วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สัจจะ khaosod


สัจจะ

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร/watdevaraj@hotmail.com 0-2281-2430


สัจจะนั้นได้แก่ความจริง ความซื่อสัตย์หรือความซื่อตรง ซึ่งตรงกันข้ามกับความไม่จริงหรือความเท็จ ความคดโกง



ผู้ที่เกิดมาในโลกนี้ทุกคน ต่างก็ต้องการความจริง ความซื่อสัตย์หรือความซื่อตรงด้วยกัน ทุกเพศทุกวัย ไม่มีใครต้องการความเท็จ ความไม่จริง ความคดโกงเลย แต่ความจริงหรือความซื่อตรงนี้ เป็นของจริงซื่อตรงอยู่อย่างนั้นตามธรรมชาติ ไม่เปลี่ยนแปลงแปรผันเป็นอื่นไปได้ จะปรากฏความจริงหรือความซื่อตรงออกมาให้รู้ให้เห็น ก็ต้องอาศัยคนหรือวัตถุเป็นเครื่องแสดงออกมาให้ปรากฏ



ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะเนื่องด้วยคนเท่านั้น เพราะคนมีจิตหรือวิญญาณคอยสั่งงานให้เคลื่อนไหวแสดงอาการต่างๆ ออกมาให้ปรากฏ สัจจะความจริงหรือความซื่อตรงจึงเนื่องอยู่เฉพาะกับคน จัดเป็นธรรมเครื่องผูกพันสามัคคีในระหว่างกันและกันให้สนิทสนมมั่นคง



ถ้าคนขาดสัจจะแล้ว สามัคคีย่อมเป็นไปไม่ได้ สามีกับภรรยา ขาดความซื่อตรงต่อกัน ก็วางใจกันลงไปไม่ได้ ยากเพื่อจะปรองดองกัน จะมีแต่ระหองระแหงกัน ต่างก็อยู่กันไม่เป็นสุข หรือหย่าร้างกันไปก็ได้ ต่อเมื่อได้เห็นความซื่อตรงของกันและกัน จึงถูกใจกัน และอยู่ร่วมกันด้วยสามัคคี ญาติกับญาติ มิตรกับมิตร ถ้าคิดระแวงกัน ต่างก็ย่อมไม่คบหากันจริง เพราะไม่ไว้วางใจกัน ต่อเมื่อเกิดความ เชื่อถือกัน จึงไว้วางใจกัน ความมั่นใจไมตรีสามัคคีก็เกิดขึ้น แม้ที่สุด คนที่ซื้อขายด้วยกัน ถ้าขาดความซื่อตรงคิดแต่จะเอารัดเอาเปรียบกัน ย่อมทำการด้วยกันไม่ยืด



สัจจะ ความซื่อตรงนี้ ย่อมมีประโยชน์และเป็นธรรม บัณฑิตทั้งหลาย จึงจัดเป็นองค์อันหนึ่งในศีล 5 ศีล 8 หรืออุโบสถศีล ศีล 10 คือ ศีลข้อที่ 4 จัดเป็นธรรมจริยาฝ่ายสุจริตเรียกว่า วจีสุจริต จัดเป็นพุทธการกธรรม คือธรรมะที่เป็นคุณทำให้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่าสัจจ บารมี ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญ เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงตั้งสัจจะเป็นหลักคือพระโพธิ ญาณ ทรงบำเพ็ญมุ่งตรงต่อพระโพธิญาณนั้นอย่างเดียว ไม่ทรงเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นทรงได้รับการพยากรณ์จากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็นหน่อเนื้อเชื้อสายพระพุทธเจ้า จักได้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต และได้รับการพยากรณ์เช่นเดียวกันนี้ จากพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อๆ มาอีก 23 พระองค์ ใช้เวลายาวนานถึง 4 อสงไขยกับแสนกัปป์ เพราะความซื่อตรงต่อพระโพธิญาณนี้เอง จึงส่งผลให้ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัจจะจึงมีประโยชน์และเป็นธรรมอย่างนี้



สัจจะ ความซื่อตรงนี้ ต้องฝึกปฏิบัติให้เป็นไปโดยลักษณะคือ สัจจะต่อตนเอง สัจจะต่อวาจาของตน สัจจะต่อหน้าที่ สัจจะต่อการงาน สัจจะต่อบุคคล และสัจจะต่อสังคม



สัจจะต่อตนเองนั้น ได้แก่ ความซื่อตรงต่อตนเอง คือไม่เบียดเบียนตนเอง ด้วยความประพฤติในทางเสื่อมเสียหาย ไม่ประพฤติตนเป็นคนมัวเมาคลุกคลีทำเพศสัมพันธ์กับหญิงหรือชายจนเกินพอดี ไม่ดื่มเครื่องดองของมึนเมาและเสพสิ่งเสพติดทุกอย่าง วางตนให้ห่างไกลจากการพนันทุกชนิด คุ้มครองรักษาสุขภาพพลา นามัยของตนให้ดี ด้วยการไม่เที่ยวกลางคืน สมาคมคบ หากับกัลยาณมิตรเป็นเพื่อนร่วมคิดเป็นมิตรร่วมใจร่วมการงานใฝ่ใจแสวงหาความเจริญมั่งคั่ง ด้วยความอดทนขยันหมั่นเพียรประกอบกิจทำการงาน ไม่เกียจคร้าน



สัจจะต่อวาจาของตน ได้แก่ ความซื่อตรงต่อวาจา คือรู้จักรักษาคำพูด พูดอย่างใดต้องทำอย่างนั้น พูดจริงทำจริงไม่คลาดเคลื่อน พูดให้คำมั่นสัญญาหรือบนบานอย่างใดไว้ ต้องรักษาและปฏิบัติคำมั่นสัญญาหรือคำบนบานอย่างนั้น ไม่ทำให้เสียสัตย์



สัจจะต่อหน้าที่ ได้แก่ ความซื่อตรงต่อหน้าที่ที่ตนมีที่ตนเป็น ไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกัน ไม่หลบหลีกละทิ้งหน้าที่ที่ตนต้องทำ ไม่ทำในสิ่งที่มิใช่หน้าที่ของตน



สัจจะต่อการงานนั้น ได้แก่ ความซื่อตรงต่อการงาน มีความพอใจสนใจจดจ่อมุ่งหน้าทำการงานให้สำเร็จเป็นคนสู้งาน ไม่ละทิ้งปล่อยงานให้คั่งค้าง ไม่ผัดวันเวลาเป็นเครื่องกำหนด งานส่วนใดควรทำให้เสร็จในวันเวลานี้ ก็รีบจัดรีบทำให้เสร็จเรียบร้อย ด้วยอาจหาญร่าเริง ไม่ว่างานจะยากหรือง่ายหนักหรือเบา



สัจจะต่อบุคคล ได้แก่ความซื่อตรงต่อกันและกัน ระหว่างสามีกับภรรยา บิดามารดากับบุตรธิดา ญาติกับญาติ ผู้ใหญ่กับผู้น้อย เป็นต้น



สัจจะต่อสังคมนั้น ได้แก่ความซื่อสัตย์ต่อระเบียบ กฎ ข้อบังคับ ข้อกำหนด กฎหมาย ที่สังคมตั้งไว้เป็นหลักทำความประพฤติของคนในสังคมให้อยู่ในขอบเขต ป้องกันคนชั่วรักษาคนดี เพื่อการอยู่ร่วมกันโดยสงบร่มเย็นเป็นสุข ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยตามเสียงส่วนมาก ก็ต้องยอมรับไม่ล่วงละเมิด