วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รู้จักประมาณ khaosod

รู้จักประมาณ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



ใน หมู่มนุษย์และสัตว์ทุกจำพวก ต่างมีความปรารถนาต้องการความสุขด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะมนุษย์ซึ่งเป็นผู้มีสติปัญญาสูง มีความรู้ความสามารถมากกว่าสัตว์เหล่าอื่น เพราะว่ามนุษย์รู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ดังนั้น จึงดิ้นรนแสวงหาความสุขให้แก่ตนเอง ความปรารถนาหาความสุขนั้นมีทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เมื่อใดมนุษย์แสวงหาความสุขอย่างไม่มีขอบเขต ปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลส ความทุกข์ความเดือดร้อนก็จะเกิดขึ้นทั้งแก่ตนและผู้อื่น เพราะเป็นการดิ้นรนเกินขอบเขต เกินประมาณที่พอดี

คำว่าประมาณ หมายถึง การกะ กำหนด คาดคะเน คาดหมาย ในการประมาณนั้น ท่านแสดงการประมาณไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ 1.ประมาณในการแสวงหา 2.ประมาณในการรับ และ 3.ประมาณในการบริโภค

ประการที่ 1 ประมาณในการแสวงหา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงลักษณะการแสวงหาไว้ 2 อย่าง คือ 1.การแสวงหาอย่างประเสริฐ ได้แก่ การแสวงหาทางดับความทุกข์ ทั้งที่เป็นทุกข์ประจำสังขาร หรือทุกข์อื่นใด ล้วนไม่เป็นที่พึงประสงค์ของใครๆ มนุษย์ทั้งหลายทั้งในอดีตและปัจจุบันจึงแสวงหาทางดับทุกข์เหล่านั้น ทางดับทุกข์ดับกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง พระบรมศาสดาทรงตรัสความจริงอย่างประเสริฐ 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เมื่อดำเนินตามหลักความจริงนี้แล้ว ย่อมสามารถสลัดออกจากกองทุกข์ สละภพ สละชาติได้ คือ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีกต่อไป การแสวงหาอย่างนี้เรียกว่า การแสวงหาอย่างประเสริฐ 2.การแสวงหาอย่างไม่ประเสริฐ ได้แก่ การแสวงหาที่เป็นไปตามคดีโลก เช่น การแสวงหาเกียรติยศ ลาภ สุข สรรเสริญ ซึ่งเป็นที่ปรารถนาของชาวโลก จึงมีการดิ้นรนแสวงหากันมาก ถ้าผู้ใดแสวงหาไม่รู้ประมาณ แสวงหาในทางที่ไม่ถูกต้อง ความทุกข์ ความเดือดร้อนก็จักเกิดมีแก่ผู้นั้น

ประการ ที่ 2 ประมาณในการรับ การรับเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องการ โดยเฉพาะในสิ่งที่น่าปรารถนา จะเห็นได้ว่าเมื่อตอนที่เราเป็นเด็ก อยู่ในฐานะที่จะรับการอนุเคราะห์สงเคราะห์จากบิดามารดา แต่เมื่อเติบโตขึ้นมา มีการศึกษา มีงานทำแล้ว จะเป็นผู้รับฝ่ายเดียวดูจะไม่สมควร เพราะการคอยแบมือรับจากบิดามารดาอยู่ร่ำไปก็เป็นเด็กที่ไม่รู้จักโต ฉะนั้นจึงควรเป็นผู้รู้ประมาณในการรับ รู้ฐานะของตน การรู้จักความพอดี พอประมาณนั้น จะเป็นสื่อสร้างความนิยมชมชอบ เป็นที่เมตตาเอ็นดูของผู้ให้

ประการ ที่ 3 ประมาณในการบริโภค การรับประทานและการใช้สอยต้องรู้จักประมาณในการบริโภคใช้สอย การบริโภคอาหารนั้นไม่ควรมากหรือน้อยเกินไป คือควรกินอย่างพอประมาณ กินอย่างมีสติ ไม่มัวเมาในรสอาหาร ส่วนการใช้สอยทรัพย์ควรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสูด โดยยึดหลักการเลี้ยงชีวิตพอสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่สุรุ่ยสุร่าย

ฉะนั้น ท่านสาธุชนทั้งหลายควรเป็นผู้รู้จักประมาณ คือความพอดี รู้ประมาณทั้งในการแสวงหา ทั้งในการรับ ทั้งในการบริโภคใช้สอย ให้พอดี พอเหมาะ พอควร ชีวิตก็จะมีแต่ความสุข ไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจในที่ทุกสถานในกาล ทุกเมื่อ



พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting

Citizen's Property From Khaosod

คุณสมบัติพลเมือง

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



ชาว ไทยทุกคนได้นามว่าเป็นพลเมือง อันหมายความว่าผู้เป็นกำลังของเมือง เมืองไทยจะทรงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยชาวไทยทุกคนเป็นกำลังเป็นเรี่ยวแรงช่วยกัน พยุงไว้ไม่ให้ล่มจม ชาวไทยทุกคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองของประเทศชาติและพระศาสนา ก็เพราะทำหน้าที่ของพลเมืองโดยสมบูรณ์ ทำตนให้พร้อมมูลด้วยคุณสมบัติ ของพลเมือง 3 ประการด้วยกันคือ 1.ความเป็นผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ 2.ความเป็นผู้มีเกียรติ 3.ความเป็นผู้มีไมตรีต่อกัน

ประการที่ 1 ความเป็นผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัติในที่นี้ ท่านประสงค์เอาเฉพาะพัสดุ จำแนกออกเป็น 2 สิ่งคือ 1.ที่เป็นทรัพย์โดยตรง เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้สอย เป็นต้น จัดเป็นโภคทรัพย์ 2.สิ่งที่เป็นกลางสำหรับแลกเปลี่ยนโภคทรัพย์นั้น ได้แก่ เงินตรา เป็นต้น จัดเป็นธนทรัพย์ ทรัพย์เป็นกำลังในอันจะยังกิจ ที่จะพึงทำให้สำเร็จ ทั้งในส่วนของบุคคลและในส่วนของประเทศชาติ ในส่วนของบุคคล เช่น การเลี้ยงตน เลี้ยงครอบครัว สงเคราะห์ญาติ มิตร ทำบุญทำทาน เป็นต้น ในส่วนของประเทศชาติ เช่น การบำรุงให้ประเทศชาติเจริญ เสียภาษีอากร เป็นต้น กิจเหล่านี้ต้องอาศัยทรัพย์เข้ามาอุดหนุนเป็นส่วนใหญ่ อีกอย่างหนึ่ง การที่เราจะได้ทรัพย์มานั้น สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสไว้ว่า ต้องเป็นคนขยัน ทำให้เหมาะเจาะแก่กาลเทศะ และความเป็นผู้เอาใจใส่ไม่ทอดธุระ ย่อมหาทรัพย์ได้

ประการที่ 2 ความเป็นผู้มีเกียรติ หมายความว่า การอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ ควรทำตนให้เป็นคนดี สมควรที่เขาจะพึงยกย่องนับถือ ถ้ายิ่งทำอุปการะให้แก่หมู่คณะด้วย ก็ยิ่งจะช่วยเพิ่มความนับถือของชุมชน นั้นจัดเป็นเกียรติ คือ ชื่อเสียงดี และเกียรตินั้นจะเกิดมีด้วยการดำเนินตนให้มีคุณสมบัติทัดเทียมกัน มีความเพียรหาเลี้ยงชีพของตนและครอบครัว มีสติรู้จักระมัดระวังรอบด้าน สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสว่า คนย่อมได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์ จะเห็นได้ว่า ผู้มีความซื่อสัตย์ มีวาจาเชื่อถือได้ ให้ปฏิญญาแก่ใครแล้ว ไม่กลับคำเสีย ไม่คิดร้ายต่อพวกพ้องและแผ่นดินถิ่นที่อยู่อาศัย บุคคลเช่นนี้ย่อมสามารถทำตนให้เป็นประโยชน์แก่หมู่คณะได้เป็นอย่างดี จึงนับว่าเป็นผู้มีเกียรติอย่างแท้จริง ฉะนั้น ผู้เป็นพลเมืองของประเทศชาติทุกคนจึงควรสร้างตนให้มีหลักฐาน มีความซื่อสัตย์สุจริต จึงสามารถ เป็นกำลังของบ้านเมืองได้โดยแท้

ประการ ที่ 3 ความเป็นผู้มีไมตรีต่อกัน คือ ความเป็นมิตรสหายกัน คนที่ไร้มิตรเมื่อมีกิจเกิดขึ้นก็ต้องขวนขวายทำตามลำพัง คนที่มีมิตรมากเพียงใด ชื่อว่า มีกำลังเพียงนั้น อีกอย่างหนึ่งไมตรีจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยธรรม 4 ประการคือ 1.ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน 2.เจรจากันด้วยคำไพเราะ 3.ช่วยกันทำกิจต่างๆ 4.วางตนสนิทสนมโดยความเป็นกันเอง ธรรม 4 ประการนี้ ผู้ฉลาดรู้จักใช้ให้เหมาะแก่กาลเวลาย่อมสามารถผูกไมตรีกับคนทั้งหลาย

คุณสมบัติ พลเมือง 3 ประการ คือ ความเป็นผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ ความเป็นผู้มีเกียรติ และความมีไมตรีต่อกัน ย่อมเป็นกำลังตั้งมั่นแห่งประเทศชาติ พลเมืองของประเทศชาติสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ย่อมพาให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ไม่เสื่อมถอยตกต่ำตลอดไป

พระเทพคุณาภรณ์

(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

That's what friends are for.

And i, never thought I'd feel this way
And as far as I'm concerned
I'm glad I've got a chance to to say
That I do believe I love you

And if i, I should ever go away
Well than close your eyes
And try to feel the way we do today
And then if you can't remember

Keep smiling (smiling)
Keep shining (shining)
Knowing you can always count on me
For sure
That's what friends are for
For the good times (good times)
And the bad times (bad times)
I'll be on your side forevermore
That's what friends are for
Yeah

And i, though you heard it all before
Well I'll tell you one more time
So I can be completely sure
So you know how much I love
And if I should ever go away
Well then close your eyes and try
To feel the way we feel this day
And then if you can't remember

Keep smiling (smiling)
Keep shining (shining)
Knowing you can always count on me
For sure
That's what friends are for
Oh in good times (good times)
And in bad times (bad times)
I'll be on your side forevermore
That's what friends are for

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

That's what friends are for (1) ? Khaosod

'เพื่อน' สิ่งสำคัญในชีวิต (ตอนที่ ๑)

โลกนี้ไม่สิ้นกลิ้นธรรม

ศิษย์อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก-พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา





อันเพื่อนดี มีหนึ่ง ถึงจะน้อย

ดีกว่าร้อย เพื่อนคิด ริษยา

เปรียบเหมือนเกลือ มีน้อย ด้อยราคา

ยังดีกว่า น้ำเค็ม เต็มทะเลฯ



ลอน โบราณบทนี้ ติดหูผมมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือชั้น ม.ต้น คงเพราะ "โดนใจ" มาตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน ด้วยชีวิตครอบครัวที่ไม่อบอุ่นนัก จึงต้องมีสถาบันเพื่อน เป็นสถาบันหลัก สถาบันหนึ่งในชีวิต ก็ว่าได้

คุณเพ็ญ (ขออนุญาตใช้นามแฝง) แฟนคอลัมน์ท่านหนึ่ง จุดประกายให้ผมเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมา แฟนคอลัมน์ของอาจารย์เสฐียรพงษ์นั้น น่ารักทุกท่านครับ หลายคนส่งอีเมล์มาหาผม ขอให้อาจารย์หายไวๆ บ้าง ให้กำลังใจบ้าง แบ่งปันความคิดเห็นเรื่องต่างๆนานา ธรรมะบ้าง ชีวิตบ้าง ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนเป็นการกระตุ้นให้โลกนี้ ไม่สิ้นกลิ่นธรรม ได้จริงๆ ครับ แม้ "กลิ่นธรรมะ" หรือ "กลิ่นผู้มีศีล" นั้น จะไม่หอมเตะจมูกเหมือนน้ำหอมแรงๆ หลายยี่ห้อ (ยี่ห้ออะไร ก็นึกกันเองนะครับ เพราะผู้เขียนไม่เคยใช้น้ำหอม) แต่ กลิ่นหอมเย็นใจของผู้มีศีล มีธรรมนั้น หอมทวนลม ไปเป็นระยะไกลหลายร้อยกิโลเมตรทีเดียว ดังนั้น คุณเพ็ญและทุกๆ ท่าน ช่วยสืบต่อแรงโมเมนตัมแห่งกลิ่นธรรมแห่งพระพุทธเจ้าได้จริงๆ ครับ



'เพื่อน' นั้นสำคัญไฉน?

"การคบเพื่อนเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ที่จะนำชีวิตไปสู่ความเสื่อมความพินาศ หรือสู่ความเจริญงอกงาม พึงหลีกเลี่ยงมิตรเทียมและเลือกคบหาคนที่เป็นมิตรแท้"

(พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ หน้า ๒๗๖)



มันเกี่ยวกับธรรมะยังไง?

"เกี่ยว" แน่นอนครับ เกี่ยวมากๆ ด้วย แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังยกไว้ให้เป็นมงคลต้นๆ ในมงคล ๓๘ สูตรเลยทีเดียว ตามที่เรารู้กันว่า มงคล ๓๘ ค่อยๆ ไล่จากพื้นฐาน ขึ้นไปจนสูงสุดคือ มงคลที่ ๓๘ คือมีจิตเกษม หรือเข้าถึงพระนิพพานนั่นเอง แต่พื้นฐานที่สุดของการจะมั่นใจแน่ว่าเราอยู่บนเส้นทางกระแสแห่งพระนิพพาน ได้แน่ (On track) ไม่หลุดนอกเส้นทางไปได้ ก็ต้องเริ่มด้วยมงคล ๒ ประการแรกนี้ ที่ว่า...

๑.การไม่คบคนพาล (เพื่อนเลว)

๒.เลือกคบบัณฑิต (เพื่อนดี - กัลยาณมิตร)

เห็นไหมครับ พระพุทธองค์ทรงรอบคอบในการชี้ทางเราขนาดไหน ยกให้การไม่คบเพื่อนชั่วๆ ขึ้นมาเป็นอันดับแรก มงคลแรกกันเลย คล้ายๆ กับว่า หากยังหาเพื่อนดีๆ กัลยาณ มิตรในการคบหาไม่ได้ ก็ไม่สมควรจะคบเพื่อนชั่วๆ เพื่อนเลวๆ ไปพลางๆ ก่อนอยู่ดี คือให้อยู่คนเดียวไปก่อนดีกว่าหลวมตัวไปคบคนเลว ว่างั้น

แต่หากใครได้ศึกษาพระพุทธพจน์หรือในพระสูตรก็ดี มีหลายบท ก็กล่าวไว้ ว่าเพื่อนที่ดี หรือกัลยาณมิตร ที่เราฝากผีฝากไข้ ฝากเป็นฝากตายได้นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ และกัลยาณมิตรองค์ที่ประเสริฐที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ถือเป็นหลัก ก็คือพระพุทธองค์นั่นเอง

"จงมีพระพุทธเจ้าเป็นดั่งกัลยาณมิตร"

เรื่องแบบนี้ ผมไม่ได้พูดเอาเองนะครับ พระพรหมคุณาภรณ์ท่านก็มีบัญญัติไว้ในประมวลศัพท์ (เล่มดังกล่าวข้างต้น) เช่นกัน...

กัลยาณมิตร คืออะไร "กัลยาณมิตร" คือบุคคลที่ช่วยชี้แนวทาง ชักจูงตลอดจนแนะนำสั่งสอน ชักนำผู้อื่นให้ดำเนินชีวิตที่ดีงาม ให้ประสบผลดี และความสุข ให้เจริญก้าวหน้า ให้พัฒนาในธรรม แม้จะเป็นบุคคลเสมอกัน (เช่น เพื่อนฝูง) หรือเป็นมารดา บิดา ครูอาจารย์ ตลอดทั้งพระสงฆ์ จนถึงพระพุทธเจ้า ก็นับว่าเป็นเพื่อน แต่เป็นเพื่อนใจดี เพื่อนมีธรรม

ด้วยเหตุนี้ ชีวิตผมจึงถือเอา "พระพุทธเจ้า" เป็นกัลยาณ มิตร อย่างท่านอาจารย์พุทธทาส เป็นต้น เป็นกัลยาณ มิตร ชีวิตจึงไม่เปล่าเปลี่ยว เงียบเหงาวังเวง แม้ขณะปลีกวิเวกอยู่ลำพังในป่าเขาลำเนาไพรก็ตาม



ดูยังไง ใครเป็นกัลยาณมิตร?

กัลยาณมิตรมีคุณสมบัติที่เรียกว่า "กัลยาณมิตรธรรม" หรือ ธรรมของกัลยาณมิตรมี ๗ ประการ คือ

๑.ปิโย คือ น่ารัก ด้วยมีเมตตา เป็นที่สบายจิตสนิทใจ ชวนอยากเข้าไปหา

๒.ครุ คือ น่าเคารพ ด้วยประพฤติหนักแน่นเป็นที่พึ่งอาศัย ได้ ให้รู้สึกอบอุ่นใจ

๓.ภาวนีโย คือ เจริญใจ ด้วยความเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตน (ภาวนา) ควรเอาอย่าง ให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ

๔.วัตตา คือ รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงแนะนำ เป็นที่ปรึกษาที่ดี

๕.วจนกฺขโม คือ อดทนต่อถ้อยคำ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถาม ตลอดจนคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์

๖.คมฺภีรญฺจกถํ กตฺตา คือ แถลงเรื่องลึกล้ำได้ สามารถอธิบายเรื่องลึกลับซับซ้อนให้เข้าใจ และสอนให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

๗.โน จฏฺฐาเน นิโยชเย คือ ไม่ชักนำไปอฐาน ไม่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสียหรือเหลวไหลไม่สมควร

อ่าน ครบ ๗ คุณสมบัติของกัลยาณมิตรจบแล้ว อย่าเพิ่งทอดถอนใจ ว่า เฮ้อ...ในชีวิตนี้ อยู่มาจนจะเข้าโลงอยู่แล้ว ยังหาไม่มีเลย...โปรดอย่าคิดแบบนั้น ให้คิดใหม่ว่า...

อย่างน้อยตอนนี้ เราก็รู้คุณสมบัติของกัลยาณมิตรทั้ง ๗ แล้ว แม้จะหาไม่มีเพื่อนคนไหนเป็นแบบนั้น เราก็ควรเริ่มต้นใหม่เสียแต่บัดนี้ โดยทำตัวท่านเองนั่นแหละ ให้เป็นกัลยาณมิตรต่อผู้อื่น โดยเริ่มจากคนใกล้ตัวก่อน อย่างนี้จึงจะเรียก คิดบวก (Positive Thinking) แล้ว มันจะค่อยๆ เกิดแรงเหวี่ยง หรือโมเมนตัม รอบๆ ตัวคุณจะเริ่มตระหนักในความดีของคุณ นับเอาคุณเป็นหนึ่งในกัลยาณมิตรของเขา แล้วเพื่อนดีๆ จะดึงดูดซึ่งกันและกัน อันเป็นตรรกะเดียวกันกับเพื่อนเลวๆ ก็ดึงดูดซึ่งกัน ดังภาษิตที่ว่า...ฝนตกขี้หมูไหล คนจัญไรมารวมกัน ฉันใดก็ฉันนั้น นั่นเอง

That's what friends are for (2)? Khaosod

"เพื่อน" สิ่งสำคัญในชีวิต (ตอนที่ ๒) What friends are for? (2)

คอลัมน์ โลกนี้ไม่สิ้นกลิ่นธรรม



ตอน ที่แล้ว ผมยกเอาสเป๊กของกัลยาณมิตรทั้ง ๗ ข้อ มาให้ดูกันแล้วนะครับ (๑.น่ารัก ๒. น่าเคารพ ๓.น่าเจริญใจ ๔.เป็นที่ปรึกษาที่ดี ๕.อดทนต่อถ้อยคำ ๖.แถลงเรื่องล้ำลึกได้ อธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจได้ และ ๗.ไม่ชักนำไปทางเสื่อมเสีย) จากนี้ไปลองนำไปเปรียบเทียบดู ก็คงจะเข้าใจได้เอง ว่าคนรอบๆ ตัวคุณ ใครเป็นกัลยาณมิตรแท้ ใครเป็นเพื่อนเทียม ใครที่น่าจะเป็น คิดว่าใช่ และกลับไม่ใช่กัลยาณมิตร ต้องลองเทียบคุณสมบัติกันเอาเอง

ของมันไม่แน่นะครับ ในหลายครอบครัว แม้จะเป็นญาติกันแท้ๆ บางคนเป็นพ่อ เป็นแม่ แต่กลับไม่ทำตัวเป็นกัลยาณมิตร เช่น ข่าวคราวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่พวกเราก็คงเคยเจอมากมาย พ่อแท้ๆ ข่มขืนลูกสาว แม่แท้ๆ จับลูกสาวไปขายกิน ลูกบังเกิดเกล้ายักยอกสินทรัพย์ในธุรกิจให้คนนอกไปขาย เป็นต้น ใครได้อยู่ใกล้คนแบบนี้มีแต่ทุกข์ ภัยจะมาถึงตัว เช่นนี้ก็ถือว่าเป็นวิบากกรรม ก็แล้วกัน แต่อย่าได้ท้อใจไป เพราะชีวิตเราทุกคน พัฒนาได้ หากยึดถือพระ พุทธเจ้าเป็นดั่งกัลยาณมิตร อันจะพูดในรายละเอียดถัดไป

แฟนคอลัมน์ที่กลายเป็นกัลยาณมิตรของผม อย่างคุณเพ็ญ (นามสมมติ) ส่งอีเมล์เรื่องเพื่อน ๖ ประเภท (แนวจีน) มาให้ ผมพิจารณาดูก็น่าสนใจดี ถ้าเราเปิดใจกว้าง ลองอ่านดูจะเป็นไรไป เขาว่า...



๑. เพื่อนที่รู้ใจและห่วงคุณ

๒. เพื่อนที่มี "ลีลาชีวิต" คล้ายคุณ

๓. เพื่อนที่มีกลเม็ดแยบคายสมเป็น "ลูกพี่"

๔. เพื่อนที่คอยฉุด ช่วยเหลือ เตือนใจด้านการงาน

๕. เพื่อนที่มีลูกเล่นร้อยแปดพันเก้า

๖. เพื่อนที่มากประสบการณ์หรือแก่กว่าคุณ ๑๐ ปีขึ้นไป



อ่านไป คิดไป ก็พบว่า จริงๆ พวกเราก็ต่างมีเพื่อนไว้หลายประเภทเหมือนกันเนอะ แต่ไม่เคยมานั่ง Classify แบ่งหมวด แบ่งกลุ่มแบบนี้สักที ใน ๖ ประเภทนี้ ก็อาจปรากฏได้ในคนๆ เดียว หรือในคนๆ เดียว ก็อาจมีคุณสมบัติจัดอยู่ได้ในหลายๆ หมวดด้วยกัน...แต่ผมไม่แน่ใจ ไอ้ประเภทที่ ๕ นี่สิ เพื่อนที่เปี่ยมไปด้วยแท็กติก (Tricky Friends) แบบนั้น สมควรจะไปคบหาด้วยหรือไม่?

การคบหากัน แม้จะโดยบังเอิญแต่ละครั้ง จึงควรถนอมไว้ เพราะไม่ทราบว่า พลาดจากครั้งนี้ไปแล้ว คุณจะพบเขาอีกเมื่อไหร่ มันอาจจะเป็นครั้งเดียวที่เจอกันเลย ก็ได้ ขอให้ถนอมเพื่อนรอบข้าง มากยิ่งขึ้น นับแต่บัดนี้ ดังคนโบราณกล่าวไว้เป็นภาษิตว่า...

"อยู่คนเดียว ให้ระวังความคิด

อยู่กับมิตร ให้ระวังวาจา"

วจีกรรม ที่ไม่สำรวมและไม่ถูกกาลเทศะนั้น ทำมิตรภาพแตกย่อยยับมานับไม่ถ้วนแล้วครับ

"เพื่อนแท้...แม้พบแล้ว เพียงหนึ่ง เราจึงได้นอนตายตาหลับ"

ภาษิตทางเอเชียเรานี่แหละ นอนตายตาหลับคือหมดห่วงกังวลใดๆ เพราะมีกัลยาณมิตรเป็นที่พึ่งพิง ฝากผีฝากไข้ ฝากเป็นฝากตายได้หมด โดยเฉพาะกัลยาณมิตรที่รู้ธรรม อาจ สามารถปลอบประโลมเรายามทุกข์ท้อ เจ็บป่วย และทั้งสามารถแนะนำ "ความสงบ" นาทีสุดท้าย ก่อนร่างกาย ธาตุขันธ์จะแตกดับไปด้วยซ้ำ ดังเช่นเรื่อง "ท่านอิ๊กคิวซัง" บอกทางหลวงพ่อเจ้าอาวาส ก่อนดับขันธ์ และแนะนำ ซามูไร "ชินเอม่อนซัง" ก่อนดับจิต ทำให้บุคคลทั้งสองเข้าสู่กระแสพระนิพพาน เป็นอริยบุคคลได้ทัน



What friends are for?



ภาษิตฝรั่งว่าไว้ บ่งบอกว่าพวกเขาชอบใช้เพื่อนให้ทำโน่น นี่ นั่น ทำสารพัดให้เลยเนอะ ถึงได้กล่าวว่า

"จะมีเพื่อนไว้ทำไม? (ถ้าไม่ใช้มัน)"

แต่ภาษิตนี้ ก็ยังมีข้อดีอยู่ ตรงที่ว่า "เพื่อนแท้" นั้น มักพิสูจน์ได้ ในยามยาก ยามเกิดวิกฤตชีวิตจริง พึงสังวรใจให้ดีทุกท่าน เพื่อนเก่าแก่แม้จะคบกันมานาน ๒๐-๓๐ ปี มิอาจ การันตีได้ว่าเป็น "เพื่อนแท้" เสมอไป ยามปกติสุขนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างดูราบรื่น สันดานกำพืดแท้ของคน บางทีมันยังไม่ออกมา ต่อเมื่อคุณได้ประสบ เมื่อนั้นคุณจะเข้าใจ ว่า...

ใครคือเพื่อนที่คุณจะกล้าพาไปไต่เขาด้วยเชือกเส้นเดียวกันได้?

ในพุทธมติ ก็มีจัดคุณสมบัติง่ายๆ ครับ สำหรับนำไปใช้วิจัย กรณีที่ยังไม่ทราบใครเป็นกัลยาณมิตรหรือไม่ แยกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรก ๔ ข้อสำหรับคนที่ไม่ควรคบ และกลุ่มหลัง ๔ ข้อสำหรับคนที่ไม่ควรคบ ดังนี้

คนที่ไม่ควรคบ

๑. คนปอกลอก พวกอ้าปากก็มีแต่ผลประโยชน์ ร่วมแต่สุข ทุกข์หัวหด เยอะมากในสังคมเรา

๒. คนดีแต่พูด สากลเขาเรียก "NATO" No Action Talk Only! ชอบทำให้คนหลงคารม วาดหวังลมๆ แล้งๆ ว่า จะทำอย่างนั้น อย่างนี้ให้ พวกนี้จะปากหวานเจี๊ยบ ที่แท้ก้นเปรี้ยว

๓. คนช่างประจบสอพลอ คนพวกนี้ สมัยก่อนมีในทุกชนชาติ ระยะหลังคงเหลือไว้มากทางโซนเอเชียของเรา และมีไม่น้อยในประเทศไทย ปราชญ์จึงเตือนไว้เสมอว่า คำสรรเสริญเยินยอนั้น น่ากลัวกว่า คำตำหนิติเตียนอีก เพราะว่ามองไม่เห็นอันตราย ประสงค์แฝงเร้น (Hidden agenda) ที่ซ่อนไว้ในคำสอพลอนั่นเอง

๔. คนชักชวนในทางเสื่อม คนพวกนี้จะมีรสนิยมไปในทางอบายอยู่แล้ว ชอบชักชวนเราไปในที่อโคจร เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เยาวชนวันรุ่นต้องแยกแยะให้เป็น รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง และตัวเราเองก็ต้องมีหลักการ มีความเป็นตัวของตัวเองไว้ด้วย จึงจะรอดปลอดภัย, พูดถึงเรื่องนี้ ขอโอกาสยกตัวอย่าง ประสบการณ์ตรงให้ลูกหลานฟังไว้เป็นอุทาหรณ์

สมัยผมเป็นวัยรุ่น ค่อนข้างจะซน ครั้งหนึ่งเคยชวนเพื่อนสนิท ๔ คนโบกรถไปเที่ยวลำตะคอง กัน พอเล่นน้ำอย่างชุ่มฉ่ำได้ที่แล้ว ระหว่างขึ้นมาพักบนฝั่ง ผมต้องตกใจเมื่อเห็นเพื่อน ๒ ใน ๔ คน หยิบมวนบุหรี่มาคลี่เขี่ยเอาเส้นยาออก แล้วหยิบก้อนกัญชาเป็นแท่ง พร้อมอุปกรณ์เขียงเล็กๆ หั่นเป็นฝอย มวนเข้าไปแทนไส้บุหรี่แล้วพี้กัญชากันกลางวันแสกๆ กลางทุ่งริมฝั่งลำตะคอง เพื่อนคนที่ ๓ ไม่เอาด้วย แต่ไม่กล้าขัด จึงอาสาเป็นคนช่วยหั่น ผมขึ้นมาเป็นคนสุดท้าย ด้วยความที่เป็นคนโต้โผพามางานนี้ จึงโวยวายต่อว่าพวกเขา...

"ถ้ากูรู้ว่า เอากัญชามาสูบแบบนี้ จะไม่พามาเด็ดขาด"

เขาตอบสวน ทั้งๆ ที่ยังมีสติดีอยู่

"โธ่...ไอ้แอ๊ด เราเกิดมาเป็นลูกผู้ชาย มันต้องลองทุก อย่างสิ"

ผมก็แนะนำอย่างค่อนข้างแรงกลับไปเหมือนกัน

"แล้วทำไม พวกมึงไม่ลอง เอามีดคว้านท้อง แล้วสาวไส้ออกมาดูเล่นๆ ล่ะ เคยลองกันหรือยัง? มันจำเป็นต้องลองทุกอย่างด้วยหรือ?"

บทสนทนาจึงจบแค่ตรงนั้น หลังจากเหตุการณ์นั้นมา ผมก็ค่อยๆ ปลีกตัวเพื่อนแบบนั้นออกมา

นั่นแหละครับ คนที่ชักชวนไปในทางเสื่อม!

ตอนหน้ามาต่อกันที่ คนที่ควรคบเป็นเพื่อน และสามารถพัฒนาให้เป็นกัลยาณมิตรในชีวิตเราได้นะครับ

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แนวทางดำเนินชีวิต khaosod

แนวทางดำเนินชีวิต

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting



บุคคล เกิดมาได้ดำเนินชีวิตเป็นไปอยู่ในโลกด้วยปัญญาที่มีติดตัวตั้งแต่เกิด ด้วยการสำเหนียกศึกษากำหนดจดจำจากบิดามารดาครูอาจารย์ ได้พินิจพิจารณาไตร่ตรองแล้วมารู้จักเหตุ คือมารู้จักว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ แล้วงดเว้นไม่ประกอบสิ่งที่เป็นเหตุแห่งทุกข์เสีย ขวนขวายประกอบแต่สิ่งที่เป็นเหตุแห่งสุขอย่างสม่ำเสมอ

บุคคลผู้ที่ เป็นบัณฑิตคือผู้ฉลาด ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองด้วยอุบายที่แยบคายแล้ว มองเห็นเหตุที่เป็นข้อเปรียบเทียบพอเป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิต 3 ประการ คือ

ประการที่ 1 มองเห็นความหมดสิ้นไปแห่งยาสำหรับหยอดตา ธรรมดายาหยอดตาสำหรับใช้หยอดบำบัดโรคตา ที่บรรจุในหลอด ถ้านำมาหยอดทีละหยดๆ นานไปน้ำยานั้นก็หมดไปจากหลอดที่บรรจุ เพราะไม่มีน้ำยาใหม่มาเพิ่มเติมฉันใด ทรัพย์สินเงินทองเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีอยู่ หากบริโภคใช้สอยไปอย่างฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายแต่อย่างเดียว ไม่แสวงหามาเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็ย่อมถึงความหมดสิ้นไปได้ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อจะใช้จ่ายทรัพย์สินสิ่งของเงินทองท่านก็ให้นึกถึงยาสำหรับหยอดเป็น เครื่องเตือนใจ

ประการที่ 2 มองเห็นการก่อขึ้นแห่งปลวกทั้งหลาย ปลวกนั้นเป็นสัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ อาศัยความรักความสมัครสมานสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกันคาบเอาดินตัวละเล็กตัวละน้อยมาทำที่อยู่อาศัยให้ใหญ่โตมั่นคงแข็ง แรงได้ ข้อนี้ฉันใดบุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ทุกคนจะอยู่โดดเดี่ยวเดียวดายไม่ได้ จะต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นกลุ่ม ฐานเบื้องต้นคือครอบครัว แต่ละครอบครัวก็ขยายออกไปเป็นหมู่บ้าน หลายหมู่บ้านก็รวมเข้าเป็นตำบล หลายตำบลก็รวมเข้าเป็นอำเภอ หลายอำเภอก็รวมเข้าเป็นจังหวัด หลายจังหวัดก็รวมเข้าเป็นประเทศ แต่ละกลุ่มก็ต้องมีหัวหน้าปกครองดูแล ถ้าแต่ละคนในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด หรือประเทศชาติ มีความรักสมัครสมานสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ต่างมุ่งหน้าประกอบกิจทำงานตามหน้าที่ที่ตนมีที่ตนเป็น ดำรงชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่ายพอเหมาะพอควร ไม่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย เมื่อพื้นฐานของชีวิตมีความมั่นคงก็เป็นเหตุอุดหนุนให้หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด รวมถึงประเทศชาติ มีความมั่นคงไปด้วย ฉันนั้นเหมือนกัน

ประการ ที่ 3 มองเห็นการประมวลมาแห่งผึ้งทั้งหลาย ผึ้งเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ มีความสมัครสมานสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ผึ้งแม้จะเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ ก็จริง แต่ก็มีความสามารถในการ ทำรัง ทำน้ำหวาน เมื่อมีอันตรายก็พร้อมใจกันต่อสู้ป้องกัน เพราะความสมัครสมานสามัคคีนั่นเอง ผึ้งจึงสามารถทำรังและน้ำหวาน ใหญ่โตได้ ข้อนี้ฉันใด บุคคลที่ได้อัตภาพเกิดมาเป็นมนุษย์มีจิตใจสูง ดำรงคงอยู่ในปฐมวัยก็ดี มัชฌิมวัยก็ดี ปัจฉิมวัยก็ดี มีรูปร่างผิวพรรณอ้วนผอมสูงต่ำดำขาวก็ตาม ถ้าแต่ละคนมุ่งหน้าประกอบกิจการงานตามหน้าที่ของตน ตามกำลังความสามารถด้วยความพอใจรักการรักงาน มีความเพียรพยายามบากบั่นอย่างอาจหาญไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มีจิตสนใจเอาใจจดจ่อต่องานที่ทำ ไม่ทอดทิ้งงาน และหมั่นตริตรอง พิจารณาหาเหตุผลในสิ่งที่ทำนั้น สามารถทำสิ่งเล็กให้ใหญ่ ทำสิ่งที่ใหญ่ให้เล็ก ทำสิ่งที่ยากให้ง่าย ทำสิ่งที่ง่ายให้เรียบร้อยยิ่งขึ้น ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

เพราะ ฉะนั้นเมื่อบุคคลผู้ฉลาด รู้เหตุ รู้ผล รู้จักตน รู้จักความพอดีพอประมาณ รู้จักกาลเวลา รู้จักเลือกคบคนดีเป็นเพื่อนร่วมคิดเป็นมิตรร่วมใจ มองเห็นข้อเปรียบเทียบแล้วนำมาเป็นแนวทางดำเนินชีวิต เลี้ยงชีพแต่พอเหมาะพอสมกับรายได้ รู้จักประหยัด ชีวิตในการอยู่ครองเรือนก็จะมีความสุขโดยแท้

วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รู้คุณและตอบแทนคุณ khaosod

รู้คุณและตอบแทนคุณ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



คํา ว่า กตัญญู แปลว่า รู้คุณ รู้อย่างไรจึงจะเรียกว่ารู้คุณ ในทางปฏิบัตินั้นท่านหมายถึงการหาความดีหรือความสำคัญของคนหรือวัตถุนั้นให้ พบ ว่าบุคคลหรือสิ่งนั้นมีความสำคัญหรือดีอย่างไร และที่ว่าดีนั้นดีต่อใคร ดีต่อตัวเราดีต่อคนอื่นหรือดีต่อส่วนรวม มากน้อยแค่ไหน เพียงไร เมื่อได้พิจารณาด้วยปัญญาเห็นถ่องแท้แน่แล้วว่า บุคคลหรือสิ่งนั้นๆ มีคุณต่อเราท่านให้จดจำจารึกไว้ในดวงใจ ต่อไปวิธีหาก็มีจุดที่จะหาอยู่หลายจุดคือ 1.หาความดีในคน 2.หาความดีในวัตถุ 3.หาความดีในหน้าที่ 4.หาความดีในศัตรู หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กตัญญูต่อคน กตัญญูต่อวัตถุ กตัญญูต่อหน้าที่ และกตัญญูต่อศัตรู

ประการ ที่ 1 กตัญญูต่อคน เบื้องต้นจะต้องกตัญญูต่อตัวเองก่อน การกตัญญูต่อตัวเองนั้น คือการปฏิบัติตามหลักธรรม โดยการทำงานในหน้าที่ของตนซึ่งมีอยู่ 2 อย่าง คือ 1.ทำให้ตัวเอง 2.ทำให้คนอื่น โดยยึดหลักทำดีให้ดี คือทำดีในงานทุกอย่างและให้ดีแก่คนทุกคน โดยทั่วไปแล้วคนเราอยากรับแต่สิ่งที่ดีๆ จากคนอื่น แต่เวลาเป็นผู้ให้ชอบให้ร้ายแก่คนอื่น นอกจากกตัญญูต่อตัวเองแล้ว ในทางพระพุทธศาสนาท่านจัดบุคคลที่จะต้องรู้คุณและตอบแทนคุณต่อกันไว้ 4 คู่ คือ 1.บิดามารดากับบุตรธิดา 2.ครูอาจารย์กับศิษย์ 3.พระราชากับพสกนิกร 4.พระศาสดากับศาสนิก

ประการที่ 2 กตัญญูต่อวัตถุ คำว่า วัตถุ หมายถึงสิ่งที่ไม่มี วิญญาณ ได้แก่ อาคารบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไม้สอย ตลอดถึงต้นไม้ ธรรมดาวัตถุเหล่านั้นไม่มีเจตนาจะให้คุณแก่ใคร แต่คุณประโยชน์ที่เราได้รับจากสิ่งเหล่านั้นมากมาย เช่น ต้นไม้ เป็นวัตถุที่ค่อนข้างจะเห็นคุณยาก จึงมีคนบางพวกพากันตัดไม้ทำลายป่า จะเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อน กันอยู่ทั่วไป

ประการที่ 3 กตัญญูต่อหน้าที่ หน้าที่การงานมีประจำทุกคนทุกเพศทุกวัย เป็นเด็กก็มีหน้าที่เรียนหนังสือ เป็นผู้ใหญ่กลางคนมีหน้าที่หาทรัพย์ตั้งหลักฐาน อยู่ในวัยชราก็มีหน้าที่แสวงหาบุญกุศล คนที่ทำหน้าที่ด้วยความรักความกตัญญูรู้คุณของงาน ก็จะมีแต่ความเจริญก้าวหน้า ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่รักการงาน ไม่ตั้งใจทำงานหรือทำด้วยความสบประมาทงาน ย่อมหาความเจริญได้ยาก

ประการ ที่ 4 กตัญญูต่อศัตรู ศัตรูนั้นคือคนที่ไม่ปรารถนาดีต่อเรา ดูไปแล้วน่าจะไม่มีประโยชน์อะไร แต่ความเป็นจริง แล้วศัตรูนี่แหละทำให้คนมีความเข้มแข็ง เพราะต้องต่อสู้ด้วยปฏิภาณไหวพริบตลอดเวลา คำพูดที่ว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลังนั้น ถือว่าเป็นบทเรียนที่ดีและเป็นครูฝึกที่ดี คนที่ลำบากมาก่อนย่อมเอาตัวรอดได้ ดังนั้นคนที่มีศัตรูจึงเป็นคนที่เข้มแข็ง มีสติรอบคอบ สามารถที่จะเผชิญอุปสรรคศัตรูนั้นได้ แล้วก็จะเป็นผู้ชนะศัตรูนั้นได้ในที่สุด

เหตุดังนั้น ความเป็นผู้รู้คุณและตอบแทนคุณ เป็นเครื่อง หมายของคนดี สมตามพุทธพจน์ที่ว่า ความกตัญญูเป็นภูมิชั้นต้นของคนดี ฉะนั้น คนเราจะมีคุณธรรมอย่างอื่นมากมาย แค่ไหนก็ตาม ถ้าขาดคุณธรรมที่เป็นพื้นฐานแล้ว ก็ตั้งอยู่ไม่ได้นาน มีความสุขก็มีไม่นาน ท่านจึงเปรียบคุณธรรมข้อนี้ไว้ว่าเหมือนพื้นดิน เป็นที่รองรับสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ถ้าขาดพื้นดินแล้วทุกอย่างก็มีไม่ได้ ผู้ที่ต้องการความสุขความเจริญจะต้องตั้งอยู่ในคุณธรรม 4 ประการนี้ ให้มั่นคง เพราะความเป็นผู้รู้คุณและตอบแทนคุณนั้นมีในผู้ใด ผู้นั้นก็ถือได้ว่าเป็นคนดีอย่างแน่นอน

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

www.watdevaraj.com 0-2281-2430

อริยสัจ4-แก้ปัญหาชีวิต khaosod

อริยสัจ4-แก้ปัญหาชีวิต

คอลัมน์ ศาลาวัด



'อริยสัจ 4 ประการ' เป็นวิธีการแห่งปัญญา ซึ่งดำเนินการแก้ปัญหาตามเหตุผลตามเหตุปัจจัย คือ การแก้ปัญหาของบุคคลด้วยปัญญาของตัวบุคคลนั้นเอง โดยไม่ต้องอาศัยการดลบันดาลประทานพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย

เป็นสัจธรรมความจริงที่เกี่ยวกับชีวิตของคนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด อยู่ในเพศหรือภาวะใด จะต้องประสบด้วยกันทั้งสิ้น

ดัง นั้น เพื่อยืนยันถึงหลักอริยสัจว่าเป็นกระบวนการแก้ปัญหาทุกอย่างโดยเฉพาะในการ แก้ปัญหาชีวิตในสังคม จึงขอเสนอแนะนำหลักอริยสัจ 4 มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาชีวิตได้ตามลำดับขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ 1 ทุกข์ ขั้นตัวปัญหา จัดเป็นขั้นแถลงหรือแสดงปัญหาที่จะต้องทำความเข้าใจและรู้รอบเขต กล่าวคือ ต้องรู้สภาพปัญหา ความไม่พอใจ ความติดขัดบกพร่องที่บุคคลได้ประสบหรือเกิดขึ้นในชีวิตของตน โดยต้องกำหนดรู้ ทำใจยอมรับ ทำความเข้าใจ และกำหนดขอบเขตของมันให้แจ่มชัดว่าเป็นปัญหาหรือไม่ เป็นปัญหาใหญ่หรือปัญหารอง

ขั้นที่ 2 สมุทัย ขั้นสาเหตุของปัญหา จัดเป็นขั้นวิเคราะห์และวินิจฉัยมูลเหตุของปัญหาซึ่งจะต้องแก้ไขกำจัดให้หมด สิ้นไป กล่าวคือ ต้องแสวงหาสาเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เป็นตัวก่อให้เกิดปัญหา หรือเกิดความติดขัดบกพร่องในชีวิตบุคคล โดยให้เฟ้นหาสาเหตุแห่งปัญหาหรือความทุกข์ต่างๆ ให้ถูกต้องชัดเจน และต้องเป็นสาเหตุต้นตอจริงๆ ที่เกิดจากตัวเองเป็นส่วนใหญ่ มิใช่ไปโทษโชคชะตา ซึ่งเป็นเรื่องนอกตัวออกไปทั้งหมด

ขั้นที่ 3 นิโรธ ขั้นดับปัญหา จัดเป็นขั้นชี้บอกภาวะปราศจากปัญหาซึ่งเป็นจุดหมายที่ต้องการ ให้เห็นว่าการแก้ปัญหานั้นเป็นไปได้ และจุดหมายนั้นควรเข้าถึงซึ่งจะต้องให้สำเร็จให้จงได้ หรือทำให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมา โดยกำหนดจุดหมายปลายทางที่แน่นอน พร้อมทั้งกำหนดจุดหมายและเป้าหมายรองไว้ด้วยว่าแต่ละขั้นตอนนั้นมีจุดหมาย และเป้าหมายเพียงใดแค่ไหน

ขั้นที่ 4 มรรค ขั้นลงมือแก้ปัญหา จัดเป็นขั้นกำหนดวิธีการและรายละเอียดที่จะต้องปฏิบัติในการลงมือแก้ปัญหา กล่าวคือ การลงมือปฏิบัติหรือดำเนินการตามวิธีการอย่างละเอียดเพื่อแก้ปัญหาไปตามขั้น ตอน โดยกำหนดวางวิธีการ วางแผนงานและรายการที่จะต้องทำให้ละเอียด เป็นต้น

พระ พุทธศาสนามีหลักการสำคัญอยู่ที่อริยสัจ 4 ประการ ที่จัดว่าเป็นแก่นเป็นแกน หรือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้

พอใจ...กับสิ่งที่ตนมีอยู่ khaosod

พอใจ...กับสิ่งที่ตนมีอยู่

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



มนุษย์ เราทุกคนที่เกิดมามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ทุกชีวิตย่อมประสบกับปัญหาด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่วนตัวและปัญหาสังคม ปัญหาที่ประสบนั้น ต่างกันบ้าง เหมือนกันบ้าง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องต่อสู้ด้วยความพยายามอดทน เพื่อที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้นแก่ตนอยู่ตลอดเวลา เพราะชีวิตที่ดีมีความสุขคือชีวิตที่สามารถแก้ปัญหาได้

สิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ ที่ต่างดิ้นรนแสวงหา คือ ปัจจัย 4 ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และสิ่งอำนวยความสุขอื่นๆ ในการแสวงหานั้น ไม่ควรแสวงหาจนเกินขอบเขต เกินความพอดี เกินความจำเป็น ควรรู้จักพอ เพราะใจของคนเราเมื่อตกไปสู่อำนาจของความอยาก ความรู้จักพอก็ไม่มี เหมือนไฟไม่มีวันอิ่มด้วยเชื้อ เมื่อไม่สามารถควบคุมความปรารถนาของใจไว้ได้ ยิ่งได้มาเท่าไร ก็อยากได้เพิ่มเป็นทวีคูณ การแสวงหาปัจจัยเพื่อสนองความอยากของตนเองเช่นนี้

นอกจากจะทำตัวให้เดือดร้อนแล้ว ยังก่อทุกข์ให้เกิดขึ้น ถ้าไม่สามารถจะควบคุมใจของตนเองไว้ได้ อาจแสวงหาในทางทุจริตได้ เท่ากับทำตนให้ตกเป็นทาสของความอยาก ในสภาวะสังคมปัจจุบัน ควรดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย เพราะการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายสามารถจะทำตนให้พ้นจากสภาพความวุ่นวาย สับสนนั้นได้

คุณธรรมที่สำคัญสำหรับปลูกฝังให้เกิดความรู้จักพอหรือความพอดีในใจนั้น คือ ความสันโดษ คำว่า สันโดษ แปลว่า ความยินดีด้วยของที่ตนมีอยู่ ท่านแบ่งไว้ 3 ลักษณะด้วยกันคือ

1. ยินดีพอใจในสิ่งที่ตนได้ในสิ่งที่ตนมี ได้เท่าไหร่ มีเท่าไหร่ ก็ยินดีเท่านั้น ในสภาวะในฐานะที่ตนกำลังมีกำลังเป็นหรือได้รับอยู่ เพื่อป้องกันความทุกข์ที่จะเกิดจากความผิดหวัง เพราะถ้าบุคคลไม่สามารถจะหยุดความพอใจของตนไว้ได้ เมื่อได้รับ หรือมีอะไรไม่พอใจในสิ่งที่ได้หรือสิ่งที่มี เมื่อความผิดหวังเกิดขึ้นแล้ว ความไม่ชอบใจก็เกิดตามมา ดังนั้น ควรฝึกใจให้มีความพอดี ยินดีตามมีตามได้ ความทุกข์ใจก็ไม่เกิด

2. ยินดีพอใจตามกำลังของตนที่มีอยู่ หมายความว่า ให้รู้จักประมาณในความรู้ความสามารถของตน กระตุ้นเตือนตนให้รู้จักใช้ความสามารถของตนให้เต็มที่ ไม่ให้เป็นคนเกียจคร้าน คุณธรรมข้อนี้สอนให้บุคคลมิให้เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ฝึกให้เกิดความขยันหมั่นเพียรในการใช้กำลังในทางที่ถูกให้พอดี

3. ยินดีพอใจในสิ่งที่สมควรและยินดีพอใจพอสมควร หมายถึง การใช้กำลังให้ได้มาซึ่งปัจจัย และปัจจัยนั้นต้องเป็นปัจจัยที่เหมาะสม คุณธรรมข้อนี้ สอนให้บุคคลรู้จักคำว่า อิ่ม คือ พอ เพราะมากไปกว่านี้ก็เกินความจำเป็นไร้ประโยชน์ เหมือนน้ำที่เต็มแก้ว เอาน้ำไปเติมใหม่ก็มีแต่จะล้นออกมา ใช้ประโยชน์ไม่ได้

ฉะนั้น ควรที่เราทุกคนจะมีความพอใจ พอดี พอเพียง ถ้าบุคคลมีคุณธรรมทั้ง 3 ประการนี้ประจำใจแล้ว จะอยู่ในสังคมใด ประเทศใด ก็ทำให้สังคมนั้น ประเทศนั้น มีความเจริญรุ่งเรือง มีความสงบสุขอย่างแท้จริง



พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting

วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บัณฑิต khaosod

บุรุษหรือสตรีก็เป็นบัณฑิตได้

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



คํา ว่า บัณฑิต ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ท่านให้ความหมายว่า ผู้ทรงความรู้ ผู้มีปัญญา นักปราชญ์ ฯลฯ ส่วนในทางธรรม ท่านกล่าวคำว่า บัณฑิต แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตไปในประโยชน์ทั้ง 3 คือ ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และ ประโยชน์อย่างยิ่ง

1.ประโยชน์ในโลกนี้ เรียกว่า ทิฏิฐธัมมิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ในภพปัจจุบันทันตาเห็น ได้แก่ มีอาหารสมบูรณ์ไม่อดอยาก มีเครื่องนุ่งห่มเพียงพอ มีที่อยู่อาศัยถูกสุขลักษณะ มียารักษาโรคต่างๆ ทั้งหมดนี้เรียกว่า ปัจจัย 4 แปลว่า เครื่องอาศัยแห่งชีวิต ยังความสุขกายสบายใจให้เป็นไปในโลก ทุกเชื้อชาติ ทุกภาษา ทุกเพศ ทุกวัย ต้องอาศัยปัจจัยเหล่านี้ จะเป็นหญิงหรือบุรุษก็ตาม ถ้ามีปัญญาเห็นแจ้งในเหตุการณ์นั้นๆ แล้วไม่ประมาท ไม่มัวเมา ตั้งตนไว้ในคุณธรรม 4 ประการ คือ 1.ถึงพร้อมด้วยความหมั่นเพียร 2.ถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์ที่หามาได้ 3.คบเพื่อนดี และ 4.เลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่ตนหามาได้ จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม ถ้าดำรงอยู่ในคุณธรรม 4 ประการนี้ ได้ชื่อเป็นคนดี เป็นคนฉลาด เป็นนักปราชญ์ เป็นบัณฑิตในโลกนี้

2.ประโยชน์ในโลกหน้า เรียกว่า สัมปรายิกัตถประ โยชน์ คนเราทุกคนเมื่อตายไปแล้วก็ต้องไปเกิดอีก เนื่อง จากกิเลสยังมีอยู่ เกิดในภพใดชาติใด ถ้าต้องการให้ร่ำรวย ต้องการให้มียศถาบรรดาศักดิ์สูง ต้องการไม่ให้มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน และต้องการให้เกิดดีที่สุด ต้องดำรงตนอยู่ในคุณธรรม 4 ประการ คือ 1.ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ เชื่อถือสิ่งที่ควรเชื่อ เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้วละชั่วทำดี เป็นต้น 2.ถึงพร้อมด้วยศีล คือ รักษากายวาจา ให้เรียบร้อยดีไม่มีโทษ 3.ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน เป็นการเฉลี่ยสุขให้แก่ผู้อื่น และ 4.ถึงพร้อมด้วยปัญญา รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม ถ้าตั้งตนอยู่ในคุณธรรม 4 ประการ นี้ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นบัณฑิต เพราะเว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถือ เอาแต่สิ่งที่เป็นสาระเป็นประโยชน์

3.ประโยชน์ อย่างยิ่ง เรียกว่า ปรมัตถประโยชน์ คือ พระนิพพาน นิพพาน แปลว่า ดับกิเลส คือ ดับความโลภ ความโกรธ ความหลง ผู้ที่เจริญอริยมรรคมีองค์ 8 เท่านั้นจึงจะดับกิเลสได้ ซึ่งเรียกว่า จิตตภาวนา หรือเรียกว่า กรรม ฐาน กรรมฐานนั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ 1.สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐาน กรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ มีกรรมฐาน 40 อย่างใด อย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ เช่น กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 เป็นต้น เพื่อให้ได้ฌาน แล้วจึงจะเอาฌานต่อเป็นวิปัสสนาได้ 2.วิปัสสนา กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา มีวิปัสสนาภูมิเป็นอารมณ์ ภูมิของวิปัสสนานั้น มีทั้งหมด 6 อย่าง คือ ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 4 ปฏิจจสมุปบาท 12 ย่อสั่นๆ ได้แก่ รูปนามนั่นเอง

ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม ถ้าดำเนินชีวิตไปในประโยชน์ทั้ง 3 ประการ ตามที่กล่าวมา ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ เป็นผู้ฉลาด เป็นบัณฑิต สมตามพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "มิใช่ว่า บุรุษจะเป็นบัณฑิตในที่ทั่วไป ก็หา มิได้ ถึงสตรีที่มีปัญญา เห็นประจักษ์ในเหตุการณ์นั้นๆ ก็เป็นบัณฑิตได้"

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com 02-281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 02-281-243

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ต้องทำอย่างที่พูด

พระ พุทธเจ้า เคยตรัสว่า พระภิกษุทุกรูป จะต้อง "ยถาวาที ตถาการี" หรือ "ยถาการี ตถาวาที" แปลว่า ต้องพูดอย่างที่ทำ ต้องทำอย่างที่พูด หรือ ต้องทำอย่างที่สอน ต้องสอนอย่างที่ทำ แก่นของพุทธศาสนสุภาษิต ก็คือ ทรงต้องการมุ่งให้พุทธศาสนิกชนนั้น เป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ต่อหน้าอย่างไร ลับหลังก็อย่างนั้น ไม่ใช่คนที่ตีสองหน้า

หลัก ประการต่อมา ตรัสไว้ในทศพิธราชธรรม คือ หลักธรรมาภิบาลของผู้นำ ผู้นำต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ไม่โกงทั้งต่อหน้า ทั้งลับหลัง ไม่โกงทั้งด้วยความคิด ทั้งด้วยวาจา และด้วยการกระทำ

ทรงยกตัวอย่าง ว่า ผู้นำก็เหมือนโคจ่าฝูง หากโคจ่าฝูงว่ายตรง โคในฝูงก็ว่ายตรง หากโคจ่าฝูงว่ายคด โคในฝูงก็ว่ายคด ผู้นำฉันใด ผู้ตามก็ฉันนั้น ดังนั้น ผู้นำทุกคนจึงต้องถือเอาหลักอาชวะ คือ ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นนโยบายที่ หนึ่ง ไม่โกงเอง และสอง ต้องไม่เอื้อให้เกิดบรรยากาศของการโกงและไม่สนับสนุนคนโกง

นอกจาก นี้ ยังกำชับไว้อีกข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรมข้อสุดท้ายที่ว่า อวิโรธนะ คือ ผู้นำต้องยึดมั่นอยู่ในความยุติธรรม ในการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องยึดหลักความยุติธรรม กล่าวคือ ไม่มีสองมาตรฐาน กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์สำหรับชนทุกชั้น