พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ลักษณะต่อไปนี้ โดยมากเป็นภาวะจิตและบุคลิกภาพของพระอรหันต์ นำมาลงไว้สำหรับประกอบการพิจารณาด้วย เช่น อกิญจนะ - ไม่มีอะไรค้างใจ ไม่มีสิ่งคั่งค้างกังวล สันตะ - สงบ ซึ้ง อโศก - ไร้โศก วิรชะ - ไม่มีธุลี เขมะ - เกษม ปลอดโปร่ง มั่นคง ไม่มีภัย นิจฉาตะ - ใจไม่โหยหิว ใจอิ่ม สีติภูตะ - เย็น หรือเย็นซึ้ง นิพพุตะ - หมดร้อน เสรี - เที่ยวไปได้ตามสบาย ไม่มีอะไรเกาะเกี่ยว สยังวสี - มีอำนาจในตัวเอง เป็นตัวของตัวเองแท้จริง สุขี - มีความสุข หรือเป็นสุข
อีกชุดหนึ่ง โดยมากเป็นลักษณะจิตและบุคลิกภาพของพระอรหันต์เหมือนกัน แต่เน้นเฉพาะแง่ที่เป็นอิสระ เช่น อนัลลีนะ-ไม่ติด หรือไม่หมกมุ่น อนัชโฌสิต-ไม่สยบ อนูปลิตต์-ไม่ถูกฉาบติด หรือไม่แปดเปื้อน อนิสสิต-ไม่พึ่งพิง ไม่ขึ้นต่อสิ่งใด วิสัญญุต-ไม่พัวพัน วิปปมุตต์-หลุดพ้น วิมริยาทิกตจิต-มีจิตไร้ขอบคั่น หรือมีใจไร้เขตแดน
เพื่อให้กำหนดได้ง่ายขึ้น อาจรวมลักษณะเหล่านี้เข้าเป็นกลุ่มได้ ดังนี้
1.ตั้งมั่น เช่น แน่วแน่ อยู่ตัว ทรงตัวเรียบสม่ำเสมอ ไม่หวั่นไหว ไม่วอกแวก ไม่พล่าน ไม่ส่าย
2.บริสุทธิ์ผ่องใส เช่น ปราศสิ่งมัวหมอง ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง ไร้ไฝฝ้า เกลี้ยงเกลา ผุดผ่อง แจ่มจ้า สว่างไสว
3.โปร่งโล่งเป็นอิสระ เช่น ไม่ติดข้อง ไม่คับแคบ ไม่ถูกจำกัดขัดขวาง ไม่ถูกกดทับหรือบีบคั้น ไม่อึดอัด กว้างขวาง ไร้เขตแดน
4.เหมาะแก่การใช้งาน เช่น นุ่มนวล อ่อนละมุน เบาสบาย ไม่หนัก คล่องแคล่ว ทนทาน ไม่เปราะเสาะ ไม่กระด้าง ซื่อตรง ไม่เอนเอียง ไม่คดงอ ไม่บิดเบือน ไม่เฉไฉ
5.สงบสุข เช่น ผ่อนคลาย เรียบสงบ ไม่เครียด ไม่คับแค้น ไม่เดือดร้อน ไม่กระสับกระส่าย หรือทุรนทุราย ไม่ขาดแคลน ไม่หิวโหย เอิบอิ่ม
เมื่อทราบลักษณะของจิตใจที่สมบูรณ์ มีสุขภาพดี ไร้มลทินโทษเช่นนี้แล้ว ก็พึงนำเอาธรรมที่ได้ชื่อว่าเป็นกุศลและอกุศลมาพิจารณาตรวจสอบดูว่า ธรรมที่เป็นกุศล ส่งเสริมคุณภาพและสมรรถภาพของจิตใจ จริงหรือไม่ อย่างไร และธรรมที่เป็นอกุศล ทำให้จิตมีโรค เกิดความเน่าเสีย ผุโทรม เสียหายบกพร่อง ไม่สบาย เป็นทุกข์ เสื่อมเสียคุณภาพและสมรรถภาพจิต จริงหรือไม่ อย่างไร
ตัวอย่างกุศลธรรม เช่น สติ-ความระลึกได้ ความสามารถคุมจิตอยู่กับสิ่งที่พึงเกี่ยวข้อง หรือกิจที่ต้องทำ เมตตา-ความรัก ความปรารถนาดี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข อโลภะ-ความไม่โลภ ว่างจากความอยากใคร่ติดใจ ตลอดจนมีความคิดเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น ปัญญา-ความรู้ชัด ความเข้าใจ ความรู้เท่าทันตามความเป็นจริง ปัสสัทธิ-ความผ่อนคลายสงบ เย็นกายเย็นใจ ไม่เครียด ไม่กระสับกระส่าย กุศลฉันทะ-ความพอใจใฝ่รักสิ่งดีงาม อยากรู้อยากทำให้เป็นจริง มีจิตพุ่งแล่นไปในแนวทางแห่งเหตุปัจจัย มุทิตา-ความพลอยเบิกบานยินดี บันเทิงใจ เมื่อผู้อื่นประสบความเจริญหรือเป็นสุข เป็นต้น
ตัวอย่างอกุศลธรรม เช่น กามฉันท์-ความอยากได้ใคร่เอา พยาบาท-ความคิดร้าย ขัดเคือง หรือแค้นใจ ถีนมิทธะ-ความหดหู่ ท้อแท้ หงอยเหงา เซื่อมซึม และโงกง่วง อุทธัจจกุกกุจจะ-ความฟุ้งซ่าน คิดพล่าน หงุดหงิด กลัดกลุ้ม รำคาญ และเดือดร้อนใจ วิจิกิจฉา-ความลังเล ไม่อาจตัดสินใจ โกธ-ความโกรธ อิสสา-ความริษยา เห็นคนอื่นได้ดีทนไม่ได้ มัจฉริยะ-ความตระหนี่ ความหึงหวง ความคิดเกียดกัน เป็นต้น
เมื่อมีเมตตา จิตใจย่อมสุขสบาย แช่มชื่นผ่องใส ปลอดโปร่งและกว้างขวาง เป็นสภาพเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ ส่งเสริมคุณภาพและสมรรถภาพของจิต เมตตาจึงเป็นกุศล สติ ทำให้ใจอยู่กับสิ่งที่กำลังเกี่ยวข้องหรือต้องทำ ระลึกได้ถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมในกรณีนั้นๆ และป้องกันไม่ให้อกุศลธรรมทั้งหลายได้โอกาส ทำให้จิตใจอยู่ในสภาพพร้อมที่จะทำงานได้อย่างดี สติจึงเป็นกุศล
ความริษยา ทำให้จิตใจแคบ ถูกกดทับ บีบคั้น ไม่สบาย ไม่ปลอดโปร่ง บั่นทอนคุณภาพและสุขภาพจิตอย่างเห็นได้ชัด ความริษยาจึงเป็นอกุศล ความโกรธ ก็แผดเผาใจของตนเอง บีบคั้นกระทบใจให้ไม่สบาย และส่งผลกระทบกระเทือนออกมาถึงสุขภาพกายได้อย่างรวดเร็ว
จึงเห็นได้ชัดเช่นกันว่าเป็นอกุศล กามฉันท์ หรือแม้ความโลภ อย่างกว้างๆ ก็ทำให้จิตใจวกวนพัวพัน ติดข้อง กลัดกลุ้ม หรือเอนเอียงไป เดินไม่ตรง และมัวหมอง ไม่โล่ง ไม่โปร่ง ไม่ผ่องใส
จึงเป็นอกุศล ดังนี้เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น