วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความอดทน khaosod

ความอดทน

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ขันติ แปลว่า ความอดทน ความอดกลั้น ถือว่าเป็นคุณธรรมที่มีความสำคัญมาก



คนเราเกิดมาถ้าไม่มีความอดทนทางกาย วาจา หรือทางใจแล้ว ชีวิตก็ไร้ค่า ไม่สามารถทำการงานต่างๆ ให้สำเร็จลงได้ เมื่อกล่าวถึงหลักของความอดทน ท่านจำแนกไว้ 3 ประเภท คือ ทนลำบาก ทนตรากตรำ และทนเจ็บใจ



ความอดทนต่อทุกขเวทนาต่างๆ ที่เกิดจากความเจ็บไข้ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ไม่แสดงอาการกระวนกระวายใจและทุรนทุราย เรียกว่า ทนลำบาก



มนุษย์เราเกิดมา ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องมีทุกคน ไม่มากก็น้อย ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นของธรรมดา ไม่มีใครสามารถล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้



บางคนเมื่อมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น ไม่สามารถทนต่อความลำบาก ขาดสติหุนหันพลันแล่น บางครั้งขาดความยั้งคิด มีให้เห็นบ่อยๆ ทางสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ บางคนเมื่อประสบกับทุกขเวทนาทางร่างกายอย่างแรงกล้า เมื่อถึงคราวใกล้ตาย ถ้ามีสติสัมปชัญญะดี ไม่หลง อดทนต่อทุกข เวทนานั้นได้ ไม่พรั่นพรึงต่อความตายก็สามารถทำกิจที่ควรทำในที่สุดให้สำเร็จได้ เป็นที่สรรเสริญของนักปราชญ์ทั้งหลาย



ความอดทนต่อการทำงานเพื่อเลี้ยงชีวิต หนักเอาเบาสู้ ไม่ท้อถอย ไม่หวั่นกลัวต่อความหนาว ร้อน เป็นต้น ชื่อว่า ทนตรากตรำ



บางคนมีแต่กำลังกาย ส่วนใจท้อแท้ไม่สู้งาน ไม่สามารถประกอบการงานให้เป็นชิ้นเป็นอันได้ คนเช่นนั้นนับว่าไม่อดทน เป็นคนเกียจคร้าน คนที่มีลักษณะเช่นนี้ มีแต่เสื่อมฝ่ายเดียว เมื่อบุคคลมีขันติกำกับอยู่ ก็จะข่มใจขับไล่ความเกียจคร้านนั้นเสีย ทนตรากตรำทำงานโดยไม่ย่อท้อ ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยในเวลาทำงาน ภายหลังย่อมได้เห็นผลของความเหน็ดเหนื่อย ประสบความสำเร็จดังคำที่ว่า ความอดทน เป็นสิ่งที่ขมขื่น แต่ผลของมันสดชื่นเสมอ



ความอดทนต่อการด่าว่าร้าย กระทบกระทั่งดูถูกดูหมิ่นของบุคคลอื่น ชื่อว่า ทนเจ็บใจ



คนเราเมื่อประสบอารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจเช่นนั้น ก็ทำให้ขาดความอดทน ย่อมเป็นคนหุนหันใจเร็ว แสดงกิริยาอาการที่น่าเกลียดออกมา กลายเป็นคนเจ้าโทสะ ใช้วาจาด่าว่าผู้อื่นเพราะอารมณ์โกรธที่ไม่สามารถอดทนได้ ส่วนผู้ที่มีขันติอดกลั้นต่อคำพูดด่าทอด้วยวาจาหยาบคายร้ายแรงของคนทุกประเภท ไม่แสดงอาการโกรธออกมา มีจิตใจหนักแน่น ไม่หุนหันมีจิตใจสงบ ย่อมมีใจเย็นชื่นอยู่เสมอ เป็นที่สรรเสริญของนักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น



ดังนั้น ความอดทนอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ถ้าอดทนด้วยน้ำใจที่เป็นธรรมแล้ว ชื่อว่าขันติทั้งสิ้น เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิตชน สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงแสดงอานิสงส์ของขันติไว้หลายประการ คือ เป็นที่รักเป็นที่พอใจของคนหมู่มาก เป็นผู้ไม่ดุร้าย เป็นผู้ไม่มีความเดือดร้อน เป็นผู้ไม่หลงลืมสติ หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีขันติอย่างยอดเยี่ยม ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ พระองค์ทรงตรากตรำเสด็จไปในที่ทุกสถาน เพื่อยังความสุขสำราญให้เกิดแก่พสกนิกรของพระองค์



พระองค์จึงทรงเป็นบัณฑิตในทางพระพุทธศาสนาที่มีเครื่องประดับ คือ ความอดทน ประเสริฐกว่าเครื่องประดับตกแต่งทั้งหลายในโลก เพราะสิ่งเหล่านั้นย่อมมีคุณค่าในวัยที่ควรเท่านั้น ขันติเป็นเครื่องประดับที่ทำให้เกิดสง่าราศีแก่คนทุกชั้นทุกวัย

วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความไม่เบียดเบียน khoaosd

ความไม่เบียดเบียน

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


คําว่า อวิหิงสา แปลว่า ความไม่เบียดเบียนให้ผู้อื่นลำบาก คือไม่ก่อทุกข์ยากให้แก่สัตว์ใดด้วยเห็นเป็นของสนุก ไม่ทำร้ายมนุษย์และรังแกสัตว์เล่นเพื่อความบันเทิงใจของตน ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น ไม่เก็บภาษีขูดรีดหรือไม่ใช้แรงงานเกินควร รวมไปถึงไม่หลงระเริงอำนาจ ไม่หาเหตุเบียดเบียนลงโทษแก่ผู้อื่นเพราะความอาฆาตร้ายและเกลียดชัง



มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่ออยู่รวมกันมากเป็นหมู่เป็นคณะ เป็นสังคมและประเทศชาติจำเป็นต้องมีผู้ปกครองและผู้อยู่ในปกครอง ทั้งสองฝ่ายจะอยู่ร่วมด้วยกันได้อย่างเป็นสุขก็เพราะความไม่เบียดเบียนกัน ผู้ปกครองอาศัยเก็บภาษีอากรราษฎร เพื่อบริหารประเทศ แต่ถ้าเก็บภาษีขูดรีดเกินไปถือว่าเป็นการขาดความสงสาร เป็นการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์เดือดร้อน



พระพุทธเจ้าทรงเปล่งพระอุทานว่า ความไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก หมายความว่า ความไม่เบียดเบียน ความไม่โกรธเกลียดกัน และความระมัดระวังกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม เพื่อไม่ทำให้ผู้อื่นลำบากเดือดร้อน พยายามไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น กล่าวคือความไม่เบียดเบียนกันเป็นหลักธรรมสำคัญในการทำให้โลกเกิดสันติภาพ เป็นเหตุนำมาซึ่งความสงบสุขในโลก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า



อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่



หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน



ส่วนสมเด็จพระบรมศาสดาเป็นที่เคารพรักนับถือของชาวโลก เพราะมีพระกรุณาธิคุณ ตั้งแต่พระองค์ตรัสรู้แล้ว ได้ตัดสินพระทัยประกาศพระศาสนา เสด็จไปเทศนาโปรดประชาชนในที่ต่างๆ ตลอด 45 พรรษา โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากพระวรกาย ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะให้สัตว์ทั้งหลายพ้นจากทุกข์เป็นเบื้องหน้า พระองค์มีน้ำพระทัยอันเยือกเย็นสนิทด้วยพระกรุณาธิคุณ เช่น ทรงบำเพ็ญพุทธกิจประจำวัน 5 ประการ คือเวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต เวลาเย็นทรงแสดงธรรม เวลาค่ำประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุ เที่ยงคืนทรงตอบปัญหาเทวดา และจวนสว่างทรงตรวจตราพิจารณาสัตว์ทั้งที่สามารถจะบรรลุธรรมได้ แล้วเสด็จไปโปรด ด้วยเหตุนี้จึงได้พระนามที่แสดงถึงพระพุทธคุณว่า พระผู้มีพระมหากรุณา เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ เพราะทรงมีความกรุณาต่อพสกนิกร พระองค์ทรงมีพระทัยหวั่นไหว เมื่อทรงเห็นใครตกทุกข์ได้ยากหรือไม่มีที่พึ่ง ก็ทรงนิ่งเฉยอยู่มิได้ ทรงดำริช่วยบำบัดทุกข์นั้นให้เบาบางลงหรือหมดสิ้นไป ทรงเห็นทุกข์เดือดร้อนของคนอื่นเสมือนหนึ่งทุกข์เดือดร้อนของพระองค์ เมื่อทรงช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของเขาได้แล้ว ก็เหมือนพระองค์เองพ้นจากความทุกข์นั้นไปด้วย



พระองค์ทรงเป็นธรรมิกราช ทรงแผ่พระมหากรุณาธิคุณอันไพศาลไปในประชาชนผู้อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพสกนิกรของพระองค์ ปรากฏแก่ประชาชนทั้งหลายประหนึ่งเทพในหมู่มนุษย์ ทรงบำเพ็ญคุณธรรมเสมือนพระโพธิสัตว์ที่ต้องการขนสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากห้วงทุกข์ทั้งปวงในวัฏสงสาร พระราชกรณียกิจอันกอปรด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์แก่ปวงชนชาวไทยทั่วราชอาณาจักรนั้น เกินกว่าที่จะพรรณนาได้ครบถ้วน พระองค์จึงทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติตลอดมา

วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จุดอ่อนคนไทย khaosod


จุดอ่อนคนไทย 10 ประการ

คอลัมน์ เมืองไทย25น.
ทวี มีเงิน


เสาร์นี้มีผู้ใหญ่ในแวดวงตุลาการที่เคารพนับถือส่งรายงานของวุฒิสภาวิเคราะห์จุดอ่อนคนไทย 10 ประการให้อ่านเล่นเห็นว่าน่าสนใจจึงเอามาให้อ่านเป็นข้อคิดดังนี้



ข้อ 1. คนไทยรู้จักหน้าที่ตัวเองต่ำมาก โดยเฉพาะหน้าที่ต่อสังคม มือใครยาวสาวได้สาวเอาเกิดเป็นธุรกิจการเมือง ธุรกิจราชการ ธุรกิจการศึกษา ทำให้ประเทศชาติล้าหลัง



2. การศึกษาไม่ทันสมัย คนไทยเก่งแต่ภาษาตัวเองทำให้ขาดโอกาสแข่งขันกับต่างชาติในเวทีต่างๆ ไม่กล้าแสดงออก ขี้อายไม่มั่นใจในตัวเอง เราจึงตามหลังชาติอื่น คนรวยจะส่งลูกเรียนเมืองนอก เพื่อโอกาสที่ดีกว่า



3. คนไทยกว่า 70% ทำงานแบบไร้อนาคตทำแบบวันต่อวัน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ น้อยคนที่จะทำงานเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน มีเป้าหมายอนาคตชัดเจน



4. ไม่จริงจังในความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำแบบผักชีโรยหน้าทำด้วยความเกรงใจ ต่างจากคนญี่ปุ่นหรือยุโรป ที่ให้ความสำคัญกับสัญญาหรือข้อตกลงอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นความ เชื่อถือในระยะยาว



5. การกระจายความเจริญยังไม่เต็มที่ ประชากร 60-70% ที่อยู่ห่างไกลขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองและชุมชน



6. การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มแข็ง ไม่ต่อเนื่อง ทำแบบลูบหน้าปะจมูกไม่จริงจัง การใช้กฎหมายกับผู้มีอำนาจและบริวาร ทำแบบเอาตัวรอดไม่มีมาตรฐาน ข้อนี้กระบวนการยุติธรรมจะต้องปรับปรุง



7. สังคมไทยไม่เป็นสุภาพบุรุษ อิจฉาตาร้อน ยกย่องคนมีอำนาจ มีเงิน โดยไม่สนใจภูมิหลังโดยเฉพาะคนที่ล้มบนฟูกจะไปเกาะผู้มีอำนาจเอาตัวรอด คนไทยดีแต่พูดมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ทำให้คนดีไม่กล้าเข้ามากลัวเปลืองตัว



8. เอ็นจีโอค้านลูกเดียว บ่อยครั้งที่เราเสียโอกาสมหาศาลเพราะการค้านอย่างหัวชนฝาไม่คุยกันด้วยเหตุผล



9. ยังไม่พร้อมในเวทีโลก เรายังขาดทักษะขาดทีมเวิร์กที่ดีทำให้สู้ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ไม่ได้



10. เลี้ยงลูกไม่เป็น เด็กไทยขาดความอดทน ไม่มีภูมิคุ้มกันเป็นขี้โรคทางจิต ไม่เข้มแข็ง เราเลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ไม่สอนลูกให้ช่วยตัวเอง ต่างกับชาติที่เจริญแล้ว เขาจะกระตือรือร้นช่วยตัวเอง ขวนขวายแสวงหา ค้นหาตัวเอง และเขาจะสอนให้สำนึกรับผิดชอบต่อสังคม

อ่านแล้วอย่าเพิ่งท้อ แต่ควรเอามาแก้ไขเพื่อประโยชน์ตัวเองและประเทศชาติต่อไป

วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความซื่อตรง khaosod


ความซื่อตรง

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ความเป็นผู้ซื่อตรง หมายถึงตรงในทางที่ดี ทางสุจริต ตรง ต่อหน้าที่การงานของตน ต่อมิตรสหายของตน หรือหลักการของตน



ความซื่อตรงนี้ เมื่อกล่าวโดยลักษณะแยกได้เป็น 6 ประการ คือ



ประการแรก ซื่อตรงต่อบุคคล คือ มีความซื่อสัตย์สุจริต ต่อบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับตนเอง ไม่ว่าจะชั้นสูง เสมอกันหรือต่ำกว่าก็ตาม ไม่คดโกงผู้อื่น ไม่นินทาว่าร้ายใครในที่ลับหลังด้วยเจตนาชั่ว ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น ไม่เนรคุณผู้มีพระคุณ



ประการที่ 2 ซื่อตรงต่อเวลา คือ การที่ได้นัดหมายกับใคร เวลาใดแล้ว ไม่ผิดนัด ไปตรงตามเวลา เหมาะสมกับเวลาที่ได้นัดหมายไว้ หรือตั้งใจจะทำอะไร เวลาใด แล้วลงมือปฏิบัติให้เป็นไปตามเวลาที่กำหนดไว้นั้น เพราะคนทุกคนนิยมการไปมาตรงเวลา จึงถือเวลาที่กำหนดไว้เป็นสำคัญ



ประการที่ 3 ซื่อตรงต่อวาจา คือ เมื่อได้รับปากกับใครไว้หรือได้ประกาศไว้ว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้อันเป็นสิ่งที่ดี และจะไม่กระทำสิ่งนั้นสิ่งนี้อันเป็นสิ่งไม่ดี แล้วกระทำตามที่ได้สัจวาจา เอาไว้ไม่บิดพลิ้วหรือหาข้ออ้างในอันที่จะไม่กระทำตามนั้นโดยประการต่างๆ



ประการที่ 4 ซื่อตรงต่อหน้าที่ คือ ซื่อสัตย์สุจริตและจริงใจต่อตำแหน่งหน้าที่ของตน ไม่ปล่อยให้การปฏิบัติหน้าที่ให้เสียหาย ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตลอดจนเครือญาติมี ช่องทางทำการอันเป็นทุจริต หรือประพฤติมิชอบ เบียดบังภาษีอากรอันเป็นของประเทศชาติมาเป็นของตนเอง



ประการที่ 5 ซื่อตรงต่อธรรมะหรือความดี คือ การยึดมั่น ในหลักคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตใจต่อคุณธรรมและธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติและพระศาสนา บูชาความถูกต้องของธรรมเนียมประเพณีนั้นๆ เหนือสิ่งอื่นใด



ประการที่ 6 ซื่อตรงต่อตนเอง คือ ไม่โกหกตนเอง ซื่อสัตย์สุจริตต่ออุดมการณ์ของตน ยอมเอาเหตุผลปรับปรุงจนให้เข้ากับเหตุการณ์ อันเป็นแนวคิดหรือความตั้งใจเดิมของตนเอง แต่ถือหลักคืออุดมการณ์เป็นสำคัญ ไม่ฝืนใจในอันที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ใช่ปณิธานของตนเอง



ความซื่อตรงที่ได้แสดงไว้ 6 ประการนี้ เป็นหลักสำคัญในการปกครอง ถ้าผู้นำปฏิบัติตนไม่ซื่อตรง ไม่ซื่อสัตย์ต่ออำนาจหน้าที่ความรับรับผิดชอบที่มีอยู่แล้วนั้น จะเป็นบ่อเกิดแห่งความประพฤติทุจริตมิชอบและก่อให้เกิดความหวาดระแวง ไม่เชื่อถือไว้วางใจต่อกัน ซ้ำจะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ถ้าประพฤติตรงและปฏิบัติตรงต่อกัน มีความจริงใจต่อกัน ก็จะก่อให้เกิดความไว้วางใจยอมรับนับถือ สมัครสมานสามัคคีกลมเกลียวอยู่กันอย่างสงบสุข ปราศจากความหวาดระแวงต่อกัน เรียกว่า อยู่เย็นเป็นสุข ถ้าประพฤติตนตรงกันข้ามผลก็จะมีนัยตรงกันข้ามเช่นกัน คืออยู่กันอย่างหาความสงบสุขไม่ได้ เรียกว่า อยู่ร้อนนอนทุกข์

วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ทาน khaosod


ทาน

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com


คําว่า ทาน หมายถึง การให้เพื่ออนุเคราะห์ผู้ที่ขาดแคลน เพื่อสงเคราะห์ผู้ที่ควรสงเคราะห์ เป็นการผูกมิตรไมตรี หรือเพื่อบูชาผู้ที่ควรบูชา เป็นการตอบแทนคุณ หรือเป็นการบำเพ็ญบุญในเขตบุญ พระพุทธองค์ตรัสสอนให้ทำทานอย่างมีขอบเขตและเหตุผล ดังที่ตรัสไว้ว่า ทรงสรรเสริญการเลือกให้ และทรงแสดงสมบัติของทานไว้ 3 ประการ ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยเจตนา คือมีเจตนาดีก่อนแต่จะให้ มีเจตนาดีขณะให้ มีเจตนาดีภายหลังให้ ถึงพร้อมด้วยวัตถุ ได้แก่ วัตถุเป็นของที่ควรให้เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ถึงพร้อมด้วยปฏิคาหกคือผู้รับซึ่งเป็นผู้ควรให้ และตรัสสอนให้ทำทานเป็นบุญคือให้เป็นเครื่องชำระล้างความชั่ว เช่น โลภะ มัจฉริยะ เป็นต้น



ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคคลโดยทั่วไปมี 2 ลักษณะ คือปัญหาความขาดแคลนทางกาย และปัญหาความขัดข้องทางใจ ในการแก้ปัญหาจึงต้องแยกแยะปัญหาให้ถูกจึงจะสามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าแยกปัญหาไม่เป็น กำหนดไม่ได้ถึงมูลเหตุแห่งปัญหา แล้วขันอาสามาแก้ไข ก็มีแต่จะทำให้ปัญหานั้นซับซ้อนยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น



เพื่อเป็นการแก้ปัญหา พระพุทธองค์จึงประทานวิธีแก้ไข 2 ประการ คือ



1.การแก้ปัญหาทางกายด้วยการให้วัตถุสิ่งของ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องมือประกอบอาชีพ ทุนในการดำเนินการเพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาดแคลนทางกาย การประสบภัยพิบัติต่างๆ ความป่วยไข้ที่ไม่รับการรักษาพยาบาลที่ถูกวิธี นับว่าเป็นทุกข์ทางกายที่ควรได้รับการช่วยเหลือ หรือพื้นฟูให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม



2.การแก้ปัญหาความขัดข้องทางใจด้วยการให้ธรรม คือคำแนะนำสั่งสอน ให้ข้อคิดให้กำลังใจ อันเป็นการช่วยแนะนำในหนทางที่ถูกต้อง เป็นการปรับระบบความคิดให้เป็นไปในทางที่ชอบประกอบด้วยธรรม ในบางครั้งบุคคลย่อมไม่อาจที่จะกำหนดได้ว่าความเหมาะสมถูกต้องอยู่ ณ จุดใด ด้วยเหตุที่ขาดปัญญาไตร่ตรอง ขาดประสบการณ์ในการทำงาน ทำให้ขาดความมั่นใจในการตัดสินปัญหา ในสถาน การณ์เช่นนี้จำต้องอาศัยผู้รู้เป็นตัวช่วยในการให้ข้อมูล ให้ความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์เพื่อประกอบในการตัดสินใจ



ผู้ปกครองนอกจากจะให้ความเป็นธรรม ให้ความปกป้องคุ้มครองแล้ว ยังต้องมีน้ำใจกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้ใต้ปกครองด้วย การให้ทั้ง 2 ประเภทนี้จะต้องมีอยู่ในจิตใจของผู้ปกครอง เพราะจะทำให้เกิดผลดีต่อการปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง ย่อมจะได้รับความสนิทใจพร้อมที่จะให้ความร่วมมือร่วมใจในแผนงานโครงการ การปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลความสุข อันเป็นจุดหมายร่วมกัน

วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ปริจจาคะ khasod

ปริจจาคะ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


คําว่า ปริจาคะ แปลว่า สละรอบ มีความหมายเป็น 3 อย่าง คือ

ประการที่ 1 ปริจจาคะ หมายถึง การให้ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือเกื้อกูลด้วยวัตถุสิ่งของโดยไม่หวังผลตอบแทน

เช่น รัฐบาลสร้างถนน สร้างสะพาน สร้างบ่อน้ำ สร้างโรงพยาบาล สร้างสถานศึกษา เป็นสาธารณประโยชน์

ประการที่ 2 ปริจจาคะ หมายถึง ความมีใจกว้าง ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น

อดทนฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่นได้ ความรู้จักแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง

ประการที่ 3 ปริจจาคะ หมายถึง สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตน

การบริจาค เสียสละความสุขสำราญ สละชีวิตของตนเพื่อประโยชน์ของประชาชนและความสงบสุขของบ้านเมือง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญด้วยพระบารมี พร้อมทั้งราชธรรมจริยาปริจจาคะ

ในส่วนปรหิตปฏิบัติ คือ เหตุผลสำคัญที่นำให้เข้าถึงความเจริญในการปกครองประเทศให้วัฒนาสถาพร ดังจะเห็นได้จากพระราชกรณียกิจนานัปการที่ได้ทรงปฏิบัติตลอดมา ดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อันนับจะประมาณมิได้ เช่น



- โครงการฝนหลวงที่ได้พระราช ทานแนวพระดำริตั้งแต่พุทธศักราช 2498

- โครงการอุทยานสมุนไพรพุทธมณฑล

- โครงการพัฒนาดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

- โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

- โครงการฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลฯ จังหวัดกระบี่

- โครงการอนุรักษ์ไม้และสัตว์ป่าบ้านแม่ต๋ำ จังหวัดลำปาง

- โครงการขุดสระกักเก็บน้ำ ตามทฤษฎีใหม่ จังหวัดกาฬสินธุ์

- โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง"

- โครงการทุนเล่นเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย อันเป็นการสนับสนุนพระภิกษุสามเณรในการศึกษาพระพุทธศาสนา เพื่อให้ปริยัติคงอยู่ อันเป็นเหตุให้ปฏิบัติและปฏิเวธ อยู่สืบไปตราบนานเท่านาน

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ยกมาเป็นตัวอย่าง จากที่ได้ดำเนินการอยู่นับไม่ถ้วนในปัจจุบัน เป็นการแสดงให้เห็นพระราชจริยาวัตรสอดคล้องกับความหมายแห่ง ปริจจาคะ ที่หมายถึงการให้ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือเกื้อกูลด้วยวัตถุสิ่งของโดยไม่หวังผลตอบแทน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประยุกต์หลักปริจจาคะธรรม เพื่อการปกครองประเทศชาติ ทรงเป็นพุทธมา มกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และทรงอาศัยการถวายความเห็นข้อแนะนำจากคณะองคมนตรีเป็นสำคัญ

เป็นการแสดงให้เห็นพระราชจริยาวัตรสอดคล้องกับความหมายแห่ง ปริจจาคะ ประการที่ 2 ที่หมายถึง ความมีใจกว้าง ยอมรับความคิดของผู้อื่น อดทนฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่นได้ ความรู้จักแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง