เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (12)
คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
สังคม
เจริญแล้ว ที่คนทั้งหลายมีปัญญา
มักได้อาศัยประสบการณ์ซึ่งได้สะสมมาของมนุษย์รุ่นเก่าๆ
ได้เรียนรู้ว่าอะไรเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจของมนุษย์อย่างแท้จริง
อะไรไม่เกื้อกูล แล้วมักบัญญัติกฎเกณฑ์ข้อกำหนดเกี่ยวกับความดีความชั่ว
ฝ่ายสมมตินิยาม ให้สอดคล้องกับหลักฝ่ายกุศลและอกุศลใน ฝ่ายกรรมนิยาม
ความ
สามารถบัญญัติหลักความดีความชั่วในฝ่ายสังคม
ให้สอดคล้องกับหลักกุศลและอกุศลในฝ่ายกรรมนิยาม หรือพูดให้สั้นว่า
ความสามารถบัญญัติหลักฝ่ายสังคม ให้สอดคล้องกับหลักฝ่ายกรรมนิยามนี้
น่าจะเป็นเครื่องวัดถึงความเจริญที่แท้จริงหรืออารยธรรมของสังคมนั้นอย่าง
หนึ่ง
โดยนัยนี้
เมื่อมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยข้อบัญญัติเกี่ยวกับความดีและความชั่ว
น่าจะพิจารณาเป็น 2 ขั้น คือ พิจารณาในแง่สมมตินิยามว่า
ข้อบัญญัตินั้นเป็นไปเพื่อผลดี เช่น ช่วยให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคมหรือไม่
ชั้นหนึ่ง แล้วพิจารณาในแง่กรรมนิยามว่า ข้อบัญญัตินั้นเป็นกุศลหรือไม่
คือเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่ อีกชั้นหนึ่ง
ข้อบัญญัติบาง
อย่าง แม้สังคมจะยึดถือกันมานาน แต่แท้จริงแล้วไม่เกื้อกูลเลย
แม้ในแง่สมมตินิยาม ส่วนในแง่กรรมนิยามเป็นอันไม่ต้องพูดถึง
ข้อบัญญัติเช่นนั้น สังคมพึงตกลงกันยกเลิกเสีย
หรืออาจต้องอาศัยผู้มีปัญญาที่ใจบริสุทธิ์กอปรด้วยกรุณามาชักนำ
เช่นที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำต่อประเพณีเกี่ยวกับการบูชายัญและวรรณะ 4
ของสังคมอินเดีย เป็นต้น
ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่า
ข้อบัญญัตินั้นเกื้อกูลในแง่สังคม จะช่วยให้เกิดความเจริญแก่หมู่มนุษย์
แต่ไม่สอดคล้องกับหลักแห่งกุศลธรรมตามกรรมนิยาม
กรณีเช่นนี้ควรจะตั้งข้อสงสัยว่า
บางทีคนอาจหลงผิดมองเห็นสิ่งที่ไม่เกื้อกูลแก่สังคมอย่างแท้จริง
ว่าเป็นสิ่งเกื้อกูลก็ได้ คืออาจหลงพอใจในความเจริญก้าวหน้าที่ผิดๆ
เป็นที่ชื่นชมน่าพอใจในเวลาสั้นๆ แต่ก่อโทษในระยะยาว
สิ่งที่เกื้อกูลแท้จริงน่าจะสอดคล้องกัน ทั้งในแง่สมมตินิยาม
และในแง่กรรมนิยาม
มีหลักทั่วไปว่า สิ่งที่เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ
มักเกื้อกูลอย่างเป็นกลางๆ คือ เมื่อเกื้อกูลแก่ชีวิตหนึ่ง
ก็เกื้อกูลแก่ชีวิตทั้งหมด
เรื่องนี้พึงเห็นบทเรียนจากการสร้างความเจริญด้านกายภาพ
มนุษย์มุ่งหวังความเจริญรุ่งเรืองทางวัตถุ
เข้าใจว่าความมีวัตถุพรั่งพร้อมสะดวกบริบูรณ์จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดแก่
สังคมมนุษย์ จึงได้เพียรพยายามสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุมากมาย
พร้อมกับทำลายชีวิตและสภาพชีวิตต่างๆ ที่เห็นว่าขัดขวางความเจริญของตน
จน
ในที่สุดก็ได้ทราบว่า การกระทำของตนมีหลายส่วนที่ได้เป็นไปด้วยความหลงผิด
แม้สังคมจะดูคล้ายเจริญก็จริง
แต่ได้ก่อพิษภัยแก่ชีวิตด้านร่างกายเป็นอันมาก จนถึงกับว่า
ถ้าขืนก้าวหน้าในลักษณะเดิมต่อไป
อาจกลายเป็นการดำเนินสู่ความพินาศเสื่อมสูญก็ได้
พึงสร้างสรรค์ความ
เจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ชนิดที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ชีวิตด้านกาย ฉันใด
ก็พึงสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางสังคม
ชนิดที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ชีวิตด้านจิตปัญญา ฉันนั้น
ในการ
วินิจฉัยว่าอะไรเป็นความดี อะไรเป็นความชั่วนี้ เมื่อ พูดในทางปฏิบัติ
เพื่อให้คนทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ทุกระดับ พระ
พุทธเจ้าตรัสสอนให้ถือข้อพิจารณาเกี่ยวกับกุศลและอกุศลเป็นหลักแกนกลาง
จากนั้นทรงผ่อนขยายออกไป ให้ใช้สำนึกเกี่ยวกับความดีความชั่วของตนเอง
อย่างที่เรียกกันว่ามโนธรรม
และให้ถือมติของผู้รู้เป็นหลักประกอบหรืออ้างอิง
(สองอย่างนี้เป็นฐานของหิริโอตตัปปะ)
นอกจากนั้น ให้พิจารณาที่ผลของการกระทำอันจะเกิดแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น หรือแก่บุคคลและสังคม
การ
ที่ตรัสเช่นนี้ คงจะเป็นด้วยว่า
คนบางคนยังมีปัญญาไม่กว้างขวางลึกซึ้งเพียงพอ
อาจมองเห็นภาวะที่เป็นกุศลและอกุศลไม่ชัดเจน
จึงให้ถือเอามติของท่านผู้รู้เป็นหลักประกอบด้วย และถ้ายังไม่ชัดพอ
ก็มองดูง่ายๆ จากผลของการกระทำ แม้แต่ที่เป็นไปตามบัญญัติของสังคม
สำหรับคนทั่วไป การพิจารณาด้วยหลักทั้งสามนี้ ถือได้ว่า เป็นวิธีการตรวจสอบหลายๆ ชั้น เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างรอบคอบ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น