พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
แต่ต่อมาอาจปรากฏว่าสังคมนั้นมีคนเป็นโรคจิตและโรคหัวใจกันมาก มีการฆ่าตัวตายมาก มีปัญหาทางจิตและปัญหาสังคมอื่นๆ มากผิดปกติ หรือในสังคมที่ถือว่าฆ่าคนพวกอื่นได้เป็นการดี คนของสังคมนั้นมีลักษณะที่ปรากฏแก่คนพวกอื่นว่าเป็นมนุษย์ที่โหดร้าย ควรหวาดระแวง ไม่น่าไว้วางใจ เป็นต้น
ผลต่างๆ ที่ปรากฏในระดับสังคมเช่นนี้ หลายอย่างอาจสืบเนื่องมาจากกรรมนิยามด้วย แต่กระนั้น ในเบื้องแรก ผลที่เป็นไปในด้านสังคมก็พึงพิจารณาในแง่สังคม ผลในด้านกรรมนิยาม ก็พึงพิจารณาในแง่กรรมนิยาม แยกต่างหากจากกันก่อน เสร็จจากนั้นแล้วจึงค่อยโยงเข้ามาหากันในภายหลัง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน
ว่าถึงผลในด้านกรรมนิยาม เจตนาในเรื่องนี้ซ้อนกันอยู่เป็นสองชั้น คือ เจตนาที่ประกอบด้วยความยึดถือตามบัญญัตินั้น ที่แสดงออกเป็นความเชื่อถือและค่านิยม เป็นต้น และเจตนาในการกระทำตามหรือไม่ยอมกระทำตามบัญญัติเฉพาะในคราว นั้นๆ แต่ไม่ว่าในกรณีใด การได้รับผลตามกรรมนิยามย่อมเริ่มดำเนินในทันทีเริ่มแต่ตั้งเจตนา
ดังตัวอย่างข้างต้น คนที่จะเสพสิ่งเสพติดมึนเมา พอจะเสพ เจตนาก็ประกอบด้วยความกระหยิ่มอย่างมัวซัว เมื่อเสพเป็นนิตย์ก็สั่งสมสภาพจิตอย่างนั้นเป็นนิสัย คนที่เคร่งเครียดแข่งหาแข่งเอา จะทำงานแต่ละครั้ง เจตนาก็ประกอบด้วยความ เครียดเร่งร้อน และสั่งสมสภาพจิตเช่นนั้นไว้ คนที่ตั้งหน้าฆ่าผู้อื่น แม้จะได้รับความยกย่องและรางวัลในสังคมของพวกตน แต่ในการกระทำคือการฆ่าแต่ละครั้งก็ตั้งเจตนาที่ประกอบด้วยความขึ้งเครียดเหี้ยมเกรียมหรือกระเหี้ยนกระหือรือ
หากปล่อยใจไปเรื่อยๆ ก็จะมีการสั่งสมสภาพจิตเช่นนั้นจนอาจกลายเป็นบุคลิกภาพทั้งหมดของเขา คุณภาพของจิตจะเป็นไปในทางที่หยาบมากขึ้น แต่เสื่อมเสียความประณีต ความนุ่มนวลละมุนละไม และความละเอียดลึกซึ้ง เป็นต้น
อนึ่ง พึงทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "เจตนา" อีกสักเล็กน้อย เจตนาในทางธรรม มีความหมายละเอียดอ่อนกว่าที่เข้าใจกันทั่วไปในภาษาไทย กล่าวคือ ในภาษาไทยมักใช้เจตนาต่อเมื่อต้องการเชื่อมโยงความคิดที่อยู่ภายใน กับการกระทำที่แสดงออกมาในภายนอก เช่นว่า พูดพลั้งไปไม่ได้เจตนา หรือเขากระทำโดยเจตนา เป็นต้น
แต่ในทางธรรม คือตามหลักกรรมนี้ การกระทำการพูดที่แสดงออกภายนอกโดยจงใจก็ดี ความคิดต่างๆ แม้เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น ชั่วครู่ชั่วขณะแล้วผ่านไป ภายในจิตใจก็ดี การคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในลักษณะใดลักษณะหนึ่งก็ดี ความรู้สึกและท่าทีของจิตใจต่อสิ่งต่างๆ ที่ได้ประสบทางตาหูจมูกลิ้นกายและ ที่ระลึกหรือนึกขึ้นมาในใจก็ดี ล้วนมีเจตนาประกอบอยู่ด้วย ทั้งสิ้น
เจตนาจึงเป็นเจตจำนง ความจงใจ การเลือกอารมณ์ของใจ ตัวนำที่หันเหชักพาทำให้จิตเคลื่อนไหว โน้มน้อมไปหา หรือผละไปจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือมุ่งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เป็นหัวหน้า เป็นผู้จัดการ หรือตัวเจ้ากี้เจ้าการของจิตว่าจะเอาอะไรไม่เอาอะไรกับเรื่องใดอย่างไร เป็นตัวการจัดแจงแต่งวิถีทางของจิต และในที่สุดก็เป็นตัวการปรุงแต่งจิตนั้นให้เป็นไปต่างๆ
เมื่อเจตนาเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ก็คือกรรมเกิดขึ้นทีหนึ่ง เมื่อกรรมเกิดขึ้นแล้ว ก็มีผลทันที เพราะเมื่อเจตนาเกิดขึ้น ก็คือมีกิจกรรมเกิดขึ้นในจิตแล้ว จิตมีการเคลื่อนไหว หรือไหวตัวแล้ว แม้เป็นเพียงความคิดอะไรเล็กน้อย ซึ่งถึงจะไม่มีผลอะไรสำคัญ แต่ก็ไม่ไร้ผลเสียเลย อย่างน้อยก็เป็นละอองกรรมอันละเอียดที่สั่งสมหรือพอกเข้าไว้เป็นเครื่องปรุงแต่งคุณสมบัติของจิตอยู่ภายใน เมื่อมากขึ้น เช่น จิตเสพความคิดนั้นบ่อยๆ หรือความคิดนั้นรุนแรงขึ้นจนออกมาภายนอก ผลก็แรงขึ้นขยายออกมาเป็นลักษณะนิสัย บุคลิกภาพ เป็นต้น
ยกตัวอย่าง เช่น เจตนาในการทำร้าย ไม่ต้องพูดถึงกรรมร้ายแรงถึงขั้นจะฆ่าคน แม้แต่การทำลายสิ่งของที่เล็กๆ น้อยๆ เหลือเกิน ถ้าทำด้วยเจตนาทำร้าย คือประกอบด้วยโทสจริต หรือมีความโกรธ อย่างคนฉีกกระดาษด้วยความฉุนเฉียว ทั้งที่กระดาษนั้นไม่มีคุณค่าสำคัญอะไร แต่ย่อมมีผลต่อคุณภาพจิต หาเหมือนกันไม่กับการฉีกกระดาษของคนที่ทำด้วยจิตปกติโดยรู้ว่าจะไม่ใช้กระดาษนั้นแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น