วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การให้ผลของกรรม (5) khaosod

การให้ผลของกรรม (5)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


เมื่อยังต้องการโลกธรรมฝ่ายดี คือที่ชื่นชอบ เป็นอิฏฐารมณ์ ก็กำหนดสมบัติวิบัติ ที่เป็นกำลัง หรือเป็นจุดอ่อนของตน และจัดสรรเลือกองค์ประกอบฝ่ายสมบัติที่จัดเลือกได้ หลีกเว้นวิบัติเสีย แล้วพยายามเข้าถึงผลดีที่มุ่งหมายด้วยกรรมที่เป็นกุศล ซึ่งมีผลมั่นคงและลึกซึ้งถึงชีวิตทุกระดับของตน ไม่สร้างผลด้วยอกุศลกรรม และไม่ถือโอกาสยามสมบัติอำนวยไปประกอบการอกุศล เพราะสมบัติและวิบัติสี่ประการนั้นเป็นของไม่แน่นอน



เมื่อกาลโอกาสที่เอื้ออำนวยผ่านไป กรรมร้ายก็แสดงผล พึงถือโอกาสยามสมบัติช่วยเร่งประกอบกุศลกรรมเท่านั้น คือถือเอาแต่ส่วนที่ดีงามไร้โทษของหลักการที่กล่าวมานี้



โดยนัยนี้ ก็สรุปได้ว่า ถ้าจะทำการใด ในเมื่อมีองค์ประกอบของนิยามหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างน้อยก็พึงทำองค์ประกอบฝ่ายกรรมนิยามให้ดี เป็นส่วนที่ยึดเอาไว้ได้อย่างแน่นอนมั่นใจแล้วอย่างหนึ่งก่อน ส่วนองค์ประกอบฝ่ายนิยามอย่างอื่นก็พึงใช้ปัญญาศึกษาพิจารณาเอามาใช้เสริม เท่าที่ไม่เป็นโทษในแง่ของกรรมนิยามต่อไป หากปฏิบัติได้เช่นนี้ก็เรียกว่า เป็นผู้รู้จักถือเอาประโยชน์จากกุศลกรรมและสมบัติวิบัติทั้งสี่ หรือรู้จักใช้ทั้งกรรมนิยามและสมมตินิยามในทางที่เป็นคุณ



สำหรับบางคนอาจต้องเตือนว่า อย่ามัวคิดวุ่นอยู่เลยว่า ทำไมคนนั้นไม่ทำดี แต่กลับได้ดี ทำไมคนนี้ทำไม่ดี แต่ไม่เห็นเป็นอะไร ทำไมเราทำอย่างนี้ไม่เห็นได้อะไร ดังนี้เป็นต้น ปัจจัยหรือองค์ประกอบของนิยามทั้งหลาย เราอาจยังตรวจดูรู้ไม่ทั่วถึง และพึงคิดว่า ตัวเรานี้ ปัญญาที่จะรู้จักเลือกถือเอาประโยชน์จากนิยามอื่นๆ ก็ไม่มี หนำซ้ำองค์ประกอบฝ่ายกรรมนิยามที่เป็นฐานยืนพื้นแน่นอนอยู่นี้ก็ยังไม่ใส่ใจที่จะทำให้ดีเสียอีก ถ้าขืนเป็นอย่างนี้ก็คงมีแต่จะต้องทรุดหนักลงไปทุกที



อย่างไรก็ตาม เมื่อมองให้เข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ผู้ประกอบกรรมดีย่อมไม่ติดอยู่เพียงขั้นที่ยังมุ่งหวังผลอันเป็นโลกธรรม (ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ) ตอบสนองแก่ตน เพราะกุศลกรรมที่แท้จริง เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เขาจึงทำกรรมด้วยจาคะ สละอกุศลในใจ และเผื่อแผ่เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ทำกรรมด้วยเมตตากรุณา ช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์ และสนับสนุนความอยู่ร่วมกันโดยสุขสงบมีไมตรี ทำกรรมด้วยปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เพื่อโพธิ เพื่อให้ธรรมแพร่หลายครองใจคนและครองสังคม ซึ่งจัดเข้าได้ว่า เป็นกรรมขั้นสูงสุด คือกรรมที่เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ตามหลักที่ยกมาอ้างแล้วข้างต้น



ค) ผลกรรมในช่วงกว้างไกล



เนื้อความในหัวข้อที่กำลังจะกล่าวนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาการให้ผลของกรรม ในระดับวิถีชีวิตของบุคคล ที่รวมอยู่แล้วในหัวข้อใหญ่ แต่ที่แยกออกมาตั้งเป็นหัวข้อโดยเฉพาะในที่นี้ก็เพราะการให้ผลของกรรมชั่วอย่างไกลแบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นปัญหาที่มีผู้เอาใจใส่กันมากเป็นพิเศษ แม้ว่าในที่นี้จะไม่มุ่งอธิบายเรื่องนี้ และถือว่าได้แสดงหลักรวมไว้ในหัวข้อใหญ่แล้ว แต่ก็เห็นว่าควรจะได้กล่าวถึงข้อสังเกตบางอย่างไว้เป็นแนวทางสำหรับศึกษาพิจารณา



เมื่อเจตนาที่ประกอบด้วยกุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นในใจ ก็เป็นอันว่ากิจกรรมของจิตได้เริ่มต้นแล้ว จิตได้มีการเคลื่อนไหวหรือไหวตัวแล้ว เราอาจเลียนศัพท์ฝ่ายวัตถุมาใช้ และเรียกอาการนี้ว่าพลังแห่งเจตจำนง ได้เกิดขึ้นแล้ว พลังนี้เป็นไปอย่างไร มีกระบวนการทำงานในระหว่างอย่างไร โดยอาศัยปัจจัยอื่นๆ อะไรอีกบ้าง เรามักไม่สู้เข้าใจ และไม่ใส่ใจที่จะรู้ แต่มักสนใจเฉพาะผลข้างปลายที่ปรากฏสำเร็จรูปออกมาแล้ว



โดยเฉพาะพลังแห่งเจตจำนง ที่แสดงผลออกไปในโลกแห่งวัตถุและในสังคมมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัดและพูดถึงได้ง่าย ผลสำเร็จแห่งพลังเจตจำนงในโลกฝ่ายวัตถุมีตัวอย่างมากมาย โดยเฉพาะสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลาย ตั้งแต่รองเท้าไปจนถึงยานอวกาศสู่ดวงดาวต่างๆ ตั้งแต่ขวานหินจนถึงระเบิดนิวเคลียร์ ตั้งแต่ไม้นับคะแนนจนถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น หรือในทางสังคม เช่น ระบบ ระบอบ และสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครองแบบต่างๆ ก็ตาม ระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ ก็ตาม สถาบันต่างๆ ของสังคมก็ตาม การจัดระเบียบกลไกการบริหารการปกครองรัฐ การจัดรูปองค์กรและระบบงานต่างๆ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น