พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ต่อไปนี้ เป็นคำสนทนา ระหว่างพระเจ้าปเสนทิโกศล กับพระอานนท์ ถามตอบปัญหาเกี่ยวกับความหมายของ ความดี ความชั่ว ซึ่งจะเห็นว่า ท่านเอาหลักเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้นเข้าสัมพันธ์กันทั้งหมด
ราชา : พระคุณเจ้าผู้เจริญ ชนเหล่าใด เป็นพาล ไม่ฉลาด ไม่ใคร่ครวญ ไม่พิจารณาแล้ว กล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่าอื่น เราไม่ยึดถือการกล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่านั้นโดยความเป็นแก่นสาร, ส่วนชนเหล่าใด เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา ใคร่ครวญ พิจารณาแล้ว กล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่าอื่น เราย่อมยึดถือการกล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่านั้นโดยความเป็นแก่นสาร
พระคุณเจ้าอานนท์ผู้เจริญ ความประพฤติทางกาย..ความประพฤติทางวาจา..ความประพฤติทางใจที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู จะพึงกล่าวโทษได้ คืออย่างไหน?
อานนท์ : คือ ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่เป็นอกุศล มหาบพิตร
ราชา : ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่เป็นอกุศล คืออย่างไหน?
อานนท์ : คือ ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีโทษ
ราชา : ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีโทษ คืออย่างไหน?
อานนท์ : คือ ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีความบีบคั้น
ราชา : ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีความบีบคั้น คืออย่างไหน?
อานนท์ : คือ ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีทุกข์เป็นผล
ราชา : ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีทุกข์เป็นผล คืออย่างไหน?
อานนท์ : คือ ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ก็ดี เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ก็ดี เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ก็ดี ที่อกุศลธรรมทั้งหลายจะเจริญยิ่งแก่เขา กุศลธรรมทั้งหลายจะเสื่อมถอยไป, มหาบพิตร ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ อย่างนี้แล ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู จะพึงกล่าวโทษได้"
ต่อจากนั้น ท่านได้ทูลตอบคำถามในฝ่ายกุศลโดยทำนองเดียวกัน ลงท้ายสรุปว่า
"ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีสุขเป็นผล คือ ความประพฤติ...ที่ไม่เป็นไปทั้งเพื่อเบียดเบียนตน ทั้งเพื่อเบียดเบียน ผู้อื่น ทั้งเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ที่อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมถอย และกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งแก่เขา, มหาบพิตร ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ อย่างนี้แล ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู ไม่พึงกล่าวโทษได้"
"คนอยากได้ติดใคร่แล้ว...แค้นเคืองแล้ว...ลุ่มหลงแล้ว...ถูกราคะ...โทสะ...โมหะ ครอบงำแล้ว มีจิตอันถูกบ่อนแล้ว ย่อมคิดการเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง ย่อมคิดการเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ย่อมคิดการเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง ย่อมเสวยโทมนัสเป็นทุกข์ทางจิตใจบ้าง, ครั้นละราคะ...โทสะ...โมหะเสียได้แล้ว เขาย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนตน ไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องเสวยโทมนัสเป็นทุกข์ทางใจ"
"คนอยากได้ติดใคร่แล้ว...แค้นเคืองแล้ว...ลุ่มหลงแล้ว...ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ, ครั้นละราคะ..โทสะ..โมหะเสียได้แล้ว เขาย่อมไม่ประพฤติทุจริตทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ"
"คนอยากได้ติดใคร่แล้ว...แค้นเคืองแล้ว...ลุ่มหลงแล้ว...มีจิตถูกบ่อนแล้ว...ย่อมไม่รู้ตามเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ตน...แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น...แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย, ครั้นละราคะ...โทสะ...โมหะเสียได้แล้ว เขาย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ตน...แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น...แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ฯลฯ"
"บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนใจภายหลัง มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้ เสวยผล กรรมที่ทำนั้นไม่ดี, บุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีจิตเอิบอิ่มดีใจ เสวยผล กรรมที่ทำนั้น แลดี"
"คนทำกรรมใดไว้ ย่อมเห็นกรรมนั้นในตนเอง"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น