วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตัดสินความดี-ความชั่ว (7) khaosod

เกณฑ์ตัดสินความดี-ความชั่ว (7)

พระพรหมคุณาภร์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ง) เกณฑ์วินิจฉัยกรรมดี - กรรมชั่ว

ดังได้กล่าวแล้วว่า กรรมนิยามมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดกับจิตนิยามและสมมตินิยาม และความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันนี้อาจเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจสับสนได้ง่าย ดังนั้น การที่จะเข้าใจเรื่องกรรมและความดีความชั่วให้ชัดเจน จะต้องแยกขอบเขตระหว่างนิยามเหล่านี้ให้ได้ก่อน



กรรมนิยามอาศัยจิตนิยามเหมือนซ้อนอยู่บนจิตนิยามนั่นเอง แต่จุดตัดแยกระหว่างกรรมนิยามกับจิตนิยามก็ชัดเจน กล่าวคือ เจตนาเป็นเนื้อหาสาระและเป็นตัวทำการของกรรมนิยาม ทำให้กรรมนิยามเป็นอิสระออกมาเป็นนิยามหนึ่งต่างหาก หรือทำให้มนุษย์เป็นอิสระ มีบทบาทเป็นของตนเองต่างหากจากนิยามอื่นๆ สามารถสร้างโลกแห่งเจตจำนงของตนเองขึ้นมาได้ จนถึงกับยกตนขึ้นเทียมเท่าหรือแข่งขันกับธรรมชาติ และแบ่งแยกว่าตนมีโลกแห่งการประดิษฐ์สร้างสรรค์ต่างหากจากโลกของธรรมชาติ



เจตนาอาศัยกลไกของจิตนิยามเป็นเครื่องมือในการทำงาน และเมื่อเจตนาทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นแล้ว กระบวนการก่อผลก็ต้องอาศัยจิตนิยามนั่นแหละดำเนินไป เปรียบได้กับคนขับเรือยนต์ คนขับเหมือนเจตนาที่อยู่ฝ่ายกรรมนิยาม เครื่องเรือทั้งหมดเหมือนกลไกและองค์ประกอบต่างๆ ของจิตที่อยู่ฝ่ายจิตนิยาม



คนขับต้องอาศัยเครื่องเรือ แต่เครื่องเรือจะพาเรือคือชีวิตที่พร้อมด้วยร่างกายไปสู่ที่ไหนอย่างไร คนขับเป็นอิสระที่จะทำ และเป็นผู้รับผิดชอบทำให้เป็นไป คนขับทั้งอาศัยและทั้งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากเรือ แล้วรับผิดชอบต่อความเป็นไปของเรือที่พร้อมทั้งเครื่องเรือและตัวเรือด้วย เหมือนกรรมนิยามทั้งอาศัยและทั้งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากจิตนิยาม แล้วรับผิดชอบต่อความเป็นไปของชีวิตที่พร้อมทั้งจิตและกายด้วย



ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างกรรมนิยามกับจิตนิยามนี้ ไม่สู้มีปัญหา เพราะไม่สู้มีเรื่องที่มนุษย์เอาใจใส่ และไม่ว่ามนุษย์จะใส่ใจรู้เรื่องของมันหรือแม้แต่รู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มันก็เป็นไปตามปกติของมันเรื่อยไปอย่างมองไม่เห็นตัว



ด้านที่เป็นปัญหาสับสนอย่างมากก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างกรรมนิยามกับสมมตินิยาม ซึ่งมักมีปัญหาเกี่ยวกับความดีและความชั่ว ว่าอะไรดี อะไรชั่ว ที่ว่าทำดีทำชั่วเป็นความจริงที่แท้หรือไม่ อะไรเป็นเกณฑ์แบ่งว่าอะไรดี อะไรชั่ว



ในเรื่องนี้ มีคนไม่น้อยพูดกันบ่อยๆ ว่า ความดีและความชั่วเป็นเรื่องของคนหรือสังคมบัญญัติกันขึ้น การกระทำอย่างเดียวกัน สังคมถิ่นหนึ่งหรือสมัยหนึ่งว่าดี อีกถิ่นหนึ่งหรืออีกสมัยหนึ่งว่าไม่ดี การกระทำอย่างเดียวกัน สังคมหนึ่งบัญญัติให้สมาชิกต้องกระทำ แต่อีกสังคมหนึ่งบัญญัติให้สมาชิกต้องละเว้น เช่น สังคมคนป่าบางพวกบัญญัติว่าฆ่าคนพวกอื่นเป็นความดี แต่สังคมที่เจริญแล้วบัญญัติว่าฆ่ามนุษย์เป็นความชั่วทั้งนั้น บางศาสนาบัญญัติว่าฆ่าสัตว์ที่เป็นอาหารไม่บาป บางศาสนาสอนว่าการเบียดเบียนสัตว์ไม่ว่าชนิดใดไม่ดีทั้งนั้น สังคมบางถิ่นบัญญัติว่าหญิงมีสามีมากหลายได้เป็นความดี สังคมบางถิ่นว่าหญิงดีต้องมีสามีเดียว



ถ้าให้ดียิ่งขึ้น เวลาสามีตายต้องโดดเข้าเผาตัวตายตามสามีไปในกองไฟที่เผาศพสามีด้วย บางสังคมถือว่าเด็กต้องเคารพต่อผู้สูงอายุกว่าและต้องเชื่อฟังไม่โต้เถียง มิฉะนั้นเป็นการไม่ดี อีกบางสังคมถือว่าการเคารพกันไม่เกี่ยวกับวัยและทุกคนควรถกเถียงหาเหตุผลกัน ดังนี้เป็นต้น



คำที่ว่าความดีความชั่วเป็นเรื่องของมนุษย์และสังคมมนุษย์สมมติบัญญัติกันขึ้นมาเองนี้ เป็นความจริงอยู่มากทีเดียว แต่ถึงแม้จะเป็นจริงอย่างนั้น ก็ไม่มาเกี่ยวข้องในแง่ที่จะกระทบกระเทือนต่อกรรมนิยามแต่ประการใด และก็ไม่น่าจะต้องเอามาสับสนกับเรื่องกรรมนิยามด้วย



เรื่องความดีความชั่วที่เป็นบัญญัติของสังคม ก็เป็นเรื่องของบัญญัติสังคมหรือสมมตินิยาม เรื่องความดีความชั่ว หรือว่าให้ถูกคือกุศลและอกุศลที่เป็นเรื่องของกรรมนิยาม ก็เป็นเรื่องของกรรมนิยาม แม้ว่าทั้งสองอย่างนี้จะสัมพันธ์กัน แต่ก็เป็นคนละเรื่องกัน มีจุดตัดแยกระหว่างกันชัดเจน ความสับสนเกิดจากการนำเอาความดีความชั่วของสมมตินิยามไปปะปนกับความดีความชั่วคือกุศลและอกุศลของกรรมนิยาม ที่เป็นคนละแดนกัน และไม่รู้จุดตัดแยกที่ถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น