วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รู้จักประมาณ khaosod

รู้จักประมาณ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



ใน หมู่มนุษย์และสัตว์ทุกจำพวก ต่างมีความปรารถนาต้องการความสุขด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะมนุษย์ซึ่งเป็นผู้มีสติปัญญาสูง มีความรู้ความสามารถมากกว่าสัตว์เหล่าอื่น เพราะว่ามนุษย์รู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ดังนั้น จึงดิ้นรนแสวงหาความสุขให้แก่ตนเอง ความปรารถนาหาความสุขนั้นมีทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เมื่อใดมนุษย์แสวงหาความสุขอย่างไม่มีขอบเขต ปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลส ความทุกข์ความเดือดร้อนก็จะเกิดขึ้นทั้งแก่ตนและผู้อื่น เพราะเป็นการดิ้นรนเกินขอบเขต เกินประมาณที่พอดี

คำว่าประมาณ หมายถึง การกะ กำหนด คาดคะเน คาดหมาย ในการประมาณนั้น ท่านแสดงการประมาณไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ 1.ประมาณในการแสวงหา 2.ประมาณในการรับ และ 3.ประมาณในการบริโภค

ประการที่ 1 ประมาณในการแสวงหา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงลักษณะการแสวงหาไว้ 2 อย่าง คือ 1.การแสวงหาอย่างประเสริฐ ได้แก่ การแสวงหาทางดับความทุกข์ ทั้งที่เป็นทุกข์ประจำสังขาร หรือทุกข์อื่นใด ล้วนไม่เป็นที่พึงประสงค์ของใครๆ มนุษย์ทั้งหลายทั้งในอดีตและปัจจุบันจึงแสวงหาทางดับทุกข์เหล่านั้น ทางดับทุกข์ดับกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง พระบรมศาสดาทรงตรัสความจริงอย่างประเสริฐ 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เมื่อดำเนินตามหลักความจริงนี้แล้ว ย่อมสามารถสลัดออกจากกองทุกข์ สละภพ สละชาติได้ คือ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีกต่อไป การแสวงหาอย่างนี้เรียกว่า การแสวงหาอย่างประเสริฐ 2.การแสวงหาอย่างไม่ประเสริฐ ได้แก่ การแสวงหาที่เป็นไปตามคดีโลก เช่น การแสวงหาเกียรติยศ ลาภ สุข สรรเสริญ ซึ่งเป็นที่ปรารถนาของชาวโลก จึงมีการดิ้นรนแสวงหากันมาก ถ้าผู้ใดแสวงหาไม่รู้ประมาณ แสวงหาในทางที่ไม่ถูกต้อง ความทุกข์ ความเดือดร้อนก็จักเกิดมีแก่ผู้นั้น

ประการ ที่ 2 ประมาณในการรับ การรับเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องการ โดยเฉพาะในสิ่งที่น่าปรารถนา จะเห็นได้ว่าเมื่อตอนที่เราเป็นเด็ก อยู่ในฐานะที่จะรับการอนุเคราะห์สงเคราะห์จากบิดามารดา แต่เมื่อเติบโตขึ้นมา มีการศึกษา มีงานทำแล้ว จะเป็นผู้รับฝ่ายเดียวดูจะไม่สมควร เพราะการคอยแบมือรับจากบิดามารดาอยู่ร่ำไปก็เป็นเด็กที่ไม่รู้จักโต ฉะนั้นจึงควรเป็นผู้รู้ประมาณในการรับ รู้ฐานะของตน การรู้จักความพอดี พอประมาณนั้น จะเป็นสื่อสร้างความนิยมชมชอบ เป็นที่เมตตาเอ็นดูของผู้ให้

ประการ ที่ 3 ประมาณในการบริโภค การรับประทานและการใช้สอยต้องรู้จักประมาณในการบริโภคใช้สอย การบริโภคอาหารนั้นไม่ควรมากหรือน้อยเกินไป คือควรกินอย่างพอประมาณ กินอย่างมีสติ ไม่มัวเมาในรสอาหาร ส่วนการใช้สอยทรัพย์ควรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสูด โดยยึดหลักการเลี้ยงชีวิตพอสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่สุรุ่ยสุร่าย

ฉะนั้น ท่านสาธุชนทั้งหลายควรเป็นผู้รู้จักประมาณ คือความพอดี รู้ประมาณทั้งในการแสวงหา ทั้งในการรับ ทั้งในการบริโภคใช้สอย ให้พอดี พอเหมาะ พอควร ชีวิตก็จะมีแต่ความสุข ไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจในที่ทุกสถานในกาล ทุกเมื่อ



พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น