วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บัณฑิต khaosod

บุรุษหรือสตรีก็เป็นบัณฑิตได้

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



คํา ว่า บัณฑิต ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ท่านให้ความหมายว่า ผู้ทรงความรู้ ผู้มีปัญญา นักปราชญ์ ฯลฯ ส่วนในทางธรรม ท่านกล่าวคำว่า บัณฑิต แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตไปในประโยชน์ทั้ง 3 คือ ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และ ประโยชน์อย่างยิ่ง

1.ประโยชน์ในโลกนี้ เรียกว่า ทิฏิฐธัมมิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ในภพปัจจุบันทันตาเห็น ได้แก่ มีอาหารสมบูรณ์ไม่อดอยาก มีเครื่องนุ่งห่มเพียงพอ มีที่อยู่อาศัยถูกสุขลักษณะ มียารักษาโรคต่างๆ ทั้งหมดนี้เรียกว่า ปัจจัย 4 แปลว่า เครื่องอาศัยแห่งชีวิต ยังความสุขกายสบายใจให้เป็นไปในโลก ทุกเชื้อชาติ ทุกภาษา ทุกเพศ ทุกวัย ต้องอาศัยปัจจัยเหล่านี้ จะเป็นหญิงหรือบุรุษก็ตาม ถ้ามีปัญญาเห็นแจ้งในเหตุการณ์นั้นๆ แล้วไม่ประมาท ไม่มัวเมา ตั้งตนไว้ในคุณธรรม 4 ประการ คือ 1.ถึงพร้อมด้วยความหมั่นเพียร 2.ถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์ที่หามาได้ 3.คบเพื่อนดี และ 4.เลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่ตนหามาได้ จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม ถ้าดำรงอยู่ในคุณธรรม 4 ประการนี้ ได้ชื่อเป็นคนดี เป็นคนฉลาด เป็นนักปราชญ์ เป็นบัณฑิตในโลกนี้

2.ประโยชน์ในโลกหน้า เรียกว่า สัมปรายิกัตถประ โยชน์ คนเราทุกคนเมื่อตายไปแล้วก็ต้องไปเกิดอีก เนื่อง จากกิเลสยังมีอยู่ เกิดในภพใดชาติใด ถ้าต้องการให้ร่ำรวย ต้องการให้มียศถาบรรดาศักดิ์สูง ต้องการไม่ให้มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน และต้องการให้เกิดดีที่สุด ต้องดำรงตนอยู่ในคุณธรรม 4 ประการ คือ 1.ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ เชื่อถือสิ่งที่ควรเชื่อ เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้วละชั่วทำดี เป็นต้น 2.ถึงพร้อมด้วยศีล คือ รักษากายวาจา ให้เรียบร้อยดีไม่มีโทษ 3.ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน เป็นการเฉลี่ยสุขให้แก่ผู้อื่น และ 4.ถึงพร้อมด้วยปัญญา รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม ถ้าตั้งตนอยู่ในคุณธรรม 4 ประการ นี้ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นบัณฑิต เพราะเว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถือ เอาแต่สิ่งที่เป็นสาระเป็นประโยชน์

3.ประโยชน์ อย่างยิ่ง เรียกว่า ปรมัตถประโยชน์ คือ พระนิพพาน นิพพาน แปลว่า ดับกิเลส คือ ดับความโลภ ความโกรธ ความหลง ผู้ที่เจริญอริยมรรคมีองค์ 8 เท่านั้นจึงจะดับกิเลสได้ ซึ่งเรียกว่า จิตตภาวนา หรือเรียกว่า กรรม ฐาน กรรมฐานนั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ 1.สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐาน กรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ มีกรรมฐาน 40 อย่างใด อย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ เช่น กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 เป็นต้น เพื่อให้ได้ฌาน แล้วจึงจะเอาฌานต่อเป็นวิปัสสนาได้ 2.วิปัสสนา กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา มีวิปัสสนาภูมิเป็นอารมณ์ ภูมิของวิปัสสนานั้น มีทั้งหมด 6 อย่าง คือ ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 4 ปฏิจจสมุปบาท 12 ย่อสั่นๆ ได้แก่ รูปนามนั่นเอง

ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม ถ้าดำเนินชีวิตไปในประโยชน์ทั้ง 3 ประการ ตามที่กล่าวมา ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ เป็นผู้ฉลาด เป็นบัณฑิต สมตามพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "มิใช่ว่า บุรุษจะเป็นบัณฑิตในที่ทั่วไป ก็หา มิได้ ถึงสตรีที่มีปัญญา เห็นประจักษ์ในเหตุการณ์นั้นๆ ก็เป็นบัณฑิตได้"

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com 02-281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 02-281-243

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น