วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (17) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (17)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


"กรรมชั่ว ก็เหมือนน้ำนมรีดใหม่ๆ ย่อมไม่แปรเป็นผลในทันที, แต่กรรมชั่วย่อมตามเผาลนคนพาล เหมือนไฟที่เถ้าปิดไว้"



"บุคคลใดเคยทำกรรมชั่วไว้แล้ว (กลับตัวได้) หันมาทำดีปิดกั้น, บุคคลนั้นย่อมทำโลกให้แจ่มใส เหมือนดังดวงจันทร์ที่พ้นจากเมฆหมอก"



"ความดีที่ทำไว้เอง เป็นมิตรติดตามตัวสืบต่อไป"



"อานนท์! กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ที่เรากล่าวว่าไม่ควรทำโดยส่วนเดียวนี้ เมื่อ ผู้ใดกระทำ ก็พึงหวังโทษต่อไปนี้ได้ คือ ตนเองก็กล่าวโทษตนได้ วิญญูทั้งหลายใคร่ครวญแล้วย่อมติเตียน กิตติศัพท์อันชั่วร้ายย่อมขจรไป ตายก็หลงฟั่นเฟือน เมื่อกายแตกทำลายภายหลังมรณะ ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก..."



"อานนท์! กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ที่เรากล่าวว่าควรทำโดยส่วนเดียวนี้ เมื่อผู้ใดกระทำ ก็พึงหวังอานิสงส์ต่อไปนี้ได้ คือ ตนเองก็กล่าวโทษตนไม่ได้ วิญญูทั้งหลายใคร่ครวญแล้วย่อมสรรเสริญ กิตติศัพท์ดีงามย่อมขจรไป ตายก็ไม่หลงฟั่นเฟือน เมื่อกายแตกทำลายภายหลังมรณะ ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์..."



"ภิกษุทั้งหลาย จงละอกุศลเสียเถิด อกุศลเป็นสิ่งที่อาจละได้ หากอกุศลเป็นสิ่งที่ไม่อาจละได้แล้วไซร้ เราคงไม่กล่าวอย่างนั้น...แต่เพราะอกุศลเป็นสิ่งที่อาจละได้ เราจึงกล่าวอย่างนั้น... อนึ่ง หากอกุศลนี้ คนละเสียแล้ว จะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แล้วไซร้ เราคงไม่กล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย จงละอกุศลเสียเถิด แต่เพราะอกุศลนี้คนละได้แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย จงละอกุศลเสียเถิด"



"ภิกษุทั้งหลาย จงฝึกอบรมเจริญกุศลเถิด กุศลเป็นสิ่งที่อาจฝึกอบรมได้ หากกุศลเป็นสิ่งที่ไม่อาจฝึกอบรมได้แล้วไซร้ เราคงไม่กล่าวอย่างนั้น...แต่เพราะกุศลเป็นสิ่งที่อาจฝึกอบรมได้ เราจึงกล่าวอย่างนั้น...อนึ่ง หากกุศล คนฝึกอบรมแล้ว จะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แล้วไซร้ เราคงไม่กล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย จงฝึกอบรมเจริญกุศลเถิด แต่เพราะกุศลนี้ คนฝึกอบรมแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย จงฝึกอบรมเจริญกุศลเถิด"



"ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่พึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา ก็มี ธรรมที่พึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกาย ก็มี ธรรมที่พึงละมิใช่ด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา ต้องเห็นชัดด้วยปัญญาจึงละได้ ก็มี"



"ธรรมที่พึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา เป็นไฉน? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงความละเมิดอันเป็นอกุศลบางส่วนด้วยกาย เพื่อนพรหมจารีผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว กล่าว กะเธออย่างนี้ว่า : ท่านผู้มีอายุถึงความละเมิด อันเป็นอกุศลบางส่วนด้วยกาย จะเป็นการ ดีแท้ที่ท่านผู้มีอายุได้โปรดละกายทุจริต จงบำเพ็ญกายสุจริตเถิด, เธอถูกเพื่อนพรหมจารีผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้วว่ากล่าวอยู่ จึงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต นี้เรียกว่า ธรรมที่พึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา"



"ธรรมที่พึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกาย เป็นไฉน? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงความละเมิดอันเป็นอกุศลบางส่วนด้วยวาจา เพื่อนพรหมจารีผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว กล่าว กะเธออย่างนี้ว่า : ท่านผู้มีอายุถึงความละเมิดอันเป็นอกุศลบางส่วนด้วยวาจา จะเป็นการดีแท้ ที่ท่านผู้มีอายุได้โปรดละวจีทุจริต จงบำเพ็ญวจีสุจริตเถิด เธอถูกเพื่อนพรหมจารีผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้วว่ากล่าวอยู่ จึงละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต นี้เรียกว่า ธรรมที่พึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกาย"



"ธรรมที่พึงละ มิใช่ด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา ต้องเห็นชัดด้วยปัญญาจึงละได้ เป็นไฉน? คือ โลภะ...โทสะ...โมหะ...ความโกรธ...ความผูกโกรธ...ความลบหลู่...ความยกตัวกด เขาไว้...ความตระหนี่ พึงละมิใช่ด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา ต้องเห็นชัดด้วยปัญญาจึง ละได้..."

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น