่ดีออกมาได้
กระตุ้นให้พนักงานจัดการกับความท้าทายใหม่ๆ : เมื่อพนักงานมีการสัมผัสกับงานที่มีความแตกต่าง หรือมอบหมายงานใหม่ที่พวกเขาต้องพยามทำให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีที่สุด  ในขณะเดียวกันก็จำเป็นจะต้องรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นของพวกเขาในลักษณะงานที่แตกต่างไปจากเดิม  เพราะความท้าทายจะทำให้พวกเขามีความพยามที่จะทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมในทุกขั้นตอน  นอกจากนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่าพวกเขามีความสามารถไม่น้อยกว่าคนอื่นๆ  สิ่งนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันในทางทีดีขึ้นภายในองค์กร  เพราะทุกคนอยากจะทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม ดีกว่าบุคคลอื่นๆ
ความพึงพอใจและลดอัตราการขัดแย้ง : การหมุนงานของพนักงานจะสร้างความแตกต่าง และการสร้างฟังก์ชั่นการทำงานที่เพิ่มระดับความพึงพอใจของพวกเขา เพราะการเปลี่ยนงานจะช่วยลดความเบื่อหน่ายในการทำงานเดียวเป็นเวลานานๆ  นอกจากนี้ยังลดอัตรการเสียดสีระหว่างพนักงานภายในแผนก หรือ องค์กร ที่อยู่ในตำแหน่งใดๆ นานเกินไป


ข้อพึงระวังจากการหมุนเวียนพนักงานที่ไม่เหมาะสม

การหมุนเวียนหน้าที่การทำงานของพนักงานต้องทำอย่างเหมาะสม :  ทีมงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลจำเป็นจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในภาระงานต่างๆ ของหน่วยงานภายในองค์กรอย่างถ่องแท้  เข้าใจคุณสมบัติของตำแหน่งงานนั้นๆ  และได้ทำการวิเคราะห์ค่างาน Job Analysis มาอย่างดีของพนักงานทุกคนในองค์กร  เพราะถ้า ทีมงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล ไม่เข้าใจข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นอย่างดี (ขอย้ำอย่างดี) จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาทันที และจะทำให้กระบวนการทำงานผิดพลาดได้ง่าย หรืออาจจะทำให้องค์กรสูญเสียตำแหน่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งได้
ฝ่ายงานบางอย่าง หรือ ตำแหน่งงานบางตำแหน่ง : จำเป็นจะต้องใช้พนักงานที่มีทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ และอื่นๆ ที่สะสมมาเป็นเวลานาน ทำให้ยากแก่การหาบุคคลอื่นๆ มาทดแทน ถ้าเป็นลักษณะนี้ (ห้ามหมุนเวียนพนักงานเด็ดขาด) แต่ให้ใช้วิธีการสร้างทายาทผู้สืบทอดตำแหน่ง อย่างน้อย 2 คน เพราะคุณไม่รู้ว่าพวกเขาเก่งแล้วจะลาออก หรือไม่
ทีมงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล จะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติของพนักงาน : การที่ทีมงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะทำแผน Job Rotation จำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจก่อนว่า พวกเขามีทัศนคติอย่างใด  สนใจเรื่องอะไร  ห้ามนำพวกหัวรุนแรง ไปรวมตัวกัน  หรือพวกที่ มาสาย บ่ายนอน  เย็นเมา มาทำงานในตำแหน่งที่สำคัญๆ หรือหน่วยงานที่มีความสำคัญๆ และจะต้องทำงานแบบหมุน 360 องศา (เด็ดขาด)
อย่าได้นำระบบอุปถัมภ์ มาใช้จนมากเกินไป : องค์กรทุกแห่งจะต้องมี เด็กนายฝากมา  หน่วยงานที่ใกล้ชิดลูกค้าหาเงินง่าย  หน่วยงานที่มีผลประโยชน์สูง ให้ส่งเด็กของฉันไปคุม หรือไปหาผลประโยชน์  หรือ น้องคนนี้กิ๊กฉัน ให้ทำงานสบายๆ เป็นคุณนายสวยตลอดเวลา  ก็ต้องพยามลดลงนิ๊ดหนึ่งนะครับ


สุดท้ายนี้ก็ขอเล่าเรื่องเบาๆ แบบไม่ต้องเครียดมากเพียงเท่านี้ก่อน แล้วเราจะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการ HR ให้ทราบเรื่อยๆ เพื่อจะได้เป็นแนวคิด หรือข้อเสนอแนะบางประการครับ และหวังเป็นอย่างสูงว่าจะเป็นประเโยชน์สำหรับทุกๆ ท่าน



ขอให้ทุกๆ ท่านโชคดี

เอกกมล  เอี่ยมศรี

ผู้เรียบเรียง

http://www.interfinn.com

http://eiamsri.wordpress.com


วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สงเคราะห์เพื่อนบ้าน khaosod


สงเคราะห์เพื่อนบ้าน

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com


คําว่า สงเคราะห์ หมายความว่า การช่วยเหลือกัน มี 2 อย่าง คือ



1.สงเคราะห์ด้วยอามิส



2.สงเคราะห์ด้วยธรรม



ประการที่ 1 การสงเคราะห์ด้วยอามิส ได้แก่ การช่วยเหลือด้วยอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค หรือทรัพย์สินเงินทองในเมื่อเพื่อนบ้านขัดสน อันเกิดแต่ข้าวยากหมากแพง บ้านถูกไฟไหม้ ประสบภัยน้ำท่วม หรือถูกโรคภัยเบียดเบียน ไม่สามารถทำการงานได้ ซึ่งบ่ายหน้ามาหา ไม่ทำนิ่งเฉยหรือดูถูกเหยียดหยาม แต่ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลตามฐานะ เพื่อให้เขาคลายทุกข์มีความสุขได้บ้าง



ประการที่ 2 การสงเคราะห์ด้วยธรรม ได้แก่ การแนะนำพร่ำสอนให้เขารู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ พยายามป้องกันมิให้เพื่อนบ้านประพฤติผิด เมื่อเพื่อนบ้านถลำตัวเข้าไปอยู่ในทางแห่งความผิดก็พยายามแก้ไข ถ้าสามารถจะทำได้ก็นำเขาออกจากทางแห่งความผิดนั้นเสีย เมื่อเพื่อนบ้านเดินอยู่ในทางที่เรียบร้อยคือถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ก็ยินดีส่งเสริมให้กำลังใจ



การสงเคราะห์ผู้อื่นก็เพื่อผูกใจของผู้ได้รับการช่วยเหลือให้คิดถึง นึกถึง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะไว้ให้ยึดธรรมะ 4 ข้อ คือ



ข้อที่ 1 ทาน ได้แก่ การอุดหนุนจุนเจือ สงเคราะห์ ช่วยเหลือด้วยทรัพย์หรือวัตถุสิ่งของ เช่น อาหาร เสื้อผ้า เป็นต้น บุคคลผู้มีอัธยาศัยกว้างขวาง ไม่คับแคบ สงเคราะห์อนุเคราะห์แก่ผู้ควรสงเคราะห์ มีใจประกอบด้วยเมตตาเช่นนี้ หรือผู้ที่เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ มีจิตใจเอื้อเฟื้อแก่มหาชน เช่น สร้างถนน ขุดคลอง ทำสะพาน เป็นสาธารณะแก่หมู่ชนเช่นนี้ ย่อมได้รับความรักเคารพนับถือ สมานไมตรีไว้ทุกชั้น ดังคำว่า ?ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้?



ข้อที่ 2 ปิยวาจา ได้แก่ การเจรจาวาจาที่ไพเราะอ่อนหวาน ย่อมเป็นที่พอใจของชนทุกชั้น เพราะเป็นคำพูดจับใจ ชวนให้ฟัง ให้เกิดอุตสาหะ พยายามทำการงานและสมานไมตรี แม้ผู้เป็นนายจ้าง ถ้าเป็นผู้รู้จักพูดเอาใจลูกน้องให้ทำการงานหนักๆ หรือยากลำบาก ก็ประสบความสำเร็จได้ด้วยความชื่นบานของเขาและสมความประสงค์ของตน ดังคำว่า ?เปล่งวาจางามยังประโยชน์ให้สำเร็จ?



ข้อที่ 3 อัตถจริยา ได้แก่ ประพฤติสิ่งเป็นประโยชน์แก่กัน งดเว้นสิ่งที่เป็นโทษ อันทำให้เกิดความเสียหายแก่กัน ไม่ทำเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผู้อื่นต้องเสียหาย เช่น ในเรื่องของชื่อเสียง หรือทรัพย์สมบัติ ผู้ที่ไม่ทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนเสียหาย จะโดยทางตรงหรือทางอ้อมเช่นนี้ ย่อมได้รับความเคารพนับถือจากผู้อื่น เป็นเหตุให้ผู้อื่นเห็นอกเห็นใจ



ข้อที่ 4 สมานัตตตา ได้แก่ ความเป็นผู้ประพฤติตนเสมอต้นเสมอปลาย เคยเคารพนับถือกันมาอย่างใดก็ดำรงตนให้เป็นปกติอย่างนั้น เคยช่วยเหลือกันมาอย่างใดก็ช่วยเหลือกันอย่างนั้น ไม่ดูถูก เหยียดหยามในเมื่อฝ่ายหนึ่งต่ำต้อยกว่าตน ไม่ว่าจะด้วยตำแหน่งหน้าที่ หรือทรัพย์สินเงินทอง



ผู้มีคุณธรรม 4 ประการดังกล่าวมานี้ ชื่อว่าสามารถผูกใจผู้อื่นไว้ได้และได้อานิสงส์ดังต่อไปนี้



1.มีเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจผู้อื่น ไว้ได้