วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (9) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (9)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ในกรณีเช่นนี้ การกระทำของบุคคลผู้นั้น มิใช่เกิดจากเจตนาขุ่นมัวของผู้ที่จะละเมิดเหมือนอย่างในกรณีก่อน แต่เกิดจากเจตนาอันประกอบด้วยปัญญาของผู้ที่จะแก้ไขเพื่อประโยชน์สุขของมนุษย์ทั้งหลายเป็นต้น เนื้อหาที่จะเป็นไปในกรรมนิยาม จึงไม่เหมือนกัน สุดแต่คุณสมบัติของเจตนานั้น แต่มีข้อสำทับว่า เจตนาที่กระทำนั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม ผู้กระทำย่อมรู้ตระหนักตามที่มันเป็น และเขาจะต้องรับผลในแง่ของกรรมนิยามตามเจตนานั้น เขาอาจปิดบังและหลอกสังคมได้ แต่ไม่อาจปิดบังใจตนเองหรือหลอกกฎธรรมชาติได้ พูดอย่างสั้นๆ ตัวกำหนดในกรรมนิยามอยู่ที่ว่า เจตนาเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลนั่นเอง



เมื่อว่าโดยทั่วไป หรือสำหรับกรณีทั่วไป การไม่ปฏิบัติตามบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่งของสังคม จะชื่อว่าไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิด และไม่เป็นไปด้วยเจตนาที่จะละเมิด ก็ต่อเมื่อสังคมนั้นได้ตกลงพร้อมใจกันยกเลิกบัญญัตินั้นแล้ว หรือยอมรับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบัญญัตินั้นแล้ว พูดอีกภาษาหนึ่งว่า ต่อเมื่อนั้น จึงจะไม่เป็นการเสียความซื่อสัตย์หรือทรยศต่อสัญญาประชาคม



ความที่ว่ามานี้พอจะอธิบายได้ด้วยตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่า คนสองคนมาอยู่ร่วมกัน เพื่อให้การอยู่ร่วมกันนั้นเป็นไปด้วยดี อำนวยความสุขและเกื้อกูลแก่การดำเนินชีวิตของทั้งสองฝ่าย เขาจึงได้วางกติกากันไว้เช่นว่า เขาทั้งสองทำงานคนละแห่ง กลับถึงบ้านไม่พร้อมกัน แต่ควรจะรับประทานอาหารเย็นพร้อมกัน ครั้นจะรอกันอย่างไม่มีขอบเขต ก็ไม่ได้ จึงให้แต่ละคนต้องไม่รับประทานอาหารเย็นก่อน 19.00 น. บรรดาเขาทั้งสองนั้นคนหนึ่งชอบแมว ไม่ชอบสุนัข อีกคนหนึ่งชอบสุนัข ไม่ชอบแมว เพื่อความสงบสุขให้ถือว่าการนำสัตว์เลี้ยงใดๆ เข้ามาในบ้านเป็นความไม่ดีงาม ไม่สมควร



เมื่อตกลงวางกติกากันอย่างนี้แล้ว ถ้าเขาคนใดคนหนึ่งจะทำการใดที่ไม่เป็นไปตามกติกานั้น เจตนาที่จะละเมิดก็ย่อมเกิดขึ้น และกรรมก็เกิดขึ้นตามกรรมนิยาม ทั้งๆ ที่เมื่อว่าโดยสภาวะแล้ว การรับประทานอาหารก่อน 09.00 น. ก็ดี การนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในบ้านก็ดี จะเป็นความดีหรือความชั่วโดยตัวของมันเองก็หาไม่ คนคู่อื่นอาจวางกติกาที่ตรงข้ามจากนี้ก็ได้ และในกรณีที่ต่อมาคนใดคนหนึ่งในเขาทั้งสองนั้น พิจารณาเห็นว่า กติกาที่ได้วางไว้ไม่เป็นไปเพื่อผลดีแก่ชีวิตร่วมกันของเขาทั้งสอง เขาก็จะต้องยกขึ้นมาพูดให้ตกลงยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกติกานั้นก่อน การที่จะไม่ปฏิบัติตามของเขาจึงจะเป็นไปได้ โดยไม่ประกอบด้วยเจตนาที่จะละเมิดหรือฝ่าฝืนวินัยซึ่งเป็นบัญญัติแก่สังฆะ ก็สัมพันธ์กับเจตนาในการปฏิบัติที่สำเร็จเป็นศีลของบุคคล



ในลักษณะอย่างนี้ เรื่องความดีความชั่ว ความผิดความถูก ที่เป็นบัญญัติอันไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังคม กับความเป็นไปแห่งกุศลและอกุศลอันแน่นอนของกรรมนิยาม มีขอบเขตที่แยกกันได้ และมีความสัมพันธ์เนื่องถึงกัน อันพึงเข้าใจได้โดยนัยนี้



2) สิ่งที่บัญญัตินั้น กระทบถึงกุศลและอกุศลในกระบวนการของกรรมนิยามด้วย ในกรณีเช่นนี้ สังคมอาจบัญญัติความดีความชั่วด้วยความรู้ความเข้าใจว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล คือรู้ว่าอะไรเกื้อกูล อะไรเป็นโทษแก่ชีวิตจิตใจของมนุษย์ หรืออาจบัญญัติด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจเลยก็ได้ แต่ไม่ว่าสังคมจะบัญญัติว่าอย่างไรก็ตาม ความเป็นไปตามกรรมนิยามก็ย่อมเป็นไปของมันตามปกติ หาได้เปลี่ยนไปตามบัญญัติของสังคมไม่



ยกตัวอย่าง สมมติว่า ในสังคมหนึ่ง คนถือว่าการเสพสิ่งเสพติดมึนเมาเป็นการกระทำที่ดีงาม ทำให้คนมีความสุข ควรสนับสนุน ถือว่าการมีอารมณ์รุนแรงเป็นสิ่งที่ดี ถือว่าควรปลุกเร้าคนให้ตื่นเต้นเคร่งเครียด อยากได้อยากเอา วิ่งหา แข่งขันอยู่เสมอ จะได้ทำงานสร้างสรรค์ได้มาก ถือว่าฆ่าคนพวกอื่นเป็นความดี หรือประณีตขึ้นมาอีกว่า ฆ่าสัตว์ดิรัจฉานไม่บาป เป็นต้น



กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าความดีความชั่วในสมมตินิยาม ขัดกับกุศลและอกุศลในกรรมนิยาม



ถ้ามองในแง่สังคม บัญญัติหรือข้อยึดถือเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดผลดีบ้าง ผลร้ายบ้างแก่สังคม เช่น การถือว่าเสพสิ่งเสพติดมึนเมาเป็นการดี อาจช่วยให้รัฐมีรายได้จากอากรสรรพสามิตเป็นต้นเพิ่มขึ้นไม่น้อย แต่พร้อมกันนั้น ก็ทำให้คนจำนวนมากในสังคมนั้นเป็นคนเรื่อยเปื่อยเฉื่อยชา



สังคมนั้นมีอาชญากรรม เช่น ลักขโมยมาก มีคนเจ็บป่วยไม่สมประกอบเนื่องจากเหตุนี้ เป็นต้น หรือการมีชีวิตที่เคร่งเครียดแข่งหาแข่งเอาตลอดเวลา อาจทำให้สังคมนั้นเจริญก้าวหน้าอย่างมากและรวดเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น