โลกธรรม
ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com
คําว่า โลกธรรม หมายถึง ธรรมที่มีอยู่ประจำโลก ผู้ที่เกิดมาในโลกทุกคนจะต้องมีธรรมประจำโลกนี้เข้าครอบงำให้เป็นไป ซึ่งโลกธรรมนี้มีอยู่ 8 ประการ ได้แก่ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ ได้รับสรรเสริญ ถูกนินทา มีสุข ได้รับทุกข์
โลกธรรมทั้ง 8 ประการนี้ ดูกันตามปกติแล้ว จะเห็นว่าไม่มีความสำคัญอะไร แต่ถ้าพิจารณากันด้วยปัญญาให้ถ่องแท้แล้ว จะรู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นเหตุแห่งความเจริญอย่างสูงสุดและความเสื่อมอย่างมากมายมหาศาล สามารถเปลี่ยนชีวิตของบุคคลให้ประพฤติดีและประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจได้ง่าย
โลกธรรมแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายอารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าพอใจ เช่น มีลาภ มียศ ได้รับสรรเสริญ และมีสุข อีกฝ่ายหนึ่งคือ อารมณ์ที่ไม่ปรารถนา ไม่น่าพอใจ เช่น เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ได้รับทุกข์
โลกธรรมทั้ง 2 ฝ่ายนี้ เป็นบ่อเกิดแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลงลืมตัว และเป็นแนวทางให้ผู้ที่ขาดคุณธรรมกระทำความชั่วต่อไปได้
ในส่วนของอารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ ให้พิจารณาด้วยปัญญาว่า เมื่อมีลาภ ความเสื่อมลาภก็จะตามมา ยศก็เหมือนกัน เมื่อได้รับเกียรติยศ ชื่อเสียงแล้ว ความเสื่อมยศก็จะติดตามมาด้วย จึงไม่ควรปล่อยใจให้หวั่นไหวไปตามโลกธรรมนั้นๆ
การสรรเสริญยกย่อง ก็ไม่ควรหลงลืมตัว เมื่อได้รับคำสรรเสริญแล้ว ย่อมจะมีคำนินทาว่าร้ายตามมาก็ได้ ส่วนความสุขทั้ง 2 อย่าง ได้แก่ ความสุขทางกาย และทางใจ เมื่อได้ รับความสุขนี้แล้ว ก็ไม่ให้ดีใจจนลืมตัว ให้พิจารณาว่า เมื่อได้รับความสุขแล้ว ความทุกข์ย่อมอาจติดตามมาภายหลังได้เช่นเดียวกัน
ในส่วนของอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ ก็ให้พิจารณาด้วยปัญญาว่า ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย และได้รับความทุกข์ เมื่อเกิดขึ้นกับเราแล้ว ไม่ควรปล่อยใจให้หวั่นไหวไปด้วยความเสียใจ เคียดแค้น เพราะการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย ได้รับทุกข์โทมนัส อันเกิดจากคนอื่นทำให้เกิดขึ้นแก่เรา ก็พยายามทำใจไม่ให้ตกไปในอำนาจความยินดียินร้าย แค้นเคือง ให้พิจารณาด้วยปัญญาให้เห็นถึงผลได้ผลเสียตามที่เป็นจริง
สำหรับคนที่ยังมีกิเลสอยู่ หากถูกโลกธรรมครอบงำเป็นไปแล้ว จะไม่ให้หวั่นไหวก็คงจะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเพียงทำให้เบาบางลงบ้าง ก็คงพอเป็นไปได้ ด้วยการใช้หลักธรรมเข้ามาควบคุมจิตใจไว้ เช่น ใช้สติ ความระลึกได้ไตร่ตรองถึงความเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกขณะ ใช้สัมปชัญญะ ความรู้ตัวอยู่เสมอ มีความอดทน ความสงบเสงี่ยมเจียมตัว เข้าควบคุมจิตใจไว้
พระพุทธองค์ ทรงวางหลักไว้ว่า โลกธรรม คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เมื่อเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ก็ย่อมไม่พิจารณา ไม่รู้ทั่วตามที่เป็นจริงว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ครั้นเกิดขึ้นแก่เราแล้ว มีแต่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาเท่านั้น ถึงความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทา ทุกข์ อันเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจก็เหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ก็ย่อมไม่พิจารณา ไม่รู้ทั่วตามที่เป็นจริงว่า ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทา ทุกข์นั้น เมื่อเกิดขึ้นแก่เราแล้ว มีแต่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
ผู้ที่ยินดีแต่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่เกิดขึ้น และไม่พอใจในความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ที่เกิดขึ้น ย่อมไม่พ้นไปจากความทุกข์ได้
มีแต่พระอรหันต์ผู้หลุดพ้นแล้วเท่านั้น ที่ไม่หวั่นไปด้วยโลกธรรม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น