คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com
บุญ คือ ความดี หมายถึง การกระทำทางกาย วาจา ใจ เป็นไปเพื่อความเป็นประโยชน์เกื้อกูล ก่อให้เกิดความสุขความเจริญแก่ตนและบุคคลอื่น
การทำความดี ควรเป็นผู้ไม่ประมาท รีบขวนขวายประพฤติปฏิบัติตน กระทำตนให้เหมาะแก่วัยทั้งสาม คือ
1.ในวัยเริ่มต้นชีวิต ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนวิทยาการต่างๆ ให้มีความรู้เต็มความสามารถ ไม่เกียจคร้านหรือประมาท ไม่เหินห่างจากการศึกษาเล่าเรียน พากเพียรไม่หยุดยั้ง
2.ในวัยท่ามกลางแห่งชีวิต เมื่อมีความรู้ความสามารถดีแล้ว คิดประกอบการงานสัมมาอาชีพ ให้เป็นที่พึ่งของตนและบุคคลอื่นได้ มีวิริยอุตสาหะอดทน งานที่สุจริตไม่ผิดธรรม แม้จะเหน็ดเหนื่อยก็ยินดี
3.ในวัยบั้นปลายชีวิต เมื่อมีฐานะมั่นคงแล้ว ตั้งจิตคิดแสวงหาความสงบใจ สิ่งใดเป็นเหตุแห่งความทุกข์ความเดือดร้อน บั่นทอนความสุขกายสบายใจ พยายามละเว้นให้ห่างไกล
เมื่อประคับประคองตนให้ได้ดังกล่าวมานี้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้รักตน ประคับประคองตนให้เป็นไปด้วยดีตลอดวัยทั้งสาม เป็นผู้ประพฤติตามพระพุทธโอวาทที่ตรัสไว้ว่า หากบัณฑิตพึงรู้ว่าตนเป็นที่รัก พึงประคับประคองตนไว้ให้ดีตลอดวัยทั้งสาม
การบุญเพื่อให้ได้บุญนั้น ในทางพระพุทธศาสนามีวิธีทำบุญ 3 ประการ คือ บำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา
ทาน เป็นเหตุปัจจัยให้สังคมของมนุษย์ดำเนินไปด้วยความสวัสดี เพราะคนเราเกิดมาจะอยู่ได้ด้วยทาน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน จึงเป็นแนวทางให้เกิดความสามัคคีได้เป็นอย่างดี สมกับธรรมภาษิตว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก คนหมู่มากย่อมคบหาสมาคมผู้ให้นั้น เมื่อมนุษย์มีจิตใจดีที่จะให้แก่กันดังกล่าวมา สังคมของมนุษย์ก็จะเป็นไปโดยความสวัสดี
ศีล หมายถึง ความประพฤติตามปกติของคนหรืออย่างที่คนปกติเขาประพฤติกัน คือ ไม่ประทุษร้ายกันทางกาย ไม่ลักขโมยทรัพย์ ไม่ล่วงละเมิดสิทธิในคู่ครองของคนอื่น ไม่พูดเท็จหลอกลวง และไม่เสพของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ภาวนา แปลว่า ความอบรมปัญญาให้บังเกิดมีในตน ได้แก่ การพยายามทำปัญญาความรอบรู้ในสังขารทั้งปวงให้เกิดขึ้นในตน ซึ่งภาวนาถือได้ว่าเป็นวิธีการที่จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้น เมื่อทำได้แล้วจิตใจก็จะเป็นสมาธิ สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตใจตั้งมั่น เป็นสมาธิแล้ว ย่อมเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง
การทำความดีที่กล่าวมาข้างต้นเป็นกิจที่บัณฑิตผู้ไม่ประมาทควรรีบขวนขวายกระทำ และในขณะที่กำลังทำความดีอยู่พึงห้ามจิตไม่ให้คิดทำความชั่วทางกาย วาจา และใจ เพราะตามปกติของจิตใจย่อมแสวงหาแต่อารมณ์ใฝ่ต่ำเสมอ เปรียบเหมือนปลาที่ถูกจับโยนขึ้นบนบก ย่อมดิ้นรนกระเสือกกระสนลงสู่น้ำฉะนั้น
ถ้าทำความดีช้าไป จิตใจย่อมยินดีในความชั่ว ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากความชั่ว เพราะว่าเมื่อบุคคลทำความดีช้าไป จิตใจย่อมยินดีในความชั่ว
แต่ถ้ารีบทำแต่ความดีแล้ว จิตใจก็ย่อมน้อมไปในความดียิ่งๆ ขึ้นไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น