วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (13) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (13)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


โดย สรุป เกณฑ์วินิจฉัยกรรมดีและกรรมชั่วมีว่า ในแง่ของกรรมให้ถือเอาเจตนาเป็นหลักตัดสินว่าเป็นกรรมหรือไม่ และในแง่ที่ว่ากรรมนั้นดีหรือชั่ว ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังนี้



ก. เกณฑ์หลัก



1.ตัดสินด้วยความเป็นกุศล หรือเป็น อกุศล โดย



-พิจารณามูลเหตุว่า เป็นเจตนาที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือเกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ



-พิจารณา ตามสภาวะว่าเป็นสภาพเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่ ทำให้จิตสบาย ไร้โรค ปลอดโปร่ง ผ่องใส สมบูรณ์หรือไม่ ส่งเสริมหรือบั่นรอนคุณภาพและสมรรถภาพของจิต ช่วยให้กุศลธรรม (สภาพเกื้อกูล) ทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายลดน้อยลง หรือทำให้กุศลธรรมลดน้อยลง อกุศลธรรมเจริญงอกงามขึ้น ตลอดจนมีผลต่อบุคลิกภาพอย่างไร



ข. เกณฑ์ร่วม



2.ใช้มโนธรรม คือ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเองพิจารณาว่า การที่กระทำนั้นตนเองติเตียนตนเองได้หรือไม่ เสียความเคารพตนหรือไม่



3.พิจารณาความยอมรับของวิญญู หรือนักปราชญ์ หรือบัณฑิตชนว่าเป็นสิ่งที่วิญญูยอมรับหรือไม่ ชื่นชมสรรเสริญ หรือตำหนิติเตียน



4.พิจารณาลักษณะและผลของการกระทำ



- ต่อตนเอง - ต่อผู้อื่น



ก) เป็นการเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น ทำตนเองหรือผู้อื่นให้เดือดร้อนหรือไม่



ข) เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข หรือเป็นไปเพื่อโทษทุกข์ ทั้งแก่ตน และแก่ผู้อื่น



หลัก เกณฑ์นี้อาจสรุปได้อีกแนวหนึ่ง ด้วยสำนวนแสดงการจัดประเภทของเกณฑ์ที่ใช้ตัดสิน แต่มีข้อที่ต้องทำความเข้าใจกันไว้ก่อนบางอย่าง กล่าวคือ



ประการ ที่หนึ่ง ให้ถือว่าการพิจารณาในแง่ของกุศลมูล อกุศลมูล และกุศล อกุศลนั้น ว่าโดยสาระเป็นอันเดียวกัน คือมุ่งพิจารณาความเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูลต่อคุณภาพของชีวิตจิตใจ



อีก ประการหนึ่ง การยอมรับหรือไม่ยอมรับของปราชญ์ การติเตียนหรือสรรเสริญของวิญญูนั้น เมื่อมองอย่างกว้างๆ หรือมองในระดับสถาบัน และเมื่อว่าโดยส่วนใหญ่ มติของวิญญูหรือปราชญ์จะปรากฏอยู่ในรูปของบัญญัติทางศาสนาบ้าง ขนบธรรมเนียมประเพณีบ้าง กฎหมายบ้าง เป็นต้น



แม้ว่า บทบัญญัติและสิ่งที่ถือตามกันมาเหล่านี้ไม่จำต้องเป็นมติของวิญญูเสมอไป และการปฏิบัติที่ขัดแย้งแปลกออกไปจากบทบัญญัติและสิ่งที่ถือตามกันมาเหล่า นี้ก็ไม่จำต้องเป็นข้อที่วิญญูติเตียนเสมอไป แต่ก็พอจะพูดได้ว่าส่วนที่แตกต่างนี้เป็นข้อยกเว้น ซึ่งก็เป็นกิจของวิญญูนั่นแหละ ที่จะต้องหมั่นสอบสวนตรวจตราในเรื่องเหล่านี้ในแต่ละกาลแต่ละสมัยแต่ละครั้ง แต่ละคราวเรื่อยๆ ไป



จึงมักมีพุทธพจน์ตรัสสำทับว่า "อนุวิจฺจ วิญฺญู" (วิญญูใคร่ครวญแล้ว จึงติเตียนหรือสรรเสริญ คือยอมรับหรือไม่ยอมรับ) และจะเห็นว่า วิญญูนี่แหละ เมื่อใคร่ครวญแล้วก็ได้เป็นผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่ง ที่ยึดถือปฏิบัติบัญญัติกันมาผิดๆ หรือเคลื่อนคลาดจากความหมายที่ ถูกต้อง เช่น พระพุทธเจ้าทรงติเตียน ไม่ยอมรับระบบวรรณะ และการบูชายัญ เป็นต้น



เมื่อ ทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ก็สรุปหลักเกณฑ์ตัดสินความดีความชั่ว หรือกรรมดีกรรมชั่ว ทั้งตามแนวกรรมนิยามล้วนๆ และกรรมนิยามที่สัมพันธ์กับสมมตินิยาม ทั้งโดยสภาวะและโดยคุณค่า ซึ่งเป็นคุณค่าโดยสภาวะบ้าง คุณค่าตามที่กำหนดให้บ้าง ได้อีกสำนวนหนึ่ง มีสาระอย่างเดียวกับข้อสรุปข้างบนนั้นเอง แต่จัดจำแนกข้อต่างกัน มีใจความคาบเกี่ยวกัน ดังนี้



1.ว่าโดยคุณโทษต่อชีวิต หรือต่อจิตใจและบุคลิกภาพ คือ เป็นสภาวะที่เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่ เอื้อหรือไม่ต่อคุณภาพชีวิต ส่งเสริมหรือบั่นรอนคุณภาพและสมรรถภาพของจิต ทำให้กุศลธรรมหรืออกุศลธรรมทั้งหลายอื่นลดถอย หรือเจริญงอกงาม ช่วยสร้างเสริมบุคลิกภาพที่ดีงามหรือไม่



2.ว่าโดยคุณโทษต่อ บุคคล คือ เป็นการเบียดเบียนตนหรือไม่ ทำให้ตนเดือดร้อนหรือไม่ เป็นไปเพื่อทำลายหรืออำนวยประโยชน์สุขที่แท้จริงแก่ตน



3.ว่า โดยคุณโทษต่อสังคม คือ เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนหรือไม่ เป็นไปเพื่อทำลายหรืออำนวยประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น และแก่ส่วนรวม



4.ว่า โดยมโนธรรม หรือโดยสำนึกอันมีตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ คือ พิจารณาเห็นด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเองว่า การนั้นเมื่อทำแล้วตนเองติเตียนหรือกล่าวโทษตนเองได้หรือไม่



5.ว่า โดยมาตรฐานทางสังคม คือ ตามบัญญัติทางศาสนา วัฒนธรรมประเพณี และสถาบันต่างๆ ทางสังคม เช่น กฎหมาย เป็นต้น ซึ่งขึ้นต่อการใคร่ครวญตรวจสอบกลั่นกรองของวิญญูทั้งหลาย ตามกาลสมัย ที่จะมิให้ถือกันไปโดยงมงายหรือผิดพลาดคลาดเคลื่อน ตลอดจนการใคร่ครวญแล้วยอมรับหรือไม่ของวิญญูเหล่านั้นในแต่ละกรณี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น