วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (15) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (15)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


"แม้ตัวโลภะเองก็เป็นอกุศล, คนโลภแล้ว ปรุงแต่งกรรมใด ด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล, คนโลภแล้ว ถูกความโลภครอบงำ มีจิตถูกโลภะบ่อนเสียแล้ว ย่อมหาเรื่องก่อความทุกข์แก่ผู้อื่น โดยฆ่าเขาบ้าง จองจำบ้าง ทำให้สูญเสียบ้าง ตำหนิโทษเอาบ้าง ขับไล่บ้าง ด้วยถือว่า ข้าฯ เป็นคนมีกำลัง ข้าฯ เป็นผู้ทรงพลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล; อกุศลธรรมชั่วร้ายเป็นอเนก ซึ่งเกิดจากโลภะ มีโลภะเป็นต้นเหตุ มีโลภะเป็นแดนเกิด มีโลภะเป็นปัจจัย เหล่านี้ ย่อมประดังมีแก่เขา ด้วยประการฉะนี้"



"แม้ตัวโทสะเองก็เป็นอกุศล, คนมีโทสะแล้ว ปรุงแต่งกรรมใด ด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล, คนมีโทสะแล้ว..ย่อมหาเรื่องก่อทุกข์แก่ผู้อื่น..แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล, อกุศลธรรมชั่วร้ายเป็นอเนก...ย่อมประดังมีแก่เขา ด้วยประการฉะนี้ ฯลฯ"



"แม้ตัวโมหะเอง ก็เป็นอกุศล, คนมีโมหะแล้ว ปรุงแต่งกรรมใด ด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้น ก็เป็นอกุศล, คนมีโมหะแล้ว..ย่อมหาเรื่องก่อทุกข์แก่ผู้อื่น...แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล, อกุศลธรรมชั่วร้ายเป็นอเนก...ย่อมประดังมีแก่เขา ด้วยประการฉะนี้ ฯลฯ"



"บุคคลเช่นนี้ ผู้ถูกอกุศลธรรมชั่วร้ายที่เกิดจากโลภะ..โทสะ..โมหะ ครอบงำแล้ว มีจิตถูกบ่อนแล้วในปัจจุบันนี่เอง ก็อยู่เป็นทุกข์ มีความคั่งเครียด คับแค้น เร่าร้อน เพราะกายแตก ตายไป ก็เป็นอันหวังทุคติได้ เปรียบเหมือนต้นสาละ ต้นตะแบก หรือต้นสะคร้อก็ตาม ถูกเถาย่านทราย 3 เถา ขึ้นคลุมยอด พันรอบต้นแล้ว ย่อมถึงความไม่เจริญ ย่อมถึงความพินาศ ย่อมถึงความเสื่อม ความวอดวาย..."



"ภิกษุทั้งหลาย กุศลมูล มี 3 อย่างดังนี้, สามอย่าง คืออะไร? ได้แก่ กุศลมูลคืออโลภะ กุศลมูล คือ อโทสะ กุศลมูลคืออโมหะ ฯลฯ"



"ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุเพื่อความก่อกำเนิดแห่งกรรมทั้งหลายมี 3 อย่างดังนี้, สามอย่าง คืออะไร? ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ"



"กรรมใดกระทำด้วยโลภะ...โทสะ...โมหะ เกิดจากโลภะ...โทสะ...โมหะ มีโลภะ...โทสะ...โมหะ เป็นต้นเหตุ เป็นตัวก่อกำเนิด กรรมนั้นเป็นอกุศล กรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์เป็นผล กรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป (กรรมสมุทัย) ไม่เป็นไปเพื่อดับกรรม (กรรมนิโรธ)"



"ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุเพื่อความก่อกำเนิดแห่งกรรมทั้งหลายมี 3 อย่างดังนี้, สามอย่างคืออะไร? ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ"



"กรรมใดกระทำด้วยอโลภะ...อโทสะ...อโมหะ เกิดจากอโลภะ...อโทสะ... อโมหะ มีอโลภะ...อโทสะ...อโมหะ เป็นต้นเหตุ เป็นตัวก่อกำเนิด กรรมนั้นเป็นกุศล กรรมนั้นไม่มีโทษ กรรมนั้นมีสุขเป็นผล กรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความดับกรรม (กรรมนิโรธ) ไม่เป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป (กรรมสมุทัย)..."



"ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูติเตียน ธรรมเหล่านี้ถือปฏิบัติถึงที่แล้ว จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงละเสีย"



"ดูกรกาลามชนทั้งหลาย พวกท่านสำคัญความข้อนั้นว่าอย่างไร? โลภะ...โทสะ...โมหะ เมื่อเกิดขึ้นภายในตัวของคน ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูล หรือเพื่อไม่เกื้อกูล"



(ตอบ : เพื่อไม่เกื้อกูล พระเจ้าข้า)



"คนที่โลภแล้ว...เคืองแค้นแล้ว...หลงแล้ว ถูกโลภะ...โทสะ...โมหะครอบงำ มีจิตอันถูกบ่อนแล้ว ย่อมสังหารชีวิตบ้าง ถือเอาของที่เขามิได้ให้บ้าง ล่วงภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นบ้าง ซึ่งเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน"



(ทูลรับ : จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า)



"ดูกรกาลามชนทั้งหลาย พวกท่านสำคัญความข้อนั้นว่าอย่างไร? ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล?"



(ตอบ : เป็นอกุศล พระเจ้าข้า)



"ประกอบด้วยโทษ หรือไม่มีโทษ?"



(ตอบ : ประกอบด้วยโทษ พระเจ้าข้า)



"ผู้รู้ติเตียน หรือผู้รู้สรรเสริญ?"



(ตอบ : ผู้รู้ติเตียน พระเจ้าข้า)



"ธรรมเหล่านี้ ถือปฏิบัติถึงที่แล้ว เป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ หรือหาไม่, หรือว่าพวกท่านมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร?"



(ตอบ: ถือปฏิบัติถึงที่แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์, พวกข้าพระองค์มีความเห็นในเรื่องนี้ว่าอย่างนี้)



"โดยนัยดังนี้แล กาลามชนทั้งหลาย ข้อที่เราได้กล่าวไว้ว่า: มาเถิด กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย อย่าถือโดยฟังตามกันมา ฯลฯ อย่าถือโดยนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา, เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ฯลฯ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงละเสีย ดังนี้นั้น เราได้กล่าวโดยอาศัยเหตุผลดังว่ามานี้"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น