วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การให้ผลของกรรม (2) khaosod

การให้ผลของกรรม (2)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ทั้งนี้ รวมทั้งการที่ว่า เมื่อเขาจะทำการใดๆ เขาจะทำสิ่งนั้นๆ ตามแนวไหน ลักษณะใด ด้วยอาการใด จะทำไปตลอดไหม พบข้อขัดข้องอย่างไหนจะยอม อย่างไหนจะย่ำต่อไป จะทำสำเร็จหรือไม่ จะหยาบประณีต ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร ตลอดถึงว่า ตัวเขาจะปรากฏเป็นภาพในความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่นอย่างไร อันจะมีผลย้อนกลับมาหาตัวเขาเองอีก ในรูปของความช่วยเหลือ ร่วมมือ หรือขัดแย้งปฏิเสธ เป็นต้น อันเป็นส่วนที่บุคลิกภาพของเขาชักนำคนอื่นให้ช่วยพาตัวเขาไปสู่ผลสนองที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ



ทั้งนี้ มิได้ปฏิเสธองค์ประกอบด้านอื่นๆ โดยเฉพาะปัจจัยแวดล้อมทางสังคม ที่จะมามีปฏิกิริยาตอบโต้กันและมีอิทธิพลต่อเขาโดยอาศัยกรรมนิยามนี้ เพียงแต่ว่าในที่นี้มุ่งเน้นการมองกรรมนิยามจากด้านภายในออกมาอย่างเดียวก่อน ส่วนการมองจากด้านนอกเข้าไป จะเห็นได้ในหลักปรโตโฆสะและกัลยาณมิตรที่จะกล่าวข้างหน้า เป็นต้น



ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมนิยามตามที่กล่าวมานี้ มิใช่มีประโยชน์เฉพาะในด้านการแก้ไขปรับปรุงตนในการประกอบกรรมของบุคคลเองเท่านั้น แต่มีประโยชน์ในการที่คนอื่นหรือสังคมจะช่วยเหลือบุคคลให้โน้มน้อมไปในทางแห่งกุศลกรรม ด้วยการจัดสรรอำนวยสภาพแวดล้อมและเครื่องชักจูงที่ดีงาม ตามหลักปฏิรูปเทสวาส และกัลยาณมิตตตา หรือสัปปุริสูปัสสยะ อีกด้วย



ในหัวข้อก่อน ได้กล่าวถึงการก่อผลแปรกรรมในระดับที่ 1 ภายในจิตใจไว้พอเป็นเค้าแล้ว ส่วนการก่อผลในระดับที่ 2 ก็ต่อเนื่องจากระดับที่ 1 นั้นเอง และได้กล่าวถึงความหมายคร่าวๆ ไว้แล้ว ทั้งสองระดับนั้นเกี่ยวโยงถึงผลในระดับที่สามด้วย แต่ไม่ใช่ข้อพิจารณาโดยตรง ณ ที่นี้ จึงขอผ่านไป



ผลกรรมในระดับที่ 3 คือ ความเป็นไปแห่งวิถีชีวิต พร้อมด้วยผลตอบสนองต่างๆ นั้น ว่าที่จริงก็เป็นเรื่องของกรรมนิยามนั่นแหละ และส่วนมากก็สืบเนื่องมาจากผลในระดับที่ 1 และ 2 เช่น ถ้าคนผู้หนึ่งมีใจรักงาน ทำงานสุจริต ด้วยความขยันหมั่นเพียร จัดการงานได้ดี เขาก็น่าจะได้รับผลงานและผลตอบแทนดี อย่างน้อยดีกว่าคนที่เกียจคร้านหรือทำงานไม่สุจริต ข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต มีความสามารถ ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการบังเกิดผลดี ก็น่าที่จะเจริญก้าวหน้าในราชการ อย่างน้อยดีกว่าข้าราชการที่ไม่สามารถและไม่เข้มแข็งในหน้าที่ แต่บางทีผลหาเกิดเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้เพราะผลในระดับที่สามมิใช่เกิดจากกรรมนิยามอย่างเดียวล้วน หากแต่มีปัจจัยด้านนิยามอื่นๆ เฉพาะอย่างยิ่งสมมตินิยามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย



ในกรณีอย่างนี้ ถ้ามองดูแต่กรรมนิยามอย่างเดียว ไม่มองปัจจัยด้านอื่นให้ครบถ้วน และไม่รู้จักแยกขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างนิยามต่างๆ ก็จะเกิดความสับสน แล้วคำกล่าวที่ว่า "ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี" ก็ติดตามมา ถ้ากรรมนิยามทำงานลำพังอย่างเดียว ก็ย่อมไม่มีปัญหา ผลก็เกิดตรงตามกรรมนั้น



ตัวอย่างเช่น ขยันอ่านหนังสือเรียน หยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาตั้งใจอ่าน ก็อ่านจบ ได้ความรู้ แต่บางคราว ร่างกายอ่อนเพลียเกินไป หรือปวดศีรษะ หรืออากาศร้อนเกินไป ก็อาจอ่านไม่จบ หรืออ่านไม่รู้เรื่อง หรือเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นในระหว่างการอ่าน ก็ต้องหยุดชะงักลง ดังนี้เป็นต้น



อย่างไรก็ดี พึงตระหนักแน่ใจได้ว่า ถึงอย่างไรก็ตาม สำหรับมนุษย์ กรรมนิยามก็ยังคงเป็นแกนกลางชี้นำวิถีชีวิต หรือเป็นปัจจัยตัวเอกที่กำหนดการได้รับผลสนองดีร้ายต่างๆ ในชีวิตอยู่อย่างแน่นอน



สำหรับผู้ที่รู้สึกผิดหวังในตนเอง หรือมองเห็นใครอื่นก็ตามว่าทำดีแล้วไม่ได้ดีนั้น แม้ยังไม่ได้ตรวจสอบเหตุปัจจัยในด้านต่างๆ ให้ชัดเจนเลย ก็อาจลองมองดูอย่างง่ายๆ ก่อนว่า นี่ ถ้าเราไม่ได้ทำกรรมดีนั้นไว้ คงจะแย่ยิ่งกว่านี้ นั่น ถ้าเขาไม่ได้ทำดีไว้บ้าง เขาคงตกหนักยิ่งกว่านั้นอีก ถ้ามองอย่างนี้ บางทีจะเริ่มเกิดความเข้าใจ มองเห็นอะไรๆ ค่อยๆ ชัดมากขึ้น และตระหนักว่า ถึงอย่างไรกรรมที่ทำไว้ก็ไม่ไร้ผลเสียเลย และอาจสืบลึกลงไปจนถึงผลภายในจิตใจและผลต่อบุคลิกภาพอย่างที่กล่าวแล้วด้วย



ความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับการให้ผลของกรรม ขอให้มาดูและแก้ไขความเข้าใจกันตั้งต้นแต่ข้อความแสดงหลักทีเดียว คำกล่าวที่ชาวไทยนิยมพูดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั้น มาจากพุทธศาสนสุภาษิตว่าดังนี้



ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ



กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ



แปลว่า : หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น (ผู้) ทำดี ได้ดี (ผู้) ทำชั่ว ได้ชั่ว



คาถานี้เป็นพุทธพจน์ในรูปของอิสิภาษิต (คำกล่าวของฤๅษี) และโพธิสัตว์ภาษิต ซึ่งพระพุทธเจ้านำมาตรัสเล่า ท่านรวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก นับว่าเป็นข้อความที่แสดงหลักกรรมของพระพุทธศาสนาได้อย่างกะทัดรัดชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น