วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การให้ผลของกรรม (4) khaosod


การให้ผลของกรรม (4)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


คู่ที่ 1 คติสมบัติ เช่น เกิดอยู่ในถิ่นเจริญ มีบริการการศึกษาดี ทั้งที่สติปัญญาและความขยันไม่เท่าไร แต่ก็ยังได้ศึกษามากกว่า เข้าถึงสถานะทางสังคมสูงกว่าอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีสติปัญญาและความขยันหมั่นเพียรดีกว่า แต่ไปเกิดอยู่ในถิ่นป่าดง หรือเช่น ไปเกิดเป็นเทวดา ถึงจะแย่อย่างไรก็ยังสุขสบาย ไม่เดือดร้อน ไม่อดอยาก



คติวิบัติ เช่น มีพระพุทธเจ้าอุบัติตรัสสอนธรรม แต่ตัวไปเกิดอยู่เสียในป่าดง หรือในนรก ก็หมดโอกาสได้ฟังธรรม หรือมีสติปัญญาดี แต่ไปเกิดเป็นคนป่าอยู่ในกาฬทวีป ก็ไม่มีโอกาสได้เป็นนักปราชญ์ในวงการศิลป์และศาสตร์ทั้งหลาย มีความรู้ความสามารถดี แต่ไปอยู่ในถิ่นหรือในชุมชนที่เขาไม่เห็นคุณค่าของความรู้ความสามารถนั้น เข้ากับเขาไม่ได้ ถูกเหยียดหยามบีบคั้น อยู่อย่างเดือดร้อน คนหนึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นคนดี แต่ไปอยู่ในตำแหน่งฐานะหน้าที่ที่ไม่เข้ากับส่วนดีที่ตัวมี กลายเป็นตัวขัดถ่วงกิจการของส่วนรวมนั้น และตนเองก็ไม่เป็นสุข (กรณีหลังนี้อาจมีปโยควิบัติซ้ำด้วย) ดังนี้เป็นต้น



คู่ที่ 2 อุปธิสมบัติ เช่น รูปร่างสวยงาม น่าชื่นชม แม้ไปเกิดในตระกูลยากไร้ หรือถิ่นห่างไกล รูปกายช่วยให้ขึ้นมาสู่ฐานะและถิ่นที่มีเกียรติยศและความสุข



อุปธิวิบัติ เช่น เกิดในถิ่นดี หรือในตระกูลมั่งคั่งสมบูรณ์ แต่พิกลพิการง่อยใบ้ ไม่อาจได้รับเกียรติยศและความสุขความรื่นรมย์ที่พึงได้



คนสองคนมีคุณสมบัติอย่างอื่นเสมอกัน คนหนึ่งรูปร่างสง่า สวยงาม อีกคนหนึ่งขี้เหร่ หรือขี้โรค ในกรณีที่ถือร่างกายเป็นส่วนประกอบด้วย คนมีกายดีก็ได้รับผลไป แม้ในกรณีที่ไม่ถือกายเป็นคุณสมบัติ ก็เป็นธรรมดาของคนทั่วไปที่จะเอนเอียงเข้าหาคนที่มีรูปสมบัติ คนที่รูปวิบัติจะต้องยอมรับความจริงที่เป็นธรรมดาของชาวโลกข้อนี้ และตระหนักว่า ผู้ที่มีจิตเที่ยงตรงไม่เอนเอียงเพราะเหตุแห่งรูปสมบัติรูปวิบัตินี้ ก็มีเฉพาะแต่ท่านที่ประกอบด้วยคุณธรรมพิเศษยิ่งกว่าคนทั่วไป



คนที่มีรูปวิบัตินั้น เมื่อรู้เช่นนี้แล้วไม่พึงเสียใจ จากนั้นจะได้เร่งขวนขวายสร้างเสริมคุณสมบัติส่วนอื่นๆ ให้มีพิเศษยิ่งกว่าปกติ ถ้าคนรูปกายดีใช้ความพยายามหนึ่งส่วน คนมีอุปธิวิบัติอาจต้องพยายามสองหรือสามส่วน เป็นต้น ข้อสำคัญอย่าท้อแท้ ปัจจัยที่หย่อน ก็รู้ ที่เสริมได้ก็เร่งทำ ความรู้กรรมจึงจะเกิดประโยชน์



คู่ที่ 3 กาลสมบัติ เช่น เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ทำสิ่งที่ดีงาม มาเกิดอยู่ในยุคที่ผู้ปกครองดี สังคมดี ยกย่องเชิดชูคนดี คนผู้นั้นก็มีเกียรติ มีความเจริญ หรือบ้านเมืองสงบสุข ผู้มีสติปัญญาเป็นนักปราชญ์ก็มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถให้ปรากฏและให้เป็นประโยชน์ หรือในยุคสมัยหนึ่ง คนนิยมกาพย์กลอนกันมาก คนเก่งกาพย์กลอนก็รุ่งเรืองเฟื่องฟู



กาลวิบัติ ก็ตรงข้าม เช่น ในยามสังคมเสื่อมจากศีลธรรม ผู้ปกครองไม่ประกอบด้วยธรรม คนทำดีไม่ได้รับยกย่อง หรืออาจถูกเบียดเบียนกดขี่ ประสบความเดือดร้อน หรือยามบ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย มีศึกสงคราม ไม่มีใครสนใจคนทำความดีทางสันติ แม้มีสติปัญญาความสามารถก็ไม่มีโอกาสสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ หรือในยุคที่สังคมนิยมดนตรีหยาบร้อน ตนแม้เชี่ยวชาญในดนตรีที่สงบเยือกเย็น แต่ไม่ได้รับความสนใจยกย่อง เป็นต้น



คู่ที่ 4 ปโยคสมบัติ เช่น ตนไม่ใช่คนดีมีความสามารถจริง แต่รู้จักเข้าหาคนควรเข้าหา รู้จักเลี่ยงเรื่องควรหลบ อะไรควรเสียยอมเสีย ทำให้ตนเจริญก้าวหน้าไปได้ และความเสียหายบกพร่องของตนไม่ปรากฏ หรือมีความสามารถในการปลอมแปลงเอกสาร เอาความสามารถนั้นมาใช้ทางดี เช่นในงานพิสูจน์หลักฐาน



ปโยควิบัติ เช่น มีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติอื่นดีหมด แต่ติดการพนัน จึงไม่ได้รับการคัดเลือกไปทำงาน หรือมีฝีเท้ารวดเร็วมาก พอจะเป็นนักกรีฑาชั้นเลิศ แต่เอาความสามารถนั้นไปใช้ในการวิ่งฉกชิงทรัพย์เขา หรือตนมีฝีมือดีในทางช่าง แต่ไปนั่งทำงานเสมียนที่ไม่ถนัด เป็นต้น



ผลในระดับที่ 3 นี้ส่วนมากเป็นเรื่องของโลกธรรม ซึ่งมีความผันผวนปรวนแปรไม่แน่นอน แต่ก็เป็นเรื่องชั้นเปลือกผิวภายนอก มิใช่แกนในของชีวิต จะกระทบกระทั่งหนักเบาก็อยู่ที่ว่าจะมีความยึดติดถือมั่นมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่ยึดติด สามารถวางใจ ก็มีความสุขได้เสมอ หรืออย่างน้อยก็ทุกข์ไม่มาก และผ่านเหตุการณ์ไปได้ด้วยดี



ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสอนให้มีปัญญารู้เท่าทันธรรมดา ประกอบด้วยสติ มิให้หลงใหลประมาทมัวเมา คราวสุขคราวได้ ก็ไม่เหลิงลำพองเคลิ้มไป



คราวทุกข์คราวเสีย ก็ไม่ขุ่นมัวคลุ้มคลั่งปล่อยตัวถลำลงในทางชั่วทางเสีย ค่อยผ่อนผันแก้ไขเหตุการณ์ด้วยสติปัญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น