วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การให้ผลของกรรม (5) khaosod

การให้ผลของกรรม (5)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


เมื่อยังต้องการโลกธรรมฝ่ายดี คือที่ชื่นชอบ เป็นอิฏฐารมณ์ ก็กำหนดสมบัติวิบัติ ที่เป็นกำลัง หรือเป็นจุดอ่อนของตน และจัดสรรเลือกองค์ประกอบฝ่ายสมบัติที่จัดเลือกได้ หลีกเว้นวิบัติเสีย แล้วพยายามเข้าถึงผลดีที่มุ่งหมายด้วยกรรมที่เป็นกุศล ซึ่งมีผลมั่นคงและลึกซึ้งถึงชีวิตทุกระดับของตน ไม่สร้างผลด้วยอกุศลกรรม และไม่ถือโอกาสยามสมบัติอำนวยไปประกอบการอกุศล เพราะสมบัติและวิบัติสี่ประการนั้นเป็นของไม่แน่นอน



เมื่อกาลโอกาสที่เอื้ออำนวยผ่านไป กรรมร้ายก็แสดงผล พึงถือโอกาสยามสมบัติช่วยเร่งประกอบกุศลกรรมเท่านั้น คือถือเอาแต่ส่วนที่ดีงามไร้โทษของหลักการที่กล่าวมานี้



โดยนัยนี้ ก็สรุปได้ว่า ถ้าจะทำการใด ในเมื่อมีองค์ประกอบของนิยามหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างน้อยก็พึงทำองค์ประกอบฝ่ายกรรมนิยามให้ดี เป็นส่วนที่ยึดเอาไว้ได้อย่างแน่นอนมั่นใจแล้วอย่างหนึ่งก่อน ส่วนองค์ประกอบฝ่ายนิยามอย่างอื่นก็พึงใช้ปัญญาศึกษาพิจารณาเอามาใช้เสริม เท่าที่ไม่เป็นโทษในแง่ของกรรมนิยามต่อไป หากปฏิบัติได้เช่นนี้ก็เรียกว่า เป็นผู้รู้จักถือเอาประโยชน์จากกุศลกรรมและสมบัติวิบัติทั้งสี่ หรือรู้จักใช้ทั้งกรรมนิยามและสมมตินิยามในทางที่เป็นคุณ



สำหรับบางคนอาจต้องเตือนว่า อย่ามัวคิดวุ่นอยู่เลยว่า ทำไมคนนั้นไม่ทำดี แต่กลับได้ดี ทำไมคนนี้ทำไม่ดี แต่ไม่เห็นเป็นอะไร ทำไมเราทำอย่างนี้ไม่เห็นได้อะไร ดังนี้เป็นต้น ปัจจัยหรือองค์ประกอบของนิยามทั้งหลาย เราอาจยังตรวจดูรู้ไม่ทั่วถึง และพึงคิดว่า ตัวเรานี้ ปัญญาที่จะรู้จักเลือกถือเอาประโยชน์จากนิยามอื่นๆ ก็ไม่มี หนำซ้ำองค์ประกอบฝ่ายกรรมนิยามที่เป็นฐานยืนพื้นแน่นอนอยู่นี้ก็ยังไม่ใส่ใจที่จะทำให้ดีเสียอีก ถ้าขืนเป็นอย่างนี้ก็คงมีแต่จะต้องทรุดหนักลงไปทุกที



อย่างไรก็ตาม เมื่อมองให้เข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ผู้ประกอบกรรมดีย่อมไม่ติดอยู่เพียงขั้นที่ยังมุ่งหวังผลอันเป็นโลกธรรม (ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ) ตอบสนองแก่ตน เพราะกุศลกรรมที่แท้จริง เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เขาจึงทำกรรมด้วยจาคะ สละอกุศลในใจ และเผื่อแผ่เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ทำกรรมด้วยเมตตากรุณา ช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์ และสนับสนุนความอยู่ร่วมกันโดยสุขสงบมีไมตรี ทำกรรมด้วยปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เพื่อโพธิ เพื่อให้ธรรมแพร่หลายครองใจคนและครองสังคม ซึ่งจัดเข้าได้ว่า เป็นกรรมขั้นสูงสุด คือกรรมที่เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ตามหลักที่ยกมาอ้างแล้วข้างต้น



ค) ผลกรรมในช่วงกว้างไกล



เนื้อความในหัวข้อที่กำลังจะกล่าวนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาการให้ผลของกรรม ในระดับวิถีชีวิตของบุคคล ที่รวมอยู่แล้วในหัวข้อใหญ่ แต่ที่แยกออกมาตั้งเป็นหัวข้อโดยเฉพาะในที่นี้ก็เพราะการให้ผลของกรรมชั่วอย่างไกลแบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นปัญหาที่มีผู้เอาใจใส่กันมากเป็นพิเศษ แม้ว่าในที่นี้จะไม่มุ่งอธิบายเรื่องนี้ และถือว่าได้แสดงหลักรวมไว้ในหัวข้อใหญ่แล้ว แต่ก็เห็นว่าควรจะได้กล่าวถึงข้อสังเกตบางอย่างไว้เป็นแนวทางสำหรับศึกษาพิจารณา



เมื่อเจตนาที่ประกอบด้วยกุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นในใจ ก็เป็นอันว่ากิจกรรมของจิตได้เริ่มต้นแล้ว จิตได้มีการเคลื่อนไหวหรือไหวตัวแล้ว เราอาจเลียนศัพท์ฝ่ายวัตถุมาใช้ และเรียกอาการนี้ว่าพลังแห่งเจตจำนง ได้เกิดขึ้นแล้ว พลังนี้เป็นไปอย่างไร มีกระบวนการทำงานในระหว่างอย่างไร โดยอาศัยปัจจัยอื่นๆ อะไรอีกบ้าง เรามักไม่สู้เข้าใจ และไม่ใส่ใจที่จะรู้ แต่มักสนใจเฉพาะผลข้างปลายที่ปรากฏสำเร็จรูปออกมาแล้ว



โดยเฉพาะพลังแห่งเจตจำนง ที่แสดงผลออกไปในโลกแห่งวัตถุและในสังคมมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัดและพูดถึงได้ง่าย ผลสำเร็จแห่งพลังเจตจำนงในโลกฝ่ายวัตถุมีตัวอย่างมากมาย โดยเฉพาะสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลาย ตั้งแต่รองเท้าไปจนถึงยานอวกาศสู่ดวงดาวต่างๆ ตั้งแต่ขวานหินจนถึงระเบิดนิวเคลียร์ ตั้งแต่ไม้นับคะแนนจนถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น หรือในทางสังคม เช่น ระบบ ระบอบ และสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครองแบบต่างๆ ก็ตาม ระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ ก็ตาม สถาบันต่างๆ ของสังคมก็ตาม การจัดระเบียบกลไกการบริหารการปกครองรัฐ การจัดรูปองค์กรและระบบงานต่างๆ เป็นต้น

วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การให้ผลของกรรม (4) khaosod


การให้ผลของกรรม (4)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


คู่ที่ 1 คติสมบัติ เช่น เกิดอยู่ในถิ่นเจริญ มีบริการการศึกษาดี ทั้งที่สติปัญญาและความขยันไม่เท่าไร แต่ก็ยังได้ศึกษามากกว่า เข้าถึงสถานะทางสังคมสูงกว่าอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีสติปัญญาและความขยันหมั่นเพียรดีกว่า แต่ไปเกิดอยู่ในถิ่นป่าดง หรือเช่น ไปเกิดเป็นเทวดา ถึงจะแย่อย่างไรก็ยังสุขสบาย ไม่เดือดร้อน ไม่อดอยาก



คติวิบัติ เช่น มีพระพุทธเจ้าอุบัติตรัสสอนธรรม แต่ตัวไปเกิดอยู่เสียในป่าดง หรือในนรก ก็หมดโอกาสได้ฟังธรรม หรือมีสติปัญญาดี แต่ไปเกิดเป็นคนป่าอยู่ในกาฬทวีป ก็ไม่มีโอกาสได้เป็นนักปราชญ์ในวงการศิลป์และศาสตร์ทั้งหลาย มีความรู้ความสามารถดี แต่ไปอยู่ในถิ่นหรือในชุมชนที่เขาไม่เห็นคุณค่าของความรู้ความสามารถนั้น เข้ากับเขาไม่ได้ ถูกเหยียดหยามบีบคั้น อยู่อย่างเดือดร้อน คนหนึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นคนดี แต่ไปอยู่ในตำแหน่งฐานะหน้าที่ที่ไม่เข้ากับส่วนดีที่ตัวมี กลายเป็นตัวขัดถ่วงกิจการของส่วนรวมนั้น และตนเองก็ไม่เป็นสุข (กรณีหลังนี้อาจมีปโยควิบัติซ้ำด้วย) ดังนี้เป็นต้น



คู่ที่ 2 อุปธิสมบัติ เช่น รูปร่างสวยงาม น่าชื่นชม แม้ไปเกิดในตระกูลยากไร้ หรือถิ่นห่างไกล รูปกายช่วยให้ขึ้นมาสู่ฐานะและถิ่นที่มีเกียรติยศและความสุข



อุปธิวิบัติ เช่น เกิดในถิ่นดี หรือในตระกูลมั่งคั่งสมบูรณ์ แต่พิกลพิการง่อยใบ้ ไม่อาจได้รับเกียรติยศและความสุขความรื่นรมย์ที่พึงได้



คนสองคนมีคุณสมบัติอย่างอื่นเสมอกัน คนหนึ่งรูปร่างสง่า สวยงาม อีกคนหนึ่งขี้เหร่ หรือขี้โรค ในกรณีที่ถือร่างกายเป็นส่วนประกอบด้วย คนมีกายดีก็ได้รับผลไป แม้ในกรณีที่ไม่ถือกายเป็นคุณสมบัติ ก็เป็นธรรมดาของคนทั่วไปที่จะเอนเอียงเข้าหาคนที่มีรูปสมบัติ คนที่รูปวิบัติจะต้องยอมรับความจริงที่เป็นธรรมดาของชาวโลกข้อนี้ และตระหนักว่า ผู้ที่มีจิตเที่ยงตรงไม่เอนเอียงเพราะเหตุแห่งรูปสมบัติรูปวิบัตินี้ ก็มีเฉพาะแต่ท่านที่ประกอบด้วยคุณธรรมพิเศษยิ่งกว่าคนทั่วไป



คนที่มีรูปวิบัตินั้น เมื่อรู้เช่นนี้แล้วไม่พึงเสียใจ จากนั้นจะได้เร่งขวนขวายสร้างเสริมคุณสมบัติส่วนอื่นๆ ให้มีพิเศษยิ่งกว่าปกติ ถ้าคนรูปกายดีใช้ความพยายามหนึ่งส่วน คนมีอุปธิวิบัติอาจต้องพยายามสองหรือสามส่วน เป็นต้น ข้อสำคัญอย่าท้อแท้ ปัจจัยที่หย่อน ก็รู้ ที่เสริมได้ก็เร่งทำ ความรู้กรรมจึงจะเกิดประโยชน์



คู่ที่ 3 กาลสมบัติ เช่น เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ทำสิ่งที่ดีงาม มาเกิดอยู่ในยุคที่ผู้ปกครองดี สังคมดี ยกย่องเชิดชูคนดี คนผู้นั้นก็มีเกียรติ มีความเจริญ หรือบ้านเมืองสงบสุข ผู้มีสติปัญญาเป็นนักปราชญ์ก็มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถให้ปรากฏและให้เป็นประโยชน์ หรือในยุคสมัยหนึ่ง คนนิยมกาพย์กลอนกันมาก คนเก่งกาพย์กลอนก็รุ่งเรืองเฟื่องฟู



กาลวิบัติ ก็ตรงข้าม เช่น ในยามสังคมเสื่อมจากศีลธรรม ผู้ปกครองไม่ประกอบด้วยธรรม คนทำดีไม่ได้รับยกย่อง หรืออาจถูกเบียดเบียนกดขี่ ประสบความเดือดร้อน หรือยามบ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย มีศึกสงคราม ไม่มีใครสนใจคนทำความดีทางสันติ แม้มีสติปัญญาความสามารถก็ไม่มีโอกาสสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ หรือในยุคที่สังคมนิยมดนตรีหยาบร้อน ตนแม้เชี่ยวชาญในดนตรีที่สงบเยือกเย็น แต่ไม่ได้รับความสนใจยกย่อง เป็นต้น



คู่ที่ 4 ปโยคสมบัติ เช่น ตนไม่ใช่คนดีมีความสามารถจริง แต่รู้จักเข้าหาคนควรเข้าหา รู้จักเลี่ยงเรื่องควรหลบ อะไรควรเสียยอมเสีย ทำให้ตนเจริญก้าวหน้าไปได้ และความเสียหายบกพร่องของตนไม่ปรากฏ หรือมีความสามารถในการปลอมแปลงเอกสาร เอาความสามารถนั้นมาใช้ทางดี เช่นในงานพิสูจน์หลักฐาน



ปโยควิบัติ เช่น มีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติอื่นดีหมด แต่ติดการพนัน จึงไม่ได้รับการคัดเลือกไปทำงาน หรือมีฝีเท้ารวดเร็วมาก พอจะเป็นนักกรีฑาชั้นเลิศ แต่เอาความสามารถนั้นไปใช้ในการวิ่งฉกชิงทรัพย์เขา หรือตนมีฝีมือดีในทางช่าง แต่ไปนั่งทำงานเสมียนที่ไม่ถนัด เป็นต้น



ผลในระดับที่ 3 นี้ส่วนมากเป็นเรื่องของโลกธรรม ซึ่งมีความผันผวนปรวนแปรไม่แน่นอน แต่ก็เป็นเรื่องชั้นเปลือกผิวภายนอก มิใช่แกนในของชีวิต จะกระทบกระทั่งหนักเบาก็อยู่ที่ว่าจะมีความยึดติดถือมั่นมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่ยึดติด สามารถวางใจ ก็มีความสุขได้เสมอ หรืออย่างน้อยก็ทุกข์ไม่มาก และผ่านเหตุการณ์ไปได้ด้วยดี



ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสอนให้มีปัญญารู้เท่าทันธรรมดา ประกอบด้วยสติ มิให้หลงใหลประมาทมัวเมา คราวสุขคราวได้ ก็ไม่เหลิงลำพองเคลิ้มไป



คราวทุกข์คราวเสีย ก็ไม่ขุ่นมัวคลุ้มคลั่งปล่อยตัวถลำลงในทางชั่วทางเสีย ค่อยผ่อนผันแก้ไขเหตุการณ์ด้วยสติปัญญา

การให้ผลของกรรม (3) khaosod

การให้ผลของกรรม (3)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


พึงสังเกตว่า ความท่อนแรกที่เป็นอุปมานั้น ท่านนำเอาพีชนิยามมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพียงแต่พิจารณาข้ออุปมานี้ให้ดีก็จะแยกความสับสนระหว่างกรรมนิยามกับสมมตินิยามได้ทันที กล่าวคือ ข้อความว่า หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น แสดงกฎธรรมชาติฝ่ายพืชพันธุ์ ว่าปลูกมะขามได้มะขาม ปลูกองุ่นได้องุ่น ปลูกผักกาดได้ผักกาด เป็นต้น ไม่ได้แสดงผลในทางสมมตินิยามแต่ประการใด ว่าปลูกมะขามแล้วจะได้เงิน หรือปลูกผักแล้วจะรวย เป็นต้น ซึ่งเป็นคนละขั้นตอนกัน



พีชนิยามกับสมมตินิยามจะมาสัมพันธ์กัน ก็ในตอนที่ว่าปลูกองุ่นได้องุ่นแล้ว พอดีถึงคราวที่ตลาดต้องการองุ่นมาก จึงขายได้ราคาดี และปีนั้นจึงรวย แต่อีกคราวปลูกแตงโม ได้แตงโม และงอกงามได้ผลมากด้วย



แต่ปีนั้นคนปลูกแตงโมกันมาก ผลดกทั่วไปจนมีเกินความต้องการของตลาด ทำให้ราคาตก ปีนั้นขายขาดทุน ต้องทิ้งเปล่าเสียมากมาย นอกจากปัจจัยด้านความต้องการของตลาดแล้ว อาจมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีก เช่น เรื่องคนกลาง การกดราคา เป็นต้น แต่สาระสำคัญก็คือ จะเห็นความแน่นอนของพีชนิยามคงตัว และเห็นขอบเขตของพีชนิยามกับสมมตินิยาม ทั้งที่แยกต่างหากจากกันและสัมพันธ์กันได้อย่างชัดเจน



อุปมาข้างต้นนี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น คนมักมองกรรมนิยามกับสมมตินิยามสับสนกัน โดยพูดว่า ทำดีได้ดี ในความหมายว่า ทำดีแล้วรวย ทำความดีแล้วได้เลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่บางทีก็ไม่เป็น เหมือนกับพูดว่าปลูกมะม่วงได้เงินดี ปลูกมะพร้าวทำให้รวย เขาปลูกน้อยหน่าจึงยากจน ซึ่งอาจจะจริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้ แต่ความจริงก็คือ เป็นการพูดข้ามขั้นตอน ไม่แสดงความจริงตลอดสาย อาจใช้ได้สำหรับภาษาพูดพอรู้กัน แต่ถ้าจะเอาความจริงแท้ต้องแสดงเหตุปัจจัยซอยออกไป โดยว่ากันเป็นลำดับให้ละเอียด



ข) องค์ประกอบที่ส่งเสริมและขัดขวางการให้ผลของกรรม



การที่กรรมนิยามจะแสดงผลออกมาในระดับของวิถีชีวิต ทำให้มีความเป็นไปต่างๆ ประสบผลตอบสนองจากภายนอก อันน่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้างนั้น ในบาลีท่านแสดงหลักไว้ว่า ต้องขึ้นต่อองค์ประกอบต่างๆ 4 คู่ คือ สมบัติ 4 และวิบัติ 4



"สมบัติ" แปลง่ายๆ ว่า ข้อดี หมายถึงความเพียบพร้อมสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งช่วยเสริมส่งอำนวยโอกาสให้กรรมดีปรากฏผล และไม่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล พูดสั้นๆ ว่า องค์ประกอบอำนวยช่วยเสริมกรรมดี สมบัติมี 4 อย่าง คือ



1.คติสมบัติ สมบัติแห่งคติ ถึงพร้อมด้วยคติ หรือคติให้ คือ เกิดอยู่ในภพ ภูมิ ถิ่น ประเทศที่เจริญ เหมาะ หรือเกื้อกูล ตลอดจนในระยะสั้นคือ ทางดำเนินชีวิตเอื้อ หรือไปในถิ่นที่อำนวย



2.อุปธิสมบัติ สมบัติแห่งร่างกาย ถึงพร้อมด้วยร่างกาย ร่างกายดี หรือรูปร่างให้ เช่น มีรูปร่างสวย ร่างกายสง่างาม หน้าตาท่าทางดี น่ารัก น่านิยมเลื่อมใส สุขภาพดี แข็งแรง



3.กาลสมบัติ สมบัติแห่งกาล ถึงพร้อมด้วยกาล หรือกาลให้ คือ เกิดอยู่ในสมัยที่บ้านเมืองสงบสุข ผู้ปกครองดี ผู้คนมีศีลธรรม ยกย่องคนดี ไม่ส่งเสริมคนชั่ว ตลอดจนในระยะสั้น คือทำอะไรถูกกาลเวลา ถูกจังหวะ



4.ปโยคสมบัติ สมบัติแห่งการประกอบ ถึงพร้อมด้วยการประกอบกิจ หรือกิจการให้ เช่น ทำเรื่องตรงกับที่เขาต้องการ ทำกิจตรงกับความถนัดความสามารถของตน ทำการถึงขนาดถูกหลักครบถ้วนตามเกณฑ์หรือเต็มอัตรา ไม่ใช่ทำครึ่งๆ กลางๆ หรือเหยาะแหยะ หรือไม่ถูกเรื่องกัน รู้จักจัดทำ รู้จักดำเนินการ



ส่วน "วิบัติ" แปลง่ายๆ ว่าข้อเสีย หรือจุดอ่อน หมายถึงความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งไม่อำนวยแก่การที่กรรมดีจะปรากฏผล แต่กลับเปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล พูดสั้นๆ ว่า องค์ประกอบบกพร่อง เปิดช่องให้กรรมชั่ว วิบัติ มี 4 อย่าง คือ



1.คติวิบัติ วิบัติแห่งคติ หรือคติเสีย คือ เกิดอยู่ในภพ ภูมิ ถิ่น ประเทศ สภาพแวดล้อมที่ไม่เจริญ ไม่เหมาะ ไม่เกื้อกูล ทางดำเนินชีวิตไม่เอื้อ ถิ่นที่ไปไม่อำนวย



2.อุปธิวิบัติ วิบัติแห่งร่างกาย หรือรูปกายเสีย เช่น ร่างกายพิกลพิการ อ่อนแอ ไม่สวยงาม กิริยาท่าทางน่าเกลียด ไม่ชวนชม ตลอดจนสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย มีโรคมาก



3.กาลวิบัติ วิบัติแห่งกาล หรือกาลเสีย คือ เกิดอยู่ในยุคสมัยที่บ้านเมืองมีภัยพิบัติ ไม่สงบเรียบร้อย ผู้ปกครองไม่ดี สังคมเสื่อมจากศีลธรรม มากด้วยการเบียดเบียน ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดี ตลอดจนทำอะไรไม่ถูกกาลเวลา ไม่ถูกจังหวะ



4.ปโยควิบัติ วิบัติแห่งการประกอบ หรือกิจการเสีย เช่น ฝักใฝ่ในกิจการหรือเรื่องราวที่ผิด ทำการไม่ตรงความถนัด ความสามารถ ใช้ความเพียรในเรื่องไม่ถูกต้อง ทำการครึ่งๆ กลางๆ เป็นต้น

การให้ผลของกรรม (2) khaosod

การให้ผลของกรรม (2)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ทั้งนี้ รวมทั้งการที่ว่า เมื่อเขาจะทำการใดๆ เขาจะทำสิ่งนั้นๆ ตามแนวไหน ลักษณะใด ด้วยอาการใด จะทำไปตลอดไหม พบข้อขัดข้องอย่างไหนจะยอม อย่างไหนจะย่ำต่อไป จะทำสำเร็จหรือไม่ จะหยาบประณีต ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร ตลอดถึงว่า ตัวเขาจะปรากฏเป็นภาพในความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่นอย่างไร อันจะมีผลย้อนกลับมาหาตัวเขาเองอีก ในรูปของความช่วยเหลือ ร่วมมือ หรือขัดแย้งปฏิเสธ เป็นต้น อันเป็นส่วนที่บุคลิกภาพของเขาชักนำคนอื่นให้ช่วยพาตัวเขาไปสู่ผลสนองที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ



ทั้งนี้ มิได้ปฏิเสธองค์ประกอบด้านอื่นๆ โดยเฉพาะปัจจัยแวดล้อมทางสังคม ที่จะมามีปฏิกิริยาตอบโต้กันและมีอิทธิพลต่อเขาโดยอาศัยกรรมนิยามนี้ เพียงแต่ว่าในที่นี้มุ่งเน้นการมองกรรมนิยามจากด้านภายในออกมาอย่างเดียวก่อน ส่วนการมองจากด้านนอกเข้าไป จะเห็นได้ในหลักปรโตโฆสะและกัลยาณมิตรที่จะกล่าวข้างหน้า เป็นต้น



ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมนิยามตามที่กล่าวมานี้ มิใช่มีประโยชน์เฉพาะในด้านการแก้ไขปรับปรุงตนในการประกอบกรรมของบุคคลเองเท่านั้น แต่มีประโยชน์ในการที่คนอื่นหรือสังคมจะช่วยเหลือบุคคลให้โน้มน้อมไปในทางแห่งกุศลกรรม ด้วยการจัดสรรอำนวยสภาพแวดล้อมและเครื่องชักจูงที่ดีงาม ตามหลักปฏิรูปเทสวาส และกัลยาณมิตตตา หรือสัปปุริสูปัสสยะ อีกด้วย



ในหัวข้อก่อน ได้กล่าวถึงการก่อผลแปรกรรมในระดับที่ 1 ภายในจิตใจไว้พอเป็นเค้าแล้ว ส่วนการก่อผลในระดับที่ 2 ก็ต่อเนื่องจากระดับที่ 1 นั้นเอง และได้กล่าวถึงความหมายคร่าวๆ ไว้แล้ว ทั้งสองระดับนั้นเกี่ยวโยงถึงผลในระดับที่สามด้วย แต่ไม่ใช่ข้อพิจารณาโดยตรง ณ ที่นี้ จึงขอผ่านไป



ผลกรรมในระดับที่ 3 คือ ความเป็นไปแห่งวิถีชีวิต พร้อมด้วยผลตอบสนองต่างๆ นั้น ว่าที่จริงก็เป็นเรื่องของกรรมนิยามนั่นแหละ และส่วนมากก็สืบเนื่องมาจากผลในระดับที่ 1 และ 2 เช่น ถ้าคนผู้หนึ่งมีใจรักงาน ทำงานสุจริต ด้วยความขยันหมั่นเพียร จัดการงานได้ดี เขาก็น่าจะได้รับผลงานและผลตอบแทนดี อย่างน้อยดีกว่าคนที่เกียจคร้านหรือทำงานไม่สุจริต ข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต มีความสามารถ ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการบังเกิดผลดี ก็น่าที่จะเจริญก้าวหน้าในราชการ อย่างน้อยดีกว่าข้าราชการที่ไม่สามารถและไม่เข้มแข็งในหน้าที่ แต่บางทีผลหาเกิดเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้เพราะผลในระดับที่สามมิใช่เกิดจากกรรมนิยามอย่างเดียวล้วน หากแต่มีปัจจัยด้านนิยามอื่นๆ เฉพาะอย่างยิ่งสมมตินิยามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย



ในกรณีอย่างนี้ ถ้ามองดูแต่กรรมนิยามอย่างเดียว ไม่มองปัจจัยด้านอื่นให้ครบถ้วน และไม่รู้จักแยกขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างนิยามต่างๆ ก็จะเกิดความสับสน แล้วคำกล่าวที่ว่า "ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี" ก็ติดตามมา ถ้ากรรมนิยามทำงานลำพังอย่างเดียว ก็ย่อมไม่มีปัญหา ผลก็เกิดตรงตามกรรมนั้น



ตัวอย่างเช่น ขยันอ่านหนังสือเรียน หยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาตั้งใจอ่าน ก็อ่านจบ ได้ความรู้ แต่บางคราว ร่างกายอ่อนเพลียเกินไป หรือปวดศีรษะ หรืออากาศร้อนเกินไป ก็อาจอ่านไม่จบ หรืออ่านไม่รู้เรื่อง หรือเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นในระหว่างการอ่าน ก็ต้องหยุดชะงักลง ดังนี้เป็นต้น



อย่างไรก็ดี พึงตระหนักแน่ใจได้ว่า ถึงอย่างไรก็ตาม สำหรับมนุษย์ กรรมนิยามก็ยังคงเป็นแกนกลางชี้นำวิถีชีวิต หรือเป็นปัจจัยตัวเอกที่กำหนดการได้รับผลสนองดีร้ายต่างๆ ในชีวิตอยู่อย่างแน่นอน



สำหรับผู้ที่รู้สึกผิดหวังในตนเอง หรือมองเห็นใครอื่นก็ตามว่าทำดีแล้วไม่ได้ดีนั้น แม้ยังไม่ได้ตรวจสอบเหตุปัจจัยในด้านต่างๆ ให้ชัดเจนเลย ก็อาจลองมองดูอย่างง่ายๆ ก่อนว่า นี่ ถ้าเราไม่ได้ทำกรรมดีนั้นไว้ คงจะแย่ยิ่งกว่านี้ นั่น ถ้าเขาไม่ได้ทำดีไว้บ้าง เขาคงตกหนักยิ่งกว่านั้นอีก ถ้ามองอย่างนี้ บางทีจะเริ่มเกิดความเข้าใจ มองเห็นอะไรๆ ค่อยๆ ชัดมากขึ้น และตระหนักว่า ถึงอย่างไรกรรมที่ทำไว้ก็ไม่ไร้ผลเสียเลย และอาจสืบลึกลงไปจนถึงผลภายในจิตใจและผลต่อบุคลิกภาพอย่างที่กล่าวแล้วด้วย



ความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับการให้ผลของกรรม ขอให้มาดูและแก้ไขความเข้าใจกันตั้งต้นแต่ข้อความแสดงหลักทีเดียว คำกล่าวที่ชาวไทยนิยมพูดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั้น มาจากพุทธศาสนสุภาษิตว่าดังนี้



ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ



กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ



แปลว่า : หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น (ผู้) ทำดี ได้ดี (ผู้) ทำชั่ว ได้ชั่ว



คาถานี้เป็นพุทธพจน์ในรูปของอิสิภาษิต (คำกล่าวของฤๅษี) และโพธิสัตว์ภาษิต ซึ่งพระพุทธเจ้านำมาตรัสเล่า ท่านรวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก นับว่าเป็นข้อความที่แสดงหลักกรรมของพระพุทธศาสนาได้อย่างกะทัดรัดชัดเจน

การให้ผลของกรรม (1) khaosod

การให้ผลของกรรม (1)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ก) ผลกรรมในระดับต่างๆ



ปัญหาที่ถกเถียงกันมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องกรรม ก็คือ การให้ผลของกรรม โดยสงสัยเกี่ยวกับหลัก "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" ว่าเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ บางคนพยายามนำหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง คนที่ทำชั่วได้ดี และคนที่ทำดีได้ชั่ว มีมากมาย



ความจริงปัญหาเช่นนี้เกิดจากความเข้าใจสับสนระหว่างกรรมนิยามกับสมมตินิยาม โดยนำเอาความเป็นไปในนิยามทั้งสองนี้มาปนเปกัน ไม่รู้จักแยกขอบเขตและขั้นตอนให้ถูกต้อง ดังจะเห็นว่า แม้แต่ความหมายของถ้อยคำในหลัก "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" นั้นเอง คนก็เริ่มต้นเข้าใจสับสน แทนที่จะเข้าใจความหมายของ "ทำดีได้ดี" ว่าเท่ากับ ทำความดี ได้ความดี หรือทำความดี ก็มีความดี หรือทำความดี ก็เป็นเหตุให้ความดีเกิดมีขึ้น หรือทำความดี ผลดีตามกรรมนิยามก็เกิดขึ้น กลับเข้าใจเป็นว่า ทำความดี ได้ของดี หรือทำดีแล้ว ได้ผลประโยชน์ หรือได้อามิสที่ตนชอบใจ เมื่อปัญหามีอยู่เช่นนี้จึงควรศึกษากันให้ชัดเจน



จุดสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหา คือความสับสนเกี่ยวกับขอบเขตที่แยกต่างหากจากกัน และที่สัมพันธ์กันระหว่างกรรมนิยามกับสมมตินิยาม เพื่อความแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ เบื้องแรกขอให้พิจารณาการให้ผลของกรรม โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ



1.ระดับภายในจิตใจ ว่ากรรมทำให้เกิดผลภายในจิตใจ มีการสั่งสมคุณสมบัติ คือกุศลธรรมและอกุศลธรรม คุณภาพและสมรรถภาพของจิต มีอิทธิพลปรุงแต่งความรู้สึกนึกคิด ความโน้มเอียง ความนิยมชมชอบ และความสุขความทุกข์ เป็นต้น อย่างไรบ้าง



2.ระดับบุคลิกภาพ ว่ากรรมทำให้เกิดผลในด้านการสร้างเสริมนิสัย ปรุงแต่งลักษณะความประพฤติ การแสดงออก ท่าที การวางตนปรับตัว อาการตอบสนอง ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และต่อสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไปอย่างไรบ้าง การให้ผลระดับนี้ต่อเนื่องออกมาจากระดับที่ 1 นั่นเอง และมีขอบเขตคาบเกี่ยวกัน แต่แยกพิจารณาเพื่อให้มองเห็นแง่มุมของการให้ผลชัดเจนยิ่งขึ้น



3.ระดับวิถีชีวิตของบุคคล ว่ากรรมชักนำความเป็นไปในชีวิตของบุคคล ทำให้เขาได้รับประสบ การณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ประสบผลตอบสนองจากภายนอก พบความเสื่อมความเจริญ ความล้มเหลว ความสำเร็จ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ และความสูญเสียต่างๆ ที่ตรงข้าม ซึ่งรวมเรียกว่าโลกธรรมทั้งหลาย อย่างไรบ้าง ผลระดับนี้อาจแยกมองได้สองด้าน คือ



-ผลสนองจากปัจจัยด้านอื่นๆ ของสภาพแวดล้อมที่นอกจากคน



-ผลสนองจากปัจจัยด้านบุคคลอื่นและสังคม



4.ระดับสังคม ว่ากรรมที่บุคคลและคนทั้งหลายกระทำ มีผลต่อความเป็นไปของสังคมอย่างไรบ้าง เช่น ทำให้เกิดความเสื่อม ความเจริญ ความร่มเย็นเป็นสุข ความทุกข์ยากเดือดร้อนร่วมกันของมนุษย์ทั้งหลาย รวมทั้งผลจากการที่มนุษย์กระทำต่อสภาพแวดล้อมอื่นๆ แล้วย้อนกลับมาหาตัวมนุษย์เอง



จะเห็นได้ชัดว่า ผลในระดับที่ 1 และ 2 คือผลภายในจิตใจ และบุคลิกภาพ เป็นขอบเขตที่กรรมนิยามเป็นใหญ่ ระดับที่ 3 เป็นขอบเขตที่กรรมนิยามกับสมมตินิยามเข้ามาสัมพันธ์กัน และเป็นจุดที่ มักเกิดความสับสน ก่อให้เกิดปัญหาซึ่งควรพิจารณาในที่นี้ ส่วนระดับที่ 4 แม้จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็อยู่นอกขอบเขตของการพิจารณาในหัวข้อนี้



คนทั่วไปเมื่อมองดูผลของกรรมที่เกิดแก่ตน หรือเพ่งจ้องติดตามดูผู้อื่นว่าใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริงหรือไม่ อย่างไร มักมองดูแต่ผลในระดับที่ 3 คือความเป็นไปในชีวิตส่วนที่ได้รับผลตอบสนองจากภายนอกเท่านั้น ทำให้มองข้ามผลในระดับที่ 1 และ 2 ไปเสีย ทั้งที่ผลสองระดับต้นนั้นแหละมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำคัญทั้งในแง่เฉพาะของมันเอง เช่น สุขทุกข์ในใจ ความเข้มแข็งอ่อนแอภายใน ความพร้อม ความแก่หรืออ่อนแห่งอินทรีย์ เป็นต้น และสำคัญทั้งในแง่เป็นที่มาแหล่งใหญ่ของผลในระดับที่ 3 ด้วย



ขยายความว่า ผลในระดับที่ 3 นั้น ส่วนที่เป็นขอบเขตของกรรมนิยาม ก็ต่อเนื่องมาจากผลในระดับที่ 1 และ 2 นั่นเอง เช่น สภาพจิตใจของบุคคลผู้นั้นเอง คือความสนใจ ความนิยมชมชอบ ความโน้มเอียง แนวทางแสวงสุขหรือระบายทุกข์ภายในของเขา ซึ่งเป็นผลของกรรมในระดับที่ 1 ก็จะชักนำให้เขามองสิ่งนั้นเรื่องนั้นในแง่นั้นๆ นำเขาเข้าไปหาสถานการณ์นั้นๆ ตอบสนองอย่างนั้นๆ จะทำหรือไม่ทำสิ่งนั้นๆ ทำให้เขาดำเนินตามวิถีชีวิตอย่างนั้นๆ ให้ได้พบประสบการณ์ หรือประสบผลอย่างนั้นๆ และให้มีความรู้สึกหรือท่าทีต่อสิ่งที่ประสบอย่างนั้นๆ เป็นต้น



เฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้เกิดผลในระดับที่ 2 ซึ่งก็ช่วยเสริมผลในระดับที่ 1 ในการก่อผลระดับที่ 3 อย่างที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

ดูนางดูอย่างแม่ khaosod

ดูนางดูอย่างแม่

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


"คำโบราณว่าดูนางดูอย่างแม่ คือคำแปลว่าแม่ดีมี ลูกเด่น จะชายหญิงรู้ชั่วดีมีกฎเกณฑ์ เพราะจัดเจนแบบอย่างในทางดี"



นี่คือคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อจะนำไปเผยแพร่เทิดพระคุณแม่ทั่วประเทศ



วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญยิ่งของ ชาวไทย เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทางราชการได้ประกาศให้เป็นวันแม่แห่งชาติ โดยเริ่มตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2519 เป็นต้นมา



ดังมีข้อความเทิดพระเกียรติตอนหนึ่งว่า "แม่ที่ดีย่อมรู้จักส่งเสริม ธำรงรักษา ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เพราะแม่ทราบดีว่า ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้แล้ว ความเป็นไทยที่แท้จริงจะมิปรากฏอยู่บนผืนแผ่นดินไทย อันเป็นที่รักของเรา แม่ที่ดีย่อมประพฤติปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี ตามระบอบของการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยรักเคารพและเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เหนือสิ่งอื่นใด"



หญิงไทยทุกคนย่อมจะมีคุณลักษณะของแม่ที่ดีดังกล่าวข้างต้นนี้อยู่แล้ว จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการศึกษา และการฝึกหัดอบรม แต่จะหาหญิงใดที่มีคุณลักษณะ ครบถ้วนทุกประการ เสมอเหมือนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนั้นไม่ง่ายนัก



ด้วยเหตุนี้เราจึงขอเทิดทูนพระเกียรติสมเด็จพระ นางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่า ทรงเป็นแม่หลวงของปวงชน ผู้ทรงเป็นศรีสง่า ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของบ้านเมือง และของประชาชนชาวไทยทั้งมวล คนไทยโดยทั่วไปในฐานะที่เป็นชาวพุทธได้รับการอบรมสั่งสอนให้มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะแม่เป็นผู้ให้กำเนิดให้การเลี้ยงดู"



คำว่าแม่จึงเป็นคำที่ซาบซึ้ง และมีความหมายลึกซึ้ง กินใจของผู้ที่เป็นแม่และลูกทุกคน คือ เมื่อพูดถึงคำว่าแม่ลูกทุกคนก็มักหวนระลึกถึงพระคุณของแม่ที่มีต่อตนอย่างใหญ่หลวง ยากที่ลูกจะหาโอกาสตอบแทนพระคุณของท่านให้หมดสิ้นได้



ในวโรกาสมหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หวังให้ทุกคนร่วมใจประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ตามแนวศีล 5 ให้บริสุทธิ์ คือ



1.ไม่มุ่งทำร้ายผู้อื่น



2.ไม่ทุจริต ฉ้อโกง



3.ไม่ประพฤติผิดในกาม



4.ไม่หลอกลวงกล่าวเท็จ



5.ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดให้โทษ



ในช่วงวันเวลาเช่นนี้อยากให้ทุกคนได้ตอบแทน ในสิ่งที่แม่ให้มา นอกเหนือจากทานที่เราให้ นอกเหนือจากศีลที่เรารับ นั่นคือภาวนา ภาวนาถือเป็นบุญพิเศษจึงอยากขอให้ทุกท่านภาวนาให้กับแม่ผู้ที่ให้กำเนิด และแม่แห่งชาติ คือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นกรณีพิเศษ

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (17) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (17)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


"กรรมชั่ว ก็เหมือนน้ำนมรีดใหม่ๆ ย่อมไม่แปรเป็นผลในทันที, แต่กรรมชั่วย่อมตามเผาลนคนพาล เหมือนไฟที่เถ้าปิดไว้"



"บุคคลใดเคยทำกรรมชั่วไว้แล้ว (กลับตัวได้) หันมาทำดีปิดกั้น, บุคคลนั้นย่อมทำโลกให้แจ่มใส เหมือนดังดวงจันทร์ที่พ้นจากเมฆหมอก"



"ความดีที่ทำไว้เอง เป็นมิตรติดตามตัวสืบต่อไป"



"อานนท์! กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ที่เรากล่าวว่าไม่ควรทำโดยส่วนเดียวนี้ เมื่อ ผู้ใดกระทำ ก็พึงหวังโทษต่อไปนี้ได้ คือ ตนเองก็กล่าวโทษตนได้ วิญญูทั้งหลายใคร่ครวญแล้วย่อมติเตียน กิตติศัพท์อันชั่วร้ายย่อมขจรไป ตายก็หลงฟั่นเฟือน เมื่อกายแตกทำลายภายหลังมรณะ ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก..."



"อานนท์! กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ที่เรากล่าวว่าควรทำโดยส่วนเดียวนี้ เมื่อผู้ใดกระทำ ก็พึงหวังอานิสงส์ต่อไปนี้ได้ คือ ตนเองก็กล่าวโทษตนไม่ได้ วิญญูทั้งหลายใคร่ครวญแล้วย่อมสรรเสริญ กิตติศัพท์ดีงามย่อมขจรไป ตายก็ไม่หลงฟั่นเฟือน เมื่อกายแตกทำลายภายหลังมรณะ ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์..."



"ภิกษุทั้งหลาย จงละอกุศลเสียเถิด อกุศลเป็นสิ่งที่อาจละได้ หากอกุศลเป็นสิ่งที่ไม่อาจละได้แล้วไซร้ เราคงไม่กล่าวอย่างนั้น...แต่เพราะอกุศลเป็นสิ่งที่อาจละได้ เราจึงกล่าวอย่างนั้น... อนึ่ง หากอกุศลนี้ คนละเสียแล้ว จะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แล้วไซร้ เราคงไม่กล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย จงละอกุศลเสียเถิด แต่เพราะอกุศลนี้คนละได้แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย จงละอกุศลเสียเถิด"



"ภิกษุทั้งหลาย จงฝึกอบรมเจริญกุศลเถิด กุศลเป็นสิ่งที่อาจฝึกอบรมได้ หากกุศลเป็นสิ่งที่ไม่อาจฝึกอบรมได้แล้วไซร้ เราคงไม่กล่าวอย่างนั้น...แต่เพราะกุศลเป็นสิ่งที่อาจฝึกอบรมได้ เราจึงกล่าวอย่างนั้น...อนึ่ง หากกุศล คนฝึกอบรมแล้ว จะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แล้วไซร้ เราคงไม่กล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย จงฝึกอบรมเจริญกุศลเถิด แต่เพราะกุศลนี้ คนฝึกอบรมแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย จงฝึกอบรมเจริญกุศลเถิด"



"ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่พึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา ก็มี ธรรมที่พึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกาย ก็มี ธรรมที่พึงละมิใช่ด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา ต้องเห็นชัดด้วยปัญญาจึงละได้ ก็มี"



"ธรรมที่พึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา เป็นไฉน? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงความละเมิดอันเป็นอกุศลบางส่วนด้วยกาย เพื่อนพรหมจารีผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว กล่าว กะเธออย่างนี้ว่า : ท่านผู้มีอายุถึงความละเมิด อันเป็นอกุศลบางส่วนด้วยกาย จะเป็นการ ดีแท้ที่ท่านผู้มีอายุได้โปรดละกายทุจริต จงบำเพ็ญกายสุจริตเถิด, เธอถูกเพื่อนพรหมจารีผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้วว่ากล่าวอยู่ จึงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต นี้เรียกว่า ธรรมที่พึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา"



"ธรรมที่พึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกาย เป็นไฉน? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงความละเมิดอันเป็นอกุศลบางส่วนด้วยวาจา เพื่อนพรหมจารีผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว กล่าว กะเธออย่างนี้ว่า : ท่านผู้มีอายุถึงความละเมิดอันเป็นอกุศลบางส่วนด้วยวาจา จะเป็นการดีแท้ ที่ท่านผู้มีอายุได้โปรดละวจีทุจริต จงบำเพ็ญวจีสุจริตเถิด เธอถูกเพื่อนพรหมจารีผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้วว่ากล่าวอยู่ จึงละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต นี้เรียกว่า ธรรมที่พึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกาย"



"ธรรมที่พึงละ มิใช่ด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา ต้องเห็นชัดด้วยปัญญาจึงละได้ เป็นไฉน? คือ โลภะ...โทสะ...โมหะ...ความโกรธ...ความผูกโกรธ...ความลบหลู่...ความยกตัวกด เขาไว้...ความตระหนี่ พึงละมิใช่ด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา ต้องเห็นชัดด้วยปัญญาจึง ละได้..."

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (16) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (16)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ต่อไปนี้ เป็นคำสนทนา ระหว่างพระเจ้าปเสนทิโกศล กับพระอานนท์ ถามตอบปัญหาเกี่ยวกับความหมายของ ความดี ความชั่ว ซึ่งจะเห็นว่า ท่านเอาหลักเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้นเข้าสัมพันธ์กันทั้งหมด



ราชา : พระคุณเจ้าผู้เจริญ ชนเหล่าใด เป็นพาล ไม่ฉลาด ไม่ใคร่ครวญ ไม่พิจารณาแล้ว กล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่าอื่น เราไม่ยึดถือการกล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่านั้นโดยความเป็นแก่นสาร, ส่วนชนเหล่าใด เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา ใคร่ครวญ พิจารณาแล้ว กล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่าอื่น เราย่อมยึดถือการกล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่านั้นโดยความเป็นแก่นสาร



พระคุณเจ้าอานนท์ผู้เจริญ ความประพฤติทางกาย..ความประพฤติทางวาจา..ความประพฤติทางใจที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู จะพึงกล่าวโทษได้ คืออย่างไหน?



อานนท์ : คือ ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่เป็นอกุศล มหาบพิตร



ราชา : ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่เป็นอกุศล คืออย่างไหน?



อานนท์ : คือ ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีโทษ



ราชา : ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีโทษ คืออย่างไหน?



อานนท์ : คือ ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีความบีบคั้น



ราชา : ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีความบีบคั้น คืออย่างไหน?



อานนท์ : คือ ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีทุกข์เป็นผล



ราชา : ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีทุกข์เป็นผล คืออย่างไหน?



อานนท์ : คือ ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ก็ดี เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ก็ดี เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ก็ดี ที่อกุศลธรรมทั้งหลายจะเจริญยิ่งแก่เขา กุศลธรรมทั้งหลายจะเสื่อมถอยไป, มหาบพิตร ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ อย่างนี้แล ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู จะพึงกล่าวโทษได้"



ต่อจากนั้น ท่านได้ทูลตอบคำถามในฝ่ายกุศลโดยทำนองเดียวกัน ลงท้ายสรุปว่า



"ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีสุขเป็นผล คือ ความประพฤติ...ที่ไม่เป็นไปทั้งเพื่อเบียดเบียนตน ทั้งเพื่อเบียดเบียน ผู้อื่น ทั้งเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ที่อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมถอย และกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งแก่เขา, มหาบพิตร ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ อย่างนี้แล ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู ไม่พึงกล่าวโทษได้"



"คนอยากได้ติดใคร่แล้ว...แค้นเคืองแล้ว...ลุ่มหลงแล้ว...ถูกราคะ...โทสะ...โมหะ ครอบงำแล้ว มีจิตอันถูกบ่อนแล้ว ย่อมคิดการเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง ย่อมคิดการเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ย่อมคิดการเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง ย่อมเสวยโทมนัสเป็นทุกข์ทางจิตใจบ้าง, ครั้นละราคะ...โทสะ...โมหะเสียได้แล้ว เขาย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนตน ไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องเสวยโทมนัสเป็นทุกข์ทางใจ"



"คนอยากได้ติดใคร่แล้ว...แค้นเคืองแล้ว...ลุ่มหลงแล้ว...ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ, ครั้นละราคะ..โทสะ..โมหะเสียได้แล้ว เขาย่อมไม่ประพฤติทุจริตทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ"



"คนอยากได้ติดใคร่แล้ว...แค้นเคืองแล้ว...ลุ่มหลงแล้ว...มีจิตถูกบ่อนแล้ว...ย่อมไม่รู้ตามเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ตน...แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น...แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย, ครั้นละราคะ...โทสะ...โมหะเสียได้แล้ว เขาย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ตน...แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น...แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ฯลฯ"



"บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนใจภายหลัง มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้ เสวยผล กรรมที่ทำนั้นไม่ดี, บุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีจิตเอิบอิ่มดีใจ เสวยผล กรรมที่ทำนั้น แลดี"



"คนทำกรรมใดไว้ ย่อมเห็นกรรมนั้นในตนเอง"

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (15) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (15)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


"แม้ตัวโลภะเองก็เป็นอกุศล, คนโลภแล้ว ปรุงแต่งกรรมใด ด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล, คนโลภแล้ว ถูกความโลภครอบงำ มีจิตถูกโลภะบ่อนเสียแล้ว ย่อมหาเรื่องก่อความทุกข์แก่ผู้อื่น โดยฆ่าเขาบ้าง จองจำบ้าง ทำให้สูญเสียบ้าง ตำหนิโทษเอาบ้าง ขับไล่บ้าง ด้วยถือว่า ข้าฯ เป็นคนมีกำลัง ข้าฯ เป็นผู้ทรงพลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล; อกุศลธรรมชั่วร้ายเป็นอเนก ซึ่งเกิดจากโลภะ มีโลภะเป็นต้นเหตุ มีโลภะเป็นแดนเกิด มีโลภะเป็นปัจจัย เหล่านี้ ย่อมประดังมีแก่เขา ด้วยประการฉะนี้"



"แม้ตัวโทสะเองก็เป็นอกุศล, คนมีโทสะแล้ว ปรุงแต่งกรรมใด ด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล, คนมีโทสะแล้ว..ย่อมหาเรื่องก่อทุกข์แก่ผู้อื่น..แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล, อกุศลธรรมชั่วร้ายเป็นอเนก...ย่อมประดังมีแก่เขา ด้วยประการฉะนี้ ฯลฯ"



"แม้ตัวโมหะเอง ก็เป็นอกุศล, คนมีโมหะแล้ว ปรุงแต่งกรรมใด ด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้น ก็เป็นอกุศล, คนมีโมหะแล้ว..ย่อมหาเรื่องก่อทุกข์แก่ผู้อื่น...แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล, อกุศลธรรมชั่วร้ายเป็นอเนก...ย่อมประดังมีแก่เขา ด้วยประการฉะนี้ ฯลฯ"



"บุคคลเช่นนี้ ผู้ถูกอกุศลธรรมชั่วร้ายที่เกิดจากโลภะ..โทสะ..โมหะ ครอบงำแล้ว มีจิตถูกบ่อนแล้วในปัจจุบันนี่เอง ก็อยู่เป็นทุกข์ มีความคั่งเครียด คับแค้น เร่าร้อน เพราะกายแตก ตายไป ก็เป็นอันหวังทุคติได้ เปรียบเหมือนต้นสาละ ต้นตะแบก หรือต้นสะคร้อก็ตาม ถูกเถาย่านทราย 3 เถา ขึ้นคลุมยอด พันรอบต้นแล้ว ย่อมถึงความไม่เจริญ ย่อมถึงความพินาศ ย่อมถึงความเสื่อม ความวอดวาย..."



"ภิกษุทั้งหลาย กุศลมูล มี 3 อย่างดังนี้, สามอย่าง คืออะไร? ได้แก่ กุศลมูลคืออโลภะ กุศลมูล คือ อโทสะ กุศลมูลคืออโมหะ ฯลฯ"



"ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุเพื่อความก่อกำเนิดแห่งกรรมทั้งหลายมี 3 อย่างดังนี้, สามอย่าง คืออะไร? ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ"



"กรรมใดกระทำด้วยโลภะ...โทสะ...โมหะ เกิดจากโลภะ...โทสะ...โมหะ มีโลภะ...โทสะ...โมหะ เป็นต้นเหตุ เป็นตัวก่อกำเนิด กรรมนั้นเป็นอกุศล กรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์เป็นผล กรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป (กรรมสมุทัย) ไม่เป็นไปเพื่อดับกรรม (กรรมนิโรธ)"



"ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุเพื่อความก่อกำเนิดแห่งกรรมทั้งหลายมี 3 อย่างดังนี้, สามอย่างคืออะไร? ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ"



"กรรมใดกระทำด้วยอโลภะ...อโทสะ...อโมหะ เกิดจากอโลภะ...อโทสะ... อโมหะ มีอโลภะ...อโทสะ...อโมหะ เป็นต้นเหตุ เป็นตัวก่อกำเนิด กรรมนั้นเป็นกุศล กรรมนั้นไม่มีโทษ กรรมนั้นมีสุขเป็นผล กรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความดับกรรม (กรรมนิโรธ) ไม่เป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป (กรรมสมุทัย)..."



"ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูติเตียน ธรรมเหล่านี้ถือปฏิบัติถึงที่แล้ว จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงละเสีย"



"ดูกรกาลามชนทั้งหลาย พวกท่านสำคัญความข้อนั้นว่าอย่างไร? โลภะ...โทสะ...โมหะ เมื่อเกิดขึ้นภายในตัวของคน ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูล หรือเพื่อไม่เกื้อกูล"



(ตอบ : เพื่อไม่เกื้อกูล พระเจ้าข้า)



"คนที่โลภแล้ว...เคืองแค้นแล้ว...หลงแล้ว ถูกโลภะ...โทสะ...โมหะครอบงำ มีจิตอันถูกบ่อนแล้ว ย่อมสังหารชีวิตบ้าง ถือเอาของที่เขามิได้ให้บ้าง ล่วงภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นบ้าง ซึ่งเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน"



(ทูลรับ : จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า)



"ดูกรกาลามชนทั้งหลาย พวกท่านสำคัญความข้อนั้นว่าอย่างไร? ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล?"



(ตอบ : เป็นอกุศล พระเจ้าข้า)



"ประกอบด้วยโทษ หรือไม่มีโทษ?"



(ตอบ : ประกอบด้วยโทษ พระเจ้าข้า)



"ผู้รู้ติเตียน หรือผู้รู้สรรเสริญ?"



(ตอบ : ผู้รู้ติเตียน พระเจ้าข้า)



"ธรรมเหล่านี้ ถือปฏิบัติถึงที่แล้ว เป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ หรือหาไม่, หรือว่าพวกท่านมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร?"



(ตอบ: ถือปฏิบัติถึงที่แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์, พวกข้าพระองค์มีความเห็นในเรื่องนี้ว่าอย่างนี้)



"โดยนัยดังนี้แล กาลามชนทั้งหลาย ข้อที่เราได้กล่าวไว้ว่า: มาเถิด กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย อย่าถือโดยฟังตามกันมา ฯลฯ อย่าถือโดยนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา, เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ฯลฯ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงละเสีย ดังนี้นั้น เราได้กล่าวโดยอาศัยเหตุผลดังว่ามานี้"

วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กรรมนำให้ดีหรือชั่ว khaosod

กรรมนำให้ดีหรือชั่ว

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ชีวิตของคนเรามีเครื่องหมายปรากฏ ต้องคอยระวัง คอยเสริมสร้าง เอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะชีวิตนี้สั้นนัก เมื่อเกิดขึ้นมา ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ไม่มีความยั่งยืนถาวร

เหมือนหยาดน้ำค้าง ถึงความไม่ยั่งยืน คงทน เมื่อกระทบกับแสงแดดที่แผดร้อนก็พร้อมที่จะเหือดแห้งหายไปฉะนั้น

ชีวิตของคนเรา ดี เลว และประณีต ถูกกรรมเป็นเครื่องลิขิต สั่งสมไว้ ไม่ใช่เทวดาหรือพระพรหมจะเป็นผู้สร้างให้เป็นไป ต้องอาศัยบุญนำแต่ปางก่อน ทำให้ชีวิตถูกลิขิตเป็นขั้นตอน มีสุข และทุกข์สลับกันไป

เมื่อยามสุขก็ดีใจ ถึงคราวทุกข์ก็ร้องไห้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มี แก่นสาร จัดเป็นโลกธรรม เป็นกฎแห่งกรรมที่มีอยู่ประจำโลก ด้วยการมีลาภ มียศ มีสุข มีความสรรเสริญ จัดเป็นส่วนดี เป็นอารมณ์ที่ทุกคนชอบ ปรารถนาอยากได้มีไว้ประจำตัว

แต่สิ่งที่มีอยู่ประจำตัวเรานี้นำความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นเสมอ เช่น การมีลาภ อาจเสื่อมจากลาภได้ การมียศ อาจถูกลดหรือปลดได้ เมื่อใจมีความสุข อาจจะเปลี่ยนได้เพราะความทุกข์ ถึงคราวที่ใจมีสุขได้รับการสรรเสริญ อาจจะได้ความหมางเมินเพราะถูกนินทา เมื่อมีการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ เป็นทุกข์ ถูกนินทาแล้ว จึงจัดเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่มีใครอยากได้

เมื่อได้โอกาสที่ดีจึงควรพิจารณาถึงกฎธรรมดาของชีวิต ด้วยการที่ต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตาย ไม่มีชีวิตใดที่เกิดมาแล้วไม่ประสบกับสิ่งเหล่านี้ อีกทั้งยังต้องพลัดพรากจากชีวิต ต้องอยู่ไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น และชีวิตนี้ยังต้องอยู่ใต้กฎของกรรมอีกด้วย

เมื่อเราทำกรรมไว้อย่างไร ชีวิตนี้ก็ต้องรับเอาไว้ ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า "กัมมัง สัตเต วิภะชะติ ยะทิทัง หีนัปปะณีตะตายะ แปลว่า กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ ให้ดี เลว และประณีต" เป็นเครื่องแจกความดี เลว และประณีตให้แก่ตัวเราเอง แต่จะให้ผลช้าหรือเร็ว ในชาตินี้หรือชาติต่อๆ ไปเท่านั้นเอง

เพราะชีวิตเมื่อทำดีก็รับผลดีเอง เมื่อทำชั่วก็รับผลชั่วเอง จะไปให้ชีวิตอื่น คนอื่นไปรับแทนไม่ได้

เมื่อเราได้รู้ถึงกฎธรรมดาของชีวิตอย่างนี้แล้ว เราก็จะได้ทราบความจริงข้อหนึ่งว่า ชีวิตที่ต้องมีความทุกข์ก็เพราะชีวิตต้องอยู่ใต้กฎธรรมดา คือ ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ตลอดถึงอื่นๆ อีก ซึ่งเป็นเรื่องความทุกข์ทั้งนั้น

เช่นการที่ต้องพลัดพรากจากคนที่รักที่ชอบใจ เราต้องพลัดพรากจากสิ่งของที่เรารัก สิ่งของที่เราชอบใจ ก็แสดงให้เห็นเป็นความทุกข์ทั้งนั้น

ดังนั้น ชีวิตของคนทุกคนจึงเป็นชีวิตที่ต้องประสบกับความทุกข์ทั้งนั้น จำเป็นต้องใช้ขันติ ความอดกลั้น บั่นทอนกรรมกิเลสที่เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์นั้นให้ทุเลาเบาบางลงบ้าง

จึงจะได้พบหนทางแห่งความสุขที่แท้จริง

แสงทองของชีวิต khaosod

แสงทองของชีวิต

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


"ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า เป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นชีวิตที่ประกอบด้วยปัญญา"



ชีวิตทุกชีวิต ต้องการความสุข หลีกเลี่ยงความทุกข์ แต่เพื่อชีวิตที่ประเสริฐสุด เราต้องเป็นคนมีปัญญา ปัญญาจะเกิดได้ ก็ต้องอาศัยการปลูกฝังและพัฒนา เพราะเหตุนั้น การศึกษาเพื่อเพิ่มพูนปัญญาจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากในสังคมมนุษย์ เพราะปัญญาและการศึกษาเล่าเรียน การได้ยิน การได้ฟังมาก เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยกัน เพื่อพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น



ปัญญา คือ ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ความเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง วินิจฉัยเหตุการณ์ เรื่องราวให้รู้ความจริง ตลอดจนความสามารถในการคิดที่ถูกต้องและแยบคาย คิดหาเหตุผลตรึกตรอง อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความทุกข์ หรือความสุข คนคิดเป็นย่อมได้รับประโยชน์จากเรื่องนั้นมากกว่า เช่นในเรื่องของความตาย คนคิดเป็นย่อมเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ทุกข์ร้อน แต่กลับได้ความสงบ ไม่เศร้าโศกเสียใจ



ส่วนคนคิดไม่เป็นเมื่อนึกถึงความตายก็ทุกข์ร้อน หมดกำลังใจ ปล่อยเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์



ปัญญาเป็นแสงสว่าง เป็นแสงทองของชีวิต ของจิตใจ ทำให้สามารถมองเห็นความดี ความชั่ว ทางและมิใช่ทาง ปัญญาเป็น แสงสว่างในโลก ปัญญาเป็นเครื่องทำลายความเขลา ความมืดมนของชีวิต เหตุการณ์ในชีวิตที่เป็นทุกข์ย่อมเกิดจากผลของกรรมเก่าที่เราต้องชำระสะสางให้หมดสิ้นไป



ความขึ้นลงของชีวิตเป็นเรื่องปกติ ให้ใช้ปัญญามองว่าเป็นธรรมดาที่จะต้องเป็นเช่นนั้น แล้ววางใจให้เป็นกลาง ไม่ดีใจหรือเสียใจ คงรักษาความปกติไว้ก็เป็นความสงบเย็นได้ ส่วนชีวิตของคนบางคนตกต่ำ เพราะเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามา ทำให้เป็นไป ทำให้เกิดมี



สำหรับความสุขความทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่เคียงคู่กับชีวิตโดยตลอด ไม่มีชีวิตใดไม่ประสบกับความสุขหรือความทุกข์ เมื่อยังมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ก็ต้องประสบอยู่ร่ำไป



ความจริง ความทุกข์ยากเป็นสิ่งที่ต้องผ่านเข้ามาในชีวิต เป็นประสบการณ์อันสำคัญที่ทำให้เข้าใจและพัฒนาชีวิตให้สูงขึ้นได้ ในชีวิตของคนทุกคน ถ้ามีแต่ความสุขก็อ่อนแอ ไม่รู้จักชีวิต ถ้ามีแต่ความทุกข์ ก็คงทนไม่ไหว ชีวิตจึงต้องผ่านทั้งทุกข์และสุข เพื่อความเข้มแข็งสมบูรณ์ของชีวิตเปรียบเหมือนกับต้นไม้ที่ต้องเติบโตโดยผ่านทั้งร้อน ฝนและหนาวจึงจะเจริญงอกงามขึ้นได้



ผู้มีปัญญาได้รับทุกข์ก็ไม่ควรสิ้นหวังในความสุข คนส่วนมากเมื่อได้รับทุกข์ก็มักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ต่อเมื่อมีความสุขจึงทำสิ่งที่เป็นประโยชน์



แสงสว่างคือปัญญาย่อมเลิศกว่าแสงสว่างอื่นๆ เพราะเป็นแสงทอง สามารถส่องจิตใจคนให้สว่างไสวด้วยเหตุผล รู้ดี รู้ชั่ว กำจัดความมืดคือกิเลสได้ บุคคลผู้โง่เขลาย่อมเป็นการยากที่จะรักษาตัวให้พ้นจากความชั่วและความทุกข์ ส่วนผู้มีปัญญาย่อมสามารถคุ้มครองให้รอดพ้นจากภัยอันตรายต่างๆ นำตนให้ประสบสุขสวัสดี



เพราะอาศัยปัญญาเป็นแสงทองส่องสว่างนำทางชีวิตนั่นเอง

วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (14) khaosod


เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (14)


พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


จ) ...หลักคำสอนเพื่อเป็นเกณฑ์วินิจฉัย



ก่อน จะพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับการให้ผลของกรรมดีและกรรมชั่วในหัวข้อถัดไป ขอนำข้อความจากบาลีต่อไปนี้ มาอ้างเป็นหลัก สำหรับความที่ได้กล่าวมาในตอนนี้



"ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน? ได้แก่ กุศลมูล 3 คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ, เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่ประกอบด้วยกุศลมูลนั้น, กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่มีกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน เหล่านี้คือธรรมเป็นกุศล"



"ธรรม เป็นอกุศล เป็นไฉน? ได้แก่ อกุศลมูล 3 คือ โลภะ โทสะ โมหะ และกิเลสทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับอกุศลมูลนั้น, เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่ประกอบด้วยอกุศลมูลนั้น, กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่มีอกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน เหล่านี้คือธรรมเป็นอกุศล"



"อันตรายมี 2 อย่าง คือ อันตรายที่เปิดเผย และอันตรายที่ ซ่อนอยู่"



"อันตราย ที่เปิดเผย เป็นไฉน? ได้แก่ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หมาป่า ฯลฯ โจร ฯลฯ โรคตา โรคหู โรคจมูก ฯลฯ หนาว ร้อน หิว กระหาย อุจจาระ ปัสสาวะ สัมผัสเหลือบยุง ลมแดด และสัตว์เสือกคลาน เหล่านี้เรียกว่าอันตรายที่เปิดเผย"



"อันตรายที่ซ่อนอยู่ เป็นไฉน? ได้แก่ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ (ลบล้าง ปิดซ่อนความดีของผู้อื่น) ความยกตัวกดเขาไว้ ความริษยา ความตระหนี่ มารยา ความโอ้อวด ความดื้อกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความมัวเมา ความประมาท ปวงกิเลส ปวงความทุจริต ปวงความกระวนกระวาย ปวงความร่านรน ปวงความเดือดร้อน ปวงความปรุงแต่งที่เป็นอกุศล เหล่านี้เรียกว่าอันตรายที่ซ่อนอยู่"



"ที่ ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่ากระไร จึงชื่อว่าอันตราย? เพราะอรรถว่าครอบงำ...เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อม...เพราะอรรถว่า เป็นที่อาศัย..."



"ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าครอบงำ เป็นอย่างไร? คือ อันตรายเหล่านั้น ย่อมข่ม ย่อมกดขี่ ครอบงำ ท่วมทับ บั่นรอน ย่ำยี บุคคลนั้น..."



"ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อม เป็นอย่างไร? คือ อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ฯลฯ"



"ที่ ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าเป็นที่อาศัย เป็นอย่างไร? คือ อกุศลธรรมชั่วร้ายเหล่านั้นเกิดขึ้นที่ภายในนั้น อาศัยอัตภาพอยู่ เหมือนกับสัตว์อาศัยรู ก็อยู่ในรู สัตว์อาศัยน้ำ ก็อยู่ในน้ำ สัตว์อาศัยป่า ก็อยู่ในป่า สัตว์อาศัยต้นไม้ ก็อยู่ที่ต้นไม้ ฯลฯ"



"สมดัง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า : ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังมีศิษย์อยู่ร่วมด้วย ยังมีอาจารย์คอยสอดส่อง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่ผาสุกสบาย"



"ภิกษุมีศิษย์อยู่ร่วมด้วย มีอาจารย์คอยสอดส่อง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่ผาสุกสบาย เป็นอย่างไร? กล่าวคือ พอจักษุเห็นรูป...พอโสตสดับเสียง...พอจมูกดมกลิ่น...พอลิ้นลิ้มรส..พอกาย ต้องสิ่งกระทบ..พอใจรู้ธรรมารมณ์ อกุศลธรรมชั่วร้าย ความดำริร่าน อันก่อกิเลสผูกรัดทั้งหลาย ก็เกิดขึ้นแก่ภิกษุ อกุศลธรรมชั่วร้ายทั้งหลายย่อมอยู่อาศัย เที่ยววิ่งซ่านไปข้างในของเธอ เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอจึงถูกเรียกว่า มีลูกศิษย์อยู่ร่วมด้วย; อกุศลธรรมชั่วร้ายเหล่านั้น ย่อมคอยเรียกเร้าเธอ เพราะเหตุดังนั้น เธอจึงถูกเรียกว่ามีอาจารย์คอยสอดส่อง..."



"สมดังที่พระผู้ มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า : ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 3 ประการเหล่านี้ เป็นมลทินภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นข้าศึกภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็นผู้จองล้างภายใน, สามประการนี้คืออะไร? ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ฯลฯ"



"โลภ ะ ก่อความเสียหาย โลภะทำใจให้กำเริบ คนไม่รู้เท่าทันว่ามันเป็นภัยที่เกิดขึ้นข้างใน โลภเข้าแล้วไม่รู้อรรถ โลภเข้าแล้วไม่เห็นธรรม พอความโลภเข้าครอบงำ เวลานั้นมีแต่ความมืดตื้อ; โทสะ ก่อความเสียหาย ฯลฯ โมหะ ก่อความเสียหาย ฯลฯ (เหมือนกัน)"



"สม ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า : ดูกรมหาบพิตร ธรรม 3 ประการ เกิดขึ้นภายในตัวของคน ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเป็นอยู่ไม่ผาสุก, สามประการคืออะไร? ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ฯลฯ"



"โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นข้างในตนเอง ย่อมบั่นรอนคนใจบาป เหมือนขุยไผ่บั่นรอนต้นไผ่ ฉะนั้น..."



"ดูกร มหาบพิตร ธรรม 3 ประการ เมื่อเกิดขึ้นแก่โลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเป็นอยู่ไม่ผาสุก, สามประการ คืออะไร? ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ฯลฯ"



"ภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูลมี 3 อย่างดังนี้, สามอย่าง คืออะไร? ได้แก่ อกุศลมูลคือโลภะ อกุศลมูลคือโทสะ อกุศลมูลคือโมหะ"

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (13) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (13)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


โดย สรุป เกณฑ์วินิจฉัยกรรมดีและกรรมชั่วมีว่า ในแง่ของกรรมให้ถือเอาเจตนาเป็นหลักตัดสินว่าเป็นกรรมหรือไม่ และในแง่ที่ว่ากรรมนั้นดีหรือชั่ว ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังนี้



ก. เกณฑ์หลัก



1.ตัดสินด้วยความเป็นกุศล หรือเป็น อกุศล โดย



-พิจารณามูลเหตุว่า เป็นเจตนาที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือเกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ



-พิจารณา ตามสภาวะว่าเป็นสภาพเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่ ทำให้จิตสบาย ไร้โรค ปลอดโปร่ง ผ่องใส สมบูรณ์หรือไม่ ส่งเสริมหรือบั่นรอนคุณภาพและสมรรถภาพของจิต ช่วยให้กุศลธรรม (สภาพเกื้อกูล) ทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายลดน้อยลง หรือทำให้กุศลธรรมลดน้อยลง อกุศลธรรมเจริญงอกงามขึ้น ตลอดจนมีผลต่อบุคลิกภาพอย่างไร



ข. เกณฑ์ร่วม



2.ใช้มโนธรรม คือ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเองพิจารณาว่า การที่กระทำนั้นตนเองติเตียนตนเองได้หรือไม่ เสียความเคารพตนหรือไม่



3.พิจารณาความยอมรับของวิญญู หรือนักปราชญ์ หรือบัณฑิตชนว่าเป็นสิ่งที่วิญญูยอมรับหรือไม่ ชื่นชมสรรเสริญ หรือตำหนิติเตียน



4.พิจารณาลักษณะและผลของการกระทำ



- ต่อตนเอง - ต่อผู้อื่น



ก) เป็นการเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น ทำตนเองหรือผู้อื่นให้เดือดร้อนหรือไม่



ข) เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข หรือเป็นไปเพื่อโทษทุกข์ ทั้งแก่ตน และแก่ผู้อื่น



หลัก เกณฑ์นี้อาจสรุปได้อีกแนวหนึ่ง ด้วยสำนวนแสดงการจัดประเภทของเกณฑ์ที่ใช้ตัดสิน แต่มีข้อที่ต้องทำความเข้าใจกันไว้ก่อนบางอย่าง กล่าวคือ



ประการ ที่หนึ่ง ให้ถือว่าการพิจารณาในแง่ของกุศลมูล อกุศลมูล และกุศล อกุศลนั้น ว่าโดยสาระเป็นอันเดียวกัน คือมุ่งพิจารณาความเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูลต่อคุณภาพของชีวิตจิตใจ



อีก ประการหนึ่ง การยอมรับหรือไม่ยอมรับของปราชญ์ การติเตียนหรือสรรเสริญของวิญญูนั้น เมื่อมองอย่างกว้างๆ หรือมองในระดับสถาบัน และเมื่อว่าโดยส่วนใหญ่ มติของวิญญูหรือปราชญ์จะปรากฏอยู่ในรูปของบัญญัติทางศาสนาบ้าง ขนบธรรมเนียมประเพณีบ้าง กฎหมายบ้าง เป็นต้น



แม้ว่า บทบัญญัติและสิ่งที่ถือตามกันมาเหล่านี้ไม่จำต้องเป็นมติของวิญญูเสมอไป และการปฏิบัติที่ขัดแย้งแปลกออกไปจากบทบัญญัติและสิ่งที่ถือตามกันมาเหล่า นี้ก็ไม่จำต้องเป็นข้อที่วิญญูติเตียนเสมอไป แต่ก็พอจะพูดได้ว่าส่วนที่แตกต่างนี้เป็นข้อยกเว้น ซึ่งก็เป็นกิจของวิญญูนั่นแหละ ที่จะต้องหมั่นสอบสวนตรวจตราในเรื่องเหล่านี้ในแต่ละกาลแต่ละสมัยแต่ละครั้ง แต่ละคราวเรื่อยๆ ไป



จึงมักมีพุทธพจน์ตรัสสำทับว่า "อนุวิจฺจ วิญฺญู" (วิญญูใคร่ครวญแล้ว จึงติเตียนหรือสรรเสริญ คือยอมรับหรือไม่ยอมรับ) และจะเห็นว่า วิญญูนี่แหละ เมื่อใคร่ครวญแล้วก็ได้เป็นผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่ง ที่ยึดถือปฏิบัติบัญญัติกันมาผิดๆ หรือเคลื่อนคลาดจากความหมายที่ ถูกต้อง เช่น พระพุทธเจ้าทรงติเตียน ไม่ยอมรับระบบวรรณะ และการบูชายัญ เป็นต้น



เมื่อ ทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ก็สรุปหลักเกณฑ์ตัดสินความดีความชั่ว หรือกรรมดีกรรมชั่ว ทั้งตามแนวกรรมนิยามล้วนๆ และกรรมนิยามที่สัมพันธ์กับสมมตินิยาม ทั้งโดยสภาวะและโดยคุณค่า ซึ่งเป็นคุณค่าโดยสภาวะบ้าง คุณค่าตามที่กำหนดให้บ้าง ได้อีกสำนวนหนึ่ง มีสาระอย่างเดียวกับข้อสรุปข้างบนนั้นเอง แต่จัดจำแนกข้อต่างกัน มีใจความคาบเกี่ยวกัน ดังนี้



1.ว่าโดยคุณโทษต่อชีวิต หรือต่อจิตใจและบุคลิกภาพ คือ เป็นสภาวะที่เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่ เอื้อหรือไม่ต่อคุณภาพชีวิต ส่งเสริมหรือบั่นรอนคุณภาพและสมรรถภาพของจิต ทำให้กุศลธรรมหรืออกุศลธรรมทั้งหลายอื่นลดถอย หรือเจริญงอกงาม ช่วยสร้างเสริมบุคลิกภาพที่ดีงามหรือไม่



2.ว่าโดยคุณโทษต่อ บุคคล คือ เป็นการเบียดเบียนตนหรือไม่ ทำให้ตนเดือดร้อนหรือไม่ เป็นไปเพื่อทำลายหรืออำนวยประโยชน์สุขที่แท้จริงแก่ตน



3.ว่า โดยคุณโทษต่อสังคม คือ เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนหรือไม่ เป็นไปเพื่อทำลายหรืออำนวยประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น และแก่ส่วนรวม



4.ว่า โดยมโนธรรม หรือโดยสำนึกอันมีตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ คือ พิจารณาเห็นด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเองว่า การนั้นเมื่อทำแล้วตนเองติเตียนหรือกล่าวโทษตนเองได้หรือไม่



5.ว่า โดยมาตรฐานทางสังคม คือ ตามบัญญัติทางศาสนา วัฒนธรรมประเพณี และสถาบันต่างๆ ทางสังคม เช่น กฎหมาย เป็นต้น ซึ่งขึ้นต่อการใคร่ครวญตรวจสอบกลั่นกรองของวิญญูทั้งหลาย ตามกาลสมัย ที่จะมิให้ถือกันไปโดยงมงายหรือผิดพลาดคลาดเคลื่อน ตลอดจนการใคร่ครวญแล้วยอมรับหรือไม่ของวิญญูเหล่านั้นในแต่ละกรณี

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (12) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (12)

คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์


สังคม เจริญแล้ว ที่คนทั้งหลายมีปัญญา มักได้อาศัยประสบการณ์ซึ่งได้สะสมมาของมนุษย์รุ่นเก่าๆ ได้เรียนรู้ว่าอะไรเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจของมนุษย์อย่างแท้จริง อะไรไม่เกื้อกูล แล้วมักบัญญัติกฎเกณฑ์ข้อกำหนดเกี่ยวกับความดีความชั่ว ฝ่ายสมมตินิยาม ให้สอดคล้องกับหลักฝ่ายกุศลและอกุศลใน ฝ่ายกรรมนิยาม

ความ สามารถบัญญัติหลักความดีความชั่วในฝ่ายสังคม ให้สอดคล้องกับหลักกุศลและอกุศลในฝ่ายกรรมนิยาม หรือพูดให้สั้นว่า ความสามารถบัญญัติหลักฝ่ายสังคม ให้สอดคล้องกับหลักฝ่ายกรรมนิยามนี้ น่าจะเป็นเครื่องวัดถึงความเจริญที่แท้จริงหรืออารยธรรมของสังคมนั้นอย่าง หนึ่ง

โดยนัยนี้ เมื่อมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยข้อบัญญัติเกี่ยวกับความดีและความชั่ว น่าจะพิจารณาเป็น 2 ขั้น คือ พิจารณาในแง่สมมตินิยามว่า ข้อบัญญัตินั้นเป็นไปเพื่อผลดี เช่น ช่วยให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคมหรือไม่ ชั้นหนึ่ง แล้วพิจารณาในแง่กรรมนิยามว่า ข้อบัญญัตินั้นเป็นกุศลหรือไม่ คือเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่ อีกชั้นหนึ่ง

ข้อบัญญัติบาง อย่าง แม้สังคมจะยึดถือกันมานาน แต่แท้จริงแล้วไม่เกื้อกูลเลย แม้ในแง่สมมตินิยาม ส่วนในแง่กรรมนิยามเป็นอันไม่ต้องพูดถึง ข้อบัญญัติเช่นนั้น สังคมพึงตกลงกันยกเลิกเสีย หรืออาจต้องอาศัยผู้มีปัญญาที่ใจบริสุทธิ์กอปรด้วยกรุณามาชักนำ เช่นที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำต่อประเพณีเกี่ยวกับการบูชายัญและวรรณะ 4 ของสังคมอินเดีย เป็นต้น

ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อบัญญัตินั้นเกื้อกูลในแง่สังคม จะช่วยให้เกิดความเจริญแก่หมู่มนุษย์ แต่ไม่สอดคล้องกับหลักแห่งกุศลธรรมตามกรรมนิยาม กรณีเช่นนี้ควรจะตั้งข้อสงสัยว่า บางทีคนอาจหลงผิดมองเห็นสิ่งที่ไม่เกื้อกูลแก่สังคมอย่างแท้จริง ว่าเป็นสิ่งเกื้อกูลก็ได้ คืออาจหลงพอใจในความเจริญก้าวหน้าที่ผิดๆ เป็นที่ชื่นชมน่าพอใจในเวลาสั้นๆ แต่ก่อโทษในระยะยาว สิ่งที่เกื้อกูลแท้จริงน่าจะสอดคล้องกัน ทั้งในแง่สมมตินิยาม และในแง่กรรมนิยาม

มีหลักทั่วไปว่า สิ่งที่เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ มักเกื้อกูลอย่างเป็นกลางๆ คือ เมื่อเกื้อกูลแก่ชีวิตหนึ่ง ก็เกื้อกูลแก่ชีวิตทั้งหมด เรื่องนี้พึงเห็นบทเรียนจากการสร้างความเจริญด้านกายภาพ มนุษย์มุ่งหวังความเจริญรุ่งเรืองทางวัตถุ เข้าใจว่าความมีวัตถุพรั่งพร้อมสะดวกบริบูรณ์จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดแก่ สังคมมนุษย์ จึงได้เพียรพยายามสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุมากมาย พร้อมกับทำลายชีวิตและสภาพชีวิตต่างๆ ที่เห็นว่าขัดขวางความเจริญของตน

จน ในที่สุดก็ได้ทราบว่า การกระทำของตนมีหลายส่วนที่ได้เป็นไปด้วยความหลงผิด แม้สังคมจะดูคล้ายเจริญก็จริง แต่ได้ก่อพิษภัยแก่ชีวิตด้านร่างกายเป็นอันมาก จนถึงกับว่า ถ้าขืนก้าวหน้าในลักษณะเดิมต่อไป อาจกลายเป็นการดำเนินสู่ความพินาศเสื่อมสูญก็ได้

พึงสร้างสรรค์ความ เจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ชนิดที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ชีวิตด้านกาย ฉันใด ก็พึงสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางสังคม ชนิดที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ชีวิตด้านจิตปัญญา ฉันนั้น

ในการ วินิจฉัยว่าอะไรเป็นความดี อะไรเป็นความชั่วนี้ เมื่อ พูดในทางปฏิบัติ เพื่อให้คนทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ทุกระดับ พระ พุทธเจ้าตรัสสอนให้ถือข้อพิจารณาเกี่ยวกับกุศลและอกุศลเป็นหลักแกนกลาง จากนั้นทรงผ่อนขยายออกไป ให้ใช้สำนึกเกี่ยวกับความดีความชั่วของตนเอง อย่างที่เรียกกันว่ามโนธรรม และให้ถือมติของผู้รู้เป็นหลักประกอบหรืออ้างอิง (สองอย่างนี้เป็นฐานของหิริโอตตัปปะ)

นอกจากนั้น ให้พิจารณาที่ผลของการกระทำอันจะเกิดแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น หรือแก่บุคคลและสังคม

การ ที่ตรัสเช่นนี้ คงจะเป็นด้วยว่า คนบางคนยังมีปัญญาไม่กว้างขวางลึกซึ้งเพียงพอ อาจมองเห็นภาวะที่เป็นกุศลและอกุศลไม่ชัดเจน จึงให้ถือเอามติของท่านผู้รู้เป็นหลักประกอบด้วย และถ้ายังไม่ชัดพอ ก็มองดูง่ายๆ จากผลของการกระทำ แม้แต่ที่เป็นไปตามบัญญัติของสังคม

สำหรับคนทั่วไป การพิจารณาด้วยหลักทั้งสามนี้ ถือได้ว่า เป็นวิธีการตรวจสอบหลายๆ ชั้น เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างรอบคอบ

วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (11) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (11)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


เมื่อ ทำอะไรด้วยเจตนาอย่างนั้นบ่อยๆ ผลแห่งการสั่งสมก็จะปรากฏชัดยิ่งขึ้น และอาจขยายกว้างออกไปในระดับต่างๆ โดยลำดับ เปรียบเหมือนฝุ่นละอองที่ปลิวเข้ามาในห้องทีละเล็กละน้อยอย่างที่มิได้ สังเกตเลย ย่อมไม่มีส่วนใดที่ไร้ผลเสียเลย แต่ผลนั้นจะสำคัญแค่ไหน นอกจากเป็นไปตามความแรงและปริมาณของสิ่งที่สั่งสมแล้ว ยังสัมพันธ์กับคุณภาพและการใช้งานของจิตในระดับต่างๆ อีกด้วย



ฝุ่น ละอองปลิวลงจับท้องถนน กว่าจะทำให้รู้สึกสกปรก ก็ต้องมีปริมาณมากมาย ฝุ่นละอองปลิวลงบนพื้นเรือน แม้น้อยกว่านั้น ก็รู้สึกสกปรก ฝุ่นละอองน้อยกว่านั้นลงจับโต๊ะเขียนหนังสือ ก็สกปรกและรบกวนงาน น้อยกว่านั้นอีก ลงจับกระจกเงาส่องหน้า ก็รู้สึกเปื้อนและกระทบการใช้งาน ธุลีละอองนิดเดียวลงจับแว่นตา ก็รู้สึกได้และทำให้การเห็นพร่ามัวได้ อุปมาอย่างอื่น เช่น เอามีดขีดที่พื้นถนน ที่พื้นห้อง ที่กระจกแว่นตา ก็ทำนองเดียวกัน



ส่วนในด้านตรงข้ามก็พึงเห็นได้ เช่น การใช้ผ้ากำมะหยี่หรือสำลีเล็กน้อยเช็ดพื้นห้อง จนถึงเช็ดแว่นตา เป็นต้น รวมความว่า เจตจำนง คือเจตนา หรือกรรมนั้น แม้เล็กน้อย ก็มิได้ไร้ผล อาจอ้างพุทธศาสนสุภาษิตว่า



"กรรมดี หรือชั่ว ทุกอย่าง ที่คนสั่งสมไว้ ย่อมมีผล, ขึ้นชื่อว่ากรรม แม้จะนิดหน่อย ที่จะว่างเปล่าไปเลย ย่อมไม่มี" และว่า "กรรม ไม่ว่าดี หรือชั่ว ย่อมไม่สูญเปล่าเลย"



อย่างไรก็ตาม ผลทางด้านกรรมนิยามในระดับจิตใจนี้ คนจำนวนมากคอยจะมองข้าม ไม่เห็นความสำคัญ จึงขอเพิ่มความเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมาเกี่ยวกับน้ำอีกสัก 2 อย่าง



- น้ำสะอาด และน้ำสกปรก มีหลายระดับ เช่น น้ำครำในท่อระบายโสโครก น้ำในแม่น้ำลำคลอง น้ำประปา และน้ำกลั่นสำหรับผสมยาฉีด เป็นต้น น้ำครำพอใช้เป็นที่อาศัยของสัตว์หลายอย่างได้ แต่ไม่เหมาะแก่การใช้อาบ ไม่อาจใช้กินหรือทำกิจที่ประณีตอื่นๆ น้ำในแม่น้ำลำคลองใช้อาบน้ำซักผ้าได้ แต่ก็ยังไม่เหมาะที่จะรับประทาน น้ำประปาใช้ดื่มกินได้ แต่จะใช้ผสมยาฉีดยังไม่ได้ เมื่อมีแต่น้ำประปาและกิจที่ใช้ไม่มีส่วนพิเศษออกไป น้ำประปานั้นก็พอแก่ความประสงค์ แต่ถ้ามีกรณีพิเศษเช่นจะผสมยาฉีด ก็เป็นอันติดขัด



ทั้งนี้ เปรียบได้กับจิตที่มีคุณภาพต่างๆ กัน โดยความหยาบประณีตขุ่นมัวและสะอาดผ่องใสกว่ากัน เนื่องมาจากกรรมที่ได้ประกอบสั่งสมไว้ ถ้ายังใช้งานในสภาพชีวิตอย่างนั้นๆ ก็อาจยังไม่รู้สึกปัญหา แต่เมื่อล่วงผ่านกาลเวลาและวัยแห่งชีวิตไป อาจถึงโอกาสที่ต้องใช้จิตที่ประณีตยิ่งขึ้น ซึ่งกรรมปางหลังจะก่อปัญหาให้ อาจติดขัดใช้ไม่ได้ หรือถึงกับเน่าเสียไปทีเดียว



- น้ำกระเพื่อมและสงบเรียบ มีหลายระดับ ตั้งแต่น้ำในทะเลมีคลื่นโตๆ น้ำในแม่น้ำที่มีคลื่นจากเรือยนต์ น้ำในลำธารที่ไหลริน น้ำในสระที่ลมสงบ จนถึงน้ำในภาชนะนิ่งปิดสนิท บางกรณีจะใช้น้ำมีคลื่นกระเพื่อมกระฉอกบ้างก็ได้ แต่บางกรณีอาจต้องใช้น้ำสงบนิ่งอย่างที่แม้แต่วางเข็มเย็บผ้าลงไปก็ลอยนิ่ง อยู่ได้นาน



คุณภาพของจิตที่หยาบและประณีต ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้งาน และการเข้าถึงคุณวิเศษต่างๆ ที่ชีวิตจะเข้าถึงได้ ก็พึงเข้าใจโดยทำนองนั้น



สมมติ นิยาม กับกรรมนิยาม แยกต่างหากกัน ผลในฝ่ายกรรมนิยามย่อมดำเนินไปตามกระบวนการของมันเอง ไม่ขึ้นต่อบัญญัติของสังคมที่ขัดกับมันดังที่กล่าวมานี้



อย่างไร ก็ดี เพราะเหตุที่นิยามทั้งสองนั้น มีแง่ที่สัมพันธ์กันดังกล่าวแล้วในข้อที่หนึ่ง ดังนั้น ผู้ปฏิบัติถูกต้องในแง่ของกรรมนิยาม คือทำตามหลักกุศล ก็อาจประสบปัญหาจากสมมตินิยามที่ขัดแย้งนั้นได้ เช่น ผู้ที่อยู่ในสังคมที่ชื่นชอบการเสพสิ่งมึนเมา แต่ไม่ยอมเสพด้วย เขาย่อมได้รับผลตามกรรมนิยาม คือ ไม่เสียคุณภาพจิตที่โปร่งผ่องใสไปเพราะเหตุจากของเมานั้นก็จริง แต่ในแง่สังคมซึ่งต่างหากจากกรรมนิยาม เขาอาจถูกเย้ยหยันล้อเลียน เช่นว่าไม่เข้มแข็ง หรือถูกมองในทางไม่ดีในแง่สังคมอย่างอื่นๆ อีก



และ แม้ในแง่ของกรรมนิยามเอง เขาอาจประสบปัญหาจากเจตนาฝ่าฝืนข้อนิยมนี้ของสังคมอย่างที่กล่าวในข้อหนึ่ง เกิดความขัดแย้งในทางจิตใจ ซึ่งจะมากน้อยเพียงใดแล้วแต่ปัญญาที่จะปลดเปลื้องจิตของเขา

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (10) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (10)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


แต่ต่อมาอาจปรากฏว่าสังคมนั้นมีคนเป็นโรคจิตและโรคหัวใจกันมาก มีการฆ่าตัวตายมาก มีปัญหาทางจิตและปัญหาสังคมอื่นๆ มากผิดปกติ หรือในสังคมที่ถือว่าฆ่าคนพวกอื่นได้เป็นการดี คนของสังคมนั้นมีลักษณะที่ปรากฏแก่คนพวกอื่นว่าเป็นมนุษย์ที่โหดร้าย ควรหวาดระแวง ไม่น่าไว้วางใจ เป็นต้น



ผลต่างๆ ที่ปรากฏในระดับสังคมเช่นนี้ หลายอย่างอาจสืบเนื่องมาจากกรรมนิยามด้วย แต่กระนั้น ในเบื้องแรก ผลที่เป็นไปในด้านสังคมก็พึงพิจารณาในแง่สังคม ผลในด้านกรรมนิยาม ก็พึงพิจารณาในแง่กรรมนิยาม แยกต่างหากจากกันก่อน เสร็จจากนั้นแล้วจึงค่อยโยงเข้ามาหากันในภายหลัง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน



ว่าถึงผลในด้านกรรมนิยาม เจตนาในเรื่องนี้ซ้อนกันอยู่เป็นสองชั้น คือ เจตนาที่ประกอบด้วยความยึดถือตามบัญญัตินั้น ที่แสดงออกเป็นความเชื่อถือและค่านิยม เป็นต้น และเจตนาในการกระทำตามหรือไม่ยอมกระทำตามบัญญัติเฉพาะในคราว นั้นๆ แต่ไม่ว่าในกรณีใด การได้รับผลตามกรรมนิยามย่อมเริ่มดำเนินในทันทีเริ่มแต่ตั้งเจตนา



ดังตัวอย่างข้างต้น คนที่จะเสพสิ่งเสพติดมึนเมา พอจะเสพ เจตนาก็ประกอบด้วยความกระหยิ่มอย่างมัวซัว เมื่อเสพเป็นนิตย์ก็สั่งสมสภาพจิตอย่างนั้นเป็นนิสัย คนที่เคร่งเครียดแข่งหาแข่งเอา จะทำงานแต่ละครั้ง เจตนาก็ประกอบด้วยความ เครียดเร่งร้อน และสั่งสมสภาพจิตเช่นนั้นไว้ คนที่ตั้งหน้าฆ่าผู้อื่น แม้จะได้รับความยกย่องและรางวัลในสังคมของพวกตน แต่ในการกระทำคือการฆ่าแต่ละครั้งก็ตั้งเจตนาที่ประกอบด้วยความขึ้งเครียดเหี้ยมเกรียมหรือกระเหี้ยนกระหือรือ



หากปล่อยใจไปเรื่อยๆ ก็จะมีการสั่งสมสภาพจิตเช่นนั้นจนอาจกลายเป็นบุคลิกภาพทั้งหมดของเขา คุณภาพของจิตจะเป็นไปในทางที่หยาบมากขึ้น แต่เสื่อมเสียความประณีต ความนุ่มนวลละมุนละไม และความละเอียดลึกซึ้ง เป็นต้น



อนึ่ง พึงทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "เจตนา" อีกสักเล็กน้อย เจตนาในทางธรรม มีความหมายละเอียดอ่อนกว่าที่เข้าใจกันทั่วไปในภาษาไทย กล่าวคือ ในภาษาไทยมักใช้เจตนาต่อเมื่อต้องการเชื่อมโยงความคิดที่อยู่ภายใน กับการกระทำที่แสดงออกมาในภายนอก เช่นว่า พูดพลั้งไปไม่ได้เจตนา หรือเขากระทำโดยเจตนา เป็นต้น



แต่ในทางธรรม คือตามหลักกรรมนี้ การกระทำการพูดที่แสดงออกภายนอกโดยจงใจก็ดี ความคิดต่างๆ แม้เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น ชั่วครู่ชั่วขณะแล้วผ่านไป ภายในจิตใจก็ดี การคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในลักษณะใดลักษณะหนึ่งก็ดี ความรู้สึกและท่าทีของจิตใจต่อสิ่งต่างๆ ที่ได้ประสบทางตาหูจมูกลิ้นกายและ ที่ระลึกหรือนึกขึ้นมาในใจก็ดี ล้วนมีเจตนาประกอบอยู่ด้วย ทั้งสิ้น



เจตนาจึงเป็นเจตจำนง ความจงใจ การเลือกอารมณ์ของใจ ตัวนำที่หันเหชักพาทำให้จิตเคลื่อนไหว โน้มน้อมไปหา หรือผละไปจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือมุ่งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เป็นหัวหน้า เป็นผู้จัดการ หรือตัวเจ้ากี้เจ้าการของจิตว่าจะเอาอะไรไม่เอาอะไรกับเรื่องใดอย่างไร เป็นตัวการจัดแจงแต่งวิถีทางของจิต และในที่สุดก็เป็นตัวการปรุงแต่งจิตนั้นให้เป็นไปต่างๆ



เมื่อเจตนาเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ก็คือกรรมเกิดขึ้นทีหนึ่ง เมื่อกรรมเกิดขึ้นแล้ว ก็มีผลทันที เพราะเมื่อเจตนาเกิดขึ้น ก็คือมีกิจกรรมเกิดขึ้นในจิตแล้ว จิตมีการเคลื่อนไหว หรือไหวตัวแล้ว แม้เป็นเพียงความคิดอะไรเล็กน้อย ซึ่งถึงจะไม่มีผลอะไรสำคัญ แต่ก็ไม่ไร้ผลเสียเลย อย่างน้อยก็เป็นละอองกรรมอันละเอียดที่สั่งสมหรือพอกเข้าไว้เป็นเครื่องปรุงแต่งคุณสมบัติของจิตอยู่ภายใน เมื่อมากขึ้น เช่น จิตเสพความคิดนั้นบ่อยๆ หรือความคิดนั้นรุนแรงขึ้นจนออกมาภายนอก ผลก็แรงขึ้นขยายออกมาเป็นลักษณะนิสัย บุคลิกภาพ เป็นต้น



ยกตัวอย่าง เช่น เจตนาในการทำร้าย ไม่ต้องพูดถึงกรรมร้ายแรงถึงขั้นจะฆ่าคน แม้แต่การทำลายสิ่งของที่เล็กๆ น้อยๆ เหลือเกิน ถ้าทำด้วยเจตนาทำร้าย คือประกอบด้วยโทสจริต หรือมีความโกรธ อย่างคนฉีกกระดาษด้วยความฉุนเฉียว ทั้งที่กระดาษนั้นไม่มีคุณค่าสำคัญอะไร แต่ย่อมมีผลต่อคุณภาพจิต หาเหมือนกันไม่กับการฉีกกระดาษของคนที่ทำด้วยจิตปกติโดยรู้ว่าจะไม่ใช้กระดาษนั้นแล้ว

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (9) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (9)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ในกรณีเช่นนี้ การกระทำของบุคคลผู้นั้น มิใช่เกิดจากเจตนาขุ่นมัวของผู้ที่จะละเมิดเหมือนอย่างในกรณีก่อน แต่เกิดจากเจตนาอันประกอบด้วยปัญญาของผู้ที่จะแก้ไขเพื่อประโยชน์สุขของมนุษย์ทั้งหลายเป็นต้น เนื้อหาที่จะเป็นไปในกรรมนิยาม จึงไม่เหมือนกัน สุดแต่คุณสมบัติของเจตนานั้น แต่มีข้อสำทับว่า เจตนาที่กระทำนั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม ผู้กระทำย่อมรู้ตระหนักตามที่มันเป็น และเขาจะต้องรับผลในแง่ของกรรมนิยามตามเจตนานั้น เขาอาจปิดบังและหลอกสังคมได้ แต่ไม่อาจปิดบังใจตนเองหรือหลอกกฎธรรมชาติได้ พูดอย่างสั้นๆ ตัวกำหนดในกรรมนิยามอยู่ที่ว่า เจตนาเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลนั่นเอง



เมื่อว่าโดยทั่วไป หรือสำหรับกรณีทั่วไป การไม่ปฏิบัติตามบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่งของสังคม จะชื่อว่าไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิด และไม่เป็นไปด้วยเจตนาที่จะละเมิด ก็ต่อเมื่อสังคมนั้นได้ตกลงพร้อมใจกันยกเลิกบัญญัตินั้นแล้ว หรือยอมรับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบัญญัตินั้นแล้ว พูดอีกภาษาหนึ่งว่า ต่อเมื่อนั้น จึงจะไม่เป็นการเสียความซื่อสัตย์หรือทรยศต่อสัญญาประชาคม



ความที่ว่ามานี้พอจะอธิบายได้ด้วยตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่า คนสองคนมาอยู่ร่วมกัน เพื่อให้การอยู่ร่วมกันนั้นเป็นไปด้วยดี อำนวยความสุขและเกื้อกูลแก่การดำเนินชีวิตของทั้งสองฝ่าย เขาจึงได้วางกติกากันไว้เช่นว่า เขาทั้งสองทำงานคนละแห่ง กลับถึงบ้านไม่พร้อมกัน แต่ควรจะรับประทานอาหารเย็นพร้อมกัน ครั้นจะรอกันอย่างไม่มีขอบเขต ก็ไม่ได้ จึงให้แต่ละคนต้องไม่รับประทานอาหารเย็นก่อน 19.00 น. บรรดาเขาทั้งสองนั้นคนหนึ่งชอบแมว ไม่ชอบสุนัข อีกคนหนึ่งชอบสุนัข ไม่ชอบแมว เพื่อความสงบสุขให้ถือว่าการนำสัตว์เลี้ยงใดๆ เข้ามาในบ้านเป็นความไม่ดีงาม ไม่สมควร



เมื่อตกลงวางกติกากันอย่างนี้แล้ว ถ้าเขาคนใดคนหนึ่งจะทำการใดที่ไม่เป็นไปตามกติกานั้น เจตนาที่จะละเมิดก็ย่อมเกิดขึ้น และกรรมก็เกิดขึ้นตามกรรมนิยาม ทั้งๆ ที่เมื่อว่าโดยสภาวะแล้ว การรับประทานอาหารก่อน 09.00 น. ก็ดี การนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในบ้านก็ดี จะเป็นความดีหรือความชั่วโดยตัวของมันเองก็หาไม่ คนคู่อื่นอาจวางกติกาที่ตรงข้ามจากนี้ก็ได้ และในกรณีที่ต่อมาคนใดคนหนึ่งในเขาทั้งสองนั้น พิจารณาเห็นว่า กติกาที่ได้วางไว้ไม่เป็นไปเพื่อผลดีแก่ชีวิตร่วมกันของเขาทั้งสอง เขาก็จะต้องยกขึ้นมาพูดให้ตกลงยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกติกานั้นก่อน การที่จะไม่ปฏิบัติตามของเขาจึงจะเป็นไปได้ โดยไม่ประกอบด้วยเจตนาที่จะละเมิดหรือฝ่าฝืนวินัยซึ่งเป็นบัญญัติแก่สังฆะ ก็สัมพันธ์กับเจตนาในการปฏิบัติที่สำเร็จเป็นศีลของบุคคล



ในลักษณะอย่างนี้ เรื่องความดีความชั่ว ความผิดความถูก ที่เป็นบัญญัติอันไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังคม กับความเป็นไปแห่งกุศลและอกุศลอันแน่นอนของกรรมนิยาม มีขอบเขตที่แยกกันได้ และมีความสัมพันธ์เนื่องถึงกัน อันพึงเข้าใจได้โดยนัยนี้



2) สิ่งที่บัญญัตินั้น กระทบถึงกุศลและอกุศลในกระบวนการของกรรมนิยามด้วย ในกรณีเช่นนี้ สังคมอาจบัญญัติความดีความชั่วด้วยความรู้ความเข้าใจว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล คือรู้ว่าอะไรเกื้อกูล อะไรเป็นโทษแก่ชีวิตจิตใจของมนุษย์ หรืออาจบัญญัติด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจเลยก็ได้ แต่ไม่ว่าสังคมจะบัญญัติว่าอย่างไรก็ตาม ความเป็นไปตามกรรมนิยามก็ย่อมเป็นไปของมันตามปกติ หาได้เปลี่ยนไปตามบัญญัติของสังคมไม่



ยกตัวอย่าง สมมติว่า ในสังคมหนึ่ง คนถือว่าการเสพสิ่งเสพติดมึนเมาเป็นการกระทำที่ดีงาม ทำให้คนมีความสุข ควรสนับสนุน ถือว่าการมีอารมณ์รุนแรงเป็นสิ่งที่ดี ถือว่าควรปลุกเร้าคนให้ตื่นเต้นเคร่งเครียด อยากได้อยากเอา วิ่งหา แข่งขันอยู่เสมอ จะได้ทำงานสร้างสรรค์ได้มาก ถือว่าฆ่าคนพวกอื่นเป็นความดี หรือประณีตขึ้นมาอีกว่า ฆ่าสัตว์ดิรัจฉานไม่บาป เป็นต้น



กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าความดีความชั่วในสมมตินิยาม ขัดกับกุศลและอกุศลในกรรมนิยาม



ถ้ามองในแง่สังคม บัญญัติหรือข้อยึดถือเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดผลดีบ้าง ผลร้ายบ้างแก่สังคม เช่น การถือว่าเสพสิ่งเสพติดมึนเมาเป็นการดี อาจช่วยให้รัฐมีรายได้จากอากรสรรพสามิตเป็นต้นเพิ่มขึ้นไม่น้อย แต่พร้อมกันนั้น ก็ทำให้คนจำนวนมากในสังคมนั้นเป็นคนเรื่อยเปื่อยเฉื่อยชา



สังคมนั้นมีอาชญากรรม เช่น ลักขโมยมาก มีคนเจ็บป่วยไม่สมประกอบเนื่องจากเหตุนี้ เป็นต้น หรือการมีชีวิตที่เคร่งเครียดแข่งหาแข่งเอาตลอดเวลา อาจทำให้สังคมนั้นเจริญก้าวหน้าอย่างมากและรวดเร็ว

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (8) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (8)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ขอย้ำอีกครั้งว่า ความดีความชั่วที่เป็นบัญญัติของสังคม ก็เป็นเรื่องของสังคม อยู่ในขอบเขตของสมมตินิยาม กุศลอกุศลที่เป็นคุณสมบัติของกรรม ก็เป็นเรื่องของกรรม อยู่ในกรรมนิยาม เป็นเรื่องต่างหากกัน แต่สัมพันธ์กัน สิ่งที่เป็นทั้งตัวการสร้างสัมพันธ์ และเป็นทั้งจุดตัดแยกระหว่างกันของนิยามทั้งสองนี้



ก็เช่นเดียวกับในกรณีระหว่างกรรมนิยามกับจิตนิยาม คือได้แก่ เจตนา หรือเจตจำนง นั่นเอง เรื่องนี้เป็นอย่างไร ขอให้ช่วยกันพิจารณาต่อไป



สิ่งที่สังคมบัญญัติ เมื่อมองจากแง่ของกรรมนิยาม อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ



1) สิ่งที่บัญญัตินั้น ไม่เกี่ยวกับกุศลและอกุศลในกรรมนิยามโดยตรง แต่สังคมบัญญัติขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งของสังคมเอง เช่น เพื่อให้คนทั้งหลายในสังคมนั้นอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสงบสุข เป็นทำนองข้อตกลงหรือพันธสัญญาระหว่างกัน ในกรณีเช่นนี้ สิ่งที่บัญญัตินั้นอาจเป็นเครื่องช่วยให้สังคมอยู่ดีมีความสงบสุขได้จริง หรืออาจไม่จริงก็ได้ อาจเป็นประโยชน์แก่สังคมจริง หรืออาจเป็นโทษก็ได้



ทั้งนี้แล้วแต่ว่า จะได้บัญญัติกันขึ้นมาด้วยความรู้ความเข้าใจกว้างขวางรอบคอบเพียงพอหรือไม่ หรือว่าคนที่ทำหน้าที่บัญญัติมีความสุจริตใจหรือไม่ เป็นต้น บัญญัติเช่นนี้มีมาในรูปต่างๆ อาจเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนกฎหมาย



ในกรณีอย่างนี้ ดีหรือชั่ว เป็นเรื่องของสมมตินิยาม อาจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาและแตกต่างกันไปนานัปการ แต่จะเปลี่ยนจะต่างไปอย่างไร ก็ไม่ใช่เรื่องของกรรมนิยาม ต้องแยกไว้ต่างหาก ไม่ควรเอามาปนเปสับสน และเมื่อคนใดฝ่าฝืนละเมิดบัญญัตินั้น สังคมจะลงโทษอย่างไร ก็เป็นเรื่องของสมมตินิยาม ไม่ใช่เรื่องของกรรมนิยาม ให้แยกออกไปอย่างนี้เสียชั้นหนึ่งก่อน



ต่อจากนี้ จึงพิจารณาในขั้นที่บัญญัติของสมมตินิยามนั้นก้าวเข้ามาเกี่ยวข้องกับขอบเขตของกรรมนิยาม กล่าวคือ เมื่อคนในสังคมยอมรับบัญญัตินั้นกันแล้ว ไม่ว่าบัญญัตินั้นจะเป็นอย่างไร จะดีงามหรือเป็นประโยชน์แท้จริงหรือไม่ก็ตาม ในเวลาที่คนผู้ใดผู้หนึ่งในสังคมนั้นจะไม่ปฏิบัติตาม จะฝ่าฝืน หรือละเมิดบัญญัตินั้น เขาจะเกิดมีเจตนาที่จะฝ่าฝืน ละเมิด หรือไม่ปฏิบัติตามขึ้นมาทันที และเขาก็จะตระหนักรู้ต่อเจตนาของเขานั้นอย่างไม่อาจปิดบังหรือหลอกตนเองได้



เจตนานี้แหละ คือจุดตั้งต้นของกรรมนิยาม และเป็นเรื่องของกรรมนิยาม สังคมหลายแห่งอาจพยายามสืบเอาเจตนานี้ไปประกอบการพิจารณาในการตัดสินลงโทษด้วย ว่าเขาผู้นั้นทำการละเมิดด้วยเจตนาหรือไม่ แต่นั่นก็เป็นเรื่องของสมมตินิยาม แสดงว่าสังคมนั้นฉลาด รู้จักถือเอาประโยชน์จากกรรมนิยามไปใช้ในทางสังคม ไม่ใช่เรื่องของกรรมนิยาม



ส่วนในเรื่องของกรรมนิยามเองนั้น ไม่ว่าสังคมจะสืบสวนเอาเจตนานั้นไปใช้หรือไม่ หรือจะได้ล่วงรู้ว่าได้มีการละเมิดเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม กรรมนิยามก็ได้เริ่มทำงานของมันตั้งแต่ขณะที่บุคคลนั้นเกิดมีเจตนาและใช้เจตนาทำการล่วงละเมิดเป็นต้นไป กล่าวคือกระบวนการก่อวิบากได้เริ่มดำเนิน และบุคคลนั้นเริ่มได้รับผลของกรรมตั้งแต่บัดนั้นไป



จะเห็นได้ว่า ในความเป็นไปเช่นนี้ ข้อที่บัญญัติของสังคมว่าดีหรือชั่วนั้นจะจริงหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาในแง่ของสมมตินิยามไป ไม่เกี่ยวข้องกับกรรมนิยามโดยตรง (จะโยงมาเข้ากับกรรมนิยามในขั้นของการพิจารณาเจตนาและปัญญาของผู้ทำบัญญัติ) แต่ในการรักษาและปฏิบัติตามบัญญัติ กรรมนิยามเกี่ยวข้องเพียงการรับรู้และใจยอมรับอย่างใดอย่างหนึ่งต่อข้อกำหนดตามที่สังคมบัญญัติไว้ และดำเนินจากจุดเริ่มที่จิตมีกิจกรรมต่อข้อกำหนดนั้น คือเริ่มจากเกิดเจตนาเป็นต้นไป



เมื่อจัดเข้าในระบบชีวิตทางธรรม ทั้ง หมดนี้เป็นเรื่องในขั้นศีล และนี้เป็นจุดที่ กฎเกณฑ์ของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวพันกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ซึ่งจะต้องแยกขอบ เขตกันให้ดี



ข้อที่ว่าบัญญัติว่าดีหรือชั่วของสังคมจะเป็นของแท้จริงหรือไม่ เป็นเรื่องของสมมตินิยาม ไม่เกี่ยวข้องกับกรรมนิยามโดยตรงนั้น หมายความว่า ยังมีแง่ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อมได้ เช่น สังคมถือข้อปฏิบัติกันมาอย่างหนึ่งว่าเป็นสิ่งดีงามถูกต้อง ทุกคนต้องปฏิบัติ ต่อมาเกิดผู้มีปัญญาคนหนึ่งมองเห็นว่า ข้อปฏิบัตินั้นไม่ดีจริง ไม่เป็นประโยชน์ หรือถึงกับเป็นผลร้ายแก่สังคมนั้น บุคคลผู้นั้นอาจเพียรพยายามชี้แจงให้ชนทั้งหลายผู้ร่วมสังคมเข้าใจตาม พยายามแก้ไขข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้นั้น



และอาจถึงกับไม่ยอมทำตามข้อปฏิบัตินั้นเสียทีเดียว

เกณฑ์ตัดสินความดี-ความชั่ว (7) khaosod

เกณฑ์ตัดสินความดี-ความชั่ว (7)

พระพรหมคุณาภร์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ง) เกณฑ์วินิจฉัยกรรมดี - กรรมชั่ว

ดังได้กล่าวแล้วว่า กรรมนิยามมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดกับจิตนิยามและสมมตินิยาม และความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันนี้อาจเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจสับสนได้ง่าย ดังนั้น การที่จะเข้าใจเรื่องกรรมและความดีความชั่วให้ชัดเจน จะต้องแยกขอบเขตระหว่างนิยามเหล่านี้ให้ได้ก่อน



กรรมนิยามอาศัยจิตนิยามเหมือนซ้อนอยู่บนจิตนิยามนั่นเอง แต่จุดตัดแยกระหว่างกรรมนิยามกับจิตนิยามก็ชัดเจน กล่าวคือ เจตนาเป็นเนื้อหาสาระและเป็นตัวทำการของกรรมนิยาม ทำให้กรรมนิยามเป็นอิสระออกมาเป็นนิยามหนึ่งต่างหาก หรือทำให้มนุษย์เป็นอิสระ มีบทบาทเป็นของตนเองต่างหากจากนิยามอื่นๆ สามารถสร้างโลกแห่งเจตจำนงของตนเองขึ้นมาได้ จนถึงกับยกตนขึ้นเทียมเท่าหรือแข่งขันกับธรรมชาติ และแบ่งแยกว่าตนมีโลกแห่งการประดิษฐ์สร้างสรรค์ต่างหากจากโลกของธรรมชาติ



เจตนาอาศัยกลไกของจิตนิยามเป็นเครื่องมือในการทำงาน และเมื่อเจตนาทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นแล้ว กระบวนการก่อผลก็ต้องอาศัยจิตนิยามนั่นแหละดำเนินไป เปรียบได้กับคนขับเรือยนต์ คนขับเหมือนเจตนาที่อยู่ฝ่ายกรรมนิยาม เครื่องเรือทั้งหมดเหมือนกลไกและองค์ประกอบต่างๆ ของจิตที่อยู่ฝ่ายจิตนิยาม



คนขับต้องอาศัยเครื่องเรือ แต่เครื่องเรือจะพาเรือคือชีวิตที่พร้อมด้วยร่างกายไปสู่ที่ไหนอย่างไร คนขับเป็นอิสระที่จะทำ และเป็นผู้รับผิดชอบทำให้เป็นไป คนขับทั้งอาศัยและทั้งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากเรือ แล้วรับผิดชอบต่อความเป็นไปของเรือที่พร้อมทั้งเครื่องเรือและตัวเรือด้วย เหมือนกรรมนิยามทั้งอาศัยและทั้งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากจิตนิยาม แล้วรับผิดชอบต่อความเป็นไปของชีวิตที่พร้อมทั้งจิตและกายด้วย



ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างกรรมนิยามกับจิตนิยามนี้ ไม่สู้มีปัญหา เพราะไม่สู้มีเรื่องที่มนุษย์เอาใจใส่ และไม่ว่ามนุษย์จะใส่ใจรู้เรื่องของมันหรือแม้แต่รู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มันก็เป็นไปตามปกติของมันเรื่อยไปอย่างมองไม่เห็นตัว



ด้านที่เป็นปัญหาสับสนอย่างมากก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างกรรมนิยามกับสมมตินิยาม ซึ่งมักมีปัญหาเกี่ยวกับความดีและความชั่ว ว่าอะไรดี อะไรชั่ว ที่ว่าทำดีทำชั่วเป็นความจริงที่แท้หรือไม่ อะไรเป็นเกณฑ์แบ่งว่าอะไรดี อะไรชั่ว



ในเรื่องนี้ มีคนไม่น้อยพูดกันบ่อยๆ ว่า ความดีและความชั่วเป็นเรื่องของคนหรือสังคมบัญญัติกันขึ้น การกระทำอย่างเดียวกัน สังคมถิ่นหนึ่งหรือสมัยหนึ่งว่าดี อีกถิ่นหนึ่งหรืออีกสมัยหนึ่งว่าไม่ดี การกระทำอย่างเดียวกัน สังคมหนึ่งบัญญัติให้สมาชิกต้องกระทำ แต่อีกสังคมหนึ่งบัญญัติให้สมาชิกต้องละเว้น เช่น สังคมคนป่าบางพวกบัญญัติว่าฆ่าคนพวกอื่นเป็นความดี แต่สังคมที่เจริญแล้วบัญญัติว่าฆ่ามนุษย์เป็นความชั่วทั้งนั้น บางศาสนาบัญญัติว่าฆ่าสัตว์ที่เป็นอาหารไม่บาป บางศาสนาสอนว่าการเบียดเบียนสัตว์ไม่ว่าชนิดใดไม่ดีทั้งนั้น สังคมบางถิ่นบัญญัติว่าหญิงมีสามีมากหลายได้เป็นความดี สังคมบางถิ่นว่าหญิงดีต้องมีสามีเดียว



ถ้าให้ดียิ่งขึ้น เวลาสามีตายต้องโดดเข้าเผาตัวตายตามสามีไปในกองไฟที่เผาศพสามีด้วย บางสังคมถือว่าเด็กต้องเคารพต่อผู้สูงอายุกว่าและต้องเชื่อฟังไม่โต้เถียง มิฉะนั้นเป็นการไม่ดี อีกบางสังคมถือว่าการเคารพกันไม่เกี่ยวกับวัยและทุกคนควรถกเถียงหาเหตุผลกัน ดังนี้เป็นต้น



คำที่ว่าความดีความชั่วเป็นเรื่องของมนุษย์และสังคมมนุษย์สมมติบัญญัติกันขึ้นมาเองนี้ เป็นความจริงอยู่มากทีเดียว แต่ถึงแม้จะเป็นจริงอย่างนั้น ก็ไม่มาเกี่ยวข้องในแง่ที่จะกระทบกระเทือนต่อกรรมนิยามแต่ประการใด และก็ไม่น่าจะต้องเอามาสับสนกับเรื่องกรรมนิยามด้วย



เรื่องความดีความชั่วที่เป็นบัญญัติของสังคม ก็เป็นเรื่องของบัญญัติสังคมหรือสมมตินิยาม เรื่องความดีความชั่ว หรือว่าให้ถูกคือกุศลและอกุศลที่เป็นเรื่องของกรรมนิยาม ก็เป็นเรื่องของกรรมนิยาม แม้ว่าทั้งสองอย่างนี้จะสัมพันธ์กัน แต่ก็เป็นคนละเรื่องกัน มีจุดตัดแยกระหว่างกันชัดเจน ความสับสนเกิดจากการนำเอาความดีความชั่วของสมมตินิยามไปปะปนกับความดีความชั่วคือกุศลและอกุศลของกรรมนิยาม ที่เป็นคนละแดนกัน และไม่รู้จุดตัดแยกที่ถูกต้อง