วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ศึกษา ขั้นตอน-ปฏิบัติธรรม จากข่าวสด

ศึกษา ขั้นตอน-ปฏิบัติธรรม

คอลัมน์ ศาลาวัด

ปัจจุบันมีผู้คน ให้ความสนใจปฏิบัติธรรมเจริญกัมมัฏฐานกันเยอะ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ขั้นตอน หรือวิธีการปฏิบัติตนก่อนที่จะปฏิบัติธรรมเจริญกัมมัฏฐานหรือปฏิบัติธรรมแบบ เข้มข้นเต็มรูปแบบ จะต้องมีขั้นตอนก่อนการปฏิบัติ ดังนี้

1.ขั้น เตรียมการ เริ่มจากการเตรียมหาโอกาส หาเวลาที่เหมาะสม หาสถานที่ที่เหมาะเท่าที่จะหาได้ เกี่ยวกับการหาสถานที่นั้น ถ้าจะปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นจริงจัง พึงหาสถานที่ที่สงบสงัด ไม่ให้มีเสียงและอารมณ์อื่นรบกวน เพื่อให้บรรยากาศแวดล้อมช่วยเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ

สำหรับผู้เริ่ม ปฏิบัติใหม่ๆ ควรมีการเตรียมร่างกาย ด้วยการนั่งสมาธิฝึกปฏิบัติธรรม เกี่ยวข้องกับลมหายใจ ดังนั้น อวัยวะที่เกี่ยวกับลมหายใจ คือ จมูกต้องอยู่ในสภาพที่โล่งโปร่ง หายใจสะดวก

กล่าวง่ายๆ คือ สภาพร่างกายไม่เป็นหวัดคัดจมูก มีน้ำมูกไหล เป็นต้น

2.เตรียมท่านั่ง อิริยาบถใดที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลายสบายที่สุด แม้ปฏิบัติอยู่นานๆ ก็ไม่เมื่อยล้า ทั้งช่วยให้การหายใจคล่องสะดวก ก็ใช้อิริยาบถนั้น อย่างไรก็ตาม อิริยาบถที่ได้ผลดีที่สุดตามหลักการนั้น คือ อิริยาบถนั่งในท่าที่เรียกว่า นั่งขัดสมาธิ

การนั่งขัดสมาธิ คือ ให้ร่างกายท่อนบนตั้งตรง กระดูกสันหลัง 18 ข้อมีปลายจรดกัน

ผู้ที่ ไม่เคยนั่งเช่นนี้ ในช่วงนั่งใหม่ๆ อาจนั่งบนเก้าอี้ให้ตัวตรงสบายก็ได้ หรืออยู่ในอิริยาบถอื่นที่สบายพอดี

3.อาหาร หมายถึงการรับประทานอาหารก่อนเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติ โดยควรเว้นอาหารที่ก่อให้เกิดความกำหนัด ความง่วงนอน ความมึนเมา หรือเป็นอาหารที่ย่อยยาก มีกลิ่นแรง และไม่ควรรับประทานมากเกินไป จนทำให้รู้สึกอึดอัดหรือรับประทานน้อยเกิน จนรู้สึกหิว ควรรับประทานแต่พอดี กะว่าอีกสามคำจะอิ่ม ให้หยุด ซึ่งเมื่อดื่มน้ำแล้ว จะทำให้อิ่มพอดี

4.สมาทาน ศีล หมายถึงการขอรับศีลจากพระภิกษุผู้ทรงศีลหรือตั้งจิตเจตนางดเว้นเอาเองก็ได้ การจะปฏิบัติกัมมัฏฐานได้ดีเห็นผลสำเร็จได้เร็วนั้น ผู้ปฏิบัติต้องสมาทานรักษาศีลหรือชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์ เพราะศีลถือเป็นรากฐานของสมาธิ เป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย

ศีล ที่ควรสมาทานนั้น สำหรับคฤหัสถ์ คือ ศีล 5 แต่ถ้าจะให้เข้มข้นเอาจริง เน้นผลของการปฏิบัติจริงๆ ก็ควรสมาทานศีล 8 (ในปัจจุบัน สำนักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่กำหนดให้สมาทานในพิธีการรับกัมมัฏฐาน)

5.ระลึก ถึงคุณของพระรัตนตรัย คือ ให้ประนมมือขึ้นแล้วตั้งจิตน้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ กำหนดนึกยึดเป็นที่พึ่งที่ระลึก ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและสร้างความผ่องใสให้แก่ใจ

6.แผ่เมตตา หมายถึงการแผ่ความปรารถนาดีไปยังมนุษย์และสัตว์ทุกจำพวก ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากศัตรูและจากการพยาบาทจองเวร การแผ่เมตตานี้ ทำได้ทั้งก่อนและหลังฝึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น