วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การให้ผลของกรรม (3) khaosod

การให้ผลของกรรม (3)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


พึงสังเกตว่า ความท่อนแรกที่เป็นอุปมานั้น ท่านนำเอาพีชนิยามมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพียงแต่พิจารณาข้ออุปมานี้ให้ดีก็จะแยกความสับสนระหว่างกรรมนิยามกับสมมตินิยามได้ทันที กล่าวคือ ข้อความว่า หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น แสดงกฎธรรมชาติฝ่ายพืชพันธุ์ ว่าปลูกมะขามได้มะขาม ปลูกองุ่นได้องุ่น ปลูกผักกาดได้ผักกาด เป็นต้น ไม่ได้แสดงผลในทางสมมตินิยามแต่ประการใด ว่าปลูกมะขามแล้วจะได้เงิน หรือปลูกผักแล้วจะรวย เป็นต้น ซึ่งเป็นคนละขั้นตอนกัน



พีชนิยามกับสมมตินิยามจะมาสัมพันธ์กัน ก็ในตอนที่ว่าปลูกองุ่นได้องุ่นแล้ว พอดีถึงคราวที่ตลาดต้องการองุ่นมาก จึงขายได้ราคาดี และปีนั้นจึงรวย แต่อีกคราวปลูกแตงโม ได้แตงโม และงอกงามได้ผลมากด้วย



แต่ปีนั้นคนปลูกแตงโมกันมาก ผลดกทั่วไปจนมีเกินความต้องการของตลาด ทำให้ราคาตก ปีนั้นขายขาดทุน ต้องทิ้งเปล่าเสียมากมาย นอกจากปัจจัยด้านความต้องการของตลาดแล้ว อาจมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีก เช่น เรื่องคนกลาง การกดราคา เป็นต้น แต่สาระสำคัญก็คือ จะเห็นความแน่นอนของพีชนิยามคงตัว และเห็นขอบเขตของพีชนิยามกับสมมตินิยาม ทั้งที่แยกต่างหากจากกันและสัมพันธ์กันได้อย่างชัดเจน



อุปมาข้างต้นนี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น คนมักมองกรรมนิยามกับสมมตินิยามสับสนกัน โดยพูดว่า ทำดีได้ดี ในความหมายว่า ทำดีแล้วรวย ทำความดีแล้วได้เลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่บางทีก็ไม่เป็น เหมือนกับพูดว่าปลูกมะม่วงได้เงินดี ปลูกมะพร้าวทำให้รวย เขาปลูกน้อยหน่าจึงยากจน ซึ่งอาจจะจริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้ แต่ความจริงก็คือ เป็นการพูดข้ามขั้นตอน ไม่แสดงความจริงตลอดสาย อาจใช้ได้สำหรับภาษาพูดพอรู้กัน แต่ถ้าจะเอาความจริงแท้ต้องแสดงเหตุปัจจัยซอยออกไป โดยว่ากันเป็นลำดับให้ละเอียด



ข) องค์ประกอบที่ส่งเสริมและขัดขวางการให้ผลของกรรม



การที่กรรมนิยามจะแสดงผลออกมาในระดับของวิถีชีวิต ทำให้มีความเป็นไปต่างๆ ประสบผลตอบสนองจากภายนอก อันน่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้างนั้น ในบาลีท่านแสดงหลักไว้ว่า ต้องขึ้นต่อองค์ประกอบต่างๆ 4 คู่ คือ สมบัติ 4 และวิบัติ 4



"สมบัติ" แปลง่ายๆ ว่า ข้อดี หมายถึงความเพียบพร้อมสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งช่วยเสริมส่งอำนวยโอกาสให้กรรมดีปรากฏผล และไม่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล พูดสั้นๆ ว่า องค์ประกอบอำนวยช่วยเสริมกรรมดี สมบัติมี 4 อย่าง คือ



1.คติสมบัติ สมบัติแห่งคติ ถึงพร้อมด้วยคติ หรือคติให้ คือ เกิดอยู่ในภพ ภูมิ ถิ่น ประเทศที่เจริญ เหมาะ หรือเกื้อกูล ตลอดจนในระยะสั้นคือ ทางดำเนินชีวิตเอื้อ หรือไปในถิ่นที่อำนวย



2.อุปธิสมบัติ สมบัติแห่งร่างกาย ถึงพร้อมด้วยร่างกาย ร่างกายดี หรือรูปร่างให้ เช่น มีรูปร่างสวย ร่างกายสง่างาม หน้าตาท่าทางดี น่ารัก น่านิยมเลื่อมใส สุขภาพดี แข็งแรง



3.กาลสมบัติ สมบัติแห่งกาล ถึงพร้อมด้วยกาล หรือกาลให้ คือ เกิดอยู่ในสมัยที่บ้านเมืองสงบสุข ผู้ปกครองดี ผู้คนมีศีลธรรม ยกย่องคนดี ไม่ส่งเสริมคนชั่ว ตลอดจนในระยะสั้น คือทำอะไรถูกกาลเวลา ถูกจังหวะ



4.ปโยคสมบัติ สมบัติแห่งการประกอบ ถึงพร้อมด้วยการประกอบกิจ หรือกิจการให้ เช่น ทำเรื่องตรงกับที่เขาต้องการ ทำกิจตรงกับความถนัดความสามารถของตน ทำการถึงขนาดถูกหลักครบถ้วนตามเกณฑ์หรือเต็มอัตรา ไม่ใช่ทำครึ่งๆ กลางๆ หรือเหยาะแหยะ หรือไม่ถูกเรื่องกัน รู้จักจัดทำ รู้จักดำเนินการ



ส่วน "วิบัติ" แปลง่ายๆ ว่าข้อเสีย หรือจุดอ่อน หมายถึงความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งไม่อำนวยแก่การที่กรรมดีจะปรากฏผล แต่กลับเปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล พูดสั้นๆ ว่า องค์ประกอบบกพร่อง เปิดช่องให้กรรมชั่ว วิบัติ มี 4 อย่าง คือ



1.คติวิบัติ วิบัติแห่งคติ หรือคติเสีย คือ เกิดอยู่ในภพ ภูมิ ถิ่น ประเทศ สภาพแวดล้อมที่ไม่เจริญ ไม่เหมาะ ไม่เกื้อกูล ทางดำเนินชีวิตไม่เอื้อ ถิ่นที่ไปไม่อำนวย



2.อุปธิวิบัติ วิบัติแห่งร่างกาย หรือรูปกายเสีย เช่น ร่างกายพิกลพิการ อ่อนแอ ไม่สวยงาม กิริยาท่าทางน่าเกลียด ไม่ชวนชม ตลอดจนสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย มีโรคมาก



3.กาลวิบัติ วิบัติแห่งกาล หรือกาลเสีย คือ เกิดอยู่ในยุคสมัยที่บ้านเมืองมีภัยพิบัติ ไม่สงบเรียบร้อย ผู้ปกครองไม่ดี สังคมเสื่อมจากศีลธรรม มากด้วยการเบียดเบียน ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดี ตลอดจนทำอะไรไม่ถูกกาลเวลา ไม่ถูกจังหวะ



4.ปโยควิบัติ วิบัติแห่งการประกอบ หรือกิจการเสีย เช่น ฝักใฝ่ในกิจการหรือเรื่องราวที่ผิด ทำการไม่ตรงความถนัด ความสามารถ ใช้ความเพียรในเรื่องไม่ถูกต้อง ทำการครึ่งๆ กลางๆ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น