วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (8) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (8)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ขอย้ำอีกครั้งว่า ความดีความชั่วที่เป็นบัญญัติของสังคม ก็เป็นเรื่องของสังคม อยู่ในขอบเขตของสมมตินิยาม กุศลอกุศลที่เป็นคุณสมบัติของกรรม ก็เป็นเรื่องของกรรม อยู่ในกรรมนิยาม เป็นเรื่องต่างหากกัน แต่สัมพันธ์กัน สิ่งที่เป็นทั้งตัวการสร้างสัมพันธ์ และเป็นทั้งจุดตัดแยกระหว่างกันของนิยามทั้งสองนี้



ก็เช่นเดียวกับในกรณีระหว่างกรรมนิยามกับจิตนิยาม คือได้แก่ เจตนา หรือเจตจำนง นั่นเอง เรื่องนี้เป็นอย่างไร ขอให้ช่วยกันพิจารณาต่อไป



สิ่งที่สังคมบัญญัติ เมื่อมองจากแง่ของกรรมนิยาม อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ



1) สิ่งที่บัญญัตินั้น ไม่เกี่ยวกับกุศลและอกุศลในกรรมนิยามโดยตรง แต่สังคมบัญญัติขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งของสังคมเอง เช่น เพื่อให้คนทั้งหลายในสังคมนั้นอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสงบสุข เป็นทำนองข้อตกลงหรือพันธสัญญาระหว่างกัน ในกรณีเช่นนี้ สิ่งที่บัญญัตินั้นอาจเป็นเครื่องช่วยให้สังคมอยู่ดีมีความสงบสุขได้จริง หรืออาจไม่จริงก็ได้ อาจเป็นประโยชน์แก่สังคมจริง หรืออาจเป็นโทษก็ได้



ทั้งนี้แล้วแต่ว่า จะได้บัญญัติกันขึ้นมาด้วยความรู้ความเข้าใจกว้างขวางรอบคอบเพียงพอหรือไม่ หรือว่าคนที่ทำหน้าที่บัญญัติมีความสุจริตใจหรือไม่ เป็นต้น บัญญัติเช่นนี้มีมาในรูปต่างๆ อาจเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนกฎหมาย



ในกรณีอย่างนี้ ดีหรือชั่ว เป็นเรื่องของสมมตินิยาม อาจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาและแตกต่างกันไปนานัปการ แต่จะเปลี่ยนจะต่างไปอย่างไร ก็ไม่ใช่เรื่องของกรรมนิยาม ต้องแยกไว้ต่างหาก ไม่ควรเอามาปนเปสับสน และเมื่อคนใดฝ่าฝืนละเมิดบัญญัตินั้น สังคมจะลงโทษอย่างไร ก็เป็นเรื่องของสมมตินิยาม ไม่ใช่เรื่องของกรรมนิยาม ให้แยกออกไปอย่างนี้เสียชั้นหนึ่งก่อน



ต่อจากนี้ จึงพิจารณาในขั้นที่บัญญัติของสมมตินิยามนั้นก้าวเข้ามาเกี่ยวข้องกับขอบเขตของกรรมนิยาม กล่าวคือ เมื่อคนในสังคมยอมรับบัญญัตินั้นกันแล้ว ไม่ว่าบัญญัตินั้นจะเป็นอย่างไร จะดีงามหรือเป็นประโยชน์แท้จริงหรือไม่ก็ตาม ในเวลาที่คนผู้ใดผู้หนึ่งในสังคมนั้นจะไม่ปฏิบัติตาม จะฝ่าฝืน หรือละเมิดบัญญัตินั้น เขาจะเกิดมีเจตนาที่จะฝ่าฝืน ละเมิด หรือไม่ปฏิบัติตามขึ้นมาทันที และเขาก็จะตระหนักรู้ต่อเจตนาของเขานั้นอย่างไม่อาจปิดบังหรือหลอกตนเองได้



เจตนานี้แหละ คือจุดตั้งต้นของกรรมนิยาม และเป็นเรื่องของกรรมนิยาม สังคมหลายแห่งอาจพยายามสืบเอาเจตนานี้ไปประกอบการพิจารณาในการตัดสินลงโทษด้วย ว่าเขาผู้นั้นทำการละเมิดด้วยเจตนาหรือไม่ แต่นั่นก็เป็นเรื่องของสมมตินิยาม แสดงว่าสังคมนั้นฉลาด รู้จักถือเอาประโยชน์จากกรรมนิยามไปใช้ในทางสังคม ไม่ใช่เรื่องของกรรมนิยาม



ส่วนในเรื่องของกรรมนิยามเองนั้น ไม่ว่าสังคมจะสืบสวนเอาเจตนานั้นไปใช้หรือไม่ หรือจะได้ล่วงรู้ว่าได้มีการละเมิดเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม กรรมนิยามก็ได้เริ่มทำงานของมันตั้งแต่ขณะที่บุคคลนั้นเกิดมีเจตนาและใช้เจตนาทำการล่วงละเมิดเป็นต้นไป กล่าวคือกระบวนการก่อวิบากได้เริ่มดำเนิน และบุคคลนั้นเริ่มได้รับผลของกรรมตั้งแต่บัดนั้นไป



จะเห็นได้ว่า ในความเป็นไปเช่นนี้ ข้อที่บัญญัติของสังคมว่าดีหรือชั่วนั้นจะจริงหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาในแง่ของสมมตินิยามไป ไม่เกี่ยวข้องกับกรรมนิยามโดยตรง (จะโยงมาเข้ากับกรรมนิยามในขั้นของการพิจารณาเจตนาและปัญญาของผู้ทำบัญญัติ) แต่ในการรักษาและปฏิบัติตามบัญญัติ กรรมนิยามเกี่ยวข้องเพียงการรับรู้และใจยอมรับอย่างใดอย่างหนึ่งต่อข้อกำหนดตามที่สังคมบัญญัติไว้ และดำเนินจากจุดเริ่มที่จิตมีกิจกรรมต่อข้อกำหนดนั้น คือเริ่มจากเกิดเจตนาเป็นต้นไป



เมื่อจัดเข้าในระบบชีวิตทางธรรม ทั้ง หมดนี้เป็นเรื่องในขั้นศีล และนี้เป็นจุดที่ กฎเกณฑ์ของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวพันกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ซึ่งจะต้องแยกขอบ เขตกันให้ดี



ข้อที่ว่าบัญญัติว่าดีหรือชั่วของสังคมจะเป็นของแท้จริงหรือไม่ เป็นเรื่องของสมมตินิยาม ไม่เกี่ยวข้องกับกรรมนิยามโดยตรงนั้น หมายความว่า ยังมีแง่ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อมได้ เช่น สังคมถือข้อปฏิบัติกันมาอย่างหนึ่งว่าเป็นสิ่งดีงามถูกต้อง ทุกคนต้องปฏิบัติ ต่อมาเกิดผู้มีปัญญาคนหนึ่งมองเห็นว่า ข้อปฏิบัตินั้นไม่ดีจริง ไม่เป็นประโยชน์ หรือถึงกับเป็นผลร้ายแก่สังคมนั้น บุคคลผู้นั้นอาจเพียรพยายามชี้แจงให้ชนทั้งหลายผู้ร่วมสังคมเข้าใจตาม พยายามแก้ไขข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้นั้น



และอาจถึงกับไม่ยอมทำตามข้อปฏิบัตินั้นเสียทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น