วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

That's what friends are for (1) ? Khaosod

'เพื่อน' สิ่งสำคัญในชีวิต (ตอนที่ ๑)

โลกนี้ไม่สิ้นกลิ้นธรรม

ศิษย์อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก-พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา





อันเพื่อนดี มีหนึ่ง ถึงจะน้อย

ดีกว่าร้อย เพื่อนคิด ริษยา

เปรียบเหมือนเกลือ มีน้อย ด้อยราคา

ยังดีกว่า น้ำเค็ม เต็มทะเลฯ



ลอน โบราณบทนี้ ติดหูผมมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือชั้น ม.ต้น คงเพราะ "โดนใจ" มาตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน ด้วยชีวิตครอบครัวที่ไม่อบอุ่นนัก จึงต้องมีสถาบันเพื่อน เป็นสถาบันหลัก สถาบันหนึ่งในชีวิต ก็ว่าได้

คุณเพ็ญ (ขออนุญาตใช้นามแฝง) แฟนคอลัมน์ท่านหนึ่ง จุดประกายให้ผมเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมา แฟนคอลัมน์ของอาจารย์เสฐียรพงษ์นั้น น่ารักทุกท่านครับ หลายคนส่งอีเมล์มาหาผม ขอให้อาจารย์หายไวๆ บ้าง ให้กำลังใจบ้าง แบ่งปันความคิดเห็นเรื่องต่างๆนานา ธรรมะบ้าง ชีวิตบ้าง ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนเป็นการกระตุ้นให้โลกนี้ ไม่สิ้นกลิ่นธรรม ได้จริงๆ ครับ แม้ "กลิ่นธรรมะ" หรือ "กลิ่นผู้มีศีล" นั้น จะไม่หอมเตะจมูกเหมือนน้ำหอมแรงๆ หลายยี่ห้อ (ยี่ห้ออะไร ก็นึกกันเองนะครับ เพราะผู้เขียนไม่เคยใช้น้ำหอม) แต่ กลิ่นหอมเย็นใจของผู้มีศีล มีธรรมนั้น หอมทวนลม ไปเป็นระยะไกลหลายร้อยกิโลเมตรทีเดียว ดังนั้น คุณเพ็ญและทุกๆ ท่าน ช่วยสืบต่อแรงโมเมนตัมแห่งกลิ่นธรรมแห่งพระพุทธเจ้าได้จริงๆ ครับ



'เพื่อน' นั้นสำคัญไฉน?

"การคบเพื่อนเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ที่จะนำชีวิตไปสู่ความเสื่อมความพินาศ หรือสู่ความเจริญงอกงาม พึงหลีกเลี่ยงมิตรเทียมและเลือกคบหาคนที่เป็นมิตรแท้"

(พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ หน้า ๒๗๖)



มันเกี่ยวกับธรรมะยังไง?

"เกี่ยว" แน่นอนครับ เกี่ยวมากๆ ด้วย แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังยกไว้ให้เป็นมงคลต้นๆ ในมงคล ๓๘ สูตรเลยทีเดียว ตามที่เรารู้กันว่า มงคล ๓๘ ค่อยๆ ไล่จากพื้นฐาน ขึ้นไปจนสูงสุดคือ มงคลที่ ๓๘ คือมีจิตเกษม หรือเข้าถึงพระนิพพานนั่นเอง แต่พื้นฐานที่สุดของการจะมั่นใจแน่ว่าเราอยู่บนเส้นทางกระแสแห่งพระนิพพาน ได้แน่ (On track) ไม่หลุดนอกเส้นทางไปได้ ก็ต้องเริ่มด้วยมงคล ๒ ประการแรกนี้ ที่ว่า...

๑.การไม่คบคนพาล (เพื่อนเลว)

๒.เลือกคบบัณฑิต (เพื่อนดี - กัลยาณมิตร)

เห็นไหมครับ พระพุทธองค์ทรงรอบคอบในการชี้ทางเราขนาดไหน ยกให้การไม่คบเพื่อนชั่วๆ ขึ้นมาเป็นอันดับแรก มงคลแรกกันเลย คล้ายๆ กับว่า หากยังหาเพื่อนดีๆ กัลยาณ มิตรในการคบหาไม่ได้ ก็ไม่สมควรจะคบเพื่อนชั่วๆ เพื่อนเลวๆ ไปพลางๆ ก่อนอยู่ดี คือให้อยู่คนเดียวไปก่อนดีกว่าหลวมตัวไปคบคนเลว ว่างั้น

แต่หากใครได้ศึกษาพระพุทธพจน์หรือในพระสูตรก็ดี มีหลายบท ก็กล่าวไว้ ว่าเพื่อนที่ดี หรือกัลยาณมิตร ที่เราฝากผีฝากไข้ ฝากเป็นฝากตายได้นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ และกัลยาณมิตรองค์ที่ประเสริฐที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ถือเป็นหลัก ก็คือพระพุทธองค์นั่นเอง

"จงมีพระพุทธเจ้าเป็นดั่งกัลยาณมิตร"

เรื่องแบบนี้ ผมไม่ได้พูดเอาเองนะครับ พระพรหมคุณาภรณ์ท่านก็มีบัญญัติไว้ในประมวลศัพท์ (เล่มดังกล่าวข้างต้น) เช่นกัน...

กัลยาณมิตร คืออะไร "กัลยาณมิตร" คือบุคคลที่ช่วยชี้แนวทาง ชักจูงตลอดจนแนะนำสั่งสอน ชักนำผู้อื่นให้ดำเนินชีวิตที่ดีงาม ให้ประสบผลดี และความสุข ให้เจริญก้าวหน้า ให้พัฒนาในธรรม แม้จะเป็นบุคคลเสมอกัน (เช่น เพื่อนฝูง) หรือเป็นมารดา บิดา ครูอาจารย์ ตลอดทั้งพระสงฆ์ จนถึงพระพุทธเจ้า ก็นับว่าเป็นเพื่อน แต่เป็นเพื่อนใจดี เพื่อนมีธรรม

ด้วยเหตุนี้ ชีวิตผมจึงถือเอา "พระพุทธเจ้า" เป็นกัลยาณ มิตร อย่างท่านอาจารย์พุทธทาส เป็นต้น เป็นกัลยาณ มิตร ชีวิตจึงไม่เปล่าเปลี่ยว เงียบเหงาวังเวง แม้ขณะปลีกวิเวกอยู่ลำพังในป่าเขาลำเนาไพรก็ตาม



ดูยังไง ใครเป็นกัลยาณมิตร?

กัลยาณมิตรมีคุณสมบัติที่เรียกว่า "กัลยาณมิตรธรรม" หรือ ธรรมของกัลยาณมิตรมี ๗ ประการ คือ

๑.ปิโย คือ น่ารัก ด้วยมีเมตตา เป็นที่สบายจิตสนิทใจ ชวนอยากเข้าไปหา

๒.ครุ คือ น่าเคารพ ด้วยประพฤติหนักแน่นเป็นที่พึ่งอาศัย ได้ ให้รู้สึกอบอุ่นใจ

๓.ภาวนีโย คือ เจริญใจ ด้วยความเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตน (ภาวนา) ควรเอาอย่าง ให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ

๔.วัตตา คือ รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงแนะนำ เป็นที่ปรึกษาที่ดี

๕.วจนกฺขโม คือ อดทนต่อถ้อยคำ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถาม ตลอดจนคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์

๖.คมฺภีรญฺจกถํ กตฺตา คือ แถลงเรื่องลึกล้ำได้ สามารถอธิบายเรื่องลึกลับซับซ้อนให้เข้าใจ และสอนให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

๗.โน จฏฺฐาเน นิโยชเย คือ ไม่ชักนำไปอฐาน ไม่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสียหรือเหลวไหลไม่สมควร

อ่าน ครบ ๗ คุณสมบัติของกัลยาณมิตรจบแล้ว อย่าเพิ่งทอดถอนใจ ว่า เฮ้อ...ในชีวิตนี้ อยู่มาจนจะเข้าโลงอยู่แล้ว ยังหาไม่มีเลย...โปรดอย่าคิดแบบนั้น ให้คิดใหม่ว่า...

อย่างน้อยตอนนี้ เราก็รู้คุณสมบัติของกัลยาณมิตรทั้ง ๗ แล้ว แม้จะหาไม่มีเพื่อนคนไหนเป็นแบบนั้น เราก็ควรเริ่มต้นใหม่เสียแต่บัดนี้ โดยทำตัวท่านเองนั่นแหละ ให้เป็นกัลยาณมิตรต่อผู้อื่น โดยเริ่มจากคนใกล้ตัวก่อน อย่างนี้จึงจะเรียก คิดบวก (Positive Thinking) แล้ว มันจะค่อยๆ เกิดแรงเหวี่ยง หรือโมเมนตัม รอบๆ ตัวคุณจะเริ่มตระหนักในความดีของคุณ นับเอาคุณเป็นหนึ่งในกัลยาณมิตรของเขา แล้วเพื่อนดีๆ จะดึงดูดซึ่งกันและกัน อันเป็นตรรกะเดียวกันกับเพื่อนเลวๆ ก็ดึงดูดซึ่งกัน ดังภาษิตที่ว่า...ฝนตกขี้หมูไหล คนจัญไรมารวมกัน ฉันใดก็ฉันนั้น นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น