วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ข้อไม่ควรประพฤติ khaosod

ข้อที่ไม่ควรประพฤติ

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร/ www.watdevaraj.com


ผู้หวังความเจริญ ควรประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปในทางที่ชอบ มีปัญญาพิจารณาว่า อะไรเป็นทางเสื่อมก็พึงละเว้น มุ่งหาแต่ทางที่เจริญ ทางที่ชอบประกอบด้วยประโยชน์ มีสติสัมปชัญญะ ตรวจตราให้รอบคอบประกอบด้วยเหตุผล ทำความเห็นให้เที่ยงตรง ทำความประพฤติปฏิบัติให้เป็นเครื่องนำประโยชน์มาให้แก่ตนและผู้อื่น ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใดกล่าวล่วงเกินว่า เป็นผู้บกพร่องในความประพฤติ



พระพุทธเจ้าทรงแสดงข้อที่ไม่ควรประพฤติ 2 ประการ คือ



ประการที่ 1 ไม่พึงเสพธรรมอันเลว ธรรมที่เลวในปัจจุบันนี้มีมากมาย เช่น ทุจริต 3 ประการ คือ ประพฤติชั่วทางกาย ประพฤติชั่วทางวาจา และประพฤติชั่วทางใจ



ประพฤติชั่วทางกาย แบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ เบียดเบียนชีวิตและความสุขของผู้อื่น เบียด เบียนเอาทรัพย์สมบัติ เบียดเบียนเชื้อสาย สกุลวงศ์



ประพฤติชั่วทางวาจา แบ่งออกเป็น 4 ประการ คือ กล่าวเท็จหักราญประโยชน์ผู้อื่น พูดทำลายความสามัคคี กล่าวคำเสียดสีให้ช้ำใจ กล่าวคำเหลวไหลไม่เป็นประโยชน์



ประพฤติชั่วทางใจ แบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ อยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ผูกใจเจ็บอาฆาตพยาบาทจองล้างจองผลาญ เห็นทางที่ผิดคิดว่าชอบว่าถูกต้อง



ประการที่ 2 ธรรมของคนพาล จัดว่าเป็นธรรมที่เลว เพราะเป็นธรรมของคนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่ประกอบด้วยปัญญาวิจารณญาณที่หยั่งรู้ถึงความผิดชอบชั่วดี เช่น



ความไม่รู้จักเหตุ ว่าเหตุนี้เป็นทางนำไปสู่สุข เหตุนี้เป็นทางนำไปสู่ทุกข์



ความไม่รู้จักผล เห็นตนว่ามีค่ากว่าฐานะที่เป็นอยู่



ความไม่รู้จักตน ไม่รู้จักสถานภาพของตนเองในด้านความรู้ความสามารถและคุณธรรม



ความไม่รู้จักประมาณในการแสวงหาหรือบริโภคใช้สอยทรัพย์สมบัติ



ความไม่รู้จักกาละที่จะประกอบกิจให้เหมาะสมกับกาลสมัย



ความไม่รู้จักประชุมชนซึ่งตนเองจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง



ความไม่รู้จักเลือกคบหาสมาคมแต่คนดี



เมื่อรู้ข้อที่ไม่รู้ควรประพฤติ 2 ประการนี้แล้ว จึงทรงแสดงข้อที่ควรประพฤติ 2 ประการ คือ



ประการที่ 1 ควรประพฤติธรรมที่ดี ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุขทั้งแก่ตนและผู้อื่น ได้แก่ สุจริต คือ ความประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ



ประการที่ 2 ควรประพฤติธรรมที่คนดีประพฤติกัน เรียกว่า สัปปุริสธรรม ได้แก่ ความเป็นผู้รู้จักเหตุ ความเป็นผู้รู้จักผล ความเป็นผู้รู้จักตน ความเป็นผู้รู้จักประมาณ ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชนบริษัทที่เกี่ยวข้อง ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบหาสมาคมแต่คนดี



ด้วยเหตุนี้ ผู้หวังความสุขความเจริญก้าว หน้าในชีวิต พึงหลีกเลี่ยงข้อที่ไม่ควรประพฤติ เลือกปฏิบัติแต่ข้อที่ควรประพฤติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น