วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556
เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (14) khaosod
เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (14)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
จ) ...หลักคำสอนเพื่อเป็นเกณฑ์วินิจฉัย
ก่อน จะพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับการให้ผลของกรรมดีและกรรมชั่วในหัวข้อถัดไป ขอนำข้อความจากบาลีต่อไปนี้ มาอ้างเป็นหลัก สำหรับความที่ได้กล่าวมาในตอนนี้
"ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน? ได้แก่ กุศลมูล 3 คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ, เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่ประกอบด้วยกุศลมูลนั้น, กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่มีกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน เหล่านี้คือธรรมเป็นกุศล"
"ธรรม เป็นอกุศล เป็นไฉน? ได้แก่ อกุศลมูล 3 คือ โลภะ โทสะ โมหะ และกิเลสทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับอกุศลมูลนั้น, เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่ประกอบด้วยอกุศลมูลนั้น, กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่มีอกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน เหล่านี้คือธรรมเป็นอกุศล"
"อันตรายมี 2 อย่าง คือ อันตรายที่เปิดเผย และอันตรายที่ ซ่อนอยู่"
"อันตราย ที่เปิดเผย เป็นไฉน? ได้แก่ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หมาป่า ฯลฯ โจร ฯลฯ โรคตา โรคหู โรคจมูก ฯลฯ หนาว ร้อน หิว กระหาย อุจจาระ ปัสสาวะ สัมผัสเหลือบยุง ลมแดด และสัตว์เสือกคลาน เหล่านี้เรียกว่าอันตรายที่เปิดเผย"
"อันตรายที่ซ่อนอยู่ เป็นไฉน? ได้แก่ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ (ลบล้าง ปิดซ่อนความดีของผู้อื่น) ความยกตัวกดเขาไว้ ความริษยา ความตระหนี่ มารยา ความโอ้อวด ความดื้อกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความมัวเมา ความประมาท ปวงกิเลส ปวงความทุจริต ปวงความกระวนกระวาย ปวงความร่านรน ปวงความเดือดร้อน ปวงความปรุงแต่งที่เป็นอกุศล เหล่านี้เรียกว่าอันตรายที่ซ่อนอยู่"
"ที่ ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่ากระไร จึงชื่อว่าอันตราย? เพราะอรรถว่าครอบงำ...เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อม...เพราะอรรถว่า เป็นที่อาศัย..."
"ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าครอบงำ เป็นอย่างไร? คือ อันตรายเหล่านั้น ย่อมข่ม ย่อมกดขี่ ครอบงำ ท่วมทับ บั่นรอน ย่ำยี บุคคลนั้น..."
"ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อม เป็นอย่างไร? คือ อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ฯลฯ"
"ที่ ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าเป็นที่อาศัย เป็นอย่างไร? คือ อกุศลธรรมชั่วร้ายเหล่านั้นเกิดขึ้นที่ภายในนั้น อาศัยอัตภาพอยู่ เหมือนกับสัตว์อาศัยรู ก็อยู่ในรู สัตว์อาศัยน้ำ ก็อยู่ในน้ำ สัตว์อาศัยป่า ก็อยู่ในป่า สัตว์อาศัยต้นไม้ ก็อยู่ที่ต้นไม้ ฯลฯ"
"สมดัง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า : ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังมีศิษย์อยู่ร่วมด้วย ยังมีอาจารย์คอยสอดส่อง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่ผาสุกสบาย"
"ภิกษุมีศิษย์อยู่ร่วมด้วย มีอาจารย์คอยสอดส่อง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่ผาสุกสบาย เป็นอย่างไร? กล่าวคือ พอจักษุเห็นรูป...พอโสตสดับเสียง...พอจมูกดมกลิ่น...พอลิ้นลิ้มรส..พอกาย ต้องสิ่งกระทบ..พอใจรู้ธรรมารมณ์ อกุศลธรรมชั่วร้าย ความดำริร่าน อันก่อกิเลสผูกรัดทั้งหลาย ก็เกิดขึ้นแก่ภิกษุ อกุศลธรรมชั่วร้ายทั้งหลายย่อมอยู่อาศัย เที่ยววิ่งซ่านไปข้างในของเธอ เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอจึงถูกเรียกว่า มีลูกศิษย์อยู่ร่วมด้วย; อกุศลธรรมชั่วร้ายเหล่านั้น ย่อมคอยเรียกเร้าเธอ เพราะเหตุดังนั้น เธอจึงถูกเรียกว่ามีอาจารย์คอยสอดส่อง..."
"สมดังที่พระผู้ มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า : ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 3 ประการเหล่านี้ เป็นมลทินภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นข้าศึกภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็นผู้จองล้างภายใน, สามประการนี้คืออะไร? ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ฯลฯ"
"โลภ ะ ก่อความเสียหาย โลภะทำใจให้กำเริบ คนไม่รู้เท่าทันว่ามันเป็นภัยที่เกิดขึ้นข้างใน โลภเข้าแล้วไม่รู้อรรถ โลภเข้าแล้วไม่เห็นธรรม พอความโลภเข้าครอบงำ เวลานั้นมีแต่ความมืดตื้อ; โทสะ ก่อความเสียหาย ฯลฯ โมหะ ก่อความเสียหาย ฯลฯ (เหมือนกัน)"
"สม ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า : ดูกรมหาบพิตร ธรรม 3 ประการ เกิดขึ้นภายในตัวของคน ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเป็นอยู่ไม่ผาสุก, สามประการคืออะไร? ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ฯลฯ"
"โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นข้างในตนเอง ย่อมบั่นรอนคนใจบาป เหมือนขุยไผ่บั่นรอนต้นไผ่ ฉะนั้น..."
"ดูกร มหาบพิตร ธรรม 3 ประการ เมื่อเกิดขึ้นแก่โลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเป็นอยู่ไม่ผาสุก, สามประการ คืออะไร? ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ฯลฯ"
"ภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูลมี 3 อย่างดังนี้, สามอย่าง คืออะไร? ได้แก่ อกุศลมูลคือโลภะ อกุศลมูลคือโทสะ อกุศลมูลคือโมหะ"
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น