วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (4) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (4)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


มีข้อสังเกตว่า ความหดหู่ หงอยเหงา เฉาซึม และความฟุ้งซ่าน เป็นต้น แม้จะเป็นอกุศล แต่ในภาษาไทยจะเรียกว่าเป็นความชั่ว ก็คงไม่สู้ถนัดปากนัก ในทำนองเดียวกัน กุศลธรรมบางอย่าง เช่น ความสงบผ่อนคลายภายในกายในใจ จะเรียกในภาษาไทยว่าความดี ก็อาจจะไม่สนิททีเดียวนัก นี้เป็นตัวอย่างแง่หนึ่งให้เห็นว่า กุศลและอกุศล กับความดีและความชั่ว มิใช่มีความหมายตรงกันแท้ทีเดียว



เมื่อเข้าใจความหมายของกุศลและอกุศลอย่างนี้แล้ว ก็ย่อมเข้าใจความหมายของกรรมดี และกรรมชั่ว คือ กุศลกรรม และอกุศลกรรมด้วย



ดังได้กล่าวแล้วว่า เจตนาเป็นตัวกรรม ดังนั้น เจตนาที่ประกอบด้วยกุศล ก็เป็นกุศลเจตนา และเป็นกุศลกรรม เจตนาที่ประกอบด้วยอกุศล ก็เป็นอกุศลเจตนา และเป็นอกุศลกรรม



เมื่อกุศลเจตนา และอกุศลเจตนานั้น เป็นไปหรือแสดงออก โดยทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็เรียกว่า เป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรม ทางกาย ทางวาจา และทางใจ หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่เป็นกุศล และเป็นอกุศล ตามลำดับ



ค) ข้อควรทราบพิเศษบางอย่างเกี่ยวกับกุศลและอกุศล



1) กุศลและอกุศล เป็นปัจจัยแก่กันได้



คนบางคนหรือบางคราวมีศรัทธา หรือได้บำเพ็ญทาน หรือรักษาศีล หรือเป็นผู้มีปัญญา เป็นต้น อันเป็นกุศล แล้วเกิดความลำพองในความดีเหล่านั้น ถือเป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่น ความลำพองก็ดี ยกตนข่มผู้อื่นก็ดี เป็นอกุศล อย่างนี้เรียกว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล



บางคนบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานแล้ว เกิดราคะคือติดใจในฌานนั้น บางคนเจริญเมตตาเพียรตั้งความปรารถนาดี มองคนในแง่ดี บางทีประสบอารมณ์ที่น่าปรารถนา เมตตานั้นเลยให้ช่องช่วยให้ราคะเกิดขึ้นโดยง่าย แล้วอาจตามมาด้วยอกุศลธรรมอื่นอีก เช่น ฉันทาคติ เป็นต้น อย่างนี้ก็เรียกว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล



ศรัทธาเป็นกุศลธรรม ทำให้จิตใจผ่องใสและมีกำลังพุ่งแล่นแน่วไป แต่เมื่อปฏิบัติต่อศรัทธานั้นไม่แยบคาย ก็อาจกลายเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิและมานะ ยึดถือว่าของตนเท่านั้นจริงแท้ ของคนอื่นมีแต่เท็จ อาจถึงกับก่อความวิวาทบาดหมางเบียดเบียนกัน นี้ก็เรียกว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล



บางคนมีราคะอยากไปเกิดในสวรรค์ จึงตั้งใจประพฤติปฏิบัติเป็นผู้มีศีล บางคนมีราคะอยากได้ความสุขสงบทางจิตใจ จึงบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานสมาบัติ เด็กบางคนมีราคะอยากให้ผู้ใหญ่ชมว่าเป็นคนดี จึงพยายามประพฤติตัวให้ดีมีศีลมีวินัย นักเรียนบางคนมีราคะอยากสอบได้ดี จึงเกิดฉันทะและขยันเล่าเรียนแสวงหาความรู้ บางคนเกิดความโกรธเผาลนตัวขึ้นแล้ว บางคราวจึงเกิดปัญญาเข้าใจชัดถึงโทษของความโกรธนั้น บางคนโกรธแค้นศัตรู จึงเกิดความเห็นใจคิดช่วยเหลือผู้อื่น บางคนเกิดความกลัวตายขึ้นแล้ว สำนึกได้หายตระหนี่ มีจิตใจเผื่อแผ่เสียสละ ตั้งใจช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป คนอีกบางคนมีความกลุ้มใจ เป็นเหตุให้เกิดความศรัทธาในธรรม อย่างนี้เรียกว่า อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล



เด็กชายวัยรุ่นคนหนึ่ง พ่อแม่เตือนไม่ให้ไปมั่วสุมกับหมู่เพื่อนอย่างไม่ระวัง แต่ไม่เชื่อฟัง ต่อมาถูกเพื่อนร้ายคนหนึ่งหลอกทำให้ติดยาเสพติด พอรู้ตัว ทั้งโกรธแค้น ทั้งเศร้าเสียใจขุ่นหมอง เกิดความเข้าใจในคำเตือนของพ่อแม่ และซาบซึ้งต่อความปรารถนาดีของท่าน (อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล) เป็นเหตุให้ยิ่งเสียใจประดังโกรธเกลียดชังตัวเอง (กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล)



เมื่อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล หรืออกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลนั้น ขณะที่กุศลเกิด จิตมีสุขภาพดี ขณะที่อกุศลเกิด จิตใจเสียหายขุ่นข้อง สภาพจิตดีไม่ดีเช่นนี้อาจเกิดสลับกันไปมาอย่างรวดเร็ว จึงต้องรู้จักแยกออกเป็นแต่ละขณะๆ



อย่างไรก็ตาม เรื่องกุศลและอกุศลเป็นปัจจัยแก่กันนี้ ได้กล่าวในที่อื่นบ้างแล้ว จึงแสดงเป็นตัวอย่างแต่เพียงเท่านี้



2) บุญและบาป กับ กุศลและอกุศล



บุญและบาป กับกุศลและอกุศล บางทีใช้แทนกันได้ บางทีใช้แทนกันไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความสับสน ว่าความหมายของธรรม 2 คู่นี้ เหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร ในที่นี้ มิใช่โอกาสที่จะอธิบายเรื่องนี้โดยตรง จึงจะกล่าวไว้พอเป็นแนวทางความเข้าใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น